Fri 23 Oct 2020

FIND YOUR LEMON

ที่มาที่ไปของ ‘เลมอน’ รวมถึงนัยทาง ‘การเมือง’ และ ‘การประท้วง’ ที่ซุกซ่อนอยู่ในหน้าปกอัลบั้มชุดแรกของวง THE STONE ROSES

ภาพ: NJORVKS

ARTIST: THE STONE ROSES
ALBUM: THE STONE ROSES (1989)

     เวลาฟังเพลงของวงดนตรีร็อกจากเกาะอังกฤษอย่าง The Stone Roses ผมมักนึกถึงเลมอน

     ใช่ครับ มะนาวเปลือกเหลืองที่เคยผ่านตาพวกเราไปมานั่นแหละ

     ว่าแต่ทำไมการฟังเพลงของวงวงหนึ่งถึงทำให้คิดถึงเลมอนได้?

     เรื่องมันมีอยู่ว่า หน้าปกอัลบั้มแรกของพวกเขาซึ่งใช้ชื่อเดียวกับชื่อวงนั้น มีเลมอนกระจายตัวอยู่ถึงสามจุด โดยหนึ่งในนั้นถูกนำไปใช้แทนตัว O ที่สองของชื่อวงด้วย

     แรกเริ่มเดิมที ผมคิดว่าเลมอนที่เห็นบนหน้าปกนี้ คงเป็นเพียงองค์ประกอบที่ใส่เข้ามาให้มันดูงงๆ จะได้เข้ากับความอาร์ตๆ ของเส้นสีที่ดูยุ่งเหยิง แต่ก็คงไม่มีงานออกแบบใดที่ไร้ความหมาย เพราะหลังจากปล่อยให้แฟนเพลงดื่มด่ำกับบทเพลงในอัลบั้มชุดดังกล่าว และมีแฟนคลับ (รวมถึงทางวงเอง) นำเลมอนบนหน้าปกไปดัดแปลงทำเสื้อผ้า โปสเตอร์ และอื่นๆ จนหนำใจ เอียน บราวน์ (Ian Brown) ผู้เป็นนักร้อง และ จอห์น สไควร์ (John Squire) ผู้บรรเลงกีตาร์ ก็ได้เผยที่มาของหน้าปกอัลบั้ม

MAY 68

     ก่อนอื่นเลย ผมขอพาผู้อ่านเดินทางไปฝรั่งเศสในปี 1968

     ปีนั้นประเทศฝรั่งเศสเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ เริ่มจากนักศึกษาไม่พอใจระบบการศึกษาของประเทศ ไปสู่การปิดมหาวิทยาลัยเพื่อแสดงจุดยืน กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการปะทะขึ้น

     โล่ แก๊สน้ำตา และการฉีดน้ำ คือเครื่องไม้เครื่องมือที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ปะทะกับนักศึกษาที่บางครั้งก็ได้แต่เขวี้ยงปาก้อนหินเข้าใส่ การจราจลลุกลามไปถึงบนท้องถนน มีเปลวไฟเผาไหม้ข้าวของ รถยนต์ถูกใช้เป็นที่กำบัง ผู้คนบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย นักศึกษาถูกจับ แต่สถานการณ์ก็ยังไม่คลี่คลาย เหล่ากรรมาชีพตัดสินใจหยุดงาน เพื่อแสดงอุดมการณ์และยืนยันจุดยืน 

     ผลกระทบลุกลามเป็นวงกว้าง ไม่มีรถยนต์ใดได้น้ำมันมาหล่อเลี้ยง ไม่มีรถไฟสายไหนได้ออกวิ่ง ประเทศแทบจะนิ่งสนิท เพราะผู้คนเป็นล้านๆ พากันออกมาส่งเสียงของตัวเองบนท้องถนน

     เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ ฌอร์จ ปงปีดู (Georges Pompidou) นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นต้องปฏิรูปการศึกษา ปรับปรุงนโยบายค่าแรง รวมถึง ชาร์ลส์ เดอ โกล (Charles de Gaulle) ประธานาธิบดีประกาศให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่

     ผู้อ่านอาจสงสัยว่าเรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับ The Stone Roses ยังไง ก็ต้องบอกว่าเรื่องราวที่ผมเพิ่งได้เล่าไปนั้น คือเหตุการณ์ที่มีชื่อเรียกว่า ‘ปฏิวัติพฤษภา 1968 (May 1968)’ เหตุการณ์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับ The Stone Roses ในวัยแรกเริ่ม

BYE BYE BAD MAN

     The Stone Roses ในช่วงวัยนั้นเป็นวงดนตรีที่เต็มไปด้วยพลังของวัยรุ่น อุดมไปด้วยมุมมองของผู้คนที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ และแสดงความเห็นทางสังคมการเมือง ดังจะเห็นได้จากเพลงที่มีความยาวไม่ถึงนาทีอย่าง Elizabeth My Dear ที่หากดูเนื้อเพลง (“I’ll not rest, till she’s lost her throne, My aim is true, My message is clear, It’s curtains for you, Elizabeth, my dear”) ก็จะเห็นว่ามีเจตนาโจมตีไปยังราชินีเอลิซาเบ็ธของอังกฤษโดยชัดเจน 

     นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงรัฐบาลในเพลง (Song For My) Sugar Spun Sister (“Every member of parliament trips on glue”) หรืออย่างเพลง She Bangs The Drums ที่มาพร้อมเนื้อเพลง “The past was yours but the future’s mine” ก็เป็นเพลงที่แสดงให้เห็นความมุ่งมั่น หรือการไขว่คว้าหาชีวิตที่ดีกว่าของผู้คนในยุคสมัยนั้น จึงไม่แปลกใจที่เมื่อบราวน์และสไควร์เห็นภาพเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่ขว้างปาก้อนหินใส่ตำรวจ การจราจลระหว่างผู้ประท้วงและผู้ปราบปรามที่ถูกฉายผ่านสารคดีครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ปฏิวัติพฤษภา 1968 พวกเขาจะได้แรงบันดาลใจหลายต่อหลายอย่าง

     หนึ่งในนั้นคือเพลง Bye Bye Bad Man ที่บราวน์จินตนาการว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ฝรั่งเศสน่าจะตะโกนใส่ผู้ที่มีอาวุธครบมือว่า “Choke me, smoke the air, in this citrus-sucking sunshine I don’t care” นอกจากนี้ ยังมีการสวมวิญญาณของนักต่อต้าน ถ่ายทอดความกล้าของผู้ชุมนุมที่ต่อสู้จน ‘Bad Man’ ต้องแพ้พ่ายผ่านท่อนฮุกที่ว่า

          “Here he comes 

          Got no questions, got no love

          I’m throwing stones at you man

          I want you black and blue and I’m gonna make you bleed 

          Gonna bring you down to your knees 

          Bye bye badman,

          Bye bye”

     อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ปฏิวัติพฤษภา 1968 ไม่ได้เป็นแรงบันดาลใจให้แค่เสียงเพลง เพราะในขณะเดียวกันก็ยังเป็นไอเดียให้สไควร์ลงมือทำผลงานศิลปะ ที่คุณก็สามารถหาดูได้ง่ายๆ เพียงแค่เปิดดูหน้าปกอัลบั้มแรกของ The Stone Roses

     การสาดสีที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นการคารวะผลงานของ แจ็กสัน พอลล็อก (Jackson Pollock) ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่, มะนาวที่ถูกจัดวางอยู่ในชื่อเพลง และปื้นสีสามสี—แดง ขาว น้ำเงิน ที่หากคุณเอียงคอไปทางด้านซ้าย ก็จะเห็นว่ามันคือธงชาติฝรั่งเศสชัดๆ นี่คือผลงานที่สไควร์ได้สรรค์สร้างขึ้นมา และเขาก็มอบชื่อให้กับมันว่า Bye Bye Bad Man เช่นกัน

     ว่าแต่เลมอนอยู่ตรงไหนในเรื่องเล่านี้?

     ใจเย็นๆ จิบน้ำเลมอนกันก่อน เพราะเรากำลังจะพาคุณกลับไปฝรั่งเศสอีกครั้ง

     บราวน์เล่าว่าขณะผจญภัยอยู่ในดินแดนเมืองน้ำหอม เขาพบเจอชายชาวฝรั่งเศสวัย 65 ผู้พกเลมอนไว้กับตัวตลอดเวลา

     อาจเพราะสีเหลืองของเลมอนที่เตะตาบราวน์เข้าอย่างจัง เขาถึงได้มีโอกาสสนทนากับชายชาวฝรั่งเศสคนดังกล่าว จนเกิดแรงบันดาลใจและทำให้ The Stone Roses กลายเป็นวงที่มีเลมอนเป็นสัญลักษณ์ในเวลาต่อมา

     ชายคนนั้นเล่าให้ฟังว่า เขาอยู่ในเหตุการณ์ปฏิวัติพฤษภา 1968 และเลมอนเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทำให้เขาเอาตัวรอดจากเหตุการณ์นั้นได้ เพราะท่ามกลางการปราบจราจลที่มีการใช้อาวุธอย่างแก๊สน้ำตา เหล่าผู้ชุมนุมในช่วงเวลาดังกล่าว—รวมถึงชายวัย 68 คนนี้ เลือกใช้วิธีการกัดหรือบีบเลมอนเข้าปาก ไม่ก็บีบเลมอนลงกับผ้า เพื่อใช้ป้องกันไม่ให้แก๊สน้ำตาทำอะไรเขาได้ และแม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะผ่านไปนานหลายสิบปี ในวันที่บราวน์ได้พบกับชายวัย 68 เขาก็ยังพกเลมอนติดตัวไว้ตลอดเวลา ด้วยเขาเป็นกังวลว่ารัฐบาลฝรั่งเศสจะกลับมาเล่นแง่เหมือนในเวลานั้นอีกครั้ง ซึ่งหากมีการชุมนุมเกิดขึ้นจริงๆ เขาคนนี้แหละจะกำเลมอนแล้วทะยานไปอยู่แนวหน้า ต่อสู้กับหน่วยปราบปราม ต่อสู้กับรัฐบาล โดยไม่หวั่นกลัวเลยว่าจะต้องเสียน้ำตาให้กับแก๊สหรือเปล่า

YOUNG & WILD

     เหตุการณ์ปฏิวัติพฤษภา 1968 เป็นเหมือนไฟในคบเพลิงที่ถูกส่งต่อถึงกัน เพราะหลังจากประชาชนฝรั่งเศสกดดันรัฐบาลและประธานาธิบดีถึงขั้นให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ เหตุการณ์นี้ก็ไม่ใช่แค่หมุดหมายที่เปลี่ยนสังคม การเมือง และวัฒนธรรมของฝรั่งเศสเพียงอย่างเดียว การส่งเสียงของพวกเขากลายเป็นหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนที่มีความรู้สึกอัดอั้น อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง บ้างอาจจะลงไปเดินบนถนน หรือบ้างอาจจะลงมือสร้างสิ่งต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก เหมือนกับ The Stone Roses ที่ทำเพลงเพราะเห็นสารคดีเหตุการณ์นี้ และเลือกใช้เลมอนมาสร้างงานศิลปะ เพราะยกย่องในเรื่องเล่าของผู้คนที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว

     เมื่อนำเรื่องราวทั้งหมดมาประกอบกับบทเพลงในอัลบั้มที่เต็มไปด้วยพลังของวัยรุ่น เวลาฟังเพลง The Stone Roses ผมจึงมักนึกถึงเลมอน

     ยิ่งกับเวลานี้ด้วยแล้ว เลมอนเป็นสิ่งที่ผมมักคิดถึงบ่อยๆ ก่อนเดินทางออกจากบ้าน

     แม้จะมีแพทย์ออกมาเตือนว่าเลมอนไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการจากการโดนแก๊สน้ำตา ใช้น้ำเปล่ายังจะดีเสียกว่า แต่เรื่องราวความมุ่งมั่นของคนที่พกเลมอนไปร่วมชุมนุม และบทเพลงที่ปลุกเร้าให้คิดถึงอนาคต—ทั้งของผมและผู้อื่น ก็ทำให้ผมคลายความสงสัยว่าทำไมชายคนนั้นถึงยังพกเลมอนไปทุกที่ และพร้อมที่จะเข้าลุยทุกเวลา

     เพราะในวันนี้ เวลานี้ ผมก็พอจะเข้าใจแล้วว่า เขาพกพามันไปด้วยความรู้สึกใด

     ต่อให้เลมอนจะช่วยเราจากแก๊สน้ำตาไม่ได้ แต่การมี ‘เลมอน’ ก็อาจทำให้เราอุ่นใจ พร้อมวิ่งไปอยู่แนวหน้า แล้วส่งเสียง แสดงพลัง และต่อสู้ เพื่ออนาคตที่รออยู่อย่างสุดตัว

     หาเลมอนของคุณให้เจอ

     ไม่ว่ามันจะเป็นเพียงมะนาวเปลือกเหลือง บทเพลงของวงดนตรี หรืออุดมการณ์ใดๆ ก็ตาม

อ้างอิง

Radio X. (2020). This is why The Stone Roses used a lemon as a logo.

Tom Howard. (2019). Unpicking the brilliance of The Stone Roses’ classic debut album, 30 years since its glorious release.

Alissa J. Rubin. (2018.) May 1968: A Month of Revolution Pushed France Into the Modern World.

Andrew Feenberg. The May Events.