Tue 13 Jun 2023

CORE VALUE

ดูใจก่อนลงทุนผ่าน ‘THE LITTLE MERMAID’

ภาพ: ms.midsummer

     The Little Mermaid ฉบับคนแสดง (Live Action) ที่ออกฉายในปีนี้ กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ใหญ่โตและกินพื้นที่สื่อจำนวนมาก เมื่อประกาศรายชื่อนักแสดงแล้วพบว่า แอเรียล (Arial) นางเงือกผิวขาวผมแดงในความทรงจำของเด็กทั่วโลกรับบทโดยผู้หญิงผิวดำอย่าง ฮัลลี เบลีย์ (Halle Bailey) นักแสดงอเมริกันซึ่งทำผมทรงเดรดล็อก

     หากพิจารณากันตามเนื้อผ้าแล้ว ประเด็นการเลือกนางเอกผิวดำมาแสดงย่อมเป็นเรื่องจงใจอย่างแน่นอน เพราะดิสนีย์รู้ดีว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีภาพจากฉบับการ์ตูนเป็นตัวเปรียบเทียบ ไม่ใช่ภาพยนตร์ใหม่ แต่คำถามคือทำไมดิสนีย์ถึงเลือกดัดแปลงภาพยนตร์ที่มีภาพจำชัดเจนให้เสี่ยงต่อการถูกก่นด่าด้วย

     ตั้งต้นจากการดูรายได้ของภาพยนตร์เรื่องดังๆ กันก่อน แล้วเราจะเห็นปรากฏการณ์น่าสนใจหลายอย่าง ฝั่งมาร์เวล หนังที่ทำรายได้สูงสุด ได้แก่ Avengers ทั้ง 4 ภาค และ Spider-Man: No Way Home ที่ขนนักแสดงจากหลายๆ ภาคมารวมตัวกันจนเหมือนจะเป็น Avengers อีกภาคไปแล้ว

     ส่วนหนังฮีโร่เดี่ยวที่ได้อันดับรองลงมาจากหนังฮีโร่กลุ่ม หลายคนอาจคาดเดาว่าเป็นหนังในตำนานอย่าง Iron Man 3 หรือ Captain America: Civil War (ที่ก็เป็นเหมือน Avengers แต่หันมาตีกันเอง) หากจริงๆ แล้วหนังฮีโร่เดี่ยวที่ทำรายได้ทั่วโลกสูงสุดคือ Black Panther ที่กวาดรายได้ไป 1,346,913,171 ดอลลาร์สหรัฐ

     หันมาดูฝั่งการ์ตูนดิสนีย์บ้าง จะพบว่าหนังที่สร้างรายได้สูงที่สุดคือ The Lion King ฉบับปี 2019 ที่กวาดรายได้ไป 1,663,075,401 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่า Avengers สองภาคแรก สูงกว่า Frozen ทั้งสองภาค และสูงกว่า Black Panther ด้วยซ้ำ

     สิ่งที่น่าสนใจมากๆ อีกข้อหนึ่งและอาจไม่ค่อยมีใครพูดถึงนักคือ หนังมาร์เวลส่วนใหญ่ทำรายได้จากต่างประเทศมากกว่ารายได้ภายในประเทศ ยกตัวอย่าง Avenger: Endgame รายได้ในประเทศ 858 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รายได้ต่างประเทศ 1,941 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

     แต่ตัวเลขดังกล่าวใช้ไม่ได้กับฮีโร่ผิวดำอย่าง Black Panther ที่ภาคแรกทำรายได้ในประเทศ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รายได้ต่างประเทศ 681 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนภาคสองทำรายได้ในประเทศ 453 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รายได้ต่างประเทศ 405 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นสัดส่วนรายได้ที่แทบจะหาไม่ได้จากหนังเรื่องอื่นๆ ของ Marvel

     ถ้าดูจากตัวเลขอาจจะบอกได้ว่าคนอเมริกันสนใจวัฒนธรรมของคนผิวดำ (Black Culture) มากขึ้น อย่างรางวัลออสการ์ที่เป็นรางวัลใหญ่ก็สนับสนุนแนวคิดนี้อยู่หลายครั้ง อย่างการมอบรางวัลให้ Moonlight และ Green Book ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงปมปัญหาของความเป็นคนผิวดำ

     หันมามองที่เหล่าเจ้าหญิงดิสนีย์บ้าง เจ้าหญิงยุคแรกๆ อย่าง Snow White and the Seven Dwarfs (1937) Cinderella (1950) หรือ Sleeping Beauty (1959) ก็ล้วนแต่มีชาติพันธุ์ชัดเจน ส่วนเจ้าหญิงสมัยต่อมาอย่าง The Little Mermaid (1989) Beauty and the Beast (1991) Aladdin (1992) Pocahontas (1995) และ Mulan (1998) นั้น มีประเด็นเรื่องชาติพันธ์ุโดดเด่นกว่าเจ้าหญิงสมัยแรกด้วยซ้ำไป (โดยเฉพาะสี่เรื่องหลัง) หากจะทำภาพยนตร์แล้วเปลี่ยนตัวละครเหล่านี้เป็นคนดำ ก็อาจมีปัญหาว่าไปเหยียดชาติพันธุ์ดั้งเดิมของเจ้าหญิงได้

     หวยเลยมาออกที่เจ้าหญิงแอเรียลจาก The Little Mermaid เพราะเป็นเรื่องที่มีความแฟนตาซีที่สุด เงือกไม่ได้มีเชื้อชาติชัดเจนแต่ต้น ต่อให้ในฉบับการ์ตูนเป็นเงือกผิวขาว แต่ถ้าจะหาคำอธิบายว่าเผ่าพันธุ์เงือกมีความหลากหลายก็คงจะเข้าใจได้ และมีโอกาสได้การยอมรับมากที่สุดหากเทียบกับเจ้าหญิงทั้งหมด

     การใช้ผู้หญิงผิวดำมาเล่าเรื่องชะตากรรมของเงือกน้อยผจญภัยจึงเป็นเรื่องถูกที่ถูกทางที่สุดแล้ว (แม้จะไม่ถูกอกถูกใจคนอีกจำนวนมาก) เพราะ The Little Mermaid คล้ายจะสื่อสารแทนกลุ่มคนที่โดนกดทับผ่านตัวละคร ‘เงือก’ ซึ่งเราสามารถทดแทนคำว่าเงือกด้วยอย่างอื่นแทนได้ เช่น ผิว ชาติพันธุ์ เพศสภาพ ศาสนา ความเชื่อ รูปลักษณ์ภายนอก อะไรก็ได้ที่ถูกจัดเป็นคนชายขอบของสังคม

     อาจพูดได้ว่าดิสนีย์ตั้งใจทำให้ The Little Mermaid ฉบับปี 2023 เป็นเหมือนการเรียกร้องให้ผู้คนในสังคมยอมรับความแตกต่าง คล้ายจะบอกให้คนบนบกเปิดใจรับเงือกใต้น้ำได้แล้ว นั่นจึงไม่แปลกที่ความเป็น Black Culture จะถูกจับเข้ามาใส่ เพราะคนดำก็เป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมมานาน การทำภาพยนตร์เรื่องนี้จึงตอกย้ำว่าดิสนีย์ไม่ได้คิดเรื่องนี้แค่ครึ่งๆ กลางๆ แต่ทำตามความเชื่อที่สื่อออกมาในหนังจริงๆ

     ความหลากหลายกลายเป็นสิ่งที่ขายได้ในทศวรรษนี้ และต่อให้ค่ายหนังหรือธุรกิจอื่นๆ ในอุตสาหกรรมบันเทิง จะทำเพื่อขับเคลื่อนสังคมหรือทำมาหากินไปตามเนื้อผ้า ทว่าประเด็นความหลากหลายก็ถูกกางแบอยู่บนโต๊ะและกำลังถูกถกกันอย่างออกรสโดยประชาคมโลกจริงๆ

     ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนควรนึกถึงเสมอคือ การลงทุนไม่ใช่เพียงการเข้าไปซื้อหุ้นแล้วรอขายทำกำไรเท่านั้น แต่เราเข้าไปเป็นเจ้าของร่วมของกิจการ หลักการความคิดความเชื่อของหุ้นที่เราถือจึงเป็นอีกสิ่งที่ต้องสนใจและให้ความสำคัญเสมอ

     ราคาหุ้นมาจากกระแสเสียงตัดสินใจของสังคม หากธุรกิจมีความเชื่อที่ผิดและเดินไปผิดทาง ตลาดหุ้นก็อาจจะลงโทษราคาหุ้นอย่างรุนแรงก็ได้ 

     นอกจากเรื่องเงิน เราจึงต้องมองหาอุดมคติที่ซ่อนอยู่ในการประกอบธุรกิจของบริษัท และพิจารณาว่าสิ่งนั้นเข้ากันได้ดีกับตัวเองหรือไม่ 

     เพราะเราเป็นผู้ถือหุ้น เมื่อบริษัททำอะไรก็ตาม เราย่อมถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำและผลลัพธ์ด้วยเสมอ