SALLY ROONEY
รู้จักกับนักเขียนสาวชาวไอริชผู้ได้ชื่อว่าเป็นเสียงแห่งยุคสมัย
เรื่อง: คาลิล พิศสุวรรณ
ภาพ: NJORVKS
หากจะมีนิยามอะไรสักอย่างที่มักจะห้อยท้ายชื่อของ ‘แซลลี รูนีย์’ (Sally Rooney) อยู่บ่อยๆ นิยามนั้นน่าจะเป็น ‘ดาวรุ่งพุ่งแรง’ (hottest star)
รูนีย์คือนักเขียนสาวชาวไอริช อายุ 30 ปี ที่นับตั้งแต่ Conversations with Friends นวนิยายขนาดยาวเรื่องแรกของเธอวางแผงในปี 2017 ชื่อของเธอก็มักจะถูกพูดถึงในฐานะนักเขียนรุ่นใหม่สุดร้อนแรง ขนาดที่ว่าสื่อบางแห่งขนามนามเธอว่าเป็น ‘กระบอกเสียงของชาวมิลเลนเนียล’ (voice of the millennial) ด้วยซ้ำ
ความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาว บทสนทนาของตัวละครที่หลายคราวก็พาให้รู้สึกประเทืองปัญญา และเซ็กซ์ เหล่านี้คือโครงสร้างอย่างคร่าวๆ ที่พบเจอได้ในหนังสือทั้งสามเล่มของรูนีย์ ทว่าควบคู่ไปกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ประเด็นหนึ่งที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เรื่อยๆ ทั้งจากบรรดานักวิจารณ์ นักอ่าน หรือกระทั่งตัวรูนีย์เอง คือแนวคิดแบบมาร์กซิสต์ (Marxist) ในนวนิยายของเธอ
แต่ก่อนที่เราจะไปพิจารณากันถึงอิทธิพลของแนวคิดแบบมาร์กซิสต์ในนวนิยายของรูนีย์ เป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องรู้จักแบ็กกราวนด์ชีวิตของนักเขียนสาว รวมถึงเรื่องราวคร่าวๆ ในหนังสือทั้งสามเล่มของเธอกันอีกสักเล็กน้อย
1
ย้อนกลับไปในปี 1991 เด็กหญิงรูนีย์ลืมตาขึ้นมามองโลกเป็นครั้งแรกที่คาสเซิลบาร์ เมืองเล็กๆ ที่ไม่มีอะไรโดดเด่นซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของไอร์แลนด์ พ่อของเธอทำงานในบริษัทโทรคมนาคม ส่วนแม่เปิดศูนย์ศิลปะเล็กๆ ภายในเมือง รูนีย์เติบโตมาพร้อมกับพี่ชายและน้องสาวอย่างละคน ชีวิตในวัยเด็กของสามพี่น้องรูนีย์เวียนวนอยู่กับการดูละครเวทีและงานศิลปะแขนงต่างๆ รูนีย์เขียนนวนิยายเล่มแรกในชีวิตของเธอเสร็จขณะที่ยังมีอายุแค่ 15 ปี และแม้ว่านักเขียนสาวมักจะพูดถึงมันด้วยน้ำเสียงขบขันว่า “เป็นขยะดีๆ นี่เอง” แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า เด็กคนหนึ่งสามารถเขียนนวนิยายเล่มแรกของตัวเองจนแล้วเสร็จด้วยวัยเพียงเท่านี้ก็นับเป็นเรื่องน่าชื่นชมอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม ชื่อของรูนีย์ยังไม่ได้เป็นที่รับรู้อะไรนัก จนกระทั่งปี 2015 สองปีหลังจากที่เธอเรียนจบปริญญาโทด้านวรรณคดีอเมริกัน (American literature) ชื่อของรูนีย์ก็เริ่มเป็นที่พูดถึงจากเรียงความชื่อ Even if you beat me ซึ่งตีพิมพ์บนเว็บไซต์ The Dublin Review โดยเรียงความชิ้นนี้ รูนีย์ย้อนเล่าเรื่องราวของตัวเองในวัย 22 ปี เมื่อครั้งที่เธอได้ชื่อว่าเป็นนักโต้วาทีอันดับหนึ่งของยุโรป แต่แทนที่จะยินดีไปกับความสำเร็จนี้ รูนีย์กลับพบว่าตัวเองไม่ได้มีความสุขกับแสงไฟที่ส่องลงมานัก ควบคู่ไปด้วยกัน เธอยังรู้สึกอึดอัดกับบรรยากาศรอบตัวที่เนืองแน่นไปด้วยนักศึกษาหัวกะทิและพวกชนชั้นสูงที่เพลิดเพลินกับการถกเถียงประเด็นบ้านเมืองสารพัด แต่ก็เป็นไปเพื่อความบันเทิงภายในวงสังคมที่จำกัดเท่านั้น
“ฉันไม่รู้สึกสนุกไปกับการถกเถียงว่าระบบทุนนิยมสร้างประโยชน์อย่างไรบ้างให้กับคนยากไร้ หรืออะไรคือสิ่งที่บรรดาผู้ถูกกดขี่ควรกระทำต่อการถูกกดขี่ ถึงที่สุดแล้ว รางวัลต่างๆ ที่ฉันกวาดมาได้จากการโต้วาทีก็ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ให้กับโลกภายนอกเลย ฉันไม่ได้ให้ความช่วยเหลือใคร หรือเข้าใจอะไรขึ้นมาเลย ยกเว้นอาจแค่ตัวฉันเอง ซึ่งมันก็เป็นแค่ส่วนเล็กๆ เท่านั้น” รูนีย์เขียนเล่าในส่วนหนึ่งของบทความ
เป็นความอึดอัดทำนองนี้เอง ที่ส่งผลให้รูนีย์ตัดสินใจหันหลังให้กับการโต้วาทีและหวนกลับมาสู่การเขียนนวนิยายอีกครั้ง โดยที่แม้ว่าตลอดเวลานับจากนั้น รูนีย์จะเขียนเรื่องสั้นอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเรียงความ Even if you beat me นี่เองที่ได้กลายเป็นสะพานส่งให้ชื่อของรูนีย์ไปถึงหูของ เทรซี โบฮาน (Tracy Bohan) แห่ง The Wylie Agency เอเจนซีวรรณกรรมชื่อดังซึ่งหลังจากที่ได้อ่านเรียงความของอดีตนักโต้วาทีคนนี้ก็รีบติดต่อมาในทันที
“เทรซีได้อ่านเรียงความของฉันและสงสัยว่าฉันพอจะมีอะไรให้เธอได้ลองอ่านอีกไหม แต่ฉันก็ไม่ได้ส่งอะไรให้เธออยู่นานเลยนะ ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม อาจเป็นเพราะฉันไม่อยากให้เทรซีได้เห็นต้นฉบับห่วยๆ ที่ฉันเขียนไว้มั้ง” รูนีย์เล่าในบทสัมภาษณ์กับ The Guardian
ทว่าในที่สุดแล้ว รูนีย์ก็ตัดสินใจส่งต้นฉบับที่มีอยู่ (หลังจากขัดเกลาอีกสักเล็กน้อย) ให้กับเทรซีและเอเจนซีได้ลองพิจารณา ซึ่งต้นฉบับนวนิยายที่รูนีย์ไม่ค่อยจะมั่นใจนี้ก็ไม่ใช่อะไรอื่น แต่คือ Conversations with Friends ที่ในเวลาต่อมาได้ส่งให้ชื่อของเธอกลายเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนดาวดวงใหม่แห่งไอร์แลนด์
อย่างคร่าวๆ Conversations with Friends บอกเล่าเรื่องราวของฟรานเซส นักเขียนสาววัย 21 ปีและนักศึกษาวิทยาลัยทรินิตี (วิทยาลัยเดียวกับที่รูนีย์เรียนจบมา) กับบ็อบบิ เพื่อนสาว (และอดีตแฟนสาวของฟรานเซส) ที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยมัธยม วันหนึ่งขณะที่ทั้งสองกำลังพักร้อน อยู่ๆ พวกเธอก็ได้พบกับ เมลิสซา ช่างภาพฐานะดีที่อยากจะถ่ายภาพพวกเธอลงบนนิตยสารชื่อดัง ก่อนที่เวลาต่อมา ฟรานเซสและบ็อบบิจะได้รู้จักกับนิก นักแสดงหนุ่มใหญ่หน้าตาดีและสามีของเมลิสซา รูนีย์พาเราไปจับจ้องความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งสี่ที่ค่อยๆ แปรรูปไปเรื่อยๆ เมื่อบ็อบบิคล้ายว่าจะรู้สึกชอบพอเมลิสซา และเมื่อฟรานเซสและนิกลอบสานสัมพันธ์กันอย่างลับๆ
Conversations with Friends โฟกัสไปยังเหล่าตัวละครฐานะดีที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘อีลีต’ ไม่ว่าจะเป็นฟรานเซส, บ็อบบิ, เมลิสซา หรือนิก ล้วนแล้วแต่เป็นคนมีเงินที่วนเวียนอยู่ในวงการศิลปะ ก่นด่าระบบทุนนิยม หากอาศัยอยู่บนกองเงินกองทองที่พ่อแม่สร้างมาอย่างไม่รู้สึกรู้สาใดๆ ซึ่งถ้าเราลองทาบทับเนื้อหาของนวนิยายเรื่องนี้กับชีวิตที่ผ่านมาของรูนีย์ จะเห็นว่า สภาวะความอึดอัดใจกับวงสังคมในช่วงที่เธอเป็นแชมป์นักโต้วาทีดูจะมีอิทธิพลต่อเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้อยู่ไม่น้อย มันจึงไม่แปลกหากจะมีผู้อ่านรู้สึกว่า พ้นไปจากข้อเท็จจริงที่ว่า Conversations with Friends คือนวนิยายที่ฉายภาพชีวิตประจำวันของชนชั้นสูงได้อย่างแจ่มชัดแล้ว อีกฟังก์ชั่นหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ยังคือการวิพากษ์ไปยังประเด็นต่างๆ ในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความเลวร้ายของระบบทุนนิยม และการตั้งคำถามต่อบรรดาอภิสิทธิ์ชน
ทว่าในบทสัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Politics/Letters รูนีย์กลับไม่ได้มองว่า ฟังก์ชั่นทางการเมืองใน Conversations with Friends มีนัยสำคัญอะไร
“ฉันไม่ได้มองนวนิยายเรื่องนี้ว่ามีฟังก์ชั่นทางการเมืองหรอกนะ มันไม่ใช่หนังสือเพื่อสั่งสอน แล้วฉันก็ไม่ได้พยายามจะแทรกตัวเองเข้าไปอยู่ท่ามกลางการถกเถียงทางอุดมการณ์ใดๆ แน่นอนว่ามันมีเนื้อหาทางการเมืองอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเพราะว่าชีวิตประจำวันของพวกเราต่างก็พันธนาการอยู่กับอำนาจทางการเมืองอย่างช่วยไม่ได้ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลย (สำหรับฉัน) ที่จะเขียนนวนิยายสักเรื่องขึ้นมาโดยที่ไม่พยายามมองไปยังอำนาจทางการเมืองเหล่านั้น” รูนีย์อธิบาย
2
หลังจาก Conversations with Friends วางจำหน่ายในปี 2017 รูนีย์ไม่ปล่อยให้กลุ่มแฟนๆ ที่เริ่มก่อตัวขึ้นต้องรอนวนิยายเล่มใหม่ของเธอนาน เพราะหนึ่งปีให้หลัง รูนีย์ก็กลับมาอีกครั้งพร้อมกับ Normal People ผลงานเล่มที่สองที่ส่งให้ชื่อของเธอโด่งดังเป็นพลุแตก เพราะไม่เพียงแต่ยอดขายของ Normal People จะพุ่งสูงแซง Conversations with Friends เท่านั้น แต่ในเดือนกรกฎาคม 2018 นวนิยายเล่มนี้ยังไปปรากฏอยู่ในลองลิสต์ของ The Man Booker Prize เวทีรางวัลวรรณกรรมระดับโลกอีกด้วย นอกจากนี้ในปี 2020 Normal People ยังถูกดัดแปลงเป็นซีรีส์ความยาว 12 ตอน ฉายทางสตรีมมิงแพลตฟอร์มอย่าง Hulu กวาดคำชมไปมากมายทั้งจากคนดูและบรรดานักวิจารณ์
หาก Conversations with Friends คือการฉายภาพชีวิตของอีลีต Normal People ก็คล้ายว่าจะเปลี่ยนสายตามาจับจ้องความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาวคู่หนึ่งในไอร์แลนด์ที่สถานะทางอำนาจของพวกเขาดูจะสลับสับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา คอนเนลล์คือชายหนุ่มฉลาด หน้าตาดี และเป็นที่ชื่นชอบของทุกคนในโรงเรียน ขณะที่แมรีแอนน์เป็นเด็กสาวเงียบๆ ไม่มีใครคบ แต่ก็ฉลาดเป็นกรดพอๆ กัน ทว่าในขณะที่ฐานะของคอนเนลล์นั้นค่อนข้างอัตคัด แมรีแอนน์กลับอาศัยอยู่ในบ้านหลังโต โดยที่แม่ของคอนเนลล์เองก็ทำงานเป็นคนทำความสะอาดของบ้านหลังนี้ ผู้คนรอบตัวไม่มีใครรู้ว่าคอนเนลล์และแมรีแอนน์แอบคบกัน โดยที่คอนเนลล์เองก็อยากจะปิดบังความสัมพันธ์นี้ไว้อย่างลับๆ เพราะไม่อยากให้ใครที่โรงเรียนรู้ว่าหนุ่มฮอตอย่างเขาเป็นแฟนกับแมรีแอนน์ เพราะในวัยมัธยม คอนเนลล์คือผู้ที่ได้รับแสงไฟอยู่ตลอด แต่แล้วเมื่อพวกเขาก้าวเข้าสู่ชีวิตมหา’ลัย กลับกลายเป็นแมรีแอนน์ต่างหากที่กลายเป็นฝ่ายป๊อปปูลาร์ ส่วนคอนเนลล์ต้องพบกับความยากลำบากในการปรับตัวเข้าหาเพื่อนๆ ในมหา’ลัย
แม้รูนีย์จะเคยให้สัมภาษณ์ว่า เธอไม่ได้มองนวนิยายของตัวเองว่ามีฟังก์ชั่นทางการเมืองใดๆ ก็จริง แต่ Normal People กลับดูตั้งใจนำเสนอประเด็นทางการเมืองที่ปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปอย่างตรงไปตรงมา ในบทสัมภาษณ์กับ The Guardian รูนีย์เล่าว่า “มันคงจะเป็นเรื่องยากมากๆ สำหรับฉันในการจะเขียนเรื่องราวของคนหนุ่มสาวจากไอร์แลนด์ตะวันตก ย้ายออกจากบ้านไปเรียนต่อมหา’ลัย แล้วไม่เผชิญหน้ากับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ”
และก็เป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนี่เองที่ได้กลายเป็นเงื่อนไขกลับขั้วให้สถานะของคอนเนลล์ ซึ่งเคยเป็นที่ยอมรับในโรงเรียนมัธยมต้องรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกจากนักศึกษาคนอื่นๆ ในมหา’ลัยที่ไม่ได้ขัดสนเรื่องเงินทองเหมือนกับเขา ซ้ำร้าย ค่าใช้จ่ายและค่าเช่าบ้านที่เขาต้องแบกรับเมื่อต้องย้ายจากบ้านเกิดมาอยู่ในเมืองใหญ่อย่างดับลินยังกลายเป็นโจทย์หินเกินกว่าที่เด็กหนุ่มจากบ้านนอกคนหนึ่งจะแบกรับไหว จนกลายมาเป็นสาเหตุที่ทำให้คอนเนลล์ไม่สามารถอาศัยอยู่ในหอพักระหว่างช่วงปิดเทอมได้ ใจจำต้องย้ายกลับไปยังบ้านเกิดในช่วงสั้นๆ จนนำมาสู่ความหมองใจระหว่างเขาและแมรีแอนน์ในที่สุด
“โอ้” เธอเอ่ยขึ้น “งั้นเธอก็ต้องกลับไปอยู่บ้านสินะ”
หลังได้ยินคำพูดนั้น เขาก็ถูบริเวณหน้าอก รู้สึกหายใจขาดห้วง “ก็คงต้องเป็นแบบนั้นแหละ อืม” เขาตอบ
บทสนทนาสั้นๆ ข้างต้นนี้หากมองเผินๆ อาจดูไม่มีนัยสำคัญอะไร ทว่าผ่านคำพูดที่ดูไม่มีอะไรนี่เองที่รูนีย์ได้แฝงฝังประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำไว้อย่างแนบเนียน สำหรับคอนเนลล์ เขาอยากจะบอกแมรีแอนน์ไปอย่างตรงๆ ว่า ขออยู่กับเธอที่อพาร์ตเมนต์ได้ไหม แต่ด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง ท้ายที่สุดแล้วคอนเนลล์ก็ปล่อยให้โอกาสหลุดลอยผ่านไป พลาดที่จะถามแฟนสาวไปตรงๆ ขณะเดียวกันในฝั่งของแมรีแอนน์ น่าสนใจว่าเธอเองก็ดูจะไม่อาจจับนัยใดๆ ในคำพูดของแฟนหนุ่มได้ ราวกับว่าเธอเองก็ติดอยู่ภายใต้กับดักของสถานะทางสังคมที่เปลี่ยนไป
ความแตกต่างระหว่างสถานะทางเศรษฐกิจของทั้งคู่ได้แทรกซึมเข้ามาจนกลายเป็นเงื่อนไขของความไม่เข้าใจและนำมาซึ่งความแตกแยกของทั้งสอง หากลองพิจารณาความสัมพันธ์ของคอนเนลล์กับแมรีแอนน์คร่าวๆ ผ่านกรอบคิดแบบมาร์กซิสต์ อาจกล่าวได้ว่า สาเหตุที่คอนเนลล์ไม่สามารถจะเอ่ยปากขออยู่กับแมรีแอนน์ในอพาร์ตเมนต์ของเธอได้ เพราะเขารู้สึกอับอายที่คอยแต่จะพะวงอยู่กับเรื่องเงินและหนี้สินอยู่ตลอดเวลา โดยที่ความกังวลและอับอายนี้ได้ก่อร่างสร้างกำแพงทางชนชั้นที่แยกขาดทั้งตัวเขาและแมรีแอนน์ออกจากกัน ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ความแตกต่างทางชนชั้นคือสิ่งที่รบกวนจิตใจคอนเนลล์อยู่เสมอ ในขณะที่แมรีแอนน์ซึ่งไม่ได้มีความลำบากเรื่องการเงินกลับสามารถที่จะมองข้ามกำแพงนี้ไปได้ง่ายๆ เงินคือเงื่อนไขที่มอบอิสรภาพให้กับแมรีแอนน์ สวนทางกับคอนเนลล์ที่เงินคอยแต่จะถ่วงเขาไว้อยู่กับที่
“เขากับแมรีแอนน์ไม่เคยคุยกันเรื่องเงินเลย พวกเขาไม่เคยคุยกันถึงเรื่องอย่างเช่นแม่ของเธอจ้างแม่ของเขาให้ขัดพื้นหรือตากผ้า หรือเรื่องเงินที่ว่านั่นก็หมุนเวียนแบบอ้อมๆ มาจนถึงคอนเนลล์ แล้วเขาก็ใช้เงินอ้อมๆ นั้นไปกับแมรีแอนน์เป็นส่วนมาก เขาเกลียดที่จะนึกถึงประเด็นพวกนี้และรู้ว่าแมรีแอนน์ไม่เคยคิดเล็กคิดน้อยเลย เธอซื้อนั่นซื้อนี่ให้เขาตลอดเวลา เลี้ยงข้าวเย็นบ้าง ซื้อตั๋วหนังให้บ้าง หรืออื่นๆ ที่จ่ายแทนเขาอย่างต่อเนื่อง และจ่ายแทนตลอดเวลาแล้วก็ลืมเลือนไป”
นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นท่ามกลางอีกหลายๆ เหตุการณ์ใน Normal People ที่ฉายภาพความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่แปลกเลยที่นักวิจารณ์และสื่อฝ่ายซ้ายหลายๆ สำนักจะพากันเรียก Normal People ว่าเป็นนวนิยายฝ่ายซ้ายบ้าง นวนิยายมาร์กซิสต์บ้าง (แม้ว่าจะยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ก็ตาม) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรูนีย์เองก็เรียกตัวเองว่าเป็นมาร์กซิสต์ด้วยแล้ว ในแง่นี้เราจึงพอสรุปได้ว่า หนึ่งในคำถามสำคัญที่นวนิยายเรื่องนี้พยายามจะกระตุ้นให้ผู้อ่านคิดตามจึงอาจเป็นคำถามทำนองว่า ภายใต้ระบบทุนนิยมที่คอยแต่จะสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับผู้คนในสังคมไม่รู้จบนี้ มีโอกาสที่ความรักจะเบิกบานเต็มที่ได้แค่ไหน ความรักที่หลุดพ้นออกจากการกำกับควบคุมของระบบทุนนิยมควรจะมีรูปร่างหน้าตาแบบใด แล้วจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะมีความรักได้โดยที่ความแตกต่างทางชนชั้นไม่ใช่เงื่อนไขหลักในการพิจารณา
3
ในบทสัมภาษณ์หนึ่ง รูนีย์เคยพูดไว้ว่า “ฉันไม่เคยพยายามจะถ่ายทอดเรื่องราวจากมุมมองของใครสักคนที่อายุมากกว่าฉันเลย เพราะฉะนั้นนวนิยายทุกเรื่องของฉันจึงเกี่ยวกับคนรุ่นราวคราวเดียวกับฉัน”
คงจะจริงอย่างที่รูนีย์ว่า เพราะ Beautiful World, Where Are You ผลงานเล่มที่สามของเธอก็บอกเล่าเรื่องราวของตัวละครในช่วงอายุที่ไล่เลี่ยกับรูนีย์ในปัจจุบัน หากน้ำเสียงของ Conversations with Friends และ Normal People คือวัยรุ่นที่ยังพลุ่งพล่านและเยาว์วัย Beautiful World, Where Are You ก็คล้ายจะต่างออกไป เพราะคราวนี้น้ำเสียงที่เล่ากลับห่อหุ้มเรื่องราวของสองหนุ่มและสองสาวในวัยสามสิบกว่าๆ ที่ไม่ได้มองโลกด้วยสายตาที่สดใสอะไรนัก
Beautiful World, Where Are You บอกเล่าเรื่องราวของสี่ตัวละครหลัก ได้แก่ อลิซ, ไอลีน, ไซมอน และฟีลิกซ์ โดยอลิซกับไอลีนเป็นเพื่อนสนิทกันมาตั้งแต่สมัยมหา’ลัย ต่อมาไอลีนในวัยสามสิบทำงานให้กับนิตยสารวรรณกรรมหัวหนึ่งที่ดับลินและกำลังเยียวยาตัวเองจากอาการอกหัก ขณะที่อลิซได้กลายเป็นนักเขียนดังที่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่กลับเบื่อหน่ายกับชื่อเสียงที่ได้รับ หญิงสาวทั้งสองส่งอีเมลหากันเรื่อยๆ อัพเดตเรื่องราวสัพเพเหระควบคู่ไปกับถกเถียงประเด็นสังคม รวมถึงชีวิตรักของทั้งคู่ เมื่อไอลีนพบว่าตัวเองมีความรู้สึกดีๆ ให้กับไซมอน เพื่อนในวัยเด็กของเธอ ส่วนอลิซก็คล้ายว่าจะเริ่มผูกสัมพันธ์กับฟีลิกซ์ ชายหนุ่มที่ไปแมตช์กันโดยบังเอิญในแอพนัดเดต
แน่นอนว่า ความสัมพันธ์ยังคงเป็นประเด็นหลักในนวนิยายของรูนีย์ ทว่าควบคู่ไปกับเรื่องราวความรัก เซ็กซ์ และการฉายภาพชีวิตประจำวันของตัวละครทั้งสี่ ‘ชื่อเสียง’ คืออีกประเด็นสำคัญของหนังสือเล่มนี้
อยู่มาวันหนึ่ง อลิซ นักเขียนสาวผู้โด่งดังก็พบว่า เธอไม่อาจรับมือกับชื่อเสียงและเงินทองที่หลั่งไหลเข้ามาไม่หยุดหย่อนได้ จนกลายเป็นสาเหตุให้เธอต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจิตเวชในดับลิน “ฉันเคยบอกเธอไหมว่า ฉันทนอ่านพวกวรรณกรรมร่วมสมัยไม่ได้อีกแล้ว” อลิซเล่าให้ไอลีนฟังผ่านอีเมล ก่อนจะอธิบายว่า มันคงเป็นเพราะเธอรู้จักนักเขียนพวกนั้นมากเกินไป ซึ่งพวกเขาก็ไม่ต่างอะไรจากเธอนัก “พวกเขากลับบ้านหลังจากใช้เวลาในวันหยุดที่เบอร์ลิน หลังจากให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์สี่หัว ถ่ายภาพไปสามรอบ เข้าร่วมสองอีเวนต์ที่ตั๋วขายหมดเกลี้ยง แล้วก็กินอาหารเย็นสามมื้อดีๆ ที่ทุกคนต่างก็พากันบ่นเรื่องรีวิวแย่ๆ ที่พวกเขาได้รับ จากนั้นพวกเขาก็จะเปิดแมคบุ๊กเครื่องเก่าและเขียนนวนิยายที่งดงามว่าด้วย ‘ชีวิตจริง’” อลิซขยะแขยงนักเขียนพวกนั้น เช่นเดียวกับตัวเธอเองที่ก็ดำเนินชีวิตอยู่ในวงโคจรนี้ไม่ต่างกัน คงไม่ถือเป็นการพูดเกินจริงแต่อย่างใด หากจะบอกว่าอลิซคือตัวแทนของรูนีย์ที่สะท้อนความอึดอัดในการเป็นนักเขียนชื่อดัง
“ทุกๆ วันฉันถามตัวเองว่าชีวิตฉันกลายมาเป็นแบบนี้ได้ยังไง ฉันไม่เคยโฆษณาตัวเองว่ามีจิตใจเข้มแข็งพอที่จะรับมือกับสายตาสาธารณะที่เพ่งจ้องเข้ามาในชีวิตส่วนตัวของฉันได้เลยนะ” รูนีย์เล่าความรู้สึกในบทสัมภาษณ์กับ The New York Times
ควบคู่ไปด้วยกัน Beautiful World, Where Are You ยังเป็นหนังสือที่เปิดเผยความคับข้องใจของรูนีย์ต่อวงการวรรณกรรมในปัจจุบัน โดยเฉพาะต่อประเด็นที่ว่า บ่อยครั้ง—คุณค่าของวรรณกรรมถูกรับรู้ในฐานะของสินค้าที่บ่งบอกสถานะบางอย่างของผู้ซื้อ
ในบทสัมภาษณ์กับ Louisiana Channel รูนีย์เล่าถึงความอึดอัดใจที่เธอมีต่อวงการหนังสือในปัจจุบัน “ฉันรู้สึกคลางแคลงใจอย่างมากต่อการที่วรรณกรรมทุกวันนี้ถูกวางขายในลักษณะของสินค้า เหมือนกับเครื่องประดับที่ผู้คนมีไว้เพื่อตกแต่งบ้าน หรือของสวยๆ งามๆ ที่คุณจะใส่ไว้ตามตู้ต่างๆ เพียงเพื่อให้คุณดูเหมือนคนอ่านหนังสือ” รูนีย์อธิบายว่า สาเหตุที่เธอคิดเช่นนี้ก็เพราะเมื่อวรรณกรรมถูกรับรู้ว่าเป็นเพียงสินค้า นั่นเท่ากับว่าวรรณกรรมเล่มหนึ่งๆ จะปราศจากพลังที่จะปะทะและเผชิญหน้ากับอำนาจใดๆ ในสังคมอย่างเต็มที่ “เพราะฉะนั้นแม้ว่าหนังสือสักเล่มจะเต็มไปด้วยวิธีคิดแบบมาร์กซิสต์ แต่ท้ายที่สุดแล้วหนังสือเล่มนั้นก็จะถูกตัดขาดจากความเป็นการเมืองอยู่ดี เพราะมันถูกรับรู้ว่าเป็นแค่สินค้าชิ้นหนึ่งไปแล้ว” นักเขียนสาวอธิบาย
รูนีย์ไม่ได้มีคำตอบให้กับความเคลือบแคลงใจนี้ เช่นเดียวกับที่ Beautiful World, Where Are You ก็ไม่ได้มอบทางออกที่แจ่มชัดให้กับประเด็นนี้แต่อย่างใด เพราะในขณะที่อลิซ ซึ่งที่แม้ว่าจะรังเกียจวงการวรรณกรรม แต่ท้ายที่สุดแล้วเธอก็ไม่อาจหลุดพ้นไปจากวงโคจรนี้ได้ รูนีย์เองที่แม้ว่าจะไม่พอใจนักกับการที่วรรณกรรมทุกวันนี้ถูกรับรู้ในฐานะสินค้า ก็คล้ายว่าจะต้องเผชิญหน้ากับข้อเท็จจริงที่ว่า นวนิยายทั้งสามเล่มที่เขียนขึ้นมาก็ดำรงอยู่ในสถานะของสินค้าและเครื่องบ่งชี้สถานะไม่ต่างกัน
4
สำหรับผู้เขียน อาจกล่าวได้ว่าคุณูปการสำคัญที่นวนิยายของรูนีย์มอบให้ คือการปฏิเสธแนวคิดเชิงปัจเจกนิยม และให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระหว่างผู้คนในสังคมมากกว่าอะไรใดๆ
ในบทสัมภาษณ์กับ The New York Times รูนีย์เล่าว่า “ฉันไม่ค่อยจะเชื่อแนวคิดเรื่องความเป็นปัจเจกสักเท่าไหร่ ฉันพบว่าตัวเองมักจะถูกดึงดูดเข้าหาการเขียนเรื่องความใกล้ชิดในความสัมพันธ์อยู่เรื่อยๆ รวมถึงการที่เราต่างก็ประกอบสร้างซึ่งกันและกันอยู่เสมอ”
ไม่ว่าจะเป็น Conversations with Friends, Normal People หรือ Beautiful World, Where Are You นวนิยายทั้งสามล้วนพุ่งเป้าไปยังเรื่องราวของผู้คนที่ต่างก็พบปะ ผูกพัน ส่งอิทธิพลซึ่งกันและกัน ความโดดเดี่ยวอาจเป็นสภาวะหนึ่งที่ผ่านเข้ามาเพียงช่วงสั้นๆ แต่ท้ายที่สุดนั้น ตัวละครต่างๆ ของรูนีย์ก็จะก้าวออกไปหาผู้อื่นตลอดเวลา
เพราะสำหรับรูนีย์ คุณค่าของความเป็นมนุษย์จะปรากฏออกมา ไม่ใช่จากการแยกขาด แต่จากการที่เราต่างก็เชื่อมโยงถึงกัน