Thu 30 Mar 2023

Van Gogh’s masterpieces and where to find them

สีเหลืองคือสีของพ่อ (แวน  โก๊ะ)

     วันที่ 30 มีนาคมของทุกปีเป็นวันคล้ายวันเกิดของจิตรกรเอกยุคโพสต์-อิมเพรสชันนิสม์ชาวดัตช์ อย่าง ‘วินเซนต์ แวน โก๊ะ’ (Vincent van Gogh) โดยปี 2023 นี้มีความพิเศษตรงที่เขาจะอายุครบ 170 ปีพอดี

     คอลัมน์ Data Journalread ในตอนนี้จึงขอมอบของขวัญสุดพิเศษร่วมฉลองวันเกิดของพ่อแวน โก๊ะ พาไปสำรวจว่ารูปภาพที่มีชื่อเสียงของเขา ปัจจุบันกระจายไปอยู่ที่ไหนบ้าง และเมื่อให้ AI วิเคราะห์ Palette สีที่แวน โก๊ะใช้บ่อยในรูปภาพ ก็พบว่าสีเหลืองคือสีที่ใช้บ่อยที่สุด มีอยู่ในทุกรูป เราเลยจะพาไปหาคำตอบว่า สีเหลืองคือสี (โปรด) ของพ่อจริงหรือไม่

     แม้ว่าผลงานของแวน โก๊ะจะกระจายไปอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ทั่วทุกมุมโลก แต่ผลงานที่มีชื่อเสียงล้วนถูกวาดในช่วง 5 ปีสุดท้ายในประเทศฝรั่งเศส 

     บนแผนที่ประเทศฝรั่งเศสแสดงไทม์ไลน์ช่วงเวลาที่แวนโก๊ะอาศัยในเมืองต่างๆ และรูปภาพเหล่านั้นถูกวาดที่เมืองไหนบ้าง

     วิธีอ่านแผนที่:

     สัญลักษณ์—แสดงประเภทของภาพวาด หน้าคนคือรูปพอตเทรตตัวเอง (Self-portrait), ดอกไม้คือภาพวาดทานตะวัน (Sunflowers) ซึ่งเป็นดอกไม้โปรดของแวนโก๊ะ และก้อนเมฆคือภาพวาดทัศนยภาพ (Landscape)

     สี—สีที่แตกต่างกันแสดงถึงเมืองแต่ละเมืองในประเทศฝรั่งเศส เรียงลำดับตามการย้ายไปยังเมืองต่างๆ ของแวนโก๊ะ โดยสีส้มคือเมืองปารีส (Paris), สีเขียวคือเมืองอาร์ลส์ (Arles), สีน้ำเงินคือเมืองแซ็ง-เรมี-เดอ-พรอว็องส์ (Saint-Rémy-de-Provence)  และสีเขียวน้ำทะเลคือเมืองโอแวร์ซูว์รวซ (Auvers-sur-oise) ซึ่งเป็นเมืองสุดท้ายในชีวิตของศิลปินชาวดัตช์ผู้นี้

     เมื่อเอาสัญลักษณ์กับสีมาอ่านพร้อมกัน เราก็จะสามารถรู้ได้ว่ารูปภาพนั้นคือรูปอะไร และแต่ละรูปถูกวาดขึ้นที่เมืองไหน 

     ยกตัวอย่าง สัญลักษณ์หน้าคนที่มีสีส้ม หมายถึงรูปภาพพอตเทรตของตัวเองที่ถูกวาดขึ้นที่เมืองปารีส สัญลักษณ์ดอกไม้ที่มีสีเขียว หมายถึงรูปภาพดอกทานตะวันที่ถูกวาดขึ้นที่เมืองอาร์ลส์ สัญลักษณ์ก้อนเมฆที่มีสีส้ม หมายถึงรูปภาพทัศนียภาพที่ถูกวาดขึ้นที่เมืองแซ็ง-เรมี-เดอ-พรอว็องส์

     สุดท้ายนี้บนสัญลักษณ์จะมี Palette 6 สีของรูปภาพนั้นๆ ระบุอยู่บนแผนที่ เป็น Palette ที่ใช้ AI วิเคราะห์ออกมาว่ารูปภาพแต่ละรูปมีสีอะไรที่โดดเด่นที่สุด 6 สี เพื่อที่จะตอบคำถามข้อที่ 2 ว่าสีเหลืองคือสีของพ่อจริงหรือไม่

     ถ้าเข้าใจวิธีการอ่านทั้งหมดแล้ว ก็เข้าสู่เนื้อหาวันนี้กันเลย 

     ในสหรัฐอเมริกามีรูปภาพที่เป็นมาสเตอร์พีซของแวน โก๊ะทั้งหมด 3 ชิ้น โดยสองรูปแรกเป็นภาพทัศนียภาพในเมืองแซ็ง-เรมี-เดอ-พรอว็องส์ ในขณะที่เขากำลังรักษาตัวที่โรงพยาบาลจิตเวชแซ็ง-พอล (Saint-Paul) ซึ่งปัจจุบันทั้งสองภาพจัดแสดงอยู่ที่ Museum of Modern Art (MoMA) 

     ส่วนอีกหนึ่งรูปคือภาพวาดดอกทานตะวันที่ถูกวาดในบ้านเช่าที่เขาตั้งชื่อว่า บ้านสีเหลือง (The Yellow House) ที่เมืองอาร์ลส์ โดยภาพวาดดอกทานตะวันชิ้นนี้เป็นหนึ่งในคอลเลกชันดอกทานตะวันทั้ง 7 ภาพของแวน โก๊ะ 

The Starry Night (1889) / artsandculture.google.com

Wheat Field with Cypresses (1889) / artsandculture.google.com

Sunflowers (1889) / philamuseum.org

     เมื่อดูจากรูปก็จะสังเกตได้ว่าแวน โก๊ะใช้สีเหลืองโทนที่แตกต่างกันเพื่อแสดงถึงวัตถุต่างๆ 

     ในภาพ The Starry Night (1889) เขาใช้สีเหลืองโทนสว่างในการบรรยายแสงของพระจันทร์ที่มองเห็นในคืนนั้น ระบายเข้ากับสีน้ำเงินหลากหลายเฉดเพื่อแสดงบรรยากาศยามค่ำคืน ขณะเดียวกันก็ใช้สีเหลืองโทนสดใสในการระบายทุ่งข้าวสาลีใน Wheat Field with Cypresses (1889) และใช้สีเหลืองตุ่นบนภาพ Sunflower (1889)

     ปารีสคือเมืองหลวงของศิลปะที่ศิลปินทั่วโลกอยากไปเยี่ยมเยียน ช่วงปี 1886-1888 แวน โก๊ะก็ได้อาศัยอยู่ที่นครแห่งศิลปะแห่งนี้เช่นกัน ก่อนจะย้ายไปเมืองชนบททางตอนใต้ของฝรั่งเศสในเวลาต่อมา

     ปัจจุบันมีผลงานมาสเตอร์พีซของเขา 2 ชิ้นที่ยังคงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Musée d’Orsay ณ กรุงปารีส รูปแรกคือภาพพอตเทรตของตัวเองที่ถูกวาดขึ้นที่เมืองแซ็ง-เรมี-เดอ-พรอว็องส์ ชื่อว่า Self-Portrait (1889) และ Starry night over the Rhone (1888) รูปภาพบรรยากาศของทัศนียภาพของแม่น้ำโรน (Rhone) ที่ผ่านเมืองอาร์ลส์ในยามค่ำคืน

Self-Portrait (1889) / artsandculture.google.com

Starry night over the Rhone (1888) / artsandculture.google.com

Wheat Field with Cypresses (1889) / artsandculture.google.com

Sunflowers (1888) / en.wikipedia.org

     ณ National Gallery ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีการจัดแสดงภาพวาดของแวนโก๊ะ 2 ชิ้น ได้แก่ Sunflower (1889) และ Wheat Field with Cypresses (1889) (ชื่อเดียวกับชิ้นงานที่จัดแสดงในสหรัฐฯ)

     รูป Wheat Field with Cypresses (1889) ทั้ง 2 ภาพมีสิ่งเดียวที่แตกต่างและสามารถเห็นได้ชัดเจนคือ Palette ที่แวน โก๊ะใช้

     รูปภาพที่จัดแสดงที่นิวยอร์กเป็นสีที่สามารถเห็นได้บ่อยๆ บนงานของแวนโก๊ะ ส่วนรูปภาพที่ลอนดอนจะเน้นไปทางสีพาสเทลสดใส 

     ส่วนที่พิพิธภัณฑ์ Neue Pinakothek ในเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี มีรูปภาพดอกทานตะวันอยู่ 1 ภาพโดยความพิเศษของภาพดอกทานตะวันชิ้นนี้คือ พื้นหลังที่เป็นสีฟ้าสดใสเหมือนรูป Wheat Field with Cypresses ที่ลอนดอน

Self-Portrait with Grey Felt Hat (1887) / artsandculture.google.com

     กลับไปที่ประเทศบ้านเกิดของแวน โก๊ะกันบ้าง ที่ Van Gogh Museum กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีผลงานที่ยกมาในบทความนี้ 3 ภาพ วาดสิ่งที่แตกต่างกันลงบนเฟรมและรูปภาพทั้งหมดวาดขึ้นในสถานที่ที่แตกต่างกัน 

     Self-Portrait with Grey Felt Hat (1887) เป็นรูปภาพตัวเขาเองในขณะที่อาศัยอยู่ในปารีส ยังคงใช้สีเหลืองอ่อนในการระบายสี ถึงแม้ว่าเขาจะมีผิวขาวแบบชาวยุโรปไม่ใช่ผิวขาวเหลืองแบบชาวเอเชียก็ตาม ซึ่งแตกต่างจากศิลปินในยุคก่อนหน้าถึงยุคเดียวกันที่มักจะระบายสีขาวอมชมพู หรือสีครีมเวลาลงสีบริเวณหน้า 

     ผลงานชิ้นนี้เป็นรูปยุคแรกในช่วงที่เขาพยายามพัฒนาสไตล์ของตัวเองขึ้นมา โดยเทคนิคพื้นฐานของรูปภาพนี้คือการผสานจุดที่มีต้นกำเนิดมาจากลัทธิผสานจุดสี (Pointillists) และลากจุดนั้นให้ยาวมากขึ้น จากจุดก็กลายมาเป็นเส้นสั้น จากนั้นค่อยๆ ระบายสีตามที่ตาของเขามองเห็น และจะเห็น Palette สีโทนนี้—สีน้ำเงิน, สีเหลือง, สีส้ม และสีเขียวน้ำทะเล จากแวน โก๊ะบ่อยมาก รูปภาพนี้จึงมีความสำคัญต่อเส้นทางศิลปินของเขาหลังจากนี้  

Almond Blossom (1889) / artsandculture.google.com

     ภาพ Almond Blossom (1889) เป็นของขวัญแด่ ธีโอ แวน โก๊ะ (Theo van Gogh) ผู้เป็นน้องชาย เนื่องในโอกาสที่เขากำลังจะมีลูกคนแรก ทั้งสองคนเป็นพี่น้องที่รักกันมาก โดยธีโอเป็นนายหน้าค้างานศิลปะให้พี่ชายมาตลอดในขณะที่แวน โก๊ะอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ช่วงเวลาที่โดดเดี่ยวก็มีจดหมายของธีโอเป็นเหมือนเพื่อนแก้เหงาเสมอ

     การที่ธีโอกำลังจะมีครอบครัวเป็นเรื่องที่แวน โก๊ะดีใจมาก และเขายิ่งปลาบปลื้มมากกว่าเดิมเมื่อทราบว่าธีโอจะตั้งชื่อลูกชายตามชื่อของเขา โดยในรูปภาพนี้แวน โก๊ะแอบผสมสีเหลืองเข้ากับสีเขียวและสีฟ้ากลายมาเป็นสีน้ำตาลตุ่น สำหรับระบายสีกิ่งของต้นอัลมอนด์ 

Sunflowers (1889) / vangoghmuseum.nl

     รูปภาพดอกทานตะวันที่ Van gogh Museum เป็นรูปภาพสุดท้ายของเซตดอกทานตะวันทั้ง 7 ภาพของแวน โก๊ะ     

     เมื่อพูดถึงผลงานของแวน โก๊ะ ถ้าไม่พูดถึงภาพวาดชุดดอกทานตะวันทั้ง 7 ภาพก็คงเป็นไปไม่ได้ ประเทศที่ใกล้คนไทยที่สุดในการไปรับชมภาพดอกทานตะวันคือที่ Sompo Museum of Art ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 

     เหตุใดจิตรกรยุคโพสต์-อิมเพรสชันนิสม์คนนี้วาดภาพดอกทานตะวันเยอะมาก ก็เพราะเดิมทีตัวของแวน โก๊ะอยากให้ตัวเองเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินผู้เชี่ยวชาญในการวาดภาพดอกทานตะวัน ส่วนการมีรูปดอกทานตะวันซ้ำกันหลายรูปในตำแหน่งเดียวกัน ก็สืบเนื่องมาจากเขาต้องการทดลองคู่สีใหม่ๆ ในการระบายสีลงบนเฟรม 

     เดิมทีรูปภาพดอกทานตะวันมีทั้งหมด 7 ภาพ รูปแรกเป็น private collection รูปที่ 2 เคยอยู่ที่ญี่ปุ่นและถูกทำลายเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ปัจจุบันมีเพียง 5 รูปเท่านั้นที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ 

     แวน โก๊ะทดลองวาดดอกทานตะวันที่มีสีโทนเหลืองและวาดพื้นหลังเป็นสีโทนเย็น อย่างสีฟ้าและสีเขียวน้ำทะเล ใช้คู่สีโทนร้อนตัดกับเย็น ออกมาเป็นภาพดอกทานตะวันดอกรูปที่ 3 (พื้นหลังสีฟ้า) รูปภาพต้นฉบับของภาพดอกทานตะวันรูปที่ 6 (พื้นหลังสีเขียวน้ำทะเล)

     ส่วนรูปภาพที่ 4 จัดแสดงอยู่ที่กรุงลอนดอน คือต้นฉบับของรูปภาพดอกทานตะวันที่ 5 และ 7 ที่จัดแสดงที่โตเกียวและอัมสเตอร์ดัม โดยตัวเขาต้องการทดลองระบายสีด้วยโทนสีคล้ายทั้งทั้งเฟรม

     ผลงานที่คอลัมน์ Data Journalread เลือกมาให้ทุกคนทำความรู้จักกันทั้งหมด 12 งาน ทั้งภาพวาดพอตเทรตตัวเอง, ภาพวาดของทานตะวัน และภาพวาดทัศนียภาพ ที่ถูกกระจายอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก เหล่านี้เป็นผลงานเพียงส่วนหนึ่งในช่วง 5 ปีสุดท้ายในประเทศฝรั่งเศสที่แวน โก๊ะเริ่มค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบ สไตล์งานของตัวเอง และมีความสุขกับการทำงานศิลปะ 

     แน่นอนว่าตัวของแวน โก๊ะไม่มีทางทราบว่าผลงานที่วาดในเมืองทางตอนใต้ของฝรั่งเศสทั้งรูปภาพดอกทานตะวันที่วาดในบ้านสีเหลือง และรูปราตรีประดับดาวที่วาดใกล้กับโรงพยาบาลจิตเวช จะสร้างชื่อเสียงในตัวเองมากมายแค่ไหนบนโลกหลังจากที่เขาจากไปแล้ว

     ก่อนจะจากกันไปเราขอมาตอบคำถามที่ตั้งไว้ตอนต้นว่า สีเหลืองคือสีโปรดของพ่อแวน โก๊ะจริงหรือไม่ 

     คำตอบก็คื้ออออ จริง! โดยครั้งหนึ่งตัวของเขาเคยกล่าวเอาไว้ว่า “How lovely yellow is! It stands for the sun.”  (สีเหลืองช่างเป็นสีที่สวยงาม สีนี้เป็นตัวแทนของดวงอาทิตย์)

     ประโยคดังกล่าวสื่อถึงตัวตนของศิลปินได้อย่างดี ถึงแม้ว่าวินเซนต์ แวน โก๊ะจะมีชีวิตในเส้นทางการเป็นศิลปินที่น่าเศร้า แต่เขาก็มีความสุขเวลาที่ทำงานศิลปะและออกไปวาดรูปนอกบ้าน 

     ถ้าศิลปิน นักออกแบบ และนักวาดภาพประกอบมาอ่านคอลัมน์นี้ ก็อย่าพึ่งท้อกับผลงานของตัวเอง พยายามไปเรื่อยๆ มีความสุขกับการวาดรูปอย่างสม่ำเสมอ ออกไปหาแรงบันดาลใจนอกบ้าน สักวันหนึ่งต้องพัฒนาสไตล์งานของตัวเองได้เหมือนแวน โก๊ะอย่างแน่นอน

     สุขสันต์วันเกิด 170 ปี วินเซนต์ แวนโก๊ะ

     ป.ล. สำหรับคนที่สนใจการทำ palette สีจากรูปภาพก็ขอแนะนำเว็บไซต์  coolors.co/image-picker กด Browse image > เลือกรูปภาพที่อยากได้ Palette > ขยับลำดับของสีตามที่ต้องการ

อ้างอิง
vangoghmuseum.nl/en
nytimes.com/2015/12/27/travel/van-gogh-france-belgium-netherlands.html
gosouthfrance.com/art-museums/vincent-van-gogh-arles.html
medium.com/national-gallery-of-australia/the-seven-sunflowers-7784b0f364fe
adaymagazine.com/van-gogh-life-and-art/
vangoghmuseum.nl/en/art-and-stories/stories/5-things-you-need-to-know-about-van-goghs-sunflowers
vangoghmuseum.nl/en/collection/s0016V196
vangoghmuseum.nl/en/collection/s0176v1962