SALMON ON MAP
หนังสือบันทึกการเดินทาง ตลอด 11 ปีของ Salmon Books ไปผจญภัยที่ไหนมาบ้าง?
เรื่อง: ปุณณ์ พจนาเกษม
ภาพ: ปุณณ์ พจนาเกษม
เวลาพูดถึง สำนักพิมพ์แซลมอน สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมักจะคิดถึงอยู่เสมอคือ ‘หนังสือบันทึกการเดินทางต่างประเทศ’
ในวาระครอบรอบ 11 ปี สำนักพิมพ์อันเป็นที่รักของพวกเราทั้งที คอลัมน์ ‘Data Journalread’ จะพาไปสำรวจกันว่า ‘หนังสือบันทึกการเดินทางตลอด 11 ปีของ Salmon Books ไปผจญภัยที่ไหนมาบ้าง?’ บอกเลยว่า บางเรื่องกอง บ.ก.ก็อาจจะไม่รู้
พร้อมแล้ว ไปตัวตึงกันเลยครับจารย์!
คอลัมน์เดือนนี้พามารู้จักกับเครื่องมือในการทำ data visualization ประเภทหนึ่งที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีสุดๆ อย่าง ‘แผนที่’ โดยเราจะเล่าเรื่องราวการผจญภัยว่ายทวนน้ำของแซลมอนแต่ละตัวผ่านแผนที่ Dot density map ซึ่งเป็นแผนที่ประเภทหนึ่งที่แสดงความถี่ในสถานที่ต่างๆ ยิ่งจุดเยอะแสดงว่าบริเวณนั้นมีสิ่งนั้นเยอะ ในกรณีนี้ 1 จุดบนแผนที่แสดงถึงสถานที่ภายในหนังสือหมวดหมู่บันทึกการเดินทาง
แต่คอลัมน์ Data Journalread ไม่ชอบว่ายแบบธรรมดา เราชอบว่ายท่ายาก! เพิ่มความซับซ้อนเข้าไปอีก ด้วยการเปลี่ยนจุดเป็นรูปโลโก้สำนักพิมพ์แซลมอน สีที่แตกต่างกันคือช่วงเวลาที่หนังสือเล่มนั้นตีพิมพ์ (1 สีแทนช่วงเวลา 2 ปี) ทิศทางการหันหัวของแซลมอนคือเพศของนักเขียน หันไปทางซ้ายคือนักเขียนชาย หันไปทางขวาคือนักเขียนหญิง
หนังสือบันทึกการเดินทางในช่วงสองปีล่าสุดไปผจญภัยที่ไหนมาบ้าง?
ดูจากแผนที่แผนก็รู้โดยทันทีว่า ‘อินเดีย’ คือสถานที่ที่แซลมอนนิยมว่ายทวนน้ำไปบ่อยที่สุดถึงสามครั้งภายในระยะเวลาแค่สองปี
หนังสือเล่มล่าสุดจะเปิดตัวครั้งแรกที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ เดือนตุลาคม ปี 2022 คือ DEAR INDIA มาหาภารตะ โดย ‘ปาราวตี’ เป็นบันทึกสานสัมพันธ์กับคนอินเดีย ด้วยวิธีการที่ไม่เหมือนใคร เช่น นอนกลางทะเลทราย กางเต็นท์บนที่สูง เดินทางสู่เมืองชื่อแปลกที่นักท่องเที่ยวไม่ไปกัน ลองทำงานในโฮสเทลและไร่บนภูเขา อีกทั้งได้เข้าร่วมงานเปิดตัวภาพยนตร์บอลลีวูด
หิมาลัยต้องใช้หูฟัง ฉบับ RE-EDITION และ หิมาลัยต้องกลับไปฟัง ก็เป็นหนังสือแซลมอนที่ว่ายทวนน้ำไปไกลถึงเทือกเขาหิมาลัย ว่าด้วยบันทึกการเดินทางไปค่ายแพทย์อาสาในโครงการ Himalaya Health Exchange โดย ‘คัมภีร์ สรวมศิริ’
11 ปีผ่านไป แซลมอนว่ายทวนน้ำไปประเทศไหนบ่อยสุด?
ถ้าวัดกันที่จำนวน—‘ญี่ปุ่น’ เป็นประเทศที่นักเขียนแซลมอนไปเยือนและเอากลับมาเขียนเล่าบันทึกการเดินทางเยอะที่สุดถึง 7 เล่ม! ช่วงพีคที่สุดคือ ช่วงขวบที่ 2 และ 3 ของสำนักพิมพ์ (ปี 2013-–2014 สัญลักษณ์สีน้ำเงินในแผนที่) ไปญี่ปุ่น 4 ครั้ง
ถ้าวัดกันที่การว่ายไปแบบสม่ำเสมอ—‘สหรัฐอเมริกา’ เป็นประเทศที่แซลมอนว่ายไปตลอด ตั้งแต่ปีแรก (ปี 2011) อย่าง ฮาวายประเทศ โดย ‘จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์’ จนถึงปี 2022 แซลมอนก็ยังไปอเมริกากับ DEAR PORTLAND ฉบับ RE-COVER EDITION โดย ‘ธนชาติ ศิริภัทราชัย’ สิริรวมแล้ว 11 ปีออกมาทั้งหมด 6 เล่ม
อันดับ 3 เท่ากันคือ 4 เล่ม ได้แก่ ‘ฝรั่งเศส’ และ ‘อินเดีย’ ทางด้านฝรั่งเศสมานิ่งๆ แต่ก็มีนักเขียนส่งต้นฉบับการไปเที่ยวปารีสและภูมิภาคอื่นๆ ของฝรั่งเศสอยู่เสมอ ส่วนอินเดียที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้ เหมือนกดสูตรโกง เป็นลูกรักอาจารย์ อายุขวบที่ 10–11 ของสำนักพิมพ์ออกทีเดียว 3 เล่ม
ปีไหนคือปีทองของสำนักพิมพ์แซลมอน?
ครั้งหนึ่งในอดีต สำนักพิมพ์แซลมอนเคยผลิตหนังสือบันทึกการเดินทางอย่างบ้าคลั่ง นั่นก็คือ 7 เล่ม ออกเมื่อปี 2015 ซึ่งถือว่าเยอะจนไม่อยากจะเชื่อดาต้าที่มีในเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ และเมื่อนำไปรวมกับปี 2016 ตามที่แบ่งไว้ในตอนแรก ทำให้สองปีนั้นพิมพ์หนังสือบันทึกการเดินทางออกมาทั้งสิ้น 9 เล่ม เมื่อดูจากแผนที่จะค้นพบความหลากหลายที่เกิดขึ้นของหนังสือบันทึกประสบการณ์ที่แทบจะไม่ซ้ำประเทศกัน
ตัวอย่างเช่น OUT IN AFRICA บันทึกประสบการณ์สามปีในเคนยาของ ‘อาทิตย์ ประสาทกุล’ นักการทูตประจำสถานทูตไทยในไนโรบี ที่เขียนเรื่องราวการทำงานร่วมกับคนท้องถิ่น การผูกสัมพันธ์กับคนพื้นเมือง และการพยายามเผยแพร่ให้คนแอฟริกาได้รู้จักประเทศไทยเอาไว้
การเดินทางไปยุโรปด้วยตัวเองเป็นครั้งแรกของ ‘คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง’ พาตัวเองไปตามรอยสถานที่ถ่ายทำหนังเรื่อง Before Sunrise และเยี่ยมชมบ้านโมซาร์ตใน AUSTRIA SONATA แอดเวนเจอร์ ออฟ เมอฤดี ฉบับคลาสสิก
หรือถ้าใครอยากได้ประเทศสุดแปลก ก็ขอแนะนำ BE RIGHT BACK หายไปที่อื่น โดย ‘ทีปกร วุฒิพิทยามงคล’ หนังสือที่จะพาคุณไปยังประเทศเกาหลีเหนือและสถานที่แปลกๆ มากมาย พร้อมกับข้อเขียนที่สั่งสมระหว่างออกเดินทางไปตามเมืองต่างๆ ในรอบหนึ่งปีครึ่ง
ที่น่าสนใจคือ แม้ว่าภายในปีนั้นจะมีหนังสือบันทึกการท่องเที่ยวต่างประเทศออกมาถึง 9 เล่ม แต่ทั้งหมดถูกเขียนโดย ‘นักเขียนชาย’ ทั้งสิ้น
หนังสือบันทึกประสบการณ์ท่องเที่ยวโดยนักเขียนหญิง?
ถึงแม้ว่าอัตราส่วนนักเขียนชายและนักเขียนหญิงของสำนักพิมพ์แซลมอนจะค่อนข้างใกล้กันในแต่ละปี แต่เมื่อเป็นหนังสือหมวดหมู่บันทึกการท่องเที่ยว หรือนิยายที่มีสถานจริงอ้างอิงอยู่ในหนังสือ ตลอดระยะเวลา 11 ปี มีหนังสือเพียง 4 เล่มเท่านั้นที่เขียนนักเขียนหญิง
เล่มล่าสุด ตีพิมพ์ในปี 2022 อย่าง MABUHAY MANILA มะนิลามาเมคอัพ ว่าด้วยเรื่องของการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกของ ‘ไลลา ศรียานนท์’ ในฐานะเด็กฝึกงานเมคอัพ
PARIS IN PAIRS ปารีสบนดาวดวงอื่น เป็นนิยายที่นำภาพถ่ายจากกรุงปารีสมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวที่ไม่มีอยู่จริง ผลงานเล่มแรกของ ‘โชติกา ปริณายก’ ตีพิมพ์ในปี 2017 และอย่างที่บอกไปว่าฝรั่งเศสคือประเทศที่ชาวแซลมอนว่ายทวนน้ำไปกันบ่อยที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ออกหนังสือมากถึง 4 เล่ม หนังสือ PARIS IN PAIRS ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยเป็นเล่มที่ถูกเขียนโดยนักเขียนหญิงเพียงคนเดียว ส่วนอีก 3 เล่มที่เหลือเขียนโดยนักเขียนชาย
ภูมิภาคไหนที่แซลมอนยังไม่เคยว่ายทวนน้ำเพื่อไปเขียนหนังสือ?
แซลมอนแอมะซอนและลาตินอเมริกา แซลมอนสถาน และแซลมอนไซบีเรีย คือน่านน้ำที่ยังไม่มีนักเขียนคนไหนบุกไปถึง ถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้ และอยากส่งต้นฉบับให้ บ.ก. ก็ลองหาโอกาสเดินทางไปยังสถานที่เหล่านี้ดู เพราะไม่มีทางซ้ำกับรุ่นพี่คนไหนแน่นอน
ทวีปอเมริกาใต้และภูมิภาคลาตินอเมริกา คือทวีปที่น่าสนใจและเป็นสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยนักสำหรับชาวแซลมอน แถมยังมีทั้งเมืองดังอย่างริโอ เดอ จาเนโร (Rio de Janeiro) ของบราซิล และบัวโนส ไอเรส (Buenos Aires)เมืองหลวงของอาร์เจนตินา หรือถ้าการผญจภัยในทวีปนี้มันเป็นไปได้ยากเกินไป ก็อาจจะขยับขึ้นไปอีกนิดนึงที่กรุงฮาวานา (Havana) ของคิวบา แซลมอนก็ยังไม่เคยว่ายไปถึงเช่นกัน
ประเทศที่ลงท้ายด้วย -สถาน ก็ยังไม่เคยมีแซลมอนตัวไหนว่ายไปถึง เมืองและหัวข้อที่พอจะเอากลับมาเขียนหนังสือได้ เช่น ไปเยี่ยมชมประเทศเผด็จการทหารหนึ่งเดียวในเอเชียกลาง ณ กรุงอาซกาบัต (Ashgabat) ของเติร์กเมนิสถาน หรือไปสัมผัสเสน่ห์ของอดีตอาณาจักรเปอร์เซียโบราณ ภายในกรุงเตหะราน (Tehran) เมืองหลวงของประเทศอิหร่าน ก็ดูเป็นหัวข้อที่ชาวกอง บ.ก.แซลมอนน่าจะสนใจต้นฉบับเหล่านี้ได้ไม่ยาก
ถ้าแซลมอนแอมะซอนและลาตินอเมริกาชื้นเกินไป และแซลมอนสถานร้อนเกินไปสำหรับคุณ ก็เชิญไปเปิดเส้นทางใหม่ พระราม 9–ไซบีเรีย ไปผจญภัยไซบีเรีย แล้วเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาเล่าให้กับชาว บ.ก.สำนักพิมพ์แซลมอนที่อยู่แถวพระราม 9 ได้อ่านกัน
คอลัมน์ Data Journalread เดือนนี้ขอยกให้เป็นของขวัญวันเกิดครอบรอบ 11 ขวบของสำนักพิมพ์แซลมอน เป็น 11 ปีที่เดินทางมาไกลมาก ตั้งแต่วันที่ธุรกิจหนังสือเฟื่องฟู จนปัจจุบันที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์เริ่มเปลี่ยนไป แซลมอนก็ยังว่ายและก็เติบโตอยู่เรื่อยๆ
ขอให้มีแรงว่ายทวนน้ำ ณ พระราม 9 อย่างแข็งแรงและเป็นที่รักของผู้อ่านทุกคนนะ! นายแซลม่อน บุ๊กสสสส์!
จากแซลมอน พระราม 2 :->
ปุณณ์