FAST PACE DIALOGUE
การเขียนไดอะล็อกให้ตัวละครพูดเร็วและรัวของ ‘แอรอน ซอร์กิน’
เรื่อง: ทานเกวียน ชูสง่า
ภาพ: ms.midsummer
“รู้ไหมว่าที่จีนมีจำนวนคนไอคิวระดับอัจฉริยะมากกว่าคนในอเมริกาเสียอีก”
ยังไม่ทันที่โลโก้ของโคลัมเบีย พิกเจอร์สจะหายไปจากหน้าจอ ไดอะล็อกแรกของ The Social Network (2010) ก็พุ่งเข้าจู่โจมคนดูอย่างรวดเร็ว และมาอีกต่อเนื่องรัวๆ หลังจากนั้นอย่างแทบไม่มีช่องว่างให้คนดูได้พักหายใจ
บทสนทนาระหว่างตัวละคร มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก กับ เอริกา อัลไบรต์ ในฉากเปิดเรื่องดำเนินไปอย่างดุเดือดเช่นนั้นอีกห้านาทีเต็ม คล้ายเป็นการเตือนคนดูว่ากำลังจะได้พบกับอะไรในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของหนัง เตือนว่าไดอะล็อกที่เต็มไปด้วยข้อมูลมหาศาลกำลังจะไหลบ่าเข้ามา ชนิดที่ว่าถ้าหากเผลอสมาธิแตกกระเจิงไปเพียงนิดเดียวก็อาจตามหนังไม่ทันเอาได้ง่ายๆ
เราอาจเคยได้ยินเรื่องที่ว่าสคริปต์ของหนังเรื่องนี้มีจำนวน 162 หน้า แต่เพราะสตูดิโออยากให้หนังมีความยาวไม่เกินสองชั่วโมง และผู้กำกับ เดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher) ไม่อยากตัดส่วนหนึ่งส่วนใดของสคริปต์ทิ้งไปแม้แต่ประโยคเดียว ทำให้เขาต้องใช้วิธีการให้นักแสดงพูดไดอะล็อกเร็วๆ เข้าไว้เพื่อให้หนังทั้งเรื่องสามารถจบได้ภายใน 120 นาที
และเราอาจเคยได้ยินเรื่องที่ว่าฟินเชอร์ไปหาคนเขียนสคริปต์ถึงบ้าน เอาสคริปต์ฉบับนั้นให้เขาอ่านออกเสียง แล้วตั้งนาฬิกาจับเวลาเพื่อดูว่าเขาใช้เวลาเท่าไรในแต่ละซีน รวมถึงใช้เวลาเท่าไรในการอ่านสคริปต์ทั้งหมด สุดท้ายเมื่อคนเขียนสคริปต์คนนั้นอ่านจบภายในสองชั่วโมง ทำให้ฟินเชอร์ตัดสินใจว่าจะทำหนังเรื่องนี้ด้วยสปีดเดียวกัน
ทั้งสองเรื่องเป็นความจริง
ทว่าตัวการที่ทำให้หนังเรื่องนี้มีสปีดการพูดอันรัวเร็วแบบแทบไม่ได้หยุดพักหายใจนั้นไม่ใช่ฟินเชอร์หรือสตูดิโอเสียทีเดียว แต่เป็นคนเขียนสคริปต์อย่าง แอรอน ซอร์กิน (Aaron Sorkin) ต่างหาก
ซอร์กินได้ชื่อว่าเป็นคนที่เขียนไดอะล็อกให้ตัวละครตอบโต้กันยาวเป็นหน้าๆ ด้วยสปีด x1.5 มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่สมัยที่ทำละครเวทีในยุค 80s มาจนถึงช่วงที่เริ่มเข้ามาเขียนสคริปต์ให้หนังกับซีรีส์ในยุค 90s และหลักการที่ว่า 1 หน้าในสคริปต์จะเท่ากับ 1 นาทีในหนัง อาจใช้ไม่ได้กับผลงานของซอร์กิน ดังจะเห็นได้จากสคริปต์ที่ผ่านมาของเขา
A Few Good Men (1992) สคริปต์หนา 175 หน้า, หนังยาว 138 นาที
The American President (1995) สคริปต์หนา 211 หน้า, หนังยาว 114 นาที
Steve Jobs (2015) สคริปต์หนา 190 หน้า, หนังยาว 122 นาที
ซอร์กินไม่เคยเขียนสคริปต์สั้นๆ ไดอะล็อกของเขายาวเหยียดและเต็มไปด้วยรายละเอียดเสมอ เพราะเขาใช้มันเป็นตัวควบคุมจังหวะของหนัง เมื่อใดที่ต้องการเน้นย้ำประโยคใดประโยคหนึ่ง เขาจะเขียนให้ตัวละครพูดประโยคนั้นซ้ำๆ หรือทิ้งช่วงเว้นจังหวะให้ประโยคนั้นถูกขับเน้นออกมา หรือเมื่อใดที่ต้องการให้คนดูรู้สึกตื่นเต้น เขาจะเขียนให้ตัวละครถกเถียงกันอย่างถึงพริกถึงขิง พูดแทรกขัดจังหวะกันและกัน หรือพูดทับไดอะล็อกของอีกฝ่ายดื้อๆ เพื่อปลุกเร้าการปะทะคารมในฉากนั้นให้ดุเดือดมากขึ้น
“ผมโตมาในครอบครัวที่ทุกคนฉลาดกว่าผม แวดล้อมไปด้วยเพื่อนฝูงที่ล้วนฉลาดกว่าผม ดังนั้นผมจึงรู้สึกเพลิดเพลินเมื่อได้ยินคนฉลาดๆ พยายามจะโน้มน้าวกันและกันด้วยเหตุด้วยผล”
แน่นอนว่าการต่อปากต่อคำในสไตล์ของซอร์กินไม่ใช่สิ่งที่เป็นธรรมชาติเท่าไรนัก เจ้าตัวถูกตั้งคำถามเสมอมาว่าไม่มีใครในชีวิตจริงพูดรัวเร็วหรือสอดประสานกันเป๊ะๆ แบบนั้นหรอก กระนั้นเขาก็ไม่สน เพราะความสมจริงของวิธีการพูดไม่ใช่สิ่งที่เขามองหา แต่เป็นความสนุกต่างหาก
“ผมรู้ว่าเราควรทำตัวละครให้มีความเป็นมนุษย์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายของผม มันไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการจริงๆ”
ซอร์กินมองไดอะล็อกเป็นแอ็กชั่นอย่างหนึ่งของหนัง ลำพังแค่บางฉากที่ตัวละครของเขาต่อปากต่อคำกันอย่างดุเดือดก็สนุกสนานสำหรับคนดูแล้ว เพราะเขาให้ความสำคัญกับเรื่องเสียงของถ้อยคำนั้นๆ พอๆ กับความหมายของมัน
นักแสดงคนหนึ่งที่เคยร่วมงานกับเขาบอกว่าไดอะล็อกของซอร์กินเหมือนกับโน้ตเพลงที่ถูกจัดวางมาอย่างดี การเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือยกไดอะล็อกคำหนึ่งคำใดออกไปจากสคริปต์ อาจทำให้ความรู้สึกของประโยคนั้นผิดเพี้ยน หนังของซอร์กินจึงจะมีการซักซ้อมอ่านบทกันก่อนถ่ายทำเสมอ เพื่อให้นักแสดงพูดไดอะล็อกเหล่านั้นได้อย่างแม่นยำ
ใน The Social Network ก็เช่นกัน ซอร์กินอัดคนดูไม่ยั้งตั้งแต่ฉากแรก รัวไดอะล็อกใส่คนดูอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังให้ตัวละครพูดคุย 3-4 ประเด็นไปพร้อมกัน
“เราเปิดเรื่องที่ความเร็ว 100 ไมล์ต่อชั่วโมง แถมยังเริ่มบทสนทนาตอนกึ่งกลางอีก นั่นทำให้ผู้ชมต้องรีบตามให้ทัน สิ่งที่แย่ที่สุดที่เราสามารถทำกับคนดูได้คือการบอกในสิ่งที่พวกเขารู้อยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นเราจึงต้องนำหน้าคนดูเสมอ”
ที่มาของฉากนี้มาจากการที่ซอร์กินอ่านบล็อกของซัคเคอร์เบิร์ก เกี่ยวกับคืนที่เขาแฮ็กเข้าไปในระบบของมหาวิทยาลัยเพื่อเอาข้อมูลและรูปถ่ายของนักศึกษาหญิงแต่ละคนมาลงในเว็บไซต์ Facemash และสุ่มรูปเหล่านั้นขึ้นมาเพื่อเปิดให้คนเข้ามาโหวตว่าคนไหนฮอตกว่ากัน (ซึ่งเป็นต้นทางไอเดียของเฟซบุ๊กในเวลาต่อมา) ประโยคแรกที่ซัคเคอร์เบิร์กเขียนบรรยายถึงแฟนเก่าคนหนึ่งที่เพิ่งเลิกรากันไป รวมถึงเขียนว่าเขาต้องหาอะไรทำเพื่อจะได้เลิกคิดเรื่องเธอสักพัก ข้อความเหล่านั้นดึงความสนใจของซอร์กินเข้าอย่างจัง
“ผมอยากเขียนถึงเหตุการณ์ช่วงชั่วโมงก่อนหน้าที่เขาจะมาเขียนบล็อกนั้น ไม่ว่าความจริงแล้วตอนนั้นเขาจะมีแฟนเป็นตัวเป็นตนอยู่หรือไม่ก็ตาม แต่ผมสามารถบอกได้เลยว่าเขามีเดตที่ไม่ค่อยดีนักกับผู้หญิงคนนั้น และผมตัดสินใจว่านี่แหละจะเป็นแรงจูงใจของตัวละคร”
ซอร์กินจึงตัดสินใจเปิดเรื่องด้วยการพูดคุยกันในบาร์ระหว่างซัคเคอร์เบิร์กกับเอริกา (ตัวละครสมมติที่ซอร์กินคิดขึ้นมา) และเขียนให้บทสนทนาของทั้งคู่ค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่ดำเนินไป ไม่เพียงให้ฝ่ายชายพูดแทรกและขัดจังหวะฝ่ายหญิงเท่านั้น แต่เขายังให้ซัคเคอร์เบิร์กเปลี่ยนหัวข้อในการสนทนาอยู่บ่อยครั้งตามแต่ใจตนเอง เพื่อให้เห็นว่าเขาแทบไม่ได้สนใจฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพูดเท่าไร พอเอริกากำลังพูดเรื่องหนึ่ง ซัคเคอร์เบิร์กจะแทรกไปพูดเรื่องอื่น จากนั้นพอเอริกาจะชวนคุยเรื่องนั้น ซัคเคอร์เบิร์กก็จะกลับมาพูดเรื่องเดิม
ยิ่งกว่านั้น พอซัคเคอร์เบิร์กพลั้งปากพูดจาดูถูกเอริกาก็ยิ่งทำให้การสนทนาครั้งนี้ไปสู่จุดที่ไม่อาจหวนคืนย้อนกลับ ซอร์กินไม่เพียงใช้ซีนนี้ในการเซตเรื่องราว (แรงจูงใจในการสร้างเฟซบุ๊กของซัคเคอร์เบิร์ก) หรือเซ็ตโทนของหนัง (ว่าตัวละครในหนังเรื่องนี้จะพูดเยอะและพูดเร็วมากๆ) แต่ยังใช้ไดอะล็อกในการบ่งบอกนิสัยว่าตัวละครเป็นคนยังไง
สิ่งที่ซัคเคอร์เบิร์กพูดกับเอริกามีทั้งการถามว่าเธอสับสนอะไรหรือเปล่าตอนที่ตามบทสนทนาไม่ทัน หรือบอกเธอว่าถ้าหากเขาได้เข้าชมรมนิสิตแล้วจะพาเธอออกงานสังคม ซึ่งจะทำให้เธอได้พบปะกับผู้คนมากมายที่ปกติแล้วเธอไม่มีโอกาสเจอได้ง่ายๆ และเมื่อบรรยากาศเริ่มไม่ค่อยสู้ดี เขายังทำให้สถานการณ์ย่ำแย่เลวร้ายกว่าเดิม ด้วยการบอกเธอว่าสาเหตุที่เข้ามานั่งในบาร์แห่งนี้ได้ก็เพราะว่าเธอเคยนอนกับคนเฝ้าประตูนั่นแหละ ไดอะล็อกเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา เมื่อซัคเคอร์เบิร์กขัดแย้งกับเพื่อนฝูง และนำไปสู่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันใหญ่โตในที่สุด
ทว่าแม้จะเป็นไดอะล็อกที่ถูกจัดวางมาอย่างประณีตเพียงใดก็ตาม แต่ด้วยความยาวของซีนนี้ก็เกือบทำให้ผู้กำกับอย่างเดวิด ฟินเชอร์ หมดความสนใจไปเสียก่อน
ซอร์กินเล่าว่า “เดวิดบอกผมในวันแรกที่เราทำงานด้วยกันเกี่ยวกับประโยคสุดท้ายของซีนแรก คือทั้งซีนมันมีความยาว 9 หน้า แต่พอเขาอ่านไปได้ 8 หน้าแล้วก็คิดว่า ถ้าหากผู้หญิงคนนี้ยังไม่ยอมต่อยไอ้หมอนี่ในหน้าถัดไปอีก เขาจะเลิกอ่านแล้ว เพราะนี่ไม่ใช่หนังที่เขาอยากทำแน่ๆ
“แต่พอเขาอ่านไปเจอประโยคที่ว่า ‘เพราะเธอมันเป็นคนเฮงซวย’ เขาก็ตัดสินใจเลยว่า โอเค ผมเอาด้วย”
ประโยคดังกล่าวคือสิ่งที่เอริกาพูดกับซัคเคอร์เบิร์กหลังจากที่ตัดสินใจบอกเลิกเขา
“เธออาจจะกลายเป็นเจ้าพ่อวงการคอมพิวเตอร์ และเธอจะต้องมีชีวิตที่จมปลักกับความคิดที่ว่าผู้หญิงไม่คบเธอเพราะว่าเธอเนิร์ด แต่ฉันอยากบอกเธอจากก้นบึ้งของหัวใจเลยนะว่านั่นไม่จริง นั่นเป็นเพราะเธอมันเป็นคนเฮงซวยต่างหาก”
ฟินเชอร์เข้าใจดีว่าซอร์กินต้องการอะไรจากซีนนี้ จากที่ใช้ช็อตมุมกว้างและช็อตที่ถ่ายข้ามไหล่ของนักแสดงมาทั้งซีน เขาเปลี่ยนไปใช้ช็อตโคลสอัพใบหน้าของ รูนีย์ มารา (Rooney Mara) นักแสดงผู้รับบทเอริกา ทันทีที่เธอพูดประโยคนี้เพื่อขับเน้นความสำคัญ
นอกจากนั้นเขายังบอกด้วยว่ามาราเองก็เข้าใจดีเช่นกัน เพราะตลอด 99 เทคที่ถ่ายทำกัน (จำนวนเทคเยอะเป็นเรื่องปกติของหนังฟินเชอร์) มาราไม่เคยตะโกนไดอะล็อกนี้แม้แต่ครั้งเดียว ฟินเชอร์บอกว่าไดอะล็อกนี้ควรถูกพูดอย่างเยือกเย็นที่สุด เพราะไดอะล็อกนี้เองที่จะฝังหัวของซัคเคอร์เบิร์กไปอีกนาน ไดอะล็อกนี้เองที่เป็นใจความสำคัญของซีนทั้งซีนมาตั้งแต่แรก มันคือแรงจูงใจของตัวละครหลักของหนัง
“สิ่งที่ตัวละครทำ จะบอกเราว่าตัวละครนั้นเป็นคนแบบไหน แต่สิ่งที่ตัวละครพูด จะบอกเราว่าตัวละครนั้นมองเห็นตัวเองเป็นคนยังไง” ซอร์กินว่า “ผมพยายามไม่บอกคนดูว่าตัวละครเป็นคนแบบไหน แต่พยายามจะแสดงให้คนดูเห็นว่าตัวละครต้องการอะไร”
จากที่ทำแค่เขียนบทอย่างเดียวมาตลอด ปัจจุบันซอร์กินเริ่มควบทั้งงานเขียนบทและกำกับบ้างแล้ว โดยเจ้าตัวมีผลงานออกมาแล้วสามเรื่องคือ Molly’s Game (2017), The Trial of the Chicago 7 (2020), Being the Ricardos (2021) โดยหนังที่ซอร์กินกำกับเองยังเต็มไปด้วยไดอะล็อกยาวเหยียดเสมอต้นเสมอปลาย
แต่แน่นอนว่าความยาวของหนังนั้นเทียบไม่ได้เลยกับความหนาของสคริปต์ที่เขาเขียน
อ้างอิง
• indiegroundfilms.files.wordpress.com/2014/01/social-network-the-may-28-09.pdf
• whatascript.com/aaron-sorkin.html
• cinephiliabeyond.org/the-social-network/
• slashfilm.com/511474/the-truth-behind-the-social-network/
• industrialscripts.com/social-network-opening-scene/
• thescriptlab.com/blogs/16534-this-one-aaron-sorkin-quote-taught-me-everything-i-need-to-know-about-characterization/
• bobbypowers.net/aaron-sorkin-writing-tips/
• hollywoodreporter.com/movies/movie-news/aaron-sorkins-writing-process-69586/
• youtube.com/watch?v=_jGCtUmBgWk&t=75s
• youtube.com/watch?v=SExMi2E4fRI
• youtube.com/watch?v=PNarYM5t4TA
• youtube.com/watch?v=8IAGH6k17nw
• youtube.com/watch?v=Q-4t2tFExKY&t=1946s
• youtube.com/watch?v=eucVNYQNGAs&t=2110s