Mon 13 Dec 2021

USL LECTURE SERIES 2021

ชอร์ตโน้ตสรุปประเด็นน่าสนใจในงานเสวนา USL Lecture Series 2021

ภาพ: NJORVKS

     หลังจาก ‘Urban Studies Lab’ (USL) ศูนย์วิจัยอิสระด้านการศึกษาเมือง มาจูงมือเราออกจากบ้านแบบทิพย์ๆ ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งพาไปเดินทอดน่อง สอดส่ายสายตา และทำความรู้จักความเป็นเมืองแบบไทยๆ ในกิจกรรมเสวนาออนไลน์ USL Lecture Series 2021 ที่ชวนผู้คนแวดวงต่างๆ มาร่วมเสนอมุมมองที่มีต่อเมืองในธีม ‘Investigating Thai Urbanism’ อยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่ครั้งแรกแรกที่พาไปสำรวจชุมชนและการใช้ชีวิตของคนไทยในเมือง ต่อด้วยคาบเรียนที่สองว่าด้วยพื้นที่สาธารณะและการจัดการ ก่อนจะส่งท้ายด้วยการคุยถึงไอเดียการพัฒนาเมืองเวอร์ชั่นคนรุ่นใหม่เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน

     ถึงตรงนี้ ใครที่พลาดเข้าห้องเลกเชอร์ไม่ทัน โปรดสบายใจได้ เพราะอาจารย์และวิทยากรรับเชิญอาชีพต่างๆ นั้นไม่ได้เช็กชื่อคนขาด อีกทั้งไม่ต้องกลัวว่าจะพลาดเนื้อหาตลอดกิจกรรมเสวนาออนไลน์ทั้งสามด้วย เพราะในเมื่อ ‘เมือง’ เป็นเรื่องของทุกคน เราที่เข้าทุกคลาสไม่ขออุบไว้คนเดียวเป็นแน่ พร้อมกับทำชอร์ตโน้ตสรุปประเด็นน่าสนใจในงานเสวนามาให้ด้วย ถ้าพร้อมแล้วก็ ปะ เริ่มเลย

1. พื้นที่สาธารณะแบบไทยๆ หน้าตาประมาณไหน และจะใจดีกับเราไหม

     ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าพักหลังเรื่องพื้นที่สาธารณะถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยครั้ง แน่นอนนี่ก็เป็นสิ่งที่ชาว USL สนใจหยิบมาเป็นประเด็นตลอดกิจกรรมด้วย ซึ่งถ้าถามว่าพื้นที่สาธารณะแบบไทยๆ เป็นประมาณไหน ก็ขอสรุปไว้ประมาณนี้แล้วกัน 

     หนึ่ง พื้นที่สาธารณะของไทยเป็นศูนย์รวมการเกิดธุรกิจขนาดเล็ก เช่น ร้านค้าริมทาง แผงลอยตามฟุตพาท ที่แม้อาจดูผิดกฎระเบียบบ้านเมืองไปสักหน่อย แต่ก็สมเหตุสมผลที่จะต้องมีการจัดการที่ดีตามมา เพราะคนตัวเล็กเหล่านี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และช่วยเพิ่มความหลากลายในเมืองได้

     สอง พื้นที่สาธารณะของไทยหาใช่แบบตะวันตกไม่ หลายคนคงตัดพ้อทุกครั้งหลังเห็นภาพพื้นที่สาธารณะในต่างประเทศ แต่การจะพัฒนาพื้นที่สาธารณะในไทยให้เป็นเช่นเขา โดยนำรูปแบบแนวทางฝั่งตะวันตกมาใช้ตรงๆ อาจไม่ตอบโจทย์ ไม่เป๊ะและปังตาม เพราะต้องดูบริบทของบ้านเราตั้งแต่การอยู่อาศัย ผู้คน การใช้ชีวิต ชุมชน สภาพแวดล้อม สภาพอากาศ ตลอดจนการวางผังเมืองควบคู่ รวมถึงหาจุดร่วมในการแก้ไขและออกแบบให้เป็นไปตามความเป็นเมืองของตัวเองด้วย

     สาม พื้นที่สาธารณะไทยมีน้อย… เป็นประโยคบอกเล่าที่พวกเรารู้กัน เมื่อหลายพื้นที่ในเมืองกลายเป็นตึกสูง ชุมชน หรือพื้นที่สาธารณะถูกรื้อกลายเป็นสถานที่อื่นๆ ที่มองว่าจะเป็นสิ่งฉายภาพความเติบโตของเมือง ซึ่งจริงๆ อาจต้องรื้อภาพจำเดิมลงสักนิด เพราะเมืองเติบโตไม่ได้แปลว่าต้องมีตึกสูงโอ่อ่ามากมาย หรือมีพื้นที่สาธารณะสดใหม่ที่ไม่ตอบโจทย์เสมอไป แต่เป็นการคงพื้นที่ชุมชน คงวิถีชีวิตความหลากหลาย ออกแบบพื้นที่สาธารณะที่ใช่ และผู้คนสามารถใช้งานสิ่งต่างๆ ได้ต่างหากที่สำคัญกว่า

     สี่ ที่ใดมีอินเทอร์เน็ต ที่นั่นมีพื้นที่สาธารณะ เมื่อโลกยิงเทคโนโลยีล้ำๆ ใส่ผู้คนในเมือง ทำให้มีอินเทอร์เน็ตใช้สอยอำนวยความสะดวก จนวิถีชีวิตผู้คนค่อยๆ เปลี่ยนตาม ไม่ว่าจะแชต จะเล่น จะทำงานก็ครบจบเมื่อมีอินเทอร์เน็ตอยู่ในมือ นั่นจึงทำให้หลายพื้นที่ที่มีอินเทอร์เน็ตบริการอาจกลายมาเป็นตัวสร้างพื้นที่สาธารณะได้โดยปริยาย    

2. พื้นที่สาธารณะ = คน และ เมือง = การใช้ชีวิต

     เมืองขาดคนฉันใด เมืองก็ขาดการใช้พื้นที่ฉันนั้น เพราะผู้คนและวิถีชีวิตถือเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาเมืองและพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเราอาจสงสัยว่า อ้าว คนตัวเล็กๆ หน่วยย่อยหนึ่งหน่วยในเมืองอันกว้างใหญ่นี้จะยิ่งใหญ่สำคัญขนาดนั้นได้อย่างไร มานี่เลย เราจะเล่าให้ฟังเอง 

     นอกจากร้านค้าแผงลอยริมถนนที่เราบอกว่าขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างความหลากหลายให้เมืองได้แล้ว การใช้ชีวิตพื้นฐานของผู้คน ตั้งแต่ตื่นนอน ซื้อข้าว แวะตัดผม จ่ายตลาด ซ่อมรองเท้า เรียนแต่งหน้า นั่งสมาธิ ดำน้ำ ดูปะการัง ทำอาหาร นวดสปา ปลูกป่า… และอีกหลายกิจกรรม ล้วนเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนเมืองไปข้างหน้า ทำให้ชุมชนมีชีวิต เมืองมีสีสัน และกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำเมืองและพื้นที่นั้นๆ ซึ่งการใช้ชีวิตของพวกเราก็ต้องมาพร้อมกับการออกแบบเมืองที่เอื้อและมีพื้นที่สาธารณะให้ใช้สอยได้คล่อง โดยผู้คนไม่ถูกจำกัดการเข้าใช้งานด้วย

     แต่เพราะโลกที่หมุนไวจนอาจทำให้ย่านหรือพื้นที่ใดที่คงความเป็นเมืองในแบบฉบับของตัวเองไว้เริ่มเลือนหายไปตามเวลา ทั้งสถาปัตยกรรม ร้านค้า ไปจนถึงวิถีชุมชน จึงต้องมีกิจกรรมหรือการสร้างไลฟสไตล์เชื่อมโยงผู้คนรุ่นใหม่เข้ากับพื้นที่เหล่านี้ เพื่อเข้ามาร่วมผลักดันและช่วยคงเรื่องเล่า บรรยากาศ ความเป็นเมืองเอาไว้ต่อไป

3. เมืองดีๆ ที่ลงตัวจะเป็นฝันที่กล้าฝันได้หรือเปล่า

     แม้ทาง USL จะหยิบยกเรื่องเมืองมาพูดคุยในกิจกรรมได้เพียงไม่กี่เรื่อง แต่ก็ทำให้เราเห็นภาพว่าการเดินทางสู่เมืองในฝัน หลักๆ แล้วต้องเจออุปสรรคใดบ้าง และเราจะปรับตัวระหว่างทางได้ยังไง

     เริ่มตั้งแต่การแก้ปัญหาเมืองของไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่มักเป็นแบบ one size fits all การเลือกใช้วิธีการแก้ไขปัญหาแบบเดียวกับทุกอย่างทุกพื้นที่ โดยไม่อิงจากบริบทอื่นๆ ซึ่งตรงนี้เองจะนำไปสู่เรื่องถัดมาว่ารัฐและประชาชนต้องคุยกัน เพราะการวางแผน วิธีคิด แนวทางการแก้ไข หรือพัฒนาที่ดีและตอบโจทย์ต้องมาจากการสื่อสารกับผู้คนที่ใช้หรืออยู่ในพื้นที่ ซึ่งจะโทรหากริ๊งเดียวต่อสายตรงทันทีคงยากเกินไป องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับเมืองหรือสนใจผลักดันเรื่องเมืองในมิติต่างๆ จึงต้องพยายามเป็นส่วนหนึ่งประสานงานให้ทั้งสองฝั่งได้สื่อสารกันง่ายขึ้น อย่างหลายองค์กรด้านเมืองที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็มองว่าการสร้างการมีส่วนร่วมและศึกษาจากผู้ใช้งานจริงถือเป็นพื้นฐานที่ดีให้กับการออกแบบสร้างเมืองที่ตอบโจทย์ นอกจากพวกเขาจะคอยบาลานซ์การทำงานที่ต้องอิงกับรัฐและประชาชนแล้ว การมีไอเดียเจ๋งๆ ในการสร้างเมืองที่ทันยุคสมัยจะไม่สมบูรณ์แบบเลย หากขาดการสำรวจและเก็บความคิดเห็นของผู้คนไป 

     โดยการมีส่วนร่วมไม่ว่าจะรัฐ เอกชน หรือประชาชนที่อยู่ในเมืองก็ดี กลายมาเป็นเรื่องสำคัญต่อการสร้างหรือพัฒนาพื้นที่สาธารณะ การคมนาคม ตลอดจนมิติอื่นที่เชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตในเมือง นั่นเพราะการถกเถียงจากหลายแง่มุมผ่านสายตาของคนในวงการต่างๆ ไอเดียจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ฟีดแบ็กปัญหาและการใช้ชีวิตจากคนในพื้นที่ จะช่วยสร้างความเข้าใจ และทำให้แต่ละฝ่ายมีภาพของเมืองอันชัดเจนร่วมกัน 

     นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่หลายองค์กรรุ่นเก๋า กลุ่มองค์กรคนรุ่นใหม่ที่ผลักดันเรื่องเมือง หรือแม้แต่ USL เองพูดเสมอว่าทุกคนสามารถพูดถึงเมืองที่อยู่และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมืองได้ 

     การได้ทำความเข้าใจและ ‘อ่านเมือง’ ในประเด็นต่างๆ ทั้งหมดนี้จากกิจกรรมของ USL นอกจากจะชวนขบคิดต่อถึงอนาคตว่าต้องทำอย่างไรพวกเราจะถึงฝั่งฝัน ยังทำให้เห็นภาพรวมใหญ่ๆ ของถิ่นที่อยู่ ว่าเมืองกับผู้คนอาจมีความสัมพันธ์แบบเพื่อนสนิทมิตรสหาย เราอยากได้อะไรจากเมือง เมืองขาดอะไรก็ต้องส่งเสียง บอกต่อ เพื่อเกิดการซัพพอร์ตชีวิต ต่อยอดได้ตรงใจทั้งคู่ แม้เราจะรู้สึกตัวเล็กจ้อยแค่ไหน แต่เพียงแค่ก้าวเท้าออกจากบ้าน เมืองก็เป็นเรื่องของเรา 

     และใช่ เราพูดถึงเมืองได้ด้วย