Fri 11 Jun 2021

THAT’S WHAT I LIKE

บทสนทนาที่จะพาไปย้อนดูที่มาของนิตยสาร I Like ที่คุณอาจเคยนั่งดูดวง อ่านนิยาย เล่นเกมทายใจ และเคยชื่นชอบในวันวาน

     ตั้งสติให้นิ่งสงบ แล้วพูดคำถามในใจว่า “ตอนนี้ความรักของเธอกับเขาเปรียบเหมือนอะไร”

     จากนั้นเขียนสัญลักษณ์ ดวงดาว ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ก้อมเมฆ โดยเรียงลำดับตามใจชอบ

     ถ้าใครเลือกดวงอาทิตย์ ดวงดาว ก้อมเมฆ ดวงจันทร์ คำทำนายของคุณคือ ความรักของเธอกับเขาตอนนี้ เปรียบเหมือนดอกไม้แรกแย้ม… อะไรรอบตัวก็ดูสวยงามไปหมด

     ใครเลือกดวงดาว ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ก้อนเมฆ คำทำนายของคุณคือ ความรักของเธอกับเขาตอนนี้ เปรียบเหมือนกับเขาวงกต… ความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างซับซ้อน ไม่มีสถานะชัดเจน

     ใครเลือกดวงจันทร์…เดี๋ยวๆ ต้องขอคั่นจังหวะการเล่มเกมทายชีวิตรักไว้แค่ตรงนี้ (หัวหน้ารู้หมดแล้วว่าแอบอู้) หากใครที่เริ่มคุ้นเกม หรือชื่อนิตยสารข้างต้นแล้วล่ะก็ เราขอตบบ่าเบาๆ 2-3 ที เพราะแปลว่าคุณ (และเรา) ก็ไม่เด็กกันเท่าไหร่แล้ว ส่วนใครยังไม่ร้องอ๋อก็ไม่เป็นไร บรรทัดถัดต่อจากนี้ไป เราจะค่อยๆ พาคุณพลิกหน้ากระดาษย้อนดูเรื่องราวความเป็นไปของ I Like กัน

     I Like ตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2544 โดยบริษัทศรีสยามการพิมพ์ (เครือเดียวกับนิตยสาร ขวัญเรือน) เดิมที I Like ตั้งต้นจากการเป็นนิตยสารรายเดือน ก่อนจะปรับเป็นรายปักษ์ในเวลาต่อมา วันเวลาผ่าน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท สื่อสิ่งพิมพ์ล้มหายตายจากไปมากมาย และหนึ่งในนั้นก็มี I Like ที่บอกลาแผงหนังสือไปในปี 2559 โดยมีฉบับที่ 325 เป็นฉบับพิเศษเพื่อส่งท้ายตำนาน 16 ปีที่ผ่านมา

     ถามว่านิตยสารนี้เคยได้รับความนิยมมากขนาดไหน ถ้ายุคนั้นมีการใช้คำว่าแมส เราคงต้องบอกว่า “I Like แกแมสแล้วว่ะ” แน่ๆ 

     เมื่อนั่งนึกย้อนไปในวัยคอซองที่การจะเข้าเล่นอินเทอร์เน็ตนั้นยากเย็นแสนเข็ญ การปรากฏตัวของนิตยสารที่รวมเกมทายใจให้เล่น มีสารพัดดวงให้ดู มีเรื่องผี เรื่องรักๆ ให้อ่าน มีเคล็ดลับ 108 ฮาวทูให้ทำตาม และสารพัดความวาไรตี้ ที่เข้าถึงได้ง่ายแค่ไปที่แผงหนังสือหลังโรงเรียนหรือในตลาดทุกต้นเดือนและกลางเดือนนั้น ทำให้นิตยสาร I Like กลายเป็นแหล่งชวนสุมหัวของเด็กสาวและผองเพื่อนได้ไม่ยาก

     ยิ่งใครจับจอง I Like เล่มล่าสุดเป็นคนแรกๆ ก็ยิ่งฮอตไปกันใหญ่ เพราะจะมีเพื่อนมารุมต่อคิวอ่าน ซึ่งสารภาพก็ได้ว่าเราเป็นหนึ่งในเพื่อนที่ไปต่อคิวเอง แฮะๆ

     ถึงอย่างนั้นเราก็มีซื้อเองบ้างนะ (._.) เพราะหลังพบหลักฐานอยู่คาชั้นตอนที่กลับไปรื้อชั้นหนังสือไม่นานมานี้ แน่นอน เราแอบเปิดเล่นดูอีกหน พลางระลึกได้ว่าถ้า I Like ยังอยู่ ตอนนี้คงมีอายุครบ 20 ปีพอดี ก็เลยถือโอกาสใช้พื้นที่คอลัมน์ BACK ISSUE หยิบ I Like จากกล่องความทรงจำขึ้นมากางอีกครั้ง พร้อมชวน บ.ก.ขาเฮ้ว aka ‘แจมจัง’ หรือ ‘รณภพ ทรงเสรีย์’ บรรณาธิการบริหาร มาเล่าให้ฟังตั้งแต่ต้น ถึงการปลูกปั้นเนื้อหาในนิตยสารเล่มนี้ 

     ช่วงนั้นบูมแค่ไหน หมดมุกกับเกมทายใจบ้างหรือเปล่า ดวงแม่นจริงมั้ย และทำยังไงให้เด็กสาวไปนั่งเฝ้าแผงรอซื้อหนังสือได้

เกมทายใจ

ไหนๆ ก็หยิบนิตยสารขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ทั้งที เราเลยขอยกสิ่งหนึ่งที่หลายคนติดใจใน I Like 

อย่างเกมทายใจมาให้ลองเลือกคำตอบกันด้วย มาดูกันว่าคำทำนายของคุณจะเป็นยังไง

ถ้าตอนนี้ต้องเลือกสิ่งของหนึ่งชิ้นคุณจะเลือกอะไร

A. ไทม์แมชชีน B. หนังสือ 

C. ดอกไม้  D. โทรศัพท์

สิ่งของที่คุณเลือก ทำนายว่า คุณจะได้อ่านอะไรในบทสนทนานี้

เลือก A: 

ถ้าคุณเลือกข้อนี้ คุณอาจคิดว่าตัวเองเป็นโนบิตะที่แอบเปิดเก๊ะของโดราเอมอนอยู่ 

แต่คงไม่ผิดนักเพราะเราจะพาคุณย้อนเวลาไปรับชมเรื่องราวก่อนมาเป็นนิตยสาร I Like 

ว่าเหล่าคนทำเป็นใคร แล้วอะไรทำให้เกิดความคิดอยากทำนิตยสารวัยรุ่นฉบับนี้

จุดเริ่มต้นของการทำ I Like คืออะไร

     มันเริ่มจากตอนเราเรียนอยู่ปี 2 เอกวารสารศาสตร์และการประชาสัมพันธ์ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จฯ แล้วได้ไปฝึกงานที่นิตยสาร วัยหวาน (นิตยสารวัยรุ่นรายปักษ์ยุค 80s) ฝึกเสร็จเขาก็ชวนทำงานต่อ ตอนปี 3 ก็เลยเลือกเรียนนิเทศศาสตร์ภาคค่ำ และทำงานนิตยสารนี้ไปด้วย 

     พอทำงานนักเขียน และเป็นหัวหน้ากอง บ.ก.มาสักพักก็เริ่มอยากทำหนังสือวัยรุ่นที่เราสามารถกำหนดคอนเซปต์ เนื้อหา รูปเล่ม คาแรกเตอร์ด้วยตัวเองทั้งหมดได้ ก็เลยลองเอาไปเสนอที่ศรีสยามการพิมพ์ 

คุณตั้งใจอยากให้มันออกมาเป็นอย่างไร

     เป็นนิตยสารวาไรตี้ ดูดวง ที่อ่านสนุกและสร้างสรรค์ ซึ่งตอนนั้นเรามองกลุ่มเป้าหมายว่าเป็นวัยรุ่นผู้หญิงตั้งแต่ ป.5 ถึงมหา’ลัย เพราะเป็นกลุ่มเป้าหมายใกล้เคียงกับนิตยสารที่เคยทำ ทำให้เราคุ้นเคย และเข้าใจพฤติกรรมว่ากลุ่มนี้เขาคิดหรือชอบอะไร รู้สึกว่าเป็นทางที่ถนัด

เดี๋ยวนะ แปลว่ากลุ่มเป้าหมายกับตัวคุณเองก็มีช่วงวัยห่างกันเกือบ 10 ปีเลยสิ

     ใช่ ตอนแรกแทบไม่มีใครเชื่อว่าเราจะทำให้เด็ก ป.5 มาอ่านอะไรร่วมกับเด็กมหา’ลัย ได้ แต่เราก็มั่นใจว่าคอนเทนต์ในนิตยสารมันค่อนข้างกว้าง และมีเนื้อหาที่เด็กประถมปลาย มัธยม มหา’ลัย มีจุดร่วมความสนใจเดียวกัน

ทำไมถึงต้องเป็นชื่อ I Like

     จริงๆ เราตั้งชื่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษไว้เกือบ 200 ชื่อ เท่าที่จำได้ก็มี สืบสนุก, ยืน 1 เพื่อนฉัน, ใส-ใส my friend, Best friend, Oh! Wow!, I Wish, I Love และ I Like 

     ตอนนั้นเราชอบชื่อ ‘สืบสนุก’ มากที่สุด แต่คนเคาะชื่อสุดท้ายมีอีกสองคน คือคุณสาธิต คล่องเวสสะ เจ้าของศรีสยามการพิมพ์ และพี่อิงค์ ปรนัย บ.ก.นิตยสาร I-Spy ซึ่งเขาก็พูดขึ้นมาว่าอยากให้แจมจังเข้ามาเป็นสมาชิกครอบครัวตัว I ด้วยกัน ก็เลยจบที่ I Like ซึ่งความหมายดี สั้น จำง่าย มีตัวตนความเป็นวัยรุ่นอยู่ในชื่อ และในตอนนั้นยังไม่มีเฟซบุ๊ก ก็เรียกได้ว่าชื่อ I Like และโลโก้ตัวจบของแต่ละคอลัมน์ที่เป็นรูปการ์ตูนแจมจังชูนิ้วโป้ง มีมาก่อนรูปนิ้วโป้งกดไลก์ในเฟซบุ๊ก ซึ่งตรงนี้ต้องขอบคุณและยกเครดิตให้พี่จุ๋ม—อรวรรณ พึ่งบารมี ผู้ออกแบบคาแรกเตอร์การ์ตูนแจมจังด้วย

ขณะที่นิตยสารอื่นๆ เวลานำเสนอมักจะใช้ภาพแทน บ.ก.เป็นตัวบุคคลจริงๆ ทำไม I Like ถึงนำเสนอผ่านตัวการ์ตูนแจมจัง

     ที่เลือกให้ บ.ก.เป็นตัวการ์ตูนมากกว่าตัวคน จริงๆ เพราะเราเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี แต่ก็มีโลกส่วนตัวสูงมาก ไม่ชอบอยู่ในสปอตไลต์เลย การใช้ตัวเองเป็น บ.ก.อาจไม่ตอบโจทย์ อีกเหตุผลคือตัวการ์ตูนไม่มีอายุ มันจึงไม่มีวันแก่ คิดว่าถ้าได้ทำไปสัก 10-15 ปี บ.ก.ก็จะยังเป็นวัยรุ่นเหมือนเดิม 

     ถ้าสังเกตในเล่ม แจมจังจะไม่แทนตัวเองว่าพี่ แต่จะใช้ชื่อตัวเองแทนการเรียก แจมจังอย่างนู้นอย่างนี้ เราต้องการให้แจมจังเป็นเหมือนเพื่อนคนนึงของผู้อ่าน มีความสนุก เข้าใจ เข้าถึงได้ด้วย

ทำไมถึงต้องเป็นชื่อแจมจัง

     ช่วงนั้นกระแสญี่ปุ่นกำลังมา เราก็เลยได้คำว่า ‘จัง’ มาก่อน ก็คิดไปตั้งแต่กวนจัง มันจัง จนไล่มาถึงแจมจัง ก็รู้สึกว่าลงตัว จำง่ายดี ชื่อน่าจะเหมาะกับการมาเป็นคนคิดธีม คิดหัวข้อของแต่ละคอลัมน์ และดูแลต้นฉบับของนักเขียนแต่ละคน รวมถึงเขียนงานเองด้วย

เลือก B: 

คุณคงจะสนใจกระดาษ ชอบการหยิบจับ 

แน่นอนว่าข้อนี้จะพาคุณไปขุดคุ้ย ตามส่องขั้นตอนการลงมือทำนิตยสาร 

ตั้งแต่คิดธีม และบรรดาคอลัมน์ที่มีมากมายกว่า 70 คอลัมน์++

คุณวางสัดส่วนเนื้อหาของ I Like ไว้ยังไงบ้าง 

     เราวางคอนเซปต์และคอนเทนต์ชัดเจนตั้งแต่แรกว่าเป็นนิตยสารวาไรตี้ มี 9 เซคชั่น 60 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อหาจะเป็นการทำนายดวงกับแบบทดสอบ อีก 40 เปอร์เซ็นต์เป็นคอนเทนต์อื่นๆ เช่น เรื่องสั้น บทความ เรื่องเล่าจากผู้อ่าน ความสวยความงาม แฟชั่น การ์ตูน แต่พอทำไปสักพัก ผู้อ่านก็เรียกร้องว่าอยากอ่านดวงและแบบทดสอบที่แปลกๆ มากขึ้น เราก็ปรับจาก 60 เปอร์เซ็นต์ เป็น 65-70 เปอร์เซ็นต์

ระหว่างไล่เปิดดูคอลัมน์ในเล่ม จะเห็นว่ามีเยอะมากกกก ทำไมมันถึงต้องเยอะขนาดนั้น

     เราอยากให้ I Like เป็นหนังสือสำหรับเด็กที่รักการอ่าน ทุกคอลัมน์สามารถอ่านได้หมด แล้วคาแรกเตอร์ของแจมจังเราวางให้เขาเป็นคนสุดโต่งมาก ถ้าไม่น้อยไป ก็จะมากไป ไม่มีตรงกลาง เพราะงั้นก็ต้องมากไปเลย (หัวเราะ)

แปลว่าคุณต้องคิดธีม พร้อมคิดเนื้อหาในคอลัมน์ให้ไปด้วยกันกับธีมถึง 325 เล่ม ไม่มีหมดมุกบ้างเหรอ

     หลายคนก็มองว่ามันทำได้จริงเหรอ แต่มันทำได้นะ และยิ่งทำมันยิ่งงอกมาเรื่อยๆ ด้วย

     เรามีหลักในการคิดธีมจากหกเรื่อง 

     หนึ่ง—เกี่ยวกับเทศกาล 

     สอง—สิ่งที่เกี่ยวกับผู้อ่าน เช่น เรื่องการบ้าน เรื่องครูอาจารย์ การสอบ 

     สาม—สิ่งที่ผู้อ่านให้ความสำคัญ เช่น เพื่อน ครอบครัว ความรัก การกิน 

     สี่—ไลฟ์สไตล์ เช่น เพลง ภาพยนตร์ เกม กีฬา ช้อปปิ้ง 

     ห้า—กระแสในช่วงเวลานั้น 

     หก—สิ่งที่เราคิดว่าผู้อ่านจะชอบ เช่น เรื่องผี 

     อย่างเทศกาล เช่น ธีมปีใหม่หรือธีมวาเลนไทน์ก็จะทำได้ทุกๆ ปี เราก็จะตั้งประเด็นไว้และมาแยกย่อยว่ามีอะไรบ้างที่เกี่ยวกับธีมนั้น เช่น ปีใหม่ ก็จะได้ซานต้า ต้นคริสมาสต์ ตัวเลขปี หรือคำว่าใหม่

     ช่วงที่วางแผงรายเดือน เราใช้วิธีคิดธีมล่วงหน้าหนึ่งปี ก็คิดหัวข้อในแต่ละคอลัมน์ตามธีมต่างๆ ไว้เลย พอมันทำสิ่งนี้ได้ยิ่งทำก็ยิ่งสนุก ความคิดยิ่งผุดขึ้นมาอีก หลังจากคิดเรื่องในคอลัมน์สุดท้ายของธีมที่ 12 เสร็จปุ๊บ ในหัวเรามันเหมือนมีภาพพลุยิงปั้งๆ ในหัวเลย (หัวเราะ) พอมาเป็นรายปักษ์ เราก็ใช้วิธีการเดียวกัน ทำให้เราสามารถทำ I Like แบบธีมได้ยาวนาน โดยไม่ให้มันซ้อนทับกัน 

คุณเป็นคนคิดธีมทั้งหมด มองภาพคนเดียวเลยเหรอ

     ช่วงแรกเราคิดธีมคนเดียว และคิดด้วยว่าแต่ละคอลัมน์จะเล่าอะไร ใครเขียน พอมาช่วงหลังเราก็คิดมาประมาณนึง แล้วเรียกน้องๆ นักเขียนมาคุย แชร์ความคิดเห็นร่วมกันทุกฝ่าย โยนไอเดียกัน และจะสรุปธีม คอลัมน์อีกครั้ง ซึ่งมันก็ทำให้เราได้งานที่กว้างและแข็งแรงขึ้น

คิดว่าอะไรเป็นจุดเด่นที่ทำให้การทำนายดวง เกมทายใจเป็นคอลัมน์ที่แข็งแรงของ I Like

     คอลัมน์ทำนายดวง เราจะคุยกับนักเขียนว่านอกจากดูดวงตามรูปแบบของตัวเองแล้ว สิ่งสำคัญคือคำทำนายจะต้องพูดถึงนิสัย พฤติกรรม ความรู้สึกเฉพาะของวัยรุ่นด้วย 

     หรือคอลัมน์ทดสอบทายใจ เราจะไม่ใช้นักเขียนที่มีพื้นฐานการดูดวง แต่จะเป็นคนเขียนที่อ่านหนังสือเยอะ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความรู้ด้านจิตวิทยา 

     คนที่อ่านหนังสือเยอะจะมีคลังความรู้ คลังข้อมูลต่างๆ ในหัว ส่วนการมีความคิดสร้างสรรค์ ก็จะใช้คิดรูปแบบหน้าตาของเกมได้ การเข้าใจจิตวิทยา ก็จะทำให้ตีความรูป หรือสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ออก สิ่งเหล่านี้พอนำมาใช้ในแบบทดสอบก็จะทำให้เกมทั้งสนุก ทั้งแม่นด้วย

     พอการดูดวงหรือเกมทำนายทายใจต่างๆ ของเรามันพูดถึงความเป็นตัวตน ก็จะทำให้คำทำนายนั้นตรงกับตัวคนอ่านมากขึ้น นี่เป็นทริคหนึ่งที่ใช้ในคอลัมน์มาตลอด

อีกสิ่งที่เราเห็นเยอะพอๆ กันคือ บทความ รูปภาพ และเรื่องจากนักอ่านทางบ้าน ทำไมคุณถึงให้พื้นที่กับคนอ่านขนาดนี้

     เราอยากให้ I Like เป็นการสื่อสารสองทาง ให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมกับเรามากที่สุด อย่างคอลัมน์ที่เป็นเรื่องสั้น นวนิยาย เรื่องเล่า ก็ให้เป็นเวทีฝึกคิด ฝึกเขียน เปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านถ่ายรูปส่งมาเพื่อคัดเลือกลงคอลัมน์ต่างๆ ก็เป็นเวทีความกล้าการแสดงออก รวมถึงยังมีคอลัมน์ที่ให้ทางบ้านส่งมาปรึกษา ระบายความในใจ หรือส่งมาพูดคุยกับแจมจังด้วย 

     ทุกคอลัมน์ได้การต้อนรับเกินคาด ในแต่ละวันมีจดหมายจากผู้อ่านหลายร้อยฉบับ จำได้ว่าเคยมีผู้อ่านส่งจดหมายโดยการติดแสตมป์เซเว่นฯ ด้วย บุรุษไปรษณีย์ก็เอามาให้ แล้วเราก็ต้องจ่ายค่าปรับ (หัวเราะ) คือเขาอาจจะไม่รู้ เพราะคิดว่าน่าจะใช้แทนกันได้ เราไม่โกรธเลยนะ น่ารักดี เอ็นดูมากๆ ที่น้องพยายามจะสื่อสารกับเรา

คอลัมน์ไหนที่คุณชอบที่สุด

     จริงๆ แต่ละคอลัมน์จะมีความโดดเด่นต่างกัน เราตั้งมายด์เซตไว้ว่าคอลัมน์คือลูกของเรา เรามีลูก 70 คน ต้องใส่ใจกับทุกคน ซึ่งแต่ละคนจะแสดงบุคลิกภาพของตัวเองออกมา เด็กคนนี้เก่งความคิดสร้างสรรค์ เด็กคนนี้เก่งคณิตศาสตร์ เด็กคนนี้แต่งตัวเก่ง

     เราขอตอบคอลัมน์ที่คนอ่านสัมผัสถึงบุคลิกได้ชัดเจนที่สุด จนพวกเขาชอบแล้วกัน นั่นคือ ‘รหัสฟ้าค้นหารัก’ ซึ่งจะเป็นเกมทำนายชีวิต โดยจะมีสัญลักษณ์ดวงดาว พระจันทร์ ดวงอาทิตย์ ก้อมเมฆให้ผู้อ่านเลือกเขียนสลับกันยังไงก็ได้ แล้วจะได้คำทำนายแตกต่างกันไปถึง 24 แบบ 

     ตอนนั้นเราอยากให้คอลัมน์นี้มันแปลกใหม่ที่สุด สนุกที่สุด ซึ่งมันก็ประสบความสำเร็จได้อย่างที่เราคิด เป็นคอลัมน์ที่คนอ่านจำได้ขึ้นใจ

เลือก C: 

คุณอาจคิดว่าดอกไม้คือสัญลักษณ์ความงดงาม ซึ่งก็ไม่ผิดอีก

การทำนิตยสารก็เหมือนการปลูกต้นไม้ ที่รอวันผลิดอกออกผล วันที่รูปเล่มเป็นรูปเป็นร่างส่งถึงมือนักอ่าน

ซึ่งนักอ่านของเขาก็เป็นดอกไม้ที่ควรผลิดอกงอกงามต่อเช่นกัน

ช่วงนั้นฟีดแบ็กเป็นยังไงบ้าง

     เพราะเราไม่ได้กำหนดวันที่หนังสือออกตายตัว ระบุแค่ว่าออกต้นเดือนและกลางเดือน มันเลยเกิดปรากฏการณ์เฝ้าแผง ทุกเช้าก่อนเข้าโรงเรียน ตอนเย็นหลักเลิกเรียน เด็กๆ จะแวะไปแผงหนังสือแล้วถามว่า I Like มาหรือยังคะ ช่วงนั้นโทรศัพท์ออฟฟิศสายไหม้มาก เพราะน้องๆ จะโทรมาถามว่าออกหรือยัง ออกวันไหน ออฟฟิศอยู่ไหนจะไปซื้อ เพราะเขาอยากเป็นคนแรกๆ ที่ได้อ่าน ส่วนทีมงานนี่ได้อ่าน I Like ช้ากว่าน้องๆ อีก เพราะโรงพิมพ์กับออฟฟิศอยู่คนละจังหวัด เราก็ได้แต่บอกเอฟซีว่า ให้เฝ้าแผงต่อไป

     ครั้งหนึ่งเคยมีน้องมาเล่าให้ฟังว่าเขาแอบอ่าน I Like ใต้โต๊ะเรียน แล้วครูที่เพิ่งจบใหม่ก็ริบหนังสือไป ให้ไปเอาคืนตอนพักเที่ยง พอตอนพักน้องก็เห็นครูนั่งอ่าน I Like อยู่ แล้วก็หัวเราะคิกคักๆ คนเดียว เพราะครูก็เป็นแฟน I Like เหมือนกัน (หัวเราะ) 

     ฟีดแบ็กเหล่านี้ทำให้เราเห็นว่าวัยรุ่นเขาผูกพันกับ I Like มากแค่ไหน ถ้าไปทำหนังสือผู้ใหญ่ เราอาจไม่ได้เห็นความน่ารัก โมเมนต์ของเด็กเวลา I Like วางแผง แล้วจะมีคนหนึ่งเป็นคนซื้อประจำ ส่วนเพื่อนๆ ก็จะรอเวียนกันอ่านทั้งห้อง

อยากรู้ว่าพอทำงานที่ต้องสื่อสารกับวัยรุ่น เรามองภาพพวกเขาว่ายังไง

     เรามองว่าวัยรุ่นคือวัยที่เข้าใจง่ายกว่าผู้ใหญ่ เหมือนคนที่กำลังออกเดินทาง อะดรีนาลีนมันหลั่ง มีฮอร์โมนความตื่นเต้น สนุก บ้าบิ่น กล้าเปลี่ยนแปลง การทำหนังสือให้วัยรุ่นเลยมีความตื่นตัว มีการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยน และใช้ความคิดสร้างสรรค์ตลอดเวลา คนอื่นอาจจะมองว่าหนังสือวัยรุ่นทำยาก แต่เรามองว่ามันท้าทาย และไม่ได้รู้สึกว่ายากขนาดนั้น ส่วนที่ยากไม่ได้อยู่ที่ขั้นตอนการทำใดๆ แต่อยู่ที่ไหนรู้ไหม… 

ที่ไหน?

     อยู่ที่ผู้ใหญ่ ถ้าย้อนกลับไปช่วงแรก ยุคที่แนวคิดของพ่อแม่ผู้ปกครองยังไม่เปิดกว้าง และมักตั้งตนเป็นผู้พิพากษาลูกว่าสิ่งนี้ผิด ห้ามทำ สิ่งนี้ไม่ดี อย่ายุ่ง หนังสือเล่มนี้ไร้สาระ ห้ามอ่าน เราจะได้ยินคำนี้บ่อยๆ ในช่วงนั้น 

     มีเรื่องหนึ่งที่เรายังจำได้ไม่ลืม ผู้ปกครองโทรมาขอสาย บ.ก. แล้วใส่ชุดใหญ่ไฟกะพริบว่า ทำไมทำหนังสือไร้สาระ ทำให้เด็กงมงาย ปลูกฝังเด็กในทางที่ผิด คือเรายังไม่ทันพูดอะไรเลย เขาก็วางสายไป สักชั่วโมงก็มีเด็กโทรเข้ามาอีก บอกว่าเป็นลูกสาวคนที่โทรมาด่าเรา เขาก็ขอโทษแทนแม่ แถมแอบเมาท์ให้ฟังอีกว่า จริงๆ แม่เขาก็บ้าดูดวงเหมือนกัน แถมหมดเงินไปกับหมอดูเยอะมาก 

แล้วคุณแก้ไขเรื่องนี้ยังไง

     วิธีแก้ปัญหาของเราคือ ไม่แก้ปัญหา เพราะถ้าเราต้องเปลี่ยนตาม เราก็คงต้องเปลี่ยนแนวทางเนื้อหาทั้งหมดไปเป็นหนังสือธรรมะสำหรับวัยรุ่นประมาณนั้นเลย แต่เราจะรักษาและเพิ่มแนวคิดในส่วนที่จะทำให้ I Like เป็นหนังสือที่สนุก สร้างสรรค์ ให้เด็กสนุก คิดบวก เติบโตอย่างเป็นธรรมชาติแทน

     เรามองว่าเมื่อมันเป็นสื่อประเภทบันเทิง มันอาจจะมีหรือไม่ต้องมีสาระก็ได้ และนอกจากรูปแบบของสื่อแล้ว สิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจคือธรรมชาติของวัยรุ่นว่าเขาชอบอะไร คิดอะไร ต้องการอะไร มันเลยกลายเป็นปัญหาในการต่อสู้ทางความคิดของเด็กรุ่นใหม่กับผู้ใหญ่รุ่นเก่า ซึ่งเราก็เป็นผู้ใหญ่รุ่นเก่าที่ไม่เชื่อในความคิดว่า ผู้ใหญ่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อนต้องถูกต้องเท่านั้น เรายังเชื่อในเรื่องของดอกไม้ย่อมแบ่งบานตามยุคสมัย ไม่มีใครมาหยุดการบานของมันได้ 

ในมุมของคุณคิดว่าวัยรุ่นต้องการอะไร

     ใครๆ ก็อยากเป็นดอกไม้ที่แบ่งบานด้วยตัวเอง ด้วยความเชื่อ ชุดข้อมูลที่เขาเข้าถึง มากกว่ารอให้ผู้ใหญ่มาเป็นผู้ขีดเส้นให้เดินตาม ให้ทำตาม และให้เชื่อตาม โดยไม่มีคำอธิบายว่าเพราะอะไร เราไม่เชื่อว่าดอกไม้จะบานด้วยการบังคับ บอกว่าสิ่งที่คุณคิดคือสิ่งที่ผิด เรามองว่าทุกอย่างมีการปรับเปลี่ยนไปตามเทรนด์ ตามยุคสมัย เราเคยไปเจอคำหนึ่งว่า ‘เด็กต้องการเปลี่ยนโลก ผู้ใหญ่ต้องการเปลี่ยนเด็ก’ คำว่าเด็กต้องการเปลี่ยนโลกมันมีอยู่ในสังคมทุกประเทศ แต่คำว่าผู้ใหญ่ต้องการเปลี่ยนเด็กจะมีมากที่สุดในประเทศอำนาจนิยม ที่มีความเป็นเผด็จการสูงมากกว่าประชาธิปไตย

     ยกตัวอย่างเวลาเราทำงานนิตยสาร คอลัมน์ที่น้องๆ ส่งมา นอกจากเราจะคอมเมนต์ให้คะแนน ให้คำแนะนำว่าควรปรับตรงไหน สิ่งที่เราบอกคนดูแลประจำคอลัมน์เสมอๆ คือ เราต้องให้กำลังใจ ต้องชื่นชมน้องทุกครั้ง มันจะส่งผลให้เขามั่นใจในตัวเอง สามารถพัฒนาความคิด และความสามารถเพื่อเติบโตต่อไปได้ เราไม่ได้หวังให้เขากลายเป็นนักเขียนเลยในวันพรุ่งนี้ ปีหน้า หรือทันทีที่เขาส่งเรื่องมา เพราะด้วยอายุแล้วเขายังมีเวลาอีกมาก ให้สิ่งนี้มันเป็นเวทีฝึกคิด ฝึกเขียนของเขา ให้ค้นพบและพัฒนาตัวเองต่อไป  

     เราอยู่กับนิตยสารวัยรุ่นมานาน ก็เลยมองเห็นความสัมพันธ์ตรงนี้ ถ้าคิดว่าเราอยากปลูกต้นไม้การเป็นนักคิดและนักเขียนให้เด็กๆ เท่าที่ทำได้ มันก็ต้องเป็นธรรมชาติ ไม่ยัดเยียด เขาอยากแบ่งบานเป็นดอกไม้ยังไงก็ได้ เราถึงไม่เชื่อว่าความคิดด้านการศึกษา วัฒนธรรม ค่านิยม หรือการเมือง จะต้องถูกครอบโดยผู้ใหญ่ว่าต้องมีรูปแบบและการแสดงออกอย่างนี้เท่านั้น เราไม่เชื่อ 

     ถ้าผู้ใหญ่ทำแบบนี้ก็เท่ากับว่าเขาพยายามหยุดการบานของดอกไม้ตามธรรมชาติ 

เลือก D:

เพราะชีวิตขาดโทรศัพท์ไม่ได้ ในโลกที่เทคโนโลยีเข้ามาและพัฒนาอย่างรวดเร็ว

ผู้คนเดินหน้าเข้าสู่โลกออนไลน์เต็มตัว ด้วยว่ามีคอนเทนต์ให้เสพง่ายได้ไว 

สิ่งพิมพ์จึงเจอศึกหนัก ตามไปเลื่อนจอดูความในใจหลังปิดตัวของนิตยสาร และการเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น

ในวันที่โลกออนไลน์มาถึง I Like เป็นยังไง

     I Like ก็เป็นอีกสื่อสิ่งพิมพ์ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และไม่ว่าเราจะใช้กลยุทธ์อะไรก็ไม่สามารถเอาชนะความจริงของโลกที่เปลี่ยนไปแล้วได้ มันคือโลกใบใหม่ และไม่ใช่ใบเดียวกับที่เราเคยมีนิตยสารอยู่อีกแล้ว ผู้รอดคือคนที่กระโดดเข้าไปอยู่ในโลกใหม่เท่านั้น คุณไม่สามารถสร้างนิตยสารให้ขายดีได้อีกต่อไป เพราะโลกตรงนี้หายไปแล้ว ถึงจุดนึงเราก็ต้องปิดตัวลง โชคดีที่เรายังได้บอกลานักอ่าน เรากำหนดวันปิดตัว และตั้งใจทำเล่มสุดท้ายเป็นดวงทั้งเล่มเพื่อบอกลาและขอบคุณผู้อ่าน

วันที่ประกาศปิดตัว คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง

     จำได้ว่าวันที่ประกาศจะปิดตัวตอนหกโมงเย็นที่หน้าเพจเฟซบุ๊ก เราตั้งหน้าตั้งตารอตอบคอมเมนต์ของแฟนๆ ปรากฏว่าแค่สิบนาทีแรก ยอดคอมเมนต์จากสิบเป็นร้อย จากร้อยเป็นพันอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถตอบไหว เราเลยปิดโซเชียลฯ หนีไปพักอยู่คนเดียว จนผ่านไปสองวัน โทรถามทีมงานว่าเป็นยังไงบ้าง น้องเขาบอกว่า ยอดคนเข้ามาดูโพสต์เป็นล้านเลย ทีวีหลายช่องออกข่าว วางสายปุ๊บเราน้ำตาไหลเลย มันไม่ใช่ความรู้สึกเศร้าหรือเสียดาย เพราะเราเข้าใจและยอมรับมันมาล่วงหน้าแล้ว แต่มันเป็นความรู้สึกของความรัก ความผูกพัน น้ำตาที่ซาบซึ้งแทนคำขอบคุณทีมงานและผู้อ่านทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่เล่มแรกจนถึงเล่มสุดท้าย นี่เป็นการปิดตำนานนิตยสารวัยรุ่นที่ยิ่งใหญ่สำหรับเราและผู้อ่านที่เป็นแฟนคลับ 

     ทุกวันนี้ถ้าย้อนกลับไปนึกถึงวันแรก ระหว่างทาง และวันปิดตัว มันยังเป็นความทรงจำที่งดงามมากๆ 

ถ้าตอนนี้กลับมาทำนิตยสาร I Like เวอร์ชั่นปัจจุบัน มันจะมีหน้าตาเป็นแบบไหน

     ถ้าต้องทำนิตยสารจริงๆ เรามอง I Like เวอร์ชั่นนี้เป็นคน ก็คงมีหัวใจเหมือนเดิม คือแบบทดสอบ ดูดวง คำทำนาย ส่วนอวัยวะอย่างอื่น เช่น แขน ขา หัว ลำตัว เท้าที่จะพาสิ่งนี้เดินไป รวมทั้งการแต่งตัวก็จะมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทสังคมปัจจุบัน รูปเล่มอาจจะเล็กลง ความหนาลดครึ่งหนึ่ง การเขียนก็เน้นคอลัมน์ที่เป็นไฮไลต์เลย บางส่วนอาจจะอยู่ในเล่ม บางส่วนอาจจะให้สแกนคิวอาร์โค้ดเพื่ออ่านดวงและเล่นในโซเชียลฯ ควบคู่กันไป เราคงต้องใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารเชื่อมกับกระดาษด้วย

หลายวันก่อนเราเห็นการเคลื่อนไหวในรอบสี่ปีหลังนิตยสารปิดตัวลงในเพจเฟซบุ๊ก I Like mag นั่นเป็นสัญญาณอะไรหรือเปล่า

     เพราะนิตยสารเล่มมันไม่สามารถกลับมาทำได้ในความนิยมของผู้อ่านที่เท่าเดิม หรือไม่น่าถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ก็เลยสำรวจตัวเองว่าถ้ากลับมาทำ มาเล่าเรื่องจริงๆ เราเหมาะกับแพลตฟอร์มออนไลน์ไหนมากที่สุด ซึ่งเราถนัดการใช้ภาพนิ่ง การ์ตูน ถนัดเขียนมากกว่าการพูด รูปแบบการเล่นที่ต้องประมวลผลคำทำนาย หรือเกมทายใจได้ไว 

     ตอนนี้ก็เลยกำลังทำแอพ ‘I Like แจมดวง’ สำหรับอ่านดวง เล่นเกมทายใจอยู่ โดยกลุ่มเป้าหมายยังเป็นฐานผู้อ่านเดิมที่มีความผูกพันกับ I Like ซึ่งแอพนี้จะมีหลายเซคชั่น เล่นได้ทุกเพศมากขึ้น 

อะไรทำให้คุณตัดสินใจกลับมาทำสิ่งนี้อีกครั้ง

     พอหลังจาก I Like ปิดตัว เราก็ไปทำธุรกิจเล็กๆ แต่รู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่า เหมือนขาดอะไรไป ขาดพลังและความสุข นอนไม่หลับติดต่อกันหลายปีจนต้องไปพบจิตแพทย์ หมอบอกว่าเราเป็นโรคความเครียดจากจิตใต้สำนึก มีอาการซึมเศร้าแต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นโรค แถมมีแพนิคอีก ก็พยายามสังเกตตัวเองว่าสาเหตุมาจากอะไร จนมั่นใจว่าคงเป็นเพราะเราขาดอาหารทางใจ หรือสิ่งที่เราเคยทำ สิ่งที่รัก และเป็นชีวิตเรา นั่นคือการเขียน 

     เราเลยคิดอยากจะกลับมาทำอาชีพเกี่ยวกับการเขียนอีกครั้ง แต่ไม่รู้จะทำอะไร จนมาเจอหลานเขยที่รู้จัก I Like บอกเราว่า “อาเอา I Like กลับมาในรูปแบบแอพพลิเคชั่นไหม” คำพูดนั้นเปิดไฟในหัวเราขึ้นมาเลย และเราก็พูดกับตัวเองว่า “แจมจัง! กูรอดตายแล้ว กูจะกลับมาทำแอพ I Like ให้ดังเหมือนหนังสือ I Like ให้ได้”

คุณตั้งใจกับการกลับมาครั้งนี้มากขนาดไหน

     เราไม่ได้พูดเกินจริง แต่เรารู้สึกได้ว่าถ้ามีความตั้งใจ 100 เราใส่ลงไป 100++ เรากลับมาลงแรงเหมือนตอนที่ทำ I Like ใหม่ๆ เราจัดเต็มทั้งคอนเซปต์ เนื้อหา และอาร์ตเวิร์ก แต่เพราะเราเริ่มต้นการทำแอพดูดวงด้วยความรู้เป็นศูนย์ ผ่านไป 5-6 เดือนระหว่างรอเขียนแอพ เราย้อนกลับมาอ่านสิ่งที่เราคิดไว้ใหม่ ก็ต้องรื้อทิ้งเกือบหมด จากนั้นค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ความรู้ก็สะสมมากขึ้น 

     การทำแอพนี้เราใช้หลักการทำงานเดียวกับการทำนิตยสาร I Like คือ ‘การทำงานต้องใส่จิตวิญญาณไปด้วย’ ซึ่งตรงกับวิธีบริหารงานของ คาซุโอะ อินาโมริ (Kazuo Inamori) นักบริหารอันดับ 1 ของญี่ปุ่น (ผู้กู้วิกฤตสายการบินเจแปนแอร์ไลน์)

     เราไม่รู้หรอกว่า คนเล่นจะชอบแอพเรามากขนาดไหน เรารู้เพียงว่าเราจะต้องทำให้สุด เหมือนตอนทำ I Like ที่เราตั้งเป้าว่าทุกคอลัมน์ต้องอ่านได้ อ่านสนุก และเราจะไม่หยุดให้กับปัญหาที่เข้ามา ถึงแม้แอพจะเผยแพร่ออกไปแล้ว เรายังต้องมีการปรับปรุงตลอดเวลา เราเชื่อว่า ‘ไม่มีสิ่งใดสมบูรณ์ จนทำให้ดีมากขึ้นกว่าเดิมไม่ได้’

     และเราจะขอบคุณอย่างที่สุด ถ้าเพื่อนๆ จะโหลดแอพมาลองเล่นเกม อ่านดวง แบบทดสอบทายใจ ที่เราทุ่มสุดใจ เทสุดความคิด และใช้พลังงานทั้งหมดที่มีเพื่อมัน