Mon 25 Oct 2021

CURRENTLY READING

แด่ผู้แหลกสลาย (Reasons to Stay Alive) โดย Matt Haig

ภาพ: NJORVKS

แด่ผู้แหลกสลาย (Reasons to Stay Alive)
Matt Haig เขียน
ศิริกมล ตาน้อย แปล
สำนักพิมพ์ Bookscape

     แน่นอนว่าคุณอาจเคยเห็น หรือพอรู้จักเล่มนี้มาแล้ว เพราะมันฮอตฮิตจนมีคนเขียนรีวิวถึงและบอกเล่าความดีงามเยอะมากกกก ถึงอย่างนั้นเราก็จะเขียนถึงอีก เพราะหลังจากพลิกอ่านเองจนจบก็พบว่าถ้าตอนนี้คุณเศร้าหรือเหนื่อยกับชีวิตอยู่ อยากให้คุณได้หยิบมันมาอ่านบ้าง

     แด่ผู้แหลกสลาย คือบันทึกเรื่องราวในช่วงเวลาที่ ‘แมตต์ เฮก’ นักเขียนชาวอังกฤษ เจ้าของผลงานวรรณกรรมอันโด่งดังมากมาย ต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล ไล่เรียงตั้งแต่จุดที่ตัวเองร่วงหล่นดำดิ่งไปกับโรค จนค่อยๆ พยุงตัวเองเพื่อลุกขึ้น และกลับมาใช้ชีวิตให้ได้ เฮกตั้งใจลบล้างการตีตราผู้ป่วย และเขาเชื่อว่า “ชีวิตเสนอเหตุผลของการดำรงอยู่เสมอถ้าเราตั้งใจฟัง”

     ซึ่งถ้าคุณอ่านคำอธิบายแล้วคิดว่าเล่มนี้ต้องพูดแต่ซึมเศร้าๆ เนิบๆ น่าเบื่อแหง เราก็ขออวยยศตั้งแต่บรรทัดนี้เลยแล้วกันว่า เฮกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองด้วยภาษาที่ง่ายเหมือนเราไปแอบอ่านไดอารี่ของเขา พร้อมกับลีลาการเขียน ชั้นเชิง และจังหวะเรื่องพอดีสุดๆ แถมบทจะตลกก็ตลกดื้อๆ เสียอย่างนั้น

     “ผมมีแม่ พ่อ น้องสาว และแฟน มีคนสี่คนที่รักผม ผมแทบคุกเข่าอ้อนวอนขณะนั้นให้ตัวเองไม่มีใครแม้แต่คนเดียว ความรักกักผมไว้ที่นี่” กลับมาที่เนื้อเรื่อง เฮกเริ่มต้นบันทึกเล่มนี้ด้วยการเล่าถึงชีวิตของตัวเองในวัย 24 ปี ช่วงเวลาที่ต้องพกโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลไปพักร้อนริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่ที่นั่นก็เป็นที่ที่เขาอยากจะพักการใช้ชีวิตของตัวเองเช่นกัน เฮกเดินไปริมหน้าผาหวังว่าจะทิ้งตัวเองลงไป ก่อนที่ความกลัวในจิตใจจะก่อตัวและมีความคิดตีกันตุบตับ จนในที่สุดเฮกตัดสินใจมีชีวิตอยู่ต่อ

     “สิ่งเดียวที่ทำได้ในตอนนี้ และเป็นสิ่งเดียวที่ควรทำคือ ฟังเสียงของตัวเอง” หลังผ่านจุดที่กำลังก้าวสู่ความตาย เมื่อเฮกกลับมาฟังเสียงตัวเองชัดๆ เพื่อใช้ชีวิต แต่การอยู่กับโรคนี้มันช่างร้ายนัก เขาเล่าถึงห้วงชีวิตที่ต้องวนลูปกับซึมเศร้า การต่อสู้กับปีศาจจิตใจตัวร้าย และนายวิตกกังวล ความคิดและความกลัวสารพัดจู่โจมเขาไม่เว้นวัน ที่แม้แต่การเดินไปร้านขายของชำยังเป็นเรื่องยาก ระหว่างนี้เขาก็พาเราไปเปิดกล่องความทรงจำส่องดูวัยเด็กแสนธรรมดาด้วย แต่ทว่านั่นกลับเป็นเสี้ยวหนึ่งของเจ้าซึมเศร้าที่เกิดขึ้น

     “มันช่วยได้บางครั้ง ไม่ใช่เสมอไป ไม่สมบูรณ์แบบหรอก ผมไม่ใช่ซุส ผมเนรมิตสายฟ้าไม่ได้ แต่ในระยะยาวนี่จะเป็นการสะสมสิ่งที่คุณรู้ว่าจะได้ผลในบางครั้ง” บางทีการรักษาด้วยยาก็ไม่ได้ช่วยเฮกเท่าไร เขาจึงตามหาสิ่งที่เยียวยาตัวเองอื่นๆ จนได้พบกับคู่มือและอาวุธคู่กายเพื่อดูแลหัวใจ ทั้งคนรัก การเดิน การวิ่ง หนังสือ ท่องเที่ยว หรือแม้แต่โยคะ การฟื้นตัวค่อยๆ เป็นไป พร้อมๆ กับการทำความเข้าใจ และหัดใช้ชีวิต

     “มันล่องหน มันไม่ใช่แค่เศร้านิดหน่อย” ความที่เฮกพยายามแทรกข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าผ่านงานวิจัยต่างๆ เป็นระยะ บวกกับเรื่องที่เขาได้เจอเอง ทำให้เราค่อยๆ เข้าใจโรคนี้ และบางทีก็เริ่มเข้าใจคนเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นอีกนิด แม้จะไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นเหมือนเฮก เพราะอาการและความรู้สึกแต่ละคนอาจ ‘ล่องหน’ ต่างกันไป แต่ระหว่างอ่าน ภาพของคนรอบข้างตัวเองที่เป็นซึมเศร้ากลับฉายชัดในหัว คำพูดหนึ่งผุดขึ้นในใจว่า ‘ฉันช่างไม่เข้าใจอะไรเสียเลยนะ’ โรคนี้ไม่ใช่แค่ความเศร้า มันละเอียดอ่อนกว่านั้น และเป็นสิ่งที่ยากมากจริงๆ

     อย่างที่บอกว่าเฮกมีชั้นเชิงและจังหวะพอดี การเล่าเลยไม่ใช่แค่บันทึกชีวิตรายวัน แต่มีข้อมูลจากงานวิจัยบ้าง ชอร์ตโน้ตสั้นๆ บ้าง พูดถึงหนังสือที่อ่านบ้าง ไปจนมีบทสนทนาข้ามกาลเวลา ที่เป็นเฮกในตอนเขียนกำลังคุยกับเฮกในวันที่ป่วยใจ เหมือนเฮกในปัจจุบันพยายามปลอบใจ ปลุกใจให้ตัวเองในอดีตลุกขึ้นสู้ (สู้เค้าสิวะอีหญิง) แต่ใครจะรู้ คนอ่านต่างหากล่ะที่เหมือนรับบทเป็นเฮกในอดีต แถมการทิ้งประโยคชุบชูใจเกลื่อนกลาดในเล่ม ก็เหมือนได้เพื่อนมานั่งตบบ่าเพิ่มหนึ่งอัตรา

     ช่วงหลังของหนังสือ เฮกหยิบเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามาให้ได้อ่าน รวมถึง 40 วิธีใช้ชีวิตแบบเฮก ซึ่งเป็นอีกส่วนที่เราชอบมาก เพราะแต่ละอย่างเป็นสิ่งธรรมดา ทำได้ง่าย และเป็นสิ่งที่อยู่ในอุดมคติตัวเองหลายข้อ ‘ชีวิตก็แค่นี้ อย่าไปคิดอะไรมาก’ เราคิดแบบนั้นเพื่ออนุญาตให้ตัวเองทำตามใจอยาก แต่การมีป้ายแปะข้างหลังว่าอยู่ในประเทศไทย ความแหลกเหลวของที่นี่ก็ค่อยๆ กัดกิน และไม่ได้ช่วยให้เราได้ใช้ชีวิต (แสนธรรมดา) ดั่งใจนัก หลายข้อที่ว่าง่ายกลับกลายเป็นสิ่งที่ทำยากซะงั้น

     แม้หน้าสุดท้ายจบลง เรายังมีก้อนความเหนื่อยกับการต้องใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้เหมือนเดิม แต่ก็ยังไม่วายมานั่งหาเหตุผลของการมีชีวิตอยู่อีกรอบ เผื่อว่าจะได้ขุดสิ่งที่เคยคิดไว้ หรือเจออะไรง่ายๆ สักอย่างมาช่วยประคับประคองใจแต่ละวันไปพลางๆ ก่อน และก็พบว่าได้ตัวอักษรของหนังสือเล่มนี้นี่แหละ ที่อนุญาตให้เราฝากความเศร้าและหลีกหนีความวุ่นวายไปสักพัก