Tue 25 May 2021

TOXIC FROM BEING KIND AND GENEROUS

พิษของการอยากเป็น ‘คนดี’ ของแนนโน๊ะ และ TikTok ของ พลอย ชิดจันทร์

ภาพ: NJORVKS

บทความชิ้นนี้มีการเผยแพร่เนื้อหาของซีรีส์

     เด็กใหม่ หรือ Girl From Nowhere เปิดตัวซีซั่นแรกในปี 2018 มี 13 ตอน แต่ละตอนมีพล็อตและบทสรุปเป็นเอกเทศ (เว้น EP 6 และ EP 12 ที่แบ่งเป็นสองพาร์ต) เรื่องมีศูนย์กลางอยู่ที่ ‘แนนโน๊ะ’ (ชิชา อมาตยกุล) เด็กผู้หญิงผมหน้าม้าที่มาจากไหนไม่รู้ (Nowhere) แต่เข้าไปเป็นนักเรียนใหม่ในโรงเรียนต่างๆ ก่อนจะสร้างความปั่นป่วน โกลาหล และสยดสยองในชั้นเรียนเหล่านั้น

     ผู้ผลิตในซีซั่นแรกนำแรงบันดาลใจในการเขียนบทมาจาก โทมิเอะ (Tomie, 1987-2000) มังงะสยองขวัญแทรกตลกร้ายของ จุนจิ อิโต (Junji Ito) ซึ่งแม้ต้นฉบับจะออกมาเกือบยี่สิบปีแล้ว แต่เมื่อมันถูกเล่าผ่านซีรีส์ไทยจึงแปลกใหม่ไม่น้อย และเมื่อบวกรวมกับคาแรกเตอร์ของนักแสดงนำ พล็อตเหนือจริงซึ่งอธิบายที่มาที่ไปไม่ได้ รวมถึงโปรดักชั่นที่สะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนและความพิถีพิถัน เด็กใหม่ จึงได้รับความนิยมมากทีเดียว

     เด็กใหม่ ซีซั่น 2 เพิ่งสตรีมให้ชมเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศูนย์กลางยังอยู่ที่แนนโน๊ะ แตกต่างก็ตรงภาคนี้ผู้จัดจงใจนำสถานการณ์ที่เคยเป็น Talk of the town ในสังคมเราเกือบทั้งหมดมาใส่ไว้ในบท จำลองมันขึ้นใหม่ให้อยู่ตามโรงเรียนที่แนนโน๊ะเข้าไปเป็นเด็กใหม่ ซึ่งสถานการณ์ก็มาพร้อมกับกระแสความคิดเห็นและอารมณ์ของผู้คนในสังคม แต่งตั้งแนนโน๊ะเป็นศาลเตี้ยพิพากษาคนผิดในเหตุการณ์ต่างๆ พร้อมมอบบทเรียนอย่างสมน้ำสมเนื้อ

     EP 1 Pregnant พูดถึง ‘นะนาย’ ลูกคนรวยที่มักทำเพื่อนสาวในโรงเรียนท้องโดยไม่รับผิดชอบ ที่ซึ่งแนะโน๊ะมอบบทเรียนด้วยการให้เขาตั้งครรภ์เสียเอง 

     EP 2 True Love ยั่วล้อความคร่ำครึในทัศนคติทางเพศของเหล่าครูในโรงเรียนหญิงล้วน เพื่อให้แนนโน๊ะเข้าไปแทรกแซงและทำลายลง 

     EP 3 Minnie and the Four Bodies ว่าด้วยการลงโทษ ‘มินนี่’ ลูกคนรวยที่เมาและขับรถไปชนเพื่อนนักเรียนตาย ก่อนที่พ่อของเธอจะใช้เงินและเส้นสายทำให้รอดคดีมาได้ 

     หรือ EP 5 Sotus ที่พูดถึงวัฒนธรรมโซตัสในการรับน้องใหม่  

     เด็กใหม่ ถือเป็นซีรีส์ที่ดูสนุก แต่ปัญหาคือมายด์เซตของเรื่อง 

     จากซีซั่นแรกที่รับแรงบันดาลใจมาจากพล็อตในมังงะ บางตอนเน้นความสะใจ บางตอนสะท้อนความแปลกพิลึก และบางตอนก็ออกแนวสั่งสอน แนนโน๊ะเดินเรื่องอย่างลื่นไหลและไม่รู้จะมาไม้ไหน แต่ซีซั่นใหม่นี้ผู้จัดกำหนดทิศทางให้แนนโน๊ะเป็น ‘ฮีโร่’ สายดาร์กอย่างเด่นชัด ฮีโร่ผู้มอบบทเรียนแก่คนผิดทางตรง พร้อมสั่งสอนคุณธรรมทางอ้อม องค์ประกอบแทบทุกอย่างในเรื่องจึงถูกสร้างไว้เพื่อบรรลุเป้าหมายเช่นนี้ ปัญหาจึงไม่ได้เกิดจากความสมจริงหรือไม่สมจริง (นั่นแทบไม่สำคัญ) แต่คือการที่ตัวละครทุกตัวแบนราบ ไม่มีสมอง และไม่มีใครฉลาดหรือมีสำนึกที่ลึกซึ้งได้เท่าแนนโน๊ะ นักแสดงหลายคนจึงไม่ต่างอะไรจากพร็อพประกอบฉาก

     ไม่ว่าจะใน EP 1 ที่ ‘เพชร’ อดีตคู่นอนของนะนาย ซึ่งเป็นคนเดียวที่ไม่ยอมทำแท้ง และเลือกอุ้มท้องไปโรงเรียน แต่การอุ้มท้องในชุดนักเรียนของเพชร แทบไม่เหลือมิติอื่นใดนอกจากการมอบบทเรียนของการเป็นผู้หญิง เหยื่อผู้ถูกกระทำ และความเป็นแม่ให้นะนายได้สำนึกในตอนจบ หรือใน EP 2 คุณครูนฤมล (เพ็ญพักตร์ ศิริกุล) ครูผู้หญิงสุดเฮี้ยบแห่งโรงเรียนทิพย์นารีวิทยาที่ซีรีส์ใส่รายละเอียดแฟลชแบ็กผูกปมในวัยเด็กว่าทำไมต้องเคร่งครัดในระเบียบของโรงเรียนขนาดนั้น ก็ทำเพื่อให้เรื่องพอมีน้ำหนักในตอนท้าย หรือใน EP 5 ที่ว่าด้วยการรับน้อง ก็ทำให้นักเรียนทุกคนที่เข้ารับน้องบ้าคลั่งในแบบที่รุ่นพี่สั่งให้ทำอะไรก็ได้กระทั่งฆ่าคน เช่นเดียวกับ EP 6 ที่นักเรียนโกรธแค้นกับการถูกคุณครูกดขี่ถึงขีดสุด จนรวมหัวกันประชาทัณฑ์เหล่าคุณครู เป็นต้น

     แม้เราอาจมองความแบนราบเป็นความจงใจของทีมเขียนบทเพื่อขับเน้นความเป็นจริงอย่างสุดโต่ง แต่นั่นก็เทียบไม่ได้กับความตั้งใจของทั้งเรื่องที่จะมอบบทเรียนทางศีลธรรมให้ผู้กระทำผิด ซึ่งมันยิ่งลักลั่นเข้าไปใหญ่ที่ว่า แม้ซีรีส์จะอุดมไปด้วยความรุนแรง เซ็กซ์ การฆาตกรรม การกลั่นแกล้ง การข่มขืน การแบล็กเมล ความเหลื่อมล้ำ และอื่นๆ แต่มายด์เซตของซีรีส์กลับยังไปได้ไม่ไกลเกินกว่าการเป็นแพลตฟอร์มสั่งสอนคนดูเรื่องจริยธรรมและกฎแห่งกรรม ราวกับมองว่าผู้ชมยังเป็นเด็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียน ที่กำลังเรียนรู้ว่าอะไรถูก-ผิด หรือที่หนักข้อกว่านั้น คือการมองผู้ชมไม่ต่างจากเหล่าชาวเน็ตที่ชอบเข้าไปคอมเมนต์ก่นด่าหรือกล่าวโทษคนร้ายในข่าวอาชญากรรมตามเพจต่างๆ เหมือนซีรีส์จะทำขึ้นมาเพื่อเอาใจคนกลุ่มนี้—คุณอยากเห็นคนเลวถูกลงโทษ? แต่กระบวนการยุติธรรมในบ้านเมืองนี้มันห่วยบรมใช่ไหม? เอ้า! มาดูตรงนี้ เราสานฝันให้คุณแล้ว 

     การเกิดขึ้นของ ‘ยูริ’ (ชัญญา แม็คคลอรี่ย์) ในช่วงกลางซีซั่น 2 พอจะสร้างความขัดแย้งใหม่ให้ตัวเรื่องได้ 

     ยูริคืออดีตนักเรียนฐานะยากจนที่เป็นเหยื่อการแบล็กเมลของเพื่อนนักเรียนที่รวยกว่า ด้วยอุบัติเหตุยูริดันไปดื่มเลือดของแนนโน๊ะเข้า ทำให้เธอมีความอมตะแบบเดียวกับแนนโน๊ะ และกลายมาเป็นผู้พิพากษาศาลเตี้ยหมายเลข 2 แต่ในขณะที่แนนโน๊ะตั้งใจพิพากษา และมอบบทเรียนให้คนเลวได้เข็ดหลาบไปจนวันตาย ยูริกลับเลือกลงโทษด้วยการฆ่า ให้ผู้กระทำผิดตายไปจริงๆ โดยคอนฟลิกต์ตรงนี้ทำงานในบทสรุปช่วงครึ่งหลังของซีซั่น ก่อนจะแย้มนัยเพื่อไปต่อในซีซั่นหน้า

     แต่นั่นล่ะ ท้ายที่สุดก็แค่นั้น เพราะถึงแม้ใน EP 4 จะมีความพยายามใช้ยูริวิพากษ์ค่านิยมสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมของคนรวยผ่านการบริจาคเงินแก่คนจน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของผู้ให้และการเป็นคนดี ซึ่งนั่นก็พอเสริมน้ำหนักของตัวละครที่เป็น มนุษย์’ ของยูริขึ้นมาบ้าง หากทั้งหมดทั้งมวล ซีรีส์ก็ยังคงเกาะกุมไปที่ผลจากการกระทำของผู้กระทำความผิด ไปจนถึงการชวนให้เราติดตามในซีซั่นต่อไปว่า เส้นทางการทวงแค้นหรือเอาคืนสังคมแบบยูริมันจะไปมีจุดจบหรือเธอจะได้รับบทเรียนตอนไหน 

     เรื่องของแนนโน๊ะและยูริ ทำให้เราคิดถึงแชนแนล TikTok ของ ‘พลอย ชิดจันทร์’ ที่กำลังได้รับความนิยม เพราะถึงแม้จะไม่เล่นหรือไม่มีแอ็กเคานต์ TikTok แต่ไม่ว่ายังไง คลิปไวรัลละครสั่งสอนคุณธรรมของพลอยก็จะผ่านหูผ่านตาในโลกโซเชียลฯ อยู่ดี

     พลอยใช้ชื่อแอ็กเคานต์ว่า ploychidjun ปัจจุบันมียอดผู้ติดตาม 2.3 ล้าน และมียอดไลก์ 30.8 ล้าน (24 พ.ค. 2564) แต่เดิมพลอยใช้ TikTok บันทึกการเต้นคัฟเวอร์หรือคลิปขำขันของตัวเองและลูกๆ กระทั่งเดือนเมษายนที่ผ่านมา เธอเริ่มเปลี่ยนคอนเทนต์เป็นละครสอนใจขนาดสั้นรูปแบบเดียวกับคลิปที่ได้รับความนิยมของคนจีน 

     พลอยเล่นบทนำ และดูเหมือนจะชวนเพื่อนๆ และลูกน้องที่บริษัทมาเข้าฉาก แสดงกันอย่างง่ายๆ ราวกับเด็กนักเรียนประถมแสดงละครนำเสนอครูหน้าชั้นเรียน

     คลิปมีตั้งแต่การสั่งสอนคนที่ไม่รู้จักต่อคิว การเตือนไม่ให้เราไว้วางใจคนแปลกหน้า การเน้นย้ำความสุขของการเป็นผู้ให้ ความกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ ไปจนถึงคลิปที่ทำต่อกันเป็นซีรีส์อย่าง ‘มิตรสหาย’ ที่พลอยปลอมตัวเป็นแม่บ้านไปงานเลี้ยงรุ่นกับเพื่อน เพื่อให้เพื่อนๆ เหยียดหยามสถานะ ก่อนจะมาเฉลยตอนจบว่าตัวเองเป็นเจ้าขององค์กรธุรกิจขนาดยักษ์ หรือตอน ‘ล้มละลาย’ ที่พลอยจัดฉากแกล้งล้มละลายและโดนทวงหนี้ เพื่อดูใจเพื่อนร่วมงานว่าจะยอมฟันฝ่าไปกับเธอในยามวิกฤตไหม

     ทุกคลิปมีลักษณะร่วมคือการหักมุมพลอยจะถูกมองด้วยสายตาเหยียดหยามหรือดูแคลนในตอนต้น ก่อนเรื่องจะมาเฉลยเอาว่าแท้จริงเธอไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะเธอเป็นไฮโซน้ำใจงามที่ต้องการลองใจ มอบบทเรียน หรืออยากช่วยเหลือคนอื่น (ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการช่วยเหลือผ่านการให้เงิน หรือเลื่อนตำแหน่งให้ลูกน้อง ตามค่านิยมของเศรษฐีหรือผู้มีอำนาจ เป็นต้น)

     แม้จะดูผิดฝาผิดตัว เมื่อเอาคลิปของพลอย ชิดจันทร์ ไปเทียบกับงานโปรดักชั่นระดับซีรีส์เน็ตฟลิกซ์อย่าง เด็กใหม่ แต่เราก็พบว่าทั้งสองเรื่องนี้กลับมีแพลตฟอร์มและความมุ่งหมายแบบเดียวกันอย่างน่าสนใจ เพราะในขณะที่ภารกิจของแนนโน๊ะคือการทำให้ผู้คนสะใจกับผลกรรมของคนชั่ว พลอย ชิดจันทร์ ก็ทำให้ผู้ชม (รวมทั้งตัวเธอเอง) ซาบซึ้งกับกรรมดีที่ได้ก่อ 

     ไม่ใช่แค่ความคล้ายในฟังก์ชั่น เพราะในขณะที่รายละเอียดของ เด็กใหม่ ทำให้ทุกตัวละครว่างเปล่า เหลือไว้เพียงเส้นทางสู่บทสรุป การแสดงแบบเพื่อนเล่นกันขำๆ แอ็กติ้งแข็งๆ คอสตูมบ้านๆ บรรยากาศที่ดูยังไงก็ช่างไม่สมจริง หรือการเอาคนจีนที่พูดไทยไม่ค่อยชัดมาเล่นเป็นคนไทยใน TikTok ของพลอย ก็เป็นเพียงรายละเอียดที่หาได้มีความสำคัญเท่ากับท้ายที่สุด คลิปตอนนี้จะสอนใจผู้ชมเรื่องอะไร

     นั่นทำให้เรานึกถึงฉากที่คล้ายเป็นไอคอนของแนนโน๊ะอย่างการหัวเราะสะใจและเสียงดังลั่นในช่วงไคลแม็กซ์ของซีรีส์ แบบเดียวกับในทุกฉากจบจากคลิป TikTok ของพลอย ชิดจันทร์ ที่เราจะเห็นพลอยเดินละจากเหตุการณ์เข้าหากล้องอย่างช้าๆ ด้วยใบหน้าผ่องใสและภาคภูมิใจ คลอไปกับเสียงเพลงจีน กลิตเตอร์ไฮไลต์เปล่งปลั่ง และวอยซ์โอเวอร์คำสอนจากพลอยเมื่อภารกิจสิ้นสุด

     อย่างไรก็ดี แม้เราไม่ได้มีปัญหาอะไรต่อจุดมุ่งหมายในการจะสอนจริยธรรมแก่ผู้ชมของทั้งสองเรื่องที่ว่า แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าความมุ่งหมายที่จะชี้ว่าอะไรคือ ‘ความดี’ หรือ ‘ความชั่ว’ ของพลอยและแนนโน๊ะจะล้าสมัยไปแล้วหรือไม่ ในยุคที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ที่สะท้อนความลักลั่นทางศีลธรรมกลาดเกลื่อนไปหมดขนาดนี้

     เผื่อใครยังไม่เห็นภาพ—ก็เหมือนกับที่เรามีกรอบจารีตเชิดชูวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียว แต่กลับมีประมุขที่มีภรรยาทั้งเปิดเผยและปิดลับมากมาย มีอดีตนักโทษคดีค้ายาเสพติดในต่างแดน แต่กลับได้การยอมรับและยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยในสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน หรืออย่างล่าสุด ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงหลักพันล้านบาท ที่ซึ่งไม่กี่วันก่อนยังเป็นนักธุรกิจใจบุญ ผู้อุทิศตนให้ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์อยู่เลย ฯลฯ เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐพยายามแบ่งขั้วความดี-เลวในตัวประชาชนออกจากกันชัดเจน ความลักลั่นเช่นนี้จึงปรากฏชัด และอย่างไม่อาจเลี่ยง ประหนึ่งแสงอาทิตย์ที่แยงเข้ามาในดวงตา

     ถึงจุดนี้บางคนอาจจะด่าว่าผู้เขียน มึงจะอะไรมาก เขาทำให้ดูเป็นความบันเทิง ไม่ชอบก็ไม่ต้องดู แค่นั้นเลย ซึ่งนั่นก็ถูก แต่จะปฏิเสธไหมว่าลำพังแค่ เด็กใหม่ ที่ตั้งใจสะท้อนประเด็นทางสังคมในบ้านเรา ก็ทำให้อดคิดไม่ได้ถึงความเป็นจริงในประเทศไทยที่มันไปไกลกว่าสังคมในเรื่องมากแล้ว

     แต่นั่นล่ะ ก็ไม่ได้หมายความว่าทั้ง เด็กใหม่ และ TikTok ของพลอย ชิดจันทร์ ไม่สนุกหรือไม่ควรดู กลับกันเลย ทั้งสองมีเสน่ห์ดึงดูดเฉพาะตัวที่น่าสนใจ และไม่น่าแปลกใจอะไร ที่ เด็กใหม่ จะขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ของเน็ตฟลิกซ์ทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน หรือคลิปของพลอยจะมียอดวิวอย่างน้อยๆ ก็สองล้านต่อคลิป บางตอนพีกๆ มีถึงหลักสิบล้าน! ซึ่งแน่นอนในจำนวนนั้นย่อมมีทั้งคนที่ดูเพราะสนุก เพราะรัก หรือเพราะเกลียด (แต่ก็ดูจนจบ)

     และใช่, งานที่เจ๋งเป็นเช่นนี้ 

     เพราะนอกจากจะทำให้คนดูได้ขบคิดไปกับมัน หรือต่อให้คุณไม่ชอบ แต่คุณก็ดันใคร่รู้และติดตาม เหมือนแฟนคลับลับๆ ที่ตามอ่านสเตตัสหรือเข้าไปดูอัลบั้มรูป (เสือก) ของคนที่คุณเกลียดได้อยู่เรื่อยๆ โดยไม่รู้สึกเบื่อนั่นแหละ