Tue 15 Dec 2020

IMAGE OF TEXT AND THE BLINKING CURSOR

ภาพถ่ายของตัวหนังสือที่ถูกอ่านแล้ว และรอการตอบกลับ

ภาพ: NJORVKS

     ผมไม่แน่ใจว่าควรจัดให้หนังสือ #nyc ของ เจฟฟ์ เมอร์เมลสไตน์ (Jeff Mermelstein) อยู่ในหมวด ‘หนังสือภาพ’ หรือ ‘หนังสืออ่าน’ กันแน่ เพราะการบันทึกภาพหน้าจอที่มีแต่บทสนทนาของชาวนิวยอร์ก จะมองเป็นแค่ภาพถ่ายก็ได้ หรือจะมองเป็นการพาผู้ชมเข้าไปรู้จักบุคคลบนท้องถนนในมิติที่ลึกซึ้งกว่าเดิม ผ่านกรอบของการจ้องมอง ผ่านเฟรมภาพถ่ายก็ได้เช่นกัน

1

     เรา ‘มองเห็น’ อะไรได้บ้างจากภาพของเมอร์เมลสไตน์?

     แน่นอนว่าตาของเราต้องเห็นถ้อยคำจำนวนมากที่อยู่ในจอโทรศัพท์มือถือที่ถูกถ่ายและถูกพิมพ์ด้วยโทนสีฟ้า ซึ่งเมื่อเราเริ่มอ่านตัวอักษร เพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาในกล่องข้อความ เราก็จะเริ่มสร้างมโนภาพตามคำบรรยายถึงฉากหลังและเรื่องที่เกิดขึ้น 

     เราอ่านข้อความตัวพิมพ์เล็กด้วยเสียงระดับปกติ และอ่านด้วยน้ำเสียงที่ดังขึ้นหลังจากอ่านข้อความตัวพิมพ์ใหญ่ แถมเรายังสามารถอธิบายตัวตนของใครคนหนึ่งได้มากมายผ่านข้อความสนทนา เรื่องเล่าในหนังสือเล่มนี้จึงมาจากภาพถ่ายที่บรรจุตัวหนังสืออยู่ในนั้น ซึ่งเป็นเหมือนเรื่องสั้นจบในตอน มากมายไปด้วยเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ปัญหาปากท้อง ทุกข์ชาวบ้านและสารพัดเรื่องราวในสังคม

     ​​แต่หากเราไม่อ่านตัวหนังสือ แล้ว ‘มอง’ ภาพในหนังสือเป็นแค่ภาพ เราก็จะเห็นภาพของจอโทรศัพท์ เห็นรอยแตกยับของฟิล์มกระจก เห็นท่าทางการพิมพ์ของนิ้วมือบนแป้นพิมพ์ขนาดจิ๋ว รายละเอียดของการแต่งเล็บ นาฬิกา แหวน หรือวิธีการคีบบุหรี่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกคิดมาแล้วจากช่างภาพผู้เป็นคนกำหนดกรอบในการมองภาพถ่าย และเป็นคนทำหนังสือที่ตั้งใจเล่นกับการ ‘อ่านภาพ’ ของผู้อ่าน

     เมอร์เมลสไตน์ถ่ายภาพชุดนี้ด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือ เขาทดลองถ่ายภาพด้วยกล้องชนิดอื่นๆ แล้ว แต่พบว่าไม่ได้ภาพตามที่ต้องการ เพราะกล้องแบบอื่นๆ ไม่อาจทำให้เขาเข้าใกล้บุคคลขนาดประชิดได้โดยที่คนคนนั้นจะไม่รู้สึก ทั้งยังสามารถพรางตัว ทำให้เขาไม่เป็นที่สนใจบนท้องถนน ราวกับเขาเป็นลุงแก่ๆ ที่เดินก้มหน้าก้มตาอยู่กับหน้าจอเหมือนที่หลายๆ คนเป็น 

     ภาพถ่ายของเมอร์เมลสไตน์จึงไม่อาจเข้าขั้นภาพที่สวยงามทางสุนทรียศาสตร์ ไม่มีการจัดวางองค์ประกอบที่ดี ไม่มีน้ำหนักแสงเงา ระยะชัดตื้นลึก หรือแม้แต่คุณภาพ ที่บางภาพถึงกับไร้ซึ่งความคมชัด 

     แต่เขาไม่ได้กังวลกับสิ่งนี้แม้แต่น้อย เพราะเมอร์เมลสไตน์ตั้งใจลดทอน ตัดสิ่งรบกวนออกไปให้มากที่สุด และใช้เพียงพลังของ ‘กรอบสี่เหลี่ยม’ บังคับให้ผู้อ่าน ‘สังเกต’ และ ‘มอง’ แต่สิ่งที่อยู่ใน ‘กรอบ’ ของ ‘ภาพ’

     กรอบที่หนึ่ง คือกรอบนอกที่สุดของภาพถ่ายจากกล้องถ่ายรูป (กรอบของภาพถ่ายจากเฟรมของกล้อง)

     กรอบที่สอง คือเส้นสี่เหลี่ยมของหน้าจอโทรศัพท์

     เส้นสี่เหลี่ยมของกรอบภาพจึงปรากฏขึ้นอีกครั้งในโลกของภาพถ่าย เพียงแต่ว่าจากภาพ View from the Window at Le Gras ที่เป็นภาพหน้าต่างเปิดเผยทิวทัศน์ของโลกภายนอก กลับปรากฏเป็นภาพกรอบหน้าจอสี่เหลี่ยมของโทรศัพท์มือถือที่สะท้อนภาพของผู้เป็นเจ้าของ และแสดงถ้อยคำในกล่องข้อความที่พาเราย้อนกลับเข้าไปภายในจิตใจของผู้พิมพ์ ผ่านมุมมองการแสดงออกของช่างภาพ

     ทั้งนี้ หากเราอ่านภาพอย่างละเอียด ก็จะมองเห็น ‘เวลา’ กำลังเคลื่อนอยู่ในรูปภาพชุดนี้ 

     เราไล่สายตาจากบรรทัดบนลงสู่ด้านล่าง เห็นเครื่องหมายการพิมพ์กะพริบระหว่างที่ฝั่งหนึ่งกำลังจะตอบกลับไปยังปลายทาง เราในฐานะบุคคลที่สามกำลังเฝ้ามองเวลาในบทสนทนา รอคอย-อ่าน-กำลังพิมพ์-กดส่ง หรือบางครั้งก็ยังเผลอคิดว่าหากเป็นเราจะพิมพ์อะไรกลับไปยังคู่สนทนาดี เช่น บทสนทนาในส่วนหนึ่งของเล่ม หลานส่งข้อความมาหาคุณยาย เป็นข้อความที่อยู่บนสุดของหน้าจอ (เดาได้ว่าไม่เคยคุยกันมานานแล้ว) จึงมีแต่กล่องข้อความโล่งอยู่ แรกๆ เราอาจจะขำ แต่มาคิดอีกทีในมุมของคุณยาย ก็อดที่จะรู้สึกเศร้าเล็กๆ อย่างบอกไม่ถูก หากคุณถูกใครทักมายืมเงิน โดยที่คนคนนั้นแทบไม่เคยคุยอะไรกับคุณเลย

     จากบทสนทนาข้างต้น เราเห็นตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ ซึ่งแสดงความรู้สึกหนักอึ้งไปสู่ปลายทาง—ผู้อ่านที่กำลังจะเข้ารับการเคมีบำบัดจากโรคมะเร็ง ผู้พิมพ์แสดงความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจอย่างมากต่อชีวิตที่ถูกโรคร้ายคุกคาม และหากเป็นไปได้ เขา (ผู้พิมพ์) อยากจะแบ่งเบาความเจ็บปวดเหล่านั้น และเขาก็เชื่อว่าจะมีปาฏิหาริย์อยู่ข้างหน้า เขาได้สวดมนต์ขอพรพระผู้เป็นเจ้าให้บันดาลสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ

     ด้วยเหตุนี้ หลายครั้งเมื่อเราอ่านข้อความใน #nyc เราเลยอาจมีอารมณ์ร่วมถึงความเศร้าโศก สับสน หรือมีเสียงหัวเราะหึหึระหว่างที่พลิกผ่านไปได้

2

     ในการทำหนังสือเล่มนี้ เมอร์เมลสไตน์เลือกใช้เครื่องมือพื้นฐานที่สุดของวิทยาการภาพถ่าย คือการ ‘ครอปภาพ’ ตัดเลือกเฉพาะเนื้อหาสำคัญ โดยที่ไม่เปิดเผยตัวตน ซึ่งเป็นจริยธรรมพื้นฐานสำหรับช่างภาพบนท้องถนนที่ถ่ายรูปบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่แน่นอนว่า #nyc ย่อมกลายเป็นประเด็น และถูกตั้งคำถามจากพลเมืองอินเทอร์เน็ต 

     เมื่อวันที่ 6 กันยายน อินสตาแกรมของ The New Yorker ได้เผยแพร่ชิ้นงานของเมอร์เมลสไตน์ ผู้คนจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็นในเชิงลบ แสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว มองว่าเป็นการละเมิดและเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ซึ่งเมอร์เมลสไตน์เคยให้สัมภาษณ์ถึงวิธีการทำงานของเขาไว้ในเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ MACK ว่า #nyc เป็นสิ่งที่เขาทดลองและท้าทายทำมันออกมา 

     ส่วนเหตุผลที่ทำให้เขาหันมาสนใจถ่ายภาพหน้าจอโทรศัพท์มือถือแทนที่จะถ่ายภาพผู้คนบนท้องถนนนั้น เมอร์เมลสไตน์รู้สึกว่า การทำงานชิ้นนี้ (ไม่ใช่แค่การถ่ายภาพ แต่หมายถึงการรวบรวมชิ้นงานออกมาเป็นหนังสือด้วย) ไม่ได้ทำให้เขาหมดความสนใจในตัวของผู้คนที่ยืนอยู่ตรงหน้าเลย เพียงแต่เขาเปลี่ยนวิธีเป็นการไปยืนอยู่ข้างหลังผู้คน สังเกตไปที่หน้าจอ ตัวอักษร เพราะเขารู้สึกว่าข้อความเหล่านั้นสะท้อนความคิดและตัวตนของบุคคลออกมาได้หลากหลายมิติ แถมยังมีเรื่องเล่าที่เป็นทั้งข้อมูล เรื่องเศร้า หรือเรื่องที่มีจุดเด่นจดจำได้ง่าย เขาจึงสนใจเรื่องนี้มาก และก็เลือกถ่ายภาพออกมาโดยที่ไม่เปิดเผยตัวตนบุคคลเหล่านั้นแม้แต่นิดเดียว

     ถึงอย่างนั้น ผมคิดว่าการเผยแพร่ผลงาน #nyc ก็น่าสนใจตรงที่ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์ประเด็นเรื่องการถ่ายภาพในที่สาธารณะกันอย่างตรงไปตรงมา โดยผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นก็จะได้แสดงเหตุผล และเกิดการถกเถียงกันอย่างอิสระ เป็นที่เข้าถึงและเข้าใจร่วมกันได้ในวงกว้าง แถมยังเปิดพรมแดนใหม่ๆ ที่จะเสนอข้อคิดเห็นต่อวงการภาพถ่ายบนท้องถนนและพื้นที่สาธารณะด้วย

3

     หากภาพถ่ายเป็นการนำเสนอความคิด ที่ผู้ชมสามารถ ‘อ่าน’ และ ‘ตีความ’ ตามกรอบประสบการณ์ส่วนตัวได้ กระบวนการตีพิมพ์และเผยแพร่งานก็สอดแทรกความคิดของช่างภาพเอาไว้อีกทอดหนึ่ง เพื่อให้ผู้อ่านได้ขบคิดอีกชั้นว่าการกระทำของช่างภาพมีเจตนาใด

     #nyc เลือกพิมพ์ภาพลงบนกระดาษสีฟ้า นอกจากจะเป็นการสร้างประสบการณ์ร่วมกับหลายคนที่คุ้นเคยกับแสงสีฟ้าจากการจ้องมองหน้าจออิเลคทรอนิกส์เวลากลางคืนแล้ว การเกรดสีทั้งภาพยังช่วยลดทอนรายละเอียดของสีจากเครื่องประดับ เล็บ หรือแม้แต่สีผิวของบุคคล เพื่อคงสถานะนิรนามแก่บุคคลในภาพชุดนี้ รวมถึงการคัดเลือก 

     นอกจากนี้ จะเห็นได้ชัดว่าการลำดับเรื่องภายในเล่ม ไม่ได้มุ่งเน้นเล่าชีวิตมนุษย์ด้านใดด้านหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่มีการผสานสมดุลความหลากหลายของเรื่องราวที่ต้องพบเจอ มีการบรรณาธิการที่ออกแบบและลำดับเรื่องตั้งแต่ปกหน้า ตั้งคำถามถึงความเป็นส่วนตัว แล้วค่อยๆ ยกเรื่องส่วนตัวมาเล่าทีละน้อย จนถึงภาพสุดท้ายซึ่งเป็นข้อความที่อ่านไม่ออก และปกหลักที่ตัดทอนประโยคจากทุกหน้าในหนังสือมารวมไว้ในหน้าเดียว

4

     นอกจาก #nyc ผู้เขียนยังสนใจแนวคิดในผลงานก่อนหน้านี้ของเมอร์เมลสไตน์

     Twirl/Run คือผลงานชิ้นดังกล่าว เป็นหนังสือภาพจากสำนักพิมพ์ powerHouse ตีพิมพ์เมื่อปี 2009 ในหนังสือปรากฏภาพถ่ายที่มีสองลักษณะตามชื่อหนังสือ คือ ‘หมุน’ และ ‘วิ่ง’

     เราจะเห็นภาพหญิงสาวผมยาวกำลังจมจ่อมอยู่กับการใช้นิ้วหมุนปอยผมของตัวเอง กับภาพคน (ส่วนมากเป็นผู้ชาย) กำลังรีบวิ่งไปยังจุดหมาย

     จากการ ‘หมุน’ และ ‘วิ่ง’ และด้วยจำนวนภาพถ่ายที่ได้รวบรวมตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือหนึ่งเล่ม เราสามารถอ่านภาพแล้วเห็นสิ่งอื่นปรากฏอยู่ในงานที่ตรงไปตรงมาของเมอร์เมลสไตน์หรือไม่? 

     แวบแรกเราอาจมองภาพเหล่านั้นด้วยตาที่เฝ้ามองหารูปทรงหรือจังหวะในองค์ประกอบภาพ มองหาจุดสนใจจากสีหน้าท่าทางที่กระตุ้นต่อมอารมณ์ขันของเราให้ทำงาน แต่หากเรามองภาพถ่ายให้ลึกไปถึงฉากหลังที่เป็นมหานครนิวยอร์ก สี่แยกหัวมุมตึก ทางม้าลาย และทางเท้าที่เต็มไปด้วยผู้คนที่กำลังสัญจรไปมาในมหานคร เป็นไปได้ไหมว่าเราจะมองเห็นถึง ‘เวลา’ อีกเช่นกัน?

     การออกวิ่งของมนุษย์ทำงานโดยสมองบังคับร่างกายให้ขยับ และรีบไปยังจุดหมายให้เร็วกว่าเดิม แต่การหมุนเกลียวเส้นผมด้วยนิ้วมือดูเป็นกริยาที่ไม่ต้องอาศัยการเร่งรีบใดๆ ทั้งสิ้น การม้วนผมเป็นกริยาอ้อยอิ่ง ที่ทำไปโดยเจ้าของร่างกายไม่รู้สึกตัว ไม่รู้จุดเริ่มต้น และจุดจบ 

     หากเรามีภาพเหล่านี้เพียงภาพเดียว ภาพดังกล่าวก็อาจไม่มีความหมายหรือน้ำหนักมากพอในการใช้อ้างอิงใดๆ ไม่มีคุณค่าของความเป็นข่าว แต่หากมีช่างภาพคอยสังเกตห้วงเวลาบนท้องถนน และคอยบันทึกสิ่งต่างๆ เป็นระยะเวลาหลายปี เราก็อาจจะเห็นความแตกต่างของยุคสมัย การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม การใช้ชีวิตของคนและปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเมืองได้

     หากไม่มีช่างภาพบนท้องถนนปะปนตัวเข้าไปในฝูงชน ล่องหน ฉกฉวยช่วงเวลาเเละเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันแล้วบันทึกลงไว้ในภาพถ่าย เราอาจขาดหลักฐานทางมานุษยวิทยาทัศนา เราอาจมองผ่านสิ่งที่เกิดขึ้นต่อหน้า มองข้ามสิ่งที่เกิดขึ้นไปโดยไม่ตั้งคำถามให้ถี่ถ้วนด้วยคิดว่าเป็นภาพของความชินตา เราอาจมองไม่เห็นประเด็นทางสังคมประเด็นอื่นๆ ที่ถูกบันทึกไว้ภายในกรอบของภาพถ่าย จะไม่เกิดการถกเถียงอย่างเสรีในเรื่องของสิทธิเเละเสรีภาพในตัวบุคคล 

     เมื่อไม่เกิดการถกเถียง การเรียนรู้ร่วมกัน เราก็อาจจะยังหัวเราะกับท่าทางตลกๆ ของคนในภาพ เราอาจจะยังผลิตซ้ำภาพถ่ายของคนไร้บ้านโดยปราศจากความเข้าใจ และเราอาจจะปราศจากการตั้งคำถามต่อตัวช่างภาพ

     ว่าต้องการจะสื่อสารอะไรออกมาสู่สังคม

เกี่ยวกับช่างภาพ
Jeff Mermelstein

     เกิด เติบโต และถ่ายภาพผู้คนบนถนนในมหานครนิวยอร์กมากว่าสามทศวรรษ เขาใช้กล้องถ่ายภาพระบบเรนจ์ไฟน์เดอร์ตั้งแต่ Leica ไปจนกล้องสะท้อนเลนส์เดี่ยวอย่าง Canon มาสู่กล้องติดโทรศัพท์มือถือ iPhone เพราะคิดว่าด้วยกล้องขนาดเล็กน่าจะให้ผลลัพธ์ในการเข้าถึงภาพหรือหัวข้อในภาพที่เขาต้องการได้ไม่ยาก และง่ายต่อการละลายไปกับฝูงชนที่ทุกวันนี้ทุกคนก็เอาแต่เดินก้มหน้ากดโทรศัพท์มือถือเหมือนกันทุกแห่งในโลก

     เมอร์เมลสไตน์ซอกซอนถนนจนปรุ ถึงขั้นพูดได้ว่าไม่มีแง่มุมใดให้ถ่ายอีก จนกระทั่งสิ่งที่เขาทำในโปรเจกต์ #nyc ได้ผลักขอบเขตของความเป็น Street Photography ในเทอมของการถ่ายภาพบนพื้นที่สาธารณะ และผลงานกึ่งเปิดเปลือยแต่ก็ยังปกปิดความเป็นส่วนตัวแบบที่ไม่ได้เป็นการล้ำเส้นหรือล่วงละเมิด ทั้งยังอยู่ในกรอบของศิลปะที่เคารพสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งผลงานนี้ก็ได้รับการพูดถึง ถกเถียง และโต้แย้งกันอยู่ในเว็บไซต์และชุมชนออนไลน์หลายแห่ง

     เมอร์เมลสไตน์เป็นอาจารย์สอนที่ International Center of Photography ตั้งแต่ปี 1988 ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพในแบบฉบับของเขา เขายังได้รับมอบหมายให้ทำงานให้กับแมกกาซีนชื่อดัง เช่น LIFE, The New Yorker, และ The New York Times Magazine

     หนังสือภาพ #nyc ของเขาตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ MACK จากประเทศอังกฤษเมื่อกรกฎาคม 2020

อ้างอิง

#nyc. (2020). https://mackbooks.co.uk/products/nyc

Instagram from The New Yorker. (2020). https://www.instagram.com/p/CEzEdK7hi0H/?utm_source=ig_web_copy_link

A Photographer Spent Years Secretly Snapping Shots of New Yorkers’ Text Messages. See the Mortifying, Humorous, and Heartbreaking Images Here. (2020). https://news.artnet.com/art-world/jeff-mermelstein-secret-text-message-photos-1894914

Jeff Mermelstein: I made over 1 million iPhone photos. (2020). https://www.youtube.com/watch?v=GD_6zawmnU8

Twirl/Run, The New York Times. (2009). https://lens.blogs.nytimes.com/2009/12/03/showcase-87/

ภาพผลงานของ Jeff Mermelstein / Twirl/Run. https://www.powerhousebooks.com/books/twirlrun/

มานุษยวิทยาทัศนา (Visual Anthropology). (2014). นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. https://www.sac.or.th/databases/visualanthropology/index.php/event/visual-anthropology