Fri 17 Mar 2023

THE FABELMANS

ว่าด้วยกระบวนการเขียนสคริปต์ของหนังที่สร้างจากชีวิต ‘สตีเวน สปีลเบิร์ก’

ภาพ: ms.midsummer

1

     ในค่ำคืนแรกของการถ่ายทำ Munich (2005) ผู้กำกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) กับ โทนี คุชเนอร์ (Tony Kushner) นักเขียนบทละครเวทีที่เพิ่งข้ามสายงานมาเขียนบทหนังเป็นเรื่องแรก นั่งพูดคุยกันไปเรื่อยเปื่อยระหว่างรอให้ทีมงานเตรียมความพร้อมสำหรับการถ่ายฉากระเบิดห้องพักโรงแรม ช่วงนั้นทั้งคู่เพิ่งรู้จักกันได้เพียงสี่ห้าเดือนเท่านั้น ยังไม่ได้สนิทสนมกันแบบทุกวันนี้ 

     คุชเนอร์ถามสปีลเบิร์กว่าตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่เขามีความคิดอยากเป็นคนทำหนัง สปีลเบิร์กจึงย้อนอดีตไปเล่าถึงหนังเรื่องแรกๆ ที่ทำสมัยยังเป็นเด็กให้ฟัง ทั้งการจำลองฉากรถไฟพุ่งชนกันโดยใช้รถไฟของเล่นในบ้าน และเอาฟุตเทจดังกล่าวมาจัดฉายให้เด็กคนอื่นในละแวกบ้านโดยเรียกเก็บค่าเข้าชม 25 เซ็นต์ หรือการรวบรวมสมัครพรรคพวกเพื่อนฝูงที่โรงเรียนมาเล่นเป็นทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้ทะเลทรายในแอริโซนาซึ่งอยู่ใกล้บ้านเป็นสถานที่ถ่ายทำ จนเสร็จออกมาเป็นหนังสั้นความยาว 40 นาทีเรื่อง Escape to Nowhere (1961) ทั้งที่ในตอนนั้นเขาเพิ่งอายุได้เพียง 14 ปีเท่านั้น

     นอกจากพูดถึงหนังที่เคยทำ สปีลเบิร์กยังเปิดเผยเรื่องส่วนตัวกว่านั้น เจ้าตัวเล่าให้คุชเนอร์ฟังถึงฟุตเทจสมัยวัยรุ่นที่เคยถ่ายไว้ตอนไปทริปแคมป์ปิ้งกับครอบครัว ฟุตเทจที่เขาได้ค้นพบความลับบางอย่างของแม่ ความลับที่ทำให้เขาหัวใจสลาย และนำไปสู่การหย่าร้างของพ่อกับแม่ในเวลาต่อมา

     หากเป็นคนอื่นที่ได้ฟังเรื่องราวดังกล่าว พวกเขาอาจให้กำลังใจหรือแสดงความห่วงใยกลับไปหาสปีลเบิร์ก แต่คุชเนอร์ที่เป็นนักเขียนนั้นมองเห็นว่าความเจ็บปวดคือวัตถุดิบชั้นดีของคนทำงานสร้างสรรค์ เขาเชียร์ให้สปีลเบิร์กหยิบเอาเรื่องนี้ไปทำเป็นหนัง แม้เจ้าตัวจะลังเลไม่แน่ใจนักว่าอยากทำ แต่คุชเนอร์ยังยืนกรานว่าเรื่องนี้เหมาะจะทำเป็นหนังมากจริงๆ 

2

     หลังปิดกล้อง Munich สปีลเบิร์กกับคุชเนอร์ยังคงติดต่อกันอยู่เรื่อยๆ แม้อายุจะต่างกันถึงสิบปี แต่กลับกลายเป็นว่าทั้งคู่มีอะไรคล้ายกันหลายอย่าง ทั้งการเติบโตมาในครอบครัวเชื้อสายยิวเหมือนกัน เป็นฝ่ายซ้ายเรื่องการเมืองเหมือนกัน และยังมีแม่ที่เป็นนักดนตรีเหมือนกันอีก (แม่ของสปีลเบิร์กเล่นเปียโน ส่วนแม่ของคุชเนอร์เล่นบาสซูน) นั่นทำให้ทั้งคู่เข้าขารู้ใจกันเป็นอย่างดี

     และแน่นอนว่าหลายครั้งที่สปีลเบิร์กแชร์เรื่องส่วนตัวให้ฟัง คุชเนอร์จะเชียร์เหมือนเดิมทุกครั้งว่าให้เอาไปทำเป็นหนังสิ แม้อีกฝ่ายจะเริ่มคล้อยตามคำพูดของเขาขึ้นมาบ้าง แต่ความที่สปีลเบิร์กเป็นผู้กำกับที่มีโปรเจกต์เข้ามาให้ทำอยู่เรื่อยๆ ก็ทำให้ข้อเสนอของคุชเนอร์ไม่เกิดขึ้นจริงเสียที

     หลังจาก Munich คุชเนอร์เขียนสคริปต์ให้สปีลเบิร์กอีกสามครั้งคือ Lincoln (2012), The Kidnapping of Edgardo Mortara (สคริปต์เสร็จในปี 2017 แต่โปรเจกต์ล่มไปก่อนจะได้เปิดกล้องถ่ายทำ), West Side Story (2021) และเป็นการร่วมงานกันในเรื่องหลังนี่เองที่สปีลเบิร์กบอกคุชเนอร์ว่าเขาเริ่มคิดถึงการหยิบเอาเหตุการณ์ทริปแคมป์ปิ้งมาทำเป็นหนังบ้างแล้ว

     ช่วงนั้นแม่ของสปีลเบิร์กเพิ่งเสียไปได้ไม่นาน ส่วนพ่อของเขาก็สุขภาพย่ำแย่ลงเรื่อยๆ สปีลเบิร์กเตรียมการถ่ายทำ West Side Story ไปโดยที่ในหัวยังเต็มไปด้วยความกังวลเรื่องพ่อ บวกกับความยากของการทำหนังมิวสิคัลเรื่องนี้ทำให้เขากับคุชเนอร์เห็นไม่ตรงกันบ่อยครั้ง คุชเนอร์คิดว่าเขาผ่านงานละครเวทีมามากกว่าและรู้ดีกว่าสปีลเบิร์กว่าหนังควรจะออกมาเป็นอย่างไร ส่วนสปีลเบิร์กคิดว่าถึงอย่างไรมันก็เป็นหนัง และถ้าเป็นหนังก็ต้องเป็นเขาที่เข้าใจศาสตร์ของมันมากกว่า ในที่สุดทั้งคู่ก็เริ่มทะเลาะกัน 

     แต่แทนที่ความขัดแย้งจะบานปลายลุกลามใหญ่โต ทะเลาะกันยังไม่ทันข้ามวัน สปีลเบิร์กก็เป็นฝ่ายโทรหาคุชเนอร์ และแทนที่จะเป็นคำขอโทษหรือถ้อยคำปรับความเข้าใจใดๆ สปีลเบิร์กเสนอว่าเราควรหยุดคุยเรื่อง West Side Story สักพัก ให้ต่างคนต่างใจเย็นกันก่อนแล้วค่อยมาถกกันใหม่ แต่ในระหว่างนี้ เรามาคุยกันเรื่องไอ้หนังทริปแคมป์ปิ้งกันเถอะ 

     “ผมประหลาดใจเล็กน้อย” คุชเนอร์ว่า “แต่ผมก็คิดว่านี่มันช่างนุ่มนวลสมกับเป็นสตีเวนจริงๆ เขาอยากให้ผมแน่ใจว่าเขาไม่ได้โกรธผม ในขณะเดียวกันเขาก็อยากจะแน่ใจว่าผมยังเห็นเขาเป็นเพื่อนอยู่”

3

     หลังจากปิดกล้อง West Side Story ได้ไม่กี่เดือน พ่อของสปีลเบิร์กก็จากไป ความสูญเสียครั้งนี้ทำให้สปีลเบิร์กตัดสินใจได้ในที่สุดว่าโปรเจกต์ถัดไปของเขาจะเป็นหนังที่สร้างมาจากเรื่องราวชีวิตของเขาเองนี่แหละ

     แม้การทำหนังที่สร้างมาจากชีวิตของตนเองจะฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่สปีลเบิร์กพบว่าการเล่าเรื่องส่วนตัวให้ใครสักคนฟัง กับการเล่าสิ่งเหล่านั้นให้ผู้ชมนับแสนนับล้านฟังนั้นต่างกันลิบลับ 

     “ผมคิดว่ามันจะง่ายกว่านี้” สปีลเบิร์กว่า “เพราะแน่นอนว่าผมรู้จักเรื่องราวดีอยู่แล้ว ผมรู้จักตัวละครทุกตัวมาตลอดชีวิต แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ยังกังวลอยู่ดี เพราะผมกำลังทำหนังกึ่งอัตชีวประวัติของตัวเองที่ทำให้ต้องย้อนกลับไปทบทวนถึงชีวิตที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่ชีวิตของผม แต่ยังรวมถึงชีวิตของพี่สาวทั้งสามคน และพ่อกับแม่ที่จากพวกเราไปแล้วด้วย”

     คุชเนอร์จึงเป็นคนที่เข้ามาช่วยสปีลเบิร์กในการตัดสินใจว่าสิ่งไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็นกับเรื่องราว สิ่งไหนควรเก็บไว้และสิ่งไหนควรทิ้ง เพราะแม้จะเป็นหนังที่อ้างอิงมาจากชีวิตของสปีลเบิร์ก แต่ทั้งคู่ก็อยากให้คนดูทั่วไปที่ไม่รู้จักสปีลเบิร์ก หรือไม่ใช่แฟนของผู้กำกับคนนี้ได้ซาบซึ้งและอิ่มเอมไปกับหนังด้วยเหมือนกัน หนังเรื่องนี้จึงไม่ใช่ชีวประวัติของผู้กำกับคนดัง แต่เป็นเรื่องราวการเติบโตของเด็กคนหนึ่งที่ต้องเผชิญกับทั้งเรื่องดีและร้าย ชีวิตที่มีทั้งด้านที่สุขสมหวังและผิดหวังปะปนกันไป

     “มันสำคัญนะที่เราต้องทรีตมันเหมือนเป็นเรื่องแต่ง” คุชเนอร์ว่า “เพื่อจะให้มันมีความหมายกับคนอื่นที่ไม่ได้สนใจเรื่องการทำหนัง คนที่ไม่รู้จักสปีลเบิร์ก หรือไม่เคยดูหนังของเขามาก่อนเลย”

     แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้สปีลเบิร์กกับคุชเนอร์ไม่อาจทำงานร่วมกันได้เหมือนเดิม บ้านของสปีลเบิร์กอยู่แอลเอ ส่วนคุชเนอร์อยู่นิวยอร์ก ทั้งคู่ต้องพูดคุยกันผ่านซูมครั้งแล้วครั้งเล่า นั่งลิสต์เหตุการณ์ทั้งหมดในช่วงชีวิตวัยเด็กของสปีลเบิร์กว่ามีสิ่งใดเกิดขึ้นบ้าง และคัดเลือกว่าสิ่งใดที่จำเป็นกับเรื่องราว (คุชเนอร์บอกว่าลิสต์ที่จดไว้นั้นเยอะขนาดที่ว่าเอามาทำหนังได้อีก 6 เรื่อง)

     สิ่งที่คุชเนอร์ทำคือการเรียบเรียง เขาแบ่งชีวิตวัยเด็กของสปีลเบิร์กออกเป็นสามช่วงหลักๆ ผ่านบ้านแต่ละหลังในสามเมืองที่สปีลเบิร์กเคยอยู่ (นิวเจอร์ซีย์, แอริโซนา และแคลิฟอร์เนีย โดยครอบครัวของสปีลเบิร์กต้องย้ายตามหน้าที่การงานของพ่อที่เป็นวิศวกร) จากนั้นลองเขียนออกมาเป็นนิยายขนาดสั้นความยาว 81 หน้า แล้วส่งกลับไปให้สปีลเบิร์กอ่าน

     “เขาชอบมาก” คุชเนอร์พูดถึงสปีลเบิร์ก “เขาบอกผมว่า ‘มันแปลกดีนะที่ได้อ่านชีวิตตัวเอง แต่ก็เหมือนไม่ใช่ชีวิตตัวเอง’”

     เมื่อได้เค้าโครงคร่าวๆ แล้วว่าหนังเรื่องนี้จะออกมาประมาณไหน หลังจากนั้นก็ถึงขั้นตอนของการเขียนสคริปต์

4

     “ผมเกลียดการเขียน”

     แม้จะมีอาชีพเป็นนักเขียน แต่คุชเนอร์ยอมรับตามตรงว่าไม่เคยมีความสุขกับการเขียนเลย 

     อาชีพนักเขียนคือการงานอันโดดเดี่ยวและยาวนาน เป็นการงานอันแสนสาหัสและมีแต่ความทุกข์ทรมาน ต้องนั่งอยู่เพียงลำพังในห้อง พยายามเรียบเรียงความคิดอันสับสนและไม่ปะติดปะต่อให้ออกมาเป็นถ้อยคำ เฝ้าแต่คิดใคร่ครวญไปมาซ้ำๆ และจมอยู่กับความคิดนั้นไม่จบไม่สิ้นจนกว่างานจะสำเร็จเสร็จออกมา

     ตอนเขียนสคริปต์ West Side Story คุชเนอร์ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะได้ดราฟต์แรก (137 หน้า) ขณะที่ดราฟต์แรกของ Lincoln ซึ่งเป็นงานที่ต้องค้นคว้าข้อมูลมหาศาล เขาใช้เวลาเขียนนานถึงสี่ปีครึ่ง (มันยาวถึง 491 หน้า ซึ่งทำให้เขาต้องเขียนใหม่อีกหลายดราฟต์เพื่อให้สามารถเอาไปทำหนังได้จริง)

     แต่กับ The Fabelmans คุชเนอร์บอกว่าเขาเขียนสคริปต์ของหนังเรื่องนี้ได้อย่างรวดเร็ว สาเหตุก็เพราะครั้งนี้มีสปีลเบิร์กมาช่วยเขียนด้วยนั่นเอง 

     นี่นับเป็นครั้งแรกในรอบยี่สิบปีหลังจาก A.I. Artificial Intelligence (2001) ที่สปีลเบิร์กกลับมามีส่วนร่วมในขั้นตอนการเขียนสคริปต์อีกครั้ง

     “ผมไม่แน่ใจว่าการเขียนด้วยกันจะเวิร์กหรือเปล่า” คุชเนอร์ว่า “เพราะผมไม่เคยลองเขียนร่วมกับคนอื่นมาก่อน สตีเวนเองก็ไม่เคยเหมือนกัน เราทั้งคู่ยินดีมากเมื่อพบว่ามันเป็นการทำงานที่สนุกมากๆ”

5

     สี่ชั่วโมงต่อวัน, สามวันต่อสัปดาห์ คือช่วงเวลาที่สปีลเบิร์กกับคุชเนอร์ตกลงกันไว้ว่าจะช่วยกันเขียน (ผ่านทางซูม โดยคุชเนอร์เป็นคนทำหน้าที่พิมพ์) 

     เมื่อตัดสินใจแล้วว่านี่จะเป็นหนังฟิกชั่น ไม่ใช่หนังอัตชีวประวัติ บางไดอะล็อกที่อยู่ในสคริปต์จึงไม่ได้มาจากความทรงจำของสปีลเบิร์กเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และบางคำจะถูกคิดขึ้นใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับเรื่องราว รวมถึงชื่อของตัวละครก็ต้องถูกปรับเปลี่ยนแก้ไข

     คุชเนอร์ชอบคำว่า Fabel ในภาษาเยอรมัน (มีความหมายเดียวกับคำว่า Fable ซึ่งแปลว่านิทาน) มาตลอด ดังนั้นเมื่อต้องคิดนามสกุลใหม่ให้กับตัวละครครอบครัวของสปีลเบิร์ก (ซึ่งเป็นนามสกุลเยอรมัน) คำนี้จึงผุดขึ้นมาเป็นสิ่งแรกในหัวของเขา ด้วยเพราะคิดว่ามันมีความหมายที่เหมาะสมกับเรื่องราวและตัวละครดี 

     ส่วนเรื่องชื่อของตัวละคร คุชเนอร์ปล่อยให้เป็นไอเดียของสปีลเบิร์กทั้งหมด เช่น ความจริงแล้วพ่อแม่ของสปีลเบิร์กชื่ออาร์โนลด์กับลีอาห์ ในหนังชื่อว่าเบิร์ตกับมิตซี ส่วนตัวละครสปีลเบิร์กในวัยเด็กก็เปลี่ยนจากสตีเวนเป็นแซมมี

     จากนั้นทั้งคู่ก็ช่วยกันโยนไอเดียไปมา ตัวละครควรจะพูดแบบนี้ดีไหม ตัวละครทำแบบนั้นดีไหม ไดอะล็อกหลั่งไหลพรั่งพรูอย่างรวดเร็ว จนสคริปต์ดราฟต์แรกเสร็จสิ้นในระยะเวลาเพียงแค่สองเดือนเท่านั้น 

     “ผมไม่เคยรู้สึกสนุกกับการเขียนมาก่อนเลย” คุชเนอร์เล่า “แต่ครั้งนี้มันสนุกมากๆ ผมประหลาดใจเมื่อได้พบว่ามันสนุกมากขนาดไหน เพราะว่าการเขียนเป็นเรื่องยาก ส่วนหนึ่งที่ทำให้มันยากก็คือความโดดเดี่ยวในการทำงาน เช่น การต้องอยู่กับตัวเองในห้องเพียงลำพัง ผมพบว่ามันเป็นความสุขอย่างยิ่งที่ได้ทำงานกับคนอื่นบ้าง”

     สคริปต์ของ The Fabelmans มีความหนา 145 หน้า และนับเป็นงานที่เขียนเสร็จเร็วที่สุดของคุชเนอร์ แม้ตัวหนังจะไม่ประสบความสำเร็จเรื่องรายได้ (ทำเงินไป 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้าง 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่ก็ได้รับคำชื่นชมจากฝั่งนักวิจารณ์พอสมควร รวมถึงยังส่งให้คุชเนอร์กับสปีลเบิร์กเข้าชิงออสการ์ 

     คุชเนอร์ปิดท้ายว่าถ้าจะมีอะไรที่ทำให้เขารู้สึกแย่กับการทำงานในหนังเรื่องนี้ ก็คงเป็นการที่เขาจะต้องกลับไปทำงานเขียน (ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเกลียด) เพียงคนเดียวลำพังเหมือนเดิม

อ้างอิง

deadline.com/wp-content/uploads/2023/01/The-Fabelmans-Read-The-Screenplay.pdf
•  screendaily.com/features/how-the-fabelmans-team-brought-steven-spielbergs-childhood-to-screen/5177718.article
apnews.com/article/entertainment-movies-plays-steven-spielberg-0c1748a712e203eafb97a70964bc5c67
openculture.com/2012/09/scenes_from_steven_spielbergs_childhood_epic_films.html
hollywoodreporter.com/news/general-news/steven-spielberg-reveals-drama-decadelong-400878/
ft.com/content/5c650367-59aa-425d-ace0-3176b5dceeac
•  theguardian.com/film/2022/dec/16/there-are-truths-that-have-to-be-told-and-they-may-upset-people-tony-kushner-on-spielberg-ye-and-the-orange-covered-mud-devil
latimes.com/entertainment-arts/awards/story/2022-11-28/tony-kushner-steven-spielberg-the-fabelmans
aframe.oscars.org/news/post/the-fabelmans-tony-kushner-interview-exclusive
collider.com/the-fabelmans-ending-tony-kushner-interview/
youtube.com/watch?v=3PlX5uD3LYI&t=381s
youtube.com/watch?v=ASsgJ3HZ4VY
youtube.com/watch?v=Q-ubTxBqDHQ&t=1242s
youtube.com/watch?v=8wrvmanduhA&t=2108s