Tue 12 Jul 2022

SPECTERS OF SENI

ความหมายและคุณค่าของ ‘ปีศาจ’ นวนิยายของ ‘เสนีย์ เสาวพงศ์’ จากบทวิจารณ์คัดสรร

ภาพ: NJORVKS

     นวนิยายเรื่อง ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นนวนิยายไทยที่นับได้ว่า มีการตีพิมพ์ซ้ำมากที่สุดเล่มหนึ่ง

     ตั้งแต่พิมพ์เป็นตอนลงในนิตยสาร สยามสมัย เมื่อ พ.ศ. 2496 และนำมารวมพิมพ์เป็นเล่มใน พ.ศ. 2500 โดยสำนักพิมพ์เกวียนทอง จนถึงปัจจุบันคือ พ.ศ. 2565 รวมเวลาหกสิบกว่าปีแล้ว นวนิยายเรื่องนี้ยังได้รับการตีพิมพ์ซ้ำในรูปแบบหนังสือมากถึงยี่สิบกว่าครั้ง ไม่นับการถูกลักลอบตีพิมพ์แบบแยกบทในช่วง พ.ศ. 2516-2519 โดยนิสิตนักศึกษา ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ใน พ.ศ. 2524 โดยใช้ชื่อว่า สาย สีมา นักสู้สามัญชน อีกทั้งยังมีการจัดพิมพ์ในรูปแบบอีบุ๊ก นอกจากนั้น หลายปีที่ผ่านมายังมีการนำคำว่า ‘ปีศาจ’ มาตั้งเป็นชื่อรางวัลทางวรรณกรรม ซึ่งมีวัตถุประสงค์และอุดมการณ์ตามแบบอย่างของนวนิยายด้วย 

     ระยะเวลาอันยาวนานของ ปีศาจ ที่ยังไม่ถูกกลืนหายไปกับกาลเวลาจึงเป็นตัวพิสูจน์ถึงคุณค่าของนวนิยายได้เป็นอย่างดี 

     อย่างไรก็ตาม การมีชีวิตอยู่ของ ปีศาจ ไม่ใช่การล่องลอยอยู่อย่างสัมภเวสี แต่เป็นเพราะผู้อ่านและผู้วิจารณ์ซึ่งมีส่วนร่วมในการต่อลมหายใจให้ ปีศาจ ต่างหาก 

     ในกรณีเดียวกันนี้อาจเทียบเคียงได้กับ ‘ความร่วมสมัย’ ใน คำพิพากษา นวนิยายของ ชาติ กอบจิตติ ดังที่ รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “ความอยู่ยงคงกระพันของตัวงานมีปฏิสัมพันธ์กับการอยู่รอดของการวิจารณ์ นวนิยายเรื่องนี้เดินเคียงข้างไปกับบทวิจารณ์บนถนนวรรณกรรมอย่างเคารพในบทบาทของกันและกัน การประกอบสร้างตัวบทอาจจะสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ขึ้นอยู่กับทัศนะของนักวิจารณ์แต่ละคน” 

     ปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวบทกับนักวิจารณ์ คือกระบวนการทำให้ตัวบทกลับมามีชีวิตที่สมบูรณ์ขึ้นด้วยการตีความที่แตกต่างหลากหลายจากนักวิจารณ์หรือนักอ่าน อีกทั้งยังเป็นตัวชี้วัดถึงความรุ่มรวยของความหมายในตัวบท ในอีกด้านก็สะท้อนกลับมาที่ผู้วิจารณ์ว่ามีทัศนะอย่างไรต่อตัวบทอีกด้วย นอกจากนั้น การศึกษาการตีความบทวิจารณ์ยังเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นถึงภาพของสังคมในยุคสมัยที่บทวิจารณ์ถูกเขียนขึ้นมา ดังวลีที่ว่า “ดูบทวิจารณ์จากสังคม ดูสังคมจากบทวิจารณ์” การศึกษาบทวิจารณ์จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะต่อเติมให้วงจรการอ่านสมบูรณ์ ดังนั้นการผลิตงานวรรณกรรมของนักเขียนที่มีจุดมุ่งหมายโดยพื้นฐานเพื่อการสื่อสาร จึงขาดไม่ได้ที่จะต้องมีผู้รับสารหรือผู้อ่าน เพื่อสะท้อนความเห็นต่อการอ่านอย่างเป็นรูปธรรม ดังเช่นที่มาในรูปแบบของบทวิจารณ์

     ในวงการวรรณคดีวิจารณ์ตั้งแต่เริ่มเข้ายุคสมัยใหม่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 แนวทางการวิจารณ์มักมุ่งเน้นไปยังตัวบทแบบระบบปิด โดยแยกขาดออกจากบริบทนักเขียนและนักอ่าน ดังนั้นการวิจารณ์ในยุคสมัยต่อมาจึงหันกลับไปให้ความสำคัญกับการศึกษาวรรณกรรมวิจารณ์ผ่านการตอบสนองของผู้อ่านมากยิ่งขึ้น 

     แนวทางการวิจารณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อคัดง้างแนวคิดกลุ่มรูปแบบนิยมรัสเซีย กลุ่มนววิจารณ์ และกลุ่มโครงสร้าง/หลังโครงสร้างนิยมที่เชื่อมั่นในวิธีการอันเป็นปรวิสัยแบบวิทยาศาสตร์ จนละเลยมิติในด้านผลกระทบทางความรู้สึกของผู้อ่าน แต่แนวทางนี้เห็นว่า การหันไปสนใจการตอบสนองของผู้อ่าน คือการหันไปสนใจความคิดและความรู้สึกที่เกิดจากการอ่านตัวบทวรรณกรรม ซึ่งจะทำให้เกิดแนวทางที่แตกต่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับสถานะ บทบาท เพศ อาชีพ ตลอดจนบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่สะท้อนผ่านความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ และกรอบคิดในการอ่านของผู้อ่านแต่ละคน 

     การศึกษาวรรณกรรมผ่านการตอบสนองของผู้อ่านจึงทำให้ความหมายของตัวบทไม่ถูกผูกขาดหรือถูกกล่าวอ้างว่าเป็นจุดประสงค์ที่แท้จริงของผู้เขียน ในทางกลับกันทำให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมในการเป็นผู้สร้างความหมายกับผู้เขียน ซึ่งการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ตัวบทของนักอ่านดังกล่าวเกิดขึ้นจากกระบวนการตีความที่นักอ่านพยายามปรับประยุกต์ประสบการณ์ ทัศนคติ และคุณค่า ทั้งการเมือง ศีลธรรม และสุนทรียศาสตร์ของตนให้เข้ากับตัวบท เพื่อสร้างความหมายของตัวบทให้สามารถอธิบายได้ 

     การศึกษาวรรณกรรมผ่านบทวิจารณ์จึงอาจถือได้ว่าเป็นการศึกษาการตอบสนองของผู้อ่านต่อตัวบทวรรณกรรมได้เช่นกัน เนื่องจากบทวิจารณ์คือรูปแบบที่แสดงให้เห็นถึงความคิด ความเห็น ตลอดจนการตัดสินและให้คุณค่าตัวบทผ่านการตีความ ซึ่งอาจนำแนวคิด ทฤษฎี รวมทั้งบริบททางสังคมวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องมือประกอบการค้นหาความหมาย 

     ในบทความนี้มองเห็นว่า ปีศาจ เป็นนวนิยายที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่มายาวนาน และถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาบทวิจารณ์ ปีศาจ ตลอดระยะเวลาหลังจากตีพิมพ์เป็นรูปเล่มตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ปรากฏว่าบทวิจารณ์ส่วนใหญ่ที่เขียนถึง ปีศาจ มักจะนำไปวิเคราะห์ร่วมกับนวนิยายเล่มอื่น อีกทั้งยังนำนวนิยายไปยกตัวอย่างให้เข้ากับประเด็นที่ผู้วิจารณ์ต้องการนำเสนอ มีส่วนน้อยที่เป็นการวิจารณ์ตัวบทโดยเฉพาะ ดังนั้นในการจัดรวบรวมครั้งนี้จึงแบ่งบทวิจารณ์ออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่วิจารณ์นวนิยาย ปีศาจ แยกเป็นเอกเทศ กับกลุ่มที่วิจารณ์นวนิยาย ปีศาจ ร่วมกับนวนิยายเล่มอื่น ซึ่งแบ่งตาม พ.ศ.ในการตีพิมพ์ครั้งแรก ดังนี้

     กลุ่มที่ 1

     1. ปีศาจ กับอาการผีเข้าผีออกของปัญญาชนไทย (2551) ของ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

     2. ปีศาจของเสนีย์ เสาวพงศ์ (2553) ของ ทิพย์สุเนตร อนัมบุตร

     กลุ่มที่ 2

     1. คือคันฉ่องและโคมฉาย: พันธกิจของนักเขียนต่อสังคมในวรรณกรรมของเสนีย์ เสาวพงศ์ (2519) ของ ตรีศิลป์ บุญขจร

     2. จาก ความรักของวัลยา และ ปีศาจ ถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 (2531) ของ สุวิทย์ ว่องวีระ

     3. วรรณกรรมกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง (2539) ของ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

     4. ปีศาจของกาลเวลา: การรื้อฟื้นงานเสนีย์ เสาวพงศ์ในยุคแสวงหา (2545) ของ ประจักษ์ ก้องกีรติ

     5. ศักดิ์ศรีและความอับอายในวรรณกรรมไทย (2550) ของ กุสุมา รักษมณี, เสาวณิต จุลวงศ์ และสายวรุณ น้อยนิมิต

     6. วิถีวรรณกรรมของไทยร่วมสมัย กระแสวรรณกรรมจากเสนีย์ เสาวพงศ์ ถึง ชาติ กอบจิตติ (2550) ของ ฮิเดกิ ฮิรามัตสึ (Hideki Hiramatsu)

     จากบทวิจารณ์คัดสรรจะสังเกตเห็นได้ว่า บทวิจารณ์ในกลุ่มที่สองมีจำนวนมากกว่ากลุ่มที่หนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่า แม้ ปีศาจ จะถูกจัดพิมพ์ต่อเนื่องยาวนานถึงกว่าหกสิบปี อีกทั้งยังถูกจัดให้เป็นหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทว่าบทวิจารณ์ที่วิเคราะห์ถึง ปีศาจ โดยเฉพาะกลับมีไม่มากนัก ทั้งนี้ แม้จะมีบทวิจารณ์ถึง ปีศาจ ตามมาอีกมากในนิตยสารออนไลน์ หากแต่ส่วนใหญ่ก็มักย้อนกลับมาอ้างอิงถึงบทวิจารณ์คัดสรรกลุ่มนี้เสมอ

     บทวิจารณ์ คือคันฉ่องและโคมฉาย: พันธกิจของนักเขียนต่อสังคมในวรรณกรรมของเสนีย์ เสาวพงศ์ ของตรีศิลป์ บุญขจร นำเสนอพัฒนาการทางด้านกลวิธีและเนื้อหาของ ปีศาจ เอาไว้สองบทบาท คือ หนึ่ง “บทบาทในการพัฒนานวนิยายเพื่อชีวิต ปีศาจ มีลักษณะตีแผ่ปัญหาสังคมอย่างเป็นรูปธรรม คือให้ภาพชีวิตของบุคคลเพื่อสะท้อนความคิดเห็นที่ต้องการเสนอ ไม่ใช่ใช้บทสนทนาเสนอความคิดเห็นของผู้เขียนอย่างตรงไปตรงมา” และ “บทบาทที่สองที่ ปีศาจ สร้างพัฒนาการให้นวนิยายไทยคือบทบาทด้านการบุกเบิกกลวิธีการใช้สัญลักษณ์ในนวนิยาย แม้จะเป็นเพียงสัญลักษณ์ง่ายๆ และผู้เขียนแสดงความหมายของสัญลักษณ์ไว้อย่างชัดเจนก็ตาม” 

     จากการวิเคราะห์ดังกล่าวจะสังเกตเห็นได้ว่า บทวิจารณ์ของตรีศิลป์ บุญขจร เสมือนเป็นบทวิจารณ์เริ่มแรกที่นำการวิเคราะห์เชิงสังคมเข้ามาประกอบการวิจารณ์ เพื่อชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของนวนิยาย ปีศาจ ที่มีพัฒนาการควบคู่ไปกับสภาพสังคม หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือ ทั้งวรรณกรรมและสังคมต่างส่องสะท้อนถึงกัน และดำเนินไปพร้อมกันอย่างไม่อาจแยกขาด 

     แนวคิดวิเคราะห์เชิงสังคมดังกล่าวมีอิทธิพลสำคัญในการวิจารณ์ ปีศาจ ในยุคสมัยต่อมา ดังจะเห็นได้จากบทวิจารณ์ “วิถีวรรณกรรมของไทยร่วมสมัย กระแสวรรณกรรมจาก เสนีย์ เสาวพงศ์ ถึง ชาติ กอบจิตติ” ของ ฮิเดกิ ฮิรามัตสึ ที่นำเสนอให้เห็นพัฒนาการของบทบาทนักเขียนที่มีพันธกิจต่อสังคม โดยขยายขอบเขตการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับงานเขียนของชาติ กอบจิตติ ซึ่งต่างส่งต่ออิทธิพลในด้านความรับผิดชอบของนักเขียนที่มีต่อสังคมเหมือนกัน ตลอดจนเปรียบเทียบกับงานวรรณกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังเช่นงานวรรณกรรมของประเทศอินโดนีเซียที่เน้นศูนย์กลางอยู่ที่ตัวบท ขณะที่งานวรรณกรรมของไทยมีส่วนสัมพันธ์กับสังคมค่อนข้างมากและชัดเจนกว่า ดังที่ฮิเดกิได้สรุปว่า

     ในสังคมไทยเอง แนวความคิดเรื่องภาระหน้าที่ของนักเขียนที่มีต่อสังคมได้มีการนำเสนออย่างชัดเจนด้วยความเคลื่อนไหวของศิลปะเพื่อประชาชนนั้น ได้ถูกเรียกร้องในผลงานศิลปะโดยนักเขียนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการกำหนดแนวทางของวรรณกรรมสมัยใหม่ของไทยนั่นเอง ซึ่งในจำนวนนั้นบทบาทที่เสนีย์ เสาวพงศ์ ทำเอาไว้ก็ยิ่งใหญ่อย่างยิ่ง ในวรรณกรรมหลักๆ ของเสนีย์ เรื่อง ปีศาจ นั้นถือได้ว่าได้ถึงจุดสุดยอดของผลงานในแนวศิลปะเพื่อชีวิต’” 

     อย่างไรก็ดี ในบทวิเคราะห์ จาก ความรักของวัลยา และ ปีศาจ ถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ของสุวิทย์ ว่องวีระ ซึ่งเป็นบรรณาธิการที่นำ ปีศาจ กลับมาตีพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 12 ได้ตั้งข้อสังเกตที่แตกต่างออกไปว่า ลักษณะนวนิยายเพื่อชีวิตใน พ.ศ. 2497 ที่เสนีย์ เสาวพงศ์ เขียนเรื่อง ปีศาจ นั้นได้จบลงไปแล้ว “การถกเถียงกันถึงปัญหาศิลปะเพื่ออะไร (เพื่อศิลปะหรือเพื่อชีวิต?) ได้คลายความเข้มข้นลงมากแล้ว หลังจากที่เคยเป็นปัญหาใหม่และใหญ่ซึ่งเข้าสู่การอภิปรายในชมรมนักประพันธ์เมื่อปี 2493” สุวิทย์จึงกล่าวว่า “แทบไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาถกเถียงกันถึงปัญหานี้แล้ว” ดังนั้นเมื่อครั้งที่ ปีศาจ ตีพิมพ์เป็นตอนในนิตยสาร สยามสมัยรายสัปดาห์ จึงไม่ค่อยได้รับการพูดถึงหรือเป็นที่นิยมในหมู่คนอ่านวงกว้าง เนื่องจากประเด็นปัญหาเรื่องวรรณกรรมกับการสะท้อนภาพชีวิตเกี่ยวกับการต่อสู้ทางชนชั้นเป็นข้อถกเถียงแค่ในหมู่ปัญญาชน การตั้งข้อสังเกตของสุวิทย์ ว่องวีระ เป็นการตั้งข้อสังเกตในฐานะบรรณาธิการที่พยายามชี้ให้เห็นกระแสตอบรับในการอ่านตั้งแต่ครั้งแรกที่นวนิยายปรากฏ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นข้อที่ทำให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของตัวบทก่อนจะได้การยอมรับในเวลาต่อมา 

     จุดเริ่มต้นที่ทำให้ ปีศาจ เป็นที่ยอมรับและนิยมอ่านกันมาก เกิดขึ้นในช่วงการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนิสิตนักศึกษา ดังปรากฏในบทวิจารณ์ วรรณกรรมกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ของธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นคนร่วมสมัยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งชี้ให้เห็นในภาพกว้างว่า ปีศาจ “เป็นนวนิยายเล่มหนึ่งที่ให้แรงบันดาลใจอย่างมากแก่บรรดานิสิตนักศึกษาคนรุ่นใหม่ทั้งหลาย” โดยคนรุ่นใหม่ที่ธเนศกล่าวถึง คือคนในรุ่นเดียวกับเขาที่กำลังเติบโตในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งธเนศได้เขียนเล่าประสบการณ์บรรยากาศในการอ่านวรรณกรรมแนวก้าวหน้าจากทศวรรษก่อนเอาไว้ว่า “พวกเราส่วนใหญ่ไม่เคยอ่าน และไม่เคยรู้จักหนังสือและผู้เขียน จากนั้นมีการนัดแนะกันเพื่อจะรอคิวอ่าน ปีศาจ (อย่างปิดลับ)” 

     ลักษณะการลักลอบอ่านดังกล่าวเป็นข้อบ่งชี้หนึ่งถึงบรรยากาศทางสังคมการเมืองในยุคสมัยนั้นที่มีการปกครองในระบอบเผด็จการทหาร ทั้งนี้ บริบททางการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าวได้รับการขยายความไว้ในบทความ ปีศาจของกาลเวลา: การรื้อฟื้นงานเสนีย์ เสาวพงศ์ในยุคแสวงหา ของประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ ประจักษ์นำบริบทการเมืองไทยในทศวรรษ 2500 เข้ามาประกอบ เพื่อนำเสนอการก่อรูปก่อร่างของขบวนการนิสิตนักศึกษา ตลอดจนความพยายามรื้อฟื้น ปีศาจ ขึ้นมาอ่านใหม่ ประจักษ์ชี้ให้เห็นเหตุการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวว่า 

     เป็นที่ทราบกันดีว่าจอมพล สฤษดิ์ปกครองสังคมด้วยอำนาจเผด็จการรวมศูนย์เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปฏิเสธการดำรงอยู่ของสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยทั้งหลาย […] นอกจากนั้นคณะปฏิวัติยังได้สั่งปิดหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับ พร้อมทั้งกวาดล้างจับกุมนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักการเมือง และบุคคลอีกหลายอาชีพที่เคยมีบทบาทแสดงความคิดเห็นหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองในทศวรรษก่อนหน้า

     ประจักษ์ยังวิเคราะห์ต่อไปอีกว่า ผลจากอำนาจเผด็จการทหารในช่วงทศวรรษ 2510 ทำให้เข้าใจชะตากรรมของปัญญาชน นักคิดนักเขียนที่ต้องหยุดเขียน รวมทั้งหลบหนีออกนอกประเทศ ทำให้บรรยากาศทางวรรณกรรมกลายเป็นสุญญากาศ เนื่องจากรัฐบาลเผด็จการพยายามแยกปัญญาชนออกจากประชาชน จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงย้อนกลับไปกระตุ้นเร้าสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มนิสิตนักศึกษาซึ่งถือเป็นปัญญาชนของสังคม ดังนั้นการลักลอบอ่านงานวรรณกรรมที่เขียนขึ้นในทศวรรษ 2490 ของนิสิตนักศึกษา คือการได้สัมผัสกับงานเขียนที่ถือว่าเป็นรากเหง้าทางความคิดแนวก้าวหน้า ซึ่งนักเขียนในยุคนั้นเคยใช้เพื่อแสดงออกทางความคิดต่อต้านกับรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาแล้ว 

     ในบทวิจารณ์ของประจักษ์ ก้องกีรติ ยังรวบรวมข้อคิดเห็น บทวิเคราะห์ บทความทางวิชาการ และบทวิจารณ์ทางวรรณกรรมที่กล่าวถึงนวนิยาย ปีศาจ อย่างเป็นลำดับ เพื่อทำให้เห็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ ปีศาจ เป็นที่นิยมขึ้นมา ประจักษ์ชี้ให้เห็นว่าการที่ ปีศาจ กลับมาได้รับการพูดถึงอีกครั้งเริ่มต้นจากนักวิจัยชาวอเมริกันชื่อ เฮอร์เบิร์ต ฟิลลิปส์ (Herbert Phillips) ที่เข้ามาทำวิจัยในหัวข้อเกี่ยวกับปัญญาชนสยาม 8 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเสนีย์ เสาวพงศ์ เฮอร์เบิร์ตได้อ่าน ปีศาจ จากการแนะนำของผู้ช่วยวิจัยคนไทย และเขาก็ยกย่องว่า ปีศาจ เป็น สงครามและสันติภาพ (War and Peace) ของเมืองไทย  

     กระแสการอ่าน ปีศาจ เป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังที่บทวิจารณ์ของวิทยากร เชียงกูล กล่าวว่าตัวละคร ‘สาย สีมา’ ได้เข้ามามีอิทธิพลทางความคิดแก่คนหนุ่มสาว จน “เราไม่เพียงฝันที่จะเห็นสาย สีมาหรือคนแบบเดียวกับเขาเพียงไม่กี่คนผุดลุกขึ้นมาเพื่อที่จะถูกกระแทกให้คว่ำลงและถูกลืมเลือนไป แต่เราฝันที่จะเห็นสาย สีมาเป็นพันเป็นหมื่นคน ซึ่งจะลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้กับสิ่งที่เขาเห็นว่าไม่ยุติธรรมด้วยความมั่นใจ” 

     ความเห็นของวิทยากรสอดคล้องกับบทความของธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ซึ่งกล่าวถึงกระแสอิทธิพลของงานวรรณกรรมก้าวหน้าต่อนิสิตนักศึกษาว่า “ยุคสมัยดังกล่าว การสร้างสรรค์ทางวรรณกรรมของสังคมนั้น กระทำไปโดยมีแรงดึงดูดจากทุกส่วนของสังคม เป็นครั้งแรกที่นักกิจกรรมเดือนตุลาฯ รู้สึกถึงพลังของสังคมที่ผลักดันและสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ให้พวกเราในการเห็น มอง และคิด อย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน” 

     กระแสดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการปลุกเร้าให้กลุ่มนิสิตนักศึกษาเคลื่อนไหวทางการเมือง จนกลายเป็นเหตุการณ์ใหญ่อันนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหารในที่สุด จะสังเกตเห็นได้ว่า บทวิเคราะห์ของประจักษ์ ก้องกีรติ, ธนศ อาภรณ์สุรรณ ตลอดจนบทวิเคราะห์ของวิทยากร เชียงกูล มีความคล้ายคลึงกันในด้านอิทธิพลของนวนิยาย ปีศาจ ที่มีต่อคนหนุ่มสาวในยุค 14 ตุลาฯ ทว่า บทวิเคราะห์ของประจักษ์ชี้ให้เห็นในมุมมองของนักรัฐศาสตร์ว่า ปัจจัยทางด้านการเมืองมีส่วนสำคัญที่ทำให้ ปีศาจ มีอิทธิพลต่อหนุ่มสาว จนส่งต่อแนวความคิดเรื่อง ‘ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน’ จากทศวรรษ 2490 มาสู่ทศวรรษ 2510 และค่อยๆ สลายตัวไปหลังทศวรรษ 2520 ส่วนบทวิเคราะห์ของธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ได้ชี้ให้เห็นถึงประสบการณ์ในเชิงประวัติศาสตร์ในฐานะคนร่วมสมัย

ภาพจาก: https://www.silpa-mag.com/history/article_56781

     นอกจากบทวิจารณ์คัดสรรจะมองนวนิยายเรื่อง ปีศาจ ในแง่มุมพัฒนาการทางด้านรูปแบบ ตลอดจนอิทธิพลต่อความคิดของคนหนุ่มสาวในสังคมยุคสมัยหนึ่งแล้ว ประเด็นที่มีการวิจารณ์กันมากที่สุดประเด็นหนึ่ง คือความหมายของคำว่า ‘ปีศาจ’ ซึ่งได้รับการตีความแตกต่างหลากหลายออกไป 

     ในบทวิจารณ์เดียวกันของตรีศิลป์ บุญขจร ตีความปีศาจไว้สามระดับ คือ ‘ปีศาจขโมย’ ในทัศนะของทหารญี่ปุ่นที่เห็นคนไทยผู้หวงแหนอธิปไตย ความหมายที่สองคือ ปีศาจที่หมายถึง ‘คนอกตัญญู’ ที่ตัดสินใจเลือกการเข้ารับใช้ส่วนรวมแทนการ ‘กตัญญู’ ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว และความหมายที่สาม ซึ่งเป็นความหมายสำคัญที่สุด เนื่องจาก “ปีศาจเป็นตัวแทนของความคิดใหม่ ความคิดที่เปลี่ยนแปลงในทางก้าวหน้าอันเป็นกฎแห่งพัฒนาการ นอกจากนี้ยังหมายถึงความคิดไม่เห็นแก่ตัว ความคิดล้มล้างค่านิยมดั้งเดิมของสังคม หรือกล่าวโดยสรุป ปีศาจคือสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้า ซึ่งผู้ที่คัดค้านการเปลี่ยนแปลงย่อมเห็นว่าเป็นความเลวร้ายน่าสะพรึงกลัว” 

     ฮิเดกิ ฮิรามัตสึ วิเคราะห์ไปในแนวทางเดียวกับตรีศิลป์ บุญขจร โดยเน้นไปที่บทบาทของรัชนี ว่าเป็นปีศาจที่แท้จริง เนื่องจากภูมิหลังทางครอบครัวของรัชนีมียศถาบรรดาศักดิ์อันเป็นตัวแทนของศักดินา การที่รัชนีต่อต้านความคิดเก่าของครอบครัวด้วยการเดินหน้าไปชนบท คือการปฏิเสธคุณค่าของชนชั้นศักดินา ดังที่ฮิเดกิสรุปว่า “ฝ่ายที่ยึดถือค่านิยมแบบเดิมถูกรุกรานคุกคามจากค่านิยมสมัยใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเปรียบเสมือน ‘ปีศาจ’ หรือกล่าวคือ ค่านิยมของสมัยใหม่ที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงได้ขับไล่สังคมเก่า และความคิดของเสนีย์ที่ปรากฏให้เห็น คือสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ”

     ความหมายของคำว่า ‘ปีศาจ’ ที่เกี่ยวข้องกับกาลเวลา อันมีนัยถึงการแปรเปลี่ยนไปไม่หยุดยั้งได้แสดงไว้ไนบทวิจารณ์ของธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เช่นกัน ดังที่เขากล่าวว่า “อะไรคือ ‘เกราะกำบังแห่งการเวลา’ ตอบอย่างสั้นๆ ก็คือการเปลี่ยนแปลงอันเป็นนิรันดร์นั่นเอง การเปลี่ยนแปลงที่สร้างให้เกิดความก้าวหน้าขึ้นในสังคมและในหมู่ประชาชน” การที่ธเนศเสริมข้อสรุปไว้ในตอนท้าย ยังเกี่ยวโยงอยู่กับประชาชน ผู้มีส่วนร่วมในการนำพาสังคมไปสู่ความก้าวหน้านั้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงอุดมการณ์ของธเนศที่ถูกปลุกขึ้นตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตนักศึกษาในยุค 14 ตุลาฯ ส่วนข้อสรุปจากนักรัฐศาสตร์อย่างประจักษ์ ก้องกีรติ มิได้ตีความ ‘ปีศาจ’ จากตัวละคร แต่กล่าวถึง ‘ปีศาจ’ ที่หมายถึงตัวบทนวนิยาย โดยมองว่า “น่าแปลกที่นวนิยายบางเล่มก็สำแดงพลังของมัน มิใช่ในทันทีที่มันคลอดออกมาครั้งแรก หากต้องรออีกนานพอสมควร นวนิยายของเสนีย์นับว่าอยู่ในข่ายนี้ กาลเวลานั่นเองที่อาจจะเป็นคำไขปริศนาทั้งหมด” 

     ข้อสรุปในเรื่อง ‘กาลเวลา’ สอดคล้องไปกับแก่นของบทวิจารณ์ทั้งของธเนศและประจักษ์ ซึ่งใช้บริบทความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์นวนิยาย ในหนังสือ ศักดิ์ศรีและความอับอายในวรรณกรรมไทย ของกุสุมา รักษมณี และคณะ ซึ่งรวบรวมวรรณกรรมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมาวิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อนำเสนอให้เห็นการให้คุณค่าเรื่องศักดิ์ศรีที่สอดแทรกผ่านตัวละครต่างๆ ในวรรณกรรมไทย ได้เขียนถึง ปีศาจ ว่ามีการสะท้อนให้เห็นถึงศักดิ์ศรีในการประกอบอาชีพทนายความของสาย สีมา โดยมองว่าอุดมคติของการทำงานทนายความ คือความยุติธรรมที่ควบคู่ไปกับจริยธรรม ดังเช่นที่สายไม่ยอมรับคดีของฝ่ายเศรษฐีที่ต้องการฟ้องร้องชาวนา นอกจากนั้น ศักดิ์ศรีในอาชีพทนายความยังเชื่อมโยงไปถึงค่านิยมของคนรุ่นใหม่ที่ยึดถืออาชีพมากกว่าชาติกำเนิด ซึ่งเป็นค่านิยมเดิมของคนรุ่นเก่า จะสังเกตเห็นได้ว่า ถึงแม้ข้อเขียนนี้จะไม่ได้ตีความคำว่า ‘ปีศาจ’ โดยตรง แต่ข้อสรุปก็นำไปสู่ประเด็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าในด้านของค่านิยมที่ผูกโยงกับชนชั้น

     จากการตีความคำว่า ‘ปีศาจ’ ของตรีศิลป์ บุญขจร, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ประจักษ์ ก้องกีรติ, ฮิเดกิ ฮิรามัตสึ รวมทั้งกุสุมา รักษมณี และคณะ จะสังเกตเห็นได้ถึงจุดร่วมกันของบทวิจารณ์ทั้งหมดที่ตีความคำว่า ‘ปีศาจ’ เกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางสังคมในด้านความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า โดยมีนัยถึงความขัดแย้งระหว่างชนชั้นศักดินากับชนชั้นล่าง ขณะที่บทวิจารณ์ของสุวิทย์ ว่องวีระ กลับชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งที่แตกต่างออกไปคือ ความขัดแย้งระหว่างนายทุนกับชาวนา ซึ่งสุวิทย์มองว่าเป็นแก่นของปัญหาในนวนิยายเรื่องนี้ ดังที่เขากล่าวอ้างบทสัมภาษณ์ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ในหลายครั้งว่า “จุดใหญ่ที่เขา (เสนีย์ เสาวพงศ์) ต้องการเขียนคือปัญหาชาวนา กรณีพิพาทที่ดินที่บางบ่อ โดยได้ความคิดมาจากเหตุการณ์จริง” สุวิทย์ชี้ให้เห็นว่าประเด็นปัญหาเรื่องที่ดินของชาวนายืดเยื้อเรื้อรังจนมาปะทุขึ้นอีกครั้งในยุคสมัย 14 ตุลาคม 2516 สอดคล้องไปกับเหตุการณ์ในตอนจบของนวนิยายที่คนหนุ่มสาวอย่างสาย สีมา, รัชนี, กิ่งเทียน และนิคม มุ่งหน้าสู่ชนบทเพื่อนำวิชาความรู้ไปช่วยชาวบ้านในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน การมองประเด็นปัญหาในนวนิยาย ปีศาจ ของสุวิทย์ จากการต่อสู้ทางชนชั้นมาสู่ปัญหาที่ดินทำกินของชาวนา โดยกล่าวอ้างว่าเป็นเจตนาที่แท้จริงของนักเขียนดังกล่าว อาจนับได้ว่าเป็นความพยายามที่จะทำให้ความหมายของนวนิยายตรงกับเจตนาของผู้แต่งให้มากที่สุด ทว่าในเวลาต่อมาชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ กลับมองว่า การตีความที่พลาดเป้าของนักวิจารณ์ที่ผ่านมาเป็นการตีความพลาดเป้าที่เป็นความสำเร็จ ดังที่กล่าวว่า

     เพราะหาไม่แล้ว ปีศาจ ก็จะเป็นเพียงนวนิยายอีกหนึ่งเรื่องที่ถ่ายทอดปัญหาชาวนา เหมือนงานจำนวนหนึ่งในช่วงนั้น แต่เพราะความผันแปรนี้เอง ปีศาจ จึงเป็นนวนิยายเล่มแรกๆ ที่ฉายภาพสภาวะสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลวัตแห่งความเปลี่ยนแปลงอันไม่หยุดนิ่ง ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลางเกิดใหม่ที่เปี่ยมด้วยพลังความคิด กระหายใคร่รู้ ผู้มองโลกและสรรพสิ่งด้วยสายตาพิศวงสนเท่ห์ และถือได้ว่าเป็นต้นแบบของนวนิยายที่ถ่ายสะท้อนสภาวะอิหลักอิเหลื่อ กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของปัญญาชนชนชั้นกลางไทย

     จากบทวิจารณ์ของชูศักดิ์ทำให้เห็นความหมายของการตีความในสองมิติ 

     มิติแรก คือระดับของการชี้ให้เห็นความสำคัญของการตีความที่ผันแปรไปตามนักอ่านหรือนักวิจารณ์แต่ละคน จากยุคสมัยที่แตกต่างกัน ทำให้ความหมายของตัวบทงอกเงยเกิดใหม่โดยไม่ผูกติดความหมายที่ตายตัวกับเจตนาของผู้แต่งเพียงเท่านั้น ส่วนการตีความมิติที่สอง คือการตีความ ปีศาจ จากเดิมที่นักวิจารณ์ส่วนมากมองตัวละครอย่างสาย สีมา, กิ่งเทียน และนิคมว่าเป็นการขบถของชนชั้นล่างต่อชนชั้นสูง ตลอดจนการต่อต้านของรัชนีต่อชนชั้นศักดินาของตัวเอง ไปสู่การมองว่าตัวละครดังกล่าว ล้วนเป็นชนชั้นกลางเกิดใหม่อันเป็นผลผลิตจากการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย และการเกิดใหม่ของชนชั้นกลางดังกล่าวยังทำให้ตัวละครไม่อาจจะจัดสถานะของตัวเองอยู่สังกัดชนชั้นใดได้ จึงเกิดภาวะอิหลักอิเหลื่อทางอัตลักษณ์ของตัวละคร 

     นอกจากนั้น ชูศักดิ์ยังชี้ให้เห็นว่า การไปสู่ชนบทของสาย สีมา และรัชนีเป็นการเดินทางของชนชั้นกลางเข้าไปสู่ชนบท ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจในยุคสมัยดังกล่าวที่เมืองกรุงเทพฯ ได้ขยายตัวอันเป็นผลจากการลงทุนและการพัฒนา ทำให้นายทุนจากกรุงเทพฯ มุ่งสู่ต่างจังหวัด ผลกระทบจากการเจริญเติบโตของนายทุนและชนชั้นกลางที่เกิดใหม่ ทำให้เกิดลักษณะพันธุ์ทางขึ้นในหลายมิติโดยเฉพาะตัวละคร โดยใช้แนวคิดเรื่องความเป็นพันธุ์ทาง (hybridity) ของ โฮมี บาบา (Homi Bhabha) นักวิชาการแนวทางหลังอาณานิคมเข้ามาประกอบการตีความ ลักษณะพันธุ์ทางเกิดขึ้นจากผลของประเทศอาณานิคมที่นำเอาอัตลักษณ์ของประเทศเจ้าอาณานิคมมาผสมผสานกันจนไม่อาจนิยามได้ เป็นภาวะที่อยู่ระหว่างสองทาง ซึ่งกลายเป็นอาวุธในการโต้กลับเจ้าอาณานิคมได้ 

     ชูศักดิ์ใช้กรอบอธิบายดังกล่าวมาสู่ข้อสรุปความหมายของ ‘ปีศาจ’ ในนวนิยาย ก็คือลักษณะพันธุ์ทางของสาย สีมา, รัชนี ตลอดจนตัวละครอื่นที่ทำให้ชนชั้นสูงในยุคสมัยนั้นเกิดความหวาดวิตก อันเนื่องมาจากการนิยามไม่ได้ของชนชั้นกลางรุ่นใหม่ ชูศักดิ์จึงชี้ให้เห็นว่า ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้ทำให้ความหมายของ ปีศาจ เปลี่ยนแปลงไปตามอุดมการณ์ทางการเมืองในแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่ยุคคอมมิวนิสต์สู่ยุคทุนนิยม จนถึงยุคการเมืองเรื่องเสื้อสี คำนิยามที่หลากหลายดังกล่าว คือศักยภาพที่จะช่วยให้ ปีศาจ เกิดลักษณะพันธุ์ทาง อันนำไปสู่ข้อถกเถียงใหม่ๆ ในวงการปัญญาชน 

     จากบทวิจารณ์ทั้งหมดดังที่ได้กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การตีความ ปีศาจ สอดคล้องกันไปสู่ข้อสรุปในแนวทางของความขัดแย้งสามลักษณะคือ ความขัดแยังระหว่างชนชั้นล่างกับชนชั้นศักดินา ความขัดแย้งระหว่างชาวนากับนายทุน และความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลางที่มีลักษณะพันธุ์ทางกับชนชั้นสูง โดยมีบริบททางสังคมการเมืองและมิติของเวลาเป็นปัจจัยในการเปลี่ยนแปลง 

     อย่างไรก็ตาม ในบทวิจารณ์ ปีศาจของเสนีย์ เสาวพงศ์ ของทิพย์สุเนตร อนัมบุตร กลับเสนอในแนวทางต่างออกไปว่า “แม้เสนีย์ เสาวพงศ์ จะนำเสนอนานาทัศนะที่เกี่ยวกับบุคคลในสังคมหลายระดับ ดังที่เป็นประเด็นหลักและประเด็นรอง แต่ผู้อ่านจะไม่รู้สึกว่าเครียดหรือหนักกับประเด็นปัญหาเหล่านั้น ไม่เพียงแต่ผู้อ่านจะได้เห็นทางออกอย่างมีเหตุผลของตัวละครหลักๆ การทำใจยอมรับสภาพด้วยสติและปัญญาของตัวละครรองๆ หลายตัว” ซึ่งการยอมรับด้วยสติปัญญาอาจถือได้ว่าเป็นแกนหลักของบทวิจารณ์ชิ้นนี้ ตามที่ทิพย์สุเนตรนำไปสู่ข้อสรุปในการอยู่ร่วมกันอย่างประนีประนอม เนื่องจากสังคมมีความแตกต่างหลากหลายว่า “หากเราอยู่อย่างเข้าใจและทำใจได้ ชีวิตย่อมเป็นไปตามที่เราหวังไว้เสมอ” อาจกล่าวได้ว่าบทวิจารณ์ของทิพย์สุเนตรไม่ได้เพียงวิเคราะห์ให้เห็นถึงประเด็นปัญหาในตัวบทเท่านั้น แต่ยังหาคำตอบให้กับตัวบทอันเป็นเสมือนการชี้ทางออก จากที่ตัวบทได้ตั้งปมปัญหาเอาไว้ โดยพยายามลดทอนมิติทางการเมืองลงไป

     โดยสรุปแล้ว การหันมาสนใจศึกษาตัวบทวรรณกรรมผ่านการตอบสนองของผู้อ่าน ผ่านบทวิจารณ์นวนิยายเรื่อง ปีศาจ ทำให้เห็นกระบวนการตีความของนักวิจารณ์แต่ละคน แต่ละยุค แต่ละสมัย ทั้งนักวิชาการทางด้านวรรณคดี นักวิจารณ์วรรณกรรม นักประวัติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ ตลอดจนบรรณาธิการ ทำให้เห็นความหมายของตัวบทที่มีลักษณะร่วมกันในการต่อยอดความคิด โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องพันธกิจของนักเขียนที่มีต่อสังคม จากแนวคิดวรรณกรรมก้าวหน้ามาสู่วรรณกรรมเพื่อชีวิต และลักษณะแตกต่างจากบทวิจารณ์ที่มีมาก่อนหน้า ดังเช่นการมองในประเด็นปัญหาเรื่องการรุกคืบของนายทุนและชนชั้นกลางที่เกิดขึ้นใหม่ นอกจากนั้น บางบทวิจารณ์ยังตีความออกไปนอกเหนือตัวบทด้วยการชี้ทางออกจากปมปัญหาที่ตัวบทได้สร้างไว้ ความหมายของตัวบทที่แตกต่างหลากหลายดังกล่าวเกิดขึ้นจากการให้ความสำคัญกับการตอบสนองของคนอ่านเป็นสำคัญ การตอบสนองของผู้อ่านเกิดขึ้นจากการที่ผู้อ่านคาดหวังต่อตัวบทที่สัมพันธ์กับขนบของการประพันธ์ รวมทั้งบทวิจารณ์ที่มีมาก่อนหน้าในการตีกรอบผู้อ่านแต่ละคน การที่นักวิจารณ์ต่างสมัยวิจารณ์ตัวบทอีกครั้งจึงเปรียบเสมือนการช่วยขยายขอบฟ้าของความคาดหวังเดิมที่มีมาก่อนหน้าให้กว้างไกลออกไป โดยนัยแล้วการศึกษาวรรณกรรมผ่านบทวิจารณ์คัดสรรจึงพอที่จะช่วยให้เห็นการขยายความหมายของนวนิยาย ปีศาจ นั่นหมายความว่า การต่อลมหายใจให้กับ ปีศาจ มีผู้อ่านเป็นองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งทำให้วงจรชีวิตของวรรณกรรมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น 

     มากไปกว่านั้นยังสะท้อนย้อนกลับให้เห็นคุณค่า ความเชื่อ และอุดมการณ์ของผู้อ่านเองด้วย

รายการอ้างอิง

• ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. 2558. อ่านใหม่. กรุงเทพฯ: อ่าน.
• ตรีศิลป์ บุญขจร. 2545. “คือคันฉ่องและโคมฉาย: พันธกิจของนักเขียนต่อสังคมในวรรณกรรมของเสนีย์ เสาวพงศ์.” ใน 84 ปี เสนีย์ เสาวพงศ์ ไฟยังเย็นในหัวใจ. นิวัติ กองเพียร และ สุพจน์ แจ้งเร็ว (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ: มติชน.
• ทิพย์สุเนตร อนัมบุตร. 2553. “ปีศาจของเสนีย์ เสาวพงศ์.” ใน นวนิยาย: บทวิจารณ์นวนิยายสิบสามเรื่องของศิลปินแห่งชาติ. จตุพล บุญพรัด (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์.
• ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. 2556. กบฏวรรณกรรม. กรุงเทพฯ: สมมติ.
• ประจักษ์ ก้องกีรติ. 2545. “ปีศาจของกาลเวลา: การรื้อฟื้นงานเสนีย์ เสาวพงศ์ในยุคแสวงหา.” ใน 84 ปี เสนีย์ เสาวพงศ์ ไฟยังเย็นในหัวใจ. นิวัติ กองเพียร และ สุพจน์ แจ้งเร็ว (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ: มติชน.
• รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. 2554. 25 ปี การวิจารณ์ คำพากษา: กรุงเทพฯ: ชมนาด.
• สุวิทย์ ว่องวีระ. 2533. “จาก ความรักของวัลยา และ ปีศาจ ถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516. ใน 72 ปี ศักดิชัย บำรุงพงศ์ นักเขียนสามัญชน. เสถียร จันทิมาธร (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ: มติชน.
• เสถียร จันทิมาธร. 2524. สายธารวรรณกรรมเพื่อชีวิตของไทย. กรุงเทพฯ: เจ้าพระยา.
• เสนีย์ เสาวพงศ์. 2544. ปีศาจ. กรุงเทพฯ: มติชน.
• กุสุมา รักษมณี, เสาวณิต จุลวงศ์ และสายรุณ น้อยนิมิตร. 2550. ศักดิ์ศรีและความอับอายในวรรณกรรมไทย. กรุงเทพฯ: แม่คำผาง. 
• Fish, Stanley. 1980. Is There a Text in This Class?: The Authority of Interpretation Communities. London: Harvard University Press.
• Hiramatsu, Hideki. 2550. “วิถีของวรรณกรรมร่วมสมัยของไทย กระแสวรรณกรรม จาก เสนีย์ เสาวพงศ์ จนถึง ชาติ กอบจิตติ.” Kyoto Review of Southeast Asia.
• Iser, Wolfgang. 1978. The Act of Reading. London: The John Hopkins University Press.
• Tompkins, Jane P. 1980. Reader-Response Criticism: From Formalism to Post-Structuralism. London: The John Hopkins University Press.