WOMEN AND SILENCE
แง้มดูความหมายของ ‘ความเป็นหญิง’ ผ่านอักษรจีน มาสำรวจกันว่าเส้นขีดของ ‘ผู้หญิง’ นั้นบอกอะไรกับเราบ้าง
เรื่อง: ใหม่ ศุภรุจกิจ
ภาพ: ms.midsummer
นึกไม่ถึงว่าในเวลานี้เรายังต้องมาถกเถียงกันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศหรือบทบาท สิทธิ เสรีภาพของผู้หญิงกันอยู่ แต่ในเมื่อสังคมปิตาธิปไตยยังฝังอยู่ในนึกคิดของผู้คน ยังมีมนุษย์เพศชายที่มองว่าเซ็กซ์คือรางวัลที่ผู้หญิงควรบรรจงมอบให้พวกเขา ยังมีสื่อบางสำนักหยิบยื่นพื้นที่เพื่อผลิตซ้ำทัศนคตินี้อยู่ เมื่อเป็นเช่นนั้น ในบทความนี้ผู้เขียนจึงขอพูดถึงบทบาทของผู้หญิงผ่านอักษรจีน ชนชาติซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมของเอเชีย เพื่อยืนยันว่าความคิดแบบชายเป็นใหญ่นั้นฝังครอบผู้คนไว้เนิ่นนานเพียงใด
คำว่าผู้หญิงในอักษรจีนถูกบันทึกไว้ว่า 女 (เนื่องจากไม่มีวิธีเขียนในภาษาไทยที่ตรงเสียง ผู้เขียนจึงขอละไว้ โดยคนที่สนใจสามารถคลิกที่ https://baike.baidu.com/item/女/507533 เพื่อฟังการออกเสียงที่ถูกต้องและแม่นยำ)
เส้นขีดง่ายๆ สามเส้นนี้กำลังบอกอะไรกับเรา คงต้องพาคุณย้อนไปดูอักขระโบราณในนามอักษรภาพจากกระดองเต่า (甲骨文 — เจี๋ยกู่เหวิน) กันก่อน
女 (nǚ)
ปรากฏเป็นรูปคน อุปมาว่าเป็นเพศหญิง กำลังนั่งคุกเข่า แขนและขาถูกจัดวางเข้าด้วยกัน ก้มหน้าเล็กน้อย แลดูสงบเสงี่ยมเจียมตน
นี่คือคำว่า 女 ที่หมายถึงผู้หญิง และถูกใช้ต่อมาจนปัจจุบัน
男 (nán)
ก่อนจะว่ากันต่อไป คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะหยิบ ‘ผู้ชาย’ มาพิจารณาประกอบกัน
อักษรภาพของผู้ชายถูกบันทึกไว้ว่า 男 (หนาน) เมื่อแยกส่วนประกอบของคำออกมา เราจะเห็น 田 (เที๋ยน) หมายถึง ไร่นา และ 力 (ลี่) ซึ่งเป็นภาพของคันไถ
ความหมายของคำนี้คือพละกำลัง การใช้แรงงานทำไร่ไถนา สื่อถึงความเป็นชายในสังคมเกษตรกรรม และถูกใช้มาจนปัจจุบัน
ผู้ชายใช้แรงงาน ในขณะที่ผู้หญิงต้องอยู่ในบ้านอย่างสงบเสงี่ยม สองคำนี้สะท้อนชัดถึงวิถีแห่งความเป็นชายและหญิงที่ถูกนิยามไว้ตั้งแต่โบราณ
ผู้เขียนพบข้อความที่ปรากฏอยู่ใน Discourses on Salt and Iron หรือ 鹽鐵論 (เหยียนเถี่ยลุ่น) บันทึกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญเล่มหนึ่งของราชวงศ์ซีฮั่น ซึ่งถือเป็นยุคทองของจีนก่อนล่มสลายกลายเป็นยุคสามก๊ก
“天下之大业也,夫男耕女織”
(หน้าที่ของประชาชนใต้หล้า ผู้ชายทำไร่ไถนา ผู้หญิงทำการถักทอ)
หน้าที่ของความเป็นชายและหญิงที่กำหนดไว้เช่นนี้ไม่เพียงแต่ในสังคมตะวันออก
ในโลกตะวันตก มีการพบภาชนะดินเผาสมัยเอเธนส์ช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล ปรากฏเป็นภาพของเพเนโลพี ผู้เป็นภรรยาของวีรบุรุษโอดิสเซียส (ตัวเอกในมหากาพย์ Odyssey ของ Homer) นั่งอยู่ข้างหูกทอผ้า โดยมีเทเลมาคัส (ลูกชาย) ยืนอยู่ตรงหน้า ซึ่งความสามารถในการทอผ้าเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการเป็นภรรยาชาวกรีกที่ดี
กลับมาที่เรื่องตัวอักษรจีน เรายังสามารถพบ ‘ผู้หญิง’ ในอีกหลากหลายความหมายที่ต่างกันไป
อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้น 女 คืออักษรผู้หญิงหนึ่งตัวแทนความหมายผู้หญิงหนึ่งคน แล้วถ้า ‘ผู้หญิง’ มีจำนวนมากกว่านั้นล่ะ
奻 (nuán)
อักษรผู้หญิงสองตัวซ้อนกันแบบนี้ ออกเสียงว่า หนวน สื่อความหมายของความไม่ลงรอย และการโต้เถียง
姦 (jiān)
อักษรผู้หญิงสามตัว ออกเสียงว่า เจียน หมายถึงการคบชู้หรือมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับหญิงที่ไม่ได้แต่งงานด้วย หรืออาจสื่อถึงการมีมลทินมัวหมองด้วยก็ย่อมได้
สองคำที่ยกมานี้ล้วนมีที่มาจากชายจีนสมัยก่อนที่มีภรรยามากกว่าหนึ่ง และทั้งหมดอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน จึงเกิดเป็นอักษรผู้หญิงที่มากกว่าหนึ่งตัวในความหมายต่างกันออกไป
แต่ปฏิเสธได้หรือไม่ว่าทั้งหมดล้วนเป็นความหมายในเชิงลบ ดูเหมือนว่าผู้หญิงเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาในสายตาของผู้คน เป็นการโยนความไม่ถูกต้องให้กับสตรีไปเสียอย่างนั้น
女+子=好 (hǎo)
มาพิจารณา ‘ผู้หญิง’ ผ่านความหมายเชิงบวกกันบ้าง
เมื่อ ‘ผู้หญิง’ อยู่ข้างกับ ‘เด็กชาย’ (子) จะปรากฏเป็นคำว่า 好 (ห่าว) ที่หมายถึงความดีงามหรือความสมบูรณ์พร้อม เช่น คำทักทายสวัสดีอย่าง 你好 (หนีห่าว)
คำว่าห่าว (好) จึงไม่เพียงถ่ายทอดว่าผู้หญิงหรือผู้เป็นแม่ควรอยู่กับบ้านและรู้จักสงบเสงี่ยมเท่านั้น แต่ยังระบุไว้ว่าหากจะเป็นอะไร ‘ที่ดีงาม’ ได้นั้นก็จำเป็นจะต้องเป็นหญิงที่ให้กำเนิดลูกชายด้วย
“ชายชอบหญิงที่อ่อนไหว ยิ้มแย้ม และว่าง่าย ว่องไวทุกที เผ่าพันธุ์เยี่ยม และก็เอวเล็กดี นำศักดิ์ศรีให้เรา พวกเราภักดีต่อองค์จอมไทจงมาครองใจร่วมกัน ผู้ชายเก่งกาจฟาดฟัน หญิงควรมีครรภ์เป็นชาย”
เนื้อเพลงบางส่วนจาก Honour to us all เพลงประกอบภาพยนตร์การ์ตูน Mulan (ซึ่งทั้งเวอร์ชั่นจีนและภาษาอังกฤษ ผู้เขียนพบว่าแปลไปในทำนองเดียวกัน) ที่คุณคุ้นหูอาจช่วยยืนยันได้ว่า ‘หญิงที่ว่าง่ายและคลอดลูกเป็นชาย’ คือคุณสมบัติของหญิงที่ดีอันเป็นที่ต้องการ
女 + 口 = 如 (rú)
เมื่อผู้หญิงประกอบกับ 口 (โข่ว) ที่แปลว่าปาก ทีแรกคุณอาจเดาไว้ว่าคำนี้น่าจะสื่อถึงกระบอกเสียงของเหล่าสตรี แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ในอดีตที่มาของคำนี้กลับกลายเป็นว่า ผู้หญิงต้องคอยฟังคำสั่ง (จากปากผู้ชาย) แล้วนำไปปฏิบัติตาม
ในปัจจุบันคำนี้ถูกใช้ในบริบทของความสมดั่งใจ หรือ ได้ดั่งใจ เช่นที่ปรากฏในคำอวยพรปีใหม่ที่พูดกันทุกปีในความหมาย ‘ปีใหม่นี้ขอให้สมปรารถนาทุกประการ ร่ำรวยมั่งคั่ง’ อย่าง 新正如意,新年發財 (ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาฉาย หรือ ซิงเจี่ยอยู่อี่ ซิงนี้ฮวกใช้ ในสำเนียงแต้จิ๋วที่อาจคุ้นหูคนไทยมากกว่า) แม้ ‘หรูอี้’ หรือสมปรารถนาในบริบทนี้อาจไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศแล้ว แต่ใครจะรู้ว่าที่มาของความหมายได้แฝงอะไรเอาไว้
宀 + 女 = 安 (ān)
นอกเหนือจากนี้ยังมีคำว่า 安 (อัน) หมายถึงความสงบและไร้เสียง เป็นภาพผู้หญิงนั่งเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่ใต้ส่วนประกอบของหลังคา ซึ่งหมายถึงการอยู่ในที่รโหฐาน และต้องรู้จักเก็บถ้อยคำ
เราอาจจะใช้คำนี้ในความหมายของการเงียบในปัจจุบัน หากมองย้อนไปถึงราก กลับแฝงนัยของการกดทับเอาไว้อย่างชัดเจน
ในแต่ละคำที่ถูกยกมานี้ ล้วนใช้ตัวอักษร ‘ผู้หญิง’ เป็นที่มาของความหมาย (เชิงลบ) ไม่มากก็น้อยล้วนสื่อถึงทัศนคติที่มีต่อบทบาทของผู้หญิงในสังคมจีนเอาไว้อย่างตรงไปตรงมา นอกจากการดูแลบ้านช่อง จัดเตรียมอาหาร อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การทำทุกอย่างให้ผู้ชายพอใจ
ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 19 พบธรรมเนียมเท้าดอกบัว (Foot Binding) ในชนชั้นสูง เป็นความเชื่อเรื่องความงาม ความดึงดูดทางเพศ การที่อวัยวะเท้าอวบอูมนำมาซึ่งการเดินที่ไม่สมประกอบ กระท่อนกระแท่น ชวนให้มอง และเกิดความรักใคร่เอ็นดู ธรรมเนียมนี้ถูกปฏิบัติต่อมาจนถึงปี 1912 รัฐบาลจีนประกาศให้มีการยกเลิกประเพณีเท้าดอกบัว เป็นอันสิ้นสุดธรรมเนียมที่ทำลายคุณค่าความเป็นคนมากที่สุดธรรมเนียมหนึ่ง
แม้ในปัจจุบัน ประชากรทั่วทั้งโลกจะส่งเสียงเรื่องความเท่าเทียมดังขึ้น แต่คงปฏิเสธได้ไม่เต็มปากนักว่าการหยามเหยียดและด้อยค่าเพศหญิงยังมีให้เห็นอยู่ในทางปฏิบัติ เรายังคงต้องหยิบเรื่องความเท่าเทียมทางเพศขึ้นมาพูดกันอยู่เสมอ แม้เวลาจะข้ามผ่านมาถึงปี 2021 แล้วก็ตาม
“หากเป็นสถานการณ์ที่สาหัสจริงๆ แล้ว ผู้หญิงก็สามารถกล่าวปกป้องสิทธิประโยชน์เฉพาะของเพศตนเองในที่สาธารณะได้ ทว่าพวกเธอไม่สามารถพูดแทนเพศชายหรือแทนคนในสังคมโดยรวม ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วย่อมสรุปได้ตามที่ปราชญ์สมัยศตวรรษที่สองได้กล่าวไว้ว่า ผู้หญิงควรปกป้องระมัดระวังมิให้เสียงของเธอเล็ดลอดไปถึงหูคนนอก ดั่งการปกป้องมิให้ร่างกายถูกเปลื้องผ้า”
บางส่วนจากหนังสือ ผู้หญิง / อำนาจ (Women & Power: A Manifesto โดย Mary Beard) อาจสามารถช่วยสรุปเรื่องราวทั้งหมดนี้ได้อย่างไม่ต้องมีเส้นขีดแบ่งทวีปใด
อย่างที่เราต่างก็รับรู้ว่าในอดีตกาลนานมา ผู้หญิงถูกทำให้ไร้เสียง ผู้ชายมักจะบอกให้พวกเธอเงียบปากในที่สาธารณะ รวมถึงตัดผู้หญิงออกจากศูนย์กลางอำนาจทั้งหลาย อันเป็นวัฒนธรรมที่หยั่งรากไปทั่วทั้งโลกตะวันออกและตะวันตก อีกทั้งการโบ้ยโยนความไม่ถูกต้องให้กับพวกเธอ เมื่อการปกป้องร่างกายไม่ให้ถูกกระทำเป็นหน้าที่ของผู้หญิง โดยที่ผู้ชายสามารถละเมิดสิทธินั้นได้เสมอหากพวกเธอดูแลตัวเองไม่ดีพอ
จะว่าไป ช่างดูเป็นการกดทับอันล้าหลัง แต่ใช่ว่าจะหายไปจากปัจจุบัน
ไม่ว่าจะในจีน หรือที่ไหนในโลกก็ตาม
อ้างอิง:
• สถานภาพและบทบาทของผู้หญิงจีนในหนังสือรวมเรื่องสั้น “เสียงเพรียกท่ีกลบเร้น จากแผ่นดินใหญ่” งานวิจัยโดย ศรีวิไล พลมณี และ สนิท สัตโยภาส
• Women & Power: A Manifesto, Mary Beard เขียน