Wed 21 Apr 2021

DEAR LADY OF LOVE

อธิบายความหมายที่ซ่อนอยู่ในไพ่ทาโรต์หมายเลข 3 ไพ่จักรพรรดินี The Empress

เรื่อง: มิ่ง ปัญหา

ภาพ: ms.midsummer

     หากนักบวชหญิงขั้นสูง (The High Priestess) คือผู้กุมความลับ ถือกฎแห่งธรรมชาติ ตัวแทนของจิตวิญญาณกับสังหรณ์ที่ไม่อาจเข้าถึงได้โดยง่าย และเราต้องอาจทำสมาธิเพื่อให้ได้รู้จักเศษเสี้ยวของจิตใจหรือพลังปัญญาของเธอ แต่การพบกับ ‘จักรพรรดินี’ (The Empress) นั้นง่ายกว่ามาก เพราะไพ่ใบนี้คือตัวแทนของธรรมชาติอันจับต้องได้ ไม่เพียงแค่พืชและสัตว์ แต่ยังหมายถึงมนุษย์และร่างกายของมนุษย์อีกด้วย 

     ไพ่จักรพรรดินีนั้นอยู่กับเราตั้งแต่ลืมตาดูโลก สูดกลิ่นที่ลอยมาตามลม ได้ยินเสียงต่างๆ ลิ้มรสอาหาร และสัมผัสสรรพสิ่งแวดล้อมร่างกายของเรา

     ไพ่จักรพรรดินีคือไพ่ของพระแม่ธรณี มารดาแห่งสรรพสิ่ง ไพ่แห่งโลกวัตถุและการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส เป็นตัวแทนของความเมตตาอารีทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น เนื่องจากไพ่ใบนี้เชื่อมโยงกับดาวศุกร์ ดาวแห่งความงามและความปรารถนา อีกทั้งในหลายๆ ฉบับยังมักนำเสนอผ่านภาพหญิงตั้งครรภ์ หรือภาพแม่และลูก ไพ่จักรพรรดินีจึงหมายถึงการใช้ชีวิตด้วยอารมณ์สุนทรีย์ ความคิดสร้างสรรค์ การชื่นชมสิ่งสวยงาม และการเสพศิลปะด้วย 

     หากคุณขอคำแนะนำจากไพ่ทาโรต์แล้วไพ่ใบนี้ปรากฏขึ้น เธออาจกำลังบอกให้คุณรับบทผู้เกื้อหนุนดูแลผู้อื่น หรือไม่ก็ปรนเปรอและสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองด้วยของสวยๆ งามๆ เพลงเพราะๆ หนังสือดีๆ หรือภาพสวยๆ

     ไพ่จักรพรรดินีเป็นไพ่ที่เปลี่ยนรูปแบบอยู่หลายครั้งตามประวัติศาสตร์ไพ่ แต่ก่อนอื่นดิฉันต้องกราบขออภัย และต้องแก้ไขสิ่งที่เคยพูดไปก่อน ดิฉันเคยกล่าวไว้ในบทความเรื่องไพ่หมายเลข 1 ว่า ไพ่ทาโรต์ที่เก่าที่สุดในโลกคือไพ่ทาโรต์ฉบับวิสกอนติ สฟอร์ซา (Visconti Sforza) ทว่าอันที่จริงแล้ว มีไพ่ทาโรต์สองฉบับออกมาก่อนหน้า นั่นคือไพ่ทาโรต์ฉบับบรัมบิลลา (Brambilla Tarot) และไพ่ทาโรต์ฉบับแครี-เยล วิสกอนติ (Cary-Yale Visconti) ซึ่งทั้งสองฉบับผลิตตามคำสั่งของ ฟิลิปโป มาเรีย วิสกอนติ (Filippo Maria Visconti) ดยุกแห่งเมืองมิลานในศตวรรษที่ 15 ผู้ชอบเกมกระดานเป็นชีวิตจิตใจ 

     นักสะสมชื่อ โจวันนี บรัมบิลลา (Giovanni Brambilla) ค้นพบและซื้อไพ่ฉบับบรัมบิลลาใน ค.ศ. 1900 โดยไพ่ชุดนี้มีเหลืออยู่ 48 ใบ และเหลือไพ่ชุดใหญ่เพียง 2 ใบ นั่นคือไพ่จักรพรรดิ (Emperor) กับไพ่กงล้อชะตา (Wheel of Fortune) ขณะที่ไพ่ฉบับแครี-เยล วิสกอนติเหลืออยู่ 67 ใบ 

     หลังจากไพ่สองชุดนี้ผลิตขึ้นในศตวรรษที่ 15 ไพ่ทาโรต์ซึ่งนิยมเล่นเป็นเกมในสมัยนั้นก็ได้รับความนิยมแพร่หลายในนครรัฐต่างๆ ทั่วดินแดนอิตาลี (ตอนนั้นยังไม่เป็นประเทศ) และทำให้มีการประดิษฐ์ไพ่ทาโรต์ขึ้นมาหลายสำรับ โดยสำรับที่ยังหลงเหลือหลักฐานมากที่สุด คือสำรับของ ฟรานเชสโก สฟอร์ซา (Francesco Sforza) ผู้แต่งงานกับ เบียงกา วิสกอนติ (Bianca Visconti) ลูกสาวของ ฟิลิปโป มาเรีย วิสกอนติ เจ้าของไพ่สำรับโบราณที่สุดนั่นเอง ไพ่ของฟรานเชสโก สฟอร์ซา จึงถูกเรียกภายหลังโดยนักประวัติศาสตร์ว่า ไพ่วิสกอนติ สฟอร์ซา (Visconti-Sforza) 

     สาเหตุที่ดิฉันต้องเล่าเรื่องนี้เพราะไพ่จักรพรรดินีฉบับแครี-เยล วิสกอนติ และไพ่ฉบับวิสกอนติ สฟอร์ซามีความแตกต่างกัน ไพ่ทาโรต์ฉบับแครี-เยล วิสกอนตินำเสนอภาพหญิงสูงศักดิ์ห้อมล้อมด้วยหญิงสาวอีกสี่คน ขณะที่ฉบับวิสกอนติ สฟอร์ซานั้นไม่มีผู้หญิงสูงศักดิ์ล้อมรอบองค์จักรพรรดินี 

     เชอร์ริล อี สมิธ (Sherryl E. Smith) เจ้าของบล็อก Tarot Heritage ให้ความเห็นว่า ภาพของไพ่ฉบับแครี-เยล วิสกอนติอาจสื่อถึงภาพวาดราชินีเธโอเดลินดา (Theodelinda) ในโบสถ์ประจำเมืองมอนซา (Duomo di Monza) ที่อยู่ใกล้เมืองมิลาน เพราะภาพนี้ถูกวาดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการผลิตไพ่ทาโรต์สำรับแครี-เยล วิสกอนติพอดี ราว ค.ศ. 1430-1447 ซึ่งทั้งตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และลายเส้นทำให้เชื่อได้ว่า ศิลปินผู้วาดไพ่ทาโรต์และจิตรกรรมฝาพนังโบสถ์ประจำเมืองมอนซาน่าจะเป็นคนเดียวกัน 

     หากจิตรกรต้องการนำเสนอภาพไพ่จักรพรรดินีเป็นราชินีเธโอเดลินดาจริง การเลือกภาพราชินีองค์นี้น่าจะมีนัยด้านการเมืองทางศาสนา สืบเนื่องมาจากช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ศาสนาคริสต์ในทวีปยุโรปกำลังเผชิญปัญหารอบด้าน กรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ที่เป็นศูนย์กลางของศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ตะวันออก (East Orthodoxy) ล่มสลาย และถูกจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire) ซึ่งเป็นชาวมุสลิมเข้ายึดครอง ทางด้านจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire จักรวรรดิโรมันที่ศาสนจักรมองว่าเป็นทายาทของจักรวรรดิโรมันเดิม) ก็ต้องเผชิญกับกลุ่มฮุสไซต์ (Hussite) ผู้ต่อต้านศาสนจักรในกรุงโรมในดินแดนโบฮีเมีย (ประเทศสาธารณรัฐเช็กในปัจจุบัน) 

     จึงเป็นไปได้ว่าไพ่ทาโรต์ฉบับแครี-เยลต้องการแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาในศาสนาคริสต์ตามแบบฉบับศาสนจักร จึงเลือกใช้ภาพของราชินีเธโอเดลินดา เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ทำนุบำรุงศาสนาคริสต์ โปรดให้สร้าง และนำมงกุฎเหล็กแห่งลอมบาร์ดีไปประดิษฐาน (The Iron Crown of Lombardy) ไว้ที่โบสถ์มอสซา โดยเชื่อกันว่ามงกุฎชิ้นนี้มีโลหะชิ้นหนึ่งที่หลอมมาจากตะปูบนไม้กางเขนแท้ (The True Cross) หรือไม้กางเขนที่ตรึงพระเยซู

     ต่อมาใน ค.ศ. 1725 เมื่อผู้แทนพระสันตะปาปาพบว่ามีไพ่ทาโรต์ฉบับหนึ่งถูกออกแบบมาเพื่อเล่าความขัดแย้งระหว่างฝ่ายอาณาจักรที่ปกครองโดยฆราวาส กับฝ่ายศาสนจักรในโบโลญญา และมีการแทรกแซงของพระสันตะปาปา ผู้แทนจึงสั่งให้ไพ่ทาโรต์ฉบับโบโลญญาระดับโลก (Tarocco Bolognese Al Mondo หรือ Bolognese Tarot of the World) เปลี่ยนภาพไพ่ยศถาบรรดาศักดิ์ทั้งสี่ใบ (หัวหน้านักบวชหญิง จักรพรรดินี จักรพรรดิ และสังฆราช) เป็นไพ่ชาวมัวร์ทั้งสี่ (The Four Moors) โดยไพ่จักพรรดินีน่าจะเป็นไพ่ชาวมัวร์ผู้ถือคทาพระจันทร์

     หลังยุคปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 สัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับราชสำนักในไพ่ใบต่างๆ ถูกเปลี่ยนเป็นสัญลักษณ์อื่น ไพ่จักรพรรดินีฉบับ ฟรองซัวส์ อิซนาด์ (François Isnard) ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นไพ่คุณยาย/คุณย่า หรือ La Grand-Mère (บาร์บารา จี วอล์กเกอร์ (Barbara G. Walker) เสนอว่า ชื่อนี้บังเอิญสอดคล้องกับชื่อเรียกมหาเทวีในยุคโบราณด้วย) อีกทั้งภาพของไพ่ยังไม่ต่างจากภาพจักรพรรดินีฉบับวิสกอนติ-สฟอร์ซาเท่าไรนัก ส่วนฉบับเอต์แตลลา อา เฌอ เดอ ลา แพรงแซส (Etteilla a Jeu de la Princesse) นั้น เลือกใช้ภาพฟากฟ้า (Le Firmament) แทน 

     โรเบิร์ต เอ็ม. เพลซ (Robert M. Place) เสนอว่า ภาพดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลกในอวกาศนั้นมาจากฉากการสร้างจักรวาลจากคัมภีร์หนึ่งของ เฮอร์เมส ทริสเมกิสทัส (Hermes Trismegistus) นักปรัชญาโบราณลึกลับ ซึ่งเป็นที่สนใจในหมู่นักปรัชญาและผู้สนใจไสยเวทตะวันตกตั้งแต่สมัยเรเนสซองส์ (ดิฉันเคยพูดถึงเขาแล้วในตอนไพ่ผู้วิเศษค่ะ) ไพ่ฟากฟ้าจึงหมายถึงการถือกำเนิดของสรรพสิ่ง ซึ่งตรงกับบทบาทมารดาของไพ่จักรพรรดินี

     ไพ่จักรพรรดินีในฉบับไรเดอร์-เวท-สมิธดูจะมีแนวคิดไม่ต่างจากไพ่โบราณนัก นำเสนอภาพหญิงสูงศักดิ์เช่นเดียวกัน แต่ดิฉันมองว่าไพ่ฉบับนี้แฝงความแตกต่างสุดขั้วเอาไว้ 

     ภาพไพ่ที่สมิธวาดแสดงภาพหญิงเอนหลังบนบัลลังก์ ด้านหน้ามีรวงข้าวสีทอง ด้านหลังมีป่าไม้ และมีแม่น้ำไหลอยู่ทางขวามือของภาพ เน้นย้ำความอุดมสมบูรณ์ มงกุฎดาว 12 ดวงสื่อถึง 12 ราศี ภูษาลายกุหลาบคือสัญลักษณ์ของเทพีและความรัก 

     ไพ่ใบนี้มักชวนให้นึกถึงแม่โพสพ หรือเทพีดีมีเทอร์ (Demeter) ในฉบับกรีก-โรมัน เทพีแห่งการเพาะปลูกผู้ให้กำเนิดเทพีเพอร์เซโฟนี (Persephone) (ซึ่งเราได้เล่าถึงแล้วในตอนที่แล้ว) ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือไพ่ที่สื่อถึงความเป็นมารดาและพลังธรรมชาติที่เกื้อหนุนมนุษยชาติ 

     แม้ไพ่ทาโรต์ฉบับเทพปกรณัมจะนำเสนอไพ่จักรพรรดินีด้วยเทพีดีมีเทอร์ แต่ในขณะเดียวกัน โล่ที่วางอยู่ด้านซ้ายของไพ่ฉบับไรเดอร์-เวท-สมิธกลับมีสัญลักษณ์ของเทพีวีนัสหรืออะโฟรไดท์ (Venus/Aphrodie) ในเทพปกรณัมกรีก-โรมัน ซึ่งเป็นเทพีแห่งความปรารถนาอยู่ด้วย จึงเป็นการสื่อถึงการบำรุงบำเรอตน ชื่นชมของสวยงาม และมีนัยทางเพศ ไปพร้อมกับการเป็นมารดาและความเมตตาอารี 

     เหตุที่เป็นอย่างนี้ อาจเพราะในยุควิกตอเรียนที่เวทและสมิธมีชีวิตอยู่ ภาพลักษณ์ของมารดาในอุดมคติเชื่อมโยงกับความกรุณา การบริหารจัดการบ้านได้ และเป็นนางฟ้าในบ้าน (Angel in the House) กล่าวคือพวกเธอจะต้องอบรมสั่งสอนศีลธรรมลูกหลานได้ และทำหน้าที่เผยแพร่คำสอนจากโบสถ์เหมือนเป็นเทวดานางฟ้า กิจกรรมของแม่บ้านชนชั้นกลางยุคนั้นมักจะหนีไม่พ้นการเข้าโบสถ์และกิจกรรมการกุศลที่โบสถ์ เมื่อเสร็จธุระก็กลับมาบ้านดูแลอบรมสั่งสอนลูก ดูแลความเรียบร้อยของบ้าน

     อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมืองเริ่มเปิดพื้นที่ให้แก่ผู้หญิงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าหรือร้านน้ำชา ผู้หญิงกลายเป็นผู้บริโภคกลุ่มสำคัญ ท้าทายขนบซึ่งกำหนดให้ผู้หญิงผูกพันกับพื้นที่บ้าน แต่เมื่อผู้หญิงมีพื้นที่ของตนในที่สาธารณะมากขึ้น พวกเธอกลับถูกมองว่าฟุ้งเฟ้อหลงใหลในแสงสีของเมือง ไม่ทำหน้าที่แม่หรือภรรยาที่ดี และเนื่องจากฐานคิดวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้นมองว่าเฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่สามารถแสดงออกทางเพศและเป็นฝ่ายรุกตามธรรมชาติ ขณะที่ผู้หญิงควรเป็นเพียงฝ่ายสนองตอบ หากผู้หญิงแสดงออกทางเพศอย่างชัดเจน นั่นอาจเป็นสัญญาณของความเสื่อม หรือแม้แต่โรคภัยก็เป็นได้ บทบาทของแม่และเมียตามอุดมคติจึงถูกตัดขาดออกจากเรื่องเพศแทบจะสิ้นเชิง

     ถึงเทพีดีมีเทอร์และเทพีอะโฟรไดท์จะดูเหมือนขั้วตรงข้ามในสังคมที่ต้องการแยกเรื่องเพศออกจากบทบาทมารดา หนังสือเทพปกรณัมบางฉบับอาจเล่าว่า เทพีดีมีเทอร์เป็นแม่ ผู้รักลูกสุดหัวใจ ขณะที่เทพีอะโฟรไดท์นั้นทำให้คนควบคุมความปรารถนาทางเพศไม่ได้ และไม่สนใจกฎเกณฑ์ใดๆ แต่อันที่จริงแล้ว การบูชาเทพีทั้งสององค์ (หรือแม้แต่เทพองค์อื่นๆ ในอารยธรรมโบราณหลายๆ แห่ง) ไม่มีแบบฉบับตายตัว 

     เทพีดีมีเทอร์ไม่ได้เป็นมารดาผู้บริสุทธิ์ ไม่มีเรื่องเพศมาข้องเกี่ยว เห็นได้จากพิธีกรรมเปิดฤดูกสิกรรมของชาวกรีกโบราณที่จะต้องเริ่มด้วยรอยไถสามรอย เพื่อสื่อถึงตำนานที่เทพีดีมีเทอร์เชื้อเชิญไยซอน (Iaison) ชายหนุ่มรูปงามมาร่วมรักบนท้องนาที่คราดไถแล้วสามครั้ง ก่อนที่ไยซอนจะถูกซูสสังหารด้วยความริษยา (บางฉบับเล่าว่า ซูสสังหารเพราะไยซอนตั้งท่าจะข่มขืนเทพีดีมีเทอร์) ลูกของเทพีดีมีเทอร์และไยซอนคือพลูทุส (Plutus) เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์และทรัพย์ศฤงคาร 

     เช่นเดียวกับเทพีอะโฟรไดท์ก็เป็นที่บูชาในฐานะเทพมารดาและเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ในยุคโบราณ ชาวไซปรัส (Cyprus) บูชาพระองค์ในฐานะเทพีแห่งความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์ ต่อมาชาวโรมันได้ผนวกเอาเทพีอะโฟรไดท์เข้าเป็นองค์เดียวกับเทพีวีนัส (Venus) ซึ่งเดิมเป็นเทพีแห่งการเกษตรในท้องถิ่นของตน 

     การแบ่งผู้หญิงออกเป็นสองภาพลักษณ์ ซึ่งอาจเรียกอย่างหยาบๆ ว่า มารดาและโสเภณีเช่นนี้ สนับสนุนการสร้างครอบครัวในสังคมชายเป็นใหญ่ และพยายามควบคุมเพศวิถีของผู้หญิงให้อยู่ในทิศทางที่จะพัฒนาสังคมได้ 

     อย่างไรก็ดี ไพ่จักรพรรดินีอาจแสดงภาพของผู้หญิงทั้งสองแบบที่สังคมต้องการให้แยกขาดออกจากกันไว้ในคนเดียว เธอรับบทเป็นมารดาแต่ในขณะเดียวกันเธอก็เลือกจะแต่งกายสวยๆ งามๆ อยากจะมีความสุขกับตัวเอง และต้องการความสุขทางเพศ แม้ภาพลักษณ์ของมารดาหรือผู้หญิงที่ดีในสังคมศตวรรษที่ 19 นั้นมักจะถูกนำเสนอให้เสียสละ ไม่นึกถึงประโยชน์ส่วนตน แต่ความหมายของไพ่ใบนี้กลับบอกให้เราฟังเสียงและรักตัวเองด้วย

     อเลสเตอร์ โครว์ลีย์ (Aleister Crowley) ผู้ออกแบบไพ่ธอธ มองว่าไพ่ใบนี้มีไม่ได้มีพลังในเชิงรุก หากแต่เป็นไพ่ที่ต้องรอการกระทำจากฝ่ายอื่น (เช่น จักรพรรดิ) ไม่ต่างจากการมองผู้หญิงในฐานะผู้รับการสนองตอบทางเพศจากผู้ชาย 

     อย่างไรเสีย ไพ่จักรพรรดินีสำรับธอธก็แสดงความกำกวมในลักษณะเดียวกัน มุมซ้ายล่างของไพ่มีภาพนกเพลิแกน ซึ่งเชื่อกันในสมัยยุคกลางว่า เมื่อถึงคราวอดอยาก หากนกเพลิแกนไม่มีน้ำนมให้ลูก มันจะจิกอกตนเองให้ลูกกินเลือดต่างนม นกเพลิแกนจึงกลายเป็นสัญลักษณ์แทนพระเยซู ผู้เสียสละชีวิตรับเคราะห์ให้แก่ชาวคริสต์เพื่อให้มนุษย์เข้าถึงพระเจ้าได้มากขึ้น และนำไปสู่การปลดเปลื้องจากบาปของผู้นับถือศาสนาคริสต์ในวันสิ้นโลก 

     ในทางหนึ่ง การที่โครว์ลีย์เลือกใช้ภาพนกเพลิแกนจึงเป็นการเน้นย้ำภาพของมารดาผู้เสียสละ 

     แต่ในขณะเดียวกัน ที่มุมซ้ายบนของไพ่จักพรรดินีฉบับธอธก็มีภาพนกกระจอก และมุมขวาบนมีภาพนกเขา แสดงสัญลักษณ์ของเทพีอะโฟรไดท์และเทพีวีนัส ซึ่งเป็นเทพีแห่งความปรารถนาด้วย 

     ในตำราไพ่ธอธของโครวลีย์นั้น โครวลีย์กล่าวผ่านๆ เพียงว่า นกทั้งสองตัวมีที่มาจากกลอนภาษาละตินของ คะตุลลุส (Catullus) และ มารฺเตียล (Martial) กวีชาวโรมัน 

     กลอนที่คะตุลลุสพูดถึงนกกระจอก คือกลอนบทที่ 2 ในต้นฉบับที่เหลือรอดมา (ปัจจุบันเรียกกันว่า Catullus 2a) เขากล่าวถึงหญิงคนรักที่เมื่อไม่ได้เจอเขา ก็เล่นกับนกกระจอกเพื่อคลายเหงา และเขาก็หวังว่าจะได้เล่นกับนกกระจอกให้คลายเหงาบ้าง 

     แม้คนจะตีความกลอนบทนี้ต่างกัน แต่ก็มีนักคิดตั้งแต่ยุคเรเนสซองส์ในยุโรป ไปจนถึงนักแปลในศตวรรษที่ 20 ที่มองว่านกกระจอกในที่นี้น่าจะหมายถึงอวัยวะเพศชายของคะตุลลุสเอง

     ส่วนมารฺเตียลก็กล่าวถึงกลอนบทนี้ในเล่ม 7 บทที่ 14 ชื่อ True Loss หรือการสูญเสียที่แท้จริง โดยจงใจเทียบนกกระจอกของหญิงสาวในกลอนของคะตุลลุส และนกเขาของผู้หญิงอีกคนที่ชื่อสเตลลากับอวัยวะเพศชายของทาสหนุ่ม (จากฉบับแปลของ A. S. Kline) 

     ผู้ชายที่เกิดในยุควิกตอเรียน (1837-1901) และได้รับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) ซึ่งสอนภาษาและวัฒนธรรมกรีกโรมันโบราณอย่างโครว์ลีย์นั้น ย่อมซ่อนสิ่งที่สังคมมองว่าไม่เหมาะสมด้วยการเขียนเป็นภาษาละติน ในกรณี โครวลีย์กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ถ้าอ่านกลอนของคะตุลลุสและมารฺเตียลจะเข้าใจเองว่าสัญลักษณ์นกคืออะไร ในทำนองเดียวกัน การแปลวรรณกรรมต่างประเทศบางชิ้นในสมัยวิกตอเรียน เมื่อถึงฉากล่อแหลม ผู้แปลจะเลือกแปลเป็นภาษาละตินเพื่อกันผู้อ่านที่อาจมีการศึกษาน้อยกว่า จึงเป็นไปได้ว่าโครวลีย์ต้องการสื่อถึงความปรารถนาทางเพศผ่านไพ่ธอธเช่นกัน แต่ก็จำเป็นต้องซ่อนเนื้อหาประเจิดประเจ้อ โดยจำกัดให้ผู้ชายชนชั้นกลางไปถึงสูงอ่าน โดยเฉพาะนั้นสะท้อนว่าโครว์ลีย์ปิดกั้นเรื่องเพศออกจากผู้หญิงอยู่ดี 

     และถึงแม้ว่าไพ่ใบนี้จะสื่อถึงพลังทางเพศผู้หญิง (ในฐานะผู้เล่นกับนกกระจอก) ตำราของโครว์ลีย์กลับซ่อนประเด็นนี้ไม่ให้ผู้อ่านหญิงได้เห็น ซ้ำยังพูดบ่อยๆ ว่าไพ่ใบนี้คือไพ่ของฝ่ายรับ ไพ่ของการอยู่นิ่งและเฝ้ารอการดำเนินการจากฝ่ายอื่น

     อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจของไพ่จักรพรรดินี คือผู้ออกแบบไพ่ ทั้งฉบับไรเดอร์-เวท-สมิธและไพ่ธอธ มองว่าไพ่ใบนี้เกี่ยวข้องกับโลกธรรมชาติ 

     อาร์เธอร์ เอ็ดเวิร์ด เวท (Arthur Edward Waite) ผู้ออกแบบไพ่ฉบับไรเดอร์-เวท-สมิธ เรียกไพ่ใบนี้ว่า ‘สวนอีเดนที่ต่ำต้อย’ (An inferior Garden of Eden) ตามความเชื่อของชาวคริสต์ที่ว่า หลังจากอดัมกับอีฟละเมิดคำสั่งพระเจ้า กินผลไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่วเข้าไปจนตระหนักได้ว่าตัวเองเปลือยเปล่า พระเจ้าจึงไล่อดัมกับอีฟออกจากสวนอีเดน และให้ตั้งรกรากในโลกธรรมชาติซึ่งโหดร้ายและยากลำบากกว่าในสวน คำว่าสวนอีเดนที่ต่ำต้อยจึงเป็นการเปรียบถึงโลกธรรมชาติหลังพระเจ้าลงโทษอดัมกับอีฟ โลกที่มีขวากหนาม มีอันตราย ไม่ปลอดภัย สะท้อนให้เห็นความปรารถนาจะควบคุมธรรมชาติให้เป็นอย่างใจมนุษย์ ส่วนโครว์ลีย์เน้นย้ำว่าไพ่จักรพรรดินีคือไพ่แห่งเกลือและน้ำ เป็นต้นกำเนิดชีวิต 

     ด้วยเหตุนี้ เราอาจกล่าวได้ว่า ไพ่ทั้งสองฉบับมองไพ่จักรพรรดินีเป็นตัวแทนของมารดาแห่งธรรมชาติ (Mother Nature) ตามแบบตะวันตก ซึ่งคล้ายๆ กับพระแม่ธรณี ผู้นำความอุดมสมบูรณ์และความสุขให้แก่ผู้คนผ่านธรรมชาติอันงดงามและเต็มไปด้วยทรัพยากร 

     เช่นเดียวกับไพ่จักรพรรดินีฉบับแม่มดเขียว (Green Witch) ที่แสดงถึงมารดาแห่งธรรมชาติอย่างชัดเจน โดยนำเสนอภาพหญิงตั้งครรภ์ ถือกรวยบรรจุผลไม้นานาชนิด ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่าคอร์นูโคเปีย (Cornucopia) หรือเขาสัตว์แห่งความอุดม (Horn of Plenty) ซึ่งเชื่อว่าเป็นเขาสัตว์วิเศษที่มีพืชพันธุ์ธัญญาหารอยู่ภายในมากมาย 

     ในหลายกรณี แนวคิดว่าด้วย ‘ความอุดมสมบูรณ์’ ไม่อาจแยกขาดจากขนบรักต่างเพศ (Heteronormativity) และแนวคิดทุนนิยมซึ่งต้องการทรัพยากรทั้งในรูปแบบมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม แต่ไพ่จักรพรรดินีหลายๆ ฉบับขัดแย้งกับขนบนี้ด้วยการเน้นย้ำความตายและความเปราะบางของชีวิตไปพร้อมๆ กับการเกิดใหม่ เพื่อเน้นย้ำคุณค่าของชีวิตที่เป็นมากกว่าทรัพยากร 

     ไพ่ทาโรต์ของกลุ่มเพศหลากหลายเน้นย้ำว่าหน้าที่การดูแลเลี้ยงดูชีวิตไม่จำเป็นต้องเป็นของผู้มีร่างกายเป็นหญิง หรือของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวกันเท่านั้น อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องอิงกับการให้กำเนิดในทางชีววิทยา หรือแนวคิดรักต่างเพศและการสร้างทรัพยากรให้แก่โลกทุนนิยม สำรับไพ่ที่ออกแบบเพื่อกลุ่มเพศหลากหลายจึงมักเปลี่ยนชื่อไพ่จักรพรรดินีเพื่อลดทอนมิติทางเพศในชื่อต้นฉบับ 

     ยกตัวอย่างเช่น ไพ่ทาโรต์ฉบับพลังเทวะ (Numinous Tarot) ของ ซีดาร์ แมคเคลาด์ (Cedar McCloud) เรียกไพ่ใบนี้ว่าผู้ชุบเลี้ยง (The Nurturer) ซึ่งไม่อาจระบุเพศสถานะได้อย่างชัดเจน ตัวภาพไม่ได้เน้นย้ำภาพธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์จนล้นเกิน แต่อาศัยการพยุงสัญลักษณ์วงกลมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโลกแทน 

     ทั้งนี้การตั้งชื่อไพ่ว่าผู้ชุบเลี้ยงเป็นการล้อเลียนคู่ตรงข้ามสำคัญในโลกตะวันตก นั่นคือธรรมชาติหรือการเลี้ยงดูฟูมฟัก (Nature or Nurture) ซึ่งมักใช้อธิบายว่าสิ่งต่างๆ นั้นมีลักษณะบางอย่างมาแต่กำเนิด (Nature) หรือถูกชุบเลี้ยงโดยมนุษย์ให้เป็นอย่างนั้น (Nurture) คำอธิบายดังกล่าวแฝงการให้คุณค่าว่าของจากธรรมชาติเป็นของแท้ การชุบเลี้ยงต่อจากนั้นเป็นของเทียม หรือเป็นการทำให้ผิดธรรมชาติ 

     แน่นอนว่าแนวคิดเรื่องของแท้กดเหยียดกลุ่มเพศหลากหลายซึ่งมีเพศสถานะขัดแย้งกับเพศกำเนิด เช่น กลุ่มทรานส์ที่ถูกเรียกว่าหญิงเทียมบ้าง ชายเทียมบ้าง และยังกดเหยียดกลุ่มที่มีเพศวิถีไม่เป็นไปตามขนบรักต่างเพศ เพราะมองว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่นำไปสู่การให้กำเนิดทางชีววิทยา 

     การเปลี่ยนจากไพ่จักรพรรดินีมาเป็นผู้ชุบเลี้ยงและใช้ไพ่ใบนี้นำเสนอธรรมชาติ จึงเป็นการล้อเลียนความพยายามแยกของแท้ของเทียมออกจากกัน และเน้นย้ำว่าการชุบเลี้ยงเป็นเรื่องปกติทั้งในโลกของมนุษย์และสัตว์อื่นๆ สิ่งมีชีวิตไม่จำเป็นต้องเลี้ยงดูสายพันธุ์เดียวกันเสมอไป ไม่จำเป็นต้องเป็นความสัมพันธ์แม่ลูก หรือภาพครอบครัวตายตัวหญิงชาย ภาพของผู้ชุบเลี้ยงวาดด้วยสีสันอันอ่อนโยนชวนให้เราตั้งคำถามกับบทบาทแม่ที่สังคมกำหนดให้แก่เรือนร่างบางประเภท และตั้งคำถามกับการมองธรรมชาติว่าเป็นของแท้

     นอกจากนี้ ไพ่จักรพรรดินีบางฉบับยังเน้นย้ำความเปราะบางของชีวิตและความตาย แสดงให้เห็นธรรมชาติในฐานะเครือข่ายของชีวิต แทนที่จะเป็นเพียงแหล่งทรัพยากร ไพ่จักรพรรดินีฉบับหนึ่งซึ่งดิฉันคิดว่าตอบโจทย์นี้คือไพ่จักรพรรดินีฉบับเวทมนตร์อังกฤษ (English Magic) ของ เร็กซ์ วาน ริน (Rex Van Ryn) สตีฟ ดูลีย์ (Steve Dooley) และ แอนดี เลทเชอร์ (Andy Letcher) โดยฉบับนี้เป็นภาพหญิงนั่งแหวกขาบนซากไม้ที่มีเถากุหลาบพันอยู่ บริเวณมุมซ้ายล่างเป็นภาพเห็ด ภาพนี้ไม่ได้สื่อถึงความงดงามของธรรมชาติหรือความอุดมสมบูรณ์พรั่งพร้อม แต่แสดงให้เห็นถึงการเกิดและการตายไปพร้อมๆ กัน ทั้งขอนไม้ที่ตายซากและเห็ดที่งอกเงยขึ้นมา โดยเห็ดมักสื่อถึงทั้งความผุพังของชีวิตอื่นและการเกิดใหม่ได้ในคราวเดียว ไพ่ใบนี้จึงแสดงให้เห็นว่า เราไม่อาจตัดความตายออกจากการนำเสนอภาพธรรมชาติได้ 

     นอกจากนี้ ไพ่จักรพรรดินีในฉบับโอเมกาแลนด์ (Omegaland Tarot) ของ โจ โบกินสกี (Joe Boginski) ซึ่งเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้คนในโลกที่กำลังจะเสื่อมสลาย ก็เลือกใช้ภาพคนเก็บผลไม้บนสวนผักดาดฟ้าเพื่ออธิบายความอุดมสมบูรณ์ที่ยังพอมีเหลือให้อยู่รอดได้ เน้นย้ำความจำเป็นที่จะอยู่รอด และการตระหนักถึงความตายที่อาจเกิดขึ้นได้ไม่ช้าก็เร็ว

     เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะต่อให้ธรรมชาติจะเป็นกระบวนการเชื่อมโยงช่วยเหลือกัน แต่พระแม่ธรณีในอารยธรรมโบราณทั่วโลกก็ไม่ได้มีความการุณอย่างเดียว พวกนางมีความโกรธเกรี้ยวและลงทัณฑ์มนุษย์ด้วยเช่นกัน หลายๆ องค์อยู่ในร่างสตรีและสัตว์ร้ายผสมผสานกัน เช่น เทพีควาทลิเคว (Coatlicue) หรือโกอาตลิเก (cōātl īcue) เทพมารดาผู้ยิ่งใหญ่ตามความเชื่อของชาวแอซเต็ก (Aztec) โดยชื่อของเธอแปลว่า ผู้มีงูคาดเอว พญางูไพธอน (Python) ที่เทพอพอลโล (Apollo) สังหารนั้น เป็นบริวารสำคัญของพระแม่ธรณีไกอา (Gaia) 

     วิหารเดลฟี (Delphi) ของเทพอพอลโลที่จะให้คำทำนายแก่ผู้มาร้องขอนั้น เดิมเป็นวิหารของพระแม่ธรณีและพญางูไพธอนผู้เป็นบริวาร ภาพงูซึ่งมีลักษณะคล้ายลึงค์นั้น แสดงให้เห็นถึงความกำกวมทางเพศของมหาเทวี และท้าทายระบบคิดเรื่องเพศแบบคู่ตรงข้าม ความคิดเหล่านี้เองที่ทำให้งูของมหาเทวีแห่งธรรมชาติกลายเป็นปีศาจ และถูกทำลาย ภาพมหาเทวีแห่งธรรมชาติกลายเป็นภาพของมารดาผู้กรุณา ผู้ปฏิเสธความเป็นไปได้ของทั้งธรรมชาติ และผู้หญิงที่ไม่เดินตามกรอบสังคมชายเป็นใหญ่ 

     ส่วน แพทริก วาเลนซา (Patrick Valenza) นำเสนอไพ่จักรพรรดินีในฉบับจันทร์เบี่ยงเบน (Deviant Moon) ด้วยภาพจักรพรรดินีดมดอกกุหลาบ ซึ่งแท้จริงแล้วกุหลาบนั้นคือหางสีเขียวของเธอเอง ภาพนี้ทำให้จักรพรรดินีมีรูปร่างคล้ายมังกร ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับเทพมารดาในธรรมเนียมโบราณดังที่กล่าวไปแล้ว การดมหางของตนเองสอดคล้องกับความหมายของไพ่ที่เน้นย้ำการหาความสุขให้แก่ชีวิตผ่านประสาทสัมผัสและการเห็นคุณค่าของตนเอง นอกจากนี้ ไพ่ยังเสนอว่าตัวตนของเรานั้นไม่อาจแยกขาดจากธรรมชาติได้อีกด้วย ดอกไม้ที่อยู่รอบๆ จักรพรรดินีก็น่าจะเป็นดอกไม้ชนิดเดียวกันกับที่ปลายหางของเธอ

     แม้ไพ่จักรพรรดินีจะเป็นตัวแทนของมารดาแห่งธรรมชาติ แต่ไพ่ใบนี้กำลังบอกเราว่า ความเมตตากรุณาควรเริ่มที่ตนเองก่อน เราอาจมองได้ว่า นี่คือไพ่แห่งการบริโภคหรือการเสพสุขสุดขั้ว แต่ดิฉันมองว่า ไพ่ใบนี้สื่อถึงบทบาทของความเมตตากรุณาที่มีต่อทั้งตนเองและผู้อื่น ความหรูหราฟู่ฟ่าอาจสื่อถึงความเห็นแก่ตัวได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า ไพ่ใบนี้คือไพ่ของคนที่ทั้งมีความสุขกับตนเองและบันดาลความสุขให้ผู้อื่น 

     ไพ่จักรพรรดินีได้ยุบรวมคู่ตรงข้ามหลายชุด เช่น ตัวเอง-ผู้อื่น มนุษย์-สิ่งแวดล้อม มารดา-โสเภณี ความกรุณาผู้อื่น-การเอาตัวรอด หญิง-ชาย ของแท้-ของเทียม เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างความสุขที่เป็นประโยชน์แก่ทั้งตนเองและโลกภายนอก ซึ่งแยกออกจากกันไม่ได้ 

     ในเมื่อความหมายหนึ่งของไพ่ใบนี้คือไพ่แห่งการใช้ประสาทสัมผัสดื่มด่ำกำซาบโลก (ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของผู้คน สวน หรืองานศิลปะ) ไพ่ใบนี้จึงเป็นสะพานเชื่อมตัวเราออกสู่ชุมชน ออกสู่โลกภายนอกที่เราไม่อาจหนีพ้น