1 : FAKE IT UNTIL YOU MAKE IT
คอลัมน์อธิบายความหมายที่ซ่อนอยู่ในไพ่ทาโรต์แต่ละใบ เจาะลึกประวัติศาสตร์ รวมถึงการเชื่อมโยงสัญลักษณ์และความหมายของไพ่ในฉบับต่างๆ กับเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
เรื่อง: มิ่ง ปัญหา
ภาพ: ms.midsummer
ถ้ามองด้วยแนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์ คำว่า ‘Magician’ หรือนักมายากลที่เรารู้จักในปัจจุบัน คือคนที่ใช้อุปกรณ์และกลวิธีต่างๆ เพื่อทำให้ดูเหมือนว่ามีเวทมนตร์ แต่ในช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 15 คำนี้สื่อถึงเหล่าพ่อมดแม่มดจริงๆ
สิ่งที่ขัดแย้งในประวัติศาสตร์ของคำนี้คือ สรุปแล้วเวทมนตร์มีจริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงกลหลอกตา นอกจากนี้ไพ่ทาโรต์ฉบับนี้ยังมีที่มากำกวม เพราะเชื่อมโยงกับเทพเจ้าและเวทมนตร์คาถาโบราณ (จะกล่าวต่อไปในภายหลัง) ดิฉันจึงขอเรียกไพ่ใบนี้ว่า ‘ไพ่ผู้วิเศษ’ นะคะ
ความหมายโดยทั่วไปของไพ่ผู้วิเศษคือการมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อให้ประสบความสำเร็จ การใช้ความรู้หรือทุนที่มีเพื่อนำไปสู่จุดหมายที่หวังตั้งใจ การตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างเพื่อประสบความสำเร็จ รู้แค่สิ่งที่ต้องใช้ก็พอ
ภาพลักษณ์ของไพ่ผู้วิเศษมักเน้นย้ำความสำเร็จในโลกวัตถุ ที่เกิดจากทั้งความเชื่อมั่นในตัวเอง รวมถึงการเปิดรับพลังและความรู้จากภายนอก นอกจากนี้ไพ่ยังแนะนำให้มุ่งมั่นตามเป้าหมาย อาจกล่าวได้ว่าไพ่กำลังบอกให้เรามองเห็นว่าตัวเราเป็นใคร และต้องทำให้สิ่งนั้นเป็นจริงขึ้นมา
ไพ่ทาโรต์ฉบับวิสกอนติ-สฟอร์ซา (Visconti-Sforza Tarot) จากประเทศอิตาลีถือเป็นไพ่ที่เก่าที่สุดในโลกตะวันตก โดยไพ่ผู้วิเศษในฉบับนี้เป็นภาพชายคนหนึ่งสวมเสื้อคลุมแดงและหมวกเต็มยศ บนโต๊ะมีอาหารมากมาย เกอทรูด โมคลีย์ (Gertrude Moakley) นักเขียนและบรรณารักษ์ ให้ความเห็นว่านี่คือการนำเสนอภาพราชันแห่งงานคาร์นิวอล (Carnival) ที่เรียกกันว่า อิล บากาติโน (Il Bagatino) ผู้มีสิทธิออกคำสั่งต่างๆ ในเทศกาลคาร์นิวอล เดิมทีเทศกาลดังกล่าวคือการเฉลิมฉลองสัปดาห์สุดท้ายก่อนเข้าพิธีถือศีลอดแบบคริสต์ (Lent) ดังนั้นสัปดาห์คาร์นิวอลจึงเป็นช่วงเวลาแห่งความสนุกสุดเหวี่ยง กฎเกณฑ์ต่างๆ ล้วนถูกท้าทาย
ในไพ่ผู้วิเศษฉบับวิสกอนติ-สฟอร์ซา เราจะเห็นราชันแห่งงานคาร์นิวอลกำลังถือไม้เท้าที่แสดงถึงอำนาจของผู้จัดงานฉลอง แต่ในขณะเดียวกันก็กำลังนั่งเศร้าสร้อยต่อหน้าอาหารมื้อสุดท้าย โมคลีย์ตีความว่า นี่คือภาพวันสุดท้ายของเทศกาลคาร์นิวอลที่ทุกคนเตรียมจะถือศีล ราชันแห่งงานฉลองจึงต้องเตรียมตัวถูกประหารในพิธีกรรม แต่ไม่ต้องตกใจไปนะคะ ราชันแห่งงานคาร์นิวัลไม่ใช่คนค่ะ เป็นเพียงหุ่นในขบวนแห่เท่านั้น อย่างไรก็ดี ปีเตอร์ วอลช์ (Peter Walsh) เสริมว่าธรรมเนียมการตั้งราชันแห่งคาร์นิวอลให้เป็นคนนั้นเกิดขึ้นในนิวออร์ลีนส์ (New Orleans) ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นานนี้เอง
ฟังดูอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับความหมายของไพ่ในปัจจุบันเท่าไรนัก แต่อย่างน้อยไพ่ใบนี้ก็แสดงอำนาจชั่วคราวในการจัดการสิ่งต่างๆ หรือช่วงเวลาสั้นๆ ที่จะได้สนุกกับโลกเพื่อพัฒนาตัวเอง ถึงแม้ว่าเมื่อเทศกาลคาร์นิวอลจบลง ทุกคนต้องเดินตามกฎเกณฑ์ของพระศาสนา แต่ไพ่ผู้วิเศษก็เน้นให้เราได้รู้จักความสามารถของตัวเองโดยอิสระ มากกว่าจะเตือนถึงกฎเกณฑ์ที่รออยู่ในอนาคต
ในยุคต่อมา ไพ่ใบนี้ในฉบับอื่นๆ เช่น ไพ่ฉบับมาร์เซยย์ (Marseille) ถูกนำเสนอออกมาเป็นภาพที่บนโต๊ะมีอุปกรณ์ใช้แสดงมายากลและเล่นพนันต่างๆ เช่น ลูกเต๋า หรือฝาหอย โรเบิร์ต เอ็ม. เพลซ (Robert M. Place) นักเขียนชาวอเมริกัน เสนอว่าในยุคกลางและยุคเรเนสซองส์นั้น ลูกเต๋าสามารถใช้พยากรณ์ได้ เนื่องจากลูกเต๋าสองลูกสามารถทอยออกมาแล้วแสดงผลได้ 21 ลักษณะ หน้าลูกเต๋าจึงอาจสัมพันธ์กับไพ่ทาโรต์หมายเลข 1-21 (ไม่นับไพ่คนโง่ซึ่งเป็นไพ่หมายเลข 0) คำพยากรณ์ในบริบททีเล่นทีจริง (เพราะเขาเป็นหมอดูผสมกับหมอขายยาปาหี่) ทำให้ไพ่ทาโรต์ฉบับเอต์แตลลา อา เฌอ เดอ ลา แพรงแซส (Etteilla a Jeu de la Princesse) จากประเทศฝรั่งเศสเรียกไพ่ใบนี้ว่า ศาสดาพยากรณ์ลวงโลก (Le Faux Devin)
ส่วนไพ่ทาโรต์ฉบับเวท-สมิธ (Waite-Smith) หรือไรเดอร์-เวท-สมิธ (Rider-Waite-Smith) มาจากการรื้อฟื้นเวทมนตร์โบราณในสมาคมไสยเวทต่างๆ ในอังกฤษ ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ภาพนักแสดงปาหี่จึงกลายเป็นภาพพ่อมด ผู้เรียนรู้วิธีควบคุมธาตุต่างๆ เพื่อสื่อถึงเส้นทางชีวิตของผู้ฝึกฝนไสยเวท องค์ประกอบของอุปกรณ์เล่นกลบนโต๊ะได้กลายเป็นสัญลักษณ์ธาตุทั้งสี่ในสำรับ อันได้แก่เหรียญแทนดิน ถ้วยแทนน้ำ ดาบแทนลม และไม้เท้าแทนไฟ การเล่นกลกลายเป็นการเชื่อมโยงและจัดการธาตุทั้งสี่แทน
ด้วยความที่เด่นด้านเล่ห์กลและการแสดงทำให้ไพ่ทาโรต์หลายๆ ฉบับเชื่อมโยงไพ่ผู้วิเศษกับเทพเฮอร์มีส (Hermes) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการสื่อสาร ค้าขาย เล่ห์กล และเป็นผู้พาดวงวิญญาณไปยังยมโลก เหตุผลก็เพราะตามตำนานกรีก เทพเฮอร์มีสเคยขโมยวัวของเทพอะพอลโล จนต้องประดิษฐ์พิณวิเศษมาใช้คืน นอกจากนี้ยังแปลงร่างได้สารพัด และเป็นบรรพบุรุษของโอดิสเซียส (Odysseus) นักรบกรีกเจ้าของแผนสร้างม้าไม้ที่บรรจุทหารกรีกไว้ข้างในเพื่อหลอกเมืองทรอยและเอาชนะเมืองทรอยได้สำเร็จอีกด้วย ซึ่งในฉบับโรมัน เทพองค์นี้มีชื่อว่าเทพเมอร์คิวรี (Mercury) หรือดาวพุธซึ่งเป็นดาวประจำไพ่ใบนี้ด้วย
ขณะที่ไพ่ทาโรต์ฉบับธอธ (Thoth) ซึ่งเรียกไพ่ใบนี้ว่า ผู้ทรงเวทย์ (The Magus) แสดงภาพเทพเฮอร์มีสสวมรองเท้าติดปีกเหมือนในตำนาน มีสัญลักษณ์ธาตุล่องลอยอยู่โดยรอบ โดยศิราภรณ์ของเทพเฮอร์มีสมีลักษณะคล้ายศิราภรณ์ของเทพอียิปต์ เพราะตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ เทพเฮอร์มีสมักถูกเทียบกับเทพธอธ (Thoth) เทพเจ้าผู้ประดิษฐ์ตัวเขียนในตำนานอียิปต์โบราณ (ต่อมาได้กลายเป็นชื่อฉบับไพ่ทาโรต์ของโครว์ลีย์ด้วย)
ในศตวรรษที่ 15 มาร์ซิลิโอ ฟิชิโน (Marsilio Ficino) นักปราชญ์อิตาเลียน แปลข้อเขียนลึกลับยุคอาณาจักรไบแซนไทน์ (Byzantine) จากภาษากรีกเป็นภาษาละติน ข้อเขียนนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาละตินว่า กอรปุส เฮรเมติกุม (Corpus Hermeticum) ซึ่งเชื่อว่าเป็นความรู้ลึกลับเกี่ยวกับจักรวาลสืบทอดมาจากอียิปต์ โดยนักเขียนลึกลับชื่อ เฮอร์มีส ทริสเมกิสทัส (Hermes Trismegistus) หรือแปลว่า เฮอร์มีส ผู้ยิ่งใหญ่เป็นสามเท่า บ้างก็ว่าเขาสืบเชื้อสายมาจากโพรมีเธียส (Prometheus) เทพไททัน (Titan) จากตำนานกรีก ผู้สร้างมนุษย์และนำไฟลงมาจากสวรรค์ให้มนุษย์สร้างอารยธรรม บ้างก็ว่าเป็นการหลอมรวมของเทพเฮอร์มีสและเทพธอธเข้าด้วยกัน
โครวลีย์เสนอไว้อย่างน่าสนใจว่า แม้เทพธอธและเทพเฮอร์มีสจะเป็นเทพแห่งการสื่อสารและเป็นผู้นำสารของทวยเทพมามอบให้แก่มวลมนุษย์ทั้งคู่ แต่เทพธอธและเทพเฮอร์มีสต่างเป็นเทพผู้มีเล่ห์เหลี่ยมไหวพริบ ภาษาจึงไม่ใช่เครื่องมือสื่อสารที่ตรงไปตรงมา หากแต่ยังแฝงนัยความหมายอื่นๆ เอาไว้ ซึ่งบางครั้งอาจเป็นความหมายตรงกันข้ามด้วยซ้ำ จึงอาจกล่าวได้ว่าภาษาไม่ใช่ที่มาของความจริงสูงสุดอีกต่อไป
ในตำนานอียิปต์โบราณ เทพรา (Ra) องค์สุริยะเทพ สาปไม่ให้เทพีนุท (Nut) เทพีแห่งฟากฟ้า มีลูกได้ (คาดว่าน่าจะเป็นเพราะเทพราไม่อยากให้ใครมาแย่งบัลลังก์ของตน) เทพีนุทจึงไปขอความช่วยเหลือจากเทพธอธผู้เป็นอาลักษณ์และเลขานุการของเทพรา เทพธอธจึงไปท้าพนันกับเทพคอนซู (Khonsu) เทพแห่งพระจันทร์ เดิมพันกันว่า หากเทพคอนชูแพ้ เทพคอนชูจะต้องยกแสง 1 ใน 72 ส่วนให้กับตน ท้ายที่สุดแล้วเทพคอนซูก็แพ้พนัน เทพธอธจึงนำแสงจันทร์ที่ได้มาไปเพิ่มวัน จากเดิมที่หนึ่งปีมีเพียง 360 วัน ออกมาได้อีก 5 วัน และยก 5 วันนี้ให้กับเทพีนุท เพื่อให้กำเนิดเทพโอซิริส (Osiris) เทพเซท (Seth) เทพีไอซิส (Isis) และเทพีเนพทิส (Nephthys) (ที่ทำได้เพราะ 5 วันนี้ไม่ใช่วันในปฏิทินเดิมที่เทพราเคยสาปไว้)
ในตำราประกอบไพ่ธอธ โครวลีย์อ้างถึงลิงสองตัว ตัวหนึ่งคือหนุมาน อีกตัวคือลิงบาบูน (ในไพ่ดูจะเป็นลิงบาบูนมากกว่า) โดยตำราของโครวลีย์ได้รับอิทธิพลการเหยียดวัฒนธรรมเอเชียอย่างชัดเจน เพราะแม้หนุมานจะเป็นเทพที่มีคุณสมบัติเดียวกับเฮอร์มีสหรือธอธ แต่ลัทธิบูชาหนุมานนั้นไม่มีแง่มุมที่สูงส่งในเชิงปรัชญาและจิตวิญญาณเหมือนเทพเฮอร์มีส มีเพียงพิธีกรรมส่งผู้หญิงในแต่ละเผ่าเข้าป่าเพื่อ ‘ผลิต’ อวตารชั่วคราวของเทพหนุมาน โครวลีย์จึงเรียกหนุมานว่า ‘Ape of Thoth’ หรือลิงของธอธ ซึ่งปกติ Ape ที่หมายถึงลิงขนสั้นไม่มีหางนั้น จะใช้เป็นคำกริยาแปลว่าเลียนแบบก็ได้ เพราะฉะนั้นหนุมานจึงเป็นร่างปลอมๆ ของเทพธอธ นอกจากนี้ ภาพลิงยังเป็นตัวแทน “การบิดเบือนพระวจนะของเทพเจ้า อีกทั้งยังล้อเลียน ลอกเลียน และหลอกลวง” (to distort the Word of the god; to mock, to simulate, and to deceive) อีกด้วย
ทั้งนี้ โครวลีย์กลับพูดเองว่า เทพธอธนั้นก็อาจเป็นตัวแทนของความกำกวมหรือเรื่องลวงได้เช่นกัน และพูดถึงเทพเฮอร์มีสในลักษณะเดียวกัน (คนยุโรปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 รวมทั้งโครวลีย์เอง เชื่อว่าอียิปต์เป็นอู่อารยธรรมของชาวยุโรปเช่นเดียวกับกรีก ดังนั้น แม้อียิปต์จะถูกเหมารวมว่าเป็นอื่น แตกต่างแปลกแยก แต่ก็จะไม่ถูกโจมตีในกรณีนี้)
แม้ตำราไพ่ฉบับนี้จะเหยียดชาติพันธุ์อื่นอย่างเห็นได้ชัด แต่ในเมื่อไพ่ผู้วิเศษฉบับนี้เน้นความตระหนักรู้ตัวตนของตัวเองและการเปิดรับพลังความสามารถของตนเองไปพร้อมๆ กับความบิดพลิ้วของความจริง หรือแม้แต่วจนะของพระผู้เป็นเจ้า ตัวละครอย่างเฮอร์มีสหรือธอธก็สามารถแปลงร่างและใช้เล่ห์เหลี่ยมดัดแปลงภาษาได้
คำถามคือคุณแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่คุณเห็นในหน้าไพ่ ไม่ใช่พญาวานร (ไม่ว่าจะหนุมานหรือลิงของธอธก็ตาม ว่ากันตามประวัติศาสตร์และเทวตำนานไอ สัญลักษณ์หนึ่งของธอธคือลิงบาบูน) โครวลีย์บอกกับเราเองว่า หน้าไพ่ใบนี้เป็นเพียงการจำลองการนำเสนอภาพพระวจนะของพระเป็นเจ้าเท่านั้น เพราะภาษาและความหมายนั้นไม่อาจทำให้ตายตัวได้ ไหลเลื่อนไปได้เรื่อยๆ เหมือนกับเทพเฮอร์มีสที่เคลื่อนที่เร็วด้วยรองเท้าติดปีก ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เราจะมั่นใจได้ยังไงว่าพญาวานรไม่ได้แทนที่เทพเจ้าด้านหน้าไปแล้ว
แนวคิดการเหยียดชาติพันธุ์และลดทอนคุณค่าของสัตว์ในไพ่ใบนี้กำลังทำงานด้วยความหวาดกลัว ภาพของลิงมักถูกใช้นำเสนอถึงชาติที่ป่าเถื่อน เพราะมองว่าต่ำกว่ามนุษย์ แต่ในขณะเดียวกัน ลิง โดยเฉพาะลิงไม่มีหาง (Ape) นั้นแสดงความกลัวของมนุษย์ในฐานะเจ้าอาณานิคม ความคิดว่ามนุษย์มีบรรพบุรุษเป็นลิง ซึ่งเสนอเมื่อกลางศตวรรษที่ 19 (ก่อนโครว์ลีย์เกิดไม่นาน) โดย ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ท้าทายสังคมอังกฤษในยุคนั้นอย่างมาก ความกลัวว่าลิงและสิ่งที่ต่ำศักดิ์กว่ามนุษย์ผิวขาวจะคุกคามและแทนที่มนุษย์ผิวขาวนั้นหลอกหลอนคนผิวขาวอยู่เสมอ จนเกิดลักษณะการสร้างภาพเหมารวมให้ชาติใต้อาณานิคมมีลักษณะกำกวม “เกือบเหมือน แต่ไม่เชิง” (Almost the same, but not quite) เพื่อเทียบเคียงชาติใต้อาณานิคมกับอารยธรรมตนเองและทำให้ตัวเองสูงกว่า ชาตินั้นจะต้องคล้ายเจ้าอาณานิคม แต่ต่ำศักดิ์กว่า ล้าหลังกว่า เพื่อทำให้ภาพของเจ้าอาณานิคมเป็นตัวแทนของอารยธรรมอันยิ่งใหญ่
วรรณกรรมยุคอาณานิคมมักแสดงความกำกวมเหล่านี้ หากทำให้ตัวละครต่างจากเจ้าอาณานิคมจนสุดขั้ว เจ้าอาณานิคมก็ไม่อาจใช้คนใต้อาณานิคมเป็นกระจกสะท้อนตัวเองและสร้างภาพว่าตัวเองดีกว่าได้ การทำให้เหมือนในที่นี่คือการทำให้อธิบายได้ เทียบเคียงได้ตามวิทยาการของตะวันตก เช่น ผ่านการวัดกะโหลกศีรษะ การบันทึกทางมานุษยวิทยา (ปัจจุบันมานุษยวิทยาไม่ใช่การสำรวจชนเผ่าในยุคจักรวรรดินิยมอีกแล้ว) การเขียนแผนที่ แต่ถ้าทำให้เหมือนกันไปเสียหมด เส้นแบ่งทางอำนาจระหว่างเจ้าอาณานิคมและชาติใต้อาณานิคมจะพร่าเลือน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าคนเหล่านี้จะอธิบายได้อย่างไร ก็ต้องอธิบายว่าแตกต่าง
นอกจากความกำกวมจะสะท้อนความขัดแย้งในตัวเองแล้ว ยังสะท้อนถึงความปรารถนาซ่อนเร้นของเจ้าอาณานิคมที่มักจะโยนให้ชาติใต้อาณานิคม เช่น การนำเสนอตัวละครใต้อาณานิคมให้เป็นผู้หญิงยั่วยวน สะท้อนการกดทับของสังคมตะวันตกที่ไม่ยอมรับผู้หญิงที่แสดงความปรารถนาทางเพศ
เมื่อเราอ่านวรรณกรรมยุคล่าอาณานิคมหลายๆ ชิ้น เราอาจพบเจอตัวละครที่ได้เรียนรู้วัฒนธรรมตะวันตก พูดภาษา และมีองค์ความรู้แบบเจ้าอาณานิคม แต่ตัวละครเหล่านี้แสดงความกลัวของชาติตะวันตกว่าเส้นแบ่งระหว่างผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครองนั้นจะพร่าเลือน ดังนั้น เนื้อเรื่องมักนำเสนอให้ตัวละครเหล่านี้มีข้อบกพร่องที่ทำให้เขาทำได้เพียง ‘เลียนแบบ’ เจ้าอาณานิคมเท่านั้น แต่ไม่ใช่ตัวจริง
การใช้ภาพลิง โดยเฉพาะลิงไร้หางในฐานะศัตรูคู่เปรียบเทียบของเทพเฮอร์มีสและเทพธอธ จึงสะท้อนความกังวลของเจ้าอาณานิคม ที่ต้องการยืนยันสถานะมนุษย์อันเปราะบางของตัวเอง ผ่านการแสดงความศักดิ์สิทธิ์ของภาษาและพระวจนะ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าภาษานั้นเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม เทพธอธและเทพเฮอร์มีสนั้นก็มีเล่ห์กลต่างๆ เป็นที่ประจักษ์ในตำนาน เทพและลิงนั้นคือสองด้านของเหรียญเดียวกัน ซึ่งหมุนไปมาโดยไม่มีที่สิ้นสุด ไม่อาจตอบได้ว่า ณ ขณะนี้ ด้านไหนกำลังปรากฏแก่เรา
เราอาจอ่านแก้การเหยียดชาติพันธุ์นี้ได้โดยมองว่าลิงกับเทพคือสิ่งเดียวกัน แปลว่าจะลิงหรือเทพก็ย่อมประสบความสำเร็จ มีพลังงานมีความมุ่งมั่นได้ทั้งคู่ โดยไม่จำเป็นต้องเดินตามเส้นทางความสำเร็จแบบยุโรปที่มักกำหนดลำดับชั้นของอารยธรรมเสมอไป
ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ไพ่ทาโรต์เน้นนำเสนอความหลากหลายทั้งทางเพศและทางชาติพันธุ์มากขึ้น ไพ่ผู้วิเศษกลายร่างเป็นคนผิวสี คนผิวดำ ผู้หญิง และกลุ่มเพศสถานะอื่นๆ
ไพ่ทาโรต์ฉบับเดลตา เอนเดอริง (Delta Enduring) โดยอีแกน (Egan) เลือกใช้ภาพชุมชนของผู้คนหลายชาติพันธุ์ในดินแดนแถบดินตะกอนแม่น้ำมิสซิสซิปปี (Mississippi) มาเล่าเรื่องราวของไพ่โดยทั่วไป และเลือกใช้ภาพหญิงผิวดำทำอาหารเป็นตัวแทนของไพ่ผู้วิเศษ แต่ความธรรมดาสามัญกลับชวนให้นึกถึงความไม่สามัญของไพ่ใบนี้
โดยทั่วไปอาหารของคนผิวสีแถบลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปีและอาหารในรัฐทางใต้ของสหรัฐฯ จะบอกเล่าความผสมผสานของประวัติศาสตร์การค้าทาส อาหารชุดชนิดหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมมากสำหรับชาวแอฟริกันอเมริกันในแถบนี้เรียกว่า โซล ฟูด (Soul food) มีที่มาจากวัฒนธรรมอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในแถบตะวันตกของทวีปแอฟริกาซึ่งถูกจับมาเป็นทาสผสมผสานกับวัตถุดิบที่นายทาสปันส่วนให้ ภาพการทำอาหารในชุมชนผิวดำลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปีจึงสื่อถึงการดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด การผสมผสานวัฒนธรรมต่างๆ เป็นไปเพื่อให้มีชีวิตต่อไปได้ จนกลายเป็นโซล ฟูดในปัจจุบันนี้ แม่ครัวในภาพจึงไม่ต่างจากผู้ชำนาญในการผสมผสานวัตถุดิบและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากประวัติศาสตร์ความรุนแรงและการเอาตัวรอด สร้างขึ้นเป็นอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง สร้างความสุขให้แก่ผู้รับประทาน และบอกเล่าตัวตนของเธอผ่านอาหารอีกด้วย (น่าเสียดายที่ไพ่ฉบับนี้ยังไม่ผลิตใหม่เลย)
ไพ่ผู้วิเศษมักสื่อถึงการตระหนักรู้เกี่ยวกับตัวตน แต่การตระหนักรู้นี้เกิดขึ้นได้จากการเปิดตัวเองสู่โลกภายนอก ซาชา แกรห์ม (Sasha Graham) ตีความว่า ท่าทางที่ผู้วิเศษทำในไพ่ฉบับไรเดอร์-เวท-สมิธนั้นเป็นการรับและส่งต่อพลังงานจากจักรวาลสู่โลกบาดาล (ไม่ต่างจากเทพเฮอร์มีสซึ่งเป็นผู้นำดวงวิญญาณสู่ปรโลก) อีกทั้งเป็นการแสดงความหมายของวลีในลัทธิไสยโบราณทางฝั่งตะวันตกตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ที่ว่า “As above, so below” (จักรวาลทำงานเช่นไร โลกเบื้องล่างก็ทำงานเช่นนั้น) ทั้งนี้ แกรห์มยังเสนอด้วยว่า ผู้วิเศษคือผู้ที่รู้ว่าโลกภายนอกและภายในของตนเองสัมพันธ์และมีระบบเดียวกัน ดังนั้น หากคุมจิตใจตนเองได้ โลกภายนอกก็ย่อมเป็นไปตามสายตาเรา
ความคิดแบบนี้ในทัศนะของดิฉันอาจชวนให้เข้าใจได้ว่าโลกทั้งใบนั้นขึ้นอยู่กับมุมมองมนุษย์เท่านั้น นอกจากนี้ อาจจะลดทอนพลังการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคมก็ได้ (ถ้ามองให้ดี เดี๋ยวโลกก็ดีขึ้นเอง) สำหรับดิฉันแล้ว แม้สิ่งที่ผู้วิเศษตระหนักรู้คือตนเอง แต่ผู้วิเศษก็ตระหนักรู้ด้วยว่าตนเองนั้นเชื่อมโยงกับสรรพสิ่ง การเชื่อมั่นในพลังของตนเองคือการเชื่อมั่นว่าตนเองส่งผลต่อโลกได้ไม่มากก็น้อย และไม่ได้แยกขาดออกจากโลก ร่างกายของผู้วิเศษนั้นตระหนักรู้ตำแหน่งแห่งที่ของตน และรู้ว่าตนเองอยู่ในบริบทไหน เชื่อมกับอะไร (ไม่ใช่เชื่อมกับทุกอย่าง ไม่เหมือนสโลแกนสายอนุรักษ์ธรรมชาติบางกลุ่มที่ชอบพูดรวมๆว่า ทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด ดิฉันอยากถามว่าอะไรมั่งล่ะคะ)
ตัวอย่างไพ่ที่แสดงความคิดต่างออกไปจากซาชา แกรห์ม คือไพ่ผู้วิเศษฉบับหมอสมุนไพร (Herbcrafter’s) ที่ใช้ดอกทานตะวันเพื่อสื่อถึงการรับพลังจากธาตุทั้งสี่ โดยเฉพาะแสงอาทิตย์และผืนดิน (เพราะดอกทานตะวันมีรากที่แผ่ยาวไปได้ไกลเพื่อหาสารอาหาร) นอกจากนี้ ผู้ออกแบบยังเสนอว่าดอกทานตะวันเป็นตัวแทนของพลังสร้างสรรค์ที่เต็มเปี่ยม รอวันถ่ายทอด เหมือนเมื่อดอกทานตะวันแก่จัดจะมีเมล็ดหนักอึ้งเต็มดอกจนค้อมลงหาพื้นดิน
ความเก่งกาจในการเอาตัวรอดของดอกทานตะวันนั้นเป็นที่ประจักษ์ในหมู่นักพฤกษศาสตร์และนักนิเวศวิทยา เพราะเราสามารถพบดอกทานตะวันในภูมิประเทศแทบทุกรูปแบบ ไม่ต่างจากผู้วิเศษที่รู้ตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในโลกและรู้วิธีจัดการโลกเพื่อรักษาสภาพของตนเอง และเนื่องจากเป็นพืชปีเดียว (Annual plants) ซึ่งมีวงจรชีวิตภายในหนึ่งปี ดอกทานตะวันจึงต้องหาทางเอาตัวรอดอยู่เสมอท่ามกลางสภาพอากาศอันเปลี่ยนแปร ในสภาวะแล้ง ต้นทานตะวันซึ่งยังเด่นตระหง่านอยู่จึงเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ต่างๆ ขณะเดียวกันดอกทานตะวันก็หาทางป้องกันตัวเองโดยผลิตน้ำหวานเพื่อล่อมด มดที่มาดื่มน้ำหวานจะสามารถกันแมลงกินใบบางชนิดได้ ดอกทานตะวันจึงเป็นตัวแทนของการรู้จักโลก รู้จักตนเอง และมอบพลังของตนคืนให้แก่โลกตามแบบไพ่ผู้วิเศษได้อย่างชัดเจน
ไพ่ผู้วิเศษคือไพ่ที่สื่อความหมายถึงความมุ่งมั่นตั้งใจและการรู้จักตนเองในหลายมิติ รวมไปถึงการรู้จักรับพลังหรือสารต่างๆ จากสิ่งรอบตัวเพื่อพร้อมจะส่งต่อต่อไป ตำแหน่งของผู้วิเศษสำหรับดิฉันคือการตระหนักรู้ถึงตัวตนตัวเองและพลังที่พร้อมจะลงมือทำ เพื่อให้ตัวตนของเราเป็นอย่างที่เรามองตัวเองไว้ (เรามองว่าเราเป็นหมอ เราก็ต้องทำหน้าที่หมอ อยู่บ้านนอนเฉยๆ แล้วบอกว่าเราเป็นหมอไม่ได้) สถานะของผู้วิเศษคือสถานะที่รู้ว่าการรู้ว่าเราเป็นใครนั้นไม่ ‘จริง’ พอ แต่ต้องพร้อมจะแสดงบทบาท เกาะเกี่ยวสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือสิ่งอื่นเพื่อสร้างตัวตนดังที่เรามองให้ได้ด้วย
ที่สำคัญ เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างนะคะ รู้แค่สิ่งที่เราจะทำก็มากพอแล้วค่ะ