Tue 23 Aug 2022

PLEASE MIND THE GAP

ร่างทรง ชนบท และความเจริญงอกงามของเมือง

ภาพ: NJORVKS

     หลายคนนิยามหนังไทยไว้ว่า ‘กะเทย-ผี-ตลก’

     เพราะว่าหนังทำเงิน หรือเรียกอีกแง่ได้ว่าหนังที่นายทุนยอมควักเงินให้ทำในประเทศไทย มักจะหนีไม่พ้นสามแนวนี้ 

     แต่เมื่อถามถึงหนังยอดนิยมในสามหมวดนี้ ซึ่งในที่นี้ผมจะขอพูดถึงหนังผี เรื่องที่ได้รับคำวิจารณ์ในเชิงบวกมากๆ ชื่อที่ถูกพูดถึงมักจะเป็นหนังผีเก่าๆ เมื่อหลายสิบปีก่อน จนกระทั่งการมาถึงของ ร่างทรง 

     ร่างทรง กำกับโดย บรรจง ปิสัญธนะกูล อำนวยการสร้างโดย นา ฮงจิน (Na Hong-jin) หนังบอกเล่าเรื่องราวแบบสารคดีที่ติดตามชีวิตของครอบครัว ‘ยะสันเทียะ’ ซึ่งสืบเชื้อสายร่างทรงย่าบาหยันจากรุ่นสู่รุ่น จนกระทั่งวันนึง หลานสาวของตระกูลเกิดอาการผิดปกติ เหมือนจะถูกรับเลือกเป็นร่างทรงคนต่อไป แต่ยิ่งเวลาผ่าน อาการของเธอยิ่งแปลกไปทุกที

     นอกจากความสยองขวัญที่ถ่ายทอดออกมาอย่างเต็มพิกัดแล้ว อีกสิ่งที่หนังบอกเล่าออกมาได้อย่างงดงามคือความเป็นชนบทอย่างแท้จริง ทั้งฉาก บรรยากาศ วัฒนธรรม และเรื่องราวความเชื่อที่ถ่ายทอดอยู่ในเรื่องนั้น ซึ่งได้เปิดโลกของคนเมืองอีกจำนวนมากที่ไม่เคยเข้าใจความเป็นชนบทมาก่อนในชีวิต

     ร่างทรง ไม่ได้อธิบายตัวเองอย่างชัดเจนว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นที่จังหวัดไหน แต่หากอนุมานจากวัฒนธรรมศาสนาคริสต์ในเรื่อง ทีมงานอาจจะเลือกสถานที่ในใจเป็นจังหวัดแถบสกลนคร แต่ก็มีการกระจายกันไปถ่ายทำในหลายพื้นที่ สะท้อนภาพความต่างจังหวัดออกมาให้คนเมืองเห็นกันอย่างเต็มตา

     คนเมืองจำนวนมากไม่เคยเข้าใจคำว่า ‘ชนบท’ ในแบบที่ชนบทเป็น

     กลุ่มคนดูหนังเข้าโรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป แถมโรงฯ ก็มักจะมีตามจังหวัดใหญ่ อำเภอเมือง ถ้าพูดกันตามจริงแล้ว ภาพยนตร์จึงไม่ใช่ความบันเทิงที่สามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่มในประเทศได้อย่างเท่าเทียมกันด้วยซ้ำ การจะเรียกว่าคนดูหนังเป็นคนมีเงินระดับนึงก็อาจจะไม่ใช่ประโยคที่ผิดเสียทีเดียว

     หากถอดแว่นตาของการดูหนังออกไป ถอดเรื่องราวที่หนังพยายามจะเล่า เราจะยิ่งมองเห็นความแตกต่างของประเทศไทยอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างหัวเมืองใหญ่และต่างจังหวัดในอำเภอที่ห่างไกล ร่างทรง ไม่ได้ชูให้เราเห็นเฉพาะฉากที่ดูเป็นชนบท แต่วิถีชีวิตข้างในก็สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนถึงความห่างไกลจากคำว่าเมือง

     ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ความเป็นเมืองจะกระจายออกไปมาก ประเทศจะมีเมืองใหญ่กระจายอยู่ในทุกภูมิภาค และเมืองใหญ่เหล่านั้นจะเป็นศูนย์รวมของการพัฒนาไปสู่ท้องถิ่นที่ห่างไกลอีกที 

     คิดภาพประเทศอย่างญี่ปุ่นที่มีทั้งเมืองโตเกียว โอซาก้า ฟุกุโอกะ หรือฮอกไกโด ต่างเมืองก็ต่างพัฒนา มีความเป็นเมืองที่ไม่ยิ่งหย่อนไปจากกัน

     แต่เมื่อย้อนกลับมาดูประเทศไทย หากเรานั่งนึกถึงเมืองอันดับรองๆ ของประเทศที่อยู่ต่างภูมิภาคออกไป เราก็คงจะนึกถึงเชียงใหม่ ภูเก็ต และขอนแก่น ซึ่งหากไปดูในเชิงสาธารณูปโภคพื้นฐานแล้ว เมืองเหล่านั้นยังเป็นเมืองที่รองรับการท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่การขนส่งสาธารณะอย่างรถประจำทางหรือรถไฟฟ้ายังรองรับได้ไม่เพียงพอ

     จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2564 ประเทศไทยมี ‘รายได้โดยเฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือน’ อยู่ที่ 27,352 บาท จังหวัดที่รายได้สูงสุดคือนนทบุรี มีรายได้อยู่ที่ 41,129 บาท ขณะที่ตัวเลขของกรุงเทพมหานครอยู่ที่อันดับสอง 40,200 บาท และจังหวัดรั้งท้ายคือแม่ฮ่องสอนอยู่ที่ 15,496 บาท

     หากประเทศไทยสร้างความเป็นเมืองได้ ประเทศไทยจะเติบโตได้อีกมหาศาล

     ถ้าพูดกันตามตรง ประเทศไทยไม่ได้มีนวัตกรรมอะไรที่แปลกใหม่หรือน่าสนใจเหมือนเฟซบุ๊ก แอปเปิล ยูนิโคล่ เทนเซนต์ หรือหลุยส์ วิตตอง ที่จะส่งออกไปในระดับนานาชาติได้ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของเรายังเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน ข้าว หรือสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

     หากต้องการให้เศรษฐกิจพัฒนาอย่างยั่งยืน เราจำเป็นต้องทำให้ภาคการบริโภคภายในประเทศเติบโตให้ได้มากๆ นึกสภาพว่าหากทุกครัวเรือนในประเทศมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณสี่หมื่นบาทเหมือนกรุงเทพมหานครปัจจุบัน นั่นก็หมายความว่าขนาดเศรษฐกิจของไทยจะเติบโตได้เกือบสองเท่า โดยไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกเพิ่มเลย

     สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดในการสร้างความเจริญคือระบบคมนาคมพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค สังเกตได้ว่าไม่ว่ารัฐบาลไหนจะขึ้นมาบริหาร เราก็จะเห็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น ทางพิเศษ รถไฟความเร็วสูง หรือการสร้างสนามบินเพิ่มเสมอ เพราะนั่นหมายถึงการเคลื่อนย้ายของประชากร

     หากประเทศไทยมีรถไฟความเร็วสูงที่สามารถเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานครและเชียงใหม่ได้ภายในเวลาสองชั่วโมง (อ้างอิงจากความเร็วโดยประมาณของรถไฟชินคันเซ็นของญี่ปุ่น) นั่นหมายความว่าคนจำนวนนึงอาจจะเลือกพักอยู่ที่เชียงใหม่และไปทำงานกรุงเทพฯ หรือคนกรุงเทพฯ อาจจะนั่งรถไฟไปหาอะไรกินเล่นตอนเย็นที่เชียงใหม่ได้

     ระบบคมนาคมที่แข็งแรง ประหยัด และเข้าถึงได้ จะช่วยให้ประชากรเกิดการกระจายตัวออกไปในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่เมืองดั้งเดิม เหมือนใจกลางกรุงเทพฯ ที่ไม่ค่อยจะมีใครซื้อบ้านอยู่เพราะค่าอสังหาริมทรัพย์มีราคแพง หลักการเดียวกัน ถ้าการคมนาคมดี คนจะกระจายตัวออกไปเรื่อยๆ ไปถึงต่างจังหวัด ไปถึงภูมิภาคที่ห่างไกล

     การที่คนกระจายตัวออกไปอยู่ที่เมืองอื่นๆ ไม่ได้หมายถึงตัวเลขความหนาแน่นของประชากรเท่านั้น แต่นั่นหมายถึงเงินในระบบที่จะไปหมุนเวียนที่อื่นด้วย เมื่อคนไป เงินก็ไป อาชีพก็ไป เกิดการหมุนเวียนใช้จ่ายสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่จะค่อยๆ เติบโตขึ้นมา

     เมืองที่มีความเป็นเมืองมากขึ้น ก็จะมีกิจการเข้าไปรองรับการบริโภคของคนเมือง เช่น ธนาคารพาณิชย์ ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกเฉพาะทาง โรงพยาบาล ร้านอาหาร โรงเรียน ผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค และธุรกิจสืบเนื่องอื่นๆ อีกมากมาย

     ร่างทรง จึงกลายเป็นภาพสะท้อนความแตกต่างของเมืองและชนบทที่ยังมีระยะห่างของความเหลื่อมล้ำอยู่อีกมาก นั่นหมายถึงช่องว่างให้เศรษฐกิจเติบโตได้อีกมหาศาล ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การกระจายความเจริญ และการค่อยๆ เพาะปลูกความเป็นเมืองให้กับชนบทอย่างเป็นระบบ

     ถ้าทุกจังหวัดเจริญแบบกรุงเทพมหานครได้… ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร?