CURRENTLY READING
ตะวันในวันรุ่งขึ้น (The Tomorrow Sun) โดย รทิมา
เรื่อง: เบญญา อ้นจำลอง
ภาพ: NJORVKS
ตะวันในวันรุ่งขึ้น (The Tomorrow Sun)
รทิมา เขียน
“ฉันอยากเห็นประเทศที่ทุกคนมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ดีอย่างที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่ดีแบบที่ทุกคนหลอกตัวเองว่ามันดีแล้ว”
ระหว่างไถเว็บร้านหนังสือโปรดในช่วงโปรโมชั่นส่งฟรี เราได้พบกับหนังสือเล่มหนึ่งที่หลายคนอาจไม่คุ้นตา (เราเองก็เช่นกัน) แต่ด้วยคำโปรยและเรื่องย่อทำให้เราไม่ลังเลที่จะกดลงตะกร้าสินค้า และหลังจากอ่านถึงหน้ากระดาษสุดท้าย เราขอบอกเลยว่า หากคุณกำลังตามหาวรรณกรรมดิสโทเปียที่อ่านง่าย แต่เนื้อหาอัดแน่นไปด้วยสิ่งที่คุ้นเคย คุณไม่ควรพลาดหนังสือเล่มนี้
ตะวันในวันรุ่งขึ้น นวนิยายที่จะพาเราไปสำรวจความเน่าเฟะของระบอบการปกครอง จิกกัดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างขีดสุด โดยมีฉากหลังเป็นประเทศไทยในปี 2954 ที่อยู่ภายใต้การปกครองของ ‘ราชวงศ์ธเรศ’ ซึ่งเปลี่ยนโครงสร้างประเทศเป็น 3 ชั้นด้วยกัน
‘ชั้นล่าง’ ทุกคนต้องสวมปลอกคอสีดำ ห้ามพูด และต้องทำงานหนักแลกกับสิทธิในการมีชีวิตอยู่
‘ชั้นกลาง’ ทุกคนต้องสวมปลอกคอสีขาว ห้ามพูดคำบางคำ
‘ชั้นบน’ ไม่ต้องสวมปลอกคอ อยู่สุขสบาย ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ มาจำกัดสิทธิเสรีภาพในการพูด
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ‘ตะวัน’ เด็กชายผู้ถูกช่วยออกมาจาก ‘ชั้นล่าง’ สถานที่ที่เหมือนนรกแสนโสมม โหดร้าย และเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง สูญเสียความทรงจำบางส่วนและจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นถึงถูกส่งไปชั้นล่าง แต่เมื่อเรื่องดำเนินไปเรื่อยๆ ความทรงจำของเขาก็เริ่มกลับมาพร้อมกับความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศ ตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่พบเจอ คุณภาพชีวิตที่ไม่คุ้มค่ากับราคาภาษีที่จ่ายไป หรือโฆษณาชวนเชื่อที่ผู้มีอำนาจหลอกลวงประชาชน
นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องก็คือ ‘คำที่ห้ามพูด’ เพื่ออรรถรสและความสมจริง เราขอให้คุณจินตนาการว่ากำลังสวมบทบาทเป็นตัวละครชั้นกลางที่สวมปลอกคอสีขาว แล้วตะโกน ‘คำ’ ที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงออกไป ทันใดนั้นปลอกคอที่คุณสวมใส่ก็จะร้อง ‘ปิ๊บ’ พร้อมฉีดพิษเข้าร่างกายคุณทันที ถ้าโชคดีคุณก็อาจจะตายแล้วหลุดพ้นจากขุมนรุกแห่งนี้ แต่ถ้าไม่ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ก็จะพาตัวคุณไป ‘ชั้นล่าง’ และกระทำการที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของคุณอย่างถึงที่สุด
แต่ท่ามกลางคนที่ปิดหูปิดตา ไม่กล้าตั้งคำถามกับปัญหาที่เกิดขึ้น หลอกตัวเองไปวันๆ ว่าประเทศนี้มีแต่ความสงบสุข ก็ยังมีคนที่เลิกก้มหน้าให้กับความอยุติธรรม แล้วลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างตะวันและกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า ‘ผี’ ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของพวกผีก็คือ ‘การปฏิวัติ’
หลังจากอ่านจบ ความรู้สึกหดหู่และโกรธแค้นผสมปนเปกันในหัวเราเต็มไปหมด เพราะสิ่งที่ปรากฏอยู่ในหนังสือดูเลวร้ายเกินกว่าจะเกิดขึ้นจริง เหมือนจะเป็นเพียงเหตุการณ์สมมติที่แต่งขึ้นสำหรับนวนิยายเรื่องหนึ่งเท่านั้น แต่พอเงยหน้าออกมาจากหน้ากระดาษแล้วพบว่า ฟุตพาทที่เดินๆ อยู่แล้วน้ำเน่ากระเซ็นใส่ รถเมล์ที่ผู้คนต้องยืนเบียดเสียดกัน คนเสียชีวิตระหว่างไปโรงพยาบาลเพราะมีการปิดถนน หรือประชาชนที่ถูกทำร้ายเพียงเพราะออกมาเรียกร้องต่อความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ทุกสิ่งที่อยู่ในหนังสือเหล่านี้มันสะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในประเทศที่เราอยู่ไม่น้อยเลย จนเราได้แต่คิดว่าช่างตลกร้ายเหลือเกินที่ชีวิตของพวกเราหลายคนคล้ายกับเป็นตัวละครอยู่ในวรรณกรรมดิสโทเปียเรื่องหนึ่ง เหมือนว่าเรากำลังสวมปลอกคอล่องหน ซึ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพในการพูดหรือการแสดงออกเอาไว้
“ดวงอาทิตย์งั้นหรือ มันไม่ได้ส่องแสงมายังประเทศนี้เป็นร้อยๆ ปีเหมือนจะได้”
“แต่ดวงอาทิตย์ก็ยังอยู่ดีใช่ไหมครับ มันยังอยู่บนนั้น”
“ไม่รู้สิ ฉันก็มองไม่เห็นเหมือนๆ เธอนั่นแหละ”
เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าในอีก 400 ปีข้างหน้า ประเทศของเราจะยังเป็นเหมือนในหนังสือหรือไม่ ไม่รู้ว่าเหล่าชนชั้นต่างๆ จะยังคงเกาะกินภาษีและความฝันของผู้คนที่อยากมีชีวิตที่ดีไปจนถึงตอนนั้นหรือเปล่า ถ้าหากดวงตะวันเปรียบเสมือนกับความหวังและการเริ่มต้นใหม่ เราก็ขอภาวนาให้ ‘ตะวันในวันรุ่งขึ้น’ เดินทางมาถึงประเทศไทยในวันใดวันหนึ่งสักที