THE DEATH AND LIFE OF GREAT THAILAND CITIES
เรียนรู้เรื่องเมือง แล้วดูว่าสิ่งที่เจน เจคอบส์ เคยเขียนเมื่อ 60 ปีที่แล้วยังคงใช้ได้ดีในเมืองไทยตอนนี้ไหม
เรื่อง: ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์
ภาพ: ms.midsummer
เวลาเดินไปปากซอยเพื่อซื้อกับข้าว หรือระหว่างทางจากบีทีเอสไปที่ทำงาน เคยตั้งคำถามกันไหมว่า ย่านที่เราไปหรืออยู่อาศัยนั้น ทำไมบางครั้งถึงดูแห้งแล้งเงียบเหงา ขณะที่บางย่านก็ดูมีชีวิตชีวาเหลือเกิน
อะไรคือเหตุในความลุ่มๆ ดอนๆ ของเมืองที่เราอาศัยอยู่ แล้วเมืองเหล่านี้จะมีชีวิตชีวาและดีโดยทั่วกันกว่านี้ได้ไหม
จริงๆ แล้ว คำถามข้างต้นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย มีคนเริ่มถามแบบนี้มาก่อนแล้ว รวมถึงหาวิธีทำความเข้าใจเพื่อให้เมืองเกิดการพัฒนามานานแสนนาน จนออกเป็นหนังสือ The Death and Life of Great American Cities เขียนโดย เจน เจคอบส์ (Jane Jacobs) ตีพิมพ์ในปี 1961 นั่นเอง
หนังสือเล่มดังกล่าวพูดถึงความตายและชีวิตของเมืองในสหรัฐอเมริกา โดยตั้งใจทำให้เราเข้าใจเมืองที่เราอยู่อาศัย ผ่านการสังเกตอย่างละเอียดลออของผู้เขียน และสามารถนำมาเป็นแนวทางพัฒนาได้จริงในโลกตะวันตก จนกลายเป็นตำราเล่มสำคัญเล่มหนึ่งของนักออกแบบเมืองในปัจจุบัน
จากปี 1961 มาถึงปี 2021 หนังสือเล่มนี้ก็มีวาระครบ 60 ปีพอดี เราเลยอยากรู้ว่าถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะสามารถนำมาเรียนรู้และเข้าใจบ้านเมืองของเราได้มากน้อยแค่ไหน
จึงเป็นเรื่องน่าสนุกดี หากว่าจะลองออกไปเดินสำรวจละแวกบ้าน ไปพร้อมๆ กับเปิดหนังสือ The Death and Life of Great American Cities เพื่อเรียนรู้เรื่องเมืองไปด้วยกัน แล้วดูว่าสิ่งที่เจน เจคอบส์ เคยเขียนเมื่อ 60 ปีที่แล้วยังคงใช้ได้ดีในเมืองไทยตอนนี้ไหม
หากเพื่อนๆ พร้อมแล้วเตรียมไปสำรวจเมืองด้วยกันกับเราได้เลย!
(แน่นอนว่าต้องไม่ลืมสวมหน้ากาก พกเจลล้างมือ รักษาระยะห่างในการเดินสำรวจครั้งนี้)
แต่เดี๋ยวก่อน ก่อนจะออกจากบ้าน ต้องขอปูพื้นฐานเกี่ยวกับหนังสือ The Death and Life of Great American Cities และเรื่องของเจน เจคอบส์ เพิ่มกันอีกนิดนึง
หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นจากทุนของมูลนิธิ The Rockefeller Foundation เพื่อศึกษาการวางผังเมืองของสหรัฐฯ ในตอนนั้น และได้มอบหมายให้เจน เจคอบส์ นักเขียน นักข่าวชาวอเมริกัน-แคนาเดียน และนักเคลื่อนไหวทางการพัฒนาเมืองที่คนจับตา จากการเขียนวิจารณ์นโยบายของนักผังเมืองและนำเดินขบวนอยู่บ่อยครั้ง เป็นคนบรรเลงเขียนหนังสือเล่มนี้ เพื่อจะได้ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้เมืองๆ หนึ่งเป็นเมืองที่ดีหรือไม่ดี โดยหลักๆ หนังสือได้พูดถึงข้อเสนอแนะความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะริมทาง และสร้างเมืองที่เปิดโอกาสให้กับความหลากหลายของผู้อยู่อาศัย ซึ่งมันไปขัดแย้งต่อแฟชั่นของนักผังเมืองอเมริกันในช่วงเวลานั้นมากๆ ที่เน้นตัดถนนให้รถยนต์วิ่ง และมักเลือกจัดโซนนิ่งของเมืองอย่างเเข็งทื่อ ละเลยความเป็นมนุษย์และความเป็นชุมชน
กลายเป็นว่าหนังสือของเธอเล่มนี้เขย่าสังคมอเมริกันได้เป็นอย่างดี จนนำไปสู่ความสำเร็จในการคัดค้านหลายนโยบายพัฒนาเมืองที่ไม่ดีของสหรัฐฯ และกลายเป็นตำราสามัญของนักผังเมืองในโลกสมัยใหม่
แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะตีพิมพ์มาแล้ว 60 ปี แต่ข้อเสนอแนะและเรื่องราวต่างๆ ก็ยังดูล้ำสมัยและสามารถหยิบมาใช้พูดคุยได้เสมอๆ
หนังสือเล่มนี้ของเจนถูกแบ่งออกเป็นหลายส่วน แต่สำหรับการเดินออกสำรวจเมืองในวันนี้ จะขอหยิบส่วนที่ 2 ของหนังสือ นั่นก็คือ ‘The Condition for city diversity’ หรือ ‘เงื่อนไขสำหรับการสร้างความหลากหลายของเมือง’ มาใช้เป็นหลัก
เจนเชื่อว่าเมืองที่ดีเกิดจากการใช้งานของผู้คนที่หลากหลายในพื้นที่ตรงนั้น ซึ่งความหลากหลายคือหัวใจที่จะมาช่วยขับเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมๆ กัน โดยเจนได้เสนอวิธีการสร้างความหลากหลายของเมืองเป็นเช็กลิสต์ 4 ข้อ (แต่ในหนังสือจะเป็น 4 บทความนะครับ) ดังนี้
1. พื้นที่ย่านควรมีการใช้งานที่หลากหลายมากกว่าหนึ่งอย่าง แทนที่จะเป็นย่านซึ่งมีการใช้งานเพียงอย่างเดียว เช่น บ้านที่อยู่อาศัยอย่างเดียว หรือทำการค้าอย่างเดียว เพราะบางช่วงเวลาในย่านนั้นจะเงียบเหงาได้ เนื่องจากคนไม่ได้ใช้ย่านนั้นทุกช่วงเวลา
2. พื้นที่ย่านควรแบ่งบล็อกระหว่างช่วงถนนสั้นๆ เพื่อส่งเสริมการเดินเท้าของผู้คนให้ได้พบปะและกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วถึง
3. พื้นที่ย่านควรมีอาคารทั้งเก่าและใหม่ผสมกัน ที่นอกจากรักษาประวัติศาสตร์ได้แล้วยังเปิดโอกาสแก่ผู้มีรายได้น้อยเช่าอาศัย
4. พื้นที่ย่านควรมีความหนาแน่นของผู้คน เพราะยิ่งมีผู้คนก็ยิ่งมีความหลากหลาย และยิ่งสร้างชีวิตชีวาแก่เมือง
หากย่านใดย่านนึงมีครบเช็กลิสต์ทั้ง 4 ข้อ เจนค่อนข้างเชื่อว่าย่านนั้นจะเป็นย่านที่ประสบความสำเร็จ หากขาดข้อใดไปก็พยายามเข้าไปเติมเต็ม
ด้วยเหตุนี้ เราเลยตั้งใจเอาเช็กลิสต์ 4 ข้อนี้เป็นหัวใจในการออกไปเดินสำรวจเมือง
เมื่อเปิดประตูบ้านที่ย่านชุมชนสมเด็จย่า คลองสาน ฝั่งธนฯ และย่างเท้าเอาตัวเองออกมาโดนย่างกลางแดดในตอนบ่าย สิ่งที่ค้นพบและเห็นในทันทีก็คือย่านนี้เหมือนเมืองร้างมากๆ เลย (จะมีซอมบี้ออกมาจากด้านข้างไหม)
โชคดีที่ได้อ่านหนังสือของเจนมาก่อน ทำให้เข้าใจได้ว่าที่มันเงียบขนาดนี้ ก็เพราะว่าปกติแล้วย่านนี้มีการใช้งานเพียงอย่างเดียว ก็คือเป็นบ้านพักอาศัย เวลาแบบนี้ใครเขาก็ออกไปทำงานหรือไม่ก็นอนกลางวันกันอยู่ ทำให้ไม่แปลกเลยที่ช่วงเวลานี้แถวนี้จะเงียบเป็นเป่าสาก ซึ่งเป็นการขัดกับข้อเสนอที่ 1 ของเจนที่ว่าย่านควรมีความหลากหลายในการใช้งาน
ถ้าอยากให้แถวบ้านคึกคักอีกครั้ง ก็อาจจะต้องเพิ่มกิจกรรมลงไปให้ย่านนี้มีความหลากหลายมากขึ้นในหลากช่วงเวลา อาทิเช่น เปิดตลาดเที่ยง หรือให้ผู้คนเปิดร้านรวงต่างๆ
แต่จริงๆ แล้วย่านบ้านของเรานี่ก็ไม่แย่ซะทีเดียว ยังมีตรอกซอกซอยค่อนข้างถี่และมีช่วงตึกสั้น ทำให้สามารถเดินทะลุและทั่วถึงได้หมดของย่านแถวนี้ ซึ่งก็ตรงกับข้อเสนอที่ 2 ของเจนที่ว่า ย่านควรแบ่งบล็อกสั้นๆ เพื่อส่งเสริมการเดินเพื่อสร้างพบปะผู้คนและการจับจ่ายใช้สอยได้ทั่วถึง
อากาศร้อนๆ แบบนี้ ถ้าเดินทะลุซอยเล็กๆ แล้วเจอร้านน้ำหลบมุมสักร้านก็คงดีเลยทีเดียว
ไม่ทันขาดคำ ก็เจอร้านน้ำปั่นหลบมุมอยู่ร้านนึง จึงไม่รอช้าขอเข้าไปอุดหนุนโกโก้ปั่นเสียหนึ่งแก้ว นอกจากดับร้อนแล้วยังได้กระตุ้นเศรษฐกิจแก่ร้านค้าเล็กๆ รายย่อยอีกด้วย
นี่สินะคือข้อดีของการที่ย่านนี้มีบล็อกช่วงสั้นและเดินได้ทั่วถึงจนได้เจอร้านเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่
แต่ต่อให้เจอสิ่งที่ตรงข้อเสนอของเจนบ้างแล้ว ย่านนี้ก็ยังขาดไปอีกตั้ง 3 ข้อเสนอ ซึ่งถ้าไม่อ่านหนังสือเล่มนี้มาก่อน เราอาจจะไม่ทราบก็ได้ว่าย่านนี้ขาดอะไรไปบ้าง
ลองเดินขยับย้ายมาอีกย่านที่อยู่ถัดมาอย่าง ‘ตลาดท่าดินแดง’ ซึ่งถือว่าเป็นย่านเก่าแก่ที่มีตลาดสดและร้านอาหารมากมาย รวมถึงเป็นย่านพักอาศัยทั้งในตึกแถวและหอพัก ที่แม้ว่าจะเป็นช่วงโควิด-19 ระบาดอยู่ แต่ก็เห็นผู้คนได้เรื่อยๆ ไม่เงียบเหงาเหมือนย่านบ้านตัวเอง ทำให้ดูๆ แล้วย่านนี้น่าจะเข้าเค้าข้อเสนอแนะของเจนหลายข้อ
จากการเดินสำรวจและสังเกตการณ์ในย่านตลาดท่าดินแดงหลากช่วงเวลา พบว่าย่านนี้ค่อนข้างคึกคักและไม่เงียบเหงา ผู้คนออกมาพบปะกันเรื่อยๆ และดูมีชีวิตชีวา ยิ่งถ้าโควิด-19 ไม่ได้ระบาดมาก เราคงได้เห็นผู้คนออกมาใช้พื้นที่มากกว่านี้แน่นอน
เมื่อเอาเช็กลิสต์จากหนังสือของเจนมากางดูอีกครั้ง ก็พบว่าที่ย่านนี้มีชีวิตชีวาคึกคักได้นั้นก็เพราะมีถึง 2 อย่าง
หนึ่ง ย่านนี้มีการใช้งานที่หลากหลาย เป็นตลาดสด มีตลาดนัดตอนค่ำ รวมทั้งมีร้านรวงต่างๆ อาทิ ร้านตัดผม ร้านกาแฟ ออฟฟิศ ธนาคาร หอพัก และอื่นๆ อีกมากมายที่มีคนใช้งานได้ทั้งวัน ซึ่งนอกจากจะเป็นย่านที่เศรษฐกิจคึกคัก ยังเป็นย่านที่มีความปลอดภัยสูงจากที่มีคนเดินกันเป็นสายอยู่ข้างทางตลอดเวลา
และสอง ย่านนี้มีผู้คนอยู่อาศัยค่อนข้างหนาแน่น (แต่ไม่มากเกิน) ทั้งในตึกแถว ทั้งหอพักต่างๆ จึงทำให้มีคนออกมาใช้พื้นที่กับกิจกรรมที่มีอย่างพอดีพอตัว ซึ่งมีองค์ประกอบของย่านตรงตามที่หนังสือของเจนเขียนถึง
อย่างไรก็ตาม ย่านนี้ยังมีข้อเสียในเรื่องของการตัดบล็อกอาคารที่ไม่ได้สั้นมาก ทำให้บางจุดของซอยอาจจะเข้าถึงได้ยาก ทำให้ร้านค้าที่ติดริมถนนใหญ่อาจจะได้เปรียบและทำให้คนไปกระจุกตัวมากกว่านั่นเอง
ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาอีกฝั่งเมือง ลองมาเดินสำรวจแถว ‘ถนนสำเพ็ง’ ที่ใครๆ ก็รู้จักแบบไวๆ และเราก็สามารถเข้าใจคุณสมบัติความหลากหลายของย่านนี้ได้แบบไวๆ เช่นกัน นั่นก็เพราะว่าเราได้อ่านหนังสือ The Death and Life of Great American Cities มาแล้วนั่นเอง (ฮา)
แม้จะมีร้านค้าเปิดขาย แต่ก็เห็นได้ชัดเลยว่าช่วงนี้ค่อนข้างซบเซา ส่วนหนึ่งอาจเพราะว่าเป็นย่านที่ไม่ได้มีกิจกรรมมากกว่าแค่ขายของ ทำให้ช่วงที่เรามา (ตอนบ่ายๆ) ก็คือเงียบมาก (และอาจเพราะโควิด-19 ระบาด) อาจจะต้องเป็นช่วงเสาร์-อาทิตย์ คนถึงจะกลับมาคึกคัก ซึ่งทั้งหมดนี้ขัดกับข้อเสนอที่ 1 ของเจนที่ว่าย่านควรมีความหลากหลายในการใช้งาน
รวมถึงบางส่วนที่เป็นที่พักอาศัยของย่านนี้ก็ดูแออัดเกินไป แม้ว่าเจนจะเขียนบอกไว้ในเช็กลิสต์ว่าย่านควรมีความหนาแน่นของผู้คนสูงก็ตาม (ตามข้อเสนอที่ 4 ของเจน) แต่ก็ไม่ควรหนาแน่นเกินไปจนกลายเป็นแออัด เพราะมันจะกลายเป็นปัญหาในด้านต่างๆ ตามมา ทั้งด้านความสะอาดและทรัพยากร
เจนมักเน้นย้ำเสมอในหนังสือว่า ภาครัฐต้องฉลาดที่จะจัดสรรพื้นที่ให้ผู้คนอยู่อย่างหนาแน่นแต่พอดี ไม่ใช่จัดให้หนาแน่นจนแออัด หรือน้อยจนเป็นย่านร้าง สิ่งนี้คือความละเอียดอ่อนของการวางผังเมือง การออกแบบเมืองที่ดีนั่นเอง
เดินไวๆ ต่อจากสำเพ็งมาอีกย่านใกล้ๆ คือ ‘ซอยนานา เยาวราช’ ซึ่งเป็นย่านที่มีตึกอาคารหลากหลายรูปแบบมาก มีลักษณะส่วนใหญ่เป็นตึกแถวจีนแบบชิโน-โปรตุกีส ผสมผสานไปกับตึกแถวแบบใหม่ที่สลับฟันปลากันในละแวกนี้
เมื่อเป็นย่านที่มีอาคารหลากหลายแบบเช่นนี้แล้ว จึงไปตรงกับข้อเสนอที่ 3 ของเจนที่ว่า ย่านควรมีอาคารทั้งเก่าและใหม่ผสมกัน เพื่ออนุรักษ์เสน่ห์ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ และยังเปิดโอกาสให้เกิดผู้เช่าที่หลากหลายในหลากราคา ซึ่งเราเห็นได้ชัดว่าในย่านนี้มีกิจการและผู้เช่าที่หลากหลายจริงๆ
เมื่อมีผู้เช่าที่หลากหลาย กิจการที่เปิดในย่านนี้ก็เลยหลากหลายตาม ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร คาเฟ่ บาร์เหล้า โฮสเทล ร้านขายของส่ง คลินิก ออฟฟิศสำนักงาน บ้านพักอาศัย ซึ่งเห็นได้ถึงการมีลักษณะของย่านที่มีกิจกรรมมากกว่าหนึ่งอย่าง ตามข้อเสนอที่ 1 ของเจนนั่นเอง
เนื่องด้วยเป็นย่านที่ค่อนข้างมีเช็กลิสต์ของเจนมากหน่อย จึงไม่แปลกใจเลยที่ภาพจำของย่านนี้ จากที่เราเคยเเวะมาเที่ยวบ่อยๆ ก็จะเห็นความคึกคักและชีวิตชีวาตั้งแต่เช้ายันค่ำ เช่น เช้ามีลุงป้าเปิดร้านรวง สายมีคนเข้ามาทำงานโกดัง บ่ายคนมานั่งคาเฟ่ เย็นคนต่อแถวซื้อผัดซีอิ้ว ส่วนตอนค่ำต่อด้วยบาร์ลับๆ ร้านวินเทจ หรือมาดูงานเปิดแกลลอรี่
อย่างไรก็ตาม อาจด้วยโควิด-19 ระบาดหนัก จึงทำให้หลายร้านค้าต้องปิดเงียบ ก็ได้แต่หวังว่าเมื่อทุกอย่างกลับมาปกติแล้ว ด้วยคุณสมบัติของย่านนี้ที่ตรงกับข้อเสนอในหนังสือ The Death and Life of Great American Cities จะทำให้ย่านนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
จากประสบการณ์ที่ได้หยิบหนังสือ The Death and Life of Great American Cities ของเจน เจคอบส์ มาเดินเป็นเพื่อนในการสำรวจเมือง เราพบว่าหนังสือเล่มนี้ยังคงทันสมัย และสามารถนำมาทาบลงในบริบทเมืองไทยได้อย่างน่าประหลาดใจ อีกทั้งยังทำให้เห็นเรื่องที่บ้านเราต้องพัฒนาอีกมากเลยทีเดียว (นั่นหมายถึงว่าเราล้าหลังไปแค่ 60 ปีเองแหละ)
และนี่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนังสือที่พูดถึงเรื่องของเมือง ในหนังสือเล่มนี้ยังประกอบไปอีกหลายส่วนที่น่าสนใจ ที่เป็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะแก่การพัฒนาเมืองในโลกยุคใหม่ที่เป็นของผู้คนทุกคนอย่างยั่งยืน (อย่างเช่นแนวคิดเรื่อง sidewalk ballet, sidewalk safety และ eyes on the street เป็นต้น)
สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องตึกรามบ้านช่องหรือมีความสงสัยว่าเมืองควรพัฒนาไปในทิศทางไหน เราก็อยากให้ได้ลองหาหนังสือเล่มนี้ของเจนมาอ่านกัน เพื่อที่จะได้เข้าใจเมืองและชีวิตของผู้คนที่มากขึ้น รวมถึงจะได้เข้าใจตัวเองที่จะต้องอาศัยอยู่ใต้ชายคาของเมืองแห่งนี้รวมกันต่อไปนั่นเอง
หรือถ้าใครยังหาหนังสืออ่านไม่ได้ ไม่ก็อยากฟังดูก่อนว่าคนที่อ่านแล้วเขาคิดเห็นยังไง สามารถเข้าร่วมกิจกรรม Re-reading The Death and Life of Great American Cities ที่ทาง USL จัดขึ้้นในวันที่ 11 กันยายน 2564 เวลา 16:00-18:00 น. โดยทาง กฤษณะพล วัฒนวันยู จะชวนวิทยากร ได้แก่ ผศ. ดร. เพชรลัดดา เพ็ชรภักดี (อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม), ผศ. ดร. กาญจน์ นทวุฒิกุล (นักวิชาการอิสระ/กรรมการสภาสถาปนิก), อนุสรณ์ ติปยานนท์ (นักเขียน/นักแปล) มาร่วมพูดคุยและทบทวนว่าเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ สามารถศึกษาและใช้ทำความเข้าใจเมืองในทุกวันนี้ของเราได้จริงหรือไม่
ติดตามรายละเอียดของกิจเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/events/465030791122680/ หรือทางเพจเฟซบุ๊กของ USL