Tue 02 Mar 2021

READ BACKWARD

ชวนอ่านข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ไทยเมื่อสมัย 88 ปีก่อน

ภาพ: NJORVKS

     หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ความต้องการ ‘อภิวัฒน์’ สังคมไทยโดยกลุ่มคณะราษฎรมาถึงพร้อมการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าวงการหนังสือพิมพ์ไทยอย่างมีนัยสำคัญ 

     กล่าวคือมีการแบ่งฝักฝ่ายออกเป็นสามกรุ๊ป ได้แก่ กลุ่มหนังสือพิมพ์ที่อิสระไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด กลุ่มหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนคณะราษฎร และกลุ่มหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนคณะเจ้า (ฝ่ายนิยมกษัตริย์) การแสดงออกอย่างมีนัยสำคัญของพวกเขาประการหนึ่งคือ ‘ข่าวหน้าหนึ่ง’ ที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนในแวบแรก กลายเป็นพื้นที่เปิดทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศ เป็นสมรภูมิข่าวครั้งสำคัญแรกๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย 

     พร้อมๆ กันนั้น หนึ่งปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2476 กลับเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกทั้งใบ เมื่อพรรคนาซีก้าวขึ้นเรืองอำนาจ ประกาศให้ประเทศเยอรมนีเข้าสู่ยุคสมัยนาซีเต็มตัว ตั้งแต่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 30 มกราคม เพียงแค่สองเดือนจากนั้น ฮิตเลอร์ก็ออกกฎหมายผ่านสภาไรชส์ทาก (Reichstag) แต่งตั้งตนเองขึ้นเป็น ‘ผู้นำสูงสุด’ ของเยอรมนี เปิดศักราชยุคนาซีเยอรมนีหรือชื่อเป็นทางการ ‘ไรช์เยอรมัน’ (Deutsches Reich) ที่กินช่วงเวลานับแต่ปี 2476 เป็นต้นมาจนถึง 2488

     ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงขอชวนผู้อ่านย้อนเวลามาร่วมอ่าน ‘ข่าวหน้าหนึ่ง’ หนังสือพิมพ์ไทยในช่วงปี 2476-2477 (1933-1934) ที่ช่วยฉายภาพสยามหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสองปีแรกกับคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลกครั้งใหญ่ไปพร้อมๆ กัน 

2476

     อาจเป็นปีที่นับได้ว่าคือหัวหลักแห่งการเปลี่ยนทิศทางทางการเมืองทั้งภายในและต่างประเทศอย่างรุนแรง 

     กรณีภายในประเทศก็คือหลังครบรอบหนึ่งปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม ฝ่ายรัฐบาลคณะราษฎรต้องเผชิญการตอบโต้ครั้งแรกจากฝ่ายเจ้าด้วยเหตุการณ์กบฏบวรเดช ที่แม้จะจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายราษฎร สามารถปราบปรามและจับกุมผู้ก่อการได้เกือบหมด แต่ก็เป็นสัญญาณชัดเจนว่ามีขบวนการนิยมเจ้าที่ต้องการยึดอำนาจเพื่อนำประเทศกลับสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่เป็นตัวตนแน่แท้ 

     ผลพวงจากเหตุการณ์ ‘รบ’ ในครั้งนี้ยังเป็นจุดกำเนิดการต่อสู้ในสมรภูมิใหม่คือการรบทางความคิด ข่าวสาร และการเมือง แทนการต่อสู้ด้วยอาวุธหนักและการก่อกบฏที่สูญเสียชีวิตรวมทั้งกำลังพลไปมากในคราวกบฏบวรเดช 

     หนังสือพิมพ์ที่ผมหยิบมาพูดถึงคือ กรุงเทพวารศัพท์ (สาเหตุก็เพราะเป็นหนังสือพิมพ์ที่ยังเหลือฉบับสแกนให้ได้อ่านกัน) เจ้าของหนังสือพิมพ์คือ หม่อมราชวงศ์นพแก้ว นวรัตน โอรสในหม่อมเจ้าศรีศุขนพมาศ นวรัตน (หม่อมเจ้านพมาศ) ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม และผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี โดยราชสกุลนวรัตนสืบสกุลมาจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว 

     กรุงเทพวารศัพท์ ให้ความสำคัญกับข่าวภายในประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะ ‘ข่าววงใน’ ภายในคณะรัฐบาลราษฎรและผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช ดังจะเห็นได้จากหน้าหนึ่งฉบับวันที่ 6 มกราคม 2476 กรุงเทพวารศัพท์ ได้พาดหัวเกี่ยวกับคำสั่ง “ใครแพร่ข่าวอกุศลต้องถูกตำรวจจับ” ท่ามกลางภาวะข่าวลือเซ็งแซ่ว่าจะเกิดการกบฏล้มคณะรัฐบาลราษฎร และยังอ้างว่าเป็นสำนักข่าวแรกที่ได้รู้ข่าวลือทำนองนี้มาก่อนใครด้วย 

     สิ่งที่น่าสนใจคือ กรุงเทพวารศัพท์ เผยแพร่ ‘ข่าวลือการก่อกบฏ’ นี้อย่างต่อเนื่อง (ฉบับวันที่ 9 มกราคมลงข่าวถอดยศนายทหารที่เกี่ยวข้องกับการก่อการกบฏ 11 นาย) ก่อนจะเกิดการกบฏขึ้นจริงในอีกเก้าเดือนต่อมา คือกบฏบวรเดชที่เริ่มก่อการเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมปีเดียวกัน 

     แม้จะล่วงเข้าสู่ปี 2477 แล้ว หนังสือพิมพ์ กรุงเทพวารศัพท์ ก็ยังให้ความสำคัญต่อข่าวสารภายในประเทศเป็นอันดับหนึ่ง โดยให้พื้นที่ข่าวต่างประเทศอยู่หน้าในภายใต้คอลัมน์ ‘สากลกรณี’ ส่วนข่าวหน้าหนึ่งดูจะเน้นความขัดแย้งภายในรัฐบาลเป็นสำคัญ อาทิ ข่าววันที่ 23 มิถุนายน 2477 ถึงกับพาดหัวเหนือหัวหนังสือพิมพ์ว่า “พ.อ. หลวงพิบูลย์สงครามลาออก!!” และยังมีการพาดหัวข่าวซ้ำในกรอบข่าวด้านล่างของหน้าหนึ่งด้วย เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้นในหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน 2477 ลงพาดหัวเหนือหัวหนังสือพิมพ์ไว้ว่า ““สนทนากับพระยาทรง” มีเรื่องดีๆ” 

     พระยาทรงผู้นี้ก็คือ พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) หนึ่งในนายทหารสี่คนสำคัญของคณะราษฎร หรือ ‘สี่ทหารเสือ’ อันประกอบไปด้วย พระยาทรงสุรเดช, พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน), พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) และพระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ)

     หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้หนึ่งปี พระยาทรงได้ไปศึกษาดูงานที่ฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่ามีความขัดแย้งกันในหมู่คณะราษฎร โดยเฉพาะกับพันเอกหลวงพิบูลสงคราม การที่หนังสือพิมพ์ กรุงเทพวารศัพท์ ได้มีโอกาสเข้าพบพระยาทรงในวันแรกที่เดินทางกลับถึงสยาม โดยอ้างว่า “ได้รับโทรศัพท์จากบุคคลสำคัญท่านหนึ่งแจ้งมาว่า เจ้าคุณทรงและพระประสาทพิทยายุทธ กำลังเดินทางใกล้จะถึงพระนครแล้ว” ทั้งยังบรรยายให้ผู้อ่านได้เห็นภาพว่าพอไปถึงบ้านของพระยาทรงแล้ว ก็ได้พบทั้งหลวงประดิษฐ์มนูญธรรม (ปรีดี พนมยงค์), หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และหลวงอดุลเดชจรัส ในเนื้อความย้ำว่า “ดูท่านกลมเกลียวกันดี ไม่มีเค้าว่าได้แตกร้าวกัน อย่างเสียงเล่าลือเลย” 

     ถึงกระนั้นในเวลาต่อมา ปี 2481 พระยาทรงสุรเดชผู้นี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏพยายามก่อการล้มล้างรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม หลังจากพระยาทรงพ่ายแพ้ในการชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ว่างลงหลังจากพระยาพหลฯ ลงจากตำแหน่ง 

     หลังกลายเป็นกบฏ พระยาทรงถูกบังคับให้ลี้ภัยไปประเทศกัมพูชาในทันที ตามด้วยการจับกุมผู้ใกล้ชิดและทหารคนสนิทของพระยาทรงสุรเดชจำนวน 51 คน สั่งโทษประหาร 21 คน ได้รับการเว้นโทษ 3 คน สุดท้ายกลุ่มกบฏที่ไม่เคยก่อการกบฏนี้ก็ถูกประหารจำนวน 18 คน จนได้ชื่อว่าเป็นกบฏ 18 ศพ

     นอกจากมีการสันนิษฐานว่าเป็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพระยาทรงสุรเดชและจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ตั้งแต่เมื่อครั้งร่วมคณะราษฎร ความขัดแย้งกันในเชิงนโยบายทางการทหาร ตลอดจนชิงแข่งขันในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2481 แล้ว ประการต่อมาคือในช่วงปี 2477-2481 จอมพลแปลกถูกลอบสังหารถึงสามครั้ง แต่ก็รอดหวุดหวิดทั้งสิ้น ด้วยความบาดหมางที่มีกับพระยาทรงมาตลอดหลายปีนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง จอมพลแปลกจึงคิดว่าพระยาทรงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อการดังกล่าว

     จากสองข่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าหนังสือพิมพ์ กรุงเทพวารศัพท์ มีความใกล้ชิด ‘พิเศษ’ กับกลุ่มก๊วนชนชั้นสูงในสยามขณะนั้นพอจะเข้าถึงตัวบุคคลสำคัญอย่างพระยาทรงได้โดยสะดวก และให้ความสำคัญกับข่าวคราวความสัมพันธ์ในหมู่คณะราษฎรเป็นพิเศษ จึงช่วยฉายภาพให้เห็นถึงเค้าลางความขัดแย้งภายในประเทศ ไม่ใช่แค่ระหว่างก๊วนกลุ่มคณะราษฎรเอง แต่ยังรวมถึงแรงกระเพื่อมของกลุ่มนิยมเจ้าที่นำไปสู่เหตุการณ์กบฏบวรเดช และการต่อสู้ระหว่างสองขั้วอำนาจในช่วงตลอดทศวรรษนี้ลากยาวจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทศวรรษถัดมา

2477

     ปีนี้ หนังสือพิมพ์ กรุงเทพวารศัพท์ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ คือแทรกข่าวต่างประเทศลงหน้าหนึ่งมากขึ้น เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในภาคพื้นยุโรปครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ขึ้นสู่อำนาจ จนทางหนังสือพิมพ์ต้องแบกกรอบข่าวต่างประเทศขึ้นหน้าหนึ่งอย่างชัดเจนขึ้น หรือแม้แต่ลงรูปขบวนกองทหารเยอรมันเข้าสู่แคว้นไรน์

     ความตื่นตัวต่อโลกนอกประเทศไม่ใช่แค่เรื่องทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการบินในเยอรมนี การขับเคี่ยวทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างเยอรมนีกับประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ตลอดจนความเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในประเทศที่จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างโปแลนด์และรัสเซีย

     หนังสือพิมพ์อีกฉบับที่ผู้เขียนให้ความสนใจมากเป็นพิเศษก็คือ สยามราษฎร์ เริ่มตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2468 เจ้าของคือ มานิต วสุวัต ซึ่งเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ศรีกรุง และในเวลาต่อมาเป็นผู้ลงทุนผลิตภาพยนตร์ไทย (โชคสองชั้น) ผู้สร้างโรงภาพยนตร์เสียงศรีกรุงด้วย 

     ความพิเศษของหนังสือพิมพ์หัวนี้อยู่ตรงที่นายมานิต วสุวัต มีความใกล้ชิดกับคณะราษฏรอย่างมาก นายมานิตและน้องชาย เภา วสุวัต ได้ถ่ายภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เอาไว้ด้วย (อ่านรายละเอียดการถ่ายทำภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวได้ใน ปฏิบัติการถ่ายหนังวันปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 จากความทรงจำของขุนวิจิตรมาตรา

     สยามราษฎร์ นำเสนอภาพการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก ทั้งในทางสังคม เทคโนโลยีทางการทหาร และการเมืองอย่างต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่การลงภาพข่าวประกอบพาดหัวฉบับวันที่ 3 มกราคม 2477 “พะโยมยานนาวาลำใหม่ของเยอรมัน” ที่ต่อมาเรียกกันว่า เรือเหาะ รุ่น LZ129 (Luftschiff Zeppelin #129) เส้นทางบินจากเยอรมนีสู่บราซิล ในยุคนั้นการเดินทางด้วยเรือเหาะนับเป็นบริการเดินทางทางอากาศข้ามประเทศที่รุ่งเรืองมาก ก่อนจะเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ในปี 2478 (1935) หรือเหตุวินาศภัยฮินเดนบวร์ก (Hindenburg Disaster) เมื่อเรือเหาะรุ่น LZ129 ชื่อฮินเดนบวร์ก (Hindenburg) ประสบเหตุเพลิงไหม้ขณะกำลังลงจอดที่สถานีเรืออากาศเลคเฮิสต์ (Naval Air Station Lakehurst) ประเทศสหรัฐฯ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 35 คน (ผู้โดยสาร 13 คน ลูกเรือ 22 คน) จาก 97 คนบนเรือ (ผู้โดยสาร 36 คน และลูกเรือ 61 คน) และมีผู้เสียชีวิตบนพื้นดิน 1 คนเ เหตุการณ์นี้เกิดจากเพลิงไหม้ในตัวเรือที่ใช้ระบบเผาไหม้ด้วยไฮโดรเจน ทำให้สาธารณชนกังขาต่อความปลอดภัยในการโดยสารเรือเหาะ นำมาสู่จุดสิ้นสุดยุคเรือเหาะไป 

     นอกจากเรื่องของเทคโนโลยี สยามราษฎร์ ยังดูมุ่งเน้นให้ผู้อ่านเห็นภาพ ‘ความเปลี่ยนไป’ ในเยอรมนีอย่างต่อเนื่อง ตามด้วยภาพประกอบหน้าหนึ่งวันที่ 19 และ 29 มกราคม 2477 ทั้งสองภาพเป็นภาพที่ไม่ได้มีเนื้อหาสอดคล้องกับพาดหัวข่าวบนหน้าหนึ่งแต่อย่างใด 

     ภาพแรกเป็นภาพประชาชนไปแสดงความเคารพต่อ ‘ท่านผู้นำ’ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ถึงหน้าบ้านพักของเขาอย่างเนืองแน่น ภาพที่สองเป็นภาพตำรวจเชลยศักดิ์ เจ้าหน้าที่รับจ้างซึ่งไม่ใช่คนของรัฐรับจ้างคุ้มกันคนไปทำธุระที่ธนาคาร ภาพเหล่านี้ไม่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ไทยฉบับอื่นในช่วงเวลาเดียวกัน แม้แต่การลงภาพ วิคตอร์ ลุตเซ่ (Viktor Lutze) หัวหน้าหน่วยสตอร์มทรูปเปอร์ (Sturmabteilung หน่วยองครักษ์พิทักษ์พรรคนาซี มีส่วนสำคัญในการเป็นกองกำลังส่วนตัวของฮิตเลอร์ในระหว่างขึ้นสู่อำนาจช่วงทศวรรษ 1920s-1930s) คนใหม่ของกองทัพเยอรมนี บนข่าวหน้าหนึ่งโดยไม่ได้มีเนื้อหาข่าวใดเกี่ยวข้องเช่นกัน ราวกับว่าข่าวสารของโลกภายนอกนั้นเป็น ‘ส่วนสำคัญ’ ในโลกหนังสือพิมพ์ สยามราษฎร์ ที่จะเคลื่อนไปพร้อมๆ กับความเคลื่อนไหวภายในประเทศ

     หนึ่งในข่าวสำคัญที่กลายเป็นจุดบรรจบของการเมืองภายในและต่างประเทศ มาถึงเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จประพาสยุโรป เริ่มจากพระองค์เสด็จไปยังอังกฤษเพื่อรักษาพระเนตรตั้งแต่ 27 มกราคม 2477 ก่อนจะเสด็จอีกหลายประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส อิตาลี และเยอรมนี 

     หนังสือพิมพ์ สยามราษฏร์ ฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม 2477 ระบุว่าพระองค์ “เสด็จโดยเครื่องบินจากโคโลญไปยังเอสเสน” แต่ไม่มีภาพประกอบข่าวแต่อย่างใด นอกจากรายละเอียดการเสด็จเยี่ยมสถานที่ต่างๆ ซึ่งการเดินทางในครั้งนั้นพระองค์มีข่าวการมอบเครื่องราชย์ให้แก่ เบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) ที่อิตาลีด้วย ก่อนพระองค์จะตัดสินพระทัยสละราชสมบัติที่อังกฤษในวันที่ 2 มีนาคม 2478 

ปัจจุบัน

     การย้อนกลับไปอ่านหนังสือพิมพ์เก่าครั้งนี้ ผู้เขียนต้องอาศัยแว่นสองกรอบ 

     1. กรอบของอดีตที่ยังไม่เห็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา อาทิ สงครามโลกครั้งที่ 2, บทบาทของไทยในมหาสงครามเอเชียบูรพา และความขัดแย้งภายในประเทศที่ต่อเนื่องไปถึงทศวรรษถัดไป 

     2. ผู้เขียนใช้กรอบแว่นปัจจุบันที่อ่านอย่างเห็น ‘ภาพร่าง’ ของเหตุการณ์บางอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาไม่นานจากนั้น 

     หนังสือพิมพ์เก่าจึงเป็นความพิเศษของการเรียนรู้ มีทั้งข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นของนักข่าวในสมัยนั้น

     อีกประการหนึ่งที่ผู้เขียนขออธิบายเพิ่มเติมคือ การทำหนังสือพิมพ์และข่าวในสมัยนั้นยังคงกระจุกอยู่ในพระนคร ข่าวส่วนใหญ่จึงเป็นข่าวในพระนคร ทั้งหนังสือพิมพ์เหล่านี้ยังเป็นหนังสือพิมพ์พาณิชย์ยุคแรกๆ ของสยาม คือมีวัตถุประสงค์พิมพ์เพื่อขายข่าวให้แก่ประชาชนทั่วไปซื้อหาอ่าน จากเดิมหนังสือพิมพ์มีเพียงฉบับภาษาอังกฤษ พิมพ์จำหน่ายตามคลับสโมสรสุภาพบุรุษผู้ดีต่างๆ การเคลื่อนคลายมาสู่ระบบการพิมพ์หนังสือพิมพ์เพื่อการพาณิชย์เช่นนี้ ทำให้ ‘ข่าวสาร’ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องในวงสังคมชั้นสูงในพระนครอีกต่อไป แต่ยังมีข่าวอาชญากรรมชาวบ้านแทรกประปรายตามหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ รวมไปถึงข่าวพิสดาร อาทิ การเจอสัตว์ประหลาด ผีสาง และเรื่องน่าชวนหัวด้วย 

     เป็นที่น่าเสียดายที่หนังสือพิมพ์เก่าเหล่านี้หลงเหลือให้อ่านและชมในปัจจุบันเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีครบทุกฉบับหรือครอบคลุมมากพอจะสามารถสำรวจชุดความคิดทางสังคม-การเมืองในสยามหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองผ่านหนังสือพิมพ์ได้รอบด้าน เพราะนอกจากข่าวหน้าหนึ่งแล้ว ยังมีอีกหลายหน้าที่น่าสนใจในหนังสือพิมพ์เหล่านี้ อาทิ การลงเรื่องจากพงศาวดารจีนในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพวารศัพท์, เรื่องสั้นและเรื่องยาวของนักเขียนไทย ตลอดจนหน้าโฆษณาสินค้าและหน้าโฆษณาภาพยนตร์ ซึ่งหากมีโอกาส ผู้เขียนจะนำมาเขียนถึงในคราวต่อไป

     สำหรับผู้ที่สนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเกียวโต