SIAMESE TWINS
อ่านอีกด้านหนึ่งของแฝดสยาม กับเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยการและเมืองวัฒนธรรม
เรื่อง: อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ
ภาพ: NJORVKS
เริ่มยินเสียงเอ่ยนาม ‘อิน-จัน’ หนาหูในช่วงนี้ คงเพราะปรากฏซีรีส์ไทยในวาระครบรอบ 70 ปีกันตนา ซึ่งหยิบยกชีวประวัติฝาแฝดตัวติดกันบริเวณหน้าอกผู้เลื่องลือระดับโลกมาบอกเล่าใหม่อีกหน โดยให้ชื่อ Extraordinary Siamese Story: Eng and Chang
หลายปีล่วงผ่าน ก็ใช่ว่าคู่แฝดอิน-จันจะห่างหายจากความทรงจำของคนไทย เพียงแต่อาจอยู่ในความสนใจและเกิดกระแสผุดขึ้นบ้างเนืองๆ ตามบริบทสถานการณ์ ยิ่งห้วงยามซีรีส์กำลังเผยโฉม ก็ย่อมเห็นการผลิตคอนเทนต์เกี่ยวกับแฝดสยามเยอะ
ถึงอย่างนั้น การนำเสนอเรื่องราวของอิน-จันให้โลดแล่นผ่านสื่อต่างๆ กลับแจกแจงรายละเอียดค่อนข้างเหมือนกัน ผมจึงใคร่เชิญชวนคุณผู้อ่านให้ตื่นเต้นเพิ่มเติม ด้วยการชวนมาอ่านเรื่องราวของแฝดสยามในแง่มุมที่พวกเขาได้รับการกล่าวพาดพิงในเอกสารทางประวัติศาสตร์ อันพัวพันกับประเด็นการเมืองและวัฒนธรรมไม่น้อย
—
อิน-จัน ชาวปากคลองแม่กลอง ตำบลแหลมใหญ่ เมืองสมุทรสงคราม ลืมตาทัศนาโลกหนแรกเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พุทธศักราช 2354 (บางหลักฐานว่าพุทธศักราช 2356) พ่อเป็นคนจีนชื่อ ทีอาย แม่ชื่อ นาก เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เดิมชาวบ้านลุ่มน้ำแม่กลองเรียกทั้งสองติดปากว่า ‘แฝดจีน’ หาใช่ ‘แฝดสยาม’
ที่น่าสนใจคือไม่ใช่เพียงอินกับจัน แต่นางนากยังคลอดลูกออกมาเป็นฝาแฝดอีกสี่คู่ และเคยคลอดครั้งเดียวออกมาถึงสี่คน เพียงแต่ไม่มีแฝดคู่ไหนตัวติดกันเหมือนอิน-จัน
จริงๆ แล้วตามกรอบคิดสมัยนั้นและกฎหมายโบร่ำโบราณ ฝาแฝดลักษณะนี้จัดเป็นตัวประหลาด เป็นตัว ‘กาลกิณี’ เสี่ยงจะโดนประหาร หากทั้งคู่ก็แคล้วคลาด สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
สำหรับที่มาของชื่อฝาแฝด สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากผลของต้นอินจัน ซึ่งจะออกผลสองแบบ ผลหนึ่งลูกกลมป้อมๆ ขนาดใหญ่ เรียก ‘ลูกอิน’ อีกผลหนึ่งลูกแป้นๆ ขนาดเล็ก เรียก ‘ลูกจัน’ เปรียบเปรยเสมือนฝาแฝดที่มองภายนอกคล้ายคลึง แต่อุปนิสัยใจคออาจผิดแผก
อิน-จันช่วยเหลือแม่ทำงานสารพัด กำพร้าพ่อตั้งแต่เยาว์วัย พวกเขาทำประมงหาปลา ทำน้ำมันมะพร้าว เลี้ยงเป็ดและทำไข่เค็มขายแถวปากน้ำแม่กลอง ฝาแฝดคู่นี้ว่ายน้ำเก่งกาจ ชื่อเสียงเลื่องลือจนใครๆ ก็อยากเห็น กิตติศัพท์ของทั้งสองยังทราบไปถึงวังหลวงในกรุงเทพพระมหานคร ครั้นปีพุทธศักราช 2367 นางนากและอิน-จันจึงได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งพระองค์ก็ค่อนข้างโปรด เพราะแฝดมีไหวพริบ ฉลาด พอปีพุทธศักราช 2370 พระองค์มีพระบรมราชานุญาตให้คู่ฝาแฝดเดินทางร่วมกับคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรี ณ เมืองญวน
ห้วงเวลาใกล้ๆ กัน โรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) พ่อค้าชาวอังกฤษเชื้อสายสกอต ฝีปากชาวสยามเรียก ‘นายหันแตร’ (ต่อมามีบรรดาศักดิ์เป็น ‘หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช’) นั่งเรือแล่นผ่านมาทางลุ่มน้ำแม่กลอง แลเห็นอิน-จันว่ายน้ำเล่น พลันผลิบานความคิด นำตัวแฝดคู่นี้ไปจัดแสดงในดินแดนที่ชาวสยามเรียก ‘สหปาลีรัฐอเมริกา’ (สหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน)
ฮันเตอร์เจรจาภาษาไทยแคล่วคล่อง จึงทำความรู้จักครอบครัวฝาแฝดจนสนิทสนมและได้รับความไว้วางใจ อย่างไรก็ดี เมื่ออิน-จันเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 3 ก็ประหนึ่งเป็นคนของวังหลวง พ่อค้าชาวอังกฤษพยายามติดต่อราชสำนักอีกด้าน เพื่อหวังให้สะดวกขึ้น คาดหมายแสดงความจำนงชัดเจน กระทั่ง อาเบล คอฟฟิน (Abel Coffin) กัปตันเรือสินค้า The Sachem ล่องมาค้าขายในเมืองสยาม ฮันเตอร์จึงเร่งชวนมาร่วมหุ้นส่วนเพื่อนำตัวฝาแฝดแห่งลุ่มน้ำแม่กลองไปจัดแสดง มุ่งหวังจะแสวงหารายได้
ที่สุด ทั้งฮันเตอร์และคอฟฟินประสบความสำเร็จ พวกเขาติดต่อขอนำตัวฝาแฝดออกจากสยามไปจัดแสดงในสหรัฐฯ ได้ ทำสัญญากำหนดระยะเวลาสามปี ขณะนั้นอิน-จันอายุประมาณ 17-18 ปี สัญญาจะสิ้นสุดลงเมื่อทั้งสองอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ และการจัดแสดงช่วงสองปีแรก คู่แฝดจะได้รับส่วนแบ่งค่าตอบแทน รัฐบาลสยามรู้เห็นเป็นพยานการทำสัญญาครานี้ ฮันเตอร์และคอฟฟินจ่ายเงินนางนากล่วงหน้าประมาณ 1,600 บาท (ตอนนั้นไทยยังไม่ได้ใช้เงินบาท เพิ่งจะเริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ 6 จำนวนเงินที่ระบุนี้เป็นเพียงการเทียบเคียง)
อิน-จันเดินทางไปกับเรือของคอฟฟินในวันแรกสุดของเดือนเมษายน พุทธศักราช 2372 (ตรงกับคริสต์ศักราช 1829) รอนแรมท่องทะเลมหาสมุทรทั้งสิ้น 138 วัน ก่อนจะขึ้นฝั่งดินแดนสหรัฐฯ ตระเวนจัดแสดงทั้งในสหรัฐฯ และข้ามฟากไปยุโรป จนปฐมบท ‘Siamese twins’ หรือ ‘แฝดสยาม’ เป็นที่กล่าวขวัญ ด้วยยุคนั้นยังไม่มีคำเรียกฝาแฝดตัวติดกันว่า Conjoined twins อีกทั้งพวกฝรั่งอ่านชื่อแฝดชาวลุ่มแม่กลองไม่ถนัด หรือคงคุ้นเคยกับชื่อคนจีนมากกว่า จึงเรียกเพี้ยนเป็น ‘เอ็ง’ (Eng) และ ‘ชาง’ (Chang) ต่อมาภายหลัง โจเซฟ ฮอลลิงสเวิร์ธ (Dr. Joseph Hollingsworth) นายแพทย์ประจำครอบครัวของอิน-จันเดาสุ่มว่า ‘ชาง’ เป็นคำภาษาไทยแปลว่า ซ้าย และ ‘เอ็ง’ แปลว่า ขวา ซึ่งเป็นการเข้าใจที่ผิด
ในช่วงนั้น ว่ากันว่าอิน-จันถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับส่วนแบ่งเงินค่าการจัดแสดงจากคอฟฟินอยู่หลายครั้ง แม้เอกสารหลายชิ้นจะเสนอทำนองว่าแฝดสยามได้อิสรภาพเพราะครบตามกำหนดสัญญาแล้ว แต่จดหมายเหตุของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เปิดเผยว่า เมื่อมิสเตอร์คอฟฟินพาฝาแฝดไปจัดแสดงในสหรัฐฯ ใครๆ ก็แตกตื่นไปรับชมกันล้นหลาม สร้างความร่ำรวยให้นายฝรั่งผู้นี้ แต่ฝาแฝดที่ทำให้คอฟฟินมั่งคั่งกลับถูกเขาเลี้ยงดุจทาส ชาวอเมริกันรายหนึ่งเกิดเวทนาเลยแนะนำแฝดสยามให้ทำเรื่องร้องขออิสรภาพจากศาล อ้างความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่วัตถุหรือสัตว์เดรัจฉานที่คอฟฟินจะถือเป็นกรรมสิทธิ์ ศาลอเมริกันพิจารณาตัดสินให้ทั้งสองหลุดพ้นจากการปกครองของคอฟฟิน นับแต่นั้นแฝดสยามก็ประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเอง
อย่างไรก็ตาม กรณีแฝดสยามชาวลุ่มน้ำแม่กลองกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม ช่างสอดคล้องกับประวัติศาสตร์โลกยุคจักรวรรดินิยม โดยพวกเจ้าอาณานิคมจะนำเอาชาวพื้นเมืองลักษณะประหลาดมาจัดแสดงให้ชาวตะวันตกฮือฮา ราวกับเป็นมหรสพหรือเป็นสวนสัตว์มนุษย์ (Human Zoo)
ชีวิตในสหรัฐฯ ของอิน-จันมิแคล้วต้องอดทนฝ่าฟันอุปสรรคยากเข็ญ อเมริกันชนยุคนั้นยังเหยียดผิวและกีดกันคนต่างเชื้อชาติ ยิ่งสภาพร่างกายแปลกพิกล คงรองรับการหมิ่นแคลนเสมอๆ หรือตอนไปโชว์ตัวในยุโรปก็เผชิญความเป็นบุคคลต้องห้าม คราวแฝดสยามเดินทางไปจัดแสดง ณ กรุงปารีส ทั้งสองถูกห้ามเข้าฝรั่งเศส เกรงจะส่งผลร้ายต่อผู้หญิงตั้งครรภ์ เพราะยุคนั้นเชื่อผิดๆ กันว่าถ้าผู้หญิงท้องเห็นสิ่งใด สิ่งนั้นจะเกิดผลกับบุตรในท้อง
อย่างไรก็ดี ท้ายสุดคู่ฝาแฝดได้เข้ากรุงปารีส และเป็นที่นี่เองที่อิน-จันได้พบกับศัลยแพทย์ผู้หนึ่งซึ่งขอลองบีบตรงส่วนหน้าอกติดกัน ปรากฏว่าพวกเขาเป็นลม ไม่แน่ชัดว่าเพราะตกใจ เพราะเจ็บปวด หรือเพราะเป็นการแสดง เรื่องนี้นายแพทย์ วิลเลียม เอช. แพนโคสต์ (William H. Pancoast) หัวหน้าทีมแพทย์ผ่าศพคู่แฝดภายหลังเป็นผู้บอกเล่าไว้
อิน-จันไม่ระย่อท้อถอย แม้ว่าสัญญาจะหมดแล้วก็ไม่กลับไทย สู้มานะบากบั่นจนโอนสัญชาติตนเป็นประชาชนอเมริกัน ใช้นามว่า เอ็ง และ ชาง (Eng and Chang) นามสกุล บังเกอร์ (Bunker) ตั้งตัวเป็นเจ้าของไร่ฝ้ายในรัฐนอร์ธแคโรไลนา (North Carolina) ซื้อทาสผิวดำมากรำงานประจำไร่ของพวกตน
เหตุที่แฝดสยามเลื่อนชั้นทางสังคมได้ นอกเหนือจากน้ำพักน้ำแรงก็เพราะสติปัญญา พวกเขาเล็งเห็นว่าชาวอเมริกันตามเมืองใหญ่ๆ ต่อต้านชาวจีนผู้เข้ามาทำงานและฝังรกราก จึงเลือกจะไปพำนักในชนบทรัฐทางตอนใต้แทน
ที่นั่น อิน-จันพบรักและสมรสกับแหม่มสาวชาวอเมริกันสองพี่น้องตระกูลเยทส์ (Yates) อินแต่งงานกับ ซาราห์ (Sarah) จันแต่งงานกับ แอดิเลด (Adelaide) ผลิตบุตรธิดารวมกัน 21 คน อิน 11 คน และจัน 10 คน ผูกปริศนาน่าทึ่งไว้ให้ใครๆ ขบคิด โดยเฉพาะข้อเคลือบแคลงวิธีมีเพศสัมพันธ์
—
ถ้าคล้อยตามความคิดที่ว่า ชีวิตเราทุกคนมิอาจเลี่ยงพ้นการเมือง ชีวิตอิน-จันก็คงเป็นเช่นนั้น ทั้งคู่มีอันต้องโยงใยกับการเมืองโลกและการเมืองไทย อย่างในสหรัฐฯ แฝดสยามได้ร่วมเหตุการณ์สงครามกลางเมือง (American Civil War) ช่วงปีคริสต์ศักราช 1861 พวกเขาสนับสนุนการมีอยู่ของทาส จึงเข้าข้างฝ่ายก่อตั้ง ‘สมาพันธรัฐอเมริกา’ (The Confederate States of America) หรือฝ่ายใต้ ซึ่งเป็นคนละฝ่ายกับประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) มิหนำซ้ำ สตีเฟน (Stephen) บุตรชายของอิน และ คริสโตเฟอร์ (Christopher) บุตรชายของจัน ก็ร่วมรบอยู่ในกองทัพฝ่ายใต้ ซึ่งในเวลาต่อมาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม ในฐานะนายทาส ฝาแฝดชาวลุ่มน้ำแม่กลองจึงสูญเสียทรัพย์สินเกือบสิ้นเนื้อประดาตัว
แม้อิน-จันจะอำลาบ้านเกิดเมืองนอนมิหวนย้อนยาวนาน แต่การอ้างอิงนามพวกเขาที่เมืองไทยหาได้เงียบหาย คงแว่วเป็นระยะๆ
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เขียนถึงใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ และ หนังสือแสดงกิจจานุกิจ ซึ่งเมื่อสื่อสิ่งพิมพ์เฟื่องฟูในกาลต่อมา ก็เจอเรื่องราวของพวกเขาบ่อยตามหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ
ข้อมูลหนึ่งที่ผมเคยบังเอิญอ่านจากหนังสือ อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายครรชิต เทพหัสดิน ณ อยุธยา คือลายพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก 129 (ตรงกับพุทธศักราช 2453) ถึงพระยาไพศาลศิลปศาสตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา ต่อมาเป็นเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) ซึ่งมีเนื้อหาพาดพิงชื่อฝาแฝดอิน-จัน
“นี่เหลือที่จะอดกลั้นแล้ว รู้สึกคันอยู่ในเนื้อที่หนาๆ เช่นซ่นเท้าเกาไม่ถึงก็ปานกัน คือหนังสือกรุงเทพฯ เดลี่เมล์ออกเมื่อวานนี้วันที่ ๑๘ แต่ในหนังสือนั้นเองลงวันที่ ๑๙ เล่าว่ามีคนไปจากเมืองไทยอยู่อเมริกาชื่อจีน เอง จีน แฉ่ง เปนฝาแฝด ดังนี้ เขาเล่าสำหรับให้เปนประโยชน์แก่คนไทยซึ่งไม่มีใครรู้ ให้รู้ไว้ ด้วยชาติอื่น ภาษาอื่น เขารู้กันหมด เปนเรื่องโด่งดัง แต่เราเจ้าของเองไม่รู้ เขามีสติปัญญาได้เรียนหนังสือฝรั่ง รู้ภาษาฝรั่งแปลได้ ได้กระทำสงเคราะห์ญาติชาติภูมิเช่นนี้
เปนน่าพิศวงด้วยนักเรียนชั้นแผ่นดินพระจุลจอมเกล้านี้ ความรู้หูตา แลความคิดช่างคับแคบราวกับรูเข็ม ไม่รู้ไม่เห็นการอไรเกิน ๓ ปีขึ้นไป พูดไทยก็ไม่ชัดเปนอันขาด เพราะถ้าจะพูดออกมาให้ชัด สำเนียงฝรั่งจะแปร่ง แลการที่คเนเดาอไรต่างๆ นั้นก็เกี่ยวด้วยภูมิปัญญา
แต่เรื่องนี้พ่อนักเรียนชั้นใหม่ผิดแน่ละ เด็กอมมือมันก็รู้เรื่องคนแฝดคู่นี้ เพราะหนังสือเรื่องเมืองไทยจะไม่มีคนแฝดนี่ไม่ได้ คนไทยเราก็ได้ไปพบที่อเมริกา เขาชื่ออินคนหนึ่ง จันคนหนึ่ง แต่เพราะเรียกภาษาฝรั่ง อิน จันไม่ชัดจึงเปน เอง, แฉ่ง, เมื่อเปน เอง, แฉ่ง, ไปแล้ว หน้าตาสมเปนเจ๊กก็ติดหางหนูให้เสียด้วย
นี่แหละจะเปนนักเรียนของพระยาไพศาลฤามิใช่ ไม่มีใครจำโนทย์เจตนา แต่มันคันไม่รู้จะเกาทางไหน ก็กล่าวโทษพระยาไพศาไปตามที่เคยกล่าวมาแล้ว เรื่องเรียกชื่อตามสำเนียงฝรั่ง
สยามมินทร์”
สังเกตดู สะดุดตาคำเก่าๆ ที่ปัจจุบันไม่ค่อยใช้ ได้แก่ ‘จำโนทย์’ หมายความว่า ฟ้องร้อง กล่าวหา
หลังจากพระยาไพศาลศิลปศาสตร์สืบความจึงทูลตอบกลับว่า
“ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
พระราชหัตถ์เลขาลงวันที่ ๑๙ เดือนนี้ พระราชทานพระบรมราชกระแสร์เรื่องหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ อวดอ้างทำเปนทีประหนึ่งว่า สงเคราะห์ญาติชาติภูมิ์ แต่กลับเปนสำแดงความเขลาความคับแคบของตัวเองนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้รับทราบเกล้าฯ ทุกประการแล้ว พระมหากรุณาเปนล้นเกล้าฯ
ข้าพระพุทธเจ้าได้สืบทราบความตลอดว่า เอดิเตอร์ของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ชื่อ… เปนนักเรียนโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบรุ่นก่อนข้าพระพุทธเจ้า ได้สอบไล่ประโยค ๒ ได้แต่รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๘ และได้ออกรับราชการมาแล้วหลายกระทรวง ได้เคยอยู่กรมราชเลขานุการแล้วในที่สุดไปอยู่กรมเจ้าท่า เที่ยวเร่ร่อนจับจดอยู่เช่นนี้จนกระทั่งตกมาเปนเอดิเตอร์หนังสือพิมพ์สยามออฟเซอร์เวอร์ แล้วมาเปนเอดิเตอร์หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์… รู้ภาษาอังกฤษบ้างเล็กน้อย ไม่ได้เคยเรียนในโรงเรียน แต่มีคนครึ่งชาติเปนกำลังช่วยในการแปลอยู่คนหนึ่ง เมื่อพบกับข้าพระพุทธเจ้าก็ได้สารภาพว่าเปนผู้กะให้แปลและเปนผู้ตรวจแก้เอง แต่พลอยตื้นไปตามผู้ช่วย จะขอลงแก้ไม่ให้เปนการลวงเด็กที่เกิดชั้นหลังๆ ให้หลงผิดต่อไป
คนเช่น…นี้ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ ว่า คงจะมีได้อีกหลายคน แต่เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ได้เล่าเรียนทั้งหมดแล้ว หวังด้วยเกล้าฯ ว่า จะเปนแต่ส่วนน้อยนิดเดียว ถ้ามีมากก็จะยิ่งเพิ่มความลำบากในการฝึกสอนเด็กเล็กๆ ต่อไปไม่ใช่น้อย เพราะนักเรียนจำจะต้องเปนผู้ได้อ่านได้ฟังเปนลำดับไป ถ้าไปอ่านหรือฟังที่ผิด ก็จะพลอยลงผิดและเขลาไปตามกันด้วย
ความข้อนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้มีวิตกอยู่มาก ยิ่งขยายการเล่าเรียนให้แพร่หลาย จำนวนครูจะต้องทวีขึ้นโดยรวดเร็ว ครูที่ความรู้อ่อนคงจะมีมากต่อมาก การจัดจำจะต้องแลดูให้กว้างและไกล ข้าพระพุทธเจ้าได้พยายามเต็มสติกำลังภายในหน้าที่และความสามารถที่จะทำได้ แม้กระนั้นพระราชอาญาก็คงไม่พ้นเกล้าฯ
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
(ลงนาม)
ข้าพระพุทธเจ้า พระยาไพศาลศิลปะศาสตร์ ขอเดชะ”
21 กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก 129 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชหัตถเลขาอีกฉบับ
“พระยาไพศาล
ได้รับจดหมายตอบเรื่องเอดิเตอร์หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ได้ทราบแล้วซึ่งอุตส่าห์ไปสืบสวนให้รู้ เรื่องนั้นเปนที่พอใจ ความจริงไม่ได้คิดจะผูกพันเอาเจ้าเปนผู้รับผิดชอบ แต่มันคันกระดิบๆ พอที่จะพูดกับเจ้าเสียให้ธุเลาคัน ก็พูด ขออย่าถือว่าต้องรับผิดชอบทั่วไป ซึ่งเปนการเหลือบ่ากว่าแรงอยู่เอง ขอไว้แต่เพียงว่า ถ้าคันขึ้นมาให้ได้แก้คันพอเปนที่สำหรับปฤกษาปรารภ สำหรับที่จะได้ป้องกันการข้างน่าเท่านั้น
สยามมินทร์”
หลักฐานที่ผมอ่านนั้น มิยอมไขความกระจ่างว่าเอดิเตอร์หนังสือพิมพ์ กรุงเทพฯ เดลิเมล์ คือใคร? (สมัยรัชกาลที่ 5 ยังไม่มีคำว่า ‘บรรณาธิการ’ เพิ่งบัญญัติใช้สมัยรัชกาลที่ 6) กลับอำพรางด้วย “…” แต่เท่าที่ผมเคยผ่านตา เอดิเตอร์หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ชื่อนายหลุย คีรีวัต แต่ไม่ค่อยมั่นใจนักว่าจะใช่คนเดียวกันหรือเปล่า ปริ่มๆ จะไพล่นึกถึงคนอื่น แต่ยังนึกไม่ออก
อ่านพระราชหัตถเลขาข้างต้น สะท้อนทัศนะในรัชกาลที่ 5 ว่าทรงไม่นิยมผู้อวดความรู้เรื่องภาษาอังกฤษแต่เข้าใจแบบผิดๆ แฝดสยามอิน-จันเลยพลอยกลายเป็นคนจีน ‘เอง-แฉ่ง’ (อันที่จริงคำว่า ‘อิน’ สมัยนั้นยังสื่อนัยหมายถึงพวกอยู่ในขนบจารีต ไม่เห่อเหิมกระแสแบบตะวันตก พวก ‘อิน’ จึงเป็นกลุ่มคนซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงนิยม)
—
ล่วงสู่ทศวรรษ 2480 นายแพทย์ สุดจิตต์ แสงวิเชียร หรือชนรุ่นหลังคุ้นกับชื่อนายแพทย์ สุด แสงวิเชียร แห่งแผนกกายวิภาควิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ได้บรรยายในที่ประชุมทางวิชาการคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันพุธที่ 29 ตุลาคม พุทธศักราช 2484 เจาะจงแถลงความรู้เรื่องแฝดสยามละเอียดลออ
นายแพทย์สุดจิตต์เกริ่นว่า
“คำ ‘สยาม’ ในกิจการทั่วไปนับวันจะเสื่อมศูนย์ แต่คำนี้ในวงการแพทย์จะคงอยู่ต่อไปอีก เนื่องจากแฝดติดกันรายแรกที่มีชีวิตอยู่ได้นานนั้นเกิดขึ้นในประเทศไทย…”
ฟังเผินๆ ไม่มีอะไร หากที่แท้แฝงนัยความเห็นทางการเมือง เพราะขณะนั้นรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เสนอเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ‘สยาม’ มาเป็น ‘ไทย’ เมื่อปีพุทธศักราช 2482 และประกาศเป็นรัฐนิยมในเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2483
ก่อนหน้าการบรรยาย นายแพทย์สุดจิตต์เขียนเนื้อหาเรื่องนี้ลงตีพิมพ์ใน จดหมายเหตุทางการแพทย์ เล่ม 24 ตอน 5 ประจำเดือนกันยายน พุทธศักราช 2484 และหลังการบรรยายยังได้นำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ ไซมีสทวินส์ (SIAMESE TWINS) รายแรก ปัจจุบันหาอ่านยากแล้ว
พุทธศักราช 2484 เกิดกระแสความสนใจอิน-จันดกดื่นบนหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น นิตยสาร เอกชน รายสัปดาห์ ปีที่ 1 เล่ม 30 ประจำวันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม ก็รายงานข่าวคราวเรื่องนี้ เนื้อหาทำนองแฝดสยามไม่ปรารถนาให้ผ่าตัดเอ็นเชื่อมติดตัวพวกเขาแยกออกจากกัน ทั้งๆ ที่แฝดคนหนึ่งป่วยไข้อาการหนัก ยากรอดชีวิต และจะส่งผลให้แฝดอีกคนเสียชีวิตด้วย มีการอ้างปากคำนายแพทย์ผู้แนะนำให้ผ่าตัดที่บอกเล่าถึงคำพูดอิน-จันว่า
“เราทั้งสองมีกำเนิดร่วมกัน มีชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยกันตั้งแต่เห็นโลก จนบัดนี้ก็ ๕๘ ปีแล้ว เมื่ออยู่เราอยู่ด้วยกัน ไฉนเมื่อตายเราจึ่งจะทิ้งให้ตายไปคนเดียวเล่า อย่าตัดเลย ขอให้เราตายไปด้วยกันเถิด”
ทว่า รายงานข่าวของ เอกชน ขัดต่อข้อเท็จจริงในเอกสารต่างชาติหลายชิ้น ซึ่งเสนอข้อมูลว่าแฝดสยามพยายามหาหนทางผ่าตัดให้ตัวพวกเขาแยกออกจากกัน เพราะทั้งสองมีปัญหาระหองระแหง ยิ่งเฉพาะปัญหาครอบครัวผัวเมีย
ถึงอย่างนั้น การผ่าตัดก็ไม่เคยเกิดขึ้น จวบจนแฝดสยามปิดฉากชีวิตลงในคริสต์ศักราช 1874 (ตรงกับพุทธศักราช 2417) จันหัวใจวายถึงแก่กรรม จากนั้นราวสองชั่วโมง อินก็ถึงแก่กรรมตามไป เพราะสูญเสียเม็ดเลือดแดงผ่านทางเนื้อที่ติดกันบริเวณหน้าอก และเมื่อนายแพทย์ผ่าพิสูจน์ศพของแฝดสยามจึงพบว่าทั้งคู่มีการทำงานของตับเชื่อมโยงกัน
เดี๋ยวนี้ แม้การเล่าขานตำนานแฝดสยามอิน-จันจะดูเป็นที่แจ่มแจ้งเสียทุกประการแล้ว หากผมยังครุ่นคำนึงว่า บางที อาจจะยังมีข้อมูลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์อีกเหลือหลาย ซึ่งซ่อนเร้นรอคอยให้ชนรุ่นหลังพากเพียรไปค้นคว้าและ ‘อ่าน’ ตีความจนอาจเผลอร้องว้าว!
อ้างอิง
• ชลธิรา สัตยาวัฒนาและคณะ.ครูเทพ (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ผีเสื้อ, 2558
• ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. แสดงกิจจานุกิจ. ม.ป.ท. : ม.ป.พ., 2415
• ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560
• เอกชน. ปีที่ 1 เล่ม 30 (9 สิงหาคม 2484). หน้า 45-47
• สุดจิตต์ แสงวิเชียร. ไซมีสทวินส์ (SIAMESE TWINS) รายแรก. พระนคร : ม.ป.พ., 2484
• อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายครรชิต เทพหัสดิน ณ อยุธยา. ณ วัดธาตุทอง วันที่ 18 มกราคม 2514. พระนคร : โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหาร, 2514.
• อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู. “จาก “โซ้ด” สู่ “สะวิง”: อัสดงคตนิยมกับการเมืองของการแปลทางวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่.” รัฐศาสตร์สาร. ปีที่ 38 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2560). หน้า 73-130
• Blanchard, Pascal. Human zoos: science and spectacle in the age of colonial empires. Teresa Bridgeman (trans.). Liverpool: Liverpool University Press, 2008
• Orser, Joseph Andrew. The Lives of Chang and Eng: Siam’s Twins in Nineteenth-Century America. Chapell Hill: The University of North Carolina Press, c2014