Wed 13 Jan 2021

KEIGO FEVER

ชวน อลีน เฉลิมชัยกิจ เจ้าของสำนักพิมพ์ไดฟุกุที่ครอบครองลิขสิทธิ์ผลงานของ ฮิงาชิโนะ เคโงะ เยอะที่สุดในเมืองไทย มาพูดคุยกันถึงปรากฏการณ์เคโงะฟีเวอร์

     ทุกคนรู้ เพื่อนรู้ ฉันไปเดินงานหนังสือทุกรอบ 

     เดินงานทุกรอบแปลว่าฝากซื้อได้ 

     ฉันก็ยินดีตามล่าทุกเล่มให้เพื่อนทุกคนเลยค่ะ

     ย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 จำได้เลยว่าช่วงนั้นแฮชแท็ก (ไอดอล) อ่าน เช่น #จินยองอ่าน หรือ #นัมจุนอ่าน บูมมากในทวิตเตอร์ ทำให้เหล่าแฟนๆ แห่ไปซื้อหนังสือตามไอดอลคนโปรดกันเป็นแถบ เพื่อนสนิทคนหนึ่งผู้ดำรงตำแหน่ง EXO-L ก็ไม่วายอยากได้หนังสือที่ #จงอินอ่าน (หนึ่งในสมาชิกวง EXO) มาไว้ในครอบครอง เราจึงได้รับภารกิจตามหา กลลวงซ่อนตาย มาให้ได้! (แต่จริงๆ ตัวเองก็ซื้อตาม #จินยองอ่าน เช่นกันค่ะ แฮะๆ)

     จริงๆ ก็หาไม่ยากหรอก เพราะในงานหนังสือครั้งนั้น หลายๆ สำนักพิมพ์ หรือแม้แต่บูทที่เป็นร้านหนังสือก็แปะรูปไอดอลพร้อมโน้ตเล็กๆ ว่าคนนี้อ่านเล่มนี้นะจ๊ะ มาซื้อกันสิ แทบจะทั้งงาน เมื่อเดินไปถึงบูทเป้าหมาย รูปจงอินพร้อมแฮชแท็กก็รอต้อนรับเหล่าสาธุชนทุกคนเรียบร้อยแล้ว

     ดังนั้นความตื่นเต้นจริงๆ ของภารกิจในครั้งนั้นจึงไม่ใช่การเดินตามหาหนังสือให้เพื่อน แต่คือการได้รู้จักกับ ฮิงาชิโนะ เคโงะ เป็นครั้งแรกต่างหาก

     สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าฮิงาชิโนะ เคโงะ เป็นใครเหมือนเราในวันนั้น เราในวันนี้ขอแนะนำถึงชายคนนี้ว่า เขาคือหนึ่งในนักเขียนแนวสืบสวนชื่อดังระดับแนวหน้าของประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันมีผลงานตีพิมพ์ออกสู่ท้องตลาดมากว่า 89 เล่ม และได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้ว 42 เล่ม 

     พอรู้จำนวนหนังสือที่ตีพิมพ์ก็คงไม่ต้องสงสัยเรื่องฝีมือ เราสงสัยตัวเองมากกว่าว่าทำไมเพิ่งมารู้จักเอาป่านนี้ 

     ในฐานะแฟนคลับหน้าใหม่ของด้อมเคโงะ เราจึงชวน พี่ลีน—อลีน เฉลิมชัยกิจ เจ้าของสำนักพิมพ์ไดฟุกุที่ครอบครองลิขสิทธิ์ผลงานของฮิงาชิโนะ เคโงะ เยอะที่สุดในเมืองไทย มาพูดคุยถึงปรากฏการณ์เคโงะฟีเวอร์ในช่วง 2-3 ปีนี้ 

     ทำไมเคโงะถึงดัง และทำไมใครๆ ก็อ่านเคโงะ

0

     แม้จะได้ชื่อว่าเป็นสำนักพิมพ์ที่พิมพ์ผลงานเคโงะเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วไดฟุกุเริ่มต้นจากการพิมพ์ Comic Essay โดยแปลจากคาแรกเตอร์ของญี่ปุ่น เช่น รีลัคคุมะ (หมีสีน้ำตาลยอดนิยม) หรือ ซุมิกโกะ (แก๊งเพื่อนติดมุม) ซึ่งใช้เวลาไม่นานความน่ารักคาวาอี้ของเหล่าตัวละครก็สามารถแทรกซึมพื้นที่ในหัวใจของชาวไทยได้อย่างง่ายดาย 

     ทว่าความน่ารักนั้นก็แปรผันกับราคา

     “Comic Essay มันเป็นแค่ประโยคสั้นๆ ประกอบกับภาพการ์ตูน ซึ่งอาจกลายเป็นปรัชญาชีวิตที่ล้ำลึกมาก บางเล่มพูดเรื่องการปล่อยวาง การพักผ่อน การเห็นคุณค่าของสิ่งเล็กๆ อย่างมด ขนมปัง อากาศ และมิตรภาพ คือจริงๆ เนื้อหาได้ ทุกคนชอบ แต่ผู้อ่านก็อยากจะซื้อในราคาไม่ถึงร้อย ซึ่งในแง่ของการผลิตมันทำไม่ได้ เพราะว่าต้องพิมพ์ 4 สีทั้งเล่ม มีค่าลิขสิทธิ์ที่ต้องเฉลี่ยเข้าไปอีก ทำให้ราคาตกอยู่ที่เล่มละสองร้อย ก็เลยแพงเกินกว่าที่เด็กจะซื้ออ่าน” 

     ทำให้หลังจากเปิดตัวสำนักพิมพ์ไปได้สามปี ยอดขาย Comic Essay ยังไม่น่าพอใจนัก เป็นจังหวะเดียวกับที่ที่ปรึกษาคนหนึ่งของพี่ลีนซึ่งชื่นชอบวรรณกรรมญี่ปุ่นเป็นทุนเดิม เสนอให้ไดฟุกุเอาหนังสือ กลลวงซ่อนตาย (2006) มาพิมพ์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง

     “เมื่อประมาณสิบกว่าปีก่อนนิยายญี่ปุ่นบูมในไทยมาก ออกมาเยอะมาก มีหลายสำนักพิมพ์ด้วย เช่น Bliss Publishing, เจบุ๊กส์, เนชั่น ฯลฯ แต่อยู่ดีๆ กระแสก็หายไป พี่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเพราะอะไร

     “อย่าง กลลวงซ่อนตาย แต่ก่อนชื่อ รักลวงตาย เคยพิมพ์กับเนชั่นมาก่อน พอหมดสัญญาก็ไม่มีใครซื้อต่อ ลิขสิทธิ์ลอยอยู่เป็นสิบปี จนกระทั่งที่ปรึกษาของพี่เสนอขึ้นมา ไดฟุกุเลยได้เริ่มทำหนังสือของเคโงะเล่มแรก ซึ่งได้กระแสตอบรับดีมาก แล้วด้วยความที่ กลลวงฯ เป็นหนังสือลำดับที่สามของซีรีส์กาลิเลโอ (คดีฆาตกรรมที่ใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง มีตัวเอกคือ ยุกาว่า มานาบุ นักฟิสิกส์ผู้มีฉายาว่ากาลิเลโอ อันเป็นที่มาของชื่อซีรีส์นั่นเอง) ทำให้เราตีพิมพ์เรื่องต่อๆ มาของซีรีส์นี้ มีทั้งรวมเรื่องสั้นและแบบเล่มเดียวจบ ปัจจุบันมีถึงเล่ม 9 แล้ว”

     นอกจากนี้ก็ยังมีซีรีส์คางะ (เรื่องราวของ คางะ เคียวอิจิโร่ นายตำรวจประจำสถานีนิฮงบาชิ หนึ่งในทีมสืบสวนฝีมือดีที่คลี่คลายคดีมานักต่อนัก) ซีรีส์นักสืบเทงกะอิจิ (เมื่อนักเขียนนิยายหลุดไปเป็นนักสืบต่างโลก เทงกะอิจิ ไดโกโร่ จึงต้องมาพัวพันกับสารพัดคดีปริศนา) รวมถึงผลงานเล่มเดียวจบ (เช่น บ้านดับจิต, โชคชะตา, อวตาร ฯลฯ) และใหม่ล่าสุดอย่างซีรีส์ทาเคชิ (นิยายสืบสวนที่มีฉากหลังเป็นโลกยุคโควิด-19 คามิโอะ ทาเคชิ อดีตนักมายากลต้องสืบคดีต่างๆ ในฐานะคนธรรมดา จะได้เห็นทริคการไขปริศนาที่ไม่เหมือนนักวิทยาศาสตร์หรือตำรวจเลย) ที่ต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นเพิ่งออกเมื่อปี 2020 ไดฟุกุก็ได้ลิขสิทธิ์มานอนกอดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

     แม้เรื่องที่เรายกมาแนะนำจะเป็นนวนิยายแนวสืบสวน แต่เคโงะก็ยังถนัดเขียนแนวปาฏิหาริย์อบอุ่นหัวใจอีกด้วย โดยเล่มที่ดังสุดๆ แค่พูดชื่อออกมารับรองว่าต้องร้องอ๋อกันทุกคน 

     “อ๋อ” (ยัง!) 

     ก็คือเรื่อง ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ โดยสำนักพิมพ์น้ำพุ ที่มียอดขายกว่า 13 ล้านเล่มทั่วโลก ติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ในไทยมาตั้งแต่ปี 2018 และเป็นหนึ่งในอิทธิพลสำคัญที่ทำให้ผลงานของเคโงะกลับมาโด่งดังในประเทศไทย โดยเราเองก็ถูกตกเข้าด้อมจากเล่มนี้เช่นกัน (แต่ความจริงขั้นกว่าก็คือ เลือกอ่านเล่มนี้ตาม #มินฮยอนอ่าน ชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยผู้ชายอะเนาะ)

1

     พี่ลีนเล่าให้ฟังว่า แม้กระแสเคโงะในเมืองไทยจะมีช่วงที่เงียบหายไปนานและเพิ่งบูมขึ้นมาใหม่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ที่ญี่ปุ่นนั้นผลงานของเคโงะถือว่าเป็นไบเบิ้ลของร้านหนังสือเลยทีเดียว เพราะแค่มีชื่อเคโงะบนปกหนังสือ คนก็พร้อมจ่ายเงินซื้อแล้ว อีกทั้งตัวเคโงะเองก็ไม่ได้มีสำนักพิมพ์ประจำ แต่จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ราว 6-7 เจ้า โดยเฉลี่ยแล้วสำนักพิมพ์หนึ่งจะได้ต้นฉบับของเขามาตีพิมพ์ทุกๆ หนึ่งปีครึ่ง 

     เรียกว่าถ้าไม่ดังจริงทำไม่ได้แน่ๆ 

     และหากย้อนไปดูจุดเริ่มต้นก็ยิ่งเห็นว่าเขามีพรสวรรค์ขนาดไหน 

     After School (1985 / เรื่องราวคดีฆาตกรรมในห้องปิดตายที่มีฉากหลังเป็นงานกีฬาสีโรงเรียนมัธยมปลาย ฉบับภาษาไทยชื่อว่า ‘หลังเลิกเรียน’ โดยสำนักพิมพ์ไดฟุกุ) ถือเป็นผลงานเดบิวต์อย่างเป็นทางการเล่มแรกของเคโงะในวัย 27 ปี แถมคว้ารางวัลเอโดงาวะ รัมโปะ ซึ่งถือเป็นรางวัลใหญ่ในวงการวรรณกรรมแนวไขรหัสคดีของญี่ปุ่นที่จะมอบให้กับนักเขียนหน้าใหม่ได้อีกด้วย

     พอได้รางวัลใหญ่ตั้งแต่เล่มเปิดตัว เคโงะก็คิดว่าน่าจะเอาดีด้านนี้ได้ เลยลาออกจากงานประจำ ผันตัวจากวิศวกรไฟฟ้ามาเป็นนักเขียนเต็มตัวซะเลย 

     แต่บนทางเดินแห่งความฝันนี้ อาจไม่มีพรมแดงปูทาง อุปสรรคขวากหนามมากมายเหลือเกิน เพราะเราต้องไม่ลืมว่าญี่ปุ่นมีสัดส่วนประชากรที่อ่านออกเขียนได้คิดเป็นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ พฤติกรรมการอ่านเยอะอ่านหลากหลายนั้นฝังอยู่ในดีเอ็นเอก็ว่าได้ และแนวสืบสวนซ่อนปมที่เคโงะแสนถนัดนั้น คนญี่ปุ่นเขาอ่านมาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วจ้า (ซึ่งก็คืองานเขียนของ เอโดงาวะ รัมโปะ นั่นเอง) ทำให้ผลงานเล่มต่อๆ มาของเคโงะไม่ค่อยได้รับความนิยมและไม่ติดตลาดเท่าที่ควร พี่ลีนบอกว่าเคโงะใช้เวลาถึง 13 ปีกว่าจะเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียน

     “ช่วงแรกๆ เคโงะก็ลำบากแหละ เพราะยังไม่ค่อยมีผลงานได้ตีพิมพ์ซ้ำ ก็เลยยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่เขาก็ยังเขียนไปเรื่อยๆ นะ จนถึงปี 1998 ที่ ความลับ ทำให้เขาดังขึ้นมา ที่ญี่ปุ่นเรียกเหตุการณ์ประมาณนี้ว่า ‘ไดเบรก’ ได แปลว่า ใหญ่ เบรก คือ breakthrough”

     และเมื่อลองไล่เรียงชื่อหนังสือจาก After School จนถึง ความลับ เราก็พบว่าช่องว่างระหว่างสองเล่มนี้คือราวๆ 28 เล่ม… นับถือใจและความอดทนของเขาเลย

     “ในชีวิตเคโงะมีไดเบรกอยู่สองครั้ง ครั้งแรกคือเรื่อง ความลับ (1998 / เรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่สูญเสียภรรยาในอุบัติเหตุ แต่วิญญาณของเธอกลับมาสิงในร่างของลูกสาวแทน ฉบับภาษาไทยตีพิมพ์โดย Maxx Publishing) เล่มนี้ได้รางวัลชนะเลิศจากสมาคมนักเขียนนิยายลึกลับสืบสวน ถูกดัดแปลงเป็นหนังกับซีรีส์ด้วย

     “อีกครั้งคือปี 2006 ที่ออก กลลวงซ่อนตาย แล้วได้รางวัลนาโอกิในปีเดียวกัน” รางวัลที่พี่ลีนพูดถึงคือรางวัลที่มอบให้กับนวนิยายที่เป็นวรรณกรรมมวลชน ซึ่งเขียนโดยผู้ที่ยังไม่มีชื่อเสียงหรือเป็นนักเขียนระดับกลางๆ “ปีต่อมาเรื่องนี้ถูกเอาไปทำเป็นละครโทรทัศน์ แล้วก็ทำเป็นหนังในปี 2008 ซึ่งประสบความสำเร็จมาก ทำรายได้ไป 4,900 ล้านเยน” 

     หลังจากนั้นเคโงะก็ขึ้นแท่นเป็นนักเขียนเบสต์เซลเลอร์ คนเริ่มสนใจและพากันติดตามอ่านงานของเขา แน่นอนว่ารวมถึงผลงานเก่าๆ ทั้ง 28 เล่มนั้นด้วย

     “ปีนี้ (2021) อาจารย์เคโงะอายุ 63 ปี เขียนหนังสือมา 36 ปีแล้ว เขียนต่อเนื่องไม่เคยหยุด” 

     แค่ฟังถึงท่อนนี้เราก็นึกอยากพนมมือไหว้แล้ว เพราะแค่จะเขียนต้นฉบับชิ้นนี้เราก็ใช้เวลาไปมากโข (ฮือๆ) ยิ่งสำหรับนิยายสไตล์เคโงะที่พล็อตล้ำแบบเดาไม่เคยถูก เขียนมาตั้ง 36 ปีไม่หมดมุกได้ยังไงกัน

     “เขาจะเปลี่ยนแนวการเขียนไปเรื่อยๆ พล็อต อาชีพ หรือกิจกรรมของตัวละครจะไม่ซ้ำกันเลย After School เป็นคุณครูมัธยม ซีรีส์กาลิเลโอเป็นอาจารย์ฟิสิกส์ในห้องทดลองมหาวิทยาลัย ฆาตกรรมหิมะ พระจันทร์ ดอกไม้ เล่มแรกของซีรีส์คางะ (1986) ก็พูดถึงกีฬาเคนโด้กับพิธีชงชาญี่ปุ่นโบราณอย่างละเอียดด้วย เคโงะจะใส่วัฒนธรรมหลายๆ อย่างเข้าไปในนิยายของเขา ถ้าคิดในแง่การตลาด เขาถือว่าหว่านแหได้ครบทุกวงการ

     “จนถึงปัจจุบันทุกเล่มของเขาก็ยังมีความแปลกอยู่ แต่ที่น่าสนใจก็คือ ถึงจะแปลกก็ยังมีความเป็นเคโงะ คือการใช้บทสนทนาดำเนินเรื่อง เข้าใจง่าย ตัวละครไม่เยอะ ปล่อยปริศนาให้คนคิดตามตลอด และยังมีประเด็นสะท้อนสังคมเยอะ โดยเฉพาะปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว”

     พี่ลีนยกตัวอย่างเรื่อง กลลวงซ่อนตาย (อีกครั้ง แต่เล่มนี้มันดีจริงว่าไม่ได้) เพื่อให้เราเห็นภาพมากขึ้น

     “เรื่องนี้มีสืบสวน ดราม่า สะท้อนปัญหาการศึกษา สังคมญี่ปุ่น ความสัมพันธ์ในครอบครัว มิตรภาพระหว่างเพื่อน โดยยุกาว่า มานาบุ ต้องเลือกว่าจะช่วยระหว่างเพื่อนสมัยเรียน หรือคืนความยุติธรรมให้คนที่ตายไป นอกจากเนื้อหาที่ชวนขบคิดมาตลอดทั้งเรื่อง ก็ยังสร้างความรู้สึกปวดตับระดับเทพให้คนอ่าน (หัวเราะ) ตอนพี่อ่าน กลลวงฯ ถึงหน้าสุดท้ายคือเหม่อเลย ทำไมถึงจบแบบนี้ ที่ตัวร้ายพยายามทำมาทั้งหมดคืออะไรเนี่ย” 

     อยากบอกว่าเข้าใจพี่ลีนมากค่ะ เพราะตอนเราอ่านจบก็คือพลิกกลับไปอ่านปกหลังอีกรอบ ‘หากคุณไม่มีความสุข สิ่งที่ผมทำลงไปก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย’ แล้วเข้าใจทุกอย่างทันทีว่า งานเขียนของเคโงะมีความเป็นมนุษย์สูงมาก จนเราแอบเห็นใจคนร้ายแทบทุกเล่ม

     “อาจารย์มักจะเซอร์ไพรส์ในสิ่งที่เราคาดไม่ถึงเสมอ เลยทำให้เราสนุกและกระตุ้นให้อยากอ่านต่อ เหมือนกระตุ้นโดปามีน ข้อดีในงานเขียนเขาคือไม่ใช่แค่สนุกอย่างเดียว เพราะเวลาตัวละครไปเจอแม่ เจอลูก เจอแฟน เกิดมีเหตุการณ์หนึ่งขึ้น เราก็จะกลับมาทบทวนชีวิตตัวเองด้วยว่าแม่ ลูก แฟน หรือคนของเราเป็นแบบนี้ๆ

     “แล้วทุกตัวละครของอาจารย์จะอยู่ใกล้ตัว อันนี้จะแตกต่างจากตะวันตก เช่น เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ที่อยู่ในอดีต เป็นคนรวยๆ บ้านใหญ่ๆ แต่ของเคโงะคือคนข้างบ้านเรา ครอบครัวฐานะปานกลางถึงยากจน หรือคนธรรมดา เป็นครู เป็นอาจารย์ ก็เป็นตัวเอกได้ เวลาอ่านเลยรู้สึกว่ามันเกิดขึ้นได้จริงๆ ความอิมแพคต่อใจเลยเยอะ เพราะเรารู้สึกว่าคดีที่เขาเขียนทั้งหมดนั้นสามารถทำได้และไขได้จริง”

     พอเราบอกว่า ฟังดูแล้วก่อนลงมือเขียนน่าจะรีเสิร์ชหนักมาก เพราะไม่อย่างนั้นคงทำให้คนอ่านรู้สึกจริงและตื่นเต้นขนาดนี้ไม่ได้ พี่ลีนก็รีบเสริมเลยว่า “ปรัชญาการทำงานของเขาคือ เขียนในสิ่งที่เขาไม่รู้ เขาจะไปค้นๆๆๆ แล้วค่อยเขียน ถ้ารู้แล้วก็ไม่เขียนละ (หัวเราะ)”

     ดูท่าว่าพนมมือไหว้น่าจะไม่พอแล้ว เราคงต้องเตรียมก้มกราบเบญจางคประดิษฐ์

2

     พอนึกถึงหนังสือที่พาให้เรามาเจอพี่ลีน ก็นึกถึงกระแสไอดอลเกาหลีที่ทำให้เราได้รู้จักกับเคโงะขึ้นมา

     “กลลวงซ่อนตาย นี่ออกมาช่วงที่มีกระแสไอดอลเกาหลีอ่านพอดีใช่มั้ยคะ” 

     “ช่วงปี 59-60 งานหนังสือจะมีปรากฏการณ์ที่บูทต่างๆ พากันติดป้ายเล็กๆ ว่า ‘จงอินอ่าน’ แล้วหนังสือที่มีป้ายนั้นจะขายดีมาก เล่ม กลลวงฯ คือต้องเอามาขายทั้งสต็อกถึงจะพอ ซึ่งถ้าดาราในเมืองไทยมาช่วยกันอ่านหนังสือ ก็อาจจะช่วยประเทศชาติได้มากเลยนะ เหมือนเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนมาสนใจ

     “ปัจจุบันมันยากที่คนจะสนใจหนังสือ เพราะหนังสือมีความช้า ไม่เหมือนหนังที่กระแทกสายตา มองปุ๊บแล้วเราสามารถรับสารได้ทันที แต่บางทีเราว่าพวกภาพเคลื่อนไหวก็เป็นสื่อที่เร็วเกินไป ก็เลยสู้หนังสือในแง่ของการก่อกำเนิดไอเดียไม่ได้ ด้วยความช้าของแต่ละคำที่เราจะอินพุตเข้าไป มันมีเวลาให้สมองเราตอบโต้กลับ 

     “ก็ดูง่ายๆ ประเทศที่เขาพัฒนาเศรษฐกิจกันจนเป็นมหาอำนาจ ประชาชนเขาอ่านหนังสือกันมาก เพราะเขามีเวลาคิด”

     พี่ลีนยังเล่าอีกว่า การสร้างหนังสือให้น่าสนใจเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมองว่าปัจจัยที่ทำให้คนรู้ว่าหนังสือสนุกนั้นมีน้อย 

     “คนเรามันอยากรู้คำตอบตลอด ถ้าเกิดว่าปิ๊งคำถามขึ้นมา เราจะไม่หยุดคิดเรื่องนั้นจนกว่าจะรู้คำตอบ หนังสือสืบสวนก็เอาธรรมชาติของสมองอันนี้มาเล่น ขอให้เขียนปริศนาลงไปในทุกๆ หน้า คนอ่านจะไม่หยุดอ่าน เพราะอยากรู้ว่ากับดักที่ปล่อยเอาไว้ จะมีคำตอบว่าอะไร แล้วหนังสือสืบสวนของเคโงะก็ตอบโจทย์มาก ตัวละครไม่กี่ตัว เนื้อหาซับซ้อน น่าติดตาม แต่อ่านง่าย การทำเรื่องลึกซึ้งซับซ้อนให้ง่าย อันนี้คืออัจฉริยภาพนะ (หัวเราะ)

     “ถ้าเปรียบเหมือนปลาหมึกยักษ์ หนังสือสืบสวนก็เหมือนมีหนวด 2,000 เส้น อ่านไปแต่ละหน้าปริศนาก็จะยิ่งดูดให้เราอ่านไปเรื่อยๆ พออ่านถึงตอนจบ ปริศนาที่ดูดให้เราเกิดความอยากรู้ที่สุด มันก็หักมุม อยู่ดีๆ หนวดที่ดูดเรามาก็ปล่อยออก เราก็รู้สึกงง มันอย่างนี้ก็ได้เหรอ เราก็จะโหยหาความรู้สึกแบบนี้อีก เพราะมันหาจากที่อื่นไม่ได้ เราก็จะถูกกระตุ้นให้อยากอ่านเล่มต่อไป อันนี้ก็เป็นกระบวนการส่งเสริมการอ่านอย่างแยบยลของนิยายสืบสวน”

3

     ก่อนจะขอตัวกลับ เรามองไปที่ชั้นหนังสือของสำนักพิมพ์ไดฟุกุซึ่งเต็มไปด้วยผลงานของเคโงะ เอกลักษณ์ของซีรีส์กาลิเลโอ คือหน้าปกจะเป็นสีดำและมีไอเทมที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องอยู่ตรงกลาง ในขณะที่ซีรีส์คางะจะคาดแถบขาวบนปก และเล่มเดี่ยวอื่นๆ จะมีสไตล์ที่แตกต่างกันออกไป เราจึงถามส่งท้ายถึงเรื่องหน้าปกว่ามีความแตกต่างจากต้นฉบับบ้างมั้ย

     “ด้วยความที่หน้าปกฉบับญี่ปุ่นจะเป็นแนวคลาสสิก ปกจะไม่หวือหวามาก เราก็เลยเลือกที่จะทำปกเอง เพราะถ้าจะใช้ปกเดียวกับญี่ปุ่น ก็ต้องซื้อลิขสิทธิ์ มันก็เป็นต้นทุนของหนังสือ เราไม่อยากให้หนังสือมันแพงมาก เดี๋ยวคนซื้อลำบาก” พี่ลีนเล่าให้ฟังก่อนจะเดินไปหยิบต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นมาให้เราดูประกอบ แน่นอนว่ากรี๊ดแตกไปหนึ่งรอบ เพราะมันเป็นหนังสือไซส์เล็ก ขนาดประมาณหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น น่ารักมาก (แต่เนื้อหาคือสืบสวนชวนสมองไหล)

     “เหตุผลที่เขาทำเล่มเล็กก็เพราะตัวอักษรญี่ปุ่นหนึ่งตัวนั้นอาจจะเล่าเรื่องได้เท่ากับตัวอักษรไทยสักแปดตัว แล้วหนังสือญี่ปุ่นจะออกเล่มใหญ่มาก่อนเพื่อทำการตลาด เพราะเล่มใหญ่ตัวอักษรก็ใหญ่ เหมาะกับผู้ใหญ่ จากนั้นอีกสักปีหรือสองปีค่อยออกเล่มเล็กตามมา” 

     พี่ลีนหยิบหนังสือเล่มเล็กแล้วขยับกระดาษเล็กๆ ที่คาดปกให้ดู 

     “อันนี้เขาเรียกว่าโอบิ คือสายคาด ประโยคนี้บอกว่า ‘ฮิงาชิโนะ เคโงะ ผู้ที่เซอร์ไพรส์โลกทั้งใบ’”

     “ส่วนอันนี้ กลลวงฯ ของจีน ขายได้ล้านเล่ม ของไทยแค่หมื่นเล่มก็ดีใจแล้ว มันเลยเป็นสาเหตุว่าทำไมถึงติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ได้ยากเย็นนัก เพราะคนที่ทำงานขายลิขสิทธิ์ต้องดีลกับหลายประเทศทั่วโลก เขาเลยดีลกับคนไทยช้าหน่อย เพราะยอดขายมันต่างกันมาก”

     สะเทือนใจยิ่งนัก…

     ส่วนยอดขายที่ญี่ปุ่นในปัจจุบันยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะพี่ลีนบอกเลยว่า

     “จัดเป็น ‘ของมันต้องมี’ ในร้านหนังสือ ในญี่ปุ่นไม่มีใครไม่รู้จักยุกาว่า มานาบุ แล้วก็ไม่มีใครไม่รู้จักฮิงาชิโนะ เคโงะ ด้วย”