Sat 07 Nov 2020

BIZARRE LOVE TRIANGLE

คอลัมน์เกี่ยวกับความรักความสัมพันธ์ ไม่ใช่ของคนมีตัวตนมีเลือดเนื้อ แต่เป็นตัวละครในเรื่องแต่ง

ภาพ: NJORVKS

บทความชิ้นนี้มีการเผยแพร่เนื้อหาของหนังสือ

     คำนำ—ผู้อ่านเรื่องที่ผมเขียนเข้าใจ คำนำก็ไม่จำเป็น ผู้อ่านเรื่องที่ผมเขียนไม่เข้าใจ คำนำก็อาจไม่จำเป็นอีกเหมือนกัน ไม่ว่าทางไหน คำนำก็ไม่จำเป็นอยู่ดีสิน่า แต่เอาเป็นว่าโดยธรรมเนียมแล้ว ก็ควรมีคำนำไว้ให้อ่านบ้าง ไม่ว่าคนอ่านจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตาม

     ผมได้รับการเชื้อชวนให้เขียน ‘คอลัมน์’ ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็หมายถึง ‘เสา’ อันเป็นโครงสร้างแบกรับสถาปัตย์ของสิ่งพิมพ์ เป็นข้อเขียนในกรอบ ทั้งทางตั้ง ทางนอน ทางนั่ง หรือตะแคงที่มีอยู่เป็นประจำในสิ่งพิมพ์รายคาบ รายเดือน รายสัปดาห์ หรือรายอะไรก็ตามที่คาดว่าจะมีมาเรื่อยๆ แบบไม่ใช่โผล่มาจ๊ะเอ๋! แล้วหายไปเลย โดยคอลัมน์ที่ว่านี้เกี่ยวกับความรักความสัมพันธ์ ไม่ใช่ของคนมีตัวตนมีเลือดเนื้อ แต่เป็นตัวละครในเรื่องแต่งทั้งหลายที่ผมได้อ่านแล้วชอบใจ หรือเห็นว่าน่าจะนำมาเล่าใหม่ในแบบที่ถึงคุณไปอ่านเองอาจจะพบว่า เฮ้ย มันไม่เหมือนอย่างที่เล่าไว้นี่นา (เอ๊ะ! ยังไง)

     ดังนั้นเรื่องที่จะเล่าต่อไป จึงมักจะต้องมีคำเตือนว่า “บทความชิ้นนี้มีการเผยแพร่เนื้อหาของ…” ปรากฏอยู่เสมอ คงไม่ใช่แค่กับบางเรื่อง แต่ก็เกือบทุกเรื่องนั่นแหละ เพราะเดี๋ยวนี้การเปิดเผยเนื้อหาบนชุมชนออนไลน์และสังคมเครือข่าย ทั้งในรูปแบบตัวหนังสือ เสียง ภาพนิ่ง-ไม่นิ่ง กระทั่งอีโมจิก็ถือเป็นอันตรายร้ายแรงต่อความมั่นคงในความบันเทิง ยิ่งกว่าการเปิดเผยเนื้อหนังในช่องทางที่กล่าวมาด้วยซ้ำไป

     เอาล่ะ ดูจะเปลืองเวลาและค่าเน็ตมือถือของผู้อ่านกันพอสมควรแล้ว (สำหรับคำนำที่ไม่ได้นำใครไปไหนเลย) ก็ถึงควรแก่เวลาเข้าสู่เนื้อหาที่ห้ามลืมว่ามีการเปิดเผยเนื้อเรื่องกันอย่างโจ๋งครึ่ม ซึ่งเรื่องแรกสุด ผมตั้งใจเอาไว้ว่าจะหยิบเอาเรื่องราวความสัมพันธ์ใน Nadja ของ อ็องเดร เบรอตง (André Breton) ผลงานเรื่องที่ดังอยู่เงียบๆ ของสันตะปาปาแห่งลัทธิเซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) มาบอกเล่า ซึ่งก็เป็นการพบกันของคนแปลกหน้าและหน้าออกจะแปลกสองคน แต่จนแล้วจนรอดก็เข็นออกมาเป็นบทความไม่ได้ เพราะสนุกกับการค้นคว้าข้อมูลจนลืมจะเขียน 

     จนเมื่อครั้งล่าสุด บรรณาธิการผู้ทาบทาบเริ่มกระทุ้งทวงถามถึงความคืบหน้า เลยทำให้ผมต้องขอสลับไปเล่าเรื่องที่ตั้งใจว่าจะเขียนถึงเป็นลำดับสองมาไว้เป็นอันดับแรกแทน โดยก็ไม่รู้ว่าทำไมเหมือน เอาเป็นว่านี่ล่ะเรื่องราวที่ทุกท่านจะได้อ่าน ความสัมพันธ์แบบรักสามเส้าที่พิสดารอย่างที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์วรรณกรรม ส่วนจะเป็นเรื่องอะไรนั้น โปรดติดตามด้วยความระทึก

“I am no longer dead: I am in love.”
Adolfo Bioy Casares

     ในปี 1924 มีนักประดิษฐ์สติเฟื่องนามว่า มอเรล ผู้คิดค้นเครื่องมือบันทึกภาพชีวิตในห้วงเวลาหนึ่งๆ และสามารถนำห้วงเหตุการณ์นั้นๆ กลับมาฉายซ้ำตรงจุดที่เกิดอย่างชนิดสมจริงจนดูราวกับเพิ่งจะปรากฏขึ้นใหม่หมาด และเขายังสร้างแหล่งพลังงานหมุนเวียนให้เครื่องจักรดังกล่าวสามารถฉายภาพเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ได้เรื่อยไปไม่มีวันจบวันสิ้น เป็นการ ‘อุบัติซ้ำชั่วนิรันดร์’ ชนิดที่สร้างได้

     พูดไปก็คล้ายๆ กับโฮโลแกรม (Hologram) หากจะมีความพิเศษกว่าก็คงเป็นภาพที่ฉายนั้นมีชีวิตชีวา จับต้องสัมผัสได้ มีกลิ่น มีรส และองค์ประกอบต่างๆ ครบถ้วนอยู่ในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นถ้าเราใช้เครื่องมือนี้บันทึกภาพอาหารและเครื่องดื่มเอาไว้ เราก็จะมีกินมีดื่มไม่สิ้นสุด 

     ฟังดูแล้วเป็นวิทยาการสุดอัศจรรย์ทันสมัยและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ แต่มอเรลกลับใช้มันเพื่อบันทึกภาพชีวิตของเขากับ เฟาสทีน หญิงที่เขาหลงรัก เพื่อให้เหตุการณ์แห่งความรักนั้นจะคงอยู่ตลอดกาล

     มอเรลวางแผนติดตั้งเครื่องมือดังกล่าวไว้บนเกาะร้างกลางทะเล เขาปลูกสร้างอาคารที่มีลักษณะเหมือนโรงแรมห้าดาว ซึ่งถูกเรียกว่า ‘พิพิธภัณฑ์’ ใกล้กันนั้นเป็นสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ มีโบสถ์และเครื่องผลิตพลังงานจากน้ำขึ้นน้ำลง จากนั้นเขาได้พามิตรสหาย คนใกล้ชิด และบรรดาบริวารไปยังเกาะดังกล่าว เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมเฉลิมฉลองและเป็นประจักษ์พยานในฉากชีวิตสุดท้ายที่จะถูกบันทึกไว้ โดยที่มอเรลยังไม่ได้ประกาศออกไป ว่าจะไม่มีผู้ใดได้กลับออกไปหลังจากนี้ 

     แต่ปัญหาข้อใหญ่ที่อัจฉริยะบุคคลยังคิดไม่ตกคือ แม้เขาจะรักเฟาสทีนมากเพียงใด แต่เฟาสทีนนั้นไม่เคยรักเขาเลย เขาจึงต้องใช้เวลาที่เหลืออยู่ไม่มากนั้นเผยความในใจ โอ้โลมปฏิโลมให้เธอยอมเป็นคนรักของเขา แต่การณ์กลับเป็นว่าผู้สามารถเนรมิตสิ่งประดิษฐ์อัศจรรย์ไม่สามารถเปลี่ยนใจคนได้ และทำให้ภาพบันทึกระหว่างเขากับเฟาสทีนดูเหินห่างหมางเมิน จนแทบจะดูไม่ออกว่าเป็นคนรักกันเลยแม้แต่น้อย จึงไม่แปลกที่ในห้วงวาระสุดท้าย เราจะเห็นเฟาสทีนนั่งเหม่อมองดูดวงอาทิตย์เพียงลำพัง หรือในอีกหลายๆ ครั้ง ซึ่งมองแล้วไม่เข้าใกล้กับการเป็นอนุสรณ์แห่งความรักระหว่างเขากับเธอได้เลย

     ที่เล่าไปข้างต้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน เรื่องราวจริงๆ เริ่มจากตรงนี้

     หลายปีผ่านพ้นไป ‘ข้าพเจ้า’ หรือชายนิรนามคนหนึ่งจำต้องหนีออกจากประเทศบ้านเกิด เพราะเขียนบทความเปิดโปงความชั่วร้ายของผู้นำเผด็จการ เขาระหกระเหเร่ร่อนไปถึงกัลกาตา ประเทศอินเดีย พ่อค้าขายพรมชาวซิซีลีผู้ให้ที่พักพิงและอาหารจึงได้เล่าเรื่องเกาะกลางทะเล ซึ่งน่าจะเหมาะแก่การซ่อนตัวจากบรรดาตำรวจลับและนักสืบที่ออกล่าเขาอย่างจ้าล่ะหวั่น 

     เกาะที่ว่านั้นเคยมีคนกลุ่มหนึ่งเข้าไปปลูกสร้างอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไว้ก่อนจะย้ายออกไป หรือปล่อยทิ้งร้างตั้งแต่ปี 1924 เป็นต้นมา ซึ่งก็น่าจะเป็นเพราะโรคระบาดลึกลับที่ร่ำลือกันในหมู่นักเดินเรือ ว่าถ้าเป็นแล้วเส้นผมจะหลุดร่วงจากร่างกาย ผิวหนังลอก และไม่เหลือกระทั่งเปลือกตา ก่อนจะเสียชีวิตไปในสภาพอเนจอนาจอย่างที่สุด ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับเรือขนส่งสินค้าญี่ปุ่น ‘คิมุระ’ ที่ได้กลายเป็นเรือร้าง หลังลูกเรือซึ่งเคยไปยังเกาะแห่งนั้นนำเอาเชื้อไปแพร่บนเรือ

     แน่นอนว่า ‘ข้าพเจ้า’ ตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้า หลังจากได้เรือลำเล็กมา เขาพาตัวเองไปจนถึงเกาะที่ว่านั้นในสภาพล้มป่วยเจียนตาย และภายหลังจากฟื้นไข้ เขาก็ได้ขึ้นไปสำรวจบนเกาะ ก่อนจะพบความผิดประหลาดอะไรหลายๆ อย่าง ตั้งแต่เจอกลุ่มคนเต้นรำอยู่กลางพงหญ้ารกโดยไม่สนใจงูที่เลื้อยไปมายั้วเยี้ย การปรากฏขึ้นของดวงอาทิตย์สองดวง สิ่งปลูกสร้างอาคารที่ดูราวกับหลุมหลบภัยในช่วงสงคราม และอื่นๆ อีกมากมาย

     เขาไม่กล้าเข้าใกล้กลุ่มคนเหล่านี้ เพราะไม่รู้ว่าใครคนใดจะมีเส้นสายหรือรู้จักกับผู้นำรัฐบาลของเขาหรือไม่ ด้วยดูเหมือนว่าคนชั้นสูงในเวลานั้นต่างรู้จักหรือมีสัมพันธ์เกี่ยวข้องไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เว้นก็เพียงแต่สุภาพสตรีคนหนึ่งที่เขาแลเห็นริมชายหาด เธอนั่งเหม่อมองท้องฟ้าและดวงอาทิตย์อยู่เช่นนั้นแทบทุกวัน 

     มันไม่ใช่รักแรกพบแต่อย่างใด เพราะในครั้งแรกที่เขาเห็น เธอเป็นเพียงสาวยิปซีที่มีใบหน้าแปลกเกินกว่าจะเรียกได้ว่าสวย แต่ด้วยเพราะความโดดเดี่ยว ความรู้สึกไกลห่างจากบ้านเกิดเมืองนอน รวมถึงคนที่รัก การได้มาเฝ้ามองเธอในทุกๆ วันกลับเป็นความสุข จากความสุขก็ก่อเกิดเป็นความรักขึ้นมาทีละน้อย และด้วยความรักนี้เองที่ทำให้เขาพยายามตามติดชีวิตของเธอไป จนได้รู้ว่าเธอคือเฟาสทีน ซึ่ง ณ ตอนนี้เป็นเพียงภาพที่ถูกบันทึกไว้ด้วยเครื่องจักรพิสดาร 

     แม้ ‘ข้าพเจ้า’ จะรู้แล้วว่าเฟาสทีนไม่ได้มีตัวตนอยู่อีกแล้ว แต่มันไม่ได้ทำให้เขาปรารถนาในตัวเธอน้อยลงเลย และยิ่งได้ทราบถึงจุดมุ่งหมายในการเดินทางมายังเกาะแห่งนี้ของมอเรล เขาก็ยิ่งรักและหวงแหนเฟาสทีนมากยิ่งขึ้นทวีคูณ 

     เขาทุ่มเทเวลาที่เหลืออยู่ทั้งหมด เพื่อจดจำฉากเหตุการณ์ทั้งหลายที่เฟาสทีนปรากฏ พร้อมๆ กับศึกษาการทำงานของเครื่องจักร เพื่อว่าเขาจะได้ใช้บันทึกภาพของเขาในฐานะคนรักของเฟาสทีน! เพื่อให้ภาพที่ถูกฉายออกมามีเขาและเธอเคียงคู่กันอยู่ทุกเวลา และใครก็ตามที่เผอิญเดินทางมายังเกาะแห่งนี้ เมื่อได้แลเห็นก็จะเข้าใจไปว่า ทั้งคู่เป็นคนรักกันอย่างไม่ต้องสงสัย แม้ในชีวิตจริงทั้งเขาและเฟาสทีนจะไม่เคยรู้จักกันก็ตาม

     นี่เป็นเรื่องราวรักสามเส้าจากหนังสือ The Invention of Morel ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1940 เป็นนวนิยายเรื่องแรกของนักเขียนวัย 26 ปีนามว่า อดอลโฟ บียอย กาซาเรซ (Adolfo Bioy Casares) ผู้เป็นทั้งลูกศิษย์และมิตรรักของ ฆอร์เก ลุยส์ บอร์เกซ (Jorge Luis Borges) นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ชาวอาร์เจนตินา ที่คอยทั้งผลักทั้งดันให้กาซาเรซพยายามเขียนเรื่องสั้นและนวนิยายในแบบที่ให้คนทั่วไปสามารถอ่านรู้เรื่องได้ 

     ด้วยเพราะก่อนหน้านั้น กาซาเรซและนักเขียนมากมายในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 กำลังอยู่ในห้วงเวลาที่การเขียนให้คนอ่านรู้เรื่องได้เป็นความผิดบาปร้ายแรง นวนิยายที่ดีจะต้องไม่มีเรื่อง หรือไม่พยายามเล่าเรื่องอะไรทั้งสิ้น หากจะเล่าเรื่องราวเหล่านั้นอาจต้องกลั่นออกมาจากกระแสสำนึกและไม่สำนึก การให้ความสำคัญกับเรื่องราวจะกลายเป็นการลดทอนคุณค่าและความลึกซึ้งในตัวงาน ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องอำกันเล่นๆ เพราะมีนักเขียนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อเช่นนี้ ว่างานที่ดีต้องเขียนแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง อ่านจบแล้วก็ไม่แน่ใจว่าอ่านจบหรือยัง ไม่เฉพาะคนอ่าน แต่บางครั้งอาจลามไปถึงคนเขียนที่ยังไม่แน่ใจเลยด้วยซ้ำว่าเขียนอะไรไปบ้าง

     ดังนั้นเมื่อกาซาเรซก้าวพ้นร่มเงาของงานเขียนที่อ่านไม่รู้เรื่องทั้งหลาย มาสู่งานที่ต้องมีเรื่อง และต้องเล่าให้ดี อย่างชนิดมีลูกล่อลูกชนชวนให้ติดตาม มีจุดหักมุมที่ทำให้ผู้อ่านฉงนฉงายใจ แต่ไม่ถึงกับเส้นเลือดในสมองแตก เขาก็สามารถทำได้อย่างดีเยี่ยม ถึงขนาดผู้เป็นอาจารย์ต้องยกนิ้วให้ และกลายมาเป็นนวนิยายสั้นเล่มนี้ที่ผมหยิบมาเล่าเรื่องราวทั้งหมดไปแล้วนั่นเอง