Tue 16 Mar 2021

THE TALE OF PETER RABBIT

นิทานของ ‘บีทริกซ์ พอตเตอร์’ กับคำถามต่างช่วงเวลาของคนสองยุคสมัย

เรื่อง: Antigone

ภาพ: ms.midsummer

     จากจดหมายเยี่ยมไข้จ่าหน้าถึงเด็กชายคนหนึ่ง ได้รับการพัฒนาเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กขนาดกะทัดรัดที่ผู้คนทั่วโลกหลงใหล 

     นั่นคือที่มาของ The Tale of Peter Rabbit นิทานของ บีทริกซ์ พอตเตอร์ (Beatrix Potter) นักเขียนและนักวาดชาวอังกฤษ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างถล่มทลายตั้งแต่ครั้งแรกที่จัดพิมพ์ (ปี 1902) ทุกวันนี้มียอดขายรวมแล้วกว่า 45 ล้านเล่ม แปลไปแล้วกว่า 35 ภาษา มีการขายลิขสิทธิ์ตัวละครเป็นครั้งแรกๆ ในโลก เพื่อทำเป็นสินค้าที่ระลึก เช่น ตุ๊กตา บอร์ดเกม ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการดัดแปลงบทไปทำเป็นการ์ตูนโทรทัศน์ ภาพยนตร์แอนิเมชั่น ไปจนถึงการแสดงบัลเลต์ 

     อาจเพราะชื่อกระต่ายน้อยปีเตอร์อยู่ในหัวใจของผู้คนยืนยงมายาวนานกว่า 120 ปี เราจึงเลือกหนังสือเล่มนี้มาเป็นเล่มแรก ชวนให้ใครที่รู้จัก คุ้นหูคุ้นตาลองกลับมาอ่านซ้ำ มองหน้ากระดาษเดิมผ่านแว่นของปัจจุบัน วิเคราะห์ความคิด ความเชื่อของผู้เขียนแฝงไว้ในภาพ ฝังไว้ในตัวหนังสืออีกที เพราะเราเชื่อว่าหนังสือหนึ่งเล่มมีร้อยพันวิธีอ่าน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในชีวิตของเราแต่ละคน

     ใครที่ยังไม่เคยอ่านเราจะขอเล่าให้ฟังสั้นๆ ว่าเรื่องราวของ กระต่ายน้อยปีเตอร์ นั้น เริ่มด้วยการแนะนำสมาชิกในบ้านโพรงกระต่ายใต้ต้นไม้ใหญ่ แม่กระต่ายย้ำกับลูกๆ ทั้งสี่ตัวอย่างแข็งขันว่า ห้ามเข้าไปในสวนของคุณแม็กเกรเกอร์ ไม่เช่นนั้นอาจมีจุดจบแบบเดียวกับพ่อกระต่ายที่ถูกจับไปอบเป็นพายเสียแล้ว แต่สุดท้ายปีเตอร์ก็แอบหนีแม่เข้าไปอยู่ดี แอบชิมผักในสวนต้นนั้นทีต้นนี้ทีอย่างเพลิดเพลิน จนกระทั่งคุณแม็กเกรเกอร์มาพบเข้า กระต่ายน้อยปีเตอร์วิ่งหนีหัวซุกหัวซุนจนเสื้อและรองเท้าที่สวมไว้หลุดหล่นหาย กลับบ้านมาตัวเปล่าล่อนจ้อน นอนซมจิบชาคาโมมายล์ที่แม่ยกมาให้ดื่มบนเตียง

     ตลอดทั้งเล่มมีภาพประกอบรูปสัตว์ตัวจิ๋วกระจ้อยร่อยกระจิดริดที่แต้มแต่งด้วยสีน้ำ ช่วยสร้างบรรยากาศไปพร้อมกับเนื้อหาที่ตัวหนังสือบอกเล่า แต่ละหน้าชวนให้เราจินตนาการถึงความอบอุ่นในบ้านโพรงกระต่าย กลิ่นดินหอมๆ ที่ขุดพรวนในแปลงผัก และเสียงใบไม้เต้นระบำยามต้องลม โดยบีทริกซ์ พอตเตอร์ เน้นย้ำอย่างจริงจังตั้งแต่การพิมพ์ครั้งแรกว่า รูปเล่มหนังสือจะต้องไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป ต้องพอดีกับมือเล็กๆ ของเด็กๆ ให้หยิบจับได้อย่างสะดวก 

     นอกจากนี้ พอตเตอร์ยังไม่ลังเลที่จะใช้ศัพท์ยากๆ ในหนังสือ และเลือกที่จะเอ่ยถึงความเจ็บปวด โหดร้ายอย่างตรงไปตรงมา เพราะเชื่อว่านี่คือวัคซีนที่จะทำให้เด็กๆ ได้เข้าใจว่า โลกไม่ได้มีแค่สีหวานของอมยิ้ม แต่ยังมีอีกสารพัดสี หม่นเศร้า อันตราย หวั่นวิตก ให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้และรับเข้ามาแต่งเติมผืนผ้าใบที่เรียกว่าชีวิต

ผู้หญิง ผู้เขียน

     หากมองอย่างผิวเผิน เราอาจเห็น กระต่ายน้อยปีเตอร์ เป็นเพียงนิทานสอนใจให้ลูกๆ เชื่อฟังพ่อแม่ แต่เมื่อเราอ่านหนังสือภาพเล่มนี้ในวันที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ แง่มุมทางสังคมที่น่าสนใจก็เผยตัวออกมาจากหนังสือเล่มเดิม 

     เราได้มองเห็นโลกผ่านสายตาของผู้หญิงชนชั้นกลางหัวขบถคนหนึ่งในยุควิคตอเรียนไปพร้อมกัน ว่าในช่วงเวลาเหล่านั้น เธอต้องพบเจอความกังวล อึดอัด คับข้องใจอย่างไรบ้าง

     เฮเลน บีทริกซ์ พอตเตอร์ (Helen Beatrix Potter) เกิดในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 1866 (หลังจากประเทศไทยทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งเพียง 11 ปี) เธอเป็นลูกสาวคนเดียวของครอบครัวชนชั้นกลางระดับสูง ช่วงชีวิตวัยเด็กของคุณหนูพอตเตอร์นั้นแสนจะเงียบเหงา เธอมักอยู่ในห้องนอนส่วนตัว ไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้เวลากับพ่อแม่หรือเด็กในวัยเดียวกันนัก มีเพื่อนเล่นเป็นเพียงสัตว์ตัวเล็กๆ ที่เธอแอบเก็บมาเลี้ยง 

     ในวัย 9 ขวบ เธอได้เรียนรู้ทั้งพฤกษศาสตร์ กีฏวิทยา (ศาสตร์เกี่ยวกับแมลง) และกิณวิทยา (ศาสตร์เกี่ยวกับเห็ดรา) ฝึกฝนการสเกตซ์ภาพลอกเลียนความงามของธรรมชาติอย่างสมจริง เจ้ากระต่ายที่เธอเลี้ยงไว้ในห้องชื่อ เบนจามิน เบาวน์เซอร์ (Benjamin Bouncer) และ ปีเตอร์ ไปเปอร์ (Peter Piper) เป็นตัวต้นแบบให้เธอศึกษากายวิภาคของกระต่ายอย่างใกล้ชิด ทุกอากัปกิริยาได้รับการถ่ายทอดลงบนกระดาษ ใช้สีน้ำแต่งแต้มเติมชีวิตชีวาอย่างละเอียดลออ 

     เธอสนใจวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็กจนโต แต่ถูกปฏิเสธการตีพิมพ์บทความลงวารสารวิชาการ จึงหันมาเอาดีด้านการเขียนหนังสือสำหรับเด็กแทน

เด็กเอ๋ย เด็กดี

     ในมุมมองของชาววิคตอเรียนโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 1890s มีความเชื่อกันว่า โดยธรรมชาติแล้ว เด็กมีความซุกซนดื้อรั้นเป็นพื้นฐาน จึงจำเป็นที่ผู้ใหญ่ต้องสั่งสอน อบรมให้เป็นพลเมืองดีตามแบบแผนของสังคม ด้วยการบีบบังคับให้ทำสิ่งต่างๆ ตามที่ผู้ใหญ่เห็นชอบ การลงโทษด้วยการตีอย่างรุนแรง ล้วนแต่เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นในสังคมยุคนั้น 

     พอตเตอร์เองก็ประสบพบเจอด้วยตัวเองเช่นกัน จึงถ่ายทอดผ่านตัวละครในหนังสือของเธอ ทั้งในเรื่อง กระต่ายน้อยปีเตอร์, The Tale of Squirrel Nutkin, The Tale of Benjamin Bunny และอีกกว่ายี่สิบเล่มที่เล่าเรื่องราวของสรรพสัตว์ที่ใช้ชีวิตแบบเดียวกับมนุษย์ เผชิญปัญหาแบบเดียวกับมนุษย์ 

     ประเด็นที่พบในหนังสือของเธอหลายเล่มคือการที่ลูกๆ มักจะหาหนทางหลบหนีออกไปค้นพบโลกภายนอกอยู่เสมอ เช่นเดียวกับที่พอตเตอร์เป็นเด็กดีในสายตาพ่อแม่ ยอมทำสิ่งที่พวกเขาต้องการตลอดมา แล้วมาแอบปลดปล่อยจินตนาการผ่านการวาดภาพ เขียนจดหมาย และจดบันทึกด้วยรหัสลับที่ไม่มีใครแกะได้ [1] เพราะกว่าเธอจะได้มีอิสระจากห้องนอนชั้นสามในบ้านที่กรุงลอนดอนที่พ่อแม่หวงแหนเธอไว้ในนามของความรัก แล้วย้ายไปอยู่กับสามีที่บ้านไร่ในชนบทในเลกดิสทริกต์ (Lake District) ก็ต้องรอจนกระทั่งอายุ 40 ปี

เสื้อผ้าควบคุมสังคม

     การควบคุมจากพ่อแม่ที่พอตเตอร์ต้องพบเจอมาเกือบทั้งชีวิต ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านฉากที่เกี่ยวกับการสวมใส่เสื้อผ้า

     ฉากที่แม่กระต่ายพยายามติดกระดุมคอเสื้อของปีเตอร์ ซึ่งทำสีหน้าเหยเกราวกับถูกบีบคอให้หายใจไม่ออก คงไม่ต่างจากการที่พอตเตอร์ต้องสวมชุดสวยออกงานสังคมของครอบครัวตามประสาลูกสาวนักธุรกิจผู้ร่ำรวย โดยสัตว์ที่สวมเสื้อผ้าเท่านั้นจึงมีชื่อเรียก ใช้ชีวิตเหมือนมนุษย์ และส่งเสียงพูดได้ สัตว์ที่ไม่สวมเสื้อผ้าจะไม่มีเสียงพูดเป็นของตัวเอง เสื้อผ้าเป็นสัญลักษณ์ของความมีอารยะ ทว่า ตัวที่สวมเสื้อผ้ามากชิ้น ก็จะยิ่งประสบปัญหาการใช้ชีวิตมากขึ้น เช่นที่ปีเตอร์เกือบเอาชีวิตไม่รอด เพราะกระดุมทองเหลืองบนเสื้อคลุมไปติดกับตาข่ายขณะวิ่งหนีคุณแม็กเกรเกอร์

     จากทั้งหนังสือ กระต่ายน้อยปีเตอร์ และผลงานอื่นๆ ของพอตเตอร์ ทำให้เราได้เห็นภาพจำลองสังคมชนชั้นกลางยุควิคตอเรียนที่เต็มไปด้วยการปกปิดร่างกาย กดทับตัวตน ทั้งในแง่การแสดงออกผ่านการแต่งกายของผู้คน ไปจนถึงวิถีชีวิตที่กดข่มความรุนแรงภายในของมนุษย์เอาไว้ 

     ภาพสัตว์ตัวจิ๋วที่ใช้ชีวิตเหมือนมนุษย์ ท่ามกลางฉากชนบทในอังกฤษ จึงเป็นเครื่องมือแนบเนียนที่สุดที่เธอเลือกใช้เสียดสีสังคมอันรุนแรงแข็งกร้าวให้ดูอ่อนนุ่มลง

     การกลับไปอ่านเรื่องนี้ซ้ำอีกครั้งในวันนี้ ชวนให้เรานึกถึงแคมเปญ #1ธันวาไม่แต่งเครื่องแบบไปโรงเรียน ของกลุ่มนักเรียนเลว ที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม แสดงอารยะขัดขืนกับการบังคับให้เด็กแต่งกายด้วยชุดนักเรียน และการบังคับไว้ทรงผมสั้นตามเพศทางชีววิทยา มากกว่าจะเป็นไปตามเพศวิถีหรือความพึงพอใจของแต่ละบุคคล 

     น่าสนใจเหลือเกินว่า ทำไมคำถามของคนไทยในปัจจุบันกับคำถามของคนที่มีชีวิตอยู่เมื่อราว 120 ปีที่แล้ว ยังคงเป็นคำถามเดียวกัน

เชิงอรรถ

[1] หลังจากพอตเตอร์เสียชีวิตไปแล้ว เลสลีย์ ลินเดอร์ (Leslie Linder) แฟนพันธุ์แท้ของนักเขียนชาวอังกฤษผู้นี้ ใช้เวลา 13 ปีไขรหัสลับในสมุดบันทึกมหาศาลตลอดชีวิตของพอตเตอร์ ทำให้เราได้มีโอกาสรู้จักโลกส่วนตัวและสังคมรอบตัวที่เธอสังเกตเห็นได้มากยิ่งขึ้น อ่านต่อได้ที่ Atlas Obscura 

อ้างอิง:

digital.lib.uiowa.edu/islandora/object/ui:31858028732463#page/22/mode/2up

scholarworks.gvsu.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1696&context=theses

peterrabbit.com/about-beatrix-potter/

bbc.com/culture/article/20160728-the-hidden-adult-themes-in-beatrix-potter

theconversation.com/peter-rabbit-why-it-is-still-one-of-the-greats-of-childrens-literature-101712

digitalcommons.ric.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1028&context=honors_projects

atlasobscura.com/articles/beatrix-potter-secret-journal-code-leslie-linder

peter-rabbit-and-friends.fandom.com/wiki/Peter_Rabbit

link.springer.com/chapter/10.1007%2F978-94-6300-758-0_8

cla.blog.ryerson.ca/__trashed/

academia.edu/35685293/The_Tale_of_Peter_Rabbit_Pictures_Speak_Louder_Than_Words

bbc.com/news/uk-england-cumbria-36865074

digitalcommons.unl.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1202&context=englishfacpubs

peterharrington.co.uk/blog/first-editions-of-peter-rabbit/

gutenberg.org/files/14838/14838-h/14838-h.htm