STEPHEN KING’S WATCHLIST
9 เรื่องจาก 9 เล่มของสตีเวน คิง
เรื่อง: A. Piriyapokanon
ภาพ: NJORVKS
ถ้าจะพูดถึงบันเทิงคดีอันมีธีมหลักเป็นความลี้ลับ เราเชื่อว่าต้องมีต้นตำรับความขนพองสยองเกล้าจากรัฐเมน สหรัฐอเมริกาอย่าง สตีเวน คิง (Stephen King) ติดเข้าไปในโผอย่างน้อยสักเรื่องนึง
ด้วยผลงานการเขียนกว่า 64 เล่ม เรื่องสั้นอีกร่วม 200 เรื่อง แถมยังพ่วงด้วยตำแหน่งนักเขียน (ที่ยังมีชีวิตอยู่) ผู้มีผลงานถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มากที่สุดถึง 35 เรื่อง คิงจึงถือว่าเป็นนักเขียนระดับตำนานแห่งยุคสมัย ผลงานของเขาถูกหยิบจับมาปัดฝุ่นพิมพ์ใหม่อยู่บ่อยครั้ง อย่างเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักพิมพ์ Beat ก็ฟื้นคืนชีพวิญญาณสยองแห่งห้อง 217 จาก ‘The Shining’ ขึ้นมาอีกครั้ง หรือแม้กระทั่งในวงการแฟชั่น ล่าสุดแบรนด์ชั้นนำอย่าง ‘Gucci’ ก็ออกแคมเปญใหม่ของคอลเลกชั่น ‘Exquisite Gucci’ ที่คอลแล็บกับภาพยนตร์ ‘The Shining’ อีกด้วย
เห็นอย่างนั้นเราจึงถือโอกาส คัดเอาภาพยนตร์เรื่องเด่นเรื่องดังที่สร้างขึ้นจากวรรณกรรมของ King of Horror คนนี้มาให้หายคิดถึง เผื่อช่วงนี้ใครนึกครึ้มอยากจะเพิ่มความตื่นเต้นปนขนลุกให้กับชีวิต
แต่คนขวัญอ่อนไม่ต้องกลัวไป เพราะลิสต์นี้เรียงลำดับความหลอนมาให้เผื่อเวลาได้เตรียมตัวเตรียมใจแล้วเรียบร้อย!
อันดับ 9
The Shawshank Redemption
เริ่มต้นเบาๆ แบบไร้ซึ่งความน่ากลัวใดๆ ด้วยภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอันดับหนึ่งตลอดกาลจากลิสต์ IMDb Top 250 Movies อย่าง The Shawshank Redemption ซึ่งสร้างมาจากเรื่องสั้นขนาดยาว Rita Hayworth and Shawshank Redemption ตีพิมพ์เมื่อปี 1982 ในเล่ม Different Seasons หนังสือที่คิงหยิบเอาคอนเซปต์ 4 ฤดูมาแต่งเป็น 4 เรื่องสั้น
เรื่องราวของนายธนาคารหนุ่ม ‘แอนดี้ ดูเฟรนส์’ (Andy Dufresne) ผู้ถูกจับกุมข้อหาฆาตกรรมภรรยาตัวเองพร้อมชายชู้ ทำให้เขาถูกส่งตัวไปยังคุกชอว์แชงก์ด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิตสองกระทง
ถึงแม้เรื่องราวทั้งหมดจะเกิดขึ้นในแดนนักโทษ แต่แท้จริงแล้วเรื่องนี้เป็นตัวแทนของฤดูใบไม้ผลิ สัญลักษณ์แห่งอิสรภาพและความหวังที่ลูกกรงห้องขังไม่สามารถจองจำได้
Different Seasons ถูกแปลเป็นภาษาไทยสองสำนวน ครั้งแรกในชื่อ เหตุเกิดต่างฤดูกาล โดย ‘ป.สามโกเศศ’ ปี 1984 และครั้งล่าสุดในปี 2018 โดย ‘โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล’ ด้วยชื่อ เรื่องเล่าต่างฤดู
เรื่องสั้นเรื่องนี้ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในปี 1994 โดยผู้กำกับ ‘แฟรงก์ ดาราบอนต์’ (Frank Darabont) ได้ความร่วมมือจากคิงเข้ามาช่วยเขียนบท ถึงอย่างนั้น กระแสตอบรับในช่วงแรกกลับไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 67 The Shawshank Redemption เข้าชิงถึง 7 สาขา ทำให้สามารถเรียกความสนใจจากผู้ชมกลับมาได้อีกครั้ง
อันดับ 8
Stand by Me
“ผมอายุสิบสอง ย่างสิบสาม ตอนที่เห็นศพคนตายครั้งแรก…” คือประโยคแรกในภาพยนตร์ Stand by Me และประโยคแรกในย่อหน้าที่สองของเรื่องสั้น The Body จากหนังสือ Different Seasons เล่มเก่าเล่มเดิม
ถ้า The Shawshank Redemption คือความหวังในฤดูใบไม้ผลิ The Body ก็คือตัวแทนของการผลัดทิ้งในฤดูใบไม้ร่วง คิงเล่าเรื่องราวของการเติบโต ความตาย และการละทิ้งวัยเยาว์ผ่านเด็กชายสี่คนที่ออกเดินตามหาศพไปตามทางรถไฟ ด้วยความหวังว่าจะได้เป็นคนดังของเมืองที่ตนอาศัยอยู่
ฉบับภาพยนตร์ดัดแปลงในชื่อ Stand by Me ออกสู่สายตาผู้ชมในปี 1986 ด้วยฝีมือกำกับของ ‘ร็อบ ไรเนอร์’ (Rob Reiner) นำแสดงโดย ‘ริเวอร์ ฟินิกซ์’ (River Phoenix) ได้การยอมรับเป็นวงกว้างในฐานะหนึ่งในภาพยนตร์ coming of age ที่ดีที่สุด ด้วยการถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม และรางวัลลูกโลกทองคำในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทดราม่า และผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
หากพูดถึง Stand by Me จะไม่พูดถึงเพลงประกอบชื่อเดียวกันจาก ‘เบน อี. คิง’ (Ben E. King) ก็คงไม่ได้ เพราะในทีแรกตัวภาพยนตร์จะใช้ชื่อ The Body ตามฉบับหนังสือ แต่พอไรเนอร์ได้ฟังเพลงที่ว่า เขาก็ตัดสินใจใช้ Stand by Me เป็นทั้งเพลงประกอบหลักและชื่อภาพยนตร์แทนทันที
สำหรับเรื่องสั้นฉบับภาษาไทย นอกจากจะอยู่รวมในเล่ม Different Seasons แล้ว เมื่อภาพยนตร์เป็นที่นิยมในวงกว้าง สำนักพิมพ์วันวิสาข์ก็ออกหนังสือชื่อ สแตนด์บายมี เมื่อปี 1996 ซึ่งมีเรื่องนำเป็น The Body ประกอบกับเรื่องสั้นอื่นๆ ของคิงอีกสามเรื่อง ในสำนวนแปลของ ‘วิฑูรย์ ’ปฐม’
อันดับ 7
The Dead Zone
อันดับ 7 ได้แก่ผลงานที่มีส่วนผสมทั้งจากวิทยาศาสตร์ การแพทย์ ศาสนา เวทมนตร์คาถา และภูตผีปีศาจอย่าง The Dead Zone เป็นเรื่องราวของ ‘จอห์นนี่ สมิธ’ (Johnny Smith) ชายหนุ่มที่สูญเสียทุกอย่างในชีวิตไปเพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์ หลังฟื้นจากอาการโคม่าถึงห้าปีเต็ม สมิธก็พบว่าเขาสามารถหยั่งรู้ภาพนิมิตทั้งในอดีตและอนาคตได้ด้วยการสัมผัสร่างกายของอีกฝ่าย ซึ่งว่ากันว่าคิงอ้างอิงเส้นเรื่องมาจากชีวิตจริงของ ‘ปีเตอร์ เฮอร์คอส’ (Peter Hurkos) ผู้ประสบอุบัติเหตุหัวกระแทกจากการตกบันไดและมีสัมผัสพิเศษตั้งแต่นั้น
The Dead Zone ถูกแปลเป็นภาษาไทยในปี 1981 ถึงสองสำนวน ได้แก่ มรณะดำ ฉบับเล่มเดียวจบ แปลโดย ‘สิทธิพร-วราภรณ์’ จากสำนักพิมพ์เพื่อนปรีชา และ แดนมรณะ ฉบับสองเล่มจบ แปลโดย ‘เกียรติ’ จากสำนักพิมพ์บรรณกิจ
ต่อมาในปี 1983 ผู้กำกับภาพยนตร์แนวสยองขวัญ ‘เดวิด โครเนนเบิร์ก’ (David Cronenberg) จึงได้หยิบเอา The Dead Zone ไปดัดแปลงเป็นเวอร์ชั่นคนแสดง นำแสดงโดย ‘คริสโตเฟอร์ วอลเคน’ (Christopher Walken) รวมถึงยังมีการนำไปพัฒนาเป็นซีรีส์ในปี 2002 โดยคู่หูพ่อลูก ‘ไมเคิล พิลเลอร์’ (Michael Piller) และ ‘ชอว์น พิลเลอร์’ (Shawn Piller) ผู้เคยฝากผลงานไว้ในซีรีส์ Star Trek: The Next Generation
อันดับ 6
Secret Window
ขยับความหลอนขึ้นมาอีกนิดด้วย Secret Window หรือชื่อเต็มในนิยายคือ Secret Window, Secret Garden จากเล่ม Four Past Midnight รวมเรื่องสั้นสี่เรื่องชุดที่ 2 ต่อจาก Different Seasons ออกวางขายในเดือนกันยายน 1990 ส่วนฉบับภาษาไทย บรรจุอยู่ใน นาทีสยองขวัญ เล่ม 1 ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1991 ด้วยการแปลของ ‘วิฑูรย์ ’ปฐม’
Secret Window, Secret Garden เล่าเรื่องราวของ ‘มอร์ต เรนนี่’ (Mort Rainey) นักเขียนมือดีแต่อาภัพรักจนต้องแยกทางกับภรรยา แต่แล้ววันดีคืนดีเรนนี่ก็โดนคนแปลกหน้าตามมากล่าวหาถึงบ้านว่าไปลอกต้นฉบับงานเขียนของเขามาเสียอย่างนั้น จากการกล่าวหาลอยๆ ของชายลึกลับที่ว่า เส้นเรื่องก็พัฒนาจนซับซ้อนถึงระดับเหตุการณ์ฆาตกรรม แต่ใครเป็นคนฆ่าและฆ่าใคร คงต้องให้ผู้อ่านไปพิสูจน์กันเอง
เรนนี่ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ปี 2004 ถูกนำเสนอด้วยใบหน้าที่ทุกคนรู้จักกันดีอย่าง ‘จอห์นนี่ เดปป์’ (Johnny Depp) กำกับโดยนักเขียนบทหนังบล็อกบัสเตอร์ ‘เดวิด เคปป์’ (David Koepp) โดยดัดแปลงให้มีเนื้อหาตอนจบ (และคนถูกฆ่า) ที่ต่างไปจากต้นฉบับในหนังสือ
อันดับ 5
The Mist
The Mist ออกสู่สายตานักอ่านครั้งแรกในหนังสือ Dark Forces: New Stories of Suspense and Supernatural Horror รวมเรื่องสั้นจากนักเขียนสยองขวัญ 23 คนในปี 1980 ด้วยความตั้งใจของบรรณาธิการ ‘เคอร์บี แม็กคอลีย์’ (Kirby McCauley) ที่อยากจะตีพิมพ์ผลงานของนักเขียนดังที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน
The Mist ของคิงถูกวางไว้เป็นเรื่องแรกของเล่ม ตามด้วยผลงานนักเขียนระดับตำนานอีกหลายชีวิต ทั้ง ‘ธีโอดอร์ สเตอร์เจียน’ (Theodore Sturgeon) ผู้เขียนบท Star Trek: The Original Series และ ‘เรย์ แบรดบิวรี’ (Ray Bradbury) ผู้เขียน Fahrenheit 451
หลังจากนั้นอีกห้าปี The Mist ฉบับปรับปรุงใหม่ก็ถูกรวบรวมไว้ในเล่ม Skeleton Crew ของคิงเอง มีฉบับแปลไทยชื่อ นรกตื่น แปลโดย ‘พิศวาท/โรมรัน’
ในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว The Mist ได้ ‘แฟรงก์ ดาราบอนต์’ (Frank Darabont) เจ้าเดิมจาก The Shawshank Redemption มากำกับ โดยเล่าเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่ติดอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตเนื่องจากปรากฏการณ์หมอกคลุมเมือง ก่อนที่พวกเขาจะค้นพบว่าในหมอกนั้นมีสิ่งมีชีวิตปริศนาพร้อมจะคร่าชีวิตทุกคน แต่กระนั้น สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของเรื่องอาจไม่ใช่สัตว์ประหลาด แต่คือวินาทีแห่งความสิ้นหวังที่ทำให้มนุษย์พร้อมจะทำเรื่องไม่คาดคิด โดยส่วนที่เปลี่ยนไปจากหนังสือคือผู้กำกับได้ปรับปรุงตอนจบเสียใหม่ ขยี้หัวใจคนดูให้ยิ่งสิ้นหวังนั่งน้ำตารินกว่าเดิม (อีกเหรอ…)
อันดับ 4
Carrie
ความสยองอันดับ 4 ได้แก่ Carrie ผลงานคลาสสิกลำดับที่ 4 ของคิง (แต่ถูกเลือกมาตีพิมพ์เป็นเล่มแรก เมื่อวันที่ 5 เมษายน 1974) ด้วยเนื้อหาที่รุนแรงทั้งเรื่องเพศและศาสนา ทำให้ Carrie เป็นอีกหนึ่งหนังสือที่ถูกแบนมากที่สุดในโรงเรียนสหรัฐฯ ส่วนเล่มภาษาไทยใช้ชื่อว่า คืนนรก แปลโดย ‘สุวิทย์ ขาวปลอด’ เมื่อปี 1985
สาเหตุที่ใช้ชื่อว่า คืนนรก ก็เพราะนิยายพูดถึงคืนงานพรอมของ ‘แครี่’ เด็กสาวที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับแม่คลั่งศาสนาและตกเป็นเหยื่อการกลั่นแกล้งในโรงเรียน ในคืนที่เธอได้รับเลือกให้เป็นราชินีพรอมก็เช่นกัน วินาทีที่เธอขึ้นรับรางวัล เลือดหมูทั้งถังถูกเทลงมาราดตัวแครี่จนแดงฉาน ในปกหลังฉบับแปลไทยบรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปว่า “พวกมันหัวเราะเยาะเธออีกแล้ว ครั้งนี้เธอโกรธและแค้นจนรับไม่ไหว คืนนี้…เธอจะสอนบทเรียนให้พวกมันสำนึก คืนนี้…คืนที่ต้องฆ่าพวกมันให้เกลี้ยง!”
ภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันสร้างขึ้นในปี 1976 โดย ‘ไบรอัน เดอ ปาลมา’ (Brian De Palma) ก่อนจะถูกรีเมกใหม่อีกครั้งในปี 2013 โดย ‘คิมเบอร์ลี เพียร์ซ’ (Kimberly Peirce) นำแสดงโดย ‘โคลอี เกรซ มอเรตซ์’ (Chloë Grace Moretz) ใครว่าเวอร์ชั่นภาพยนตร์จิตแล้ว ต้องแอบกระซิบว่าต้นฉบับในหนังสือ แครี่เขามีพลังมากมายมหาศาลกว่านี้เยอะ!
อันดับ 3
The Shining
โรงแรมโอเวอร์ลุคสุดหลอนมีแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ตรงของคิงในฐานะแขกเพียงคนเดียวของโรงแรมเดอะสแตนลีย์ รัฐโคโลราโดที่คิงไปเข้าพักเมื่อปลายเดือนกันยายน ปี 1974 ก่อนที่โรงแรมจะเข้าสู่ช่วงหยุดให้บริการในช่วงฤดูหนาว
คิงเล่าว่าในคืนหนึ่งขณะเข้าพัก เขาฝันเห็นลูกชายอายุ 3 ขวบกำลังวิ่งไปตามโถงทางเดินและกรีดร้องด้วยความกลัวสุดขีด เพราะถูกไล่ด้วยผีสายยางดับเพลิง (เอ่อ…) คิงสะดุ้งตื่น ลุกไปจุดบุหรี่ และทันทีที่ยาสูบหมดมวน เส้นเรื่องของ The Shining ก็ถักทอเสร็จเรียบร้อยในหัวของเขา
นิยายต้นฉบับเขียนเสร็จสิ้นในปี 1977 ส่วนเวอร์ชั่นภาษาไทยมีอยู่สามสำนวน ครั้งแรกในชื่อ โรงแรมผีนรก โดย ‘สุวิทย์ ขาวปลอด’ ปี 1983 ครั้งที่ 2 ในชื่อ เดอะไชนิ่ง คืนนรก โดย ‘พจนีย์ ฉัตรชัยวิวัฒนา’ ปี 2015 และครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 ในชื่อ เดอะไชนิ่ง โรงแรมนรก แปลโดย ‘โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล’
นวนิยายถูกนำไปขึ้นจอโดยฝีมือผู้กำกับชั้นครู ‘สแตนลีย์ คูบริก’ (Stanley Kubrick) ในปี 1980 (แต่คิงกลับออกปากว่าไม่ปลื้มเวอร์ชั่นนี้แบบสุดๆ!) นำแสดงโดย ‘แจ็ก นิโคลสัน’ (Jack Nicholson) และ ‘เชลลีย์ ดูวัล’ (Shelley Duvall)
เรื่องราวของนักเขียนที่จับพลัดจับผลูได้ไปดูแลความเรียบร้อยของโรงแรมโอเวอร์ลุคในช่วงปิดให้บริการกลางฤดูหนาว พร้อมด้วยภรรยาและลูกชายหนึ่งคน ก่อนที่อาการประหลาดของแจ็กและความสยดสยองของห้อง 237 (ในหนังสือคือห้อง 217) จะเริ่มคืบคลานกัดกินทั้งโรงแรม
หลังความสำเร็จของ The Shining 36 ปีจากการตีพิมพ์ครั้งแรก คิงจึงได้ออกนิยายภาคต่อชื่อ Doctor Sleep เล่าชีวิตของลูกชาย ‘แดนนี่ ทอร์แรนซ์’ (Danny Torrance) ใน 40 ปีให้หลังจากเหตุการณ์สยองที่เกิดขึ้น ซึ่งถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์เช่นกันในปี 2019 โดย ‘ไมค์ ฟลานาแกน’ (Mike Flanagan)
อันดับ 2
Pet Sematary
ความเขย่าขวัญอันดับ 2 ตกเป็นของครอบครัวนายแพทย์ที่ย้ายบ้านจากเมืองหลวงมาอยู่แถบชนบท ละแวกอันเป็นที่ตั้งของสุสานสัตว์เลี้ยง พื้นที่เก่าแก่ของชาวอินเดียแดงที่เด็กๆ มักจะเอาสัตว์เลี้ยงของตัวเองไปฝัง โดยเชื่อกันว่าอาถรรพ์ที่นั่นสามารถทำให้มันฟื้นคืนชีพกลับมาได้ แต่แล้ววันหนึ่งก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเมื่อลูกชายคนเล็กของบ้านประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ด้วยหัวใจที่แตกสลาย นายแพทย์จึงไม่เหลือทางเลือกอื่นนอกจากพาศพไปฝังไว้ที่สุสานแห่งนั้น ด้วยความหวังว่าลูกชายจะกลับมาหาเขาอีกครั้ง
คิงเผยแพร่ Pet Sematary ในเดือนพฤศจิกายน 1983 เขาเล่าว่าเนื้อเรื่องมีส่วนมาจากเรื่องจริงตอนที่แมวของลูกสาวเขาถูกรถบรรทุกชน และคิงมีหน้าที่ต้องเอาร่างของมันไปฝังในป่าหลังบ้านพัก สามวันหลังจากนั้นเขาก็นึกโครงเรื่องที่ว่าออกทันที และในปีถัดมาก็ได้มีการนำ Pet Sematary มาแปลเป็นภาษาไทยโดย ‘ประดิษฐ์ เทวาวงศ์’ ใช้ชื่อว่า สุสานคืนวิญญาณ และแปลใหม่ครั้งที่สองในชื่อ กลับจากป่าช้า ในเดือนมีนาคม 2019 โดย ‘อรทัย พันธพงศ์’
Pet Sematary ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อีกสองครั้ง ได้แก่ปี 1986 โดย ‘แมรี่ แลมเบิร์ต’ (Mary Lambert) โดยมีสตีเวน คิง แอบไปปรากฏตัวในบทบาทศาสนบริกรฉากงานศพ และฉบับรีเมกใหม่ในปี 2019 โดยสองผู้กำกับ ‘เควิน โคลช์’ (Kevin Kölsch) และ ‘เดนนิส วิดไมเยอร์’ (Dennis Widmyer) ซึ่งมาพร้อมกับคำโปรยหนังสุดสยองว่า “บางที ตายไปเสียยังดีกว่า…”
อันดับ 1
It
ขอยกความหลอนอันดับหนึ่งให้กับ It ผลงานที่คิงใช้เวลาบรรจงเขียนนานถึงสี่ปี
นวนิยายว่าด้วยแก๊งเด็กห่วย 7 คน ผู้มุ่งมั่นจะแก้อาถรรพ์ประจำเมืองที่ทุกๆ 27 ปีจะมีเด็กในเมืองหายสาบสูญหรือมีอันเป็นไป ดำเนินเรื่องภายใต้บรรยากาศน่าสะพรึงกลัวที่ ‘มัน’ อาจโผล่มาตอนไหน จากมุมไหน หรือในรูปแบบใดก็ได้ ประเด็นความกลัวที่ซ่อนอยู่ในเบื้องลึกของจิตใจนี้เองที่ทำให้ It และภาพตัวตลกถือลูกโป่งแดง ‘เพนนีไวส์’ (Pennywise) ยังคงถูกจดจำโดยผู้อ่านทุกยุคสมัย เพราะ ‘มัน’ รู้ดีว่าเรากลัวอะไร และ ‘มัน’ ก็พร้อมจะตามหลอกหลอนด้วยสิ่งที่เรากลัวที่สุด!
It ตีพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษในปี 1986 และขึ้นแท่นหนังสือขายดีในปีนั้นทันที ส่วนฉบับภาษาไทยมาในรูปแบบสอง เล่มจบด้วยชื่อ It เหมือนต้นฉบับ แปลโดย ‘สุวิทย์ ขาวปลอด’ ในปี1991 และนำมาปัดฝุ่นแปลใหม่อีกครั้งในปี 2017 โดย ‘โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล’
ภาคคนแสดงลงจอแก้วครั้งแรกเมื่อปี 1990 ฉายในรูปแบบมินิซีรีส์ทางช่องโทรทัศน์ ABC กำกับโดย ‘ทอมมี่ ลี วอลเลซ’ (Tommy Lee Wallace) ก่อนที่จะมีเวอร์ชั่นภาพยนตร์อันโด่งดัง It ในปี 2017 และภาคต่อ It: Chapter Two ในปี 2019 ผลงานการกำกับของ ‘แอนเดรส มุสคิเอตติ’ (Andrés Muschietti) ผู้ที่ประกาศในแทบทุกบทสัมภาษณ์ว่าเขานี่แหละแฟนตัวยงที่เติบโตมาพร้อมกับนิยายของสตีเวน คิง