Thu 16 Mar 2023

UNIVERSAL LANGUAGE

ความรู้การเงินคือภาษาสากล

ภาพ: NJORVKS

     หากพูดถึงสุดยอดหนังในดวงใจ ผมขอพนันว่า The Shawshank Redemption ต้องมีติดอยู่ในโผของใครหลายคนอย่างแน่นอน

     The Shawshank Redemption เป็นผลงานภาพยนตร์ที่กำกับโดย แฟรงก์ ดาราบอนต์ (Frank Darabont) แสดงนำโดย ทิม ร็อบบินส์ (Tim Robbins) และ มอร์แกน ฟรีแมน (Morgan Freeman) ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 7 สาขาในปี 1995 แต่ก็ต้องผิดหวังไม่ได้รับรางวัลใดเลย เพราะดันฉายชนกับ Forrest Gump ที่กวาดรางวัลในปีนั้นไป

     ความพิเศษของเรื่องนี้คือ บทภาพยนตร์ดัดแปลงมาจาก Rita Hayworth and Shawshank Redemption นวนิยายขนาดสั้นของ สตีเวน คิง (Stephen King) หากใครเป็นแฟนคลับป๋าคิงก็คงพอรู้ว่า นาน ๆ ทีป๋าจะเขียนเรื่องแบบนี้ออกมา เรื่องที่ไม่ใช่ทั้งผี สยองขวัญ หรือผิดธรรมชาติ นวนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้จึงกลายเป็นอีกผลงานเอกที่ถูกพูดถึงตลอดกาล

     หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องของ แอนดี ดูเฟรนส์ นายธนาคารหนุ่มที่ถูกจับในข้อหาฆาตกรรมภรรยาและชายชู้ แอนดีมั่นใจว่าเขาไม่ใช่คนทำ แต่หลักฐานทั้งหมดชี้มาที่เขา และสุดท้ายเขาต้องกลายเป็นนักโทษจำคุกตลอดชีวิตในเรือนจำชอว์แชงก์

     ผมนั่งดูหนังเรื่องนี้เพราะเพื่อนหลอก (ฮา) ความจริงผมไม่ชอบดูหนังที่ตัวละครเอกมีภารกิจที่ผิดกฎหมายเท่าไหร่ และสิ่งที่แอนดีเลือกทำก็ดูไม่ใกล้เคียงกับคำว่าถูกต้องนัก แต่ป๋าคิงก็ผูกปมของตัวละครหลักออกมาได้อย่างน่าสนใจ จนเมื่อดูๆ ไปจึงได้เข้าใจความบิดเบี้ยวของชีวิต สุดท้ายผมก็เลือกอยู่ฝั่งเดียวกับเขาในที่สุด

     เส้นเรื่องของแอนดี ดูเฟรนส์ เข้มข้นขึ้นก็ตอนที่เขาใช้ความรู้ด้านการเงินจากตอนทำงานธนาคารเข้าไปช่วยผู้คุมเรือนจำหนีภาษี นั่นทำให้ผมรู้สึกรักหนังเรื่องนี้ขึ้นมาอีกขั้น 

     การเงินไม่ใช่เรื่องไกลตัวผม และภาพยนตร์ก็กำลังบอกเล่าว่าเรื่องเงินเป็นสิ่งสากล

     แม้แต่ชีวิตในคุก ความรู้ด้านการเงินก็ยังมีประโยชน์อย่างไม่น่าเชื่อ

     หันกลับมามองสังคมปัจจุบัน ผมคิดว่าเรื่องที่ดูเป็นสากลมากที่สุดในโลกเรื่องหนึ่งคือเรื่องเงิน 

     ไม่ว่าคุณจะมีรสนิยมแบบไหน ใช้ชีวิตอยู่ประเทศใด สีผิว ศาสนา หรือเพศอะไร การเงินก็เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องคิด ต้องหา ต้องกิน และต้องใช้อยู่ดี

     ในมุมมองของนักลงทุนแล้ว ‘การเงิน’ จึงเป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจเสมอ

     ธุรกิจที่ครองสัดส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมคือ ‘ธนาคารพาณิชย์’ โดยธุรกิจหลักของธนาคารคือการระดมเงินฝากจากประชาชน จากนั้นก็นำเงินที่ได้ไปปล่อยกู้ให้กับผู้ขาดแคลนเงินทุน และธนาคารก็กินส่วนแบ่งจากส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้

     ทว่า หากอ่านลึกเข้าไปในธุรกิจธนาคารแล้วจะพบว่า สัดส่วนรายได้ของธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมกำลังลดลงเรื่อยๆ แต่สัดส่วนธุรกิจรายได้ที่ขยายขนาดมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นสัดส่วนสำคัญคือ ‘รายได้จากการเป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน’ เช่น รายได้จากนายหน้าประกันภัย รายได้จากนายหน้ากองทุนรวมต่างหาก

     ยิ่งคนมีรายได้มากขึ้น หาเงินได้มากขึ้น คนก็ยิ่งวางแผนการเงินมากขึ้น

     ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการเงินจึงกลายเป็นธุรกิจด้านบริการที่เติบโตดีและกลายเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างอุตสาหกรรมประกันภัยกับอุตสาหกรรมการลงทุนของประเทศไทยก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มของธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ก็ย่อมโตตาม

     โลกกำลังหมุนสู่ภาคบริการสมัยใหม่

     อุตสาหกรรมบริการของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) โลกในปี 2562 คิดเป็นสัดส่วน 64.3% เทียบกับสัดส่วน 60.4% ในปี 2551 โดยแนวโน้มของประเทศพัฒนาแล้วจะมีสัดส่วนภาคธุรกิจบริการสูงกว่าค่าเฉลี่ย อย่างประเทศสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนภาคบริการสูงประมาณ 75% ของ GDP

     อย่างสัดส่วนภาคบริการของไทยก็เติบโตจาก 50.4% ในปี 2551 กลายมาเป็น 58.3% ในปี 2563 และสัดส่วนนี้ก็มีแนวโน้มขยายตัวไปเรื่อยๆ ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจอีกด้วย—อาจเรียกได้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจล้อไปกับการเติบโตของภาคบริการ 

     เมื่อเจาะลึกลงไปในภาคบริการจะพบว่า ส่วนที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจมากคือส่วนของ Modern Service ที่ยังกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจการเงินและโทรคมนาคมเป็นหลัก 

     การเติบโตของภาคการเงินถือว่าเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจมากของการลงทุน

     หากย้อนดูพฤติกรรมผู้บริโภคของไทยแล้ว จะพบว่าคนไทยปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีการเงินได้ไวมาก ยกตัวอย่างเช่น การโอนเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ปัจจุบันเราสามารถออกนอกบ้านโดยไม่พกเงินสดได้แล้ว หากเทียบกับเทคโนโลยีด้านอื่นอย่างเช่นการแพทย์ เรายังเห็นภาพการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัด หรือการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ทางไกลได้ไม่ชัดเท่าการพัฒนาของเทคโนโลยีด้านการเงิน

     ธุรกิจที่ปรึกษาการเงินจึงกลายเป็นธุรกิจที่ได้รับแรงส่งจากทั้งโครงสร้างระดับเล็ก (พฤติกรรมผู้บริโภค) และโครงสร้างระดับใหญ่ (การเปลี่ยนแปลงของเทรนด์โลก) จึงเป็นโอกาสที่ดีที่นักลงทุนจะกระโดดเข้ามาหากำไรจากการเปลี่ยนแปลงนี้เมื่อมองภาพระยะยาว

     เราอาจมองไปถึงหุ้นธุรกิจการเงินที่ได้รับประโยชน์ กองทุนรวมที่ถือครองหุ้นเกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งการขยับเข้ามาทำธุรกิจนี้เสียเอง เช่น ทำอาชีพที่ปรึกษาการเงิน เพราะมองว่าธุรกิจนี้จะไปได้ไกลในอนาคต หรืออาจจะศึกษาเรื่องการเงินเพิ่ม 

     เพราะการเงินเป็นเรื่องสากล ยังไงความรู้นี้ก็คงได้ใช้ประโยชน์แน่นอนในวันข้างหน้า

     มันอาจนำมาซึ่งผลประโยชน์มากมายมหาศาล เราอาจได้เงินมากมายจากตลาดหุ้น มีรายได้พิเศษจากเงินปันผลของกองทุนรวม หรือไม่เราก็อาจได้รับ ‘อิสรภาพ’ เหมือนกับแอนดี ดูเฟรนส์