MANGA-MAN
เส้นทางการต่อสู้ของชายหนุ่มผู้ฝันอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน ราคาที่ต้องจ่ายระหว่างทาง และเป้าหมายใหญ่ที่จะใช้ลายเส้นเปลี่ยนสังคม
เรื่อง: ธีรภัทร์ เจนใจ
ภาพ: ธนพล แก้วแดง
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจคอนเทนต์ประเด็นสังคม-การเมืองบนโซเชียลมีเดีย เป็นไปได้ว่าคุณจะเคยเห็นและหัวเราะให้กับผลงานของ ‘สะอาด’ หรือ ‘ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์’ เจ้าของเพจ ‘Sa-ard สะอาด’ และ ‘ครอบครัวเจ๋งเป้ง’ มาแล้ว
มากไปกว่านั้น ก็อาจเป็นเพราะผลงานในเพจและหนังสือของเขานั่นเอง ที่หยิบประเด็นร้อน พร้อมนำเสนอบางมุมที่เราอาจมองข้ามไป มาขัดถูด้วยลายเส้นง่ายๆ และจังหวะตลกร้ายสไตล์คนไทย ให้เงาวับส่องแสงสะท้อนสู่สายตา จนเราต้องสนใจและหาข้อมูลเรื่องเหล่านั้นต่อ
“ไม่มีสื่อชนิดไหนที่จะส่งความรู้สู่สังคมกลุ่มใหญ่ได้เหมือนหนังสือ”
เขาเชื่อมั่นแบบนั้น พอๆ กับที่เชื่อว่าความเป็นมิตร ความเข้าถึงง่ายของการ์ตูน จะทำให้คนเข้าใจปัญหาสังคมไม่มากก็น้อย แต่กว่าที่เขาจะได้การยอมรับ ได้รางวัลจากการประกวดการ์ตูนระดับนานาชาติ กระทั่งล่าสุดกับผลงาน การศึกษาของกระป๋องมีฝัน การ์ตูนบันทึกประสบการณ์ชีวิตในระบบการศึกษาไทย ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากนักอ่านไทยหลายคน เส้นทางการเป็นนักเขียนการ์ตูนของเขาไม่ง่าย—ไม่ง่ายเหมือนกับที่หลายคนยังแยกคำว่า ‘ไส้แห้ง’ ออกจากอาชีพนักเขียนนักวาดไม่ได้
เราจึงอยากชวนคุณพลิกกลับไปที่หน้าแรกๆ ของชีวิตเขา เลื่อนสายตาไปทีละช่อง แล้วอ่านเรื่องราวชีวิตนักเขียนการ์ตูนไทย ผู้มีฝันใหญ่เกินกว่าจะวาดได้หมดในหน้าเดียว
ยังจำความรู้สึกของการอ่านครั้งแรกๆ ในชีวิตได้ไหม
ได้ ตอนนั้นน่าจะ ป.2-3 จำชื่อหนังสือไม่ได้ มันเป็นการ์ตูนของสำนักพิมพ์หมึกจีน ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นการ์ตูนที่มีเด็กเป็นแดร็กคิวลา เล่มหนาประมาณหกร้อยหน้า มันเป็นเล่มแรกที่เราอ่านจบโดยไม่อ่านข้ามเลย จริงๆ ก่อนหน้านี้ก็อ่านการ์ตูนมาบ้าง อ่านข้ามๆ ไม่ชอบอ่านตัวหนังสือเยอะๆ แต่เล่มนี้มันสนุกมากจนเราต้องอ่านทุกตัวอักษร และเราก็มีความอยากเอาชนะหนังสือเล่มหนาด้วย ก็เลยภูมิใจที่อ่านจบเป็นครั้งแรก
เริ่มอ่านด้วยตัวเองหรือว่ามีใครแนะนำให้อ่าน
เราอ่านตามพี่สาวกับพี่ชาย คนที่อิมพอร์ตหนังสือการ์ตูนเข้ามาในบ้านส่วนใหญ่คือพี่ชาย ด้วยความที่มีตังค์ค่าขนมเยอะกว่าเรา คือมันเป็นเหมือนวัฒนธรรมในบ้าน เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างเราพี่น้อง เด็กโอตาคุสามคนที่ไม่ได้มีความสนใจอะไรใกล้กันเลย ยกเว้นเรื่องการ์ตูนกับการเขียนการ์ตูน แล้วพี่ชายก็เป็นคนเริ่มวาดการ์ตูนในบ้านด้วย เรากับพี่สาวก็เลยวาดบ้าง แล้วก็เอามาแลกกันอ่าน
การ์ตูนแนวไหนที่พี่ชายเอาเข้าบ้าน
พวกการ์ตูนต่อสู้ ผจญภัย โชเน็น (Shonen) เป็นการ์ตูนที่ผลิตเพื่อนักอ่านเด็กผู้ชาย ถือเป็นแนวการ์ตูนสายแมสของญี่ปุ่น เรื่องราวก็ว่าด้วยพวกความฝัน มิตรภาพ การต่อสู้เพื่อไปสู่ชัยชนะ ทุกวันนี้ก็ยังอ่านแนวๆ นั้นอยู่นะ ส่วนหนึ่งเพราะตลาดการ์ตูนที่เข้ามาในไทยเกือบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์เป็นโชเน็นด้วย จะมีแนวที่เราอ่านต่างไปจากพี่ๆ บ้างคือ ขายหัวเราะ เราอ่านการ์ตูนไทยบ้าง เพราะอยากรู้ว่าเขาวาดกันแบบไหน แต่ที่ไม่ค่อยได้อ่านคือการ์ตูนของ Marvel และ DC
จนช่วง ป.5-6 ตอนนั้นเริ่มมีตังค์ค่าขนมเยอะหน่อย ก็เริ่มซื้ออ่านเองเยอะขึ้น แต่ถ้าซื้อแบบเป็นล่ำเป็นสันเลยก็คือ ม.1 เพราะได้เข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ การ์ตูนที่อ่านก็ยังแนวเดิม จะมีเพิ่มเข้ามาก็นิตยสารซึ่งมันพาเราไปสู่ความสนใจใหม่ๆ ได้เจอการ์ตูนแนวใหม่ๆ เริ่มรู้จักการ์ตูนสายยุโรป สายอเมริกา เจอนักวาดที่เราชอบ
โลกการอ่านการ์ตูนที่บ้านเกิดกับกรุงเทพฯ ต่างกันแค่ไหน
ต่าง สมัยก่อนเพื่อนๆ ที่ปากช่องไม่ค่อยมีใครอ่านหนังสือการ์ตูน ส่วนใหญ่จะดูจากทีวีมากกว่า ตอนเราเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนพิเศษเตรียมเข้า ม.1 เรามาเช่าห้องอยู่กับญาติอีกคน ความบันเทิงมีอยู่สองอย่างคือเล่นเกมเจ้างูน้อยในมือถือกับอ่านหนังสือการ์ตูน จำได้ว่าที่หน้า ม.รามคำแหง มีร้านขายการ์ตูนราคาถูกมาก เราก็ซื้อมาอ่านทุกวัน ซื้อแหลก คือราคามันถูกมากจนเราซื้อไม่เลือกเลย ทั้งห่วย ทั้งดี มีหมด เราก็เลยเข้าถึงการ์ตูนมากขี้น บวกกับตอนนั้นการ์ตูนเถื่อนเริ่มมา เราก็อ่าน เริ่มรู้จักร้านคิโนะคุนิยะด้วย แล้วก็พบว่า โห การ์ตูนในญี่ปุ่นมันเยอะขนาดนี้เลยเหรอวะ
คุณเล่าไว้ใน การศึกษาของกระป๋องมีฝัน ว่าสมัยเด็กไม่กล้าเอาการ์ตูนที่วาดเล่นไปโชว์เพื่อน เพราะอะไร?
เขิน เรารู้สึกว่าการวาดการ์ตูนมันดูเนิร์ด สำหรับเราตอนนั้นสายประกวดคือเท่ ถ้าเราวาดสีน้ำแบบนั้นได้คงดีมากเลย โรงเรียนคงจะยอมรับในตัวเรา แต่การ์ตูนช่องไม่ใช่
ส่วนหนึ่งเราว่าเป็นเพราะระบบที่โรงเรียนสร้างขึ้นด้วย คือเราจะไม่มีทางได้รับรางวัลในโรงเรียนจากการวาดการ์ตูน ขณะเดียวกันการวาดการ์ตูนช่องมันเป็นการฝึกทักษะการเล่าเรื่องมากกว่าฝึกวาดให้สวยงาม พอเรียนวิชาศิลปะ เราได้คะแนนน้อยกว่าเพื่อนที่ไม่ได้ชอบวาดรูปด้วยซ้ำ ก็เลยคิดว่าสิ่งที่เราชอบคงไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกยอมรับในพื้นที่นี้ และเอาเข้าจริง เราก็ไม่ได้สนใจที่จะต้องถูกยอมรับในพื้นที่นี้ด้วย เราเลยเก็บการ์ตูนไว้กับตัวเองดีกว่า
มองย้อนกลับไปแล้วรู้สึกแปลกไหม ทั้งๆ ที่เด็กส่วนใหญ่เติบโตมากับการ์ตูน แต่เราต้องสนใจแบบหลบๆ ซ่อนๆ เหมือนเป็นสิ่งไม่ดี
เราเข้าใจนะ สังคมทุกที่เวลาเจอของใหม่ก็จะตั้งท่าด้วยความกลัวไว้ก่อน ลองคิดดูว่า ถ้าคอนเทนต์ของเพจ คาราโอเกะชั้นใต้ดิน มีมาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผู้ใหญ่แม่งก็คงตื่นตัว เด็กจะต้องบ้าการเมือง แปลกประหลาด อันตรายแน่ๆ เหมือนที่ ขายหัวเราะ ก็เคยโดนเมื่อ 30 ปีก่อน มีงานวิจัยสายสื่อสารมวลชนเป็นตั้งๆ เลยนะที่บอกว่า ขายหัวเราะ จะเป็นอันตราย การ์ตูนผีเล่มละบาทก็ด้วย แล้วตอนนี้เป็นไง ทั้งสองอย่างกลายเป็นของคลาสสิกไปแล้ว สังคมเปลี่ยน เปิดกว้างขึ้น ยอมรับมากขึ้น
เหมือนที่ผู้ใหญ่เคยกลัวว่าถ้าเด็กเล่นมือถือเยอะๆ มันจะเป็นนู่นเป็นนี่ แต่ทุกวันนี้ทุกคนเล่นมือถือกันหมด เหมือนกับพวกเราที่โตขึ้นแล้วเข้าใจว่าการ์ตูนไม่ได้ทำอันตรายอะไร ตอนเด็กๆ เราอ่านการ์ตูนฆ่ากัน โตมาก็ไม่ได้อยากฆ่าคน
แล้วเด็กยุคนี้ก็เปลี่ยนไปด้วย สมัยพวกเราเป็นเด็ก เราก็เชื่อฟังผู้ใหญ่ว่าการอ่านการ์ตูนมันผิด แต่ยุคนี้เด็กไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องผิด ถ้าครูมาฉีกหนังสือการ์ตูนแบบที่เราเคยโดนสมัยก่อน เด็กยุคนี้ก็คงเถียงว่าครูละเมิดสิทธิ การโต้ตอบของเด็กก็เปลี่ยนไปด้วย
คุณว่าเพราะอะไรการ์ตูนถึงเข้ากับเด็กได้ง่ายกว่าสื่อชนิดอื่นๆ
มันมีงานวิจัยอยู่นะ แต่เราจำไม่ได้ชัดๆ เขาบอกว่าลายเส้นคาแรกเตอร์ที่ถูกตัดทอนจากโลกความเป็นจริง ยิ่งมันถูกตัดทอนมากเท่าไร คนอ่านก็จะยิ่งแทนตัวเองกับตัวละครได้มากเท่านั้น สมมติว่าเราเห็นภาพโมนาลิซ่าแบบเพนต์ติ้ง เรียลลิสติกโคตรๆ เราก็จะรู้สึกว่าไม่สามารถเข้าไปแทนโมนาลิซ่าได้ โมนาลิซ่าก็คือโมนาลิซ่า แต่ถ้าภาพโมนาลิซ่าโดนตัดทอนเหลือแค่เส้นวงกลม เป็นจุดๆ เราก็เอาตัวเราเข้าไปแทนได้ ดังนั้นการ์ตูนที่ลดทอนรายละเอียดจากความเป็นจริงจึงทำให้เด็กสวมตัวเองเข้าไปเป็นตัวละครนั้นได้ง่ายกว่า
แต่ดูเหมือนการ์ตูนของคุณจะไม่ได้เน้นสื่อสารกับเด็กเท่าไร จริงๆ แล้วคุณอยากสื่อสารกับใคร
นักเขียนบางคนเขาจะเลือกโฟกัสเลย ถ้าจะอบอุ่นก็อบอุ่นทั้งชีวิต แต่ถ้าเอางานของเรามาวางเรียงกันที่แผง คนอ่านไม่รู้เลยนะว่ากูควรจะรู้สึกกับมึงยังไงดี เล่มแรกการเมือง เล่มสองเรื่องการศึกษา เล่มสามเกี่ยวกับครอบครัว เล่มสี่วิทยาศาสตร์ แม่งบ้าแล้ว
เหมือนเราใช้วิธีคิดแบบคนทำอัลบั้มดนตรี อย่างโมเดิร์นด็อก อัลบั้มทั้งหกชุดไม่เหมือนกันเลย เราก็รู้สึกว่า เชี่ย แบบนี้โคตรเจ๋งเลย แต่พอมันเอามาทำกับหนังสือก็ไม่รู้ว่าเวิร์กหรือเปล่านะ
แล้วเราก็เพิ่งจะมาคิดวางแผนกลุ่มเป้าหมายเอาตอนหลังๆ นี่เอง ตอนแรกคิดว่าจะต้องจับกลุ่มคนอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นหรือเปล่า โอตาคุไปเลย แต่พอได้คุยกับคนอ่านจริงๆ เราพบว่าไม่ใช่ว่ะ คนอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นไม่ได้ชอบงานเราทุกคน คนที่ชอบงานเราส่วนใหญ่ไม่ได้ชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น แต่เป็นคนที่จริงจังกับชีวิต อาจด้วยสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาตั้งแต่แรกมันคงทำให้เราดูเป็นคนตั้งคำถามกับชีวิต มีเซนส์อารมณ์ขันบางอย่างที่คนกลุ่มนี้ชอบ
ถ้าคิดในแง่สื่อ เราก็อยากทำให้มันอ่านได้ทุกเพศทุกวัย อาจจะไม่ได้ชอบกันทุกเพศทุกวัยหรอก แต่ทุกเพศทุกวัยจะสามารถอ่านมันได้ อย่าง ครอบครัวเจ๋งเป้ง ถ้าตัดเรื่องการเมืองออกไปก็สามารถอ่านได้ทุกเพศทุกวัยนะ การศึกษาของกระป๋องมีฝัน ตอนแรกเราคิดว่าต่ำสุดก็คงประมาณ ม.ต้น หลักๆ น่าจะเป็น ม.ปลาย นักศึกษา แต่กลายเป็นว่าคนที่ซื้อแล้วอินกับมันมากที่สุดกลับเป็นคนที่เรียนจบไปแล้ว เหมือนทุกคนมีประสบการณ์ร่วมกัน เห็นภาพทั้งหมดของระบบการศึกษาแล้ว
คุณไม่กังวลเหรอว่าการนำประเด็นที่จริงจัง สะท้อนสังคม-การเมืองในรูปแบบการ์ตูนจะทำให้คนอ่านเชื่อถือน้อยลง
เราเป็นคนที่เคยกังวลเรื่องนี้ ยิ่งแต่ก่อนเราวาดคาแรกเตอร์ตัวเองใส่ปี๊บคลุมหัว มันยิ่งดูไม่น่าเชื่อถือเข้าไปใหญ่ พอใส่ความแฟนตาซีเข้าไปในงานสารคดีก็ยิ่งแปลก แต่ตอนเขียนเราก็มีความเชื่อลึกๆ ว่ามันน่าจะทำได้ ซึ่งก็น่าตกใจที่เรายังไม่เคยเจอใครมองแบบนั้น เป็นไปได้ว่าคนยุคนี้สามารถรับสารที่เป็นเรื่องจริงผสมเรื่องแต่งได้เป็นธรรมชาติแล้ว อย่าง meme หรือคอนเทนต์แบบเพจ หนังฝังมุก เพจ คาราโอเกะชั้นใต้ดิน มันก็คือการเอาเรื่องจริงมาประกบกับเรื่องแต่ง แต่คนอ่านก็สามารถเก็ตได้ว่า ใจความหลักของคอนเทนต์คืออะไร
อะไรคือจุดเริ่มต้นของการเล่าเรื่องจริงจังด้วยการ์ตูน
ไม่แน่ใจเหมือนกัน อาจเป็นเพราะ hesheit (ผลงานของ วิศุทธิ์ พรนิมิตร) ก็ได้มั้ง ตัวละครวัยหนุ่มผู้ตั้งคำถามทุกอย่างกับสังคม บวกกับการอ่านนิตยสารที่ทำให้เราได้รู้จักโลกของนักเขียนวรรณกรรม ซึ่งมันต่างจากโลกของนักเขียนการ์ตูนมากๆ นักเขียนการ์ตูนส่วนใหญ่จะโตมากับเกม การ์ตูน โอตะคุหน่อยๆ เสพป๊อปคัลเจอร์ อาจจะชอบภาพยนตร์บ้าง แต่นักเขียนวรรณกรรมเขาน่าจะโตมากับเรื่องปัญหาที่ดิน ชนชั้นแรงงาน ปัญหาเชิงโครงสร้าง อำนาจนิยม ซึ่งตอน ม.ต้น เราอ่านงานเหล่านี้ไปพร้อมๆ กับการ์ตูน นักเขียนที่ชอบก็อย่างเช่น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล หรือ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ แนวผู้ชายลุยๆ บุกป่าฝ่าดง
เอาจริงๆ อย่าง การศึกษาของกระป๋องมีฝัน ไอเดียแรกคือเราอยากให้มันเป็นเหมือน มหาวิทยาลัยชีวิต ในศตวรรษที่ 21 เพราะคุณเสกสรรค์ชอบเล่าเรื่องส่วนตัว แต่พาคนอ่านไปถึงปัญหาระดับโครงสร้าง ดราม่าหน่อยๆ มีความเป็นกวีด้วย เราก็เลยอยากพรีเซนต์เรื่องส่วนตัวที่มันสะท้อนสังคมในวงกว้างได้บ้าง
โลกของการอ่านหนังสือพาเราไปสู่โหมดจริงจัง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า เวลาเราอยู่ในโลกโรงเรียน เรารู้สึกว่ามันไม่จริงก็เลยพยายามหาอะไรที่จริงมาใส่ตัวตลอดเวลา
แล้วเป็นตอนไหนที่คิดอยากวาดการ์ตูนจริงจัง
ม.1 ตอนนั้นพี่ชายเราเรียนอยู่ปี 1 ยุคนั้นหนังสือทำมือกำลังมา พี่ชายก็ทำแล้วชวนเราไปวาดในเล่มด้วย เลยได้เริ่มทำต้นฉบับจริงจัง มีการตัดเส้น มีสตอรี่บอร์ด ได้ประชุม ได้แก้ร่วมกัน ก็รู้สึกสนุกดี หลังจากนั้นก็ต่อยอดมาสู่การโพสต์ลงอินเทอร์เน็ต เริ่มรู้สึกว่าการ์ตูนไม่ใช่เรื่องที่จะต้องอายเพื่อนแล้ว เริ่มเขียนการ์ตูนส่งไปให้คนที่ชอบ เริ่มศึกษา เริ่มอ่านในแบบที่ต่างจากตอนประถม ตอนประถมอ่านเอาสนุก แต่พอโตขึ้นเราเปลี่ยนมาอ่านในมุมของคนเขียน เริ่มคิดว่าทำไม 20th Century Boy ถึงเล่าเรื่องได้สนุกขนาดนี้วะ เขามีวิธีการวางมุมกล้องยังไง เริ่มศึกษาวิธีเขียนบท เขียนบทความลงบล็อก เริ่มรู้จักการวางองค์ประกอบศิลป์ องค์ความรู้เหล่านี้มันค่อยๆ เข้ามาในชีวิตพร้อมๆ กับการอ่านและเขียนที่จริงจังมากขึ้น
แต่ถ้าคิดจริงจังแบบอยากทำเป็นอาชีพ คือตอน ม.5 เป็นช่วงที่ลองส่งผลงานไปตีพิมพ์ในนิตยสารและได้รับการตีพิมพ์
ไม่กังวลกับคำที่คนชอบพูดว่านักเขียนการ์ตูนไส้แห้ง?
ถ้ามาถามตอนประถม อาชีพนักวาดการ์ตูนสำหรับเราคืออาชีพที่ตัดออกไปได้เลย เพราะเราคิดว่ามันน่าจะเป็นยากกว่าหมอ เรารู้ว่าถ้าตั้งใจเรียนมากๆๆๆๆ ก็น่าจะพอเป็นหมอได้ มันมีเส้นทางอยู่ แต่นักเขียนการ์ตูนมันเหมือนต้องมีพลังวิเศษอะไรบางอย่างถึงจะเขียนออกมาแล้วดัง มีชื่อเสียง แล้วรวย มันดูเป็นอีกโลกหนึ่งที่เราไม่รู้ว่าจะไปถึงได้ยังไง
แต่ช่วงเราเรียน ม.ปลาย คนหันมาอ่านการ์ตูนไทยมากขึ้น เริ่มเห็นภาพนักเขียนการ์ตูนไทยมีชื่อเสียง เริ่มมีรายได้ แต่เราก็ยังคิดอยู่นะว่ามันไส้แห้งแหละ เพราะอย่างนั้นสิ่งที่เราต้องฝึกก็คือการอดข้าว (หัวเราะ) คือกูเตรียมไส้แห้งไปเลย ไม่หวังรวยจากสิ่งนี้ แค่อยากลองจริงจังกับอะไรสักเรื่องดู ซึ่งพลังแบบนี้น่าจะมาจากการอ่านนิตยสาร a day และการ์ตูนแนวโชเน็น เหมือนเราอยากเขียนการ์ตูนเพื่อมุ่งมั่นไปสู่ชัยชนะในชีวิต กูต้องพยายามสุดชีวิต ทำเต็มที่สักครั้งหนึ่ง มายด์เซตแบบนี้แหละที่ผลักเราไปสู่การเขียนการ์ตูนโดยที่ไม่ได้สนใจโลกความเป็นจริงเท่าไร
อะไรทำให้คุณศรัทธาแรงกล้าขนาดนี้
เวลาที่อยู่ในโรงเรียนเราจะรู้สึกเสมอว่ามันมีแต่ความไม่จริง เด็กนักเรียนก็ลอกๆ ข้อสอบกันไป เอาคะแนนไปงั้นๆ ครูก็สอนไปงั้นๆ ผอ.ก็บริหารไปงั้นๆ แต่โลกการทำงานที่เราสร้างขึ้นมาเป็นโลกคู่ขนานกัน มันจริงมากๆ เราได้เงินจริงๆ จากมัน ได้ทำงานกับมืออาชีพ มีตลาด มีคนอ่านจริงๆ มีคนชอบและมีฟีดแบ็กจริงๆ โลกการ์ตูนมันดูแฟนตาซี เป็นโลกในจินตนาการมากๆ ใช่ไหม แต่สำหรับเราแม่งโคตรจริง จริงยิ่งกว่าโรงเรียนหลายเท่า พอเราโฟกัสแบบนี้แล้ว เรื่องอนาคต เรื่องพ่อแม่ หรือแรงเสียดทานที่มันรายล้อมเราอยู่ก็ไม่ใช่ปัญหา
จะว่าไปชีวิตคุณก็เหมือนการ์ตูนเหมือนกันนะ
อาจเพราะเราไปเซตให้มันเป็นแบบนั้นด้วย สำหรับเรามันเกือบจะเป็นศาสนาด้วยซ้ำ อย่างช่วงเรียนปี 1 เราซิ่ว เราอกหัก ทะเลาะกับพ่อแม่เพราะอยากเลิกเรียนหนังสือเพื่อไปเขียนการ์ตูนอย่างเดียว แต่ก็แพ้ ต้องกลับมาเรียนต่อตามใจพ่อแม่ เรายอมตั้งใจเรียนๆ ไปให้จบเพื่อจะได้เขียนการ์ตูนเต็มตัว ตอนนั้นคิดถึงขนาดว่า ต่อให้โลกทั้งใบจะทิ้งกู แต่การ์ตูนจะไม่ทิ้งกูไปไหน (หัวเราะ) ทุ่มเทให้ผู้หญิงก็อาจจะไม่ได้อะไรกลับมาก็ได้ แต่การ์ตูนจะซื่อสัตย์กับเรา ถ้าพยายามทำงานดีๆ ชิ้นหนึ่ง มันก็จะกลายเป็นงานดีๆ ที่เราชอบ แม้คนอ่านจะฟีดแบ็กยังไงก็ตาม แต่มันจะเป็นงานที่เราภูมิใจแน่นอน
เคยคิดไหมว่าการเซตให้ชีวิตเหมือนการ์ตูนอาจเป็นทางเดินที่ผิด
เคย ก่อนหน้านี้เราไม่เคยรู้สึกท้อเลย จนวันที่เราเจอ financial crisis เพราะพ่อเราป่วย เราต้องจ่ายเงิน 50,000 บาทในคืนเดียว จริงๆ ก็หารกับพี่น้อง แต่เงินเก็บของเราหายพรึบไปในคืนเดียว เราพบว่าต่อให้กูโคตรเท่ ได้ออกสื่อ ได้พูดอุดมการณ์ ความฝัน ไปสอนให้คนนั้นคนนี้ทำตามฝัน แต่โมเมนต์ที่ต้องจ่ายเงินให้โรงพยาบาล คุณค่าในตัวเรามันอยู่ใกล้กับจำนวนเงินที่มีมากๆ เลย
อีกเรื่องคือการแต่งงาน มันเป็นอีกจักรวาลเลย ครอบครัวของฝ่ายหญิงก็อยากได้ความมั่นคงว่าเราจะดูแลชีวิตลูกของเขาได้ แต่เราดันเป็นฝ่ายซ้ายที่เชื่อว่าคนมีคุณค่าในหลายๆ แบบ งานเขียนก็มีคุณค่าของมันนะเว้ย ซึ่งความคิดแบบนี้ที่เราได้มาจากมาร์กซิสต์มันเอาไปขายบ้านแฟนไม่ได้ไง มันจะเป็นเรื่องปัญญาอ่อนไปเลยในโลกสังคมทุนนิยมที่เงินเป็นใหญ่… เฮ้ย มันไม่เกี่ยวกับการอ่านหนังสือแล้วนี่หว่า (หัวเราะ)
ไม่เป็นไรหรอกมั้ง คนอ่านน่าจะเข้าใจ ว่าแต่คำตอบที่ได้จากวิกฤตในครั้งนั้นคืออะไร
สุดท้ายการ์ตูนก็ยังทำเงินให้เราได้มากที่สุดอยู่ดี ก็ต้องแก้ปัญหาการเงินด้วยการวางแผน ทำบัญชีให้ละเอียด รัดกุมมากขึ้น เพราะเราก็ต้องอยู่ในโลกทุนนิยมแบบนี้ต่อไป ต้องออกแบบให้สิ่งที่เราชอบมันไปด้วยกันได้ดีกับเรื่องรายได้ ส่วนปัญหาอย่างพ่อป่วยหรือแต่งงาน (นิ่งคิด) สำหรับเรามันกลายเป็นเรื่องรอง เราต้องเอาตัวเองให้รอดก่อน กูต้องรักตัวเองก่อน ต่อให้เราจะไปทำอาชีพอื่นที่ได้เงินมากกว่านี้ แต่แก่นของเราต้องโอเค ต้องทำด้วยความยินยอมพร้อมใจ ไม่ได้กดคุณค่าของตัวเองลง
ในเชิงการทำงานเราก็วางแผนมากขึ้น กลับมาดูสกิลที่เรามีว่ามันจะไปสู่การจ้างงานอะไร เป็นโปรดักต์อะไรได้บ้าง อย่างตอนนี้เราทำงานเขียนบท มีงานครีเอทีฟที่ทำร่วมกับทีมแอนิเมชั่น คือเราเอาบทมาคิดเป็นภาพ เพื่อให้ทีมแอนิเมชั่นไปทำต่อ เป็นคอลัมนิสต์การ์ตูนแก๊ก เขียนการ์ตูน เขียนการ์ตูนสารคดีซึ่งต้องไปขอทุนจากองค์กรเพื่อเอามานำเสนอประเด็นในสังคมที่เราสนใจ ทำสติกเกอร์ไลน์ เอาคาแรกเตอร์จากการ์ตูนของเราไปทำเสื้อ โปสต์การ์ด สมุด รับออกแบบโปสเตอร์ เขียนบทความด้วย นับๆ ดูตอนนี้ก็หลายสิบอย่าง
มีทางไหนที่นักเขียนการ์ตูนไทยจะทำเงินได้แบบนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นไหม
นับแค่หนังสือการ์ตูนใช่ไหม?
ใช่
โห กูก็อยากรู้เหมือนกัน (หัวเราะ)
อย่างตอนที่คุณไปรับรางวัลที่ญี่ปุ่น (Silver Award International Manga Awards 2007) เห็นความแตกต่างของวงการการ์ตูนไทยและญี่ปุ่นไหม
เอาง่ายๆ คือ One Piece ออกเล่มใหม่ เขาเอามาวางขายกันหน้าเซเว่นฯ มีโปสเตอร์โฆษณาแปะทั่ว มีโฆษณาขึ้นบิลบอร์ดเลยด้วยมั้ง One Piece เล่มหนึ่งมีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก ไม่นับว่ามันยังเปลี่ยนไปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีก
เราว่าวัฒนธรรมการอ่านกับวัฒนธรรมการซื้อคือเรื่องสำคัญ ที่ญี่ปุ่นบ้าอ่านกันอยู่แล้ว พอ One Piece สามารถเริ่มต้นพิมพ์ได้หลักแสนหลักล้านเล่ม ราคาต่อเล่มก็เลยต่ำมากๆ อาจจะเท่ากับราเมนหนึ่งชาม แต่ในไทยมันกลับกัน ราคาดีดขึ้นสูงมาก เพราะจำนวนพิมพ์น้อยลงเรื่อยๆ กลุ่มคนอ่านในไทยก็เลยเหลือแค่คนเมือง คนต่างจังหวัดเข้าไม่ถึงเลย ร้านหนังสือก็ไม่มี ห้องสมุดก็หาหนังสือการ์ตูนไม่ได้
อุตสาหกรรมหนังสือบ้านเรากำลังจะเป็นของเฉพาะกลุ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขายแบบพรีออร์เดอร์อย่างเดียว ทำให้เป็นของสะสม พิมพ์เท่าที่คนสั่ง ทั้งที่หนังสือมันควรจะแมส เพราะไม่มีสื่อชนิดไหนที่จะส่งความรู้สู่สังคมกลุ่มใหญ่ได้เหมือนหนังสือ ถ้าเราดูประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมดจะเห็นเลยว่าเขาใส่ใจกับหนังสือมาก
ถึงจะบอกว่าอุตสาหกรรมการ์ตูนไทยเป็นแบบนี้ แต่เร็วๆ นี้คุณก็เพิ่งเปิดสำนักพิมพ์ของตัวเองเองนะ
ใช่ ด้วยมายด์เซตแบบว่า หนังสือบางเล่มมันต้องมีในสังคมว่ะ เราในฐานะของคนทำสำนักพิมพ์มองคนละมุมกับเราในฐานะนักเขียน นักเขียนก็อยากให้หนังสือขายได้เยอะๆ มีแฟนประจำ แต่สำนักพิมพ์จะคิดว่า คนซื้ออาจมีไม่มาก แต่คนอ่านอาจจะมากกว่านั้น ถ้ามันไปอยู่ในห้องสมุด ถ้ามันไปอยู่กับอาจารย์ที่จะแนะนำให้นักเรียนอ่านและสนับสนุนเรื่องราวแบบนี้ต่อไป อย่าง การศึกษาของกระป๋องมีฝัน เราแจกแหลกเลย อยากให้คนได้อ่าน อยากให้มันกระจายสู่วงกว้าง หนังสือเล่มต่อจากนี้เราก็อยากให้เป็นแบบนั้น เพราะอยากให้คนจำนวนมากได้รับสารบางอย่างกลับไป
เป้าหมายการวาดการ์ตูนของคุณทุกวันนี้คืออะไร
มีสามอย่าง อย่างแรกคือ เป็นคนเขียนการ์ตูนที่สามารถเลี้ยงชีพได้ มีคุณภาพชีวิตที่โอเคในสังคมทุนนิยมแบบนี้ ที่รัฐไม่มีสวัสดิการให้แบบนี้
สอง เราอยากมีความทะเยอทะยานสร้างงานการ์ตูนที่ดีขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในนั้นก็คือเราอยากเขียนซีรีส์การ์ตูนบาส หรือการ์ตูนต่อสู้สักเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นความฝันตั้งแต่เด็กๆ
สาม เรามีเป้าหมายทางสังคม อยากสื่อสารในสิ่งที่เราคิดว่าสำคัญต่อสังคม จะพยายามใช้ศักยภาพที่มีในการสื่อสารเรื่องเหล่านี้ออกไป ซึ่งทั้งสามอย่างนี้ ทิ้งอันใดอันหนึ่งไปไม่ได้