Mon 23 Jan 2023

RABBIT ON MAP

คาแรกเตอร์กระต่ายแต่ละตัวมาจากประเทศไหน

     สวัสดีปีกระต่าย 🐰

     ในบรรดาปีนักษัตรทั้งหมด หนึ่งในคาแรกเตอร์ที่ถูกหยิบมาใช้บ่อยๆ ทั้งในหนังสือ แอนิเมชั่น และสื่อต่างๆ คงต้องมี ‘กระต่าย’ อย่างแน่นอน (ขนาดน้องๆ NewJeans ยังใช้เลย #ตัวลูกจะแคร์เพื่อ) คอลัมน์ Data Journalread เดือนนี้จึงขอต้อนรับความน่ารักของปีกระต่ายด้วยการพาไปหาคำตอบว่า ‘คาแรกเตอร์กระต่ายแต่ละตัวมาจากประเทศไหนกันบ้าง’

     บอกเลยว่ากระต่ายบางตัวที่เพื่อนๆ คิดว่ามาจากประเทศนั้นประเทศนี้แน่นอน อาจจะผิดก็เป็นได้!

     คอลัมน์ตอนนี้ใช้ ‘แผนที่’ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี ถ้าในแผนที่มีกระต่ายอยู่ตรงไหนแสดงว่าคาแรกเตอร์กระต่ายถูกสร้างขึ้นในประเทศนั้นๆ  

     กระต่าย ‘พับหูซ้าย’ เป็นสัญลักษณ์แทนกระต่ายหญิง ส่วนกระต่าย ‘พับหูขวา’ เป็นสัญลักษณ์แทนกระต่ายชาย 

     สีของกระต่ายแสดงช่วงเวลาที่คาแรกเตอร์แต่ละตัวถูกสร้างขึ้น

     สีม่วงแดง: ช่วงปี 1850-1899

     สีม่วงน้ำเงิน: ช่วงปี 1900-1949

     สีเขียวน้ำทะเล: ช่วงปี 1950-1999

     สีชมพู: ช่วงปี 2000-ปัจจุบัน

     ส่วนลูกศรแสดงให้เห็นว่าประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของคาแรกเตอร์กระต่ายคือประเทศไหน และประเทศใดที่ทำให้คาแรกเตอร์นั้นๆ เป็นที่รู้จักมากขึ้น เช่น การซื้อลิขสิทธ์จากหนังสือนิทานเด็กนำมาผลิตเป็นแอนิเมชั่น หรือจากหนังสือนิทานเด็กนำมาผลิตเป็นตุ๊กตา เป็นต้น  

     ถ้าเข้าใจวิธีการอ่านแล้ว ไปเริ่มกันเลย!

     สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ผลิตคาแรกเตอร์กระต่ายเป็นแอนิเมชั่นเยอะมาก ซึ่งแทบทุกตัวละครล้วนมีที่มาจากรัฐแคลิฟอร์เนีย เพราะตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สตูดิโอแอนิเมชั่นเจ้าใหญ่ๆ มักตั้งอยู่ที่นี่

     ในยุค 1920-1950 เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่คาแรกเตอร์กระต่ายกลายเป็นภาพจำของใครหลายคน 

     เริ่มจาก ‘ออสวาลด์’ จาก Oswald the Lucky Rabbit (1927) โดยเดอะ วอลต์ ดิสนีย์ สตูดิโอ (The Walt Disney Studios) ชื่อของคาแรกเตอร์ตัวนี้อาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ถ้าบอกว่ากระต่ายตัวนี้เป็นต้นแบบของ มิกกี้เมาส์ อาจจะพอนึกภาพกันออกมากขึ้น (แต่ถ้ายังนึกไม่ออกให้ลองเปลี่ยนจากหูกลมๆ ของมิกกี้เป็นหูยาวๆ ของออสวาลด์ แล้วเปลี่ยนกางเกงสีแดงเป็นสีน้ำเงิน) แต่เนื่องจากปัญหาส่วนแบ่งทางธุรกิจ ทำให้คาแรกเตอร์ตัวนี้ถูกยกเลิก ก่อนจะนำมาผลิตแอนิเมชั่นต่อไปในอนาคต

     ทางด้านสตูดิโอวอร์เนอร์ บราเธอร์ส (Warner Brothers) พอเห็นคาแรกเตอร์กระต่ายและหนูของดิสนีย์ประสบความสำเร็จก็อยากจะมีบ้าง โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคาแรกเตอร์ที่ตัวเองกำลังออกแบบอยู่จะเป็นหนึ่งในคาแรกเตอร์กระต่ายสุดไอคอนิกที่อยู่ในความทรงจำของเด็กหลายคน นั่นเป็นที่มาให้ในปี 1940 ‘บักส์ บันนี่’ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Looney Tunes แอนิเมชั่นการ์ตูนตลกที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี 

     หลายปีต่อมา วอลต์ ดิสนีย์ยังคงผลิตแอนิเมชั่นเกี่ยวกับสัตว์ออกมาอยู่เสมอ คราวนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับกวาง Bambi (1942) ซึ่งในแอนิเมชั่นนี้เจ้ากวางแบมบี้มีเพื่อนเป็นกระต่ายสีเทาชื่อ ‘ทรัมเปอร์’ 

     ก่อนจะไปต่อที่ตัวอื่นๆ ต้องบอกก่อนว่าทั้งสามคาแรกเตอร์ที่พูดถึงนั้นล้วนเป็นกระต่ายเพศชายทั้งสิ้น

     ช่วงปี 1950-1999 ยังคงมีการใช้คาแรกเตอร์กระต่ายอย่างต่อเนื่อง เริ่มจาก ‘ริโคเชต์’ จาก Ricochet Rabbit & Droop-a-Long (1964) กระต่ายนายอำเภอสีขาวผู้ใช้ชีวิตอยู่กลางทะเลทราย ผลิตโดยบริษัทฮันนา บาร์เบรา (Hanna-Barbera) 

     แม้ชื่อผู้สร้างอาจจะยังไม่คุ้นหู แต่ถ้าบอกว่าสตูดิโอแห่งนี้คือผู้สร้าง Tom & Jerry, The Flintstones, The Yogi Bear Show และ Scooby-Doo เชื่อว่าหลายคนต้องรู้จักแน่นอน ซึ่งคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนทั้งหมดจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลการ์ตูนเน็ตเวิร์ก (Cartoon Network) และวอร์เนอร์ บราเธอร์สในอนาคต

     ย้อนกลับไปที่วอร์เนอร์ บราเธอร์สอีกครั้ง เมื่อพวกเขาเห็นว่าบักส์ บันนี่เป็นที่นิยม ก็เลยขยายจักรวาลของคาร์แรกเตอร์นี้ให้กว้างมากขึ้น โดยการเพิ่มตัวละครกระต่ายรุ่นเด็กอย่าง ‘บัสเตอร์’ และ ‘บ๊าบส์ บันนี่’ ใน Tiny Toon Adventures (1990) ก่อนจะสร้าง ‘โลลา บันนี่’ กระต่ายสาวสีเหลืองซึ่งเป็นแฟนของบักส์ บันนี่ขึ้นมาในปี 1996 

     คาแรกเตอร์กระต่ายในวงการแอนิเมชั่นฝั่งอเมริกายังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันเราจะเห็นความหลากหลายและภาพลักษณ์ของความเป็นกระต่ายที่เปลี่ยนไปมากขึ้น เช่น ‘สวิฟต์ฮาร์ตแรบบิต’ ตุ๊กตากระต่ายสุดน่ารักผู้เป็นเพื่อนแก๊งลูกหมีแคร์แบร์, ‘บันนี่มันด์’ จาก Rise of the Guardians (2012) คาแรกเตอร์ที่ฉีกภาพลักษณ์กระต่ายเดิมๆ จากที่ปกติจะดูซุกซน ไม่ก็น่ารัก กลายเป็นกระต่ายอีสเตอร์สุดเท่ผู้พิทักษ์ความหวัง, ‘จูดี้’ กระต่ายสาวผู้มีความฝันอันยิ่งใหญ่ในการประกอบอาชีพตำรวจที่สัตว์เล็กสุดน่ารักอย่างเธอไม่เคยได้รับโอกาสมาก่อน จากแอนิเมชั่น Zootopia (2016) หรือแม้กระทั่งกระต่ายที่ภายนอกดูน่ารักนุ่มฟู แต่ภายในแฝงความเจ้าเล่ห์อย่าง ‘สโนว์บอลล์’ ใน The Secret Life of Pets (2016)

     ถึงแม้ว่าคาแรกเตอร์กระต่ายจะปรากฏตัวเยอะมากในอเมริกา แต่จริงๆ แล้วประเทศแรกที่นำกระต่ายมาเป็นตัวละครและมีชื่อเสียงคืออังกฤษ และทุกตัวมีจุดเริ่มต้นมาจากหนังสือนิทานเด็ก

     ปี 1865 นวนิยาย Alice’s Adventures in Wonderland โดย ลูอิส แครอลล์ (Lewis Carroll) ถูกตีพิมพ์ขึ้น ตัวละครตัวแรกที่ปรากฏให้อลิซเห็นคือ ‘กระต่ายขาว’ ซึ่งเป็นตัวล่อให้อลิซตามเข้าไปในโพรงกระต่าย นำพาเธอไปผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์ อีก 86 ปีต่อมาหนังสือเรื่องนี้ถูกดิสนีย์ซื้อลิขสิทธิ์เพื่อนำไปผลิตเป็นแอนิเมชั่นในปี 1951 ทำให้ผลงานเรื่องนี้โด่งดังไปทั่วโลก

     กระต่ายน้อยปีเตอร์ จาก The Tale of Peter Rabbit เป็นฝีมือการเขียนและวาดภาพประกอบของ บีทริกซ์ พอตเตอร์ (Beatrix potter) ในปี 1902 ซึ่งทาง CONT. เคยเขียนถึงหนังสือชุดนี้ไปแล้ว 

     กระต่ายจากเกาะอังกฤษตัวสุดท้ายที่เราจะกล่าวถึงคือ ‘แร็บบิต’ จาก Winnie-the-Pooh ซึ่งเป็นกระต่ายที่มีชื่อตรงตัว ตัวยาว ขนสีเหลือง หนึ่งในสมาชิกของชาวป่าร้อยเอเคอร์ผู้หวงสวนปลูกผักของตัวเองที่สุด 

     ทั้งสามคาแรคเตอร์กระต่ายจากอังกฤษที่กล่าวไปล้วนเป็นกระต่ายชายทั้งสิ้น จนกระทั่งปี 1955 ก็มีคาแรกเตอร์กระต่ายหญิงจากยุโรปเกิดขึ้น นั่นคือ ‘มิฟฟี่’ (Miffy) คาแรกเตอร์ที่ถูกเข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้งว่ามีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น แต่ความจริงแล้วเธอมาจากเนเธอร์แลนด์ และผู้ให้กำเนิดก็ไม่ใช่นักเขียนหญิงด้วย แต่เป็นศิลปินชายชาวดัตช์นามว่า ดิ๊ก บรูนา (Dick Bruna) 

     มิฟฟี่เป็นตัวละครในหนังสือนิทานขนาดจัตุรัสพอดีมือเด็กๆ บอกเล่าการผจญภัยในสถานที่ต่างๆ และเรื่องราวในชีวิตประจำวันด้วยลายเส้นเรียบง่าย ซึ่งอาจเพราะความน่ารักของมันจึงทำให้มิฟฟี่เป็นที่นิยมมากในญี่ปุ่น ปัจจุบันหนังสือนิทาน มิฟฟี่ ขายไปได้มากกว่า 85 ล้านเล่มทั่วโลก ถูกตีพิมพ์ทั้งหมด 52 ภาษา รวมถึงภาษาไทยด้วยเช่นกัน 

     ถึงแม้ว่ามิฟฟี่จะถูกเข้าใจผิดว่ามีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่น แต่จริงๆ แล้วญี่ปุ่นก็มีคาแรกเตอร์กระต่ายอันเป็นที่รักของทุกคนถึงสองตัว นั่นคือ ‘มายเมโลดี้’ และ ‘คุโรมิ’ จากซานริโอ (Sanrio) คู่หูคู่กัดสุดน่ารัก ซึ่งทั้งสองตัวเป็นเพื่อนสนิทกันมานานในป่าเมอร์รี่แลนด์ มายเมโลดี้รักคุโรมิมาก แต่คุโรมิเกลียดมายเมโลดี้ที่สุด ถึงขั้นมีสมุดจดความแค้นที่มีต่อเพื่อนรักซึ่งมีมากถึง 3,000 เรื่อง! (ถ้าไม่สนิทและตัวติดกันตลอดคงจะมีไม่เยอะขนาดนี้หรอก) 

     ทางด้านเกาหลีก็มีคาแรกเตอร์กระต่ายในยุค Y2K อย่าง ‘มาชิมาโร่’ กระต่ายอ้วนตาปิดสีขาวที่ในตอนแรกถูกวางไว้เป็นคาแรกเตอร์สำหรับเว็บไซต์เพื่อการศึกษา แต่ถูกปฏิเสธ นักวาดจึงนำมาสร้างเป็นการ์ตูนสั้นบนเว็บไซต์ กลับกลายเป็นว่าได้รับความนิยมอย่างมาก จากรูปร่างหน้าตาของกระต่ายที่ได้ชื่อมาจากการถอดเสียงคำว่า ‘มาร์ชเมลโลว์’ เป็นภาษาเกาหลี น้องเลยอ้วนตุ้บน่ารักแบบนี้

     และแน่นอนว่าคาแรกเตอร์กระต่ายที่มาแรงที่สุดในขณะนี้คงหนีไม่พ้นกระต่ายของ NewJeans เกิร์ลกรุ๊ปที่มีสไตล์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถ้าฟังเพลงของพวกเธอผ่านระบบสตรีมมิ่ง ก็จะเห็นว่าทุกอัลบั้มต้องมีน้องกระต่ายตัวหนึ่งปรากฏอยู่ มินิอัลบั้มแรกเป็นกระต่ายปกสีน้ำเงิน, ซิงเกิล Ditto เป็นกระต่ายปกแดง และซิงเกิลอัลบั้ม OMG เป็นกระต่ายปกดำตามลำดับ ซึ่งถ้าดูดีๆ แล้วสีเหล่านี้คือ สีบนธงชาติเกาหลีนั่นเอง ส่วนสาเหตุที่ซิงเกิลอัลบั้ม OMG เป็นกระต่ายปกดำก็เนื่องจากปีนี้เป็นปี ‘กระต่ายดำ’ ของชาวเกาหลี

     เห็นได้ว่าคาแรกเตอร์กระต่ายปรากฏตัวและเป็นที่รักของคนทุกยุคทุกสมัย จากหนังสือนิทานเด็กสู่โลกแอนิเมชั่น ไปจนถึงแบรนด์ไลฟ์สไตล์ ผลิตเป็นสินค้า ตุ๊กตา หรือแม้กระทั่งหน้าปกอัลบั้ม 

     สิ่งที่สังเกตได้อย่างชัดเจนคือ การตีความ ‘ความเป็นกระต่ายในแต่ละทวีปที่แตกต่างกัน’ 

     คาแรกเตอร์กระต่ายจากอเมริกามักจะมีนิสัยสนุกสนาน กระตือรือร้นตลอดเวลา ขณะที่คาแรกเตอร์กระต่ายในยุโรปมักจะอยู่กับสวน ใช้ชีวิตเรียบง่าย ส่วนคาแรกเตอร์กระต่ายจากเอเชียมักเป็นสัญลักษณ์ของเด็กผู้หญิง แสดงถึงความเป็นมิตร ความน่ารัก และเข้าถึงง่าย

     แล้วเพื่อนๆ ล่ะชอบกระต่ายตัวไหนที่สุดกันนะ

อ้างอิง:
thedisneyblog.com/2022/04/17/the-ten-best-disney-bunnies/
disney.fandom.com/wiki/Oswald_the_Lucky_Rabbit
looneytunes.fandom.com/wiki/Bugs_Bunny
disney.fandom.com/wiki/Thumper
en.wikipedia.org/wiki/Ricochet_Rabbit_%26_Droop-a-Long
en.wikipedia.org/wiki/Tiny_Toon_Adventures
kartoon-discovery.com/history/hanna_barbera.html
riseoftheguardians.fandom.com/wiki/E._Aster_Bunnymund
disney.fandom.com/wiki/Judy_Hopps
aliceinwonderland.fandom.com/wiki/The_White_Rabbit
peterrabbit.com/about/
en.wikipedia.org/wiki/Rabbit_(Winnie-the-Pooh)
en.wikipedia.org/wiki/Miffy
blog.tokyoroomfinder.com/insider-stories/miffy-the-dutch-rabbit-character-most-famous-in-japan
hellokitty.fandom.com/wiki/Mymelody
hellokitty.fandom.com/wiki/Kuromi
• en.wikipedia.org/wiki/Mashimaro