Thu 22 Oct 2020

NOTHING BUT THE TRUTH

การเซนเซอร์ข่าวในหนังสือพิมพ์ นักข่าวที่หายสาบสูญ เรื่องสั้นเมื่อหลายสิบปีก่อนที่เข้ากับยุคสมัยอย่างไม่น่าเชื่อ

ภาพ: NJORVKS

บทความชิ้นนี้มีการเผยแพร่เนื้อหาของหนังสือ

     หลังคำสั่งในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงที่ 4/2563 ลงนามวันที่ 16 ตุลาคม ห้ามนำเสนอข่าวที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความกลัวหรือมีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ตามด้วยการจับกุมนักข่าวประชาไทในระหว่างสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม รวมไปถึงคำสั่งศาลสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ Voice TV ในวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ล้วนเป็นการใช้อำนาจรัฐในการปิดและสกัดกั้นสื่อไม่ให้นำเสนอข่าวการชุมนุมของคณะราษฎรอันมีประชาชน นิสิต นักศึกษาเข้าร่วมเป็นจำนวนมากตลอดช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 14 ถึง 19 ตุลาคม 2563 ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่เกิดการชุมนุมพร้อมกันทั่วประเทศในหลายจังหวัด

     ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐคุกคามสื่อด้วยวิธีการทางกฎหมายเช่นนี้ เพราะ ‘ครั้งแรก’ ของการเซนเซอร์จนถึงเข้าขั้นคุกคามสื่ออย่างหนักถึงขั้นชีวิต เราสามารถสืบย้อนไปได้ถึงทศวรรษ 2490 ในยุคสมัยรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เลยทีเดียว

     หนึ่งในหลักฐานชิ้นสำคัญนอกจากข่าวหนังสือพิมพ์และบทความต่างๆ ที่พูดถึงสถานการณ์ในยุคสมัยนั้นแล้ว เรื่องสั้นเรื่องหนึ่งชื่อ ไปชุบตัว ของ เหม เวชกร จิตรกรและนักเขียนชื่อดังผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ยังได้เก็บเอา ‘บรรยากาศ’ ความหวาดกลัวของยุคสมัยแห่งการคุกคามสื่อเอาไว้ด้วย

     เรื่องสั้น ไปชุบตัว ถูกนำเสนอในคราบของเรื่องสั้นแนวผี ที่ผู้อ่านติดตามงานเขียนชนิดนี้ของเหมกันอย่างเกรียวกราว นับแต่เขาเริ่มตีพิมพ์เรื่อง ผี! ครั้งแรกในหนังสือ เพลินจิตต์พิเศษ เล่ม 1 ออกวันที่ 5 กรกฎาคม 2476 โน่นเลย 

    เหมเขียนเรื่องสั้นแนวผี-ลี้ลับเช่นนี้มาเรื่อยๆ จนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิตในปี 2512 นับเวลายาวนานเกือบสี่สิบปีที่เรื่องสั้นผีของเหมไม่ได้แค่บันทึกความเชื่อและบรรยากาศในแต่ละยุคสมัย แต่ยังบันทึกความกลัวในหลากหลายรูปแบบ

     รวมทั้งความกลัวในภัยการเมือง

ไปชุบตัว

     เรื่องเริ่มต้นจาก ‘นายเรือง’ หนุ่มวัย 15 ชาวบ้านมาบโพธิ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ได้รับการชักชวนจากนายเกียรติ หรือน้าเกียรติที่นายเรืองเรียกอย่างสนิทสนม ให้เข้าไปช่วยงานหนังสือพิมพ์ที่กรุงเทพฯ ในตำแหน่งพนักงานเรียงพิมพ์ ประจำสำนักข่าวหนังสือพิมพ์ เพื่อนไทย 

     น้าเกียรติผู้นี้เป็นนักข่าวที่นายเรืองระบุว่า “เป็นนักเขียนบทความและไม่มีบ้านของตัวเองอยู่จึงอาศัยที่ทำการนี้” หมายถึงน้าเกียรติอาศัยตึกสำนักข่าวเป็นที่อยู่อาศัย นายเรืองยังกล่าวถึงบทบาทของน้าเกียรติอีกว่า “คนหนังสือพิมพ์ที่นี่เป็นนักการเมืองกันหลายคน และน้าเกียรติก็เล่นการเมืองกับเขาด้วย ผมได้ยินคนพูดกันว่าน้าเกียรตินี่ปากกาคมนัก” พฤติการณ์ของน้าเกียรติในเรื่องนั้นมีทั้งตกกลางคืนมักไปประชุมการเมืองกับเพื่อนอยู่บ่อยๆ แทบไม่กลับบ้าน บางครั้งก็รอต้อนรับเพื่อนนักหนังสือพิมพ์ที่เพิ่งออกจากคุก ชีวิตน้าเกียรติในสายตานายเรืองจึงดูเหมือนจะวุ่นวายอยู่กับการเมืองมากกว่าการนั่งหน้าแป้นพิมพ์ดีดเขียนข่าว 

     ด้วยความที่เรื่องสั้นเล่าจากมุมมองของนายเรือง เราจึงเห็นมุมมองของคนที่ ‘ไม่เข้าใจการเมือง’ ที่พยายามทำความเข้าใจสภาวะการเมืองในขณะนั้น ฉากแรกที่น้าเกียรติพานายเรืองมาถึงตึกสำนักข่าว ก็มีคนตรงเข้ามาแจ้งน้าเกียรติว่าตอนนี้หนังสือพิมพ์ เพื่อนไทย กำลังจะถูกปิด เพราะมีคอลัมนิสต์คนหนึ่งไป “พูดกระทบกระเทือนเข้าซีครับ ท้วงมาทันที” แต่บรรณาธิการเป็นคนไปต่อรองจึงหลุดพ้นการถูกสั่งปิดไป

     ผ่านการสังเกตของตัวละครนายเรือง เราจะค่อยๆ พบสังคมนักเขียนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคนั้น เช่น วันหนึ่งนายเรืองได้พบกับนักข่าวรายหนึ่งที่กลับมาเยี่ยมเยือนเพื่อนฝูงหลังเพิ่งพ้นโทษออกมา พวกเพื่อนๆ นักข่าวขนานนามว่า เขา “ได้ประกาศนียบัตรแล้ว” (อันหมายถึงได้ถูกจับฐานเป็นนักโทษการเมืองและผ่านการติดคุกแล้ว) 

     น้าเกียรติมักผลุบๆ โผล่ๆ เข้ามาในเรื่อง แต่ในทุกครั้งที่น้าเกียรติไม่อยู่ นายเรืองผู้ต้องเฝ้าตึกสำนักข่าวอยู่เพียงลำพังก็จะค่อยๆ ถูกคุกคามโดยสิ่งลี้ลับ เริ่มจากเสียงฝีเท้า เสียงชาย-หญิงคุยกันระหว่างขึ้นมาบนตึก แต่พอเปิดประตูออกไปดูก็ไม่พบใคร นายเรืองเริ่มอาศัยอยู่ชั้นบนตึกด้วยความหวาดผวาผีในยามกลางคืน ส่วนยามกลางวัน ข่าวการเมืองเริ่มจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ 

     วันหนึ่งคนหนังสือพิมพ์ถูกรัฐจับกลุ่มไป มีการลงข่าวหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาที่สนับสนุนรัฐว่า ได้มีคนกลุ่มหนึ่งคิดร้ายต่อรัฐ ถูกจับกุมตัวพร้อมหลักฐานยืนยัน แต่ก็มีตัวการบางคนที่หนีไปได้ หนึ่งในตัวการนั้นคือน้าเกียรติ คนบนตึกสำนักข่าวด่าน้าเกียรติว่า “ทำการพลาดเพราะหลงกลนักการเมืองอีกฝ่าย จึงทำให้พรรคพวกต้องเข้าปิ้งไปตามๆ กัน” ถึงตรงนี้นายเรืองจึงค่อยๆ รู้แล้วว่าการเล่นการเมืองของน้าเกียรติไม่ใช่การลงสมัครเลือกตั้งเข้าสู่สภา แต่เป็นการเคลื่อนไหวในฐานะสื่อร่วมกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล (เราอาจอนุมานได้ว่า ‘ฝ่ายการเมือง’ ที่น้าเกียรติเลือกเข้าข้างก็คือฝ่ายปรีดี ที่ในขณะนั้นกำลังโดนทั้งกลุ่มจอมพลแปลก กลุ่มเจ้า และกลุ่มทหาร + ตำรวจตามไล่ล่ากวาดล้างหลังเหตุการณ์กบฏวังหลวง (2492) และกบฏแมนฮัตตัน (2494))

     หลังจากน้าเกียรติต้องหลบลี้ภัยคุกคามจากรัฐ นายเรืองต้องลงมาขออาศัยอยู่กับลุงพัฒน์และป้าน้อย ซึ่งมีสถานะเป็นพ่อบ้านแม่บ้านที่นอนอยู่ชั้นล่างของตึก นายเรืองค่อยๆ ได้เรียนรู้ว่าตนเองเป็นคนที่มีความเข้าใจทางการเมืองน้อยที่สุด แม้กระทั่งลุงพัฒน์และป้าน้อยยังเข้าใจสถานการณ์ทางการเมืองขณะนั้นได้ฉะฉานกว่า เข้าใจว่าทำไมน้าเกียรติต้องหลบหนี เข้าใจว่าทำไมต้องมีสื่อที่เห็นแย้งและกล้าตรวจสอบรัฐบาล นอกจากนี้ นายเรืองยังถูกหมายตาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาตรวจค้นห้องทำงานน้าเกียรติที่ตึกสำนักข่าว ด้วยเหตุว่านายเรืองคือญาติคนเดียวที่น้าเกียรติมีที่กรุงเทพฯ 

     ถึงจุดนี้ ผู้อ่านก็จะค่อยๆ เข้าใจสถานการณ์การถูกรัฐคุกคามผ่านชะตากรรมของน้าเกียรติ และผู้อ่านก็จะค่อยๆ เห็นพัฒนาการทางความคิดด้านการเมืองของนายเรือง แต่ก็เป็นตอนนี้เองที่สิ่งลี้ลับปรากฏตัวให้นายเรืองเห็นหนักข้อขึ้น จากเคยมาเพียงเสียงก็มาปรากฏเป็นตัวๆ ให้เห็นในช่วงเย็นโพล้เพล้วันหนึ่ง สร้างความหวาดผวาให้นายเรืองจนตัดสินใจขอนอนอยู่กับลุงพัฒน์และป้าน้อยด้านล่างตึก ในคืนเดียวกันนั้นเอง ทั้งสามคนก็ได้ยินเสียงลึกลับนอกประตูที่บอกพวกเขาว่าน้าเกียรติได้เสียชีวิตแล้ว และหนังสือพิมพ์ฉบับเช้าวันถัดมาก็ยืนยันการตายของน้าเกียรติ ว่าถูกมือปืนขับรถเก๋งไม่มีทะเบียนตามประกบ ก่อนจะลอบยิงน้าเกียรติแล้วเร่งรถหนีไปไร้ร่องรอย 

     การตายของน้าเกียรติจบลงแค่นั้น ไม่มีการสืบหาผู้ลงมือสังหาร นายเรืองสรุปว่าการตายของน้าเกียรติเป็นตัวอย่างของ “การดิ้นรนเพื่อความยิ่งใหญ่นั้นก็ได้เทียบไว้แล้วว่าทวนคนย่อมเจ็บตัวถ้าทวนไม่ไหว การที่คนยากจนจะมีความสำคัญขึ้นได้นั้นต้องดูการสนับสนุนทุกๆ อย่างเพื่อฝ่าฟันให้สำเร็จไปได้ เรื่องจะฝืนทำโดยยึดคติแห่งตัวเองนั้นก็ยากโดยทุกประการ” 

     กระทั่งประโยคสุดท้ายของเรื่อง ก็ไม่ได้สรุปว่าผีชาย-หญิงที่นายเรืองได้พบเจอระหว่างอาศัยที่สำนักงานข่าว เพื่อนไทย นั้นเป็นใคร?

     จะเป็นวิญญาณคนข่าวรุ่นก่อนๆ อดีตผู้ได้ประกาศนียบัตรที่ต้องมาจบชีวิตลง?

     หรือจะเป็นวิญญาณเร่ร่อนที่วนเวียนไม่ได้ไปไหน เพราะประเทศไทยก็อยู่เท่านี้มาแต่ไหนแต่ไร?

     ‘ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย’ หากในเรื่อง ไปชุบตัว นี้ อาจมีแต่คนตายเท่านั้น ที่พูดความจริงแล้วจะไม่ตาย

2495 จับ/ปิด/ฆ่า

     ไปชุบตัว ไม่ได้ระบุช่วงเวลาของเรื่องราว สันนิษฐานว่าเหมน่าจะเขียนขึ้นในช่วงระหว่างปี 2495-2500 ที่มีการกวาดล้างจับกุมนักหนังสือพิมพ์การเมืองขนานใหญ่หลังเหตุการณ์ ‘กบฏวังหลวง’ (2492) หลังรัฐบาลประกาศสภาวะฉุกเฉิน ขอร้องให้หนังสือพิมพ์งดการโฆษณาที่จะทำให้ ‘เกิดการแตกสามัคคีและเกิดการปั่นป่วนจราจล’ มิฉะนั้นรัฐบาลก็จำเป็นจะต้องให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายเป็นรายๆ ไป 

     คำสั่งลักษณะนี้ยังถูกนำมาใช้หลายครั้งนับแต่นั้น จากปัจจัยทั้งภายนอกประเทศอย่างการแทรกแซงทางการเมืองของสหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในประเทศจีนช่วงเดือนตุลาคม 2492 การเกิดสงครามเกาหลีในเดือนมิถุนายน 2493 และภายในประเทศอย่างการเกิดกบฏแมนฮัตตันในเดือนมิถุนายน 2494

     นอกจากมีการสั่งปิดหนังสือพิมพ์ชั่วคราว ออกกฎให้ต้องส่งเนื้อหาก่อนตีพิมพ์ (เพื่อเซนเซอร์ข่าว) เพิกถอนใบอนุญาตถาวรแล้ว ยังมีการจับกุมนักหนังสือพิมพ์/หัวหน้าฝ่ายข่าว/บรรณาธิการข่าว ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายของนายปรีดี พนมยงค์ ด้วย อันจะเห็นได้จากความพยายามจับกุมนายสุรีย์ ทองวาณิช บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ โลกใหม่ ในปี 2492 ที่แม้ไม่มีหลักฐานว่าสุรีย์เข้าร่วมก่อการกบฏวังหลวง แต่สุรีย์เคยเป็นเสรีไทยและเป็นลูกศิษย์ของปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อการกบฏครั้งดังกล่าว แม้ในท้ายสุดสุรีย์จะหลบหนีการจับกุมไปได้ก็ตาม

     การเซนเซอร์ดำเนินมาต่อเนื่องถึงปี 2495 นักหนังสือพิมพ์จำนวน 40-50 คนได้รวมกลุ่มกันเรียกร้องให้สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยกระทำการต่อต้านการคุกคามของรัฐ จนนำมาสู่การก่อตั้ง ‘คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหนังสือพิมพ์’ โดยมี คึกฤทธิ์ ปราโมช, กุหลาบ สายประดิษฐ์, มาลัย ชูพินิจ, ฯลฯ อยู่ในคณะกรรมการดังกล่าว แต่หลังจากยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลยุติการคุกคามสื่อไม่เป็นผล คณะกรรมการจึงได้มีมติดำเนินการต่อสู้ด้วยหลัก 4 ประการได้แก่

     1. ต่อสู้ทางสภาผู้แทนราษฎร

     2. ทำคดีฟ้องร้องทางศาล

     3. ให้หนังสือพิมพ์ตีพิมพ์คำเรียกร้องสั้นๆ ทุกฉบับ ทุกภาษา

     4. ให้ประชาชนลงนามเรียกร้องทุกโรงพิมพ์ แล้วนำเสนอเป็นข่าวทุกวัน

     การเซนเซอร์ข่าวหนังสือพิมพ์นับแต่ปี 2492 เป็นต้นมา รัฐบาลอ้างประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ตอบกระทู้ถามในสภาว่ารัฐจำเป็นต้องเซนเซอร์เนื้อหาข่าวดังต่อไปนี้ 

     1. ข่าวเกี่ยวกับทหาร 

     2. ข่าวเกี่ยวกับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ 

     3. ข่าวเกี่ยวกับความไม่สงบเรียบร้อย 

     เผ่ายังได้อ้างว่าการเซนเซอร์เป็น “การลงโทษสถานเบา และไม่ได้ทำให้หนังสือพิมพ์เสียหายแต่อย่างใด” ในเวลาต่อมายังได้เพิ่มข้อบังคับให้หนังสือพิมพ์ทุกฉบับต้องตีพิมพ์ข้อความแก้ข่าวของรัฐบาลลงในหนังสือพิมพ์ด้วย ทั้งที่เดิมมีข้อบังคับใช้แต่เพียงทางวิทยุกระจายเสียงกรมประชาสัมพันธ์เท่านั้น ทำให้เกิดการต่อต้านจากฝ่ายนักหนังสือพิมพ์มากขึ้น

     นอกจากการรวมตัวกันในนามสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในปี 2495 นักเขียน-นักหนังสือพิมพ์อย่างกุหลาบ สายประดิษฐ์ ยังเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสันติภาพสากล ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อคัดค้านรัฐที่พยายามขัดขวางและจับกุมผู้สนับสนุนสันติภาพ คัดค้านการเข้าร่วมสงครามเกาหลีและการแทรกแซงจากสหรัฐฯ และอีกการรวมตัวที่มีบทบาทสำคัญในช่วงปี 2495 เช่นกันก็คือการรวมตัวในนาม ‘ขบวนการกู้ชาติ’ ที่มีเป้าหมายต่อต้านนโยบายรัฐบาลจอมพลแปลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการส่งทหารไทยไปร่วมรบในสงครามเกาหลี จนถึงปล่อยให้สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทในแผนการสร้างโฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยมีนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์เข้าร่วมเป็นจำนวนหนึ่ง

     การที่นักหนังสือพิมพ์ไทยเข้าร่วมใน 3 กระบวนการนี้ (บางคนเข้าร่วม 2 ใน 3 ขบวนการ) ซ้ำการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของคณะกรรมการสันติภาพก็ถูกถ่ายทอดทางโฆษณาวิทยุทั้งจากมอสโกและปักกิ่ง ทำให้รัฐบาลไทยเชื่อมโยงว่า 3 ขบวนการที่มีนักหนังสือพิมพ์ไทยร่วมอยู่ด้วยนี้มีความเกี่ยวพันสอดคล้องกัน และมีพรรคคอมมิวนิสต์ รวมทั้งประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์หนุนหลัง จึงนำมาสู่การจับกุมกวาดล้างนักหนังสือพิมพ์ในปลายปี 2495 เน้นไปที่กลุ่มนักหนังสือพิมพ์ที่ต่อต้านรัฐบาล ต่อต้านแนวคิดการร่วมมือกับสหรัฐฯ และมีแนวคิดสนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างเปิดเผย นำมาสู่การจับกุมกบฏสันติภาพในวันที่ 10 มิถุนายน 2495 โดยจากจำนวนผู้ถูกจับกุมทั้งสิ้น 100 คน มีนักหนังสือพิมพ์ถูกจับกุมถึง 40 คน ในจำนวนนี้มีกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่ถูกจำคุกนานถึง 5 ปี จนได้รับอภัยโทษในปี 2500 ด้วย

     หลังการจับกุมกบฏสันติภาพไปแล้ว มีผลทำให้นักหนังสือพิมพ์ลดความรุนแรงในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลลง ทว่าในเดือนมีนาคมปี 2496 กลับเกิดคดีสังหารนายอารีย์ ลีวีระ นักหนังสือพิมพ์ผู้เคยถูกจับกุมพร้อมกับนักหนังสือพิมพ์อีกหลายคนเนื่องในคดีกบฏสันติภาพเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 อารีย์ยังเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยสองสมัย ด้วยท่าทียอมหักไม่ยอมงอ มุ่งเป็นสื่ออิสระไม่อิงกับการเมือง ไม่รับทุนสนับสนุนจากพรรคการเมืองหรือรัฐบาลใดๆ ในท้ายสุดอารีย์ถูกยิงที่บ้านพักหนองแก หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผู้ต้องสงสัยเป็นนายตำรวจยศสิบโทและพลตำรวจอีกสี่นาย โดยอ้างว่าทำตามคำสั่งนายพันตำรวจท่านหนึ่ง ซึ่งนายตำรวจคนดังกล่าวเคยได้รับมอบอัศวินแหวนเพชรจาก พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ เป็นแหวนที่สั่งทำพิเศษโดย พล.ต.อ. เผ่า ในท้ายสุดศาลกลับพิพากษาปล่อยผู้ต้องหา และไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

ผีเซนเซอร์

     ผู้เขียนเห็นว่า ‘ฉากหลัง’ ที่เหม เวชกร นำมาเล่าผ่านสำนักข่าวเพื่อนไทยในเรื่อง ไปชุบตัว เห็นท่าจะเป็นช่วงปี 2495 ดังที่ได้เขียนไปข้างต้นนี่เอง เพราะบอกเล่าทั้งความกลัวของนักหนังสือพิมพ์ที่ต้องต่อสู้กับรัฐ มีข่าวการถูกจับกุมขนานใหญ่ การอ้างถึงการถูกหักหลังโดย ‘พรรคการเมือง’ ในท้ายสุดก็จบลงด้วยชะตากรรมของน้าเกียรติที่ถูกลอบสังหารอย่างมีเงื่อนงำ 

     ‘ผี’ ใน ไปชุบตัว จึงไม่ใช่วิญญาณร้ายอาฆาต แต่เป็นวิญญาณที่ตกเป็นเหยื่อของรัฐ เหยื่อของนโยบายที่ปิดกั้นเสรีภาพและความคิด เพราะพวกเขาไม่ได้แค่ฆ่านักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งให้ตายไป แต่ยังฆ่าอนาคตของนายเรือง เด็กหนุ่มที่วาดฝันว่าจะได้มีอนาคตสดใสในเมืองหลวง ด้วยสุดท้ายนายเรืองก็เลือกจะกลับบ้านเกิดที่มาบโพธิ์ 

     เป็นไปได้ว่านายเรืองหวาดกลัวและสยดสยองต่อการใช้ชีวิตในฐานะนักหนังสือพิมพ์ 

     แต่ไม่ใช่ผีที่เขากลัว เป็นความรุนแรงจากรัฐที่กระทำต่อประชาชนต่างหากที่เขากลัว