Thu 23 Sep 2021

THE DEATH AND LIFE OF GREAT AMERICAN CITIES

หนังสืออ่านเมืองและถิ่นที่อยู่ ที่อาจทำให้รู้ว่า คน เมือง ชีวิต ทั้งสามสิ่งนี้เป็นเรื่องเดียวกัน

ภาพ: ms.midsummer

     Skip Intro รอบนี้ไม่ได้มารวบรัดเรื่องราวในอนิเมะ พาทัวร์เนื้อหามังงะ กด Skip ซีรีส์บางตอนให้อ่านเหมือนอย่างเคย เพราะเราจะพาไปพักชมสิ่งที่น่าสนใจจากหนังสือจำนวน 472 หน้าที่มีชื่อว่า The Death and Life of Great American Cities ของ เจน เจคอบส์ (Jane Jacobs) นักเขียน นักข่าว และนักเคลื่อนไหวการพัฒนาเมืองชาวอเมริกัน-แคนาเดียน

     ขอออกตัวตรงนี้ก่อนว่าในหนังสือเล่มนี้ เจนไม่ได้มากับนุ่นและมากับโบว์… (คนละเจน!) เอ่อ จริงๆ หนังสือที่ว่าก็มีเนื้อหาเหมือนดั่งชื่อความตายและชีวิตของเมืองในสหรัฐอเมริกา

     พอมีคำว่าตายขึ้นมา หลายคนอาจคิดไปไกลว่าน่ากลัวเลือดสาดมั้ย เดี๋ยวๆ กลับมาก่อน เพราะสิ่งที่เจคอบส์เล่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวคิดของการออกแบบและวางผังเมือง ระบบการจัดการผู้คน พื้นที่สาธารณะ ถนนหนทาง สารพัดปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและสร้างเมือง ไปจนถึงแนวทางการพัฒนาแบบเจคอบส์ เพื่อฉายให้เห็นว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เมืองทำงานได้ดี มีชีวิตชีวา และอะไรหนอที่พาเมืองสู่ความเฉาตายได้กันแน่

     หลังจากถูกตีพิมพ์เมื่อปี 1961 หนังสือเล่มนี้ก็เป็นที่พูดถึงอย่างมาก กลายเป็นตำราอีกเล่มของเหล่านักผังเมือง รวมถึงมีส่วนคัดค้านนโยบายพัฒนาเมืองด้วย และด้วยปีนี้ The Death and Life of Great American Cities มีอายุครบ 60 ปีพอดี เพื่อเป็นการระลึกถึงหนังสือชั้นครู ทีมศูนย์วิจัยอิสระด้านการศึกษาเมือง หรือ Urban Studies Labs (USL) และ Jane Jacobs Thai Network จึงจัดกิจกรรมเสวนาออนไลน์ Re-reading The Death and Life of Great American Cities กวักมือชวน ‘อาจารย์เหมียว—ผศ. ดร. เพชรลัดดา เพ็ชรภักดี’ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ‘อาจารย์กาญจน์—ผศ. ดร. กาญจน์ นทีวุฒิกุล’ นักวิชาการอิสระและกรรมการสภาสถาปนิก และ ‘อาจารย์ต้น—อนุสรณ์ ติปยานนท์’ นักเขียนและนักแปล มาล้อมวงแบ่งกันอ่านหนังสือของเจคอบส์ พร้อมเล่าให้ฟังว่าในแต่ละบทมีอะไรน่าสนใจ และสิ่งที่ถูกเขียนถูกคิดไว้เมื่อ 60 ปีก่อนนั้นเข้ากับยุคสมัยปัจจุบันยังไงบ้าง โดยมี ‘อาจารย์เก่ง—กฤษณะพล วัฒนวันยู’ อาจารย์ประจำ SoA+D, KMUTT, ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษาของ USL เป็นผู้ดำเนินรายการ

     ใครที่ยังไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ก็ไม่เป็นไร อ่านบทความนี้กันก่อนแล้วค่อยไปหาอ่านกันต่อก็ได้ หรือถ้าลังเลใจว่าจะเปิดดูเสวนาดีมั้ย เราก็ขอชวนอ่านบทความนี้กันก่อน เพราะเราคัดทีเด็ดของงานเสวนาครั้งนี้มาให้กันแบบเน้นๆ

PART 1: THE PECULIAR NATURE OF CITIES
มีทางเดินดีคือลาภอันประเสริฐ

     “ผมคิดว่าเจน เจคอบส์ เขียนสิ่งนี้จากการสังเกต และสิ่งที่เรียกว่าคอมมอนเซนส์”

     อาจารย์ต้นเป็นคนประเดิมวงเสวนาด้วยการพูดถึงหัวข้อแรกสุดจากหนังสือ The Death and Life of Great American Cities นั่นก็คือ ‘The Peculiar Nature of Cities’ โดยพาร์ตนี้เป็นบทนำ (Introduction) พูดถึงความเป็นมาในการเขียนหนังสือเล่มนี้ของเจคอบส์ และอธิบายกลายๆ ว่าใครก็ตามที่เห็นปรากฏการณ์ในเมือง ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ก็สามารถพูดสิ่งที่คิดเห็นเกี่ยวกับเมืองได้ อย่างเจคอบส์เองก็ใช้คอมมอนเซนส์ของตัวเองมานั่งเล่าให้ฟังว่า เธอเห็นเมืองเป็นยังไง เกิดความรู้สึกอะไรบ้าง บรรยายอุปนิสัยใจคอของเมือง รวมถึงข้อผิดพลาด ข้อดีข้อเด่นของเมือง ราวกับว่าเมืองเป็นตัวละครตัวหนึ่งในนิยายเลย

     สิ่งที่อาจารย์ต้นคิดว่าน่าสนใจในพาร์ตนี้คือการพูดถึง ‘The uses of sidewalks’ หรือการใช้ทางเท้า เพราะเจคอบส์มองว่า ทางเดินเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ นอกจากจะเป็นเส้นทางสัญจรแล้ว ยังเป็นตัวแบ่งเขตพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะ (public space) เป็นตัวสร้างความปลอดภัย การติดต่อปฏิสัมพันธ์ของผู้คน และเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับเด็ก

     หลายคนอาจสงสัยว่าทางเท้าที่ดีช่วยสร้างความปลอดภัยได้ยังไง?

     นั่นก็เพราะถ้ามีทางเท้าที่ดี ผู้คนก็จะใช้งานอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีผู้คนใช้งานก็จะช่วยกันเป็นหูเป็นตา (eyes on the street) คอยสอดส่องกิจกรรมในพื้นที่นั้น ลดช่องว่างการเกิดอาชญากรรม ทำให้ผู้คนติดต่อและปฏิสัมพันธ์กันมากกว่าเคย อีกทั้งมีตัวแทนชุมชน (public character) เช่น ร้านค้า ร้านบริการ ร้านอาหารในพื้นที่ที่เราไว้ใจได้ ไปจนถึงพื้นที่ให้เด็กวิ่งเล่นได้อย่างสนุกสนานสมวัย

     อย่างไรก็ตาม อาจารย์ต้นและอาจารย์เก่งก็เห็นไปทางเดียวกันว่า เจคอบส์นั้นเติบโตมากับช่วงเวลาของการวิ่งเล่นบนท้องถนน เหมือนถนนเป็นสนามเด็กเล่นที่มีผู้ปกครองเฝ้ามองอยู่ห่างๆ แต่กับทุกวันนี้ เมืองเต็มไปด้วยรถยนต์มากกว่าช่วงที่เจคอบส์เติบโตและเขียนหนังสือเล่มนี้เยอะ บวกกับการละเล่นของเด็กที่เปลี่ยนไป ทางเดินจึงไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับการวิ่งเล่นอีกต่อไปแล้ว

PART 2: THE CONDITIONS FOR CITY DIVERSITY
สูตรสำเร็จที่ทำให้เมืองมีชีวิตชีวา

     แม้ว่าพาร์ตนี้จะไม่มีใครได้รับมอบหมายให้อ่าน แต่อาจารย์กาญจน์ก็เล่าให้ฟังถึงหัวข้อนี้เล็กน้อย เราเลยขอสรุปประเด็นน่าสนใจในพาร์ตนี้สั้นๆ

     ‘The Conditions for City Diversity’ หรือ ‘เงื่อนไขสำหรับการสร้างความหลากหลายของเมือง’ เป็นส่วนที่เจคอบส์วิเคราะห์ว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้เมืองเมืองหนึ่งมีชีวิตชีวา ซบเซา หรือล่มสลายได้ ผ่านประสบการณ์สังเกตวิถีชีวิตในชุมชนย่อยๆ ของนิวยอร์ก ซึ่งเธอเชื่อว่าเมืองที่ดีต้องมีความหลากหลายในการใช้งานของผู้คนในพื้นที่นั้น เพราะจะนำไปสู่กลไกทางเศรษฐกิจและสังคม

     อาจารย์กาญจน์กระซิบว่า สูตรสำเร็จของการทำให้เมืองมีชีวิตชีวาแบบเจคอบส์นั้นมี 4 อย่าง

     1. The need for primary mixed uses: เพราะมนุษย์มีกิจกรรมสารพัดตั้งแต่ตื่นนอน ไม่ว่าจะเดินไปสั่งข้าวที่ร้านอาหาร ไปทำงาน กินข้าวเที่ยง ติดต่อแบงก์ ไปส่งของ ดูหนัง เดินเล่น ไปยิมฯ แวะซูเปอร์ฯ สังสรรค์ในบาร์ แอบโยกย้ายส่ายสะโพกในผับ ฯลฯ ฉะนั้นเมืองหรือย่านก็ควรประกอบด้วยสิ่งพื้นฐานในชีวิตของคนเรา

     2. The need for small blocks: เจคอบส์มองว่าในแต่ละย่านควรแบ่งบล็อกถนนไม่ต้องใหญ่มาก ขอให้มีถนนสั้นๆ ตัดกัน มีระยะที่คนเดินได้ สามารถเดินทางนี้แล้วไปโผล่ทางนั้นได้ เพราะจะทำให้ผู้คนเกิดการเคลื่อนไหวในพื้นที่ได้คล่อง เดินสะดวก พบปะกันง่าย และกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วถึง วิธีนี้จะช่วยให้เมืองมีชีวิตชีวา ขณะที่ถ้าแบ่งเมืองเป็นบล็อกใหญ่ๆ ผู้คนก็จะใช้การเดินทางโดยรถยนต์มากขึ้น

     3. The need for aged building: การอยู่ร่วมกันของอาคารต้องประกอบด้วยอาคารเก่าและใหม่ เพราะนอกจากจะทำให้เกิดการใช้งานพื้นที่ที่หลากหลาย และเกิดมุมมองที่น่าสนใจแล้ว ยังอาจทำให้เกิดการผสมผสานช่วงวัยที่แตกต่างกันด้วย เช่น คนหนุ่มสาวที่ทำงานอยู่ในตึกใหม่ ก็มีโอกาสพบปะกับผู้คนรุ่นเก่าที่ทำงานในตึกเก่าได้ นอกจากนี้ ยังช่วยรักษาประวัติศาสตร์ของอาคารบ้านเมือง และเปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยมีสิทธิได้เช่าอาศัย

     4. The need for concentration: จะบอกว่าเมืองไม่ใช่แค่อาคาร แต่คือผู้คนก็คงไม่ผิด เพราะการมีพื้นที่หนาแน่นไปด้วยผู้คน จะยิ่งมีความหลากหลาย และสร้างชีวิตชีวาแก่เมืองได้ เจคอบส์ยกตัวอย่างถนนแห่งหนึ่งในนิวยอร์กที่มีคนมาตั้งไนต์คลับ ซึ่งทำให้หลังจากนั้นมีผู้คนแวะมาสังสรรค์ในพื้นที่มากขึ้น ส่งผลให้มีธุรกิจอื่นๆ มาเปิดใกล้เคียง เกิดการเคลื่อนไหวและใช้พื้นที่นั้น จนเกิดการพัฒนาส่วนอื่นๆ ตามมา กลายเป็นย่านย่านหนึ่งในที่สุด

     เพื่อให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น เราเลยขอชวนไปอ่านบทความจาก ‘ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์’ สถาปนิกหนุ่มผู้รับหน้าที่ไกด์เฉพาะกิจ นำแนวคิดนี้มาใช้สำรวจกับย่านในไทยได้ที่นี่

PART 3: FORCES OF DECLINE AND REGENERATION
จากย่านที่หลากหลายสู่การทำลายตัวเอง

     หลังเกิดความหลากหลาย กลายเป็นเมืองที่เต็มอิ่มไปด้วยชีวิตชีวา ก็น่าจะแปลว่าเมืองแห่งนั้นคงดีงามและใช้ชีวิตได้อย่างสุขใจ

     ตอนที่เราฟังเสวนาก็คิดแบบย่อหน้าเมื่อกี้ จนอาจารย์กาญจน์บอกว่า เจคอบส์ไม่ได้คิดเช่นนี้ เธอมองว่าเมืองที่มีความหลากหลายมากจนเกินไป ก็สามารถทำลายตัวเมืองได้เหมือนกัน และนั่นก็นำมาสู่พาร์ตที่สาม ‘Forces of Decline and Regeneration’ ซึ่งมุ่งเน้นไปในเรื่องของปัจจัยที่ส่งผลกระทบแง่ลบกับเมือง และการทำลายตัวเองของเมืองนั้นจะเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุผลใด

     อาจารย์กาญจน์เปรียบเทียบง่ายๆ ถึง ‘self destruction of diversity’ การทำลายตัวเองของเมืองหลังเกิดความหลากหลายกับการเติบโตของถนนนิมมานเหมินท์ ที่เดิมทีเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของข้าราชการ คนทำงานในพื้นที่ ก่อนที่รัฐและคนในพื้นที่มองเห็นโอกาสในการพัฒนา เริ่มสร้างโรงแรม สร้างแหล่งพื้นที่ค้าขาย มีร้านอาหาร แหล่งบันเทิง คลับ บาร์ ทำให้ถนนเส้นนั้นเกิดการใช้พื้นที่อย่างหลากหลาย และกลายเป็นย่านเศรษฐกิจขึ้นมา

     แต่เมื่อพื้นที่นั้นเกิดความสำเร็จมากๆ ก็จะเกิดการเลียนแบบกันตามมาด้วย เช่น ร้านอาหารที่ถนนนิมมานเหมินท์ ซอย 1 ประสบความสำเร็จ ก็เกิดร้านอาหารที่ซอย 2 ซอย 3, 4, 5 ทำให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจประเภทเดียวกัน แล้วก็อาจส่งผลให้ธุรกิจที่อยู่รอดในพื้นที่นั้นคือคนที่มีเงิน และท้ายที่สุดก็กลายเป็นการครอบครองพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยการใช้งานรูปแบบเดียว

     การใช้งานรูปแบบเดียวจะกระทบกับความหลากหลายยังไง?

     อาจารย์กาญจน์ยกตัวอย่างว่า การมีผังเมืองเล็กๆ ที่มีกิจกรรมในพื้นที่ให้ผู้คนได้ใช้งานอย่างหลากหลาย ชาวออฟฟิศสามารถเดินไปร้านอาหาร เข้าคาเฟ่ หรือไปบาร์ได้ ชุมชนก็จะเกิดความเคลื่อนไหวจากผู้คนที่ใช้ชีวิตในย่านนั้นตลอดเวลา แต่เมื่อไหร่ที่เมืองมีแต่ร้านอาหาร หรืออุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยธุรกิจรูปแบบเดียวกัน การใช้งานของผู้คนก็จะหนาแน่นเฉพาะช่วงเวลาที่คนหิวข้าวหรือช่วงไพรม์ไทม์ของกิจการนั้นๆ แต่หลังจากนั้น ย่านนี้ก็จะเงียบเหงาไป เพราะไม่มีการใช้งานด้านอื่นๆ

     อาจารย์กาญจน์ยังได้ทิ้งท้ายถึง 4 เรื่องที่น่าสนใจในพาร์ตนี้เอาไว้

     1. การแบ่งเขตในเมือง (Zoning): ต่อเนื่องจากเรื่องที่ว่าการประสบความสำเร็จของธุรกิจ จะทำให้มีผู้แข่งขันเข้ามามาก ส่งผลให้เกิดการก๊อปปี้และทำลายความหลากหลายของเมือง การแบ่งเขตเมืองจึงไม่ควรเอื้อให้เกิดการใช้งานเมืองแค่ฟังก์ชั่นเดียว อย่างการแบ่งเขตเป็นย่านธุรกิจ หรือย่านที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว ควรให้ย่านนั้นสามารถปรับตัว เปิดโอกาสให้ความหลากหลายเข้ามาได้

     2. การเป็นพื้นที่สุญญากาศ (Border vacuum areas): อาจารย์กาญจน์บอกว่า เจคอบส์มองการใช้ประโยชน์ของที่ดินสองแบบ ได้แก่ general land ผู้คนใช้ทางเท้า เคลื่อนไหวอย่างอิสระ จากจุดเริ่มต้นไปปลายทางมีหลายเส้นทางให้ผู้คนได้เลือก จะเดินริมคลอง หรืออ้อมเส้นนี้ก็ถึงกลางเมืองเหมือนกัน ส่วนอีกอันคือ special land คนจะเดินรอบๆ ไม่มีมูฟเมนต์มุ่งหน้าสู่กลางเมือง ทำให้ตรงกลางนั้นคล้ายเป็นพื้นที่สุญญากาศ เช่น ใจกลางเป็นออฟฟิศอย่างเดียว มีร้านค้าอยู่รอบๆ การใช้งานก็อยู่แค่ในรอบนอกนั้นเป็นส่วนมาก หรือการครอบครองพื้นที่หนึ่งของรัฐบาล สร้างศูนย์ราชการอยู่เพียงโซนเดียว ก็ทำให้เกิดช่องว่างและทำให้เมืองตายได้

     3. พื้นที่แออัด (Unslumming & Slumming): การเกิดขึ้นของชุมชนแออัดไม่สามารถจัดการได้แค่ความคิดที่ว่าก็ย้ายพวกเขาออกจากพื้นที่ หรือปล่อยให้ย่านนั้นเสื่อมโทรมไปตามสภาพ เพราะการจัดการพื้นที่แออัดส่งผลต่อการสร้างเมือง แต่ละย่านควรปรับปรุงพัฒนาในเรื่องนี้ ที่สำคัญ ควรยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรผู้มีรายได้น้อยให้ได้ เมืองจะได้มีความหลากหลาย และทำให้เมืองไม่ต้องมีพื้นที่แออัดอีกต่อไป

     4. การบริหารการเงินของเมือง (Money): เจคอบส์บอกว่าเมืองที่ดีควรมีเอกชนที่ปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยด้วยความเข้าใจ เพื่อให้เขาไปสร้างฐานะการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มากกว่าที่จะปล่อยให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ต้องไปกู้หนี้ยืมสินในระบบที่มีดอกเบี้ยสูง ซึ่งจะทำให้พวกเขายิ่งยากจนขึ้น และทำลายเมืองลงเรื่อยๆ

PART 4: DIFFERENT TACTICS
เครื่องมือปรับปรุงเมืองที่ควรมี เพราะเมืองที่ดีไม่ใช่แค่อาคารแต่เป็นผู้คน

     พาร์ตสุดท้ายของเล่ม ‘Different Tactics’ ว่าด้วยเครื่องมือที่หลากหลายในการพัฒนาปรับปรุงเมือง อาจารย์เหมียวเปิดเรื่องด้วยการสรุปการมองเมืองแบบเจคอบส์ว่าเป็นแบบกระบวนทัศน์หลากหลาย (Alternative Paradigm) เน้นประชาชนเป็นใหญ่ ทำความเข้าใจเมืองผ่านการพูดคุยกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ เน้นให้ชุมชนมีสิ่งอำนวยความสะดวก หรือพื้นที่ใช้สอยที่เป็นมิตรต่อผู้คน

     และต่อไปนี้คือ เครื่องมือ 5 ชิ้นที่เจคอบส์คิดว่าเมืองที่ดีควรมี  

     1. การสนับสนุนผู้ที่มีรายได้น้อย (Subsidizing dwellings): เจคอบส์มองว่าทุกคนที่เข้ามาอยู่ในเมืองไม่ใช่ทุกคนที่มีกำลังจ่าย เมืองย่อมเต็มไปด้วยผู้คนหลายกลุ่ม ซึ่งอาจพูดได้ว่าชนชั้นกลางในเมืองอยู่ได้ก็เพราะคนตัวเล็กๆ คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเมือง ด้วยเหตุนี้ จึงควรมีการการันตีราคาเช่า สนับสนุนให้คนรายได้น้อยมีที่พักอาศัยที่ดี ซึ่งจะช่วยลดการเกิดชุมชนแออัด เสริมความหลากหลายในตัวเมือง และสร้างชีวิตชีวาขึ้นได้

     2. การกัดเซาะเมืองจากการใช้รถยนต์ (Erosion of cities or attrition of automobiles): การสร้างพื้นที่ให้มีการนำรถเข้ามาในเมืองเยอะๆ อย่างทางด่วนเป็นสิ่งที่เจคอบส์คิดว่าจะค่อยๆ ทำลายเมือง เจคอบส์มองว่าเมืองต้องอำนวยความสะดวกให้คนมากกว่ารถสิถึงจะถูก

     3. การปรับปรุงมุมมองภาพของเมือง (Visual order): เจคอบส์เชื่อว่าถนนถือเป็นตัวสร้างการรับรู้ (perception) ว่าเมืองมีเสน่ห์อย่างไร และเป็นส่วนที่ทำให้ผู้คนจดจำเมืองได้ เธอเสนอว่าต้องพยายามสร้างเมืองให้มีจังหวะทางสายตา มีอาคารหลากหลายยุคตั้งปะปนกัน มีพื้นที่ใช้สอยหลากหลายให้คนได้เดินเจอสวนสาธารณะมุมนั้น เดินเจอมิวเซียมมุมนี้ ไปจนมีแลนด์มาร์กให้เป็นพื้นที่รวมตัวผู้คน ซึ่งตรงนี้เองจะช่วยขยับขยายพื้นที่รอบนอกให้เกิดกิจกรรมและการใช้งานมากขึ้นไปโดยปริยาย รวมถึงการให้ความสำคัญเรื่องการจัดวางสรรพสิ่งในเมือง ตั้งแต่ต้นไม้ กันสาด ถนน ฯลฯ ต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้คนด้วย นี่เป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นมากว่าทำไมเราต้องดีไซน์เมือง!

     4. การกอบกู้เมือง (Salvaging projects): แน่นอนว่าสิ่งสำคัญคือปัญหาพื้นที่แออัด แต่ในมุมของเจคอบส์คำว่าพื้นที่แออัดไม่ใช่แค่แนวราบเท่านั้น แต่มันมาในรูปแบบตั้งสูงอย่างคอนโด อพาร์ตเมนต์ แฟลต หรือพื้นที่ใดก็ตามที่ไม่มีการใช้สอยหลากหลาย มีขนาดใหญ่เกินไปจนผู้คนไม่อยากเคลื่อนไหวไปไหน เพราะเดินไปก็น่าเบื่อ พื้นที่เหล่านั้นรวมผู้คนไว้แต่ไม่ได้นึกถึงวิถีชีวิตคนว่าคนเราก็ต้องกิน ต้องใช้ ต้องมีร้านรวงให้แวะไปเสพบ่อยๆ

     5. บทบาทของรัฐ (Governing and planning districts): กระบวนการคิดและการวางแผนเป็นเรื่องสำคัญมาก รัฐบาลไม่ควรมองเรื่องผลลัพธ์เพียงอย่างเดียว เช่น คนต้องการที่อยู่อาศัย สร้างแฟลตให้อยู่แล้วจบไป ต้องการถนนก็วางถนนแล้วจบไป รัฐต้องอาศัยวิธีคิดที่หลากหลาย พูดคุยกับผู้คน และทำความเข้าใจว่าคนเป็นสิ่งมีชีวิต ไม่สามารถกำหนดวิถีชีวิตผู้คนด้วยเชิงวิศวกรรมหรืออื่นใดอย่างเดียวได้

     นอกจากนี้ รัฐก็ต้องเข้าใจว่าเมืองเป็นความหลากหลาย ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นนักผังเมืองถึงจะเข้าใจเรื่องเมืองเท่านั้น คนปกติธรรมดาอย่างเราๆ ก็พูดถึงมันได้

     คนที่อยู่ในเมืองทุกคนจึงสามารถช่วยกันดีไซน์เมืองได้เช่นกัน

60 YEARS AGO
60 ปีผ่านไป อะไรที่เจคอบส์คิดและยังคงอยู่ในปัจจุบัน

เมืองและความรู้สึกเป็นเจ้าของ

     “เราไม่มีความรู้สึกเลยว่าเป็นเจ้าของเมืองกรุงเทพฯ”

     จากตัวอักษรของเจคอบส์ที่มีความผูกพันกับเมืองที่อยู่มากๆ ทำให้อาจารย์ต้นนึกถึงการมีความรู้สึกเป็นเจ้าของเมืองที่ตัวเองอาศัยอยู่ ซึ่งหากหยิบแนวคิดนี้มามองที่กรุงเทพฯ อาจารย์ต้นก็พบว่าแทบไม่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของเมืองเลย

     เวลาเดินเข้าสวนสาธารณะก็ไม่ได้มีภาพว่ามันคือสวนของเรา แถมยังไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของคลองโอ่งอ่าง ซึ่งในทางหนึ่ง อาจเพราะการพัฒนาเมืองแบบทุกวันนี้—พยายามสร้างเมืองที่สวยขึ้น แลกมาด้วยพื้นที่ของความหลากหลาย และชีวิตชีวาที่เคยมี จนอาจทำให้เมื่อเวลาผ่านไป ไม่มีใครรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของเมืองเมืองนี้เลยก็ได้

     “ชุมชนเป็นสิ่งที่ต้องสร้าง แต่เวลาคุณทำลายมันสั้นมาก” อาจารย์ต้นกล่าว

     ยิ่งช่วงโควิด-19 การจัดการเมืองในกรุงเทพฯ ก็ยิ่งชี้ให้เห็นว่าเมืองมีปัญหา ไม่มีตัวแทนชุมชน ผู้คนต้องรวมกลุ่มคนคอยเข้าไปช่วยเหลือผู้คนในพื้นที่ต่างๆ กันเอง

     นี่ยิ่งตอกย้ำว่า การติดต่อปฏิสัมพันธ์ในชุมชนกับผู้คนอย่างที่เจคอบส์ว่าไว้ไม่ได้เกิดขึ้นในที่แห่งนี้

เมืองและความเข้าใจของรัฐ

     “บางอย่างต้องอแดปต์เข้ากับยุคสมัย บางอย่างเช่นเรื่องความรู้และเครื่องมือก็ต้องเบลนด์เข้าหากัน เพราะไม่มีอะไรที่สมบูรณ์ มันต้องใช้หลายๆ เครื่องมือ”

     เมืองไทยเป็นเมืองที่มีความหลากหลายที่ดีมากๆ ไม่ว่าจะเชียงใหม่หรือกรุงเทพฯ แต่ละย่านมีการใช้งานหลายช่วงเวลา แต่ในขณะเดียวกัน ก็ขาดความเข้าใจหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะภาครัฐที่ขาดการบูรณาการและความเข้าใจในการจัดการ ซึ่งอาจารย์กาญจน์ยกตัวอย่างการอยากจัดระเบียบเมือง การปิดหรือห้ามขายของแผงลอยบางแหล่งซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ ก็ทำให้ความมีชีวิตชีวาหายไป ทั้งที่จริงๆ แล้วมันสร้างความหลากหลาย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระบบครอบครัว ชุมชน และเมืองต่อได้

เมืองและความเป็นผู้คน

     “เชื่อว่ายังไงคนเราก็อยากออกมาเจอกัน”

     อาจารย์เหมียวมองว่าแนวคิดของเจคอบส์ยังล้ำและใช้ได้อยู่ ถึงแม้จะมีนวัตกรรมเข้ามาอำนวยความสะดวกให้ผู้คนและเมือง อย่างการออกจากบ้านไปเข้าร้านอาหารก็เปลี่ยนเป็นระบบการสั่งอาหาร ซึ่งแน่นอนว่าอาจส่งผลให้ปัจจุบันและอนาคต พื้นที่เล็กๆ หรือร้านรวงต่างๆ อาจหายไป

     แต่เพราะเจคอบส์เชื่อและเข้าใจเสมอว่ามนุษย์ต้องการพื้นที่ ต้องการการใช้ชีวิต ผู้คนยังออกมาเดินข้างนอกอยู่ และยังอยากออกมาเจอหน้ากัน อาจารย์เหมียวเลยชวนให้เรานึกภาพตามง่ายๆ อย่างภาพร้านหมูกระทะที่เต็มไปด้วยผู้คนหลังคลายล็อกดาวน์ นั่นแปลว่าจริงๆ แล้วผู้คนรอคอยการมาเจอกัน แค่ต้องอาศัยการออกแบบเมืองที่เอื้อ และสนับสนุนพื้นที่สาธารณะด้วย

     นอกจากนี้ อาจารย์เหมียวยังชวนตั้งคำถามถึงการพัฒนาที่ในประเทศอื่นๆ กำลังยูเทิร์นกลับสู่ความคิดแบบเจคอบส์ คือลดการใช้รถยนต์ เน้นการสร้างความรื่นรมย์ในเมือง ทางเดินเป็นมิตร เพิ่มการเดินเท้า มีทางขี่จักรยาน แต่หากตัดภาพมาที่เมืองไทย การทำทางเดินที่ปลอดภัยยังไม่ค่อยเกิดขึ้นเท่าไหร่ มีแต่การลงทุนกับอาคารสมัยใหม่และห้างมากกว่า

     ตลอดงานเสวนาเกือบสามชั่วโมงนี้ เราเหมือนหลุดเข้าไปเดินอยู่ในเมืองอุดมคติของเจคอบส์ ซึ่งต่อให้ไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้มาก่อน ก็ฟังสนุกได้ (ไม่เชื่อลองกดไปฟังที่นี่) เพราะสิ่งที่หนังสือเล่มนี้และเหล่าวิทยากรพยายามบอกก็คือ คุณไม่ต้องเป็นสถาปนิก ไม่ต้องเป็นนักผังเมือง ไม่ต้องเป็นหน่วยงานรัฐใด ถ้าคุณอยู่ในเมือง ใช้ชีวิตในเมืองแล้วซัฟเฟอร์ คุณก็สามารถพูดมันออกมาได้

     ยิ่งพอนั่งฟังงานเสวนา และเนื้อหาในหนังสือแล้ว ส่วนตัวก็เชื่อมั่นและอยากมีเมืองแบบเจคอบส์ไปด้วย เพราะเราก็เชื่อเหลือเกินว่าผู้คนต้องพบปะเจอกัน เมืองที่ดีคือต้องเดินได้ และต้องเอื้อต่อการใช้ชีวิต นั่นถึงจะพูดได้อย่างเต็มปากว่าเรากำลังใช้ชีวิตจริงๆ