Fri 04 Dec 2020

0: EVERYBODY’S A FOOL

คอลัมน์อธิบายความหมายที่ซ่อนอยู่ในไพ่ทาโรต์แต่ละใบ เจาะลึกประวัติศาสตร์ รวมถึงการเชื่อมโยงสัญลักษณ์และความหมายของไพ่ในฉบับต่างๆ กับเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

เรื่อง: มิ่ง ปัญหา

ภาพ: ms.midsummer

     สวัสดีค่ะ หลายๆ ท่านอาจรู้จักดิฉันผ่านเพจ Card Shark ตำนาน ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม วัฒนธรรมจากไพ่ทาโรต์ มาบ้างแล้ว (เพจอะไรชื่อยาวจัง) แต่ถ้ายัง ดิฉันจะขอแนะนำว่าทั้งเพจและคอลัมน์นี้มีจุดร่วมคือการอธิบายความหมายของไพ่ทาโรต์ ประวัติศาสตร์สัญลักษณ์ของไพ่ รวมถึงการเชื่อมโยงความหมายและสัญลักษณ์ของไพ่ในฉบับต่างๆ กับเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมค่ะ

     สำหรับผู้อ่านที่ไม่รู้จักไพ่ทาโรต์เลย ดิฉันคงต้องขออธิบายสั้นๆ ก่อนที่เราจะไปว่ากันถึงไพ่หมายเลขศูนย์ใบนี้

     การทำนายด้วยไพ่น่าจะถือกำเนิดมานานแล้ว อาจจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการถือกำเนิดของไพ่เลยก็ได้ ไพ่ที่มีลักษณะคล้ายกับไพ่ทาโรต์สำรับปัจจุบัน ซึ่งสามารถใช้เล่นและใช้ทำนายได้นั้น เริ่มปรากฏขึ้นในอิตาลีช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 โดยคาดว่าเข้ามาจากเอเชีย ต่อมาจึงมีการผลิตไพ่ทำนายออกมาอีกหลายสำรับ แต่สำรับที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และกลายเป็นต้นแบบให้แก่สำรับต่างๆ ทั่วโลกนั้นมีสองสำรับ ออกแบบเมื่อต้นศตวรรษที่ 20

     ฉบับแรกออกแบบโดยพ่อหมอชื่อ อาร์เธอร์ เอ็ดเวิร์ด เวท (Arthur Edward Waite) และจิตรกร พาเมลา โคลแมน สมิธ (Pamela Coleman Smith) ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ไรเดอร์ จึงเรียกกันว่าไพ่ฉบับเวท หรือไรเดอร์เวท หรือบางทีจะเรียกว่าไรเดอร์เวทสมิธ (RWS) ก็ได้ ไพ่ฉบับนี้คือฉบับที่คุณมักจะเห็นบ่อยๆ คำทำนายไพ่ทาโรต์ในไลน์ก็มาจากไพ่ฉบับนี้ ในที่นี้ ดิฉันจะเรียกไพ่ฉบับนี้ว่าฉบับไรเดอร์เวทสมิธ

     ส่วนอีกฉบับชื่อฉบับธอธ (Thoth) ตามชื่อเทพแห่งการประพันธ์ของอียิปต์โบราณ ผู้ออกแบบคือพ่อหมอชื่อ อเลสเตอร์ โครวลีย์ (Aleister Crowley) และจิตรกรชื่อ เลดี ฟรีดา แฮร์ริส (Lady Frieda Harris)

     โครงสร้างของไพ่ทั้งสองชุดคล้ายกัน อิงกับหลักโหราศาสตร์เหมือนๆ กัน (ไพ่แต่ละใบจะมีดาวและราศีต่างๆ ประจำอยู่ด้วย) แต่อาจจะตั้งชื่อไพ่และตีความต่างกันบ้าง ไพ่ในยุคหลังนั้นนิยมยึดโครงสร้างตามฉบับ RWS แต่ก็มีไม่น้อยเลยที่ใช้ระบบธอธ

     ทั้งนี้ทั้งนั้น ไพ่ทาโรต์ไม่ใช่ไพ่พยากรณ์แบบอื่นๆ ที่เรียกกันว่า Oracle Cards นะคะ ไพ่แบบนั้นจะมีระบบของตัวเองที่ต่างออกไปอีก แล้วแต่การออกแบบ

     ไพ่ทาโรต์โดยทั่วไป หนึ่งสำรับจะแบ่งเป็น 2 ชุด นั่นคือ ไพ่ชุดใหญ่ Major Arcana (ความลับอันยิ่งใหญ่) มีทั้งหมด 22 ใบ เริ่มที่เลข 0 (ไพ่คนโง่ หรือ The Fool) ไปจนถึงไพ่หมายเลข 21 ซึ่งคือไพ่โลก (The World) ไพ่เหล่านี้จะมีชื่อไพ่เป็นตัวละคร สถานที่หรือสถานการณ์ เช่น ไพ่คนโง่ ไพ่หัวหน้านักบวชหญิง (High Priestess) ไพ่หอคอย (The Tower) หรือไพ่การพิพากษา (Judgment) ไพ่อีกชุดเรียกว่าไพ่ชุดเล็ก Minor Arcana (ความลับชุดน้อย) ไพ่ชุดเล็กประกอบด้วยสัญลักษณ์ทั้ง 4 คือ เหรียญ (แทนธาตุดิน) ถ้วย (แทนธาตุน้ำ) ดาบ (แทนธาตุลม) และไม้เท้า (แทนธาตุไฟ) ไพ่แต่ละสัญลักษณ์จะมีตัวเลขกำกับ ตั้งแต่ 1 (ซึ่งเรียกว่า Ace) ไปจนถึง 10 ตามด้วยไพ่ตัวละครชาววัง 4 ตัว นั่นคือราชา (King) ราชินี (Queen) อัศวิน (Knight) และเด็กรับใช้ (Page) ในบางฉบับ ชื่อเหล่านี้อาจเปลี่ยนไปได้ เช่น เด็กรับใช้ อาจเปลี่ยนเป็นเจ้าหญิง (Princess) อัศวินเปลี่ยนเป็นเจ้าชาย (Prince)

     ถ้าอ่านผ่านๆ คุณก็อาจจะพอนึกออกว่า ไพ่ทาโรต์นั้นส่งผลต่อการออกแบบไพ่ป๊อกที่เราใช้เล่นและทำนายกันในเวลาต่อมา โดยไพ่ป๊อกเอาอัศวินออก ไพ่แจ็กก็คือไพ่เด็กรับใช้ ส่วนเหรียญกลายเป็นข้าวหลามตัด ถ้วยกลายเป็นโพแดง ดาบกลายเป็นโพดำ และไม้เท้ากลายเป็นดอกจิก ไพ่ชุดใหญ่นั้นอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับไพ่ป๊อกก็จริง แต่ไพ่คนโง่ยังอยู่ เพียงแค่เปลี่ยนชื่อเป็น Joker เท่านั้นเอง

     ดิฉันขอเล่าประวัติหลักๆ ของไพ่ประมาณนี้ เพราะประวัติของมันซับซ้อนกว่านี้มาก ความหมายก็แตกต่างหลากหลายผันแปร ไว้จะเล่าเสริมเมื่อมีโอกาสนะคะ

     ถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้ ดิฉันว่าพวกคุณคงจะสนใจเรื่องการดูดวงบ้างไม่มากก็น้อย หรือไม่ก็อยากรู้จักความหมายของไพ่ทาโรต์ บอกไว้ก่อนนะคะ ว่าคอลัมน์นี้ดิฉันไม่ได้ทำนายดวงเมืองหรือทำนายดวงตามลัคนาราศี ดิฉันมาชวนทุกคนอ่านหน้าไพ่ฉบับต่างๆ ดูความหมายไพ่ และชวนคุยเรื่องประวัติศาสตร์ ตำนาน วรรณกรรม และวัฒนธรรมมากกว่า

     เริ่มจากไพ่ใบแรก ซึ่งเขียนชื่อหราว่า The Fool

     ถ้านำชื่อไพ่ไปเปิดดูความหมายตามพจนานุกรม คุณคงจะเจอความหมายแรกที่แปลว่า ‘คนโง่’ แต่ไพ่ใบนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณโง่เซ่อนะคะ เปล่าเลย ไพ่ใบนี้หมายถึงการพร้อมเริ่มต้นใหม่ การออกไปเผชิญโลกด้วยความคิดบวก หรือการออกเดินทางค้นหาอะไรบางอย่างที่เป็นส่วนตัว

     ถ้าดูภาพตามฉบับ RWS คุณจะเห็นว่า The Fool หรือ ‘คนโง่’ แบกถุงใส่ของบางอย่างมาด้วย ดังนั้นเลข 0 ของ The Fool อาจจะหมายถึงการกู้ขึ้นมาจากสภาวะติดลบก็ได้ การจะออกเดินทางได้ ย่อมแปลว่าคุณต้องเก็บข้าวของใส่กระเป๋ามาแล้วจริงมั้ย ไพ่ใบนี้จึงเป็นเหมือนพื้นฐานของไพ่ทุกใบในไพ่ชุดใหญ่เลยก็ว่าได้ เพราะทุกคนต้องเริ่มจากความไม่รู้ก่อน

     ไพ่ทาโรต์ชุดใหญ่จะมีลักษณะเป็นการเดินทางตามลำดับเลข เราอาจอ่านไพ่ทาโรต์ตามพัฒนาการของมนุษย์ตามแบบคริสต์ ที่เริ่มต้นด้วยความหลงผิด ไม่รู้เรื่องรู้ราว (พุทธคงเรียกว่าอวิชชา) ได้เรียนรู้โลก ได้พบเจอนักบวช ตาย เกิดใหม่ ขึ้นสวรรค์ และจบลงด้วยการอยู่ในอาณาจักรของพระเป็นเจ้า (ไพ่โลก หรือ The World) ก็ได้ แต่หลายๆ ฉบับมักจะพูดตรงกันว่า เส้นทางของไพ่นั้นไม่ได้เป็นเส้นตรง แต่อาจจะเป็นวงกลมมากกว่า 

     อย่างเช่นตำราของ บาร์บารา จี วอล์กเกอร์ (Barbara G. Walker) ที่เชื่อว่าไพ่ทาโรต์มีที่มาจากวัฒนธรรมตะวันออกซึ่งเน้นการเวียนว่ายตายเกิด และมองกาลเวลาเป็นวัฏจักร เราอาจมองว่าจุดจบแห่งความสำเร็จ สมบูรณ์ อิ่มอกอิ่มใจ และสุขสำราญ นำไปสู่ความหลงผิด มืดบอด และทำให้เรากลายเป็นคนโง่อีกครั้งก็ได้ ไพ่คนโง่จึงอาจเป็นการเริ่มที่ศูนย์ หรืออาจหมายถึงสภาวะที่โลกอันยิ่งใหญ่นั้นพังครืนลงมาจนต้องเริ่มใหม่ก็เป็นได้ 

     ความน่าสนใจอย่างหนึ่งที่ไพ่แทบทุกฉบับมีร่วมกันคือ ‘สัตว์’ ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์สองลักษณะหลักๆ คือถ้าไม่เป็นอันตราย ก็จะเป็นเพื่อนคู่ใจของมนุษย์ในไพ่ อย่างไพ่ฉบับ RWS ก็เลือกใช้ภาพสุนัขสีขาวเห่าเตือนไม่ให้คนโง่ตกหน้าผา ซึ่งภายหลังภาพนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆ ฉบับทำตาม แม้อาจจะเปลี่ยนสัตว์ไปบ้าง แต่ทั้งหมดล้วนชี้ให้เห็นว่าสัตว์เหล่านี้เป็นตัวแทนของอันตราย เช่น ไพ่ทาโรต์ฉบับฌ็อง โนเบลต์ แห่งมาร์เซย์ (Jean Noblet Tarot de Marseille) เขาวาดภาพสัตว์ชนิดหนึ่ง ซึ่งใบหน้าคล้ายสุนัขแต่มือเป็นพังผืด (ดิฉันสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการวาดภาพนากในสมัยนั้น) กำลังคว้าอวัยวะเพศของคนโง่จากด้านหลัง หรือไพ่ฉบับธอธ เป็นภาพคนโง่ถูกเสือคว้าต้นขาจากฝั่งขวาของไพ่ ในขณะที่ฝั่งซ้ายมีจระเข้กบดานอยู่ โดยโครวลีย์ ผู้ออกแบบไพ่ธอธกล่าวว่า ในต้นแบบไพ่ฉบับนี้หลายใบเลือกให้เสือเข้ามาตะปบตัวละครคนโง่ในไพ่ 

     ประเด็นนี้ โรเบิร์ต เอ็ม. เพลซ (Robert M. Place) นักประวัติศาสตร์มือสมัครเล่น ผู้สนใจไพ่ทาโรต์ให้ความเห็นว่า การที่ภาพสุนัขถูกแทนที่ด้วยภาพเสือในบางฉบับในศตวรรษที่ 18 และ 19  (เช่น ฉบับกูต์ เดอ เฌเบอแล็ง (Court de Gébelin) หรือฉบับเอตติแอลลา (Ettiella)) เป็นเพราะผู้ออกแบบสมัยนั้นเชื่อว่าไพ่ทาโรต์มาจากชาวยิปซี (ซึ่งปัจจุบัน ชาวยิปซีเรียกตัวเองและขอให้ผู้อื่นเรียกชาติพันธุ์ของตนว่าโรมา (Roma) โดยโรมา หรือโรมานิ เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งสันนิษฐานกันในภายหลังว่ามาจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย) และเชื่อว่าคนยิปซีมาจากอียิปต์ (ปัจจุบัน สันนิษฐานว่ามาจากอินเดีย) ด้วยความคิดนี้เอง ผู้ออกแบบจึงเปลี่ยนสุนัขให้เป็นเสือ เพราะเข้าใจว่าเสือน่าจะเป็นสัตว์ที่แพร่หลายในอียิปต์มากกว่าสุนัข แต่หากผู้อ่านพอจะมีความรู้ด้านชีววิทยาบ้าง ก็จะพอทราบว่าความเข้าใจนี้ผิดอีกเช่นกัน เพราะเสือไม่ใช่สัตว์ท้องถิ่นของอียิปต์เลย 

     อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสัตว์ชนิดนั้นจะเป็นสัตว์อะไร ไพ่ทาโรต์ใบนี้ก็ชี้ให้เห็นจุดเริ่มต้นของอารยธรรมมนุษย์ ที่อาจจะยังไม่เก่งกาจฉกาจฉกรรจ์ จนได้สัตว์มาเป็นเพื่อนบ้าง เป็นครูบ้าง เป็นศัตรูบ้าง 

     การเรียนการสอนเรื่องจุดกำเนิดของอารยธรรมมนุษย์มักกล่าวว่า มนุษย์พัฒนาขึ้นได้ด้วยการฝึกสุนัขให้เชื่อง เพื่อช่วยให้ล่าสัตว์ แต่นักคิดผู้สนใจสัตว์และวัฒนธรรมหลายท่านได้เสนอความเห็นว่า เราอาจต้องมองความสัมพันธ์ของคนกับธรรมชาติใหม่ อารยธรรมมนุษย์อาจเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือของมนุษย์กับธรรมชาติ สุนัขอาจเริ่มหากินจากซากสัตว์ที่มนุษย์ทิ้งไว้ จากนั้นถึงได้ร่วมมือกับมนุษย์เพราะต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ร่วมกัน การมองว่ามนุษย์เป็นฝ่ายฝึกสัตว์เป็นการตอกย้ำคู่ตรงข้ามมนุษย์และธรรมชาติ หรือวัฒนธรรมและธรรมชาติ ซึ่งมักเน้นย้ำว่าฝ่ายมนุษย์คือผู้เหนือกว่า ภาพสุนัขที่เห่าหรือยืนอยู่ข้างๆ คนโง่จึงเป็นการย้ำเตือนบทบาทของสัตว์ที่ผูกพันกับมนุษย์ และช่วยสร้างอารยธรรมมนุษย์ขึ้นมา 

     แต่กระนั้นความเกี่ยวพันของมนุษย์และธรรมชาติในไพ่ฉบับนี้ไม่ได้มีแต่เป็นคุณดังกล่าวไปแล้ว เพราะไพ่ใบนี้กำลังเล่าเรื่องความพัวพันในแบบที่ธรรมชาติเป็นมิตรสหายข้ามสายพันธุ์ ช่วยหล่อหลอมและสร้างมนุษย์ขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นคุณ หรือเป็นโทษก็ตาม 

     ไพ่คนโง่บางฉบับพยายามเน้นย้ำสภาวะนี้โดยใช้เทพเจ้าหรือสิ่งมีชีวิตในตำนานเป็นตัวแทนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่ไม่ควรถูกลืมเลือนไป สำหรับไพ่ฉบับธอธนั้น แม้โครวลีย์จะหยิบยกมาหลายตำนาน แต่สองตำนานที่โครวลีย์สามารถเชื่อมโยงกับไพ่ฉบับอื่นๆ ในภายหลังได้คือตำนานเทพไดโอไนซัส (Dionysus) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่น งานรื่นเริง ความบ้าคลั่ง และการละคร โครว์ลีย์ลอกภาพเสือมาจากไพ่ทาโรต์ฉบับเก่าๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว ซึ่งเสือในภาพนั้นเชื่อมโยงกับตัวละครคนโง่ในบทของเทพไดโอไนซัส เพราะเสือมักเป็นสัตว์พาหนะของเทพองค์นี้  

     ไพ่ทาโรต์ฉบับเทพปกรณัม (The Mythic Tarot) ของ จูเลียต ชาร์แมน-เบิร์ก (Juliet Sharman-Burke) ลิซ กรีน (Liz Greene) และ โจวันนี คาเซลลี (Giovanni Caselli) ก็เลือกใช้เทพไดโอไนซัสเป็นตัวแทนของไพ่คนโง่ โดยให้ไดโอไนซัสยืนอยู่ปากเหว และมีนกอินทรีคอยเฝ้าดูอยู่ห่างๆ แทนเสือและสุนัข ซึ่งนกอินทรีเปรียบเสมือนตัวแทนของซูส (Zeus) พ่อของไดโอไนซัส 

     เหตุที่เทพไดโอไนซัสถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนของทั้งคนโง่ โลก และธรรมชาติ เป็นเพราะการออกเดินขบวนของเทพไดโอไนซัสเป็นไปเพื่อแสดงอำนาจของความป่าเถื่อน คลุ้มคลั่ง และอาจมองได้ว่าเป็นการปลดแอกผู้ถูกกดขี่ด้วย เนื่องจากเทพไดโอไนซัสเป็นเทพแห่งเหล้าองุ่น เขาจึงถือเป็นตัวแทนของเทพการเกษตรที่ไม่ได้เน้นย้ำเหตุผลหรือการเอาชนะของมนุษย์ แต่กลับเปิดเผยสันดานดิบ หรือสิ่งที่มนุษย์ไม่ปรารถนาจะให้ตัวเองเป็น นั่นคือสภาวะไร้เหตุผล เมามาย ป่าเถื่อน 

     นอกจากนี้ ขบวนสัตว์ของเทพไดโอไนซัสยังเต็มไปด้วยขบวนสัตว์ดุร้าย เช่น เสือ งู และวัวกระทิง หญิงสาวกก็ต้องห่มหนังสัตว์ ร้องรำทำเพลง เมามายไร้ระเบียบ ตัวเทพไดโอไนซัสก็ท้าระเบียบหลายข้อ รวมทั้งลักษณะภายนอกที่ดูกึ่งหญิงกึ่งชายจนมีสมญาว่า ‘ไดโอไนซัส ซูดานอร์ (Dionysus Pseudanor)’ หรือ ‘เทพไดโอไนซัส บุรุษปลอม’ 

     อย่างไรก็ดี คำว่า –anor- ในรากศัพท์ตรงนี้หมายถึงมนุษย์ได้ด้วย (เป็นศัพท์ร่วมสมัยกับคำว่า ‘นร’ ที่แปลว่ามนุษย์) เพราะฉะนั้น เทพไดโอไนซัสจึงเป็นการตั้งคำถามทั้งเพศสถานะและการเป็นมนุษย์ อีกทั้งความไร้ระเบียบนี้ยังสอดคล้องกับการตีความไพ่คนโง่ว่าเป็นบรรพบุรุษของไพ่ตัวตลก (Joker) และสอดคล้องกับการวาดภาพให้ไพ่คนโง่มองดูคล้ายนักแสดงที่กำลังเดินทางเร่ร่อน ไม่มีทิศทางชัดเจน 

     ขบวนแห่ของเทพไดโอไนซัสและสาวกอาจจะไม่ต่างจากความหมายของไพ่คนโง่ไร้เหตุผล แต่ความโง่ที่ไร้กรอบระเบียบและเหตุผลนั้นอาจนำไปสู่หนทางใหม่ๆ ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เป็นได้ แถมยังเป็นพื้นที่ให้สาวกหญิงได้ปลดแอกจากกฎระเบียบของสังคมที่กดขี่เธอได้ด้วย แต่เทพไดโอไนซัสนั้นไม่ได้ถูกนำเสนอว่าเป็นตัวแทนของการปลดแอกที่สวยงาม เพราะชีวิตของเทพไดโอไนซัสนั้นเผชิญเคราะห์กรรมมากมาย ตั้งแต่เกิดร่างกายก็แตกเป็นเสี่ยงๆ จนต้องมีเทพนำไปชุบเลี้ยงให้เกิดใหม่อีกครั้ง ถูกโจรสลับจับตัวเพราะคิดว่าเป็นเจ้าชายผู้ร่ำรวย แถมยังถูกญาติพี่น้องที่เป็นมนุษย์ดูถูกดูแคลนอีก 

     กล่าวโดยสรุปได้ว่า เทพไดโอไนซัสเป็นตัวแทนของการเริ่มต้นของอารยธรรมมนุษย์ ณ ช่วงเวลาที่ยังพัวพันกับธรรมชาติ ท้าทายกฎระเบียบและปลดแอก แต่ก็ผสมผสานกับธรรมชาติที่มีทั้งดีเลว ต้องพบเจอกับสังคมที่ไม่ยอมรับ แต่ก็ยังยืนหยัดในหนทางของตนเอง โครวลีย์ ผู้ออกแบบไพ่ธอธ เคยอธิบายว่าความบ้าคลั่งอาจเป็นความฉลาดอย่างหนึ่ง หรือคนอาจเข้าใจด้วยซ้ำว่าความบ้าคลั่งเป็นเหมือนพลังของเทพเจ้า 

     ภาพของการกำเนิดอันแปลกประหลาดและดูไม่สวยงามของเทพไดโอไนซัสชวนให้ดิฉันนึกถึงประติมากรรมโบราณปริศนาสองชิ้นในโบสถ์คริสต์ ซึ่งกลายเป็นแบบให้ไพ่คนโง่สองฉบับ 

     ประติมากรรมแรกเรียกว่ามนุษย์เขียว (Green Man) มีลักษณะเป็นใบหน้าผู้ชายมีใบไม้ล้อมรอบ โดยมนุษย์เขียวเป็นคำที่สร้างขึ้นโดย เลดี แรกแลน (Lady Raglan) ใน ค.ศ. 1930 เธอเชื่อว่าประติมากรรมนี้เป็นการผสมผสานการบูชาต้นไม้ช่วงก่อนที่ศาสนาคริสต์จะเข้ามาในยุโรปและเป็นส่วนหนึ่งของโบสถ์ ซึ่งมนุษย์เขียวเป็นตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่กลับมาในฤดูใบไม้ผลิ ประเพณีนี้สัมพันธ์กับประเพณีแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่ยังเฉลิมฉลองอยู่ในยุโรป และเชื่อกันว่าฉลองมาตั้งแต่โบราณ นักแสดงชายหนึ่งคนจะนุ่งห่มใบไม้หรือหนังสัตว์เพื่อเต้นระบำฉลองฤดูใบไม้ผลิ มีชื่อเรียกต่างๆ กันไป เช่น แจ๊ก โอ’กรีน (Jack O’Green) เบอร์รีแมน (Burry Man) หรือคนป่า (Wild Men) เป็นต้น เนื่องจากประเพณีนี้จัดขึ้นไม่ห่างจากเทศกาลอีสเตอร์มากนัก ทำให้มองว่าการฉลองการตายแล้วเกิดใหม่ของพระเยซูในเทศกาลอีสเตอร์นั้นก็น่าจะมาจากธรรมเนียมนี้เช่นกัน ซึ่งมนุษย์เขียวกลายเป็นไพ่คนโง่ในฉบับแม่มดเขียว (Green Witch Tarot) ของ แอนน์ เมารา (Ann Moura) ด้วย

     ประติมากรรมแบบที่สองเรียกว่าชีลา นา กิก (Sheela Na Gig) มักเป็นรูปหญิงเปลือย ถ่างขา ใช้มือแหวกโยนี ชีลา นา กิกตั้งชื่อตามภาษาไอริช เพราะพบมากในไอร์แลนด์ ชีลาเป็นชื่อภาษาไอริชของชื่อเซซิลล์ (Cecille) ซึ่งเป็นชื่อผู้หญิง ส่วนกิกแปลว่าโยนี ดร. บาร์บารา ไฟรทาก (Dr. Barbara Freitag) สันนิษฐานว่า ชีลา นา กิกน่าจะเป็นภาพที่ปั้นในโบสถ์เพื่อเป็นเคล็ดให้ผู้หญิงมาบูชาเพื่อให้คลอดลูกง่าย และไม่ให้ปีศาจร้ายมาปลิดชีวิตเด็กแรกเกิด ในขณะที่ จอร์เจีย โรดส์ (Georgia Rhoades) นักวิชาการด้านสตรีศึกษาและเพศวิถีศึกษา เสนอว่าชีลา นา กิกเป็นเทวรูปของมหาเทวีโบราณ ผู้ให้กำเนิดมนุษย์จากโยนี และทำลายมนุษย์โดยพากลับเข้าไปในโยนี เจ้าสาวจะต้องสัมผัสชีลา นา กิก เพื่อให้มีชีวิตแต่งงานที่ราบรื่น ความเชื่อว่าพลังการให้กำเนิดของผู้หญิงเป็นพลังศักดิ์สิทธิ์นี้ยังสัมพันธ์กับความเชื่อว่าโยนีเอาชนะมารร้ายได้อีกด้วย ชีลา นา กิกกลายเป็นไพ่คนโง่ในไพ่ทาโรต์ฉบับเทพีแห่งความมืด (Dark Goddess Tarot) ออกแบบโดย เอลเลน ลอเรนซี-พรินซ์ (Ellen Lorenzi-Prince) ซึ่งรวมเทพีในตำนานทั่วโลกเพื่ออธิบายความหมายต่างๆ ของไพ่ทาโรต์

     จอห์น ฮาร์ดิง (John Harding) เจ้าของเว็บไซต์ sheelanagig.org ที่รวมเอาภาพชีลา นา กิกจากทุกที่ในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ไว้นั้น เสนอว่า ชีลา นา กิกน่าจะเป็นคำเตือนเรื่องตัณหาราคะ (lust) หลังเขาพบชีลา นา กิกในพื้นที่ของนักบวช ซึ่งตัณหาราคะอาจเป็นความหมายหนึ่งของไพ่คนโง่ได้เช่นกัน เพราะความปรารถนานั้นไร้ทิศทาง และหลายๆ ครั้งก็ทำให้เราท้าทายกรอบระเบียบของสังคม และทำให้เราดูเหมือนคนโง่คนบ้าได้ หากมองในมุมของพลังสตรีและศาสนา การปรากฏตัวของชีลา นา กิกนั้นเน้นย้ำว่าเรือนกายและตัวตนของมนุษย์มีความสำคัญพอๆ กับเหตุผลและหลักการ เพราะโลกภายนอกไม่ได้ขับเคลื่อนได้ด้วยเหตุผลและศีลธรรมแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ประกอบด้วยอารมณ์ทางเพศและเรือนกายที่มนุษย์ปฏิเสธไม่ได้ด้วย ย่างก้าวของไพ่คนโง่ก็อาจจะเป็นเช่นนั้น

     ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนเกี่ยวกับความหมายของมนุษย์เขียวและชีลานากิก ธรรมเนียมมนุษย์เขียวที่บอกว่าปฏิบัติกันมานานนั้น ก็พบหลักฐานตัวเขียนไม่ไกลไปกว่าศตวรรษที่ 18 เลย อย่างไรเสีย นักคิดหลายคนก็มองเห็นร่วมกันว่าทั้งสองภาพนำเสนอเรื่องของการเกิดหรือการเริ่มต้น

     หากมองในมุมมองวรรณกรรม ตัวละครคนโง่คือพื้นฐานของตัวละครทุกตัว  เมื่อเริ่มแรกเราทุกคนย่อมผิดพลาดได้เป็นธรรมดา เรื่องราวเช่นนี้พบเจอทั่วไปในวรรณกรรมแทบทุกชนชาติ นวนิยายที่เริ่มต้นด้วยความผิดพลาดของตัวเอกและจบลงด้วยการเรียนรู้นั้น มีชื่อเฉพาะในทางวรรณกรรมศึกษาของโลกตะวันตกว่า นวนิยายบิลดุงซโรมัน (Bildungsroman) หรือวรรณกรรมแห่งการเติบโต (Coming-of-age fiction) 

     บิลดุงซโรมันเป็นภาษาเยอรมัน หมายถึง นวนิยายว่าด้วยการเรียนรู้ หรือนวนิยายว่าด้วยการก่อตัว (novel of formation) นวนิยายเหล่านี้มักมีตัวเอกเป็นเด็กหรือวัยรุ่นพบเจอประเด็นปัญหาบางอย่างในสังคมเพื่อเรียนรู้และเติบโตด้วยทัศนคติใหม่ๆ จนกลายเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ในอนาคต ไพ่ทาโรต์เทวะ (Tarot of the Divine) ของ โยชิ โยชิตานิ (Yoshi Yoshitani) ที่โดดเด่นด้านการใช้ภาพจากนิทานและตำนานต่างๆ ทั่วโลกจึงเลือกใช้ภาพนางเงือกน้อยจากนิทานเรื่อง นางเงือกน้อย (The Little Mermaid) ของ ฮานส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน (Hans Christian Andersen) มานำเสนอไพ่คนโง่ เพราะในตอนจบตามนิทานต้นฉบับ นางเงือกน้อยไม่ยอมทำร้ายเจ้าชายเพื่อให้ตนกลับไปเป็นเงือก ด้วยจิตใจอันงดงามนี้ นางเงือกน้อยจึงกลายเป็นภูตที่มีจิตวิญญาณ เมื่อหมดอายุขัยจะได้ขึ้นสวรรค์ (ตามความเชื่อแบบคริสเตียนที่เชื่อว่ามนุษย์เท่านั้นที่มีจิตวิญญาณ) 

     อย่างไรก็ดี นวนิยายประเภทนี้มักเล่าเรื่องการหล่อหลอมให้ตัวละครเอกเข้าสู่สังคมตามขนบ เติบโตเพื่อจะเป็นนายทุน เติบโตเพื่อจะเป็นชาวคริสต์ที่ดี เติบโตเพื่อจะเป็นเมียและแม่ที่ดี ทำให้เกิดวรรณกรรมต่อต้านบิลดุงซโรมัน (Anti-bildungsroman) ซึ่งมักจบลงด้วยการไม่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ตามขนบ หรืออาจจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่เพียงแต่ตัว

     นวนิยายเรื่อง Maurice ของ อี. เอ็ม. ฟอร์สเตอร์ (E. M. Forster) อาจเป็นตัวอย่างที่ดี นวนิยายเรื่องนี้เล่าเรื่องเด็กหนุ่มที่ค้นพบว่าตัวเองเป็นชายรักชายแต่ไม่กล้าเปิดเผยกับสังคมอังกฤษ เพราะในอดีตมีบทลงโทษกลุ่มชายรักชาย ในขณะที่สังคมขีดเส้นไว้ให้เขาต้องเรียนจบมหาวิทยาลัยดัง แต่งงานกับผู้หญิง และทิ้งความสัมพันธ์แบบชายรักชายไว้เป็นเพียงหน้าหนึ่งของชีวิตมหาวิทยาลัยเท่านั้น เขากลับเลือกจะยอมรับเพศวิถีของตนเองและเดินหนีออกจากสังคมตามขนบ ไปใช้ชีวิตในป่าตามลำพังกับคู่รักของเขาทั้งๆ ที่มองไม่เห็นอนาคต 

     การต่อต้านขนบวรรณกรรมแห่งการเติบโตนี้ชวนให้ดิฉันนึกถึงไพ่คนโง่อีกหนึ่งฉบับ คือไพ่ทาโรต์ฉบับหมอสมุนไพร (Herbcrafter’s Tarot) ของ โจแอนนา เพาเวลล์ โคลเบิร์ต (Joanna Powell Colbert) และ ลาติชา กัททรี (Latisha Guthrie) ที่เลือกใช้ภาพต้นแดนดีไลออน (Dandelion) ซึ่งปลิวกระจายไปตามสายลมเป็นตัวแทนของไพ่คนโง่ ชวนให้นึกว่าธรรมชาติไม่ได้มีระเบียบอะไรชัดเจนให้แก่ชีวิตขนาดนั้น ทุกเมล็ดอาจไม่ได้เติบโต บางเมล็ดอาจเติบโตในที่แปลกๆ สังคมอาจขีดเส้นให้ชีวิตทุกคนมีเส้นเรื่องคล้ายๆ กัน แต่ใช่ว่าทุกคนจะได้เดินตามนั้น หรือต้องการจะเดินตามนั้น สังคมที่โหดร้าย คือสังคมที่สร้างหน้าผาไว้มากมาย เพื่อให้คนเดินตามทางที่กำหนดไม่กี่เส้นทางเท่านั้น 

     ไพ่คนโง่ไม่ใช่ไพ่ที่น่ากลัวหรอกค่ะ แต่เป็นไพ่ที่ชวนให้เราตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัว สังคมที่กำหนดเส้นทางของชีวิต และชวนให้เราลองออกแบบชีวิตของตัวเองด้วย 

     หากคุณขอคำแนะนำแล้วไพ่คนโง่ปรากฏขึ้น นั่นอาจหมายความว่า คุณอาจต้องลองคิดนอกกรอบดูบ้าง หรือลองผิดลองถูกบ้าง เพราะใช่ว่าทุกช่วงชีวิตของเรา จะประสบความสำเร็จหรือแข็งแกร่งได้ตลอดเวลา และใช่ว่าการประสบความสำเร็จจะต้องหมายถึงการเดินตามทางที่ขีดไว้เท่านั้น

     โอบกอดความโง่และความบ้าบ้างก็ดีนะคะ