Mon 24 May 2021

THE KING AND THE GUNPOWDER

อ่านความหมายของไพ่ผู้ปกครอง

เรื่อง: มิ่ง ปัญหา

ภาพ: ms.midsummer

     เมื่อไพ่จักรพรรดินีให้กำเนิดธรรมชาติ บันดาลความงาม ความปรารถนา และรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส ‘ไพ่จักรพรรดิ’ (The Emperor) ที่ตามมานั้น ก็รับช่วงต่อด้วยการเป็นผู้จัดระเบียบ ผู้สร้างระบบ ผู้กำหนดกฎเกณฑ์ และผู้ปกครอง 

     แม้ฟังดูแล้วไพ่จักรพรรดิจะอยู่เหนือกว่าไพ่จักรพรรดินี แต่ด้วยความนิยมความสมดุลทางเพศ (ที่ถูกมองว่ามีเพียงสอง) ในสมาคมไสยเวทตะวันตกตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ทำให้จักรพรรดิและจักรพรรดินีมีความสำคัญเท่ากัน และไม่อาจแยกจากกันได้

     ไพ่จักรพรรดิหมายถึงการจัดระเบียบ การปกครอง การควบคุม ความเป็นผู้นำ อำนาจ หลักการและโครงสร้าง หากถามถึงคนอาจหมายถึงบุคคลที่มีลักษณะเป็นพ่อหรือหัวหน้างาน หากถามถึงร่างกายก็เกี่ยวข้องกับศีรษะและการมองเห็น อีกทั้งยังอาจมีความหมายทางลบ เช่น การกดขี่ การแก่งแย่งแข่งขัน และความโหดร้ายได้ด้วย 

     ตามหลักของสมาคมอรุณทอง (Golden Dawn Society) สมาคมไสยเวทอังกฤษช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งส่งผลต่อการเลือกใช้สัญลักษณ์และการตีความตำนานต่างๆ ในไพ่ของทั้งฉบับไรเดอร์-เวท-สมิธและธอธนั้น ถือว่าไพ่จักรพรรดิเป็นไพ่ประจำราศีเมษ เพราะมีสมญาที่เรียกกันในหนังสือที (Book T) คู่มือของสมาคมอรุณทองว่า ‘ตะวันยามเช้า’ (Sun in the Morning) และ ‘หัวหน้าของผู้ทรงอำนาจทั้งมวล’ (Chief among the Mighty) ซึ่งสัมพันธ์กับหลักโหราศาสตร์ที่ว่า ดวงอาทิตย์จะทรงพลังมากในราศีเมษ 

     ตามกฎเลขโรมันทั่วไป ห้ามมีสัญลักษณ์เดียวกันเรียงกันเกินสามตัว เลขสี่โรมันจึงเป็นการหักลบเลขห้า (V) ด้วยเลขหนึ่ง (I) โดยเลขหนึ่งวางด้านหน้า กลายเป็น 4 (IV) แต่หลักการของไพ่ทาโรต์โบราณนั้น อเล็กซานเดอร์ โจโดโรฟสกี (Alexander Jodorowsky) ผู้ศึกษาไพ่ทาโรต์ฉบับมาร์เซยย์ (Marseilles Tarot) กล่าวว่า ไพ่ทาโรต์เป็นการเดินทางเพิ่มขึ้นทีละขั้นๆ ฉะนั้น ตัวเลขจะหักลบไม่ได้ เราจึงเห็นเลข 4, 9, 14, 19 ในไพ่ทาโรต์โบราณบางฉบับเขียนด้วยเลขโรมัน III, VIIII, XIIII และ XVIIII แทนที่จะเป็น IV, IX, XIV และ XIX 

     นอกจากนี้ ไพ่จักรพรรดิเป็นหนึ่งในไพ่ชุดใหญ่ (Major Arcana) ที่ยังหลงเหลือในไพ่ทาโรต์บัมบริลลา (Bambrilla Tarot) ไพ่ทาโรต์ชุดที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งผลิตในศตวรรษที่ 15

     โรเบิร์ต เอ็ม. เพลซ (Robert M. Place) และ พอล ฮูสัน (Paul Huson) เสนอว่า ไพ่ใบนี้สื่อถึงจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) สังเกตจากสัญลักษณ์นกอินทรีสองหัว อันเป็นสัญลักษณ์ประจำจักรวรรดิ ซึ่งปรากฏในไพ่ทาโรต์หลายฉบับตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 (ไพ่จักรพรรดินีบางฉบับ เช่น ฉบับธอธก็มีสัญลักษณ์นี้ด้วย) 

     ตรานกอินทรีนั้นน่าจะดัดแปลงมาจากตรานกอินทรีของกองทัพโรมัน และตรานกอินทรีสองหัวของจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine Empire) ซึ่งใช้อธิบายว่าปกครองดินแดนทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก (ถึงแม้ว่าตรานกอินทรีสองหัวจะใช้กันมาในอารยธรรมฮิตไทท์ (Hittite) ในคาบสมุทรอนาโตเลีย หรือประเทศตุรกีปัจจุบัน ก่อนจักรวรรดิไบแซนไทน์จะก่อตั้งขึ้นก็ตาม)

     จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ถือกำเนิดจากความร่วมมือทางการเมืองของพระสันตะปาปาลีโอที่ 3 และพระเจ้าชาร์เลอมาญ (Charlemagne) เดิมทีพระเจ้าชาร์เลอมาญเป็นกษัตริย์ของชาวแฟรงค์ ชนเผ่าเชื้อสายเยอรมันกลุ่มหนึ่ง ซึ่งขยายอำนาจไปยังอาณาบริเวณต่างๆ ในยุโรปตะวันตก พระเจ้าชาร์เลอมาญและบิดาเคยรบช่วยเหลือศาสนจักรจากกองทัพลอมบาร์ด (ชาวเยอรมันอีกเผ่าหนึ่ง) โดยในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 7 สถานการณ์ของศาสนาจักรถึงคราวคับขันจากการยึดอำนาจในจักรวรรดิโรมันตะวันออก และการขยายตัวของศาสนาอิสลาม ทำให้พระสันตะปาปาหาทางสร้างความมั่นคงให้แก่ศาสนจักร ขอความร่วมมือจากพระเจ้าชาร์เลอมาญ 

     ศาสนจักรมองว่าความร่วมมือนี้จะสืบทอดความรุ่งเรืองของจักรวรรดิโรมันเดิม (ซึ่งล่มสลายไปในคริสต์ศตวรษที่ 5) และทำหน้าที่เป็นกองทัพพิทักษ์พระศาสนา แต่หากมองจากมุมของ ‘ฆราวาส’ หรือมุมของผู้ปกครองทางโลก การสร้างอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าชาร์เลอมาญนั้น เป็นไปเพื่อขยายอาณาเขตของพระองค์เอง โดยยอมรับเงื่อนไขของพระสันตะปาปา 

     อย่างไรก็ดี ฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักรไม่ได้ทำงานร่วมกันราบรื่นเสมอไป 

     ในช่วงต้น จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มีอาณาเขตครอบคลุมหลายประเทศในตอนกลางของทวีปยุโรปปัจจุบัน ถึงแม้อาณาจักรหลายๆ แห่งจะปกครองตนเอง และไม่ได้อยู่ในลักษณะ ‘เมืองขึ้น’ แต่ในทางทฤษฎีซึ่งเชื่อมโยงกับความหมายในเชิงศาสนาแล้ว จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ถือเป็นจักรพรรดิสูงสุดเหนือประเทศคาทอลิกยุโรปทั้งมวล เพราะพระสันตะปาปาทรงสวมมงกุฎในพิธีราชาภิเษก 

     สถานการณ์ทางการเมืองที่ผันเปลี่ยนส่งผลต่อการเปลี่ยนหน้าไพ่ใบนี้เช่นเดียวกับไพ่จักรพรรดินี ไพ่จักรพรรดิรวมทั้งไพ่บรรดาศักดิ์อีกสามใบ อันได้แก่ หัวหน้านักบวชหญิง (สมัยนั้นเรียกว่าพระสันตะปาปาหญิง) จักรพรรดินี และหัวหน้านักบวชชาย (หรือพระสันตะปาปา) ซึ่งอ้างถึงบุคคลที่มีตัวตนจริงนั้นถูกปรับเปลี่ยน โดยคำสั่งของผู้แทนจากพระสันตะปาปา เพราะเห็นว่าไพ่ฉบับนี้ล้อการเมือง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในไพ่จักรพรรดินี) ดังนั้น ไพ่ทาโรต์ระดับโลก (Tarocchino al Mondo) จากโบโลญญา (Bologna) ที่ตีพิมพ์ในศตวรรษที่ 18 จึงใช้ภาพชาวมัวร์ถือคทาดวงตะวันแทนไพ่จักรพรรดิ และในยุคหลังปฏิวัติฝรั่งเศส ไพ่จักรพรรดิฉบับฟรองซัวส์ อิซนาด์ (Francois Isnard) ได้เปลี่ยนชื่อเป็นไพ่คุณตา/คุณปู่

     อองตวน กูต์ เดอ เฌเบอแล็ง (Antoine Court de Gébelin) นักเขียนชาวฝรั่งเศสเสนอว่า ไพ่ทาโรต์มีที่มาจากอียิปต์ เพราะฉะนั้นคทาที่จักรพรรดิถือน่าจะเป็นคทาไม้กางเขนรูปตัวเทา (Tau Cross) มากกว่า 

     คำว่า เทา (Tau) เป็นตัวอักษรกรีก τ ลักษณะคล้ายตัว T ในภาษายุโรปปัจจุบัน ไม้กางเขนรูปตัวเทาจึงเป็นไม้กางเขนที่แทบไม่มียอด 

     ดิฉันไม่ทราบสาเหตุการสันนิษฐานของเดอ เฌเบอแล็ง แต่คาดเดาว่าเป็นเพราะนักบุญแอนโทนีแห่งอียิปต์ (Saint Anthony of Egypt) หรือนักบุญแอนโทนีอธิการ (Saint Anthony the Great) ถือไม้กางเขนทรงนี้ด้วย (ภายหลังไม้กางเขนนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่าไม้กางเขนนักบุญแอนโทนี) และเนื่องจากนักบุญแอนโทนีเผยแผ่ศาสนาที่อียิปต์ อันเป็นที่มาของไพ่ทาโรต์ตามความคิดของเดอ เฌเบอแล็ง คทาของจักรพรรดิจึงน่าจะเป็นไม้กางเขนรูปตัวเทามากกว่า

     ส่วนที่มาของไม้กางเขนตัวเทา น่าจะมาจากจดหมายของบาร์นาบาส (The Epistles of Barnabas) คัมภีร์ประกอบของศาสนาคริสต์ในภาษากรีกโบราณ ซึ่งเล่าว่าเลข 318 คือเลขตัวแทนของพระเยซู เมื่อเขียนเลข 318 เป็นตัวเลขแบบกรีกจะได้ตัวอักษรว่า τιη’ โดยตัวอักษรเทา แทนไม้กางเขน ตัวอักษรอิโยตา (Iota) หรือ ι และตัวอักษรเอตา (Eta) หรือ η แทนชื่อต้นของพระเยซูเมื่อสะกดแบบกรีกว่า Ἰησοῦς, (เยโซอุส) 

     ไพ่ทาโรต์ในยุคหลังได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของเดอ เฌเบอแล็ง แต่เชื่อว่าไพ่จักรพรรดิน่าจะถืออังคห์ (Ankh) สัญลักษณ์แห่งชีวิตและการเกิดใหม่ในเทพปกรณัมอียิปต์โบราณมากกว่า อย่างไพ่เอเตย์ยา อา เฌอ เดอ ลา แพรงแซส (Etteilla a jeu de la princesse) ก็ใช้ภาพกำเนิดชีวิตจากท้องทะเลแทนภาพจักรพรรดิ ซึ่งคาดว่าได้อิทธิพลจากอังคห์ สัญลักษณ์แห่งชีวิตและการถือกำเนิดเช่นกัน เนื่องจากในหลายๆ อารยธรรม สายน้ำถูกมองว่าเป็นแหล่งกำเนิดของสรรพสิ่ง สังเกตได้จากพิธีศีลจุ่มของชาวคริสต์ หรือการผุดขึ้นจากท้องทะเลของเทพีอะโฟรไดท์ (Aphrodite) 

     ไพ่ทาโรต์ฉบับไรเดอร์-เวท-สมิธก็ยึดความเชื่อเรื่องอียิปต์เหมือนกัน แต่จักรพรรดิในฉบับนี้ถือไม้คทารูปอังคห์ ซึ่งดัดแปลงเป็นไม้กางเขนอีกแบบหนึ่งของศาสนาคริสต์ตั้งแต่ยุคสงครามระหว่างชาวกรีกและชาวอียิปต์โบราณ ไม้กางเขนชนิดนี้เรียกเป็นภาษาละตินว่ากรุกซ์ อันซาตา (Crux Ansata) หรือไม้กางเขนที่มีหูจับ (Handled Cross) ส่วนมือขวาของจักรพรรดิถือลูกโลกสื่อถึงการปกครองโลก 

     ไพ่ฉบับนี้ยังไม่ทิ้งธรรมเนียมของศิลปินเดิมๆ ในการวาดภาพจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แม้เราจะไม่เห็นโล่ลงตรานกอินทรีสองหัว แต่มงกุฎของจักรพรรดิในฉบับนี้ถอดแบบมาจากมงกุฎของพระเจ้าชาร์เลอมาญ อีกทั้งจะเห็นว่าบัลลังก์สี่เหลี่ยมตกแต่งด้วยหัวแกะสื่อถึงราศีเมษ และมีบัลลังก์สี่เหลี่ยมสัมพันธ์กับเลขสี่ ซึ่งเป็นเลขประจำไพ่ 

     ภาพธรรมชาติอันแห้งแล้งในฉากหลังตรงข้ามกับธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ของไพ่จักรพรรดินี อาจสื่อถึงความยากลำบากในการปกครองผลพวงของการรบราฆ่าฟัน หรือแม้กระทั่งการผลาญทรัพยากรธรรมชาติปริมาณมากอย่างเป็นระบบ เช่น การทำเรือกสวนไร่นาด้วยพืชเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ หรือการทำเหมืองแร่ ไปจนถึงอาจเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของจักรวรรดิในการควบคุมธรรมชาติก็เป็นได้ (อันที่จริง นัยหนึ่ง ภาพธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์แบบในไพ่จักรพรรดินีก็เป็นจินตนาการเพื่อสนับสนุนการตักตวงผลประโยชน์จากธรรมชาติเช่นกัน) 

     คำว่า Emperor และ Empire ในภาษาไทยแปลว่าจักรพรรดิและจักรวรรดิ ทั้งสองคำมาจากรากศัพท์เดียวกันในภาษาละตินคือ Imperium ซึ่งมีความหมายกว้างๆ ว่าการปกครอง แต่เมื่อจักรวรรดิโรมันขยายตัวขึ้น Imperium จึงมีนัยของการปกครองดินแดนในอาณาเขตมหาศาล และคนในปกครองอาจมากชนชาติและต่างไปจากศูนย์กลาง ภายหลังนำคำนี้มาใช้อธิบายการจัดการยึดครองดินแดนที่แตกต่างจากชาติพันธุ์ของตนอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะในกรณีชาติตะวันตก เช่น อังกฤษ สเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส เยอรมนี (ที่มาของไพ่ใบนี้อาจเกี่ยวกับจักรวรรดินิยม แต่ไพ่ใบนี้ไม่จำเป็นต้องแปลว่าจักรวรรดินิยมหรือการกดขี่ในลักษณะเดียวกันเสมอไปนะคะ) 

     ดิฉันอยากให้เราลองมองภาพของมงกุฎชาร์เลอมาญอีกครั้ง จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ไม่เหมือนจักรวรรดิอังกฤษ สเปน หรือเยอรมันอย่างแน่นอน แม้จะรบราฆ่าฟันกับคนนอกศาสนาบ้าง แต่จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์นั้นไม่ได้ยึดครองพื้นที่ชาติอื่นเพื่อตั้งรกรากและใช้ทรัพยากรเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของศูนย์กลางอย่างเป็นระบบ 

     ดังนั้น จักรพรรดิในภาพหน้าไพ่อาจไม่ได้หมายถึงพระเจ้าชาร์เลอมาญ แต่หมายถึงจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 (Kaiser Wilhelm II) แห่งจักรวรรดิเยอรมัน เพราะในช่วงที่ไพ่ทาโรต์ชุดนี้เริ่มออกแบบและผลิตใน ค.ศ. 1909 นั้น กระแสต่อต้านเยอรมนีก็เกิดขึ้นในอังกฤษเช่นเดียวกัน

     พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 (Edward VII) ทรงเปลี่ยนชื่อราชวงศ์จากซักเซอ-โคเบิร์กแอนด์โกธา (Saxe-Coburg and Gotha) เป็นราชวงศ์วินด์เซอร์ (Windsor) ตามชื่อพระราชวัง เพื่อแสดงตนว่าอยู่คนละฝั่งกับจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 

     ภาพธรรมชาติอันแห้งแล้งในไพ่จึงอาจเน้นย้ำความโหดร้ายของจักรวรรดิเยอรมัน ซึ่งเริ่มเติบโตขึ้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 

     จักรวรรดิเยอรมันอาจโหดร้าย ทารุณ และเป็นชาติที่ริเริ่มจัดการประชุมระหว่างจักรวรรดิต่างๆ เพื่อนำทวีปแอฟริกามาแบ่งเค้ก แต่ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จักรวรรดิต่างๆ จะแข่งขันกันและนำเสนอความโหดร้ายของจักรวรรดิอื่นมากกว่าตนเอง 

     อาจกล่าวได้ด้วยซ้ำว่า ถึงแม้การต่อต้านจักรวรรดิของชาติใดๆ ก็ตามนั้นควรกระทำ แต่การต่อต้านในหลายกรณีก็สะท้อนแนวคิดชาตินิยม ที่ทำให้มองข้ามปัญหาของชาติตนเองซึ่งเป็นจักรวรรดิเหมือนกัน หรืออันที่จริง การต่อต้านจักรวรรดิของชาติอื่นเป็นการจัดการความกังวลต่อจักรวรรดิของตนเองที่ถูกโยนไปให้จักรวรรดิอื่นๆ 

     ส่วนไพ่จักรพรรดิฉบับธอธเลือกใช้สีโทนแดงส้ม เพื่อเน้นย้ำธาตุไฟซึ่งเป็นธาตุของราศีเมษ 

     จักรพรรดิในฉบับธอธถือลูกโลกและไม้คทาเช่นเดียวกับฉบับอื่นๆ โดยไม้คทาของฉบับนี้มีหัวเป็นแกะ ตรงกับสัตว์ประจำราศีเมษ และรูปร่างของไม้คทาดูคล้ายลึงค์  

     ในฉบับธอธ เราจะเห็นโล่ทางมุมซ้ายล่างเป็นภาพนกอินทรีคู่—สัญลักษณ์ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งหากมองว่าเป็นตัวแทนของประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน โครว์ลีย์อาจสื่อถึง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ที่ขึ้นมาเป็นผู้นำในช่วงที่ไพ่ฉบับนี้ผลิตขึ้นก็เป็นได้ โดยโครวลีย์เสนอว่าไพ่ใบนี้เป็นทั้งการสถาปนาระบบระเบียบและการกดขี่

     เมื่อเทียบเคียงกับธาตุต่างๆ ในการเล่นแร่แปรธาตุ โครวลีย์กำหนดให้ไพ่ใบนี้เป็นตัวแทนของกำมะถัน ซึ่งเป็นตัวแทนของพลังงานที่ขับเคลื่อนชีวิต ตรงข้ามกับไพ่จักรพรรดินีที่เป็นตัวแทนของเกลือ ซึ่งรอการกระตุ้นจากกำมะถัน 

     โครวลีย์กล่าวว่า พลังอำนาจที่ไพ่ใบนี้นำเสนอ เป็นพลังอำนาจที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน รุนแรง และไม่ถาวร กำมะถันชวนให้นึกถึงดินปืน อันเป็นที่มาแห่งอำนาจของทั้งราชาและจักรวรรดิมาเนิ่นนาน

     อย่างไรก็ดี ไฟและกำมะถันสามารถเป็นเครื่องสั่นคลอนอำนาจได้เช่นกัน ดังเช่นกรณีระเบิดรัฐสภาด้วยดินปืน หรือแผนการดินปืน (Gunpowder plot) ในอังกฤษศตวรรษที่ 17 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อชาวคาทอลิกผู้คับแค้นใจจากการถูกไล่ล่าและกล่าวหาว่าเป็นขบถมายาวนานวางแผนระเบิดสภาขุนนาง (House of Lords) ในพิธีเปิดรัฐสภาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1605 เพื่อสังหารพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ (James I of England) 

     เดิมทีชาวคาทอลิกถูกเชื่อมโยงกับชาวสเปน ซึ่งเป็นศัตรูของอังกฤษมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะหลังพระสันตะปาปาไพอัสที่ 5 บรรพาชนียกรรมสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 1(Elizabeth I) ใน ค.ศ. 1570 และประกาศให้ชาวคาทอลิกในอังกฤษเลิกสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ เมื่อกองทัพอังกฤษชนะกองเรืออาร์มาดา (Armada) ของสเปน ใน ค.ศ. 1588 ชาวคาทอลิกจึงถูกมองว่าเป็นขบถ และถูกบังคับให้ร่วมพิธีในโบสถ์คริสต์นิกายอังกฤษ (Anglican) หากไม่เข้าร่วมจะต้องจ่ายค่าปรับเข้าหลวงมหาศาล 

     ช่วงนั้นชาวคาทอลิกต้องทำพิธีของตัวเองอย่างหลบๆ ซ่อนๆ แม้พระเจ้าเจมส์ที่ 1 จะมีพระมเหสีเป็นคาทอลิก ยกเลิกการปรับชาวคาทอลิก และอวยยศให้แก่ขุนนางอังกฤษซึ่งแอบนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกก็ตาม แต่ในเวลาไม่นาน พระเจ้าเจมส์ที่ 1 ก็ทรงเผชิญแรงกดดันจากกลุ่มศาสนาอื่นๆ จนเปลี่ยนพระทัยมาต่อต้านชาวคาทอลิกเหมือนเดิม 

     ด้วยเหตุนี้ ชาวคาทอลิกกลุ่มหนึ่ง นำโดย โรเบิร์ต เคทสบี (Robert Catesby) และ กาย ฟอคส์ (Guy Fawkes) จึงร่วมกันวางแผนจุดดินปืนระเบิดรัฐสภา และลักพาตัวเจ้าหญิงอลิซาเบธ พระธิดาในพระเจ้าเจมส์ที่ 1 โดยหวังให้พระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีของพวกตนแทนที่พระเจ้าเจมส์ ทว่าแผนการนี้ถูกสายลับของรัฐบาลจับได้ ผู้ก่อการร้ายจำนวนมากถูกสั่งประหารชีวิต 

     เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดกฎหมายต่อต้านชาวคาทอลิก ไม่รับเข้าทำงานเป็นทหารในทุกกรมกอง ต่อมาชาวคาทอลิกถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุของไฟไหม้ครั้งใหญ่ในกรุงลอนดอน ค.ศ. 1666 และยังถูก ไททัส โอทส์ (Titus Oats) พระอังกฤษรูปหนึ่งกุว่าชาวคาทอลิกวางแผนปลงพระชนม์พระเจ้าชาลส์ที่ 2 (Charles II)  ใน ค.ศ. 1678 ชาวคาทอลิกไม่ได้รับสิทธิเลือกตั้งจนกว่าจะถึง ค.ศ. 1829 

     ในวันที่ 5 พฤศจิกายนของทุกปี ชาวอังกฤษจะถือว่าเป็นวันกาย ฟอคส์ (Guy Fawkes Day) เดิมเป็นวันที่รัฐบาลประกาศให้ฉลองที่เอาชนะกบฎคาทอลิกได้ แต่ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ความเกลียดชังคาทอลิกน้อยลง จึงกลายเป็นเทศกาลก่อกองไฟและจุดพลุเฉลิมฉลองเพื่อความสวยงาม และต่อให้หน้ากากกาย ฟอคส์ จะกลายเป็นของเล่น แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั่วโลก 

     เหตุการณ์นี้ถือเป็นหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ของกำมะถันที่ชี้ให้เห็นว่า กำมะถันผูกโยงกับอำนาจและการต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมอย่างไร

     ข้อความที่น่าสนใจอีกอย่างในหนังสือคู่มือไพ่ของโครว์ลีย์คือเรื่องภาพแกะในไพ่ 

     โครว์ลีย์อธิบายว่า นี่คือการทำงานของอำนาจ แกะสองตัวด้านบนคือแกะป่า ขณะที่แกะในมุมขวาล่างของไพ่ คือแกะที่เชื่อง ขี้ขลาด ชอบอยู่กันเป็นฝูง และมีเนื้อที่ชุ่มฉ่ำ 

     โครว์ลีย์เลี่ยงที่จะไม่อธิบายว่าลูกแกะในภาพสื่อถึงลูกแกะของพระเจ้า (Lamb of God) วลีในคัมภีร์ยอห์น (John) ซึ่งสื่อถึงพระเยซู ถึงแม้ว่ารูปร่างของแกะจะเหมือนภาพลูกแกะของพระเจ้าที่นิยมวาดกันก็ตาม 

     เขาอาจต้องการวิพากษ์ศาสนาคริสต์ที่นับถือผู้นำซึ่งไม่แข็งแรงพอแบบพระเยซู หรือส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะโครว์ลีย์ต้องการต่อต้านครอบครัวของตัวเอง ที่เลี้ยงดูเขาให้อยู่ในกรอบศาสนาคริสต์อย่างเข้มงวดก็เป็นได้

     หลักฐานทางโบราณคดีพบว่ามนุษย์เลี้ยงแกะมาตั้งแต่ยุคเมโสโปเตเมีย หรือเมื่อกว่าหนึ่งหมื่นปีก่อนในแถบตะวันออกกลาง แม้จะยังไม่มีข้อสรุปทางโบราณคดีชัดเจนว่ามนุษย์ทำให้แกะเชื่องได้อย่างไร แต่ก็มีข้อสันนิษฐานอยู่สองข้อ 

     ข้อแรก—มนุษย์เลี้ยงแกะได้เพราะหมาป่ามีพฤติกรรมต้อนสัตว์ที่จะล่า เมื่อชีวิตของมนุษย์และหมาป่าเริ่มเกี่ยวพันกัน ด้วยเหตุที่ต่างฝ่ายต่างมองว่าสามารถช่วยหาอาหารให้ตนเอง การร่วมมือกับหมาป่าเพื่อต้อนแกะมาเป็นอาหารจึงเริ่มขึ้น เราอาจกล่าวได้ด้วยซ้ำว่ากระบวนการทำให้แกะกลายเป็นปศุสัตว์นั้นเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการทำให้หมากลายเป็นสัตว์คู่หูของมนุษย์ (เช่นเดียวกับที่มนุษย์เป็นคู่หูของมัน) 

     ข้อสอง—มนุษย์เห็นว่าแกะเป็นแหล่งอาหารและเครื่องนุ่งห่มที่ดีจึงนำลูกแกะมาเลี้ยง เพราะลูกแกะฝึกให้เชื่องง่ายกว่า ลูกแกะน่าจะได้น้ำนมจากมนุษย์ในช่วงที่เพาะเลี้ยงแรกๆ (ฟังดูน่าตกใจ แต่ในหลายๆ วัฒนธรรม เช่น ในนิวกินี (New Guinea) ผู้หญิงให้นมลูกหมูเหมือนกับที่ให้นมลูกของตนเอง ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการให้อาหาร แต่ยังเชื่อว่าช่วยให้ผู้หญิงมีน้ำนมมากขึ้นและช่วยคุมกำเนิดด้วย) 

     การตีความอำนาจของโครว์ลีย์สะท้อนการสยบยอมราบคาบ คนใช้อำนาจทำให้สัตว์เชื่อง แต่การทำให้เชื่องนั้นไม่ได้แปลว่าสัตว์ไม่มีบทบาทหรือถูกเฆี่ยนตีเพียงอย่างเดียว มนุษย์ฉวยโอกาสใช้ธรรมชาติของสัตว์เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เช่นเดียวกับสัตว์ที่ปรับพฤติกรรมของตัวเองเพื่อให้อยู่กับมนุษย์ มีอาหาร และที่พักอาศัยที่ปลอดภัย 

     กระนั้นเอง การร่วมมือกันของคนกับสัตว์ไม่ได้หมายความว่าจะมีผลทางบวกหรือลบเสมอไป ขึ้นอยู่กับระบบเศรษฐกิจที่ควบคุมความร่วมมือนั้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทั้งมนุษย์และระบบนิเวศในวงกว้าง เช่น กรณีการถางป่าล้อมรั้วเพื่อทำฟาร์มแกะในอังกฤษตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 คนทั้งหมู่บ้าน หรือในบางกรณี คนทั้งเมืองถูกไล่ที่ ป่าไม่อาจฟื้นฟูกลับมาได้ใหม่อีกจนถึงปัจจุบัน

     ภาพของแกะเชื่องอาจชวนให้นึกถึงการเปรียบเทียบพระผู้เป็นเจ้าของศาสนาคริสต์ในฐานะคนเลี้ยงแกะ มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสได้ศึกษาความเปรียบนี้เพื่ออธิบายกลไกการทำงานของอำนาจซึ่งสร้างอัตบุคคล (subject) ในบังคับของรัฐ 

     ฟูโกต์มองว่ารัฐสร้างระเบียบวินัยได้ด้วยการแสดงความห่วงใย และใช้วิธีการสอดส่องดูแลในการสร้างอัตบุคคลในบังคับของรัฐขึ้นมา ฟูโกต์เรียกอำนาจในลักษณะนี้ว่า อำนาจแบบศิษยาภิบาล (Pastoral power) โดยเปรียบการสอดส่องดูแลของรัฐกับศิษยาภิบาล (Pastor) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางศาสนาในชุมชนชาวคริสต์ ที่คอยสอดส่องดูแล และควบคุมชาวบ้านให้อยู่ในระเบียบของพระศาสนา 

     ทั้งนี้ คำว่า Pastor ที่หมายถึงศิษยาภิบาล เดิมหมายถึงคนเลี้ยงแกะมาก่อน ศิษยาภิบาลจึงทำหน้าที่เหมือนคนที่ได้รับมอบหมายจากพระเป็นเจ้า ให้เฝ้าดูประชาชนที่เป็นเหมือนฝูงแกะ ซึ่งเลือกความปลอดภัยแลกกับการเป็นบุคคลในบังคับของคนเลี้ยงแกะ/รัฐ/พระเจ้า

     ถึงแม้ว่าไพ่จักรพรรดิจะเต็มไปด้วยสัญลักษณ์แห่งอำนาจและมีรูปลักษณ์เป็นผู้ชาย แต่ไพ่ใบนี้ไม่ได้มีความหมายเป็นผู้ร้าย (ไม่มีไพ่ใบไหนเป็นผู้ร้ายหรือคนดีทั้งนั้น ความหมายของไพ่แต่ละใบล้วนอิงจากบริบทของไพ่ใบอื่นๆ ที่เปิดออกมาด้วย) 

     ดังที่กล่าวไปแล้วว่าไพ่จักรพรรดิเป็นไพ่แห่งการเป็นผู้นำและผู้จัดระเบียบ ซึ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับทุกฝ่าย ไพ่ทาโรต์ยุคหลังที่เล่าเรื่องการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียม จึงยังคงมีไพ่จักรพรรดิอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนชื่อบ้างหรือตีความใหม่บ้าง เช่น ไพ่ทาโรต์โลกใบถัดไป (Next World Tarot) ของ คริสตี โรด (Cristy Road) ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวการเคลื่อนไหวหลายแง่มุมจากทุกมุมโลก เรียกไพ่จักรพรรดิว่า ครู (The Teacher) และอธิบายว่าหน้าที่ของครูคือผู้สถาปนาพื้นที่และระบบเพื่อให้เกิดการถกเถียงประเด็นทางสังคม เหมือนจักรพรรดิที่ชักนำให้คนเข้าร่วมแสดงความเห็น ครูในภาพมีเพศสภาพเป็นหญิง นั่งอ่านหนังสือ มีตั้งหนังสือและเอกสารเป็นบัลลังก์ 

     ไพ่ทาโรต์ฉบับพลังเทวะ (Numinous Tarot) ของ เซดาร์ แมคเคลาด์ (Cedar McCloud) ตั้งชื่อให้ไพ่จักรพรรดิใหม่ว่า ผู้ก่อตั้ง (The Founder) โดยใช้ภาพคนผมยาวผิวดำนั่งบนกำแพงอิฐ มือถือไม้คทาสองง่าม (Stang) ด้านหลังมีกุหลาบ มีผ้าสีม่วงและดอกกุหลาบสีม่วง เพื่อสื่อถึงการเป็นเจ้านายอยู่ในฉากหลัง 

     แม้จะยังคงใช้สัญลักษณ์สีม่วง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์ในอารยธรรมตะวันตกตั้งแต่สมัยไบแซนไทน์ แต่แมคเคลาด์ก็เขียนคำเตือนไว้ว่า “ระวัง ดอกกุหลาบยังมีหนาม” เพื่อเน้นย้ำว่าอำนาจอาจเป็นพิษร้ายได้เช่นกัน 

     การวาดภาพจักรพรรดิให้เป็นภาพตัวละครผิวดำนั่งบนกำแพงอิฐ จึงเป็นการพยายามเน้นย้ำภาพชีวิตรากหญ้าและผู้กดขี่ที่ลุกขึ้นสู้และเป็นผู้นำ เพศสภาพที่กำกวมของตัวละครในไพ่จึงส่งเสียงไปถึงการต่อต้านความหลากหลายทางเพศในชุมชนแอฟริกันอเมริกันได้ด้วย 

     ไพ่จักรพรรดิคือไพ่แห่งระบบระเบียบ อำนาจ และการจัดการ ในหลายๆ ครั้งเมื่อเปิดไพ่ทำนาย ไพ่ใบนี้มักเข้ามาช่วยจัดสรรสิ่งต่างๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ควบคุม มองปัญหาจากภาพรวม และแก้ปัญหา อีกทั้งไพ่ใบนี้ยังหมายถึงอำนาจและความเป็นผู้นำด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้นำครอบครัว นักการเมือง หรือผู้ปกครอง 

     อย่างไรก็ดี ไพ่จักรพรรดิก็มีคำเตือนแฝงอยู่ ดิฉันคิดว่าไม่มีนักเขียนคนไหนที่จะอธิบายคำเตือนของไพ่ใบนี้ได้ดีไปกว่าโครว์ลีย์ที่กล่าวว่า ไพ่ใบนี้คือพลังอันจำเป็น ไพ่แห่งพลังอันเฉียบพลันและรุนแรง หากพลังของไพ่ใบนี้ดำรงอยู่นานเกินไป ทุกอย่างจะถูกผลาญเผาจนแทบหมดสิ้น