Tue 09 Mar 2021

TOXIC FROM BRAINLESS LEADER

พิษจากลุงโง่ที่ดันมีอำนาจและคิดว่าตัวเองฉลาด

ภาพ: NJORVKS

บทความชิ้นนี้มีการเผยแพร่เนื้อหาของภาพยนตร์

     เพิ่งดู บ่มีวันจาก (The Long Walk) ในโรงภาพยนตร์ไปไม่กี่วัน ก่อนจะมีโอกาสได้ฟังนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบคำถามในการประชุมอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผ่านหน้าจอโทรทัศน์ในไม่กี่ชั่วโมงก่อนจะเขียนบทความนี้ ดูไปก็เศร้าไป และทำให้ย้อนคิดถึงภาพยนตร์เรื่องที่ว่านั้น   

     ไม่ใช่ The Long Walk ทุพพลภาพเหมือนรัฐบาลชุดนี้ ตรงกันข้าม นี่เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดที่เรามีโอกาสได้ดูในช่วงต้นปี กระนั้นการตอบคำถามของประยุทธ์แบบถามช้างตอบม้า การแก้ต่างข้างๆ คูๆ การอ้างอิงประวัติศาสตร์มั่วซั่ว รวมถึงความไร้วุฒิภาวะดังที่เราคุ้นชินเสมอมาของเขา ก็ทำให้นึกถึงความละล้าละลัง อมพะนำ และการวนซ้ำที่ปรากฏอยู่ในหนัง 

     เป็นความเหนื่อยหน่ายเหมือนกัน แตกต่างก็ตรง ความหน่ายอย่างหลังเกิดจากการที่เราในฐานะผู้ชมถูกดูดกลืนเข้าไปร่วมชะตากรรมกับตัวละครในโลกกึ่งแฟนตาซีของประเทศลาว ขณะที่ความหน่ายอย่างแรกคือชะตากรรมของเราจริงๆ ในประเทศไทย ชะตากรรมของการวนซ้ำและสิ้นหวัง เหมือนฉากส่วนใหญ่ในภาพยนตร์ที่ตัวละครเอาแต่เดินย่ำท้องถนนที่เต็มไปด้วยฝุ่นควันอยู่อย่างนั้นและไร้จุดหมาย

ลุงผู้ไม่เคยอยู่กับปัจจุบัน

     The Long Walk กำกับโดย แมตตี้ โด (Mattie Do) เป็นภาพยนตร์ปี 2019 แต่เพิ่งเข้าฉายในบ้านเราเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ หนังเล่าถึงชีวิตของ ‘ลุง’ คนหนึ่งผู้มีญาณวิเศษ สามารถมองเห็นและปลดปล่อยวิญญาณได้ เท่านั้นยังไม่พอ ลุงคนนี้ยังสามารถย้อนเวลาได้อีก เขาอาศัยอยู่ในเมืองชนบทแห่งหนึ่งในลาวที่ภาพยนตร์ไม่ได้บอกว่าที่ไหน 

     นอกจากลักษณะพิเศษดังกล่าวของตัวละครนำที่ทำหน้าที่แบกพล็อตเรื่องทั้งหมดเอาไว้ อีกสิ่งที่น่าสนใจ คือความย้อนแย้งอย่างตั้งใจของผู้กำกับ ทั้งการเซตเวลาของเรื่องให้อยู่ในโลกอนาคต ที่ซึ่งผู้คนมีชิพอยู่ในร่างกายและมีการประมวลผลการใช้จ่ายเงินตราผ่านหน้าจอที่ขึ้นอยู่บนข้อมือ กระนั้นสภาพแวดล้อมในเรื่องก็ยังคงเป็นเมืองชนบทอันทุรกันดารเหมือนที่เราคุ้นตาในอดีตและยังคงเป็นเช่นนี้อยู่ในปัจจุบัน รวมถึงความเป็นแฟนตาซีวิทยาศาสตร์ของหนังที่ตัวละครสามารถย้อนเวลากลับไปกลับมาได้ หากแก่นของเรื่องก็ยังพัวพันอยู่กับความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ผี และไสยศาสตร์ 

     หนังสลับเล่าถึงชีวิตของลุงสองช่วงเวลา คือช่วงที่เป็นลุงผู้โดดเดี่ยวอยู่ในกระท่อมไกลเมือง สูบบุหรี่ไฟฟ้า และคุยกับคนตายได้ ขณะที่อีกช่วงคือชีวิตลุงในวัยเด็ก ผู้อยู่กับพ่อที่ชอบดุเขาตลอดเวลา และแม่ที่ป่วยกระเสาะกระแสะ 

     เรื่องเริ่มต้นเมื่อลุงในวัยเด็กบังเอิญไปพบหญิงสาวที่นอนใกล้ตายอยู่ในป่า หญิงสาวขอร้องว่าอย่าทิ้งเธอไป ลุงในวัยเด็กจึงนั่งลงและจับมือเธอไว้จนสิ้นใจ นับแต่นั้นวิญญาณของหญิงสาวก็ตามติดเขาไปตลอด

     หนังไม่ได้บอกว่าลุงย้อนเวลาได้อย่างไร เอาเข้าจริงก็แทบไม่ได้ให้รายละเอียดของความสามารถพิเศษนี้ของลุง เพียงแต่การย้อนเวลาคือส่วนสำคัญที่สุดของเรื่อง เมื่อลุงในอนาคตพยายามกลับไปแก้ไขเรื่องราวในอดีต ด้วยหวังจะช่วยแม่ผู้ป่วยหนักให้ตายลงโดยไม่ทรมาน กระนั้นไม่ว่าจะย้อนกลับไปกี่ครั้ง ผลลัพธ์ก็ไม่ต่าง ซ้ำยังเลวร้ายลง 

เรื่องเล่าของนักท่องเวลา

     ก่อนที่ เอช. จี. เวลส์ (H.G. Wells) จะตีพิมพ์ The Time Machine (1895) นิยายเล่มดังที่จุดประกายความคิดเรื่องการเดินทางท่องเวลาของมนุษย์ นักเขียนชาวอังกฤษผู้ได้ชื่อว่าบิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ผู้นี้ เคยเขียน The Chronic Argonauts ในปี 1888 เรื่องสั้นที่ถือได้ว่าเป็นต้นธารของแนวคิดใน The Time Machine 

     เรื่องถูกเล่าผ่านมุมมองของบุคคลที่สามอย่างด็อกเตอร์ โมเซส นีโบกิบเฟล (Dr. Moses Nebogipfel) ซึ่งย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านหลังหนึ่งโดยไม่สนใจว่าเจ้าของบ้านคนก่อนเพิ่งตายลงในบ้านหลังนั้น ด็อกเตอร์ทำการทดลองบางสิ่งภายในบ้าน จนเพื่อนบ้านต่างโจษจันกันว่าชายที่มาใหม่ผู้นี้อาจเป็นพ่อมด จากนั้นเขาก็พาเพื่อนคนหนึ่งของตัวเองหายตัวไปจากบ้านอย่างเป็นปริศนา และเรื่องก็มาเฉลยว่าสิ่งที่ด็อกเตอร์หมกหมุ่นอยู่ในบ้านมาตลอดคือการสร้างเครื่องจักรสำหรับเดินทางข้ามเวลา มาถึงตรงนี้เรื่องก็ถูกเปลี่ยนมาเล่าผ่านมุมของเพื่อนผู้เดินทางย้อนเวลาไปกับด็อกเตอร์ ผู้ที่พยายามจะอธิบายหลักการของไทม์ลูป และสงสัยว่าด็อกเตอร์อาจเป็นคนที่ย้อนเวลากลับไปฆาตกรรมเจ้าของบ้าน เพื่อที่ตัวเองจะได้เข้ามาอาศัยอยู่ในบ้าน และทำการทดลองสร้างไทม์แมชชีนขึ้นมา

     The Chronic Argonauts สะท้อนภาพของชายผู้มีอำนาจในการกำหนดชีวิตของตัวเองผ่านการเดินทางย้อนกลับไปในอดีต ขณะที่ The Time Machine เล่าถึงนักวิทยาศาสตร์ชาวลอนดอน ผู้คิดค้นไทม์แมชชีน และใช้มันเดินทางไปโลกอนาคตในอีกหลายแสนปีข้างหน้า เพื่อจะพบจุดสิ้นสุดของความศิวิไลซ์ ที่ซึ่งมนุษยชาติย้อนกลับมาใช้ชีวิตแบบคนยุคหินอีกครั้ง

     The Time Machine เป็นนิยายที่ทรงอิทธิพลอย่างมาก เพราะแต่เดิมแนวเรื่องว่าด้วยการข้ามเวลามักมีอยู่แต่ในเทพนิยายและตำนานที่เชื่อมโยงกับศาสนา หากนิยายเรื่องนี้จุดประกายให้ผู้คนในศตวรรษที่ 19 ต่อมาถึงปัจจุบันขบคิดกับเครื่องจักรชิ้นนี้ในเชิงวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง ขณะเดียวกันมันก็สร้างให้เกิดแขนงของนวนิยายและภาพยนตร์วิทยาศาสตร์รูปแบบใหม่ที่หยิบใช้การท่องเวลามาเป็นเงื่อนไขหลักในการขับเคลื่อนเรื่อง

     Back to the Future (1985) พูดถึงอุบัติเหตุที่ทำให้ตัวละครหลักย้อนเวลากลับไปสมัยพ่อแม่ของเขายังหนุ่มสาวและเขาดันเข้าไปแทรกแซงความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการมีอยู่ในตัวตนของเขาในปัจจุบัน ส่วน 12 Monkeys (1995) พูดถึงตัวละครจากโลกอนาคตที่ได้รับภารกิจให้ย้อนกลับไปในอดีตเพื่อหาต้นตอของไวรัสซึ่งกำลังคร่าชีวิตมนุษยชาติอยู่ในอนาคต หรือ The Butterfly Effects (2004) พูดถึงผลอันคาดเดาไม่ได้จากการย้อนเวลาเพื่อกลับไปแก้ไขอดีตของตัวละครหลัก ฯลฯ  

     ในจำนวนภาพยนตร์ท่องเวลาที่ถูกสร้างมานับเรื่องไม่ถ้วนในแทบทุกรูปแบบ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) ดูจะเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่หลงใหลในมิติทับซ้อนของเวลา และพยายามขยายพรมแดนการเล่าเรื่องออกไปให้น่าตื่นตาและสนุก ทั้ง Inception (2010), Interstellar (2014) หรือ Tenet (2020) เช่นเดียวกับที่ โบรัน โบ โอดาร์ (Baran bo Odar) และ ยานท์เย ฟรีเซอ (Jantje Friese) ทำไว้กับซีรีส์ทริลเลอร์-ดราม่าข้ามเวลาของเน็ตฟลิกซ์อย่าง Dark (2017-2020) ซึ่งเปี่ยมไปด้วยความซับซ้อน รุ่มรวย และอุดมไปด้วยท่ายากๆ จนบางครั้งอาจทำให้คนดูต้องกุมขมับ 

     อย่างไรก็ดี เรื่องเล่าของนักท่องเวลาผ่านมุมของแมตตี้ โด ใน The Long Walk ดูเหมือนจะเป็นด้านกลับของทั้งหนังและซีรีส์สุดอลังการที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดอย่างน่าสนใจ

ความพอเพียงของลุงผู้ทรงอำนาจ

     ขณะที่ลุงสามารถสื่อสารกับวิญญาณได้ แต่เขาก็กลับปฏิเสธให้ความช่วยเหลือแก่ทั้งตำรวจและหญิงสาวผู้มาขอให้ตามหาศพแม่ของเธอ เช่นเดียวกับความสามารถในการข้ามเวลา ลุงก็กลับใช้มันเพียงแค่ว่าย้อนกลับไปคลายปมของตัวเองในอดีต ที่ซึ่งปมดังกล่าว จะแก้หรือไม่ ก็หาได้ส่งผลใดๆ ต่อตัวเขาเองในปัจจุบัน

     ลุงยังคงใช้ชีวิตอยู่ในบ้านอันซอมซ่อหลังเดิม เลี้ยงชีพด้วยการนำสายไฟเก่าไปแลกเศษเงินไม่กี่กีบ และมีงานอดิเรกคือการเลี้ยงผีไว้ในสวนหลังบ้าน รวมถึงการย้อนเวลากลับไปดูพัฒนาการตัวเองในวัยเด็กอย่างสม่ำเสมอ 

     แม้จะมีองค์ประกอบที่ช่วยสร้างสีสันให้แก่เรื่องได้มากมาย ทั้งความสยองขวัญจากผีสาง การจองเวร การฆาตกรรม และปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ ไปจนถึงแฟนตาซีของการย้อนเวลา หากแมตตี้ โด ก็มั่นคงอยู่กับเรื่องเล่าของตัวเอง (ผ่านภารกิจของลุง) ภาพยนตร์ไม่หวือหวาอะไรมากไปกว่าที่เขียนไว้ในสองย่อหน้าก่อน ลุงอาจเป็นต้นแบบของวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ผู้ใช้ชีวิตอย่างสมถะ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง และเปี่ยมด้วยความกตัญญูอันเกิดจากการทุ่มความสามารถทั้งหมดเพื่อกลับไปช่วยให้แม่ตายอย่างสงบ ขณะเดียวกันก็อาจเป็นภาพแทนของภูมิทัศน์ทั้งหมดในชนบทของประเทศลาว ที่แม้เทคโนโลยีจะก้าวล้ำไปเพียงไหน หากคุณภาพชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่กลับไม่ก้าวตาม 

     อย่างไรก็ดี แมตตี้ โด ก็ค่อยๆ ถักทอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสองเวลาให้มาเหลื่อมซ้อนกันได้อย่างหมดจด บางช่วงอาจมีหน่วงอืดบ้าง หากมันก็ไม่พร่องด้วยพลังของเรื่องเล่าและศิลปะภาพยนตร์ที่ตรึงเราอยู่หมัดจนถึงบทสรุป 

     หนึ่งในสิ่งที่เราชอบมากๆ ของเรื่อง เห็นจะเป็นตอนท้ายที่ตัวหนังจงใจนำเสนอถึงความย้อนแย้งตัวตนของลุงในปัจจุบันขณะ — {ขออภัยที่ข้อความต่อไปนี้จะเป็นการสปอยล์} — เมื่อลุงค้นพบว่าการกลับไปแทรกแซงอดีต ส่งผลให้ตัวเขาเองเติบโตมาเป็นฆาตกรต่อเนื่อง แม้ทั้งชีวิตความชั่วจะไม่มี ความดีไม่ปรากฏ ทว่าลุงก็สำนึกว่าเขาไม่อยากเห็นตัวเองเป็นฆาตกร เขาจึงฆ่าตัวเองในวัยเด็กทิ้งเสีย 

     อย่างไรก็ตาม แม้ตัวตนในอดีตตายลง แต่ตัวตนของเขาก็ยังคงมีชีวิตอยู่และทำการฝังศพของอดีตตัวเองในสวน ก่อนที่หนังจะให้ตัวละครผีผู้หญิงที่ติดตามลุงมาตั้งแต่วัยเด็ก (ผู้ที่เดินตามลุงโดยไม่พูดจาใดๆ ทั้งเรื่อง) คลายปมข้อนี้ด้วยการใส่บทพูดให้เธอเป็นครั้งแรก ว่าเธอเห็นลุงเติบโตและตายดับ วนไปวนมาอยู่อย่างนี้ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว พูดจบผีตนนั้นก็จากไป ทิ้งให้เราสงสัยว่าลุงที่เหลืออยู่นั่นเป็นความผิดพลาดจากการลื่นไหลของกระแสเวลา หรือเป็นวิญญาณจากการตายในวัยเด็กกันแน่ 

พิษจากลุงโง่

     สิ่งที่เราชอบที่สุดไม่ใช่เรื่องลุง หากแต่เป็นผีสาวที่เดินตามลุงทั้งเรื่อง เพราะกระทั่งผี หนังก็ยังทำให้เราสงสัยถึงตัวตนของมันในกระแสของเวลา 

     หนังไม่ได้บอกว่าเมื่อลุงย้อนเวลาไปหาตัวเองในวัยเด็ก ผีตนปัจจุบันได้ติดตามลุงเพื่อไปเจอผีตนเองในอดีตด้วยไหม สิ่งที่เรารู้ได้อย่างเดียวคือผีเดินตามและมองเห็นลุงเกิด-ดับหลายต่อหลายรอบ กับอีกเรื่องคือความน้อยใจของผี ที่สุดท้ายเธอตัดพ้อว่าแม้ลุงมีความสามารถในการปลอดปล่อยวิญญาณให้ไปผุดไปเกิด ซึ่งลุงก็ทำเช่นนั้นกับวิญญาณตนอื่นๆ ตนแล้วตนเล่าเรื่อยมา แต่ลุงกลับไม่เคยปลดปล่อยเธอเลย  

     ผีสาวทำให้ภาพยนตร์เศร้าตรมและตราตรึง ขณะเดียวกันมันก็อธิบายความ ‘บ่มีวันจาก’ ของชื่อเรื่อง เช่นเดียวกับชื่อ The Long Walk ในภาษาอังกฤษได้อย่างสมบูรณ์

     และอย่างน่าเศร้า การเดินตามลุงไปตลอดกาลของผี ก็กลับทำให้เราย้อนคิดถึงการตอบคำถามของลุงอีกคนในรัฐสภา ที่สะท้อนความล้มเหลวและเลื่อนลอยของการบริหารบ้านเมืองในทุกมิติ 

     เพราะนอกจากความเหนื่อยหน่ายที่เราบอกไว้ตอนต้น ฉากดังกล่าวกลับทำให้เราคิดถึงผีในฐานะภาพแทนของประชาชนในประเทศนี้—ผีที่ทำได้แต่ติดตามลุงคนหนึ่งอย่างไร้จุดหมาย และเป็นประจักษ์พยานที่มองเห็นลุงโง่ๆ คนหนึ่งที่แม้เปี่ยมด้วยอำนาจเพียงใด แต่ก็กลับสร้างความฉิบหายแก่บ้านเมืองซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างไม่อาจทำอะไรได้ ไม่อาจปริปากบ่น และราวกับเป็นเวรเป็นกรรม