2: THUNDEROUS SILENCE
คอลัมน์อธิบายความหมายที่ซ่อนอยู่ในไพ่ทาโรต์ เจาะลึกประวัติศาสตร์ รวมถึงการเชื่อมโยงสัญลักษณ์และความหมายของไพ่ในฉบับต่างๆ กับเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
เรื่อง: มิ่ง ปัญหา
ภาพ: ms.midsummer
Trigger Warning: บทความนี้มีการพูดถึงความรุนแรงต่อผู้หญิง
เมื่อคนโง่เดินทางตุปัดตุเป๋เร่ร่อน หวิดจะตกผาบ้าง เกือบจะถูกสัตว์ร้ายกินบ้าง จนพอเข้าใจโลกและชีวิต กลายเป็นผู้วิเศษตั้งโต๊ะ ยั่วล้อ เล่นกล รับและส่งพลังออกไปสู่สรรพสิ่ง แต่กระนั้นเอง วิชาความรู้และหลักเหตุผลก็ไม่อาจตอบคำถามได้ทุกอย่าง สัญชาตญาณต้องช่วยทำหน้าที่คลำทางในความมืด
นั่นคือความหมายสำคัญของไพ่หมายเลข 2 ไพ่หัวหน้านักบวชหญิง หรือ The High Priestess
ไพ่หัวหน้านักบวชหญิงหมายถึงความลับ ความลึกลับ ปริศนา สัญชาตญาณ ลางสังหรณ์ พลังเหนือธรรมชาติ พลังจากจิตวิญญาณ และจิตไร้สำนึก (The Unconscious)
ซาชา แกรห์ม (Sasha Graham) นักเขียนและผู้ออกแบบไพ่ทาโรต์อธิบายว่า แม้ชื่อไพ่และความหมายจะชวนให้นึกถึงพิธีกรรมอันยิ่งใหญ่ สิ่งเหนือธรรมชาติ หรือประสบการณ์ทางจิตวิญญาณอันกล้าแข็ง แต่เธอก็เทียบไพ่ใบนี้กับอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์
เธอเสนอว่าหัวหน้านักบวชหญิงคือกระดาษลิตมัส (อุปกรณ์ใช้วัดค่าความเป็นกรด-ด่าง) ที่อยู่ในใจเรา ทำหน้าที่อธิบายหรือระบุคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่เราพานพบ เช่น เวลาเรารู้สึกชอบดอกไม้ชนิดหนึ่ง ไม่ชอบบรรยากาศของตึกเรียน (ไม่ใช่สาเหตุที่นักศึกษาจะไม่เข้าเรียนนะคะ) หรือรู้สึกดีกับเพื่อนคนหนึ่งมากๆ ทั้งที่เพิ่งเคยเจอกัน
พูดง่ายๆ ไพ่หัวหน้านักบวชหญิงคือตัวแทนของการรับรู้หรือความเข้าใจที่อธิบายด้วยภาษาแทบไม่ได้ เธอคือความเงียบงัน ปริศนา และสิ่งซ่อนเร้นต่างๆ ในตัวเรา เช่น ความรู้ ความรู้สึก หรือความสามารถ
หากขอคำแนะนำจากไพ่ทาโรต์แล้วไพ่หัวหน้านักบวชหญิงปรากฏขึ้นมา ไพ่ใบนี้กำลังแนะนำให้เราเชื่อสัญชาตญาณตัวเองมากกว่าสิ่งที่ตาเห็น คำแนะนำอื่นที่เป็นไปได้เกี่ยวกับไพ่ใบนี้คือ เราอาจต้องบอกความลับ หรือความลับบางอย่างกำลังจะถูกเปิดเผยต่อเรา
ในทางโหราศาสตร์ ไพ่หัวหน้านักบวชหญิงเป็นตัวแทนของดวงจันทร์ (ที่อาจจะไม่ได้ลงทัณฑ์ใคร) ซึ่งสื่อถึงอารมณ์ ความรู้สึก และสัญชาตญาณ
ประวัติศาสตร์ของไพ่ใบนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้ง โดยเฉพาะเรื่องผู้หญิงและศาสนจักร
ไพ่หัวหน้านักบวชหญิงฉบับวิสกอนติ สฟอร์ซา (Visconti Sforza) มีชื่อว่าลา ปาเปสซา (La Papessa) หมายถึงโป๊ปหญิง หรือพระสันตะปาปาหญิง นำเสนอภาพผู้หญิงสวมมงกุฎสามชั้นอันเป็นตัวแทนของพระศาสนจักร ห่มชุดนักบวช ถือหนังสือและคทา
นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า นี่คือภาพของคุณแม่มันเฟรดา (Sister Manfreda) แห่งสำนักกูลเยลไมท์ ณ แคว้นลอมบาร์ดี (Guglielmites of Lombardy) ในประเทศอิตาลี โป๊ปหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้นช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 โดยสำนักชีกูลเยลไมท์ตีความศาสนาคริสต์ในมุมมองผู้หญิง และแต่งตั้งโป๊ปหญิงขึ้นเพื่อตั้งใจคานอำนาจกับโป๊ปชายในวาติกัน แน่นอนว่าภายหลังศาสนจักรก็ต่อต้านและยุบสำนักนี้ในที่สุด
บ้างก็ว่าไพ่ใบนี้สื่อถึงตำนานของโป๊ป โจน (Pope Joan) หญิงสาวผู้ปลอมตัวเป็นชายชาวอังกฤษชื่อจอห์น (John) ซึ่งภายหลังถูกจับได้ว่าเป็นผู้หญิงเพราะตั้งท้อง ด้วยเหตุนี้ ไพ่ใบนี้จึงถือเป็นไพ่เจ้าปัญหาในยุโรป
นอกจากจะดัดแปลงตัวละครจากประวัติศาสตร์ศาสนาคริสต์ให้เป็นส่วนหนึ่งของการทำนายทายทัก ซึ่งถูกมองว่านอกรีตแล้ว ภาพโป๊ปหญิงยังถือเป็นการละเมิดข้อห้ามของศาสนจักร
สืบเนื่องจากการที่พระเยซูเลือกสาวกเป็นชายทั้งหมด นักบวชในพระศาสนาจึงต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น (การบวช หรือ ordination ในศาสนาคริสต์หมายถึงการดำรงตำแหน่งสำคัญในสถาบันทางศาสนาด้วย เช่น บิชอป (Bishop) หรือดีคอน (Deacon)) ทำให้หลายๆ สำรับต้องเปลี่ยนชื่อไพ่ใบนี้ เพื่อไม่ให้ถูกศาสนจักรต่อต้าน เช่น สำรับ 1JJ ของสวิตเซอร์แลนด์ เรียกไพ่ใบนี้ว่าจูโน (Juno) มเหสีของเทพจูปิเตอร์ ราชาแห่งสวรรค์ตามตำนานโรมัน ส่วนสำรับแวนเดนบอร์ (Vandenborre) จากเบลเยียมเรียกว่ากัปตันชาวสเปน (Spanish Captain)
ในศตวรรษที่ 18 อองตวน กูต์ เดอ เฌเบอแล็ง (Antoine Court de Gébelin) นักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้สนใจตำนานไสยศาสตร์โบราณทั่วโลกเชื่อว่า ไพ่ทาโรต์ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอียิปต์โบราณ การเรียกหัวหน้านักบวชชาย-หญิงว่าโป๊ปและโป๊ปหญิงจึงผิด เพราะน่าจะหมายถึงหัวหน้านักบวชชายและหญิงประจำเทวสถานในอียิปต์โบราณมากกว่า ไพ่ฉบับไรเดอร์-เวท-สมิธ (Rider-Waite-Smith) ที่นิยมใช้กันในปัจจุบันจึงถือเป็นฉบับแรกที่เรียกไพ่หมายเลข 2 ว่าไพ่หัวหน้านักบวชหญิง
ไพ่หัวหน้านักบวชหญิงฉบับไรเดอร์-เวท-สมิธจึงเปลี่ยนมงกุฎของพระสันตะปาปาเป็นมงกุฎของเทพีไอซิส ผู้เป็นเทพีแห่งดวงจันทร์ตามศาสนาอียิปต์โบราณในยุคที่กรีกปกครองอียิปต์
ในความเชื่ออียิปต์โบราณก่อนถูกกรีกยึดครอง เดิมทีเทพีไอซิสถือเป็นเทพีแห่งเวทมนตร์คาถา และพระจันทร์ก็มักจะเชื่อมโยงกับเทพยดาเพศชาย แต่อารยธรรมกรีกมองว่าพระจันทร์คือผู้หญิง และเทพีไอซิสก็เปรียบดั่งเทพีแห่งดวงจันทร์ ศาสนาเพแกนสมัยใหม่ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการปกครองของกรีก ก็ยึดตามคติความเชื่อนี้ด้วย
เนื่องจากไพ่หัวหน้านักบวชหญิงเป็นตัวแทนของพระจันทร์ในทางโหราศาสตร์ เธอจึงสวมมงกุฎตามเทพีไอซิส และมีพระจันทร์เสี้ยวอยู่บริเวณเท้า โดยพระจันทร์สะท้อนถึงความกำกวมของลางสังหรณ์และสัญชาตญาณ ถือเป็นความรู้ในที่มืด ไม่ใช่ความรู้อันแจ่มแจ้งหรืออธิบายได้จนกระจ่าง
แต่กระนั้นก็ยังมีสัญลักษณ์ที่ชวนให้นึกถึงสถาบันศาสนาตามขนบ ได้แก่ ไม้กางเขนตรงบริเวณอก และม้วนกระดาษที่เธอถือ มีอักษรเขียนว่า โทรา แปลว่าหลักการ คำนี้ออกเสียงคล้าย โทราห์ (Torah) คัมภีร์ที่ชาวยิวเชื่อกันว่าเป็นวจนะของพระเป็นเจ้า บันทึกโดยโมเสส เมื่อโมเสสพบพระองค์บนเขาซินาย (Mount Sinai) ซึ่งเป็นชื่อคัมภีร์ของชาวยิวในภาษาฮิบรู
อาร์เธอร์ อี. เวท (Arthur E. Waite) ผู้ออกแบบไพ่ทาโรต์ฉบับนี้อธิบายว่า ม้วนกระดาษที่ปรากฏเพียงบางส่วนนั้นหมายความว่า บางอย่างสามารถสื่อออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรตรงไปตรงมา แต่ที่เหลือนั้นต้องใช้การอนุมานหรือคาดเดา เสาสีดำขาวและผืนผ้าลายทับทิมมาจากคำบรรยายวิหารของพระเจ้าโซโลมอน (King Solomon) อันเป็นที่ประดิษฐานหีบพันธสัญญา (Ark of Covenant) ซึ่งบรรจุแผ่นศิลาพระบัญญัติ (Tablet of Stones) บอกเล่าบัญญัติสิบประการ (Ten Commandments) ของชาวยิวและชาวคริสต์ โดยเสาสีดำขาวมีตัวอักษร B และ J ประดับอยู่ คือตัวย่อของโบอาซ (Boaz) และจาชิน (Jachin)
แม้จะยังไม่มีคำอธิบายชัดเจนเกี่ยวกับหน้าที่และที่มาของชื่อเสาทั้งสองต้น แต่การสถิตอยู่ของหัวหน้านักบวชหญิงท่ามกลางเสาดำและขาวหน้าวิหารที่บรรจุบัญญัติของพระเป็นเจ้านั้นย่อมสื่อว่า หัวหน้านักบวชหญิงคือสัญลักษณ์ขององค์ความรู้ของพระเป็นเจ้า ที่อาจเป็นมากกว่าบัญญัติสิบประการ แต่หมายถึงองค์ความรู้อื่นๆ ที่อาจต้องเข้าถึงด้วยกระบวนการทางจิตวิญญาณ ที่เป็นมากกว่าการหาหลักเหตุผล
อย่างไรก็ดี องค์ประกอบที่เป็นคริสต์ของภาพนั้น นอกจากจะชวนให้นึกถึงชื่อเดิมของไพ่ใบนี้ นั่นคือพระสันตะปาปาหญิงแล้ว ยังถูกท้าทายและผสมผสานด้วยสัญลักษณ์ที่เก่าแก่กว่าคริสตศาสนาอีกด้วย โดยไม้กางเขนที่เห็นในภาพเป็นสัญลักษณ์ของการบูชาสุริยเทพในอารยธรรมนอร์ส พระจันทร์เป็นตัวแทนของคาถาอาคม จินตนาการ หรือพลังของผู้หญิง หรือแม้แต่ทับทิมที่เป็นสัญลักษณ์ของเทพีในหลายอารยธรรม เช่น กรีกและเปอร์เซีย
ไพ่หัวหน้านักบวชหญิงในฉบับเทพปกรณัม (Mythic Tarot) เลือกใช้ภาพเทพีเพอร์เซโฟนี (Persephone) ที่กำลังถือผลทับทิมด้วยมือขวา ตามตำนานกรีกโบราณเล่ากันว่า เทพีเพอร์เซโฟนีผู้เป็นธิดาของเทพีดีมีเทอร์ (Demeter) เทพีแห่งเกษตรกรรมและความอุดมสมบูรณ์นั้น กำลังเก็บดอกไม้ในทุ่งกว้าง เมื่อพบดอกไม้สวยงามประหลาดดอกหนึ่งก็เข้าไปเด็ด ทันใดนั้นผืนดินก็แยกออกจากกัน เทพเฮดีส (Hades) เทพเจ้าแห่งยมโลกปรากฏตัวขึ้นและลักพาตัวเธอไปใต้พิภพ
เมื่อเทพีดีมีเทอร์พบว่าลูกสาวหายตัวไป จึงออกตามหาและคร่ำครวญเสียใจจนไม่ได้ดูแลพืชผล ต้นไม้ดอกไม้ก็พลันเหี่ยวแห้ง ไม่ออกดอกผลให้เป็นอาหาร สุดท้ายเหล่าทวยเทพจึงต้องหาทางเจรจาให้เทพเฮดีสส่งตัวเทพีเพอร์เซโฟนีคืนมาเพื่อให้โลกกลับมาอุดมสมบูรณ์
แต่เนื่องจากเทพีเพอร์เซโฟนีทนความหิวไม่ไหวจนเผลอกินเมล็ดทับทิบในยมโลกไปแล้วสามเมล็ด (ที่ยมโลกมีกฎว่าหากกินอาหารของที่นี่ไปแล้วจะต้องติดอยู่ที่นี่ไปตลอดกาล) ทำให้เทพเฮดีสตั้งเงื่อนไขว่าเทพีเพอร์เซโฟนีจะต้องอยู่ที่ยมโลกเป็นระยะเวลาสามเดือนตามจำนวนเมล็ดทับทิมที่กินเข้าไป โดยช่วงเวลานั้น พืชผลดอกไม้ที่โลกมนุษย์ก็จะเหี่ยวแห้งกลายเป็นฤดูหนาว และเมื่อเทพีเพอร์เซโฟนีเดินทางกลับมายังโลกมนุษย์ได้ ก็ถือเป็นการเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ—ฤดูแห่งการเกิดใหม่นั่นเอง
นอกจากคำว่าเพอร์เซโฟนีในภาษากรีกโบราณจะแปลว่าผู้นำพาความตาย (The Bringer of Death) แล้ว เธอยังมีอีกชื่อหนึ่งคือโคเร (Kore) ซึ่งแปลตรงตัวว่าเด็กผู้หญิง คำว่าโคเรมีรากศัพท์เดียวกับโครอส (Koros) ในภาษากรีกโบราณที่แปลว่าการแตกกิ่ง
จอร์โจ อะกัมเบน (Giorgio Agamben) นักปรัชญาอิตาเลียนตีความว่าโคเรอาจไม่ได้ระบุเพศ แต่หมายถึงพลังชีวิต (Vital force) เทพีเพอร์เซโฟนีจึงไม่ต่างจากหัวหน้านักบวชหญิงซึ่งอยู่ท่ามกลางขั้วตรงข้ามของทั้งชีวิตและความตาย เหมือนเสาสีขาวและดำในฉบับไรเดอร์-เวท-สมิธ เพราะทั้งสองด้านเน้นย้ำถึงเนื้อหนังมังสา การสิ้นสุด การเกิดใหม่ และความเจ็บปวด
ดิฉันมองว่าการมองเห็นพลังชีวิตเจือความตายของเทพีเพอร์เซโฟนีชวนให้เราอ่านเรื่องราวของเธอในฐานะร่างกายของหญิงสาวคนหนึ่งผู้มีบาดแผลจากความรุนแรงที่เทพเฮดีสกระทำ มากกว่าการมองเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและความตายของสรรพสิ่งเท่านั้น
ในขณะที่ไพ่ฉบับเทพปกรณัมเลือกใช้ภาพเทพีเพอร์เซโฟนีแทนไพ่หัวหน้านักบวชหญิง อเลสเตอร์ โครวลีย์ (Aleister Crowley) ผู้ออกแบบไพ่ฉบับธอธ (Thoth) เลือกใช้ภาพเทพีอาร์เทมิส (Artemis) เทพีแห่งดวงจันทร์และการล่าสัตว์ผู้ถือพรหมจรรย์ในการนำเสนอไพ่นักบวชหญิงในม่านมายาแห่งแสง (อนึ่ง ไพ่ฉบับ Thoth เรียกไพ่ High Priestess ว่า Priestess หรือนักบวชหญิงเฉยๆ)
โครวลีย์อธิบายว่า แสงที่เจิดจ้าเกินไปคือภาพลวงตาและม่านกั้นสู่ความจริง บนตักของนักบวชหญิงมีคันธนู สื่อถึงพระจันทร์และอาวุธประจำตัวของเทพีอาร์เทมิส โครว์ลีย์ตีความว่าพรหมจรรย์นั้นสื่อถึงสภาวะก่อนเป็นมารดา เป็นตัวแทนของความคิดก่อนจะเป็นรูปเป็นร่าง และกลายเป็นสรรพสิ่ง
ด้านล่างของเทพีในภาพสื่อถึงเมล็ดพันธุ์และสิ่งที่เริ่มตกผลึกเป็นรูปเป็นร่าง ส่วนภาพอูฐนั้นมาจากการเชื่อมโยงไพ่ทาโรต์ชุดใหญ่กับอักษรฮีบรู 22 ตัว โดยที่แต่ละตัวมีความหมายของตัวเองด้วย ชาวยิวโบราณเชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลกด้วยอักษร 22 ตัว และการเปล่งรัศมีของพระเจ้ามี 10 รูปแบบ (แทนด้วยเลข 1-10) ไพ่หัวหน้านักบวชหญิงเชื่อมโยงกับอักษรกิเมล (Gimel) ซึ่งแปลว่าอูฐ โครว์ลีย์มองว่าอูฐเป็นตัวแทนของทะเลทราย สื่อถึงความแห้งแล้งในจิตวิญญาณ เตรียมรอวันผลิบานและให้กำเนิดชีวิต
การออกแบบไพ่ใบนี้ของโครว์ลีย์หมกมุ่นกับการมองเพศหญิงในฐานะผู้ให้กำเนิดเพียงอย่างเดียว และลดทอนอำนาจต่อต้านผู้ชายของเทพีอาร์เทมิสในตำนานต่างๆ เพราะแต่เดิมนั้นเทพีอาร์เทมิสได้รับการสักการะในฐานะมารดาแห่งความอุดมสมบูรณ์และสรรพสัตว์ในเมืองโบราณเอฟีซัส (Ephesus) ชายฝั่งประเทศตุรกีปัจจุบัน ผู้คนในภูมิภาคอาร์เคเดีย (Arcadia) ในอารยธรรมกรีกโบราณจึงเชื่อมโยงเธอกับเทพีเพอร์เซโฟนีและเทพีดีมีเทอร์
นอกจากนี้ ชาวกรีกโบราณยังบูชาเทพีอาร์เทมิสในฐานะเทพีแห่งการคลอด เนื่องจากนางเลโทผู้เป็นแม่ของพี่น้องฝาแฝดถูกเทพีเฮร่าสาปไม่ให้นางคลอดลูกบนผืนแผ่นดินใดก็ตาม แถมยังส่งงูไพธอนมารังควานอีก กว่าจะคลอดเทพอพอลโล่และเทพีอาร์เทมิสได้จึงยากลำบากมาก
อย่างไรเสีย ดิฉันมองว่า การถือครองพรหมจรรย์ของเทพีอาร์เทมิสสามารถมองได้กว้างกว่าการเตรียมเป็นผู้ให้กำเนิดชีวิต โดยถือเป็นพลังอำนาจส่วนตัวของผู้หญิงที่จะเลือกให้เรื่องเพศเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตนหรือไม่เป็นก็ได้ หากไพ่หัวหน้านักบวชหญิงตามฉบับธอธคือแนวคิดเบื้องหลังการกำเนิดของสรรพสิ่ง หญิงพรหมจรรย์ก็อาจเป็นสิ่งอื่นๆ ได้มากกว่าภรรยาในอนาคต
ในยุคหลัง ไพ่หัวหน้านักบวชหญิงในหลายสำรับกลับมาใช้ชื่อพระสันตะปาปาหญิงอีกครั้ง เพื่อสื่อถึงบทบาทของผู้หญิงในศาสนาคริสต์ยุคโบราณที่หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ สำรับของ บาร์บารา จี. วอล์กเกอร์ (Barbara G. Walker) เรียกไพ่ใบนี้ว่าพระสันตะปาปาหญิงเหมือนฉบับวิสกอนติ สฟอร์ซา อีกทั้งนักบวชในภาพยังสวมมงกุฎสามชั้นเหมือนพระสันตะปาปาอีกด้วย
ส่วนไพ่ทาโรต์ฉบับนักบุญ (Tarot of the Saints) ของ โรเบิร์ต เอ็ม. เพลซ (Robert M. Place) เลือกใช้ภาพนักบุญแมรี แมกดาเลน (Mary Magdalene) สาวกหญิงผู้ติดตามพระเยซู และเป็นสาวกคนแรกที่ได้เห็นพระเยซูฟื้นคืนชีพ
ชาวคริสต์นิกายไญยนิยม (Gnosticism) ผู้เชื่อว่าโลกวัตถุเป็นโลกอันชั่วร้ายนั้น มองว่าแมรี แมกดาเลน มีหนทางลับสู่ความรู้เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า พระเยซูเรียกเธอว่า “หญิงผู้รู้ทุกสิ่ง” (Woman who knew all) และถือเป็นพระสันตะปาปาคนแรกที่พระเยซูแต่งตั้ง ไม่ใช่นักบุญปีเตอร์ โดยคัมภีร์พิสติส โซเฟีย (Pistis Sophia) ของชาวคริสต์นิกายนี้เล่าเหตุการณ์ที่แมรี แมกดาเลน กลัวปีเตอร์ เพราะปีเตอร์เกลียดผู้หญิงเอาไว้ด้วย
ถ้าคุณได้ดูภาพยนตร์สั้นโฆษณาเสื้อผ้าของดิออร์ (Dior) ประจำฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูร้อน ปี 2021 คุณจะเห็นภาพพระสันตะปาปาหญิงยื่นกุญแจให้ตัวเอกของภาพยนตร์ ซึ่งอาจมองได้ว่าการยื่นกุญแจของพระสันตะปาปาหญิงถือเป็นการท้าทายนักบุญปีเตอร์ ผู้เชื่อกันว่าเป็นผู้ถือกุญแจสวรรค์
ไพ่ทาโรต์ของเรา (Our Tarot) ของ ซาราห์ ชิปแมน (Sarah Shipman) เป็นสำรับที่เล่าประวัติศาสตร์ของสตรีทั่วโลก ได้เลือกคุณแม่ฮิลเดอการ์ดแห่งบิงเงน (Hildegard of Bingen) เจ้าอาวาสสำนักชีนิกายเบเนดิกต์ (Benedictine) ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 มานำเสนอไพ่หัวหน้านักบวชหญิง
คุณแม่มีนิมิตจากพระเป็นเจ้าในลักษณะของเพลิงรุ่งโรจน์ที่ไม่ได้เผาผลาญ แต่สร้างความอบอุ่น พร้อมบันดาลปัญญาและความกระจ่างแจ้ง ทำให้คุณแม่เข้าใจพระวรสาร (Gospel) และคัมภีร์อื่นๆ ในศาสนาคริสต์ นอกจากนี้ คุณแม่ยังเขียนหนังสือเทววิทยา ตำราการแพทย์ ตำราสมุนไพร แต่งกลอน และเพลงสรรเสริญพระเจ้าอีกด้วย
คุณแม่ถือเป็นนักคิดคนแรกๆ ในศาสนาคริสต์ที่เล่าถึงมุมมองและตัวตนของผู้หญิง คุณแม่เขียนถึงจุดสุดยอดทางเพศของผู้หญิงในเชิงกายวิภาคผ่านตำรา Liber Vitae Meritorum หรือหนังสือว่าด้วยข้อดีของชีวิต (The Book of Life’s Merits) หรือตีความว่าพระเป็นเจ้าเป็นทั้งหญิง ชาย และทั้งสององค์ประกอบนั้นสำคัญในการสถาปนาโลกอันสมบูรณ์ในหนังสือ Scivias หรือ รู้หนทาง (ของพระผู้เป็นเจ้า) (Know the Ways)
นอกจากศาสนาคริสต์ในยุโรปแล้ว ผู้นำหญิงของศานาอื่นก็ได้กลายเป็นภาพนำเสนอไพ่ใบนี้ เช่น ไพ่ทาโรต์ฉบับวูดูนิวออร์ลีนส์ (New Orleans Voodoo Tarot) ของ ลุยส์ มาร์ตินิเย (Louis Martinié) และ แซลลี แอนน์ กลาสแมน (Sallie Ann Glassman) นำเสนอภาพหัวหน้านักบวชหญิงด้วยภาพของ มารี เลอโว (Marie Leveau) แม่หมอผิวดำผู้มีชื่อเสียงในนิวออร์ลีนส์ฃช่วงคริสตศตวรรษที่ 19
ช่วงที่มีชีวิตอยู่ มารีเป็นช่างทำผมให้คนใช้ผิวดำในนิวออร์ลีนส์ ทำให้ได้ทราบเรื่องราวของครอบครัวคนขาวอยู่บ่อยๆ เธอจึงสามารถให้คำแนะนำแก่ลูกค้าคนขาวได้อย่างตรงประเด็น ผู้คนหลายชาติพันธุ์มักมาขอคำปรึกษาและขอเช่าของขลังจากแม่หมอมารี อีกทั้งเธอยังช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคไข้เหลือง (Yellow Fever) ระบาด รักษาทางกายด้วยการพยาบาล ดูแล ให้ยาสมุนไพร ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายตามความเชื่อ และหาทางต่อรองทางการให้ยอมรับศาสนาวูดูมากขึ้นด้วย เมื่อเธอเสียชีวิต ผู้นับถือศาสนาวูดูจึงยกให้แม่หมอมารีเป็นโลอา (Loa หรือ Lwa) หรือภูตผู้สื่อสารกับพระเป็นเจ้า มารี ลาโว จึงเป็นแม่หมอตามศาสนาวูดู
ไพ่หัวหน้านักบวชหญิงมักชวนให้เราคิดถึงประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ ประสบการณ์ในศาสนา ความเชื่อ สิ่งเหนือธรรมชาติ การนั่งสมาธิหรือฝึกจิตใจของเราในศาสนสถาน หรือหากไม่มองไพ่ใบนี้ในกรอบศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ไพ่หัวหน้านักบวชก็ชวนให้เราขบคิดถึงการทำงานของจิตไร้สำนึก เช่น การสังหรณ์ใจ สัญชาตญาณ และความรู้สึกรวมๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่อาจระบุได้ชัดเจนเมื่อพบเจอสิ่งกระทบ เช่น บรรยากาศ ภาพวาด เพลง ฯลฯ
ไพ่หัวหน้านักบวชหญิงจึงทำหน้าที่แทนสิ่งที่เราอาจรู้สึกได้ แต่อธิบายด้วยภาษาไม่ได้ และเน้นย้ำขอบเขตของมนุษย์ทุกคนว่าเราไม่สามารถอธิบายหรือควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างได้ทันที คำอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลในหลายๆ กรณีมักมาทีหลัง อีกทั้งไพ่ใบนี้ยังเป็นตัวแทนของความรู้ เปรียบดั่งเจ้าของห้องสมุดขนาดใหญ่ที่บรรจุพระวจนะของพระเจ้าหรือความจริงแท้ของโลกใบนี้ แต่เราทำได้มากที่สุดเพียงแค่รับรู้ว่ามีความจริงอื่นที่เราไม่มีทางรู้ได้ เพราะไพ่ใบนี้กำลังบอกเราว่า บางครั้งเราอาจต้องเดาอย่างไร้หลักการหรือคลำทางในความมืดบ้าง
เมื่อคุณเสพงานศิลปะใดๆ ไม่ว่าจะเป็นกวีนิพนธ์ นวนิยาย ภาพยนตร์ หรือภาพวาด แล้วพบว่าคุณไม่อาจหาหลักเหตุผลโดยทั่วไปมาอธิบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ คุณอาจต้องเดาและคลำทางไปในความมืด ณ ชั่วขณะแห่งความงุนงง คำอธิบายเงียบหายไปชั่วครู่ แล้ว ณ ตอนนั้นเอง เรื่องเล่าต่างๆ ที่ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดจะทำให้คุณพบเจอกับความเป็นไปได้ของสิ่งอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือความคิดของคุณ และทำให้คุณได้พบเจอกับบางสิ่งผุดพรายขึ้นมาจากก้นบึ้งของจิตใจ สิ่งที่คุณอาจซ่อนเร้นไว้ ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
บางครั้งการเสพเรื่องเล่าอาจเหมือนพิธีกรรมลึกลับในวิหารสลัว ซึ่งคุณไม่อาจตัดสินสิ่งใดได้ถนัดนัก เมื่อคุณจะพร้อมเปิดใจให้แก่เรื่องราวใหม่ๆ ที่ให้เหตุผลไม่ได้ หัวหน้านักบวชหญิงจะปรากฏขึ้นมาชั่วครู่ ณ เวลานี้เอง
เงียบก่อนค่ะ
คุณได้ยินอะไรคะ