WAT WANLAYANGKOON
ชีวิตแห่งการเนรเทศและถูกเนรเทศ
เรื่อง: อาทิตย์ ศรีจันทร์
ภาพ: NJORVKS
“คงเป็นความรู้สึกคล้ายช่วง 6 ตุลาฯ แหละ คือกลัวแต่ก็ต้องเคลื่อนไหว ซึ่งผมก็คิดไว้กับตัวเองด้วยว่าถ้าเกิดรัฐประหารเมื่อไหร่ ผมคงต้องไปเมื่อนั้น เพราะสิ่งที่ผมรู้มาคือตัวเองมีหมายจับ 112 แล้ว ดังนั้นถ้าเขาจะเอาจริงผมติดคุกหัวโตแน่นอน หรืออาจไปติดเชื้อในกระแสเลือดแล้วตายในคุกก็ได้
“ดังนั้นในวันที่เกิดรัฐประหารปี 2557 ผมจึงหนีดีกว่า ไม่อยู่ให้จับหรอก”
หลังจากการรัฐประหาร 2557 วัฒน์ วรรลยางกูร ต้องเดินทางไกลอีกครั้งในวัย 59 ปี เขาตัดสินใจอย่างแน่วแน่ เดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วยช่องทางธรรมชาติ เข้ากัมพูชา และไปอยู่ที่ลาว เขาคิดว่าการลี้ภัยครั้งนี้ไม่น่าจะนานและน่าจะได้กลับบ้านในเร็ววัน เพราะเชื่อมั่นในพลังประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหาร แต่จนแล้วจนรอด เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในลาวหลายปี และเป็นชีวิตที่อันตรายเนื่องจากทางการไทยส่งคนออกไปตามล่าผู้ลี้ภัยการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านอยู่บ่อยครั้ง ชีวิตของวัฒน์ในลาวจึงเป็นชีวิตที่น่าหดหู่และต้องเผชิญหน้ากับความตายอยู่ตลอดเวลา
“…ยิ่งช่วง 5 ปีแรกที่ต้องหลบภัย อารมณ์มันห่อเหี่ยวมากๆ เพราะด้วยความเชื่อผมที่มองคนเป็นคน แต่ตอนนั้นสิ่งที่ผมเป็นมันกลับไม่มีอะไรมารองรับความเป็นมนุษย์ของผมเลย
“ช่วงเวลานั้นถ้าผมตาย มันแย่กว่าหมาตายเสียอีกนะ เพราะรัฐไม่จำเป็นต้องสืบคดีของผมก็ได้ มันไม่มีอะไรมารองรับการดำรงอยู่ของคนแบบผม”
ในวัย 64 ปี วัฒน์ได้สถานะผู้ลี้ภัยที่ฝรั่งเศส หลังจากนั้นวัฒน์กล่าวว่าเขาผ่อนคลายมากขึ้นเพราะไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครตามฆ่า
ชีวิตที่ฝรั่งเศสแม้จะเป็นชีวิตของผู้ลี้ภัยแต่ก็เป็นชีวิตในประเทศโลกที่หนึ่ง โลกที่พัฒนาแล้ว เขากลับมามีเรี่ยวแรงและมีไฟในการเขียนหนังสืออีกครั้ง จนกระทั่งสำเร็จกลายเป็น ต้องเนรเทศ (จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน) หนังสือที่วัฒน์เองก็ไม่มีโอกาสจะได้เห็นหรือได้จับมันด้วยซ้ำ เพราะไม่มีใครรู้ได้เลยว่า ณ ดินแดนอันไกลโพ้นจากบ้านเกิดของวัฒน์แห่งนี้จะกลายเป็นสถานที่สุดท้ายในชีวิตที่โอบรับตัวของเขาไว้ทั้งในฐานะนักเขียน นักปฏิวัติ และเสรีชน…
เดินทางไกลในวัยเยาว์
ในช่วงปี 2517 หลังจากเข้ามาเรียนรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง วัฒน์มีโอกาสทำหนังสือพิมพ์ อธิปัตย์ ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งช่วยให้เขามีโอกาสฝึกฝนตัวเองในด้านการเขียนที่หลากหลาย ทั้งการทำข่าว เขียนบทสารคดี ทำบทสัมภาษณ์ เขียนเรื่องสั้น และนวนิยาย
ผลผลิตของวัฒน์ที่ได้จากการทำงานที่ อธิปัตย์ คือ ตำบลช่อมะกอก นวนิยายอันเลื่องชื่อของเขาที่เข้าตามสูตรของวรรณกรรมเพื่อชีวิตในขณะนั้น แสดงให้เห็นการต่อสู้ระหว่างชาวนาแห่งตำบอลช่อมะกอกกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ควรจะผดุงความยุติธรรมแต่กลับกลายเป็นผู้ที่กดขี่ขูดรีดชาวบ้านเสียเอง ยิ่งไปกว่านั้น การทำงานสื่อยังทำให้วัฒน์ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ทางการเมืองอันแหลมคมตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา ประกอบกับความสนใจทางการเมืองที่มีมาตั้งแต่สมัยมัธยมและนิสัยการอ่านอย่างบ้าคลั่งของเขา ทำให้วัฒน์มีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น
จากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่ในขณะนั้นวัฒน์ยังคงนุ่งขาสั้นนั่งร้านกาแฟกินไวตามิลค์อ่านหนังสือพิมพ์ มันทำให้วัฒน์เชื่ออย่างแรงกล้าว่า “สิบสี่ตุลา ทำให้เราเห็นว่า มนุษย์ยิ่งใหญ่”
ทันทีที่เหตุการณ์วิปโยค 6 ตุลา 19 เกิดขึ้น มันได้ส่งผลสะเทือนต่อชีวิตและจิตใจของวัฒน์อย่างชัดเจน ความเชื่อที่ว่ามนุษย์ยิ่งใหญ่ถูกทำลายทิ้งด้วยการกระทำอันเหี้ยมโหดที่มนุษย์พึงกระทำต่อกัน ความอุกอั่งคั่งแค้นในจิตใจของวัฒน์ถูกกลั่นออกมาเป็นบทเพลง จากลานโพธิ์ถึงภูพาน
“มันแค้นคับ เดือดระอุ อกคุไฟ
เรามีเพียงมือเปล่ามันล้อมปราบ
ระเบิดบาป กระสุนบ้า มาสาดใส่
เสียงเหมือนแตรงานศพ ซบสิ้นใจ
สนามหญ้าคลุ้งกลิ่นไอ คาวเลือดคน
มันตามจับ ตามฆ่า ล่าถึงบ้าน
อ้างหลักฐาน จับเข้าคุก ทุกแห่งหน
เราอดทน ถึงที่สุด ก็สุดทน
จึงเปลี่ยนหนทางสู้ขึ้นภูพาน”
วัฒน์ตัดสินใจในเย็นวันนั้นว่าจะเดินทางเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย วัฒน์กล่าวถึงเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาเอาไว้ว่า “ยืนดูทางทีวี น้ำตาซึมเลย กลั้นไม่ให้มันไหลกลัวเขารู้ ดูตามร้านกาแฟไปกับเพื่อน แล้วไม่รู้จะไปทางไหน ตอนสายๆ วันนั้นให้แท็กซี่ไปส่งธรรมศาสตร์ แท็กซี่ไม่ยอมไป”
ในเขตป่า วัฒน์เกิดใหม่ในนาม ‘สหายร้อย’ เขายังคงทำงานหนังสือในป่าอย่างต่อเนื่องแม้ใจจะอยากทำงานใกล้ชิดกับมวลชนมากเพียงใดก็ตาม สหายร้อยทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือ ธงปฏิวัติ และยังสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมไว้อีกมากมาย เช่น ข้าวแค้น (2522), น้ำผึ้งไพร (2523) และ ด้วยรักแห่งอุดมการณ์ (2524)
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่สำคัญในชีวิตของการระหกระเหินเกิดขึ้นอีกครั้งในเขตป่าเขา เมื่ออุดมการณ์และแนวทางการ ‘ปฏิวัติ’ ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นสิ่งที่น่ากังขาสำหรับสหายร้อย บทกวี เรือลำสุดท้าย ที่เขาเขียนขึ้นในเขตป่าคือสิ่งที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของสหายร้อยที่มีต่อพรรคได้ดีที่สุดในขณะนั้น
เรือลำสุดท้าย ของสหายร้อยคือการวิจารณ์แนวทางการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์อย่างตรงไปตรงมาโดยเฉพาะประเด็นทิศทางของการปฏิวัติ ความเผด็จการภายในพรรค เช่น
“ลมพายุเปลี่ยนทิศทางสลับซับซ้อน
เหมือนจะเบนเรือให้หลงทาง
เราต้องการให้หัวเรือมุ่งสู่ตะวันออกแน่วแน่
คุณธรรมและความสามารถของคนอาจไม่เท่ากัน
หน้าที่แต่ละคนต่างกัน
แต่ทุกคนในเรือลำนี้เป็นคนดีที่สุดเท่าที่จะหาได้
โปรดอย่าผูกขาดการเป็นเจ้าของเรือ
จับพายก่อนหรือหลังมิใช่อุปสรรค
จับพายก่อนอาจเมื่อยล้า แต่มากริ้วรอยประสบการณ์
จับพายทีหลังอาจเกะกะเก้งก้าง แต่มากด้วยพลังบริสุทธิ์
โปรดหยุดเพ้อฝันถึงขบวนรถไฟ”
ในนามของสหายร้อย เขาต้องการชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องบางอย่างภายในของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่ข้อบกพร่องเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ ‘แก้ไขได้’ เพราะการปฏิวัติไม่ใช่การ ‘นำขบวน’ ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่มันคือเรือที่ทุกคนช่วยกันพาย ช่วยกันอุดรูรั่วเพื่อประคองไปในทิศทางที่ถูกต้องและถึงฝั่งฝันของการปฏิวัติได้อย่างราบรื่น
ทว่า ท่าทีของการปฏิเสธจากแกนนำภายในพรรคคอมมิวนิสต์นั้นสร้างความแตกร้าวเป็นอย่างมาก เพราะการวิจารณ์แนวทาง นโยบาย และตัวแกนนำของพรรคถือเป็น ‘มารยาท’ ที่ไม่ควรทำ และแน่นอนว่าด้วยปฏิกิริยาของพรรคที่มีต่อผู้ที่วิจารณ์พรรคนั้นสร้างความไม่พอใจและผิดหวังให้กับผู้ปฏิบัติงานภายในพรรคในขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนิสิตนักศึกษาอย่างวัฒน์ที่เข้าป่าไปในภายหลัง
ในปี 2528 วัฒน์ให้สัมภาษณ์กับ ถนนหนังสือ ซึ่งมีประเด็นที่ว่าทำไมจึงถอนตัวออกมาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
วัฒน์บอกว่า
“การปฏิวัติเป็นเรื่องของความสมัครใจ เป็นการเห็นพ้องกัน ก่อนตัดสินใจออกมามันก็มีเรื่องให้คิดแล้วไม่ได้คำตอบที่ถูกใจสักที เพื่อนคนที่เข้าไปด้วยกันกับเราก็กระเจิดกระเจิงออกมาในปี 2522 ทำให้เราคิดมาก จนปี 2523 ผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งที่เราเชื่อถือก็ออกอีก ดุลย์ความรู้สึกของเราเปลี่ยนช่วงนี้เอง คิดว่าต่อไปก็คงถึงคิวเราบ้าง พอดีมีเรื่องวุ่นๆ มากระทบตัวเราโดยตรง”
ข้อสังเกตที่น่าสนใจของวัฒน์ในวัยเยาว์คือ หลังออกจากป่ามาใหม่ เขาให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร โลกหนังสือ เมื่อปี 2524 ซึ่งในขณะนั้นความขัดแย้งที่มีต่อพรรคคือสิ่งที่เขาไม่ค่อยอยากพูดถึงเท่าไร อะไรที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งภายในพรรค วัฒน์จะไม่พยายามเล่าหรือเอ่ยถึง
ต่อมาในปี 2528 แม้เขายังคงสงวนท่าทีที่มีต่อความขัดแย้งภายในพรรค แต่เขาก็ได้เปิดเผยให้เห็นปัญหาบางอย่างได้มากขึ้นกว่าช่วงที่เพิ่งจะออกมาจากป่าใหม่ๆ ในการให้สัมภาษณ์กับ ถนนหนังสือ แต่เมื่อถึงช่วงท้ายของชีวิต วัฒน์สามารถพูดถึงหรือเปิดเผยเรื่องราวความขัดแย้งภายในพรรคได้เกือบทั้งหมด
ในวัยเยาว์ วัฒน์ต้องเนรเทศตัวเองจากเมืองสู่ป่าเพราะไม่อาจทนการกดขี่บีฑาและการไล่ล่าเอาชีวิตจากรัฐได้ เขาหนีจากเมืองพร้อมกับอารมณ์ความรู้สึกที่หดหู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ พร้อมๆ กับความหวังที่ว่าการเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจะนำประชาชนไปสู่ชีวิตใหม่ แต่จนแล้วจนรอด เขาต้องเนรเทศตัวเองอีกครั้งจากป่าเพื่อคืนสู่เมืองอันเนื่องมาจากการปฏิวัติไม่อาจตอบคำถามของเขาได้อีกต่อไป
เราอาจเรียกได้ว่าชีวิตของวัฒน์ในช่วงนี้คือชีวิตแห่งความพ่ายแพ้และผิดหวัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ใหญ่โตและกลายเป็นปมสำคัญในชีวิตของวัฒน์ วรรลยางกูร มันส่งผลสะเทือนต่อทั้งตัวตนและผลงานของเขาในเวลาต่อมา
การเนรเทศในแวดวงวรรณกรรมไทยของวัฒน์ วรรลยางกูร
หลังออกจากป่า วัฒน์ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะเป็นนักเขียน ผลงานวรรณกรรมหลังจากออกจากป่าของเขานั้นแตกต่างไปจากช่วงปี 2518-2523 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อิทธิพลของวรรณกรรมเพื่อชีวิตมีบทบาทต่อการสร้างสรรค์งานของวัฒน์อยู่มาก
งานเขียนของวัฒน์ในช่วงนี้มุ่งสำรวจสภาวะภายในของปัจเจกบุคคล ตัวละครมีมิติมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีความประนีประนอมกับความขัดแย้งในด้านการกดขี่และความเหลื่อมล้ำมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยมีผลงานที่สำคัญคือ มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2524), คือรักและหวัง (2525) และ บนเส้นลวด (2525)
สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลยในงานของวัฒน์คือกลิ่นโคลนสาบควายและความเป็นชนบท วัฒน์เป็นนักเขียนไทยร่วมสมัยไม่กี่คนที่เขียนถึงชาวบ้านในชนบทได้อย่างน่าอ่านที่สุด ความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา คือเสน่ห์ในงานของเขา
ตั้งแต่ปี 2524 เป็นต้นมา วัฒน์เริ่มทำงานเขียนในแง่มุมที่กว้างขึ้น ให้ความสำคัญและสนใจในปัจเจกบุคคลไปพร้อมๆ กับการนำเสนอวิถีชาวบ้านแบบลูกทุ่ง ผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น มีคนอ่านมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น วัฒน์ยังมีผลงานสารคดีที่น่าสนใจอย่างชีวประวัติของครูเพลงคนสำคัญของไทย คือ คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน การเล่าถึงครูไพบูลย์ในงานของวัฒน์ยังไม่ทิ้งแง่มุมการวิเคราะห์การต่อสู้ทางสังคมในชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ในบทเพลงของครูไพบูลย์
เรากล่าวได้อย่างชัดเจนว่า งานเขียนของวัฒน์ วรรลยางกูร ไม่เคยทอดทิ้งชาวบ้าน เขายืนหยัดอยู่กับชาวบ้านอยู่เสมอในศิลปะการประพันธ์ทุกรูปแบบ
ความเชื่อมโยงระหว่างวัฒน์กับชาวบ้านดังที่ปรากฏอยู่ในงานของเขาหลายชิ้นนี้เองคือสิ่งที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ว่า เหตุใดเขาจึงเป็นนักเขียนเพียงไม่กี่คนในช่วงตั้งแต่ปี 2549 ที่ประกาศตัวยืนอยู่เคียงข้างและยืนหยัดคู่ประชาชนคนสามัญ ด้วยการแสดงตัวอย่างชัดเจนว่าวัฒน์คือ ‘นักเขียนเสื้อแดง’…
นับตั้งแต่เขาประกาศเจตจำนงทางการเมืองอย่างชัดเจน ดูเหมือนว่าอาชีพการเป็นนักเขียนของเขาจะไม่ราบรื่นอย่างที่เป็นมา เพราะหลังออกจากป่า ผลงานของวัฒน์แทบจะไม่ได้ไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความขัดแย้งทางการเมืองใดๆ ยิ่งไปกว่านั้น ผลงานของเขาเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนในวงกว้าง ดังจะเห็นได้จากจำนวนพิมพ์เมื่อสมัยที่ยังตีพิมพ์อยู่กับสำนักพิมพ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย เป็นหลักสิบครั้งขึ้นไปแทบทั้งสิ้น แต่เมื่อประกาศตัวว่าเป็นนักเขียนเสื้อแดง สำนักพิมพ์ใหญ่ที่เคยตีพิมพ์ผลงานของวัฒน์อย่างสม่ำเสมอก็ไม่ได้เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ในผลงานของวัฒน์อีกต่อไปและไม่ตีพิมพ์ผลงานของเขาอีก
การเป็น ‘นักเขียนเสื้อแดง’ ของวัฒน์ไปสัมพันธ์กับการถูกตีความว่าเป็น ‘ลิ่วล้อนักการเมือง’ โดยเฉพาะ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหารในปี 2549 อีกทั้งทักษิณยังเป็นที่รังเกียจของบรรดานักเขียน กวี และปัญญาชนจำนวนมากมายมหาศาลในขณะนั้น ด้วยเหตุนี้เอง วัฒน์จึงถูกเนรเทศจากวงการนักเขียนและปัญญาชนอีกครั้งหนึ่ง…
การยืนอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับอุดมการณ์หลักของนักเขียนปัญญาชนกระแสหลักในขณะนั้นทำให้เขาถูกมองจากเพื่อนพี่น้องมิตรน้ำหมึกด้วยความแปลกแยก ต่อมาเมื่อความขัดแย้งทางการเมืองพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ จากความแปลกแยกในแวดวงวรรณกรรมก็ได้กลายเป็นความขัดแย้งที่ส่งผลสะเทือนต่อพี่น้องมิตรน้ำหมึกทั้งวงการ
วัฒน์ วรรลยางกูร กับความแน่วแน่ที่ไม่เคยเปลี่ยน
วัฒน์ วรรลยางกูร เป็นนักเขียนเสื้อแดงที่ประกาศตัวว่ายืนอยู่ข้างประชาชนอย่างต่อเนื่อง เขาเขียนบทกวี และขึ้นเวทีทางการเมืองต่างๆ ในหลากหลายโอกาส แม้ว่าในบั้นปลายของอาชีพนักเขียนเขาจะไม่โดดเดี่ยวในแวดวงวรรณกรรม แต่ในท้ายที่สุดแล้ว เขาก็ต้องเดินทางออกจากประเทศนี้ด้วยเหตุผลของการลี้ภัย มีเพียงมิตรน้ำหมึกเพียงหยิบมือที่พยายามช่วยเหลือวัฒน์ แต่กับผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงที่เขาเคยนับถือเป็นพี่เป็นน้อง กลับหันหลังให้เขาหรือไม่ก็ทำเป็นไม่เห็นชะตากรรมของวัฒน์ วรรลยางกูร
จนกระทั่งความตายของวัฒน์มาถึง เสียงร่ำร้องระงมด้วยความเสียใจและความนับถือในหัวจิตใจ เคารพและยอมรับในฝีมือทางวรรณกรรมของวัฒน์ก็ดังขึ้นไปทั่วแวดวงวรรณกรรมไทย ไม่เว้นแม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยเพิกเฉยต่อชะตากรรมในบั้นปลายชีวิตของเขา
ชีวิตของวัฒน์ วรรลยางกูร แม้จะเป็นชีวิตที่ระหกระเหิน ต้องถูกเนรเทศและเนรเทศตัวเองอยู่ในประเทศและนอกประเทศอยู่ตลอดชีวิต แต่สิ่งที่เขาไม่เคยเปลี่ยนไปเลยคือความปรารถนาที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยไปสู่สังคมแห่งเสรีภาพและความเสมอภาค ผู้คนอยู่ดีกินดี นี่คือสิ่งที่หนักแน่นและมั่นคงอยู่ในตัวของวัฒน์มาตั้งแต่วัยหนุ่ม
“ในเมื่อผมค้นเจอจากการอ่านหนังสือแล้วว่าความถูกต้องคือการมองคนเป็นคน แล้วผมต้องเปลี่ยนทำไม เรื่องนี้ไม่ได้ยากหรือซับซ้อนอะไรเลย มันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ขอแค่ให้คุณตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ก็สามารถเข้าใจได้ ดังนั้นทำไมผมต้องไปอยู่กับโฆษณาชวนเชื่อหรือการถูกชักจูงให้ไขว้เขวด้วยล่ะ ทำไมต้องยอมที่จะไม่พูดหรือเขียนตามที่เขาต้องการด้วย”
ในการเดินทางไกลที่เขาจะไม่ได้กลับมาในฐานะนักเขียนที่มีเลือดเนื้ออีกต่อไป เขาเปรยถึงชีวิตของตัวเองในบั้นปลายเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ชีวิตผมคงเหมือนเพลง Dust in the Wind นั่นแหละ ในเมื่อผมเชื่อในมนุษยธรรมและเสรีภาพ ความคิดผมก็ไม่เปลี่ยนแปลง ตอนนี้ผมก็คงต้องเป็นฝุ่นที่เลือกจะปลิวออกมาเองแบบนี้
“ปลิวไปบนโลกและจักรวาลที่เป็นดั่งบ้าน ปลิวไปตามเจตจำนงเสรี
“ดีกว่าเป็นฝุ่นที่อยู่ใต้ตีนของใคร”
อ้างอิง
• “วัฒน์ทัศนะ” ใน ถนนหนังสือ ปีที่ 3 ฉบับที่ 6 ธันวาคม 2528
• จัตุรัสความคิด “ระหว่าง ‘เรือลำใหม่’ ของวิสา คัญทัพ กับ ‘เรือลำสุดท้าย’ ของวัฒน์ วรรลยางกูร” ใน โลกหนังสือ ปีที่ 4 ฉบับที่ 10 กรกฎาคม 2524, หน้า 33—บทกวีชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ธงปฏิวัติ ภูพาน ฉบับ สิงหาคม 2523
• the101.world/half-a-decade-of-wat-wanlayangkoon
• adaymagazine.com/wat-wanlayangkoon