Tue 08 Aug 2023

DIALOGUE THAT BASED ON REAL LIFE

‘SAINT OMER’ กับการเขียนไดอะล็อกจากคำให้การในศาล และการก้าวข้ามจากการทำหนังสารคดีสู่หนังฟิกชั่น

ภาพ: ms.midsummer

     อลิซ ดิออป (Alice Diop) เป็นคนทำหนังสารคดีที่มักจะบอกเล่าชีวิตของคนชายขอบในฝรั่งเศส เรื่องราวชีวิตของผู้คนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่ได้อยู่ในที่ซึ่งแสงไฟสาดส่องไปถึง หรืออยู่ในความสนใจของสังคมวงกว้าง

     หนังสารคดีของดิออปคือการสดับรับฟังสุ้มเสียงของผู้คนที่ไม่เคยถูกรับฟัง ทั้ง On Call (2016) ที่จับจ้องไปยังกิจวัตรประจำวันของหมอคนหนึ่งในปารีสที่เปิดให้บริการทั้งการรักษาและให้คำแนะนำแก่เหล่าผู้อพยพในฝรั่งเศสที่ยังไม่ได้สถานะผู้ลี้ภัย, Toward Tenderness (2016) ที่พาไปพูดคุยกับผู้ชายสี่คนเกี่ยวกับมุมมองเรื่องเซ็กซ์ ความรัก และความสัมพันธ์ บทสนทนาที่เปิดเปลือยให้เห็นว่าสถานะทางสังคมและชนชั้นมีผลต่อโลกทัศน์ของแต่ละคนอย่างไร, We (2021) ที่พาไปสำรวจวิถีชีวิตของผู้คนหลากหลายชนชั้นที่พำนักอาศัยอยู่ใกล้ทางรถไฟสายหนึ่งในปารีส ทั้งคนทำความสะอาด พ่อค้าเศษเหล็ก พยาบาล นักเขียน ฯลฯ

     ดิออปทำหนังสารคดีมาตลอด แต่กับผลงานล่าสุดอย่าง Saint Omer (2022) ที่แม้จะมีต้นทางมาจากเหตุการณ์จริง เรื่องราวเกี่ยวกับแม่คนหนึ่งที่ตกเป็นผู้ต้องหาว่าฆ่าลูกสาววัยเพียง 15 เดือน โดยอ้างว่าทำไปเพราะถูกครอบงำจากอิทธิพลของมนต์ดำและไสยศาสตร์ กลับเป็นครั้งแรกที่เธอเลือกใช้วิธีการแบบหนังฟิกชั่นเพื่อสื่อสารถึงประเด็นที่ต้องการจะบอกเล่า 

     จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้เกิดจากการที่ดิออปเห็นข่าวของ ฟาเบียน คาบู (Fabienne Kabou) หญิงสาวที่เป็นผู้ต้องหาคนดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ และเกิดความสนใจอยากรู้เหตุผลแรงจูงใจในการก่อเหตุ ด้วยเพราะทั้งเธอและคาบูต่างก็มีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง

     เรื่องราวที่ดิออปได้ฟังในห้องพิจารณาคดีนี่เองที่ส่งผลกระทบต่อเธออย่างมหาศาล พ้นไปจากเรื่องของแม่มดหมอผี สิ่งที่ดิออปเห็นคือชีวิตของใครคนหนึ่งที่เป็นเสมือนกระจกสะท้อนตัวเธอเอง ทั้งเรื่องชาติพันธุ์ เรื่องน้ำหนักการแบกรับความเป็นแม่ผู้ให้กำเนิด และความเป็นลูกสาวที่ต้องเติบโตภายใต้วิธีการเลี้ยงดูแบบเข้มงวดของแม่ในรุ่นก่อนหน้าอีกที

     ส่วนการซักถามของผู้พิพากษา (ในฝรั่งเศส ผู้พิพากษาสามารถเป็นคนซักถามเองได้) คำให้การของจำเลย ไปจนถึงคำแถลงปิดท้ายของทนายความ หลากหลายถ้อยคำในห้องนั้นทำให้ดิออปมีความรู้สึกปะปนกันไป ทั้งตึงเครียด สับสน และสะเทือนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งยังได้หวนกลับมาเชื่อมโยงถึงความเป็นไปในชีวิตของตัวเอง จนทำให้เธออยากหยิบเหตุการณ์นี้ไปทำเป็นหนัง

     “ฉันรู้สึกอับอายนิดหน่อยที่พบว่าตัวเองกำลังร้องไห้” ดิออปเล่าถึงเหตุการณ์วันนั้น “แต่พอหันไปดูรอบๆ ห้องก็พบว่าผู้หญิงคนอื่นอีกหลายคน ไม่ใช่แค่คนท้องถิ่น แต่รวมถึงคนที่เดินทางมาไกลจากที่อื่น ก็กำลังร้องห่มร้องไห้ไม่ต่างกัน”

     ทว่า สิ่งที่ดิออปอยากบอกเล่าไม่ใช่แค่ลำดับเหตุการณ์ที่นำไปสู่เหตุสลดดังกล่าว แต่เป็นการตั้งคำถามถึงเหตุผลและแรงจูงใจของผู้ก่อเหตุ ชำแหละให้เห็นว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่กดทับสะสมจนเปลี่ยนให้ใครสักคนกลายเป็นปีศาจร้าย เธอไม่ได้ต้องการเล่าแค่รูปคดีหรือสัมภาษณ์ผู้คนที่เกี่ยวข้อง แต่เป็นประเด็นที่ลึกลงไปกว่านั้น ทั้งตำแหน่งแห่งที่ของการเป็นผู้หญิงผิวดำในสังคมฝรั่งเศส รวมถึงสภาวะกดดันของความเป็นแม่ที่คนคนหนึ่งต้องแบกรับ

     ดิออปอยากให้คนดูอยู่ในสถานะแบบเดียวกันกับเธอ ได้ยินได้ฟังถ้อยคำแก้ต่างของจำเลยแบบเดียวกับที่เธอได้ฟังในวันนั้น และนั่นทำให้เธอรู้สึกว่าการทำหนังสารคดีไม่เพียงพอ หนังฟิกชั่นต่างหากที่เป็นเครื่องมือเหมาะสม

     Saint Omer เล่าผ่านมุมมองของ รามา (รับบทโดย เคจี คากามี) อาจารย์มหาวิทยาลัยที่อยู่ระหว่างการเขียนหนังสือเล่มใหม่ เธอตัดสินใจค้นหาข้อมูลประกอบการเขียนด้วยการเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีของ โลรองซ์ โคลี (รับบทโดย กุสลาชี มาล็องดา) หญิงสาวที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรมลูกสาวของตัวเอง โคลีให้การรับสารภาพว่าเป็นคนทำจริง แต่ปฏิเสธว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ใช่ความผิดตามที่ถูกกล่าวหา

     อาจกล่าวได้ว่าแม้จะเป็นหนังฟิกชั่น แต่วิธีการทำงานของดิออปไม่ต่างไปจากเดิมนัก ช่วงเวลาส่วนใหญ่ในหนัง Saint Omer คือการจำลองบรรยากาศที่เธอประสบพบเจอในวันนั้นอย่างสมจริงสมจัง เพื่อทำให้คนดูมีสถานะไม่ต่างไปจากลูกขุนคนหนึ่งที่เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีด้วย ชุดข้อมูลที่คนดูจะได้รับแทบเป็นสิ่งเดียวกับที่ดิออปได้สัมผัสรับรู้มา ทั้งสีหน้าแววตาอันเย็นชาแห้งแล้งของจำเลย และคำให้การที่บางครั้งก็ยากจะแยกแยะได้ว่าเธอกำลังพูดความจริงหรือมีสิ่งอื่นใดปิดบังเก็บซ่อนเอาไว้

     “มาดามโคลี ทำไมคุณถึงฆ่าลูกสาวตัวเอง” 

     “ฉันไม่รู้ ฉันหวังว่าการพิจารณาคดีนี้จะให้คำตอบฉันได้” 

     คำให้การของมาดามโคลีเริ่มตั้งแต่เรื่องภูมิหลังครอบครัวที่เซเนกัล ความแตกต่างและห่างเหินระหว่างเธอกับแม่ทำให้เธอเลือกจะหนีมาเรียนต่อที่ฝรั่งเศสเพื่ออยู่ให้ห่างจากครอบครัว มาดามโคลีพักอาศัยอยู่กับป้า พ่อยังคงส่งเสียเธออยู่ แต่เมื่อเธอเลือกจะเปลี่ยนสาขาวิชาเรียนจากกฎหมายไปเรียนปรัชญาพ่อก็เลิกส่งเสีย

     หลังจากนั้นเธอย้ายไปอยู่กับชายผิวขาวสูงวัยที่เป็นเพื่อนของป้า มีความสัมพันธ์แบบลับๆ กับเขาทั้งที่เขามีครอบครัวแล้ว เขายอมส่งเสียเลี้ยงดูเธอแต่ทำเสมือนว่าเธอเป็นคนไร้ตัวตน มาดามโคลีอาศัยอยู่ในสตูดิโอที่เขาใช้ทำงานศิลปะโดยไม่มีผู้ใดล่วงรู้ เขาให้เธอออกทางประตูหลังทุกครั้งที่มีแขกมาหา ไม่เชิญเธอไปร่วมงานแต่งของลูกสาวแต่มาขอให้เธอทำอาหารในงานให้ และจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับเขาที่อายุต่างกันเกินสามทศวรรษก็นำไปสู่การตั้งครรภ์ลูกสาวในที่สุด

     เขาให้การในชั้นศาลว่าการตั้งครรภ์ของมาดามโคลีคือแผนการที่ถูกวางเอาไว้อย่างมีจุดประสงค์ แต่เธอบอกอีกอย่าง เธอไม่เคยต้องการเด็กคนนี้มาตั้งแต่แรก เขาบอกว่าเขาเองก็เลี้ยงดูเด็กมาเหมือนกัน แต่เธอบอกว่าไม่ใช่ เธอต่างหากที่เป็นคนเลี้ยงมาตลอด โดยที่เขาไม่เคยสนใจใยดี ตอนที่ตำรวจโทรไปหาเขายังบอกว่าไม่ใช่ลูกของตัวเองด้วยซ้ำ

     เรื่องเล่าของเขาและเธอขัดแย้งกันเอง ถึงแม้ท่าทางของเขาจะดูเหมือนกำลังโกหกคำโต แต่จากการถูกซักไซ้ไปมาเผยให้เห็นว่าเธอเองก็พูดความจริงไม่หมดเช่นเดียวกัน เรื่องเล่าอันสับสนวกวนไปมาและหลายครั้งขัดแย้งกันเองของมาดามโคลีนั้นท้าทายความคิดความเชื่อของทั้งรามาและคนดู ชักชวนให้เราตั้งคำถามถึงแรงจูงใจเบื้องหลังถ้อยคำ ไม่เพียงแต่สถานะของความจริงและความลวงของเรื่องเล่า แต่ยังทำให้เราตั้งคำถามอีกชั้นว่าท่าทีที่เราใช้มองเธอนั้นมีอคติเคลือบแฝงอยู่หรือไม่ 

     “คุณไม่อยากมีลูกกับเขา คุณไม่อยากตั้งท้อง คุณเจตนาปกปิดการมีอยู่ของเด็กคนนี้ คุณไม่ได้บอกใครเรื่องลูก ไม่ได้บอกแม้กระทั่งแม่ของคุณด้วยซ้ำ ความจริงแล้วคุณฆ่าลูกเพราะเธอเป็นตัวถ่วงในชีวิตของคุณต่างหาก”

     “เหลวไหลสิ้นดี คุณอ่านใจฉันออกงั้นเหรอ” 

     ดิออปใช้ตัวละครรามาเป็นตัวแทนของคนดูในการรับรู้เรื่องราวนี้ เราอยู่ในเมืองแซ็งโตแมร์ ซึ่งเป็นเมืองเดียวกับที่เกิดเหตุ ได้เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีในห้องเดียวกัน (หนังถ่ายทำในห้องเดียวกับที่เคยใช้พิจารณาคดีของคาบู) และได้ยินได้ฟังไดอะล็อกแบบเดียวกับที่ดิออปเคยได้ยิน เพราะไดอะล็อกส่วนใหญ่ในหนังเรื่องนี้ถูกคัดลอกมาจากบันทึกคำเบิกความของพยานในศาลจริงๆ

     “ลูกหลับสนิทอยู่ในอ้อมแขนฉัน ฉันวางเธอลงบนชายหาด และพอเห็นว่าเธอไม่ได้ส่งเสียงหรือมีปฏิกิริยาอะไร ฉันจึงเดินจากมา ฉันจินตนาการว่าน้ำทะเลจะพาร่างเธอออกไป”

     คำให้การของมาดามโคลีไม่เพียงแต่จะทำให้คนฟังจินตนาการภาพตามได้ แต่วิธีการเรียบเรียงประโยคของเธอยังชวนให้ใจสลาย ดิออปใช้บันทึกคำเบิกความของพยานเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญในขั้นตอนการเขียนสคริปต์ ด้วยเพราะพลานุภาพในถ้อยคำเหล่านั้นคือเหตุผลที่ทำให้เธออยากทำหนังเรื่องนี้แต่แรก

     แม้แต่ประเด็นเรื่องมนต์ดำและไสยศาสตร์ ดิออปก็เลือกจะเก็บไว้เพื่อคงความซับซ้อนคลุมเครือทั้งของเรื่องเล่าและของตัวละครให้คงอยู่ดังเดิม เพราะการลดทอนมิติของตัวละครอาจทำให้ง่ายที่จะตัดสินพิพากษาเธอได้ในทันที ทั้งที่ความจริงแล้วการจะตัดสินใครสักคนหนึ่งมันไม่ควรเป็นเรื่องง่ายขนาดนั้น

     “เธอค่อนข้างซับซ้อน” ดิออปพูดถึงตัวละครโลรองซ์ โคลี “และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ตัวละครนี้น่าค้นหา เพราะเธอเป็นผู้หญิงที่ทั้งโกหก ทั้งเปราะบาง เป็นผู้หญิงที่เป็นทั้งเหยื่อ ทั้งผู้กระทำผิด และทั้งหมดถูกบอกเล่าผ่านถ้อยคำที่เธอพูดเกี่ยวกับตัวเอง”

     วิธีการเล่าเรื่องแบบหนังฟิกชั่นเปิดโอกาสให้คนดูได้รับฟังถ้อยคำ น้ำเสียงและอากัปกิริยาของผู้พูดอย่างตั้งอกตั้งใจ กล้องที่จับจ้องไปยังคอกพยานในระยะเวลาอันยาวนานตรึงให้คนดูได้กำซาบทุกมิติของความเป็นมนุษย์ที่มีทั้งด้านสว่างสดใสและด้านที่มืดหม่นอนธการ ชั่วขณะหนึ่งหนังเผยให้เห็นว่ามาดามโคลีเผยรอยยิ้มที่ดูจริงใจออกมาให้รามาได้เห็น และอีกไม่กี่นาทีหลังจากนั้นเธอก็เริ่มบอกเล่าเหตุการณ์วันที่เธอลงมือฆ่าลูกด้วยน้ำเสียงที่แสนเย็นเยียบ

     ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายสิ่งที่คนดูได้สัมผัสในหนังคือการต่อเติมเสริมแต่ง คือการแสดงหรือจำลองเหตุการณ์ที่ไม่อาจเรียกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าเป็นความจริง แต่ดิออปใช้เทคนิคของเรื่องแต่งเหล่านั้นทำให้เราเข้าถึงความจริงบางอย่างมากกว่าเดิม Saint Omer จึงไม่ใช่หนังที่มอบคำตอบหรือบทสรุปให้แก่คนดู แต่เป็นหนังที่พาเราไปสำรวจหลากหลายประเด็นที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงนัก ความจริงที่แสงสว่างสาดส่องไปไม่ถึง ความตั้งใจของดิออปคืออยากให้สิ่งเหล่านั้นถูกมองเห็นหรือได้ยิน ซึ่งวิธีการแบบหนังสารคดีไม่อาจพาไปถึง

     “ฉันไม่ได้อยากป่าวประกาศความเชื่อทางศีลธรรม” ดิออปว่า “ฉันไม่ใช่ทั้งทนายและผู้พิพากษา ฉันไม่อยากจะพิพากษาใคร ฉันแค่อยากทำความเข้าใจสิ่งที่ไม่อาจอธิบายได้ก็เท่านั้น” 

อ้างอิง 

theguardian.com/film/2023/jan/29/saint-omer-director-alice-diop-interview
nytimes.com/2023/01/16/movies/alice-diop-saint-omer.html
deadline.com/2023/01/saint-omer-alice-diop-interview-1235221511/
ft.com/content/9b50bb07-24c2-4b86-8685-ff9ba787a2d5
vogue.com/article/alice-diop-guslagie-malanda-saint-omer-interview
filmcomment.com/blog/interview-alice-diop-on-saint-omer/
screenslate.com/articles/interview-alice-diop-language-law-and-living-histories
youtube.com/watch?v=BgroHc3HDUU
youtube.com/watch?v=FhVInklG5Yg
youtube.com/watch?v=4NxIFcCdS2U
youtube.com/watch?v=Kr641eh4Qh0
theguardian.com/world/2016/jun/20/french-woman-fabienne-kabou-trial-daughter-beach