Wed 03 Feb 2021

ANTI-SLAVERY NOVEL

‘การค้าทาสคือคำสาป’ กับเรื่องราวของหนังสือที่มีส่วนต่อการเลิกทาสในสหรัฐฯ

ภาพ: ms.midsummer

บทความชิ้นนี้มีการเผยแพร่เนื้อหาของหนังสือ

     หากพูดถึงคำว่า ‘ทาส’ และสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ หลายคนคงนึกถึงชายวัยกลางคนที่มีใบหน้าอยู่บนเทือกเขารัชมอร์อย่าง อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐฯ ผู้เซ็นกฎหมายเลิกทาสในปี 1862 และทำให้คนผิวดำในสหรัฐฯ ลืมตาอ้าปากขึ้นได้บ้างเช่นในปัจจุบัน

     แต่นอกจากลินคอล์นแล้ว ยังมีสตรีนางหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังสงครามเลิกทาส สตรีผู้นั้นคือ แฮเรียต บีเชอร์ สโตว์ (Harriet Beecher Stowe) นักเขียนผู้เคร่งศาสนาคริสต์ และเดียดฉันท์การค้าทาส จนประพันธ์นวนิยายชั้นเลิศ ซึ่งตีแผ่ความโหดร้ายของชีวิตคนผิวดำผู้ตกเป็นทาสออกมาสู่สายตานักอ่านทั่วโลก

     ครั้งหนึ่ง สุภาพบุรุษและสตรีคู่นี้เคยพบกัน เป็นลินคอล์นที่เดินเข้าไปหาสโตว์อย่างสุภาพ ก่อนถอดหมวกทรงสูง โค้งคารวะ และเอ่ยถ้อยคำทักทาย “นี่เองหรือ สตรีร่างเล็กผู้อยู่เบื้องหลังมหาสงคราม” (So this is the little lady who made this big war.) 

     ลินคอล์นพูดเช่นนั้น ก็เพราะเป็นหนังสือของสโตว์นี่เองที่เขย่าและท้าทายแนวคิดการค้าทาสของชาวสหรัฐฯ ก่อนปูทางสู่สงครามกลางเมืองและการเลิกทาสในอีกสิบปีต่อมา 

     หนังสือเล่มนั้นมีนามว่า กระท่อมน้อยของลุงทอม (Uncle Tom’s Cabin)

1
นักเขียนหญิงผู้เปี่ยมศรัทธา

     แฮเรียต บีเชอร์ สโตว์ เกิดเมื่อปี 1811 ในรัฐคอนเนกติกัต (Connecticut) ประเทสหรัฐฯ เธอเป็นลูกคนที่หกจากทั้งหมดสิบเอ็ดคนของครอบครัวคริสเตียนเคร่งศาสนา พ่อเป็นนักเทศน์คนสำคัญของเมือง ส่วนแม่ก็เป็นสตรีเคร่งศาสนาเช่นกัน แต่น่าเศร้าที่แม่ต้องจากไปเมื่อสโตว์อายุได้เพียง 5 ขวบเท่านั้น 

     อย่างไรก็ดี การเติบโตภายใต้อิทธิพลของคริสต์ศาสนาทำให้สโตว์สนใจเทววิทยา และเชื่อว่าการค้าทาสเป็นเรื่องเลวร้ายอย่างสุดหัวใจตั้งแต่เด็ก

     ปี 1823 เธอกับครอบครัวย้ายตามพ่อที่ได้ตำแหน่งในสถานศึกษาด้านเทววิทยาแห่งหนึ่งไปอยู่ในเมืองซินซินนาติ (Cincinnati) รัฐโอไฮโอ (Ohio) เมืองชายแดนที่ติดกับรัฐตอนใต้อย่างเคนตักกี (Kentucky) ซึ่งการค้าทาสยังคงเป็นเรื่องปกติธรรมดา เช่นเดียวกับความพยายามหลบหนีจากนายทาสที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไป

     ห้วงเวลาที่อยู่ในซินซินนาติทำให้เธอได้สัมผัสกับชีวิตของทาสหลายคน รวมถึงได้เป็นประจักษ์พยานในปฏิบัติการ ‘รถไฟใต้ดิน’ (The Underground Railroad) ปฏิบัติการหลบหนีจากรัฐทางตอนใต้ของทาสผิวดำ เพื่อมุ่งสู่รัฐทางตอนเหนือ ข้ามพรมแดนสู่แคนาดา เพื่อละทิ้งอดีตอันขมขื่น ซึ่งว่ากันว่าปฏิบัติการดังกล่าวในช่วงระหว่างปี 1830-1860 มีทาสในรัฐโอไฮโอได้รับความช่วยเหลือสู่อิสรภาพไม่น้อยกว่า 40,000 คน

     จนเมื่อกฎหมายห้ามช่วยทาสหลบหนี (Fugitive Slave Acts) ถูกตราขึ้นในปี 1850 นั่นเอง พี่สะใภ้ของสโตว์จึงกระตุ้นให้เธอเขียนนิยายเพื่อสะท้อนความเลวร้ายของการค้าทาส เพราะตระหนักถึงฝีไม้ลายมือในการเขียนของน้องสะใภ้ตั้งแต่ครั้งที่เธอเขียนบทความกับเรื่องสั้นลงในหนังสือพิมพ์และนิตยสารท้องถิ่น โดยเฉพาะ The Coral Ring เรื่องสั้นที่ถูกตีพิมพ์ในปี 1843 ซึ่งสะท้อนทัศนะต่อการค้าทาสของเธอได้เป็นอย่างดี 

     ความรังเกียจระบบทาส ความเลื่อมใสในคริสต์ศาสนา และแรงผลักดันของครอบครัว ทำให้ระหว่างปี 1851-1852 สโตว์ส่งต้นฉบับนวนิยายกว่า 44 บทไปลงในหนังสือพิมพ์ต่อต้านการค้าทาสอย่าง The National Era ก่อนที่มันจะถูกตีพิมพ์เป็นรูปเล่มในปี 1852 และกลายเป็นนิยายติดบ้านของชาวสหรัฐฯ และหนังสืออ่านนอกเวลามาถึงปัจจุบัน 

2
กระท่อมน้อยของลุงทอม

     สโตว์ใช้ฝีมือการประพันธ์ รวมถึงมุมมองจากการเป็นผู้ศรัทธาต่อศาสนาคริสต์และผู้ต่อต้านการค้าทาส สะท้อนชีวิตทาสอันสิ้นหวังผ่านฉากและบทสนทนาของตัวละครใน กระท่อมน้อยของลุงทอม 

     เธอทำให้ผู้อ่านเห็นความย้อนแย้งระหว่างคำสอนในศาสนาคริสต์กับการดำรงอยู่ของทาสตลอดทั้งเรื่อง เช่นบทสนทนาที่มิสซิสและมิสเตอร์เชลบี้ สองสามีภรรยานายทาสคนแรกของลุงทอม กล่าวถึงการค้าทาสในตอนต้นเรื่อง ว่า

     “การค้าทาสมันเป็นคำสาปของพระเจ้า!… มันเป็นทั้งคำสาปต่อนายทาสและตัวทาสเอง! ฉันมันโง่เองที่คิดว่าจะมีสิ่งที่ดีหลงเหลืออยู่บ้างในความเลวร้ายนี้ กฎหมายที่บัญญัติให้มีทาสมันไม่ใช่อื่นใดนอกจากบาป ฉันรู้มาตลอด ตระหนักตั้งแต่ยังเด็ก และคิดมากขึ้นทุกครั้งที่ฉันเข้าโบสถ์…”

     ถ้าหากพูดถึงตัวละครซึ่งสะท้อนภาพชีวิตที่ไร้อิสรภาพและถูกกดขี่ได้ดีที่สุด คงไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจาก ลุงทอม ทาสผิวดำและตัวละครเอกของเรื่องผู้เปี่ยมศรัทธาในไบเบิล โดยเฉพาะฉากในช่วงต้นของเรื่องและฉากสุดท้ายที่สะท้อนภาพดังกล่าวได้ดีนัก 

     ในช่วงต้นเรื่อง หลังจากที่ตระกูลเชลบี้ไม่สามารถแบกรับปัญหาหนี้สินและตัดสินใจขายลุงทอมให้กับพ่อค้าทาสนามว่า มิสเตอร์ฮาเลย์ ลุงทอมก็ได้มีโอกาสช่วยชีวิตเด็กหญิงผิวขาวนาม อีวา จากการจมน้ำในแม่น้ำมิสซิสซิปปี ทำให้ ออกัสติน เซนต์ แคลร์ ตัดสินใจซื้อลุงทอมจากมิสเตอร์ฮาเลย์ และพาเขาไปอยู่กับครอบครัวใหม่ในนิวออลีนส์ 

     อย่างไรก็ตาม สองปีต่อมา อีวาก็จากไปด้วยโรคร้าย ส่วนเซนต์ แคลร์ก็เสียชีวิตจากคมมีดในคาเฟ่ ลุงทอมจึงถูกขายต่ออีกครั้ง ครั้งนี้เขาตกไปอยู่ในมือของ ไซมอน ลีกรี นายทาสใจเหี้ยม ผู้เฆี่ยนลุงทอมอย่างบ้าคลั่งจนเสียชีวิตในที่สุด

     หากมองในมุมหนึ่ง ลุงทอมเป็นตัวละครที่ฉายภาพของทาสผิวดำผู้ไม่คิดจะดิ้นรนสู่อิสรภาพทั้งที่มีโอกาส (เอลิซ่า ทาสในเรือนของตระกูลเชลบี้เช่นเดียวกับทอม เคยชวนเขาหลบหนีมาแล้วตั้งแต่ต้นเรื่อง) และปล่อยให้ชีวิตตัวเองถูกพัดพาไปตามแต่คนอื่นกำหนด 

     แต่ในอีกมุมหนึ่ง ขณะที่ลุงทอมได้ช่วยชีวิตคนผิวขาว (อีวา) เขากลับถูกคนผิวขาว (ลีกรี) ฆ่าอย่างเหี้ยมโหดในตอนท้าย เป็นการสะท้อนภาพกลับไปหาผู้อ่านถึงความโหดร้ายของนายทาสผิวขาวและความเมตตาของทาสผิวดำได้เช่นกัน

     นอกจากนี้ ก่อนที่เรื่องจะดำเนินไปถึงความตายของลุงทอม มีฉากหนึ่งที่ลีกรีสั่งให้ทาสผิวดำสองคนของเขาเฆี่ยนลุงทอมด้วยแส้ เพราะเขาไม่ยอมทำตามคำสั่งของลีกรี แต่ลุงทอมก็ยังสะท้อนความศรัทธาในคริสต์ศาสนาเรื่องการให้อภัยกับศัตรูผ่านคำพูดที่ว่า 

     “ฉันยินดีที่จะทนทุกข์ทรมานทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าฉันสามารถจะนำท่านมาหาพระคริสต์ได้” แล้วลุงทอมก็อธิษฐานว่า “ข้าแต่พระบิดาเจ้า โปรดประทานจิตวิญญาณสองดวงนี้ให้ข้าพเจ้า”

     นอกจากสะท้อนชีวิตของทาสแล้ว สโตว์ยังใช้ตัวละครนาม มิสซิสเบิร์ด ภรรยาของสมาชิกวุฒิสภา จอห์น เบิร์ด ซึ่งมีส่วนร่วมในการผ่านกฎหมายห้ามช่วยทาสหลบหนี สะท้อนความคิดของเธอต่อกฎหมายห้ามช่วยเหลือทาสหลบหนีที่เพิ่งถูกประกาศออกมาก่อนหนังสือของเธอจะตีพิมพ์ได้ไม่นานว่า

     “จริงหรือคะที่เขาพูดกัน มีกฎหมายออกใหม่ห้ามไม่ให้พวกเราให้อาหารและน้ำท่าแก่พวกนิโกรที่เดินผ่านบ้านเรา? (…) ไม่น่าเชื่อว่าผู้ที่เป็นคริสเตียนจะออกกฎหมายเช่นนี้ (…) เป็นกฎหมายที่ชั่วร้ายสมควรจะยกเลิกเสีย ถ้ามีโอกาสละก็ ฉันคนหนึ่งล่ะที่ขอยกเลิก ร้ายกาจแท้ๆ!…” 

     นอกจากประโยคดังกล่าวแล้ว สองตัวละครนี้ก็น่าสนใจมาก เพราะสุดท้ายแล้วครอบครัวเบิร์ดก็กลับมามีส่วนช่วยให้เอลิซ่า จอร์จ และลูกน้อย หลบหนีจากนักล่าที่พ่อค้าทาสอย่างฮาเลย์จ้าง จนมาสู่แคนาดาได้สำเร็จ 

     สโตว์ยังใช้ตัวละครอีกหลายตัวในการกระตุ้นมโนสำนึกของผู้อ่านต่อการค้าทาส อย่างเซนต์ แคลร์เองก็เป็นตัวแทนของนายทาสผิวขาว ผู้วิจารณ์ระบบค้าทาสอย่างตรงไปตรงมา แต่หาได้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งใดไม่ แคสสี ทาสเลือดผสมผู้กัดฟันและเลือกที่จะจบชีวิตลูกน้อย เพราะไม่อยากให้เติบโตมามีชีวิตเช่นเดียวกับตน หรือตัวละครอย่างจอร์จและเอลิซ่า ก็เป็นตัวแทนของทาสที่ดิ้นรนเพื่ออิสรภาพ ไม่ยอมถูกกดขี่ จนหลบหนีสู่แคนาดาได้สำเร็จ

     “ยังหรอก ท่านยังจับเราไม่ได้! เรายืนอยู่ที่นี่ภายใต้ท้องฟ้าของพระเจ้า เรายืนอยู่อย่างอิสระเช่นเดียวกับท่าน และในนามของพระเจ้าผู้ทรงอานุภาพอันยิ่งใหญ่ เราจะขอสู้เพื่ออิสรภาพจนกว่าจะหมดลมหายใจ” จอร์จกล่าวขณะถูกกลุ่มพ่อค้าทาสไล่ตาม

3
ความป๊อปที่ขยับสังคมสหรัฐฯ

     อาจด้วยจังหวะเวลาและความพอดี หนังสือของสโตว์วางจำหน่ายหลังมีการประกาศใช้กฎหมายห้ามช่วยทาสหลบหนี กระท่อมน้อยของลุงทอม จึงเป็นดั่งกระบอกเสียงแทนใจและความรู้สึกของผู้ต่อต้านการค้าทาสในเวลานั้น จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วสหรัฐฯ 

     บันทึกจากหลายแหล่งกล่าวไว้ตรงกันว่า นับตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ กระท่อมน้อยของลุงทอม ถูกรวมเล่มและออกจำหน่ายในสหรัฐฯ มันถูกขายไปกว่า 10,000 เล่ม และมากกว่า 300,000 เล่มในปีแรก โดยยังว่ากันอีกว่า ตลอดศตวรรษที่ 19 หนังสือเล่มนี้มียอดขายเป็นรองแค่ คัมภีร์ไบเบิล เท่านั้น

     ความนิยมของ กระท่อมน้อยของลุงทอม ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในสหรัฐฯ เพราะยอดจำหน่ายในประเทศอังกฤษก็สูงถึง 1.5 ล้านเล่ม จนมีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งเมื่อสโตว์เดินทางไปเยือนอังกฤษตามคำเชิญของกลุ่มต่อต้านการค้าทาส เธอได้รับม้วนกระดาษขนาด 26 หน้า ที่ภายในบรรจุลายเซ็นของสตรีอังกฤษมากกว่า 563,000 คน ซึ่งเรียกร้องให้ผู้หญิงในสหรัฐฯ ออกมาแสดงตัวว่าต่อต้านแนวคิดการค้าทาส 

     ไม่เพียงเท่านั้น เรื่องราวใน กระท่อมน้อยของลุงทอม ยังถูกแปลงเป็นละครเวที และถูกนำมาแสดงนับครั้งไม่ถ้วนทั้งในโรงละครแห่งชาตินิวยอร์กหรือพิพิธภัณฑ์ประจำกรุงบอสตัน และแม้บทละครหลายเรื่องจะดัดแปลงเสียจนน้ำเสียงจากต้นฉบับของสโตว์ห่างหายไปอยู่มากโข ชนิดที่ว่าจากนวนิยายดราม่าเข้มข้นกลายเป็นคอเมดี้ตลกขำกลิ้ง แต่คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า กระท่อมน้อยของลุงทอม กลายเป็นวัฒนธรรมป๊อปที่แพร่หลายไปทั่วสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดกฎหมายเลิกทาสในปี 1862 หรือราวๆ สิบปีหลังจากตีพิมพ์

     เหมือนที่ เอ็ดวิน พี. วิปเพิล (Edwin P. Whipple) นักเขียนและนักวิจารณ์ชาวอเมริกันเขียนถึง กระท่อมน้อยของลุงทอม ไว้ในนิตยสาร Harper’s New Monthly Magazine เมื่อปี 1876 ว่า 

     “การตีพิมพ์ ‘กระท่อมน้อยของลุงทอม’ ในปี 1852 นับว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง เป็นหนึ่งในตัวแปรที่สร้างฐานอำนาจของพรรครีพับลิกัน และทำให้อับราฮัม ลินคอล์น ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี รวมถึงยังได้ปลุกแนวร่วมอันแข็งขันที่ลุกขึ้นทำสงครามศักดิ์สิทธิ์กับการค้าทาส”

4
แต่การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด

     ถึงแม้การค้าทาสจะหมดไปจากสหรัฐฯ ตั้งแต่ลินคอล์นออกกฎหมายเลิกทาสในปี 1862 แต่การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของคนผิวดำยังเป็นประเด็นในสังคมต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เพียงแต่แนวร่วมที่ยืนข้างพี่น้องผิวดำนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ 

     ปีที่ผ่านมา เราเห็นผู้คนจากทั่วโลกร่วมเดินขบวนสนับสนุนแคมเปญ Black Lives Matter บนท้องถนน เราเห็นรูปพื้นหลังสีดำถูกโพสต์มากมายในโลกออนไลน์ เพื่อยืนยันถึงจุดยืนสนับสนุนแคมเปญดังกล่าว

     เราเห็นมวลชนในสหรัฐฯ โยนรูปปั้นของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ลงสู่ผืนน้ำ เพราะในขณะที่เขาเป็นผู้บุกเบิกเส้นทางเดินเรือสู่ทวีปอเมริกา เขาก็คือฆาตกรใจเหี้ยมสำหรับชนเผ่าพื้นเมือง และยังเป็นผู้ริเริ่มการค้าทาสในสหรัฐฯ เช่นกัน 

     เราเห็นรูปปั้นของ นายพล โรเบิร์ต อี. ลี (Robert E. Lee) ผู้บัญชาการคนสำคัญของรัฐทางใต้ในยุคสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ ถูกยกออกจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

     เราเห็นรูปปั้นของพ่อค้าทาสที่เคยถูกยกย่องจากการบริจาคเงินจำนวนมากเพื่อการกุศลอย่าง เอ็ดเวิร์ด โคลสตัน (Edward Colston) กลิ้งหลุนๆ ไปบนพื้นถนนเมืองบริสตอลในอังกฤษ และอีกหลายบุคคลที่เคยถูกจัดอยู่ในระดับปูชนียบุคคลถูกตั้งคำถามจากคลื่นลูกใหม่

     ล่าสุดเราได้เห็นรองประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของสหรัฐฯ อย่าง คามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris) และภาพที่งดงามเกินบรรยายเมื่อ อแมนดา กอร์แมน (Amanda Gorman) ขึ้นไปอ่านบทกวีอันจับใจให้ทั่วโลกฟัง ภายในงานสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีคนใหม่ พร้อมป่าวประกาศถึงความฝันที่จะเป็นประธานาธิบดีในอนาคต ผ่านการอธิบายตัวตนอย่างชวนคิดว่า เธอคือ “ผู้สืบสายเลือดจากทาส” 

     ไม่ว่าเรื่องทั้งหมดนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป เราคงต้องจดจำเอาไว้ว่าหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ไฟลามทุ่งมาจนถึงทุกวันนี้ ก็เป็นผลมาจากเทียนเล่มน้อยๆ ของแฮเรียต บีเชอร์ สโตว์ ที่ชื่อว่า กระท่อมน้อยของลุงทอม ด้วย

Fact Box

• แฮเรียต บีเชอร์ สโตว์ เสียชีวิตในวันที่ 1 กรกฎาคม 1896 ด้วยวัย 85 ปี เธอฝากผลงานหนังสือไว้กว่าสามสิบเล่ม และบทความอีกนับไม่ถ้วน งานเขียนที่น่าสนใจของเธอนอกจากนี้ ได้แก่ The American Woman’s Home, The Coral Ring และ Lady Byron Vindicated

• กระท่อมน้อยของลุงทอม ถูกแปลเป็นภาษาไทยโดย อ.สนิทวงศ์ สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำ

• ใครสนใจเรื่องราวของเธอเพิ่มเติม เข้าไปตามอ่านได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิบีเชอร์ที่ harrietbeecherstowecenter.org/

อ้างอิง:

quod.lib.umich.edu/j/jala/2629860.0030.104

pioneer.chula.ac.th/~tanongna/history/documents/3_tom.htm

britannica.com/topic/Uncle-Toms-Cabin

gupea.ub.gu.se/bitstream/2077/37155/1/gupea_2077_37155_1.pdf

thaipost.net/main/detail/76593

• harrietbeecherstowecenter.org/