Wed 04 Aug 2021

LOVERS AND OTHER THINGS

อ่านความหมายของไพ่คนรัก

เรื่อง: มิ่ง ปัญหา

ภาพ: ms.midsummer

     ‘ไพ่หมายเลข 6’ หรือ ‘ไพ่คนรัก’ (The Lovers) ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการพบรักหรือการแต่งงานเสมอไป

     หากถามถึงเรื่องความรัก ไพ่ใบนี้อาจหมายถึงการลงหลักปักฐาน รักและอยู่ด้วยกันจริงจังมากขึ้น หรือไม่ก็อาจแปลว่าคู่ของคุณเหมือนเป็นคู่รักฟ้าประทาน อีกทั้งยังอาจหมายถึงความชอบพอกัน ถูกชะตากันระหว่างเพื่อนฝูง หรือการติดต่อสื่อสารทางธุรกิจก็ได้ 

     แต่ อาร์เธอร์ เอ็ดเวิร์ด เวท (Arthur Edward Waite) ผู้ออกแบบไพ่ฉบับไรเดอร์-เวท-สมิธ (Rider-Waite-Smith) และ ซามูเอล ลิดเดล แมกเกรเกอร์ มาเธอร์ส (Samuel Liddell McGregor Mathers) หนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมอรุณทอง (Golden Dawn Society) เสนอว่า ไพ่คนรักแปลว่า การเอาชนะอุปสรรคหรือการทดสอบได้ด้วย 

     ด้านสมาคมอรุณทอง และ อเลสเตอร์ โครว์ลีย์ (Aleister Crowley) ผู้ออกแบบไพ่ธอธ (Thoth Tarot) ก็อธิบายไปทางเดียวกันว่า ไพ่ใบนี้สื่อถึงการเปิดรับ แรงบันดาลใจ แนวคิดใหม่ๆ ตลอดจนนิมิตต่างๆ บางทีอาจหมายถึงการทำตัวเหมือนเด็ก การคิดฟุ้งซ่าน การคิดเล็กคิดน้อย ความคิดที่ขัดแย้งกันเอง ซึ่งอันที่จริงก็เข้ากับความหมายของไพ่ใบนี้ในทางโหราศาสตร์ เพราะไพ่คนรักเป็นสัญลักษณ์ของราศีเมถุน ราศีแห่งการคิด วิเคราะห์ และสื่อสาร 

     ปัจจุบัน ไพ่คนรักใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า The Lovers ในรูปพหูพจน์ ซึ่งหมายถึงคนรักมากกว่าหนึ่งคน แต่ในสำรับอื่นๆ ช่วงก่อนศตวรรษที่ 19 เรียกไพ่ใบนี้ว่า The Lover ซึ่งเป็นรูปเอกพจน์ ส่วนฉบับแครี-เยล วิสกอนติ (Cary-Yale Visconti) ใช้ชื่อว่า Love หรือความรัก ตามที่ห้องสมุดมอร์แกน ซึ่งเก็บต้นฉบับของไพ่สำรับนี้ ระบุเอาไว้

     โยอาฟ เบน-ดอฟ (Yoav Ben-Dov) กล่าวว่า ไพ่ฝรั่งเศสหลายสำรับเรียกไพ่คนรักว่า The Two Paths หรือสองหนทาง เพราะไพ่มีความหมายเกี่ยวกับการเลือก โปล คริสเตียง (Paul Christian) นักเขียนด้านเวทมนตร์คาถาชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 เรียกไพ่ใบนี้ด้วยชื่อที่คล้ายกันว่า The Two Roads (ถนนสองสาย) และ The Ordeal (การทดสอบอันทารุณ) 

     ในหนังสือที (Book T) ซึ่งเป็นคู่มือการอ่านไพ่ทาโรต์ของสมาคมอรุณทองได้ตั้งชื่อเพิ่มให้แก่ไพ่คนรักว่า บุตรแห่งเสียงเทวะ (Children of the Voice Divine) และเทวพยากรณ์แห่งทวยเทพผู้ทรงอานุภาพ (Oracles of the Mighty Gods) สัมพันธ์กับอดัม (Adam) และ อีฟ (Eve) มนุษย์คู่แรก กับพระเจ้าในสวนอีเดน (Eden) ผู้สั่งและสาปให้ทั้งคู่ลงไปเกิดบนโลก 

     ส่วนอเลสเตอร์ โครว์ลีย์ ผู้ออกแบบไพ่ฉบับธอธ เสนอว่าไพ่ใบนี้น่าจะชื่อไพ่พี่น้อง (The Brothers) มากกว่า เพราะตามการตีความและนิมิตของโครว์ลีย์ ไพ่ใบนี้น่าจะเป็นภาพของเคน (Cain) และ เอเบิล (Abel) ลูกของอดัมและ อีฟ

     แรกเริ่มเดิมทีนั้น ไพ่คนรักในฉบับแครี-เยล วิสกอนติ และฉบับวิสกอนติ สฟอร์ซา (Visconti Sforza) นำเสนอภาพของคู่รักและกามเทพ 

     ในฉบับแครี-เยล วิสกอนตินั้น คู่รักอยู่ในซุ้มและมีสุนัขอยู่ระหว่างทั้งสอง ซึ่ง โรเบิร์ต เอ็ม. เพลซ (Robert M. Place) นักประวัติศาสตร์ไพ่ทาโรต์มองว่า เป็นตัวแทนของความรักอันมั่นคงจงรักภักดี อีกทั้งยังเสริมอีกว่า ลักษณะการจัดวางคู่รักในไพ่เหมือนภาพวาดคู่รักของขุนนางหรือเศรษฐีในยุคใกล้เคียงกัน เช่น ภาพ Arnolfini Portrait หรือ The Arnolfini Wedding (งานแต่งงานของอาร์โนลฟีนี) ของ ยาน วาน อีค (Jan Van Eyck) 

     ไพ่ทาโรต์มาร์เซย (Tarot de Marseille) หลายฉบับแสดงความหมายของทางเลือกเช่นเดียวกับความรัก แทนที่จะมีชายหญิงอย่างละหนึ่งในภาพ กลับเป็นชายหนึ่งคน หญิงสองคน การตีความภาพโดยส่วนใหญ่จึงเป็นไปในทิศทางที่ว่าชายหนุ่มจะเลือกใคร กามเทพที่อยู่ด้านบนจะแผลงศรไปทางไหน ไพ่ฉบับนี้จึงสื่อถึงการเลือกชัดเจน 

     โรเบิร์ต เอ็ม. เพลซ เสนอว่า ภาพชายเลือกหญิงสาวสองคนมาจากขนบการวาดภาพเฮอร์คิวลิส (Hercules) ณ ทางแยก ซึ่งเป็นนิทานเปรียบเทียบที่เล่าโดย เซโนฟอน (Xenophon) นักปรัชญาชาวกรีก เชื่อว่าเป็นเรื่องเล่าของ โพรดิคัส (Prodicus) โดยโพรดิคัสกล่าวว่า เมื่อเฮอร์คิวลิสยังหนุ่ม เขาต้องเผชิญหน้ากับหญิงสองคน คนหนึ่งเป็นตัวแทนของชีวิตสุขสบาย อีกคนคือตัวแทนของชีวิตยากลำบากแต่สง่างาม เรื่องเล่านี้เป็นที่นิยมในหมู่ศิลปินยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ในยุโรป จึงมักปรากฏผ่านภาพเขียนในยุคนั้นจำนวนมาก เช่น ภาพอุปมานิทัศน์ของความชั่วร้ายและความดีงาม (Allegory of Vice and Virtue) ของ เปาโล เวโรเนเซ (Paolo Veronese) เป็นต้น 

     ภาพหญิงผู้เป็นตัวแทนของความดีงามนั้นสวมชุดสีหม่นและมงกุฎใบไม้ ขณะที่หญิงอีกคนสวมเสื้อผ้าหรูหราสีสันสดใส มีดอกไม้แซมผม แสดงความชั่วร้าย ไพ่ฉบับมาร์เซยหลายฉบับนำเสนอภาพลักษณะคล้ายกัน หญิงฝั่งหนึ่งมีมงกุฎใบไม้ อีกฝั่งมีมงกุฎดอกไม้ ดอกไม้ในที่นี้น่าจะสื่อถึงความหอมหวานและกิเลสตัณหา ขณะที่มงกุฎใบไม้สื่อถึงชัยชนะและเกียรติยศ เพราะใบไม้ในมงกุฎของเธอคือใบลอเรล (Laurel) ซึ่งจะใช้เป็นรางวัลแก่ผู้ชนะการแข่งขันโอลิมปิกตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ 

     อองตวน กูต์ เดอ เฌเบอแล็ง (Antoine Court de Gébelin) นักเขียนชาวฝรั่งเศสเสนอว่า หญิงที่สวมมงกุฎใบไม้น่าจะเป็นนักบวชชายในยุคก่อนศาสนาคริสต์ ซึ่งกำลังประกอบพิธีแต่งงานให้แก่คู่บ่าวสาว บาร์บารา จี. วอล์กเกอร์ (Barbara G. Walker) ก็ตีความในทางเดียวกัน แต่มองว่าเป็นนักบวชหญิง ดังจะเห็นได้จากไพ่ทาโรต์ของเธอ ซึ่งดัดแปลงจากไพ่คนรักฉบับมาร์เซย

     ส่วนไพ่คนรักในฉบับไรเดอร์-เวท-สมิธนำเสนอผ่านภาพของอดัมกับอีฟ ซึ่งดูจะสัมพันธ์กับชื่อไพ่ของสมาคมอรุณทองที่เรียกว่าบุตรแห่งเสียงเทวะ และเข้ากับการที่บอกว่าไพ่นี้สื่อถึงราศีเมถุน เพราะเป็นราศีแห่งการสื่อสารและการเจรจา 

     นอกจากนี้ ชื่อเสริมทั้งสองยังสัมพันธ์กับการสร้างโลกของพระผู้เป็นเจ้า กล่าวคือพระผู้เป็นเจ้าสร้างโลกด้วยภาษา ภาษาเป็นจุดเริ่มต้นของโลก คัมภีร์ยอห์น (John) บรรพที่ 1 วรรคที่ 1 ได้กล่าวว่า In the beginning was the Word, and the Word was with God, and the Word was God” (ในปฐมกาลพระวาทะทรงดำรงอยู่ และพระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า และพระวาทะทรงเป็นพระเจ้า) จากประโยคดังกล่าว อนุมานได้ว่าอดัมกับอีฟน่าจะเป็นบุตรแห่งเสียงเทวะ 

     อีกชื่อหนึ่งที่สมาคมอรุณทองมอบให้คือ เทวพยากรณ์แห่งทวยเทพผู้ทรงอานุภาพ ซึ่งอาจหมายถึงคำลงทัณฑ์ของพระเจ้าต่อมนุษย์ทั้งสองและงู ในกรณีที่อีฟกินแอปเปิลต้องห้ามจากคำยั่วยุของงู ซึ่งส่งผลต่อชีวิตมนุษย์และงูทุกเผ่าพันธุ์ก็เป็นได้ 

     อดัมกับอีฟในไพ่ฉบับไรเดอร์-เวท-สมิธมีพื้นหลังเป็นสวนอีเดน สวนสวรรค์ที่พระเจ้าสร้างขึ้นให้แก่มนุษย์และสรรพสัตว์อาศัย ต้นไม้สำคัญในสวนมีสองต้น ต้นหนึ่งคือต้นไม้แห่งการรู้ถึงความดีและความชั่ว (Tree of Knowledge of Good and Evil) ซึ่งอยู่ข้างๆ อีฟและมีงูเลื้อยพันอยู่ อีกต้นคือต้นไม้แห่งชีวิต (Tree of Life) อยู่ฝั่งอดัม 

     คัมภีร์ปฐมกาล (Genesis) เล่าว่า พระเจ้าสั่งห้ามอดัมกับอีฟกินผลไม้จากต้นไม้แห่งการรู้ถึงความดีและความชั่ว แต่อีฟถูกงูยั่วยุให้กินผลไม้นั้น เพื่อให้รู้ถึงความดีและความชั่วเหมือนเช่นพระเจ้า อีฟกินก่อนแล้วจึงให้อดัมทำตาม จากนั้นทั้งสองจึงหนีไปซ่อนตัว เพราะเริ่มอับอายที่ตนเองเปลือยกาย เมื่อพระเจ้าถามหาทั้งคู่จึงทราบว่าทั้งอีฟและอดัมได้ละเมิดคำสั่งของตน พระเจ้าจึงสาปงูให้ไม่มีขา ต้องเลื้อยไปกับพื้นดิน สาปให้อีฟและผู้หญิงทุกคนต้องตั้งท้อง และสาปให้อดัมต้องตาย อีกทั้งยั้งห้ามอดัมกับอีฟเข้าใกล้ต้นไม้แห่งชีวิตซึ่งเป็นต้นไม้แห่งความเป็นอมตะอีก และปิดท้ายด้วยการไล่ทั้งสองคนออกไปจากสวนอีเดน การละเมิดคำสั่งพระเจ้าในครั้งนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของบาปกำเนิด (Original Sin) ในศาสนาคริสต์ 

     เวท ผู้ออกแบบไพ่ กล่าวในหนังสือ The Pictorial Key to the Tarot ว่า ผู้ชายจะสมบูรณ์ได้ก็ด้วยผู้หญิง และจะยิ่งใหญ่ได้ก็เมื่อผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของพญางูก่อน เวทเน้นย้ำว่า อีฟไม่ใช่นางมารจอมยั่วยวน แต่เป็นกลจักรหนึ่งในการลิขิตของพระเจ้า เพื่อนำมาสู่หนทางทางศาสนาของมนุษย์ผู้ชาย ซึ่งจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งในที่สุด 

     แม้เวทจะตีความตำนานต้นฉบับใหม่ เพื่อไม่ให้ผู้หญิงตกเป็นต้นกำเนิดของบาปกรรม แต่การใช้คำว่า man เพื่อสื่อถึงมนุษย์ในต้นฉบับ ก็เน้นย้ำว่าผู้หญิงมีหน้าที่เป็นเหมือนพาหนะให้ผู้ชายเข้าถึงพระเจ้าได้ในที่สุด โดยไม่ได้กล่าวถึงการเข้าถึงพระเจ้าของผู้หญิงเลย 

     ส่วนเทวดาที่ลอยอยู่ด้านบนนั้น อันที่จริงแล้ว เวทไม่ได้บอกเลยว่าเป็นใคร บอกเพียงแต่ว่าเป็นร่างที่มีปีก ซาชา แกรห์ม (Sasha Graham) นักเขียนเรื่องไพ่ทาโรต์ และโรเบิร์ต เอ็ม. เพลซ กล่าวว่า เทวดาในภาพน่าจะเป็นอัครเทวทูตราฟาเอล (Archangel Raphael) เทวทูตแห่งการเยียวยาและการจับคู่สมรส ซึ่งเหมาะกับความหมายเกี่ยวกับความรักของไพ่ใบนี้ 

     อย่างไรก็ดี หากมองว่าไพ่ใบนี้คือช่วงเวลาก่อนพระเจ้าจะไล่อดัมและอีฟออกจากสวนอีเดน เทวดาองค์นี้ก็อาจจะเป็นเทวดาถือดาบเพลิงที่ไล่อดัมกับอีฟออกจากสวนตามคำบัญชาของพระเจ้าก็เป็นได้ แต่ไม่มีข้อความระบุชัดเจนในพระคัมภีร์ว่าเป็นเทวดาองค์ไหน บ้างก็ว่าเป็นอูเรียล (Uriel) บ้างก็ว่าเป็นคามาเอล (Camael) บ้างก็ว่าเป็นโจฟิเอล (Jophiel) 

     ถึงแม้ภาพในไพ่ฉบับไรเดอร์-เวท-สมิธจะไม่มีดาบ แต่ดาบเป็นสัญลักษณ์สำคัญประจำไพ่คนรัก เพราะไพ่ใบนี้เชื่อมโยงกับอักษรฮีบรู ‘ז หรือ ‘ซาอิน’ (Zain) ซึ่งแปลว่าดาบหรือชุดเกราะ สัญลักษณ์นี้ปรากฏอยู่ในไพ่ทาโรต์ฉบับธอธของโครว์ลีย์ จัดเรียงอยู่ด้านบนเป็นซุ้มกระบี่ เหนือคู่รักซึ่งกำลังได้รับพรจากเทวดาหรือนักบวชในพิธีแต่งงาน

     ไพ่คนรักฉบับธอธมีรายละเอียดมาก แต่โดยรวมสื่อถึงการหลอมรวม โครว์ลีย์กล่าวว่า ไพ่ใบนี้คือไพ่แห่งการแยกและการหลอมรวม (มาจากภาษาละตินว่า Solve et coāgulā อาจแปลเป็นประโยคคำสั่งภาษาอังกฤษว่า Resolve and coagulate) ตามการเล่นแร่แปรธาตุ ซึ่งต้องอาศัยทั้งการแยกองค์ประกอบและการผสมองค์ประกอบเหล่านั้น (หรือการวิเคราะห์และการสังเคราะห์นั่นเอง) โดยดาบสามารถเป็นเครื่องมือแห่งการแยกได้ด้วย แต่การแยกครั้งนี้ไม่ใช่การแยกขาด แต่เป็นการแยกให้รู้จักองค์ประกอบก่อนจะรวมกัน 

     โครว์ลีย์เสนอว่าไพ่ใบนี้คือการสร้างโลก และเน้นย้ำว่าการเล่นแร่แปรธาตุคือศาสตร์แห่งการสร้างจักรวาลแบบใหม่ตามแบบของตนเอง ศาสตร์ทุกอย่างต้องผ่านการเข้ารหัสเพื่อไม่ให้ศาสนจักรและผู้มีอำนาจเข้ามาขัดขวาง เพราะการนำเสนอจักรวาลในรูปแบบใหม่นั้นขัดแย้งกับทัศนะของศาสนาจักร นักเล่นแร่แปรธาตุและนักวิทยาศาสตร์จึงตกเป็นเหยื่อการควบคุมของศาสนจักร 

     ที. ซูซาน ชาง (T. Susan Chang) นักเขียนเรื่องไพ่ทาโรต์กล่าวว่า หากมองไพ่ชุดใหญ่ทั้งหมดคือการเดินทางของไพ่คนโง่ ไพ่คนรักก็คือครั้งแรกที่คนโง่ได้เจอและหลอมรวมกับความเป็นอื่น กับคนรักซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแต่มาเติมเต็มเรา 

     รายละเอียดโดยรวมของไพ่ฉบับธอธสื่อถึงการหลอมรวมของความเป็นชายและความเป็นหญิง (ไม่ได้หมายถึงผู้มีร่างกายเป็นชายและหญิง) สัญลักษณ์ที่นำเสนอพลังแบบผู้ชายสังเกตได้จากเจ้าบ่าวผิวดำถือหอกที่มีเด็กผิวดำส่งให้ ขณะที่มืออีกข้างถือกระบอง อุปกรณ์ทุกอย่างมีลักษณะเหมือนลึงค์ 

     โครว์ลีย์อธิบายด้วยว่า สิงโตสีแดงฝั่งเจ้าบ่าวผิวดำเป็นตัวแทนของพลังความเป็นชาย ขณะเดียวกัน สัญลักษณ์ต่างๆ ของฝั่งเจ้าสาวก็มีลักษณะเหมือนโยนี สังเกตได้จากเจ้าสาวผิวขาวถือจอกที่เด็กผิวขาวส่งให้ อีกมือหนึ่งของเด็กถือดอกกุหลาบ นกอินทรีขาวทำหน้าที่แทนพลังของผู้หญิง 

     ด้านล่างตรงกลางเป็นภาพไข่แห่งจักรวาล (Orphic Egg) ตามศาสนาออร์ฟิสม์ (Orphism) ของชาวกรีกโบราณ สัมพันธ์กับคำพูดของโครว์ลีย์ที่ว่าการเล่นแร่แปรธาตุคือการสร้างจักรวาลใหม่ ไข่ฟองนี้เป็นตัวแทนผลลัพธ์ของการรวมพลังขั้วชายหญิง ไข่ฟองนี้ถูกพันด้วยงู สัญลักษณ์ของเทพีอนังเค (Ananke) เทพีแห่งชะตากรรมและเหตุอันเลี่ยงไม่ได้ ผู้ให้กำเนิดไข่ฟองนี้จะกลายเป็นเทพโพรโตโกนอส (Protogonos) ซึ่งแปลว่าผู้เกิดเป็นคนแรก เทพโพรโตโกนอสถือเป็นราชันแห่งสรวงสวรรค์คนแรกตามศาสนาออร์ฟิสม์ มีลักษณะเป็นเทพกึ่งชายกึ่งหญิง (Hermaphrodite) และมีปีก 

     ดาวพุธซึ่งเป็นดาวประจำราศีเมถุนปรากฏอยู่ในข้อความที่โครว์ลีย์กล่าวถึงไพ่ใบนี้ว่า นี่คือไพ่ของฝาแฝด (สัญลักษณ์ของราศีเมถุนแบบตะวันตก) และไพ่ของผู้มีลักษณะกึ่งชายกึ่งหญิง หรือที่ทับศัพท์ว่า Hermaphrodite 

     คำนี้มาจากชื่อเฮอร์มาโฟรดิทัส (Hermaphroditus) ลูกของเทพเฮอร์มีส (Hermes) เทพแห่งการสื่อสารของชาวกรีก หรือเทพเมอร์คิวรี (Mercury) เทพดาวพุธของโรมัน กับเทพอะโฟรไดที (Aphrodite) เทพีแห่งความปรารถนา 

     เฮอร์มาโฟรดิทัสเป็นที่รักของนางไม้ชื่อซัลมาซิส (Salmacis) จนวันหนึ่งนางไม้กระโจนเข้าใส่เขาและขอพรให้ได้แนบสนิทกับเขาเป็นเนื้อเดียว ทำให้ร่างของเฮอร์มาโฟรดิทัสมีสองเพศ และกลายเป็นที่มาของผู้มีลักษณะกึ่งหญิงกึ่งชาย 

     กามเทพดูจะสัมพันธ์กับดาวพุธด้วย เพราะตำนานฉบับหนึ่งกล่าวว่าพ่อของกามเทพคือเฮอร์มีส ทำให้กามเทพเป็นพี่น้องกับเฮอร์มาโฟรดิทัส

     ผู้ประกอบพิธีแต่งงานให้หญิงชายในภาพไพ่ฉบับธอธคือ ฤๅษีจากไพ่หมายเลข 9 (The Hermit) นอกจากฤาษีจะสำคัญในฐานะผู้ให้พรแล้ว ยังสัมพันธ์กับราศีเมถุนในแง่ของการเป็นไพ่ราศีกันย์ ซึ่งมีดาวพุธเป็นดาวประจำราศี เช่นเดียวกับราศีเมถุน 

     กระดาษที่บิดวนอยู่ระหว่างแขนของฤๅษีนั้น โครว์ลีย์กล่าวว่า เป็นตัวแทนพระวจนะของพระเจ้า หากมองว่าราศีเมถุนเป็นราศีแห่งการสื่อสารซึ่งดัดแปลงวาจาได้เก่งกาจ ภาพกระดาษบิดวนในลักษณะของวงแหวนโมเบียส (Möbius strip) ซึ่งบิดวนจนเหลือพื้นผิวเดียว ชวนให้นึกถึงการพูดความจริงแบบเลี่ยงๆ ความจริงได้ปรากฏแล้วบนพื้นผิว แต่ถูกบิดวนจนมองไม่เห็น 

     เสียงและภาษาเป็นประเด็นหนึ่งที่ไพ่คนรักนำเสนอ และสัมพันธ์กับราศีเมถุนด้วย อย่างที่เล่าไปในตอนต้นว่าไพ่ใบนี้มีอีกชื่อหนึ่งจากสมาคมอรุณทองว่า เทวพยากรณ์ของทวยเทพผู้ทรงอานุภาพ (The Oracle of the Mighty Gods) แม้โครว์ลีย์ไม่ได้สื่อสารประเด็นนี้ในไพ่ชัดเจนนัก แต่ก็ได้เขียนข้อความถึงผู้ศึกษาไสยเวทเมื่อจับได้ไพ่ใบนี้ ซึ่งพอจะแปลได้ว่า 

     “ขอจงฟังเทวพยากรณ์ของทวยเทพ ซึ่งคือเสียงของเด็กผู้แสดงความรักอยู่ภายในจิตวิญญาณของเราเอง อย่าได้ฟังเสียงยั่วยวนราวนางไซเรนของประสาทสัมผัส หรือเสียงอันเหมือนภูตผีของเหตุผล จงตั้งอยู่ในความเรียบง่าย และฟังความเงียบ” 

     ข้อความนี้เน้นย้ำการเปิดใจพบเจอคู่ตรงข้ามภายในตัวเอง หรือเสียงแห่งรักจากภายในตัวเอง พิธีกรรมของไพ่คนรักจึงไม่จำเป็นต้องเป็นการแต่งงานจริงๆ แต่เป็นพิธีกรรมทำความรู้จักกับเสียงภายในตนเองและหลอมรวมกับเสียงเหล่านั้นก็ย่อมได้ 

     อย่างไรก็ดี ไพ่ใบนี้ยังไม่ทิ้งตำนานปฐมกาลตามแบบคริสเตียน รูปปั้นที่ขนาบข้างกามเทพบริเวณมุมบนซ้ายและขวาของภาพคืออีฟและลิลิธ (Lilith) (ดิฉันยังแยกไม่ออกว่ารูปปั้นไหนคืออีฟ รูปปั้นไหนคือลิลิธ) ลิลิธเป็นตัวละครนอกพระคัมภีร์ไบเบิล แต่อยู่ในตำนานยิว 

     มีเรื่องเล่ายิวในศตวรรษที่ 8-10 ว่า เมื่อพระเจ้าสร้างมนุษย์ พระเจ้าสร้างอดัมเป็นชายคนแรกและลิลิธเป็นหญิงคนแรกจากดิน แต่เมื่อต้องร่วมเพศกับอดัม ลิลิธไม่ยอมนอนอยู่ข้างล่างและบินหนีไป แม้เทวดาตามให้กลับมาก็ไม่ยอมกลับ ลิลิธกลายเป็นปีศาจซึ่งหมายจะแย่งลูกของมนุษย์ ลิลิธได้กล่าวว่า ตนจะมีอำนาจเหนือเด็กผู้ชายหลังคลอดแปดวัน เด็กผู้หญิงหลังคลอดยี่สิบวัน เว้นเสียแต่ว่าเด็กเหล่านั้นจะมีเครื่องรางเขียนชื่อเทวดาสามองค์ซึ่งมาตามเธอกลับไป อันได้แก่ เซนอย (Senoy) ซานเซนอย (Sansenoy) และ เซมานเกลอฟ (Semangelof) พระเจ้าจึงสร้างอีฟจากกระดูกของอดัมเพื่อให้เป็นภรรยาของอดัม ในขณะที่ลิลิธกลายเป็นมารดาแห่งปีศาจทั้งมวล

     ไพ่คนรักฉบับธอธไม่เพียงแต่จัดวางอีฟและลิลิธไว้ในภาพเดียวกัน เพื่อท้าทายศาสนาคริสต์กระแสหลักเท่านั้น แต่ไพ่ใบนี้ยังแสดงภาพของการสมรสที่แหวกขนบสังคมในสมัยนั้นด้วยการจับคู่ชายผิวดำแหละหญิงผิวขาว เนื่องจากช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ผู้คนเชื่อกันอย่างแพร่หลายว่าการแต่งงานข้ามชาติพันธุ์จะทำให้ทายาทร่างกายอ่อนแอและเผ่าพันธุ์เสื่อมทราม ซึ่งความเชื่อเหล่านี้มาจากการเหยียดชาติพันธุ์ที่อยู่ในองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และประชากรศาสตร์ในสมัยนั้น หรือช่วงเวลาที่โครว์ลีย์และ เลดี ฟรีดา แฮร์ริส (Lady Frieda Harris) ออกแบบไพ่ทาโรต์ฉบับธอธมีชีวิตอยู่ 

     ราวทศวรรษ 1930s นักเขียนผิวดำรวมกลุ่มกันเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมระหว่างชาติพันธุ์ พวกเขานิยามตัวตนอันบุบสลายจากระบบจักรวรรดินิยมอังกฤษและสหรัฐฯ อีกทั้งยังท้าทายภาพจำด้วยการสร้างเรื่องเล่าและคำนิยามเกี่ยวกับพี่น้องผิวดำทั่วโลกขึ้นใหม่ ไพ่ใบนี้จึงแสดงให้เห็นถึงการยอมรับคนผิวดำในฐานะเพื่อน หรือพี่น้อง ตามชื่อไพ่ที่โครว์ลีย์เสนออีกด้วย

     ไพ่ทาโรต์ในศตวรรษที่ 21 ได้ดัดแปลงลักษณะของไพ่ทาโรต์ต้นฉบับเพื่อให้เข้ากับค่านิยมใหม่ และเปิดพื้นที่ให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมทางเพศ

     ไพ่คนรักฉบับทาโรต์ เดล ฟูเอโก (Tarot del Fuego) โดยศิลปินสเปน ริคาร์โด คาโวโล (Ricardo Cavolo) ดัดแปลงไพ่มาร์เซยให้อยู่ในสไตล์ป๊อปอาร์ต (Pop Art) และมักวาดตัวละครให้มีสี่ตา 

     ไพ่คนรักฉบับนี้ล้อเลียนการตัดสินใจเลือกหญิงสองรูปแบบในต้นฉบับ อันได้แก่ หญิงสวมมงกุฎใบลอเรลเป็นตัวแทนของเกียรติยศศักดิ์ศรี และหญิงที่มีดอกไม้แซมผมเป็นตัวแทนกิเลสตัณหา ซึ่งในไพ่ฉบับนี้ หญิงสองคนรวมร่างเป็นฝาแฝดตัวติดกัน สอดคล้องกับราศีเมถุน คนหนึ่งมีต้นไม้บนหัว อีกคนเป็นดอกไม้ ตีความได้ว่า ความพยายามจะแยกผู้หญิงออกเป็นแม่พระหรือตัวแทนแห่งศีลธรรม กับโสเภณีที่เปี่ยมด้วยแรงเสน่หานั้น เป็นความพยายามกำหนดบทบาทของผู้หญิงโดยสังคมชายเป็นใหญ่ที่ล้มเหลว เพราะผู้หญิงไม่อาจเป็นเพียงสัญลักษณ์ของความดี ความชั่ว และไม่อาจแยกดีชั่วให้ขาดออกจากกันได้ 

     ไพ่คนรักฉบับพลังเทวะ (Numinous Tarot) ของ เซดาร์ แมคเคลาด์ (Cedar McCloud) นำเสนอกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์และเพศสถานะนอนกับพื้นเป็นวงกลม ระหว่างศีรษะของคนเหล่านั้นมีดาวเจ็ดแฉกในวงกลมสีเหลือบรุ้ง นอกจากภาพจะนำเสนอสารที่ชวนให้นึกถึงธงสีรุ้งของเทศกาลไพรด์ ไพ่ฉบับนี้ยังไม่ได้แสดงความรักและความปรารถนาทางเพศระหว่างตัวละครอย่างชัดเจน (ต้องไม่ลืมว่า ในตัวอักษร LGBTQIA+ มี A ซึ่งหมายถึง Asexual ผู้ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ และ Aromantic ผู้ไม่มีความรู้สึกรักใคร่แบบโรแมนติกด้วย) ไพ่แสดงการผสมผสานของชื่อไพ่โดยทั่วไป นั่นคือ ‘คนรัก’ และชื่อที่โครว์ลีย์เสนอนั่นคือ ‘พี่น้อง’ ซึ่งแสดงความผูกพันเป็นพี่เป็นน้องในขบวนการของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อต่อต้านขนบรักต่างเพศด้วย 

     ไพ่คนรักเอื้อให้เกิดการตีความเชิงการเมืองในเรื่องเพศด้วย เราจะพบภาพความรักหลากหลายรูปแบบมากขึ้นในสำรับใหม่ๆ อย่างไพ่คนรักแสดงถึงความสัมพันธ์ในระบบนิเวศ เช่น ไพ่ทาโรต์โบทานิกา (Botanica Tarot) ของ เควิน เจย์ สแตนตัน (Kevin Jay Stanton) ที่ใช้ภาพดอกโบตั๋นคู่เพื่อสื่อถึงไพ่คนรัก และอธิบายในหนังสือคู่มือว่า ดอกโบตั๋นเป็นดอกสมบูรณ์เพศ (Perfect flower) กล่าวคือมีทั้งเกสรตัวผู้และตัวเมียในดอกเดียว 

     นอกจากนี้ ดอกโบตั๋นยังมีความสัมพันธ์แบบได้ประโยชน์ร่วมกัน (Protocooperation) กับมด กล่าวคือมดสามารถกินน้ำหวานจากดอกโบตั๋นได้ และปกป้องดอกโบตั๋นซึ่งยังตูมอยู่จากแมลงชนิดอื่นได้ จนเกิดความเชื่อกันว่า ดอกโบตั๋นนั้นจะบานได้ต้องมีมดขึ้น 

     ความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือไม่ ต่างมีหลากหลายรูปแบบจนไม่อาจนิยามได้หมดสิ้น และไม่มีนิยามใดที่จะถูกต้องหรือสมบูรณ์กว่าแบบอื่นๆ 

     ความรักและความผูกพัน (Attachment) กลายเป็นคำอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุใดๆ ตามปรัชญาของ แกรห์ม ฮาร์แมน (Graham Harman) นักปรัชญาอเมริกันผู้สนใจสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (nonhuman)  และแม้ว่าไพ่คนรักอาจจะสื่อถึงอำนาจของภาษาและการเจรจาสื่อสารเพราะเป็นไพ่ประจำราศีเมถุน แต่ไพ่ใบนี้ก็ถือเป็นไพ่แห่งการเปิดรับสิ่งต่างๆ การเปิดประตูออกไปสร้างความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม ภาษาที่เราเตรียมไว้สื่อสารก็อาจจะต้องปรับ เปลี่ยน หรือแปลง เพื่อเจรจากับความเป็นอื่นที่จริงๆ แล้ว เราอาจคุ้นเคยก็เป็นได้