Thu 14 Sep 2023

WRITE WHAT YOU KNOW

ว่าด้วยการหยิบเอาประสบการณ์ในชีวิตจริงมาเปลี่ยนให้เป็นเรื่องเล่าของหนัง WHIPLASH

ภาพ: ms.midsummer

     ก่อนมาเป็นผู้กำกับหนัง เดเมียน ชาเซลล์ (Damien Chazelle) เคยมีความฝันอยากเป็นนักดนตรีมาก่อน

     ตอนเรียนมัธยม ชาเซลล์เคยเป็นมือกลองในวงดนตรีแจ๊ส กิจวัตรในแต่ละวันของเขาช่วงปีนั้นคือการฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วง ทั้งในห้องซ้อมที่โรงเรียนและห้องใต้ดินของที่บ้าน เขาซ้อมวันละ 6-8 ชั่วโมงเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการตระเวนไปเล่นตามเวทีประกวดต่างๆ จริงจังกับการตีกลองจนแทบไม่สนใจสิ่งอื่น 

     ความทุ่มเทเอาจริงเอาจังของชาเซลล์เข้าขั้นหักโหมรุนแรง ถึงขนาดที่ว่าเขามักจะซ้อมจนมือแตกและเลือดอาบอยู่เป็นประจำ รวมถึงยังมีอาการหูอื้อเป็นระยะ นอกจากนั้นยังเคยหวดหนังกลองจนแตก (ทั้งด้วยไม้กลอง และด้วยกำปั้นเพราะความโมโห) ตีฉาบอย่างรุนแรงจนเกิดรอยร้าวอยู่บ่อยครั้ง ไม้กลองของเขาหักเป็นสองท่อนครั้งแล้วครั้งเล่า

     “การเป็นมือกลองวงดนตรีแจ๊สเคยเป็นทั้งชีวิตของผม มันเป็นทั้งความสุขสมและเจ็บปวด” ชาเซลล์ว่า “มันคือโลกส่วนตัวของผมในช่วงหลายปีนั้น ผมตัดขาดจากโลกภายนอก มุ่งมั่นอยู่เพียงเรื่องเดียว เพิ่มความเข้มข้นจริงจังของการฝึกซ้อมในแต่ละวันไปเรื่อยๆ ฟังดูเหมือนเป็นการกระทำของคนบ้าเหมือนกันนะ แต่จะว่าไปแล้วมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ”

     แต่ความเอาจริงเอาจังของชาเซลล์ไม่ได้เกิดมาจากความทะเยอทะยานอยากจะเป็นเลิศทางด้านดนตรีเสียทีเดียว ตรงกันข้าม ไม่มากก็น้อยมันเกิดมาจากครูคนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นคอนดักเตอร์ประจำวงผู้คอยจ้องจับผิดเขาตลอดเวลา รวมถึงคอยตะคอกข่มขู่ทุกครั้งที่มีใครเล่นผิดพลาด

     ชาเซลล์หวาดกลัวครูคนดังกล่าวเป็นอย่างมาก ตอนอยู่ในห้องซ้อม เขาพยายามทำตัวให้สงบเสงี่ยมเข้าไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นจุดสนใจ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ใช้มันเป็นแรงผลักดัน เคี่ยวเข็ญตัวเองให้ฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วงเพื่อลดข้อผิดพลาดให้เหลือน้อยที่สุด 

     “แรงกระตุ้นในการฝึกฝนเป็นมือกลองของผมเกิดจากความกลัว ซึ่งดูเหมือนจะเป็นขั้วตรงข้ามกับแรงกระตุ้นของศิลปินคนอื่นๆ” 

     ถึงอย่างนั้น ด้วยความหวาดกลัว รวมถึงความเครียดและกังวลที่สะสมมาตลอดระยะเวลาห้าปีที่อยู่ในวง ส่งผลให้ชาเซลล์เกิดความลังเลและเริ่มทบทวนเป้าหมายในชีวิต จนทำให้หลังจากนั้นเจ้าตัวเลือกหันเหเปลี่ยนเส้นทางไปเรียนต่อด้านภาพยนตร์ ซึ่งเป็นอีกความสนใจหนึ่งของเขา

     ชาเซลล์เรียนจบมาพร้อมผลงานหนังธีสิสอย่าง Guy and Madeline on a Park Bench (2009) ซึ่งแม้จะไปไกลถึงขั้นได้ตระเวนฉายในหลายเทศกาลหนัง แต่ก็เปิดตัวฉายโรงทั่วไปในวงจำกัดมากๆ เพียงห้าโรงเท่านั้น 

     เจ้าตัวพยายามทำหนังเรื่องที่สองต่อทันที โดยลองเขียนสคริปต์จากพล็อตมากมายที่เคยคิดไว้ แต่เขียนไปได้สักพักก็ไม่มีไอเดียเขียนต่อ จนทำให้ความตั้งใจดังกล่าวไปไม่ถึงไหน และในที่สุดเมื่อถึงจุดหนึ่ง เขาต้องยอมพักความฝันที่จะทำหนังของตัวเองและรับงานเขียนสคริปต์ให้กับหนังเรื่องอื่นเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ ชาเซลล์เขียนสคริปต์ให้กับหนังหลายเรื่อง เช่น The Last Exorcism Part II (2013), Grand Piano (2013) แต่ทว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง เขาก็เกิดอาการตีบตันทางไอเดียอยู่ดี

     ความตึงเครียดกดดันในระหว่างที่กำลังเขียนสคริปต์ให้กับหนังเรื่องหนึ่ง ทำให้ชาเซลล์หวนนึกถึงประสบการณ์คล้ายๆ กันที่เขาเคยรู้สึกเมื่อหลายปีก่อน นึกถึงตอนที่เคยกังวลจนเก็บเอาไปฝันร้ายอยู่เป็นเดือน ว่าตัวเองเล่นผิดพลาดขณะทำการแสดงบนเวที นึกถึงช่วงเวลาตอนที่เขาเป็นมือกลองในวงดนตรีแจ๊สของโรงเรียน

     และเขาตัดสินใจว่านี่แหละจะเป็นหนังเรื่องต่อไปของเขา

     “ตอนนั้นผมคิดว่า เอาล่ะ ช่างแม่งกับโปรเจกต์ที่กำลังทำอยู่ก็แล้วกัน ถึงยังไงตัวสคริปต์ก็ไปไม่ถึงไหนอยู่แล้ว ลองเปลี่ยนมาคิดเรื่องนี้ดีกว่า ว่าจะเขียนอะไรได้บ้าง”

     วิธีการของชาเซลล์ไม่ซับซ้อน เมื่อตั้งใจว่านี่จะเป็นเรื่องราวของมือกลอง เขาจึงเปิดเรื่องด้วยซีนในโรงเรียนสอนดนตรี กำหนดให้ แอนดรูว์ (รับบทโดย ไมลส์ เทลเลอร์) นักเรียนคนหนึ่งกำลังนั่งตีกลองอย่างเมามัน (ในหนัง ชาเซลล์ให้เราได้ยินเสียงกลองก่อนที่จะได้เห็นภาพด้วยซ้ำ) และเมื่อตั้งใจว่านี่จะเป็นหนังที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างครูกับลูกศิษย์ เขาจึงเขียนให้คนที่เดินเข้าห้องมาเจอแอนดรูว์ก็คือครูเฟลตเชอร์ (รับบทโดย เจ. เค. ซิมมอนส์) ตัวละครที่ได้แรงบันดาลใจมาจากครูในความทรงจำของเขาอีกที

     “หนังไม่เหมือนกับบทความ” ชาเซลล์ว่า “มันไม่ใช่เพียงแค่ข้อความ แต่เป็นสิ่งที่ขยับเคลื่อนที่ไปมาและยังประกอบไปด้วยเสียง ผมจึงเริ่มจากความรู้สึกที่ผมอยากทำให้เกิดขึ้นในหมู่คนดู ความรู้สึกแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับผมเมื่อได้ฟังการโซโล่กลองดีๆ”

     ชาเซลล์มีเรื่องราวในหัวอยู่แล้ว เขาจดจำความรู้สึกและบรรยากาศของการอยู่ในห้องซ้อมและบนเวทีได้แม่นยำ ทั้งความเหนื่อยล้า ความหวาดกลัว รวมถึงความกดดันตลอดเวลา แต่เจ้าตัวตั้งคำถามว่า จะเป็นอย่างไรถ้าหากผลักวิธีการกดดันเคี่ยวเข็ญนักดนตรีของผู้เป็นครูไปให้ไกลยิ่งกว่าเดิม ไม่เพียงแต่จะด่าทอด้วยถ้อยคำที่หยาบคายกว่าเดิมเท่านั้น แต่ยังล้ำเส้นไปถึงความรุนแรงทางกายภาพด้วย

     ครูเฟลตเชอร์ของชาเซลล์ไม่ใกล้เคียงกับตัวละครครูคีตติ้งใน Dead Poets Society (1989) แม้แต่น้อย เพราะสิ่งที่ชาเซลล์ต้องการถ่ายทอดไม่ใช่บทเรียนหรือข้อคิดสอนใจที่ได้จากวงดนตรีแจ๊ส แต่เป็นความกลัวและความทุกข์ทรมานจากการฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วงที่เขาต้องเผชิญมาตลอดหลายปีต่างหาก 

     หลายๆ ไดอะล็อกที่ครูเฟลตเชอร์พูดกับแอนดรูว์ ทั้ง “You’re rushing”, “You’re dragging”, “Not quite my tempo” ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ครูเคยพูดกับเขาไว้ เฟลตเชอร์กลายเป็นตัวละครที่ง่ายที่สุดที่ชาเซลล์เคยเขียน เพราะเขาเพียงแค่ผสมประโยคที่เคยได้ยิน เข้ากับการจินตนาการประโยคอันเลวร้ายที่สุดที่คนเราจะพูดเพื่อทำร้ายจิตใจกันได้

     แต่ใช่ว่าครูเฟลตเชอร์จะเป็นตัวละครแบนๆ ที่มีหน้าที่เพียงเพื่อคุกคาม หรือพูดจาดูถูกเหยียดหยามลูกศิษย์เท่านั้น ชาเซลล์เพิ่มมิติให้ครูเฟลตเชอร์เล็กน้อยด้วยการมองว่า นี่คือตัวละครที่มีความรักความหลงใหลในศาสตร์และศิลป์ของดนตรีอย่างแท้จริง ซึ่งความรักความหลงใหลใดๆ ก็ตามที่เขามอบให้ดนตรีนั้นอยู่สูงกว่ามิตรภาพที่เขามีหรืออาจมีต่อเพื่อนมนุษย์ ทุกสิ่งที่เขาทำล้วนเป็นไปเพื่อเป้าหมายสูงสุด คือความสมบูรณ์แบบทางดนตรีเท่านั้น และเขาจะไม่ปราณีหรือไว้หน้าใครหน้าไหนที่บังอาจมาขัดขวางไม่ให้วงของเขาเดินไปสู่ความสมบูรณ์แบบอย่างที่เขาต้องการ

     ชาเซลล์ใช้เวลาเขียนสคริปต์ดราฟต์แรกของ Whiplash เพียง 10 วัน แต่แก้ไขครั้งแล้วครั้งเล่าหลังจากนั้นอยู่อีกเป็นปี และเป็นช่วงเวลานี้เองที่เขาได้ค้นพบหัวใจสำคัญของการเขียนที่เขาใช้ยึดถือเป็นหลักสำคัญมาตลอดหลังจากนั้น นั่นก็คือไม่ว่าจะเขียนเรื่องราวใดหรือประเด็นไหนก็ตาม เขาจะต้องหาหนทางเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับเรื่องราวนั้นๆ และเขียนมันราวกับว่ากำลังเขียนเรื่องของตัวเองให้ได้

     ดังเช่นตัวละคร มีอา กับ เซบาสเตียน ใน La La Land (2016) ที่อยากเป็นนักแสดงและนักดนตรี แต่พวกเขาต้องเสียสละสิ่งใดบ้างเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น, นีล อาร์มสตรอง ใน First Man (2018) อยากเป็นมนุษย์คนแรกที่ขึ้นไปสำรวจบนดวงจันทร์ แต่หนทางระหว่างนั้นเขาต้องฝ่าฝันกับอุปสรรคใดบ้าง และ แมนนี กับ เนลลี ใน Babylon (2022) สองตัวละครที่พยายามไต่เต้าขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของฮอลลีวูด แต่พวกเขาต้องจ่ายแพงขนาดไหนหรือแลกมาด้วยสิ่งใด 

     ความฝันใฝ่ ความทะเยอทะยาน และความปรารถนาเพื่อให้ได้มาซึ่งบางสิ่ง คือหนทางที่ชาเซลล์เลือกใช้เสมอมาในการทำความเข้าใจตัวละครของเขา แม้ว่าบางครั้งสภาพแวดล้อมหรือโลกรอบตัวของแต่ละตัวละครจะไม่ใช่โลกที่เขาคุ้นเคยหรือมีประสบการณ์ร่วมนักก็ตาม แต่เขาก็พยายามมองหาว่าเป้าหมายหรือสิ่งที่ตัวละครต้องการคืออะไร 

     “ผมคิดว่าคุณจะทำหนังเกี่ยวกับอะไรก็ได้ ถ้าคุณหาหนทางทำให้มันกลายเป็นเรื่องของตัวเอง คุณก็ทำหนังได้ทุกอย่าง จะเล่าเกี่ยวกับเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคกลางหรือเกี่ยวกับอวกาศก็ได้” ชาเซลล์ว่า “คุณต้องหาทางเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับเรื่องราว หาอารมณ์ความรู้สึกให้เจอ ถึงแม้ว่าเรื่องที่เขียนดูเผินๆ แล้วจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับตัวคุณแม้แต่น้อย 

     “ผมเชื่อว่าหนังเป็นเรื่องของความรู้สึก และมันยากที่จะเขียนเกี่ยวกับความรู้สึก ถ้าหากว่าคุณไม่ได้รู้สึกกับมันจริงๆ”

อ้างอิง:

latimes.com/entertainment/envelope/la-et-mn-whiplash-writers-damien-chazelle-20141218-story.html
rogerebert.com/interviews/rise-of-a-star-death-of-a-soul-damien-chazelle-on-whiplash
gointothestory.blcklst.com/interview-damien-chazelle-3dd250ffbbff
empireonline.com/movies/features/damien-chazelle-whiplash-secrets/
hollywoodreporter.com/news/general-news/making-whiplash-how-a-twentysomething-753283/
industrialscripts.com/damien-chazelle-quotes/
en.wikipedia.org/wiki/Damien_Chazelle
en.wikipedia.org/wiki/Whiplash_(2014_film)
youtube.com/watch?v=Xa_deyk8yMQ&t=99s
youtube.com/watch?v=mQMxRddPoCk
en.wikipedia.org/wiki/Guy_and_Madeline_on_a_Park_Bench
boxofficemojo.com/release/rl3797386753/weekend/