Fri 07 Jul 2023

A CHARACTER THAT DOESN’T ACT, A DIALOGUE THAT DOESN’T FIX

การสร้างตัวละครให้มีมิติและเขียนไดอะล็อกที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของภาพยนตร์ ‘THE WORST PERSON IN THE WORLD’ 

ภาพ: ms.midsummer

     “ในคู่มือการเขียนบท คุณมักจะเห็นคำกล่าวทำนองว่า ‘การกระทำบ่งบอกถึงตัวละคร’ ซึ่งหมายถึงว่าสิ่งที่ตัวละครทำในหนังจะบ่งบอกถึงสิ่งที่ตัวละครเป็น แต่บ่อยครั้งที่เราต้องจัดการกับตัวละครที่ไม่ได้มั่นใจเสมอไปกับการตัดสินใจของตัวเอง พวกเขาเป็นอินโทรเวิร์ตนิดหน่อย และพวกเขาทำตัวไม่ถูกว่าควรพูดหรือทำอะไร ซึ่งนั่นก็เป็นตัวละครอีกแบบหนึ่ง ตัวละครที่ไม่ได้ทำอะไรให้เราเห็นชัดๆ ดังนั้นเราต้องหาวิธีที่จะเข้าใจว่าตัวละครกำลังคิดอะไรอยู่ และถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นภาพยนตร์ให้ได้”

     เอสกิล ฟอกต์ (Eskil Vogt) มือเขียนบทชาวนอร์เวย์ เล่าถึงความยากของการทำงานในหนัง The Worst Person in the World (2021) ของผู้กำกับ ยัวคิม เทรียร์ (Joachim Trier) หนังเรื่องสุดท้ายที่เป็นการปิดไตรภาคออสโล (Oslo Trilogy) ไตรภาคที่เล่าเกี่ยวกับความสับสนของคนหนุ่มสาวที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองออสโล ซึ่งอีกสองเรื่องประกอบไปด้วย Reprise (2006) และ Oslo, August 31st (2011) 

     The Worst Person in the World เล่าถึง ยูลี หญิงสาววัย 30 ปีที่ชีวิตยังไม่เป็นโล้เป็นพาย เธอไม่รู้ว่าตัวเองชื่นชอบอะไร ใฝ่ฝันถึงอนาคตแบบไหน หรือต้องการสิ่งใดในชีวิตกันแน่ 

     เมื่อพบว่าสิ่งที่เรียนไม่น่าสนใจ เธอก็เปลี่ยนไปค้นหาสิ่งใหม่ๆ ทั้งแพทย์ จิตวิทยา กระทั่งถ่ายภาพ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ เมื่อพบว่าคนปัจจุบันไม่ลงตัว เธอก็กระโจนไปหาอีกคนได้เรื่อยๆ

     ยูลีคบหากับ อักเซล แฟนหนุ่มวัย 40 ปีที่เป็นนักเขียนการ์ตูนชื่อดังมาได้สักพักแล้ว แต่ด้วยความแตกต่างกันทั้งอายุ ทัศนคติ สังคมที่แวดล้อม ทำให้เธอรู้สึกว่าความสัมพันธ์นั้นมีช่องว่าง เช่น การที่เธอเข้ากับครอบครัวเพื่อนฝูงของอีกฝ่ายไม่ได้ หรือการที่เขาอยากมีลูก แต่เธอยังไม่พร้อม นั่นทำให้ยูลีเกิดความลังเลเมื่อได้พบกับ ไอวินด์ ชายหนุ่มที่อายุไล่เลี่ยกันซึ่งดูจะเข้ากับเธอได้มากกว่า 

     แต่ปัญหาก็คือ การเปลี่ยนความสัมพันธ์ไม่ได้ง่ายเหมือนการเปลี่ยนสาขาวิชาเรียน ยิ่งอายุมากขึ้น การจะตัดสัมพันธ์กับใครสักคนยิ่งเป็นเรื่องยาก กระทั่งว่าอาจเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแยกจากกันไปโดยไม่เจ็บปวดรวดร้าว

     “ใช่ ฉันรักคุณ แต่ก็ไม่รักคุณด้วย”

     ไดอะล็อกที่ยูลีพูดกับอักเซล ทำให้เห็นว่านี่คือตัวละครที่เต็มไปด้วยความสับสนและเอาแน่เอานอนไม่ได้ 

     เธอพยายามค้นหาคำตอบว่าสิ่งใดกันแน่ที่ตัวเองต้องการ และเมื่อตัดสินใจเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เธอก็ยังไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เลือกนั้นใช่คำตอบที่ตามหาจริงๆ ไหม

     จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้มาจากการที่ฟอกต์กับเทรียร์นั่งคุยกันเรื่อยเปื่อยในห้องทำงานของทั้งคู่ที่ออสโล (ซึ่งเป็นห้องที่เต็มไปด้วยหนังสือและนิตยสารเกี่ยวกับหนังอัดแน่นอยู่เต็มชั้น ด้วยเพราะทั้งคู่ต่างก็เป็นเนิร์ดในเรื่องนี้ ระดับที่ว่านั่งพูดคุยถึงหนังกันได้ทั้งวันทั้งคืน) เพื่อค้นหาว่ามีประเด็นไหนน่าสนใจพอจะหยิบมาพัฒนาเป็นหนังเรื่องต่อไปได้บ้าง 

     ฟอกต์บอกว่าเขาสนใจประเด็นเกี่ยวกับความรักและความสัมพันธ์ ด้วยเพราะมีหลายแง่มุมที่ยังไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก กล่าวคือหนังโรแมนติกคอเมดีส่วนใหญ่มักเล่าเรื่องแบบชวนฝัน ตัวละครตกหลุมรักกัน จากนั้นก็ทะเลาะหรือไม่เข้าใจกัน พอตอนจบก็กลับมาคืนดีกันอีกครั้ง ทุกอย่างจบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง เขาเลยคิดว่ามันน่าสนใจกว่าถ้าหนังโรแมนติกจะเล่าด้วยน้ำเสียงที่จริงจังกว่าเดิมบ้าง

     ฝั่งเทรียร์เองก็มีไอเดียที่ครุ่นคิดถึงมันมาได้สักพักแล้ว เขาเล่าให้ฟอกต์ฟังคร่าวๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ที่ตัวละครหญิงและชายได้โคจรมาพบกันโดยบังเอิญ ต่างรู้สึกสนใจในตัวกันและกัน ถึงแม้ต่างฝ่ายต่างก็มีความสัมพันธ์เป็นตัวเป็นตนอยู่ก่อนแล้ว และรู้อยู่แก่ใจว่าไม่ควรนอกใจคนที่คบหาอยู่ แต่พวกเขาก็ยังไม่วายตั้งคำถามขึ้นมาว่าถ้าอย่างนั้นแล้ว เราจะทำอะไรกันได้บ้างที่ไม่เกินเลยขอบเขตเส้นแบ่งของสิ่งที่เรียกว่าการนอกใจ โน้มใบหน้าเข้ามาใกล้กันสักเล็กน้อยก็ไม่เรียกว่านอกใจใช่ไหม ผลัดกันดมกลิ่นกายของอีกฝ่าย ก็ไม่นับว่าเป็นการนอกใจใช่หรือเปล่า

     บวกกับการที่เทรียร์อยากเขียนบทให้นักแสดงที่เขาชื่นชอบอย่าง เรนาเตอ ไรน์สเวอ (Renate Reinsve) มานานแล้ว เทรียร์เคยร่วมงานกับไรน์สเวอมาก่อนใน Oslo, August 31st และประทับใจในความกระตือรือร้นเอาจริงเอาจังของเธอมาก แม้บทบาทของไรน์สเวอในเรื่องนั้นจะเป็นเพียงตัวประกอบที่ปรากฏตัวเพียงไม่กี่ซีน และมีไดอะล็อกให้พูดเพียงแค่ประโยคเดียวเท่านั้น (ไดอะล็อกดังกล่าวคือ “Let’s go to the party!”) แต่ไรน์สเวอก็พยายามนำเสนอวิธีการพูดไดอะล็อกหลายๆ แบบให้เทรียร์เลือกว่าอยากได้แบบไหน เทรียร์บอกกับไรน์สเวอในวันนั้นว่าเธอจะมีอนาคตที่สดใสในอาชีพนักแสดงแน่ๆ

     ทว่ามันกลับไม่เป็นเช่นนั้น ผ่านไปหลายปี ไรน์สเวอก็ยังได้รับแต่บทเล็กๆ ทั้งในซีรีส์และละครเวที ซึ่งเป็นบทที่ไม่เปิดโอกาสให้เธอแสดงฝีมือเท่าไร เทรียร์จึงคิดว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่เขาจะมอบบทที่ท้าทายความสามารถให้กับเธอบ้าง

     หนังโรแมนติกที่มีน้ำเสียงแบบจริงจัง สถานการณ์ที่ตัวละครชายหญิงกำลังไต่เส้นของการนอกใจ และบทบาทตัวละครหญิงที่ท้าทายความสามารถของนักแสดง จึงเป็นเสมือนสารตั้งต้นของหนัง 

     ทว่า ถึงฟอกต์กับเทรียร์จะมีไอเดียคร่าวๆ รวมถึงมีไอเดียน่าสนใจอีกมากมายที่ต่างคนต่างก็เคยจดเก็บเอาไว้ แต่กระบวนการเขียนบทก็ไม่ได้พุ่งไปข้างหน้าแต่อย่างใด เพราะสิ่งที่ฟอกต์กับเทรียร์ให้ความสำคัญไม่ใช่พล็อตเรื่อง แต่เป็นตัวละคร 

     พวกเขาเชื่อว่าก่อนจะเขียนให้เรื่องราวพลิกผันหักเหใดๆ ก็ตาม ตัวละครจำต้องมีชีวิตมีเลือดเนื้อขึ้นมาเสียก่อน

     “เราไม่เคยเริ่มต้นจากพล็อตเรื่อง” เทรียร์เล่า “เอสกิลกับผมมีลิ้นชักที่เต็มไปด้วยไอเดียประหลาดๆ มากมาย แต่เราไม่สามารถหยิบมันออกมาใช้ได้จนกว่าตัวละครที่เราสร้างจะมีลมหายใจขึ้นมาจริงๆ นี่เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เรื่องราวทั้งหมดมีน้ำหนักที่จับต้องได้ขึ้นมา”

     เทรียร์สนใจเรื่องความสัมพันธ์ของชายหญิงที่อายุต่างกัน หรืออยู่กันคนละเจเนอเรชั่น ด้วยความที่เขาเคยอยู่ทั้งสองฟากฝั่งของความสัมพันธ์ ทั้งตอนวัยหนุ่มที่ยังเต็มไปด้วยไฟใฝ่ฝันจนไม่คิดเรื่องการมีลูก ไปจนถึงช่วงเข้าวัยกลางคนที่เริ่มคิดอยากมีลูกขึ้นมาบ้าง (แต่อีกฝ่ายยังไม่อยากมี) เทรียร์เข้าใจดีว่าช่วงอายุ 30 และ 40 มีผลทำให้ทัศนคติในการมองโลกเปลี่ยนไปอย่างไร และเข้าใจได้ว่าช่วงวัยที่แตกต่างกันนั้นอาจส่งผลถึงความสัมพันธ์ได้อย่างไร 

     เขาใช้ประสบการณ์ส่วนตัวตรงจุดนี้ในการกำหนดตัวละคร รวมถึงคอยพูดคุยแลกเปลี่ยนกับฟอกต์อยู่เรื่อยๆ เพื่อพยายามหาว่ามีแง่มุมไหนบ้างที่พวกเขามีความเชื่อมโยงหรือคล้ายคลึงกับตัวละคร เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในการเขียนไม่ใช่แค่ว่าตัวละครเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือทำอาชีพอะไร แต่แท้จริงแล้วตัวละครต้องการอะไร หรือไม่ต้องการอะไรต่างหาก

     “มีคำพูดที่ว่า สิ่งที่จะบ่งบอกตัวละครได้ดีที่สุดคือสิ่งที่พวกเขาทำ” ฟอกต์ว่า “แต่เราพบว่าตัวละครของเรากลับแสดงตัวตนออกมาจากสิ่งที่พวกเขาเลือกจะไม่ทำมากกว่า และเหตุผลใดก็ตามที่ทำให้พวกเขาไม่ยอมทำสิ่งเหล่านั้น นั่นแหละคือความท้าทายของเรา ในฐานะคนทำหนังที่จะต้องเข้าใจความคิดของตัวละครให้ได้”

     นั่นจึงเกิดเป็นสามตัวละครหลักของหนัง—ยูลี (รับบทโดยไรน์สเวอ) อักเซล (รับบทโดย แอนเดอร์ส แดเนียลเซน ลาย) และไอวินด์ (รับบทโดย เฮอร์เบิร์ต นอร์ดรัม) ฟอกต์กับเทรียร์เขียนตัวละครอย่างละเอียดประณีต จากนั้นก็ช่วยกันเติมพล็อตเรื่อง เติมซีนลงไปโดยเลือกจากไอเดียมากมายที่มีอยู่ก่อนแล้ว

     ห้องทำงานของพวกเขามีกระดานไม้ก๊อกอันใหญ่ที่เต็มไปด้วยกระดาษโน้ตที่มีรายละเอียดในแต่ละซีนของหนัง เทรียร์และฟอกต์ก็ผลัดกันเขียนบทดราฟต์แล้วดราฟต์เล่าจนแล้วเสร็จ

     ทว่า แม้จะเขียนฉากและตัวละครอย่างละเอียด ไดอะล็อกของหนังกลับเป็นสิ่งที่ทั้งคู่ไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไร ฟอกต์กับเทรียร์เขียนไดอะล็อกแบบหลวมๆ เอาแค่ใจความสำคัญว่าอยากให้ตัวละครพูดเรื่องอะไร หรือพูดด้วยน้ำเสียงแบบไหน จากนั้นในขั้นตอนที่นักแสดงซ้อมอ่านบท ทั้งคู่จะช่วยกันดูอีกทีว่านักแสดงพูดไดอะล็อกนั้นเข้าปากไหม รวมถึงเปิดรับไอเดียจากนักแสดงว่าประโยคไหนหรือน้ำเสียงใดที่จะเหมาะกับซีนนั้นๆ มากกว่า พอได้ไดอะล็อกที่เหมาะสมแล้ว พวกเขาก็จะกลับไปเขียนบทดราฟต์ใหม่มาอีกที

     สาเหตุที่ฟอกต์กับเทรียร์ทำแบบนั้นเพราะทั้งคู่อยากได้บทสนทนาที่เป็นธรรมชาติ อยากได้วิธีการพูดแบบที่คนทั่วไปพูดกันในชีวิตประจำวัน พวกเขารู้สึกว่าไดอะล็อกไม่ใช่สิ่งที่จะเขียนได้จนกว่าจะได้เห็นนักแสดงก่อน ได้ฟังจังหวะและวิธีการพูดของนักแสดงแต่ละคน รวมถึงได้เห็นปฏิกิริยาที่นักแสดงมีต่อกันระหว่างการซักซ้อมอ่านบท

     แม้กระทั่งเมื่อได้บทดราฟต์ที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ถ้าในระหว่างถ่ายทำ เทรียร์ในฐานะผู้กำกับรู้สึกว่ายังปรับเปลี่ยนแก้ไขไดอะล็อกให้ดีกว่านี้ได้ เขาก็ไม่ลังเลที่จะโยนไดอะล็อกแบบเก่าทิ้งไปทันที

     “พวกเราไม่ใช่คนเขียนบทที่ให้ความสำคัญกับถ้อยคำนัก” ฟอกต์ว่า “ผมรักการเขียนไดอะล็อกนะ และผมก็อยากให้มันเป็นไดอะล็อกที่เข้าท่าเมื่อถึงตอนถ่ายทำจริงด้วย แต่ถ้ามีสิ่งอื่นเกิดขึ้นระหว่างการถ่ายทำ มันก็เป็นเรื่องที่ดีเหมือนกัน เพราะผมรู้ว่ายัวคิมจะยังเก็บไอเดียและความเป็นไปของซีนนั้นไว้เหมือนเดิม ถึงแม้ถ้อยคำในสคริปต์จะถูกเปลี่ยนก็ตาม”

     “ยัวคิมบอกฉันว่าพูดอะไรก็ได้เลยตามที่ฉันต้องการ และมุมมองของฉันสำคัญกับเรื่องนี้มาก” ไรน์สเวอเล่า “เขาเปิดรับความเห็นของฉันมากๆ และเขาจะแก้บทระหว่างการซักซ้อมทันที ถ้ารู้สึกว่าไดอะล็อกของฉันฟังแล้วยังไม่เข้าปาก”

     เทรียร์เป็นผู้กำกับที่เปิดโอกาสให้นักแสดงมีส่วนร่วมในการทำงานอย่างเต็มที่ ไม่เพียงแต่เปิดรับไอเดียใหม่ๆ ระหว่างซักซ้อมอ่านบท หรือในระหว่างการถ่ายทำเท่านั้น แต่หลังจากเสร็จสิ้นการถ่ายทำในแต่ละซีน เขาจะเปิดโอกาสให้นักแสดงเล่นอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ จะด้นสดไปเลยหรือจะนัดแนะกันไว้ก่อนก็ได้ เพราะไม่แน่ว่าไอเดียของนักแสดงอาจจะออกมาดีกว่าไอเดียที่เขากับฟอกต์คิดไว้ เขามีพื้นที่ว่างให้กับความเป็นไปได้ใหม่ๆ เสมอ

     และหลายไดอะล็อกที่เป็นการด้นสดในหนังก็เป็นสิ่งที่เทรียร์เลือกจะเก็บไว้ เช่น ตอนที่ยูลีกับอักเซลทะเลาะกัน และเธอพูดถึงความสามารถในการอธิบายความรู้สึกออกมาเป็นถ้อยคำของอักเซล บอกว่าเขาทำตัวแข็งแกร่งก็เพื่อจะสามารถวิเคราะห์ใคร่ครวญสิ่งเหล่านี้ได้ แต่เธอไม่อาจทำได้แบบเขา ดังนั้นในสายตาของเขา ยูลีจึงเป็นคนอ่อนแอกว่า

     อีกไดอะล็อกหนึ่งก็คือตอนที่ยูลีกับอักเซลคุยกันในโรงพยาบาล เมื่ออักเซลเห็นว่ายูลีนิ่งเงียบไปนาน สักพักก็ยิ้มเล็กน้อยออกมา อักเซลถามยูลีว่ากำลังคิดอะไรอยู่ ซึ่งทำให้เธอเริ่มต้นร้องไห้

     สิ่งเหล่านี้เป็นการด้นสดระหว่างนักแสดง ระหว่างไรน์สเวอและลาย ไดอะล็อกและปฏิกิริยาในซีนเหล่านี้เกิดขึ้นจากไหวพริบและความสามารถของนักแสดง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเขียนสคริปต์ไม่อาจจินตนาการคิดฝันถึง

     “มันไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นไดอะล็อกที่ถูกจัดวางมาเป็นอย่างดีแล้วเสมอไป ถึงจะเป็นไดอะล็อกที่น่าสนใจได้” ฟอกต์สรุปถึงวิธีการเขียนสคริปต์ของพวกเขา ที่มักจะเว้นที่ว่างให้กับการทำงานของนักแสดงเสมอ 

     “เราเปิดพื้นที่และให้อิสระกับนักแสดง ไดอะล็อกจะมีชีวิตขึ้นมาก็ต่อเมื่อมีคนพูดมันด้วยน้ำเสียงที่ถูกต้องจริงๆ”

อ้างอิง:

aframe.oscars.org/news/post/worst-person-in-the-world-screenwriters-share-their-secrets-to-film-writing
seventh-row.com/2022/03/23/oscar-nominee-eskil-vogt-on-writing-the-worst-person-in-the-world/
filmcomment.com/blog/interview-joachim-trier-2/
screendaily.com/features/the-worst-person-in-the-world-duo-joachim-trier-and-eskil-vogt-on-their-writing-partnership-we-talk-more-about-life/5168478.article
rogerebert.com/interviews/joachim-trier-renate-reinsve-worst-person-in-the-world-interview-2022
variety.com/2022/film/actors/renate-reinsve-oscar-joachim-trier-worst-person-in-the-world-1235163263/
exberliner.com/film/renate-reinsve-on-cannes-working-with-joachim-trier-and-how-she-nearly-quit-acting/
youtube.com/watch?v=wfFFpYqz5k4&t=788s
• youtube.com/watch?v=HDdCeyWsBjI
• youtube.com/watch?v=cL0SPrGQ1OI&t=233s