TOKYO RE(AD)VENGERS
หนังสือแปลและวรรณกรรมที่อยากแนะนำให้วัยรุ่นโตมันอ่านกัน (ซะบ้าง)
เรื่อง: A. Piriyapokanon
ภาพ: ms.midsummer
บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อเรื่องบางส่วน
ประกาศโรงเรียนมัธยมต้นโอมิโซ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขตชิบุย่า จังหวัดโตเกียว
เรื่อง มอบหมายหนังสืออ่านนอกเวลาให้กับนักเรียน
สิ่งที่แนบมาด้วย 1. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2. รายชื่อนักเรียนและหนังสือนอกเวลาที่เหมาะสม
สืบเนื่องจาก Tokyo Revengers (โตเกียว รีเวนเจอร์ส) ผลงานมังงะโชเน็นของ ‘เคน วาคุอิ’ (Ken Wakui) ทำยอดขายได้กว่า 65 ล้านเล่มทั่วโลก และได้รับการดัดแปลงเป็นอนิเมะยอดชมถล่มทลายจนทางค่ายประกาศสร้างซีซั่น 2 เป็นที่เรียบร้อย ทางโรงเรียนได้รับแจ้งว่าจะมีการนำภาพยนตร์ฉบับคนแสดงมาฉายผ่านบริการสตรีมมิงเน็ตฟลิกซ์ในวันที่ 1 กันยายน เป็นต้นไป จึงเห็นสมควรประกาศเกียรติคุณของนักเรียน ด้วยการขึ้นป้ายผ้าใบที่หน้าทางเข้าประตูใหญ่ ตั้งแต่วันนี้จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์ปะทะระหว่างชมรมโตเกียว มันจิไค และชมรมบารุฮาระ วัลฮาล่า ในวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ทางโรงเรียนได้รับแจ้งจากกรมตำรวจนครบาลโตเกียวถึงพฤติกรรมต้องสงสัยและการกระทำผิดกฎหมายซ้ำซากของนักเรียน คณะกรรมการฯ จึงได้ดำเนินการคัดเลือกหนังสืออ่านนอกเวลาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษา ที่มีความเหมาะสมกับความประพฤติของนักเรียนแต่ละคน
โรงเรียนจึงขอแจ้งมายังนักเรียนเพื่อทราบและพิจารณาอ่านหนังสือดังกล่าว เพื่อขัดเกลาความคิดและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ อนึ่ง รายชื่อหนังสืออ่านนอกเวลาที่แนบมาเป็นหนังสือที่ทางโรงเรียนเป็นฝ่ายจัดหาให้นักเรียนโดยไม่ต้องซื้อและโปรดมารับหนังสือดังกล่าวที่ห้องสมุดในวันเปิดภาคเรียน
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
หมายเหตุ: ห้องสมุดมีการตรวจอาวุธก่อนเข้าใช้บริการ
จากหนุ่มพนักงานร้านเช่าดีวีดีขี้แพ้สู่การเป็นนักย้อนเวลารักษาอดีตในคราบเด็กมัธยมต้น ‘ทาเคมิจิ ฮานะกาคิ’ นักเลงประเภทที่ใช้ความทนไม้ทนมือของตัวเองเป็นอาวุธ ด้วยความที่ไม่เก่งทั้งเรื่องต่อยตี แถมยังดูเหมือนจะมีบ่อน้ำตาตื้นกว่าเด็กในวัยเดียวกันอยู่สักหน่อย ดังนั้นไม่ว่าจะเหตุการณ์เล็กน้อยอย่างแฟนสาวให้ของขวัญไปจนถึงการโดนนักเลงรุ่นพี่ซัดจนหมอบ ทาเคมิจิจึงแสดงออกด้วยการร้องไห้อยู่เรื่อยไป โรงเรียนจึงเห็นสมควรมอบ บันทึกน้ำตาหนึ่งลิตร ให้ทาเคมิจิได้อุ่นใจว่าการร้องไห้ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร และในโลกนี้ยังมีเพื่อนที่สู้ชีวิตไปร้องไห้ไปเหมือนเขาอีกหลายคน
ทั้งนี้ ด้วยความไม่ยอมแพ้ของทาเคมิจินี่เองที่ทำให้อดีตคนไม่เอาไหนกลายเป็นท็อปของโตมันได้ในที่สุด ทางโรงเรียนจึงคัดเลือก หอยทาก ผู้ค้นพบประโยชน์แห่งความเชื่องช้าของตน ไว้เป็นเครื่องยืนยันว่าบางครั้งคนเชื่องช้าที่ดูไม่มีประโยชน์อะไรนี่แหละ มีประโยชน์ที่สุด!
—
• บันทึกน้ำตาหนึ่งลิตร
ผู้เขียน: Aya Kito
ผู้แปล: เมธินี นุชนาคา
สำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊คส์
• หอยทาก ผู้ค้นพบประโยชน์แห่งความเชื่องช้าของตน
ผู้เขียน: Luis Sepulveda
ผู้แปล: สถาพร ทิพยศักดิ์
สำนักพิมพ์ผีเสื้อสเปน
“จงสร้างยุคสมัยขึ้นมา ไมค์กี้” คือคำที่เพื่อนกลุ่มก่อตั้งทั้งห้าคนบอกกับ ‘มันจิโร่ ซาโนะ’ ในวันสถาปนาแก๊งโตเกียว มันจิไคที่หน้าศาลเจ้ามุซาชิ ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปเพียงแค่ชั่วหนึ่งซีซั่น เงามืดในนามของความแค้นก็กัดกินวัยเยาว์ของเจ้าตัวจนบิดเบี้ยว ไมค์กี้ที่เคยสดใสกลายเป็นคนที่พร้อมจะลงมือฆ่าได้โดยไม่รู้สึกรู้สา ดังนั้น โรงเรียนจึงขอยก วัยเยาว์อันสิ้นสูญ ไว้ให้ไมค์กี้ได้อ่านเพื่อคอยย้ำเตือนใจถึงความโหดร้ายที่หลบซ่อนอยู่ในตัวมนุษย์
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะในอนิเมะหรือมังงะตอนปัจจุบัน ต่อให้ทาเคมิจิจะย้อนเวลากลับมาแก้ไขอดีตสักกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ก็ยังไม่มีหนทางไหนที่ไมค์กี้ในวัยผู้ใหญ่จะมีความสุขได้อย่างแท้จริงเสียที โรงเรียนจึงมีมติมอบ ซึ่งมิอาจปลอบประโลม วรรณกรรมเกี่ยวกับการจมดิ่งในความทุกข์จากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักให้อีกหนึ่งเรื่อง ทั้งนี้ โรงเรียนขอแนะนำไมค์กี้ว่าอย่าดำเนินรอยตามตัวละครในหนังสือเป็นอันขาด
—
• วัยเยาว์อันสิ้นสูญ
ผู้เขียน: William Golding
ผู้แปล: ต้องตา สุธรรมรังสี
สำนักพิมพ์ Lighthouse Publishing
• ซึ่งมิอาจปลอบประโลม
ผู้เขียน: Anne Godard
ผู้แปล: วัลยา วิวัฒน์ศร
สำนักพิมพ์ผีเสื้อฝรั่งเศส
ในฐานะเบอร์สองของโตมันอย่าง ‘เคน ริวงูจิ’ หรือ ‘ดราเค่น’ หน้าที่สำคัญนอกเหนือจากการดูแลความเรียบร้อยของแก๊งจึงเป็นการดูแลสวัสดิภาพของหัวหน้าอย่างไมค์กี้ให้อยู่ดีมีสุข ทั้งคอยปักธงให้ในเซ็ตอาหาร ทั้งคอยแบกขึ้นหลังตอนเผลอหลับ บริการทุกระดับประทับใจจนไมค์กี้ออกปากว่า “ดีจริงๆ ที่มีเคนจินอยู่เคียงข้าง” โรงเรียนจึงเห็นสมควรมอบ นักเรียนพี่เลี้ยงเด็ก มังงะว่าด้วยการดูแลน้องชายวัยละอ่อนให้กับดราเค่น เพื่อเป็นประโยชน์ในการรับมือกับเด็กโข่งในปกครองของตัวเอง
อย่างที่เห็นว่าการเป็นเพื่อนสนิทของนักเลงระดับเจ้าถิ่นชิบุย่านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทางโรงเรียนจึงเลือก เพื่อนคนเก่ง วรรณกรรมอิตาเลียนที่ถ่ายทอดความสัมพันธ์อันซับซ้อนของเพื่อนสนิทสองคนในสังคมแห่งความรุนแรงให้ดราเค่นได้นำไปอ่านสะท้อนชีวิตอีกหนึ่งเล่ม
—
• นักเรียนพี่เลี้ยงเด็ก
ผู้เขียน: Hari Tokeino
สำนักพิมพ์ Siam Inter Comics
• เพื่อนคนเก่ง
ผู้เขียน: Elena Ferrante
ผู้แปล: นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ
สำนักพิมพ์อ่านอิตาลี
นอกจากหัวหน้าหน่วยที่สองอย่าง ‘ทาคาชิ มิตสึยะ’ จะรับหน้าที่เป็นกาวประสานใจคอยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างคนในแก๊งแล้ว ยังเห็นได้ว่าทุกครั้งที่ทาเคมิจิทำท่าจะร่วงลงไปกองเพราะทนความสะบักสะบอมที่คู่ต่อสู่รุมประเคนให้ไม่ไหว มิตสึยะจะเป็นคนที่เข้ามารับไว้ได้ทันเวลาพอดีเสียทุกครั้ง ดังนั้นทางคณะกรรมการฯ จึงได้คัดเลือก จะเป็นผู้คอยรับไว้ ไม่ให้ใครร่วงหล่น ให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับเขาในเทอมนี้
นอกจากนี้ ด้วยความสามารถด้านการเย็บปักถักร้อยอันโดดเด่นของมิตสึยะที่ปรากฏชัดจากตำแหน่งประธานชมรมคหกรรม โรงเรียนจึงเห็นสมควรมอบ The Dressmaker นวนิยายว่าด้วยการใช้แฟชั่นชั้นสูงเป็นเครื่องมือล้างแค้นให้มิตสึยะนำกลับไปอ่านที่บ้านเพิ่มเติม ด้วยความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเขาจะเลิกแก้ปัญหาด้วยการต่อยตีแล้วหันมาเอาดีด้านการเปิดห้องเสื้ออย่างจริงจัง
—
• จะเป็นผู้คอยรับไว้ ไม่ให้ใครร่วงหล่น
ผู้เขียน: J. D. Salinger
ผู้แปล: ปราบดา หยุ่น
สำนักพิมพ์ Lighthouse Publishing
• The Dressmaker
ผู้เขียน: Rosalie Ham
สำนักพิมพ์ Serpent’s Tail
“จะซ้ำชั้นอีกไม่ได้แล้ว เดี๋ยวแม่จะร้องไห้” คือเหตุผลที่ทำให้ ‘เคย์สุเกะ บาจิ’ หัวหน้าหน่วยหนึ่งของโตเกียว มันจิไคยอมสลัดคราบนักเลงหัวไม้มาใส่แว่นตาทาเจลผมจนเรียบแปล้ แถมยังท่องหนังสือเป็นตั้งๆ จนเย็นย่ำเลยเวลาเลิกเรียน โรงเรียนจึงขอสนับสนุนการกลับตัวกลับใจครั้งนี้ด้วยการมอบ ไม่ยากถ้าอยากเรียนดี หนังสือพัฒนาตนเองแบบอ่านง่ายเบาสมองให้บาจิเพื่อเป็นของขวัญต้อนรับกลับสู่โลกแห่งการศึกษา ทั้งนี้ ทางกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นยินดีให้คำแนะนำหากนักเรียนไม่สามารถเขียนคันจิตัวโทระ (虎) ได้อย่างถูกต้อง สามารถขอคำปรึกษาเพิ่มเติมจากอาจารย์ที่ห้องหัวหน้าหมวดได้ในช่วงเวลาพักกลางวัน
อย่างไรก็ตาม ว่ากันว่ากฎข้อสำคัญของมังงะโชเน็นคือการใส่คำว่า “อาริกาโตะ” ที่จริงๆ แล้วแปลว่า “ซาโยนาระ” เข้าไป ด้วยเหตุนี้ หลังจากสิ่งที่บาจิตัดสินใจลงมือทำในช่วงท้ายศึกวัลฮาล่า ทางโรงเรียนจึงไม่มีเหตุผลอื่นใดจะชี้แจ้งมากไปกว่าขอยกให้ ความตายครั้งที่มีความหมายมากที่สุด เป็นอีกเล่มที่อยากให้บาจิได้อ่าน
—
• ไม่ยากถ้าอยากเรียนดี
ผู้เขียน: Kim Kyung-a
ผู้แปล: ธนวดี บุญล้วน
สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์
• ความตายครั้งที่มีความหมายมากที่สุด
ผู้เขียน: Rachel Joyce
ผู้แปล: ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ
สำนักพิมพ์ Piccolo
วรรณกรรมอิตาเลียนชื่อดังว่าด้วยชนชั้นแรงงานและการขโมยจักรยาน (ยนต์—ในกรณีของคาสึโทระ) อย่าง Bicycle Thieves คือเล่มที่อยากแนะนำให้เสือมือไวคนนี้ได้ศึกษา ต่อให้จะเป็นการล่าช้าเกินการณ์ไปเสียหน่อย แต่โรงเรียนของเราเชื่อมั่นเป็นอย่างสูงว่าไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการเรียนรู้
อย่างไรก็ดี หลังจากเหตุการณ์ฮาโลวีนเลือดที่ทำให้ ‘คาสึโทระ ฮาเนมิยะ’ ต้องเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อจาก ‘เด็กชาย’ เป็น ‘นักโทษชาย’ ทางโรงเรียนจึงได้ประสานฝาก บันทึกจากบ้านคนคุก ผ่านเจ้าหน้าที่เรือนจำเข้าไปให้ได้อ่านคลายเหงา ถึงแม้จำนวน 480 หน้าจะดูหนาเกินหนังสือนอกเวลาของเพื่อนคนอื่นไปมาก แต่สำหรับนักเรียนที่มีเวลาว่างในห้องขังร่วมสิบปีอย่างคาสึโทระ ทางคณะกรรมการฯ คิดเห็นว่าคงเพียงพอให้อ่านจบสัก 2-3 รอบได้ไม่ยาก
—
• Bicycle Thieves
ผู้เขียน: Luigi Bartolini
สำนักพิมพ์ White Lion Publishers
• บันทึกจากบ้านคนคุก
ผู้เขียน: Fyodor Dostoevsky
ผู้แปล: ศ. ศุภศิลป์
สำนักพิมพ์ทับหนังสือ
แม้จะทราบดีว่า ‘เท็ตตะ คิซากิ’ คงไม่มีเวลาว่างมาอ่านหนังสือมากมายนัก เนื่องจากมีภารกิจหลักเป็นการวางแผนลับสุดซับซ้อนซ่อนเล่ห์กล กระนั้น โรงเรียนก็ยังมีความประสงค์จะมอบ ยืมชื่อฆ่า นวนิยายสืบสวนสอบสวนเพื่อตามหาตัวฆาตกรที่แท้จริงให้กับนักเรียน ทั้งนี้ หวังว่าจุดประสงค์ของการอ่านจะเป็นไปเพื่อหาข้อคิดสอนใจ มิใช่การกระทำลอกเลียนแบบ
อีกเล่มหนึ่งได้แก่ ‘แว่นตากรอบทอง’ ซึ่งไม่เพียงแต่จะมีชื่อเรื่องที่คณะกรรมการฯ เห็นแล้วนึกถึงหน้าคิซากิทันทีเท่านั้น แต่มันยังบอกเล่าเรื่องราวของความเกลียดชังและหนทางการตอบโต้ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทัศนะการมองโลกของนักเรียนไม่มากก็น้อย
หมายเหตุ: โรงเรียนมัธยมต้นโอมิโซขอแจ้งให้ทราบว่าแว่นสายตาที่ถูกระเบียบ จะต้องเป็นกรอบสีสุภาพขาวหรือดำเท่านั้น
—
• ยืมชื่อฆ่า
ผู้เขียน: Shimomura Atsushi
ผู้แปล: ดนูรัตน์ ทุ่งบูรพา
สำนักพิมพ์ไดฟุกุ
• แว่นตากรอบทอง
ผู้เขียน: Giorgio Bassani
ผู้แปล: นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ
สำนักพิมพ์อ่านอิตาลี
สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความสูญเสียในวันฮาโลวีนที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า ‘จิฟุยุ มัตสึโนะ’ จะเป็นคนที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจมากที่สุด ทางแผนกงานสุขภาพจิตฝ่ายมัธยมต้นจึงลงความเห็นว่าควรมอบ ‘วันที่มาร์นีไม่อยู่’ วรรณกรรมคลาสสิกว่าด้วยมิตรภาพและแง่งามของการจากลา ให้จิฟุยุได้อ่านเพื่อเป็นเครื่องบรรเทาและประคับประคองจิตใจให้ผ่านช่วงเวลายากลำบากนี้ไปได้
• วันที่มาร์นีไม่อยู่
ผู้เขียน: Joan G. Robinson
ผู้แปล: ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ
สำนักพิมพ์เอิร์นเนส พับลิชชิ่ง
—
สำหรับ ‘อัตสึชิ เซนโด’ หรือ ‘อั๊กคุง’ โรงเรียนได้พิจารณาเลือก ห้องแต่งผมไมเต้ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของเด็กชายที่มุ่งมั่นไล่ตามความฝันด้านการเป็นช่างตัดผมอย่างไม่ลดละให้เป็นหนังสือประจำเทอมนี้ เนื่องจากเล็งเห็นถึงความพยายาม (อย่างไม่ลดละเช่นกัน) ในการบรรจงเซ็ตผม ติดกิ๊บดำ อัดสเปรย์มาเรียนทุกเช้า ชนิดที่ว่าต่อให้โดนหมัดโดนศอกแค่ไหนก็ไม่เคยเสียทรง และเพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต
• ห้องแต่งผมไมเต้
ผู้เขียน: Marie-Aude Murail
ผู้แปล: เย็นตา
สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา
—
จากที่ได้รับข้อมูลรายงานของแผนกกิจการแนะแนวว่า ‘นาโอโตะ ทาจิบานะ’ มีความฝันอยากประกอบอาชีพตำรวจ ทางโรงเรียนจึงมีความประสงค์มอบหนังสือ งานบัดซบ ให้นาโอโตะเอาไว้อ่านในยามว่าง หรือในอนาคต หากนักเรียนจะพกไปแบ่งเพื่อนตำรวจอ่านในที่ทำงานบ้าง ทางโรงเรียนจะมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง
• งานบัดซบ
ผู้เขียน: Charles Bukowski
ผู้แปล: ภู่มณี ศิริพรไพบูลย์ แปล
สำนักพิมพ์ Lighthouse Publishing