Thu 17 Sep 2020

PATSION

หนึ่งในแพสชั่นที่ขัดเกลาให้ ‘แพต’ เป็นแพต
คือการอ่านหนังสือที่ทำให้ขบคิดต่อไปอีกหลายวัน

      เราได้ยินคนพูดคำว่า ‘passion’ อยู่บ่อยครั้ง แต่น้อยคนที่จะอธิบายถึงหน้าตาของมันได้ด้วยความเชื่อมั่นที่เต็มเปี่ยม

     หนึ่งในน้อยคนนั้นคือ แพต—ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช หญิงสาวผู้ใช้ชีวิตได้สนุกและเต็มที่ ทั้งกับผลงานการแสดงในหลายๆ บทบาท และกิจกรรมยามว่างอีกหลายสิ่ง ความเต็มที่ของเธออยู่ในระดับที่วัยรุ่นส่วนใหญ่เห็นแล้วคงยอมยกเหรียญทองความแอ็กทีฟให้

     วันที่เราได้เจอกัน เธอเล่าให้ฟังว่า แพสชั่นคือเส้นตรงที่พุ่งออกจากตัวเอง ทะยานไปข้างหน้าไม่มีจุดสิ้นสุด 

     “และบนเส้นตรงนั้นก็คืองานศิลปะ การแสดง และหนังสือ” 

     น้ำเสียงแพตเรียบนิ่งและหนักแน่นยิ่งขึ้นเมื่ออธิบายว่า เธอเชื่อว่าเส้นตรงเส้นนี้จะพาให้ไปเจอ ‘แก่น’ หรือความจริงบางอย่างของชีวิตได้ ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่เธอปรารถนาจากการแหวกว่ายในมหาสมุทรที่บรรจุตัวอักษรไว้มหาศาลอย่างการอ่านหนังสือ

     หากเข้าไปในเฟซบุ๊กส่วนตัวของแพต ก็จะพบกับอัลบั้มรูปถ่ายชื่อว่า ‘where is my glasses’ ซึ่งเต็มไปด้วยรูปหนังสือที่เธอดำผุดดำว่ายจนจบ พร้อมความรู้สึกที่ตกตะกอน สั้นบ้าง ยาวบ้าง เพื่อบันทึกว่าคนที่งานรัดตัวอย่างเธอ ในหนึ่งปีจะอ่านหนังสือได้สักกี่เล่ม

     เสียดายที่เราลืมถามถึงที่มาของชื่ออัลบั้ม แต่เราก็คิดเอาเองว่า เธอคงใช้แว่นตาในการอ่านหนังสือเป็นประจำเลยต้องเอ่ยประโยคถามหาอยู่บ่อยๆ แล้วเราก็คิดเองอีกว่า เมื่ออ่านบทสัมภาษณ์นี้จบ คุณอาจจะได้รับแว่นตาที่มีเลนส์พิเศษซึ่งทำให้ภาพของนักแสดงผู้นี้เปลี่ยนไป ไม่มากก็น้อย

จุดสตาร์ตการอ่านหนังสือของคุณอยู่ที่ไหน

     โรงเรียน ช่วงมัธยมเราเรียนที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เป็นโรงเรียนประจำ ซึ่งห้ามพกโทรศัพท์ มีทีวีให้ดู แต่พอรายการข่าวจบปุ๊บ กำลังจะเข้าละครก็ปิดเลย สมัยนั้นเราไม่รู้จักละครสักเรื่องเลยนะ กลับมาบ้านวันเสาร์-อาทิตย์เห็นดาราในทีวีก็ไม่รู้จักสักคน ดังนั้นนอกจากนอน เมาท์กับเพื่อน ทำการบ้านซึ่งเราก็ไม่ค่อยทำอยู่แล้วด้วย ก็เลยหาหนังสือมาอ่าน 

หนังสือเล่มแรกที่คุณเอาไปอ่านที่โรงเรียนคือ?

     เครยอนชินจัง ซึ่งโดนยึดบ่อยมาก เพราะโรงเรียนไม่ยอมให้อ่านหนังสือที่มันดูติงต๊อง แต่เราไม่ยอม พอครูยึดก็ซื้อใหม่ ยอมซื้อเล่มเดิมด้วยนะถ้าโดนยึดก่อนอ่านจบ

     ทีนี้ด้วยความที่กลุ่มเพื่อนๆ ในโรงเรียนก็ซื้อหนังสือมาอ่านเหมือนกัน เราก็จะเอามาแลกกันบ้าง มีทั้งคนที่อ่านหนังสือภาษาอังกฤษ เป็นพวกนิยายเวิ่นเว้อไปเลย บางคนก็อ่านหนังสือภาษาไทย หรือไม่ก็เป็นพวกนิยายของสำนักพิมพ์แจ่มใส ทำให้เราได้รู้จักเล่มอื่นๆ มากขึ้น เราลองอ่านทุกแบบนะ แต่ก็พบว่าไม่สามารถพาตัวเองเข้าไปรวมกับเนื้อหาแนวความรักแบบนี้ได้เลย

แล้วเป็นตอนไหนที่การอ่านหนังสือเปลี่ยนจากกิจกรรมที่ชอบทำเพราะไม่มีตัวเลือก มาเป็นกิจกรรมโปรดที่เลือกทำเวลาว่าง

     น่าจะเป็นช่วงเรียนปี 1 ตอนนั้นเพิ่งเข้าสังกัดนาดาวฯ พี่ๆ ในนาดาวฯ จะคล้ายกับเพื่อนที่โรงเรียนคือใครอ่านหนังสือเล่มไหนแล้วชอบก็จะเอามาแชร์กัน ได้รู้จักกับพี่ไมเคิล (ศิรชัช เจียรถาวร) กับพี่กันต์ (ชุณหวัตร) แล้วเขาก็แนะนำให้รู้จักกับ พันธุ์หมาบ้า ของ ชาติ กอบจิตติ เขาบอกว่าสนุก เราก็ลองอ่าน พอเริ่มเท่านั้นแหละ โอ้โห เต็มข้อเลย ต่างจาก ฮารูกิ มูราคามิ คนละขั้ว อ่านยาวเลยจ้ะทีนี้ ความรู้สึกตอนที่ได้อ่านคือมันพลิกโลกเลยนะ ช็อกด้วย เพราะก่อนหน้านั้นคือเราอ่านแค่ ชินจังฯ หนังสือนอกเวลาที่โรงเรียนบอกให้อ่าน กับมูราคามิ ตัดภาพมาอีกทีก็เป็นงานน้าชาติเลย (หัวเราะ) 

ที่ว่าพลิกโลกมันเป็นยังไง?

     มันฮิปส์ มันสะใจมาก สำหรับเรางานน้าชาติมีความเป็นมนุษย์สูงมากๆ ไม่เปลือกที่สุดแล้ว มันคือแก่นจริงๆ จากจิตใต้สำนึกมนุษย์ โคตรดิบ แล้วภาษาการเล่าก็จริงมากๆ เล่าถึงดินสีแดงก็ได้กลิ่นของมันออกมาจริงๆ อ่านแล้วสะใจ

     จริงๆ ก่อนเข้ามหา’ลัยเราเคยอ่าน Sputnik Sweetheart (รักเร้นในโลกคู่ขนาน) ของมูราคามิ เพราะเพื่อนแนะนำ แต่อ่านแล้วรู้สึกว่ามันไม่ค่อยสะใจเท่าไหร่ ลองอ่านเล่มอื่นๆ ของเขาก็ยังไม่คลิก เลยเลิกอ่านไปดื้อๆ สำหรับเรางานของมูราคามิต้องใช้เวลานานพอสมควรถึงจะรู้สึกคลิกด้วย ถามว่างานของเขาสวยงามมั้ย สวย จินตนาการเป็นยังไง ดีมาก เป็นหนังสือที่มีกลิ่น ทำให้คนอ่านมีอารมณ์ร่วมได้ แต่ต้องคลิกกับเขาให้ได้ก่อน นั่นคือเสน่ห์ของมูราคามิ

พอได้อ่านงานของน้าชาติแล้ว เคยกลับไปมองไหมว่าทำไมถึงไม่คลิกกับมูราคามิ

     คงเป็นความสนใจของตัวเองด้วย เราชอบศึกษาเรื่องมนุษย์ ชอบพูด ชอบคุย ชอบทำความเข้าใจ อยากมีประสบการณ์กับโลกใบนี้ หนังสือก็คงเหมือนรสชาติอาหาร เราอาจจะชอบรสขมหน่อย แล้วฟีลในงานน้าชาติมันไปถึงแก่น รู้สึกถึงความจริง หลังจากได้อ่าน พันธุ์หมาบ้า เราก็เริ่มหาหนังสือที่มีรสชาติประมาณนี้อ่านอีกหลายเล่ม ซึ่งก็แปลกดีที่มักจะเป็นงานของนักเขียนรุ่นก่อนๆ ที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน แต่ก็ใช่ว่าเป็นนักเขียนรุ่นเก๋าแล้วเราจะคลิกทุกเล่มนะ เราเองก็ไม่ได้คลิกกับงานของน้าชาติทุกเล่ม แต่ถึงอย่างนั้นเราก็อ่านจนจบได้นะ เพราะเราก็ยังชอบภาษาของเขาอยู่ดี 

     เราชอบคนที่เขียนแล้วเท่ เท่เพราะเขาเขียนความจริง อย่าง ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เราก็ชอบ แม้ว่าเขาจะออกแนวผู้ชายเซ็กซี่ โรแมนติก passionate หน่อยๆ ภาษาไม่ได้โหดอย่างน้าชาติ แต่คนเหล่านี้เหมือนเกิดมาเพื่อเป็นนักเขียนจริงๆ 

มีหลักในการเลือกซื้อหนังสือไหม หรือเลือกอ่านแนวไหนเป็นพิเศษ

     ส่วนใหญ่ก็คุยกับเพื่อน ใครเจอเล่มไหนสนุกดีก็มาบอกกัน แลกกัน เราไม่ได้มีแนวหนังสือที่ชอบชัดเจน แต่ถ้าพูดถึงช่วงนี้ก็จะชอบหนังสือที่กระเทาะไปถึงแก่นของมนุษย์ ขอให้เป็นหนังสือที่พูดถึงแก่นของชีวิต จะวิชาการ ปรัชญา  จิตวิทยาก็ชอบ หรือเป็นนิยายเข้มๆ ก็ได้ …นี่เราจะดูเป็นคนแปลกๆ มั้ยถ้าลงบทสัมภาษณ์นี้ไป (หัวเราะ)

ไม่ค่อยอ่านหนังสือป๊อป?

     ก็อ่านนะ แต่เรารู้สึกว่าบางเล่มมันก็แฟชั่นไปหน่อย อ่านแล้วไม่ค่อยได้อะไร มันไม่ perplex เท่าไหร่ หนังสือที่เราชอบบางเล่มพออ่านจบแล้วมันทำให้เราต้องนึกถึงสิ่งนั้นไปเรื่อยๆ ขบคิดต่อไปอีกหลายวัน มัน deep กว่าดูหนังอีกนะ เพราะหนังต้องอาศัยหลายองค์ประกอบ ทั้งบท นักแสดง ผู้กำกับ ภาพ ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งดรอปไปมันก็จะไม่ซึมเข้ามาในตัวเรา แต่หนังสือจะมีแค่ฉันกับหนังสือ ไม่มีส่วนประกอบอื่น อย่าง จนตรอก (ชาติ กอบจิตติ) อ่านจบแล้วเราซึมไปเลยสองวัน เก็บมาคิดอยู่ตลอดเวลา ดื่มกาแฟแล้วก็ถอนใจ โห เขียนได้ยังไง เป็นแบบนี้อยู่คนเดียว หรือ เสียงพูดสุดท้ายของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ (วรพจน์ พันธุ์พงศ์) เล่มนั้นอ่านแล้วร้องไห้เลย

อินกับหนังสือมากขนาดนี้ มีหนังสือเล่มไหนที่ถือเป็นเล่มเปลี่ยนชีวิตไหม

     ไม่มี สำหรับเรา หนังสือที่อ่านทุกเล่มมันค่อยๆ ทับถมกันไปเรื่อยๆ จนเป็นเราในบางพาร์ตทุกวันนี้

แล้วมันส่งผลกับการเป็นนักแสดงบ้างหรือเปล่า

     มันไม่ได้ช่วยแค่การแสดงนะ แต่มันช่วยชีวิต ทำให้เรามีความคิดหลายเลเยอร์ บางประโยคในหนังสือสามารถเข้าไปพัฒนาภายในของเรา หนังสือช่วยให้ระบบความคิดของเราถูกพัฒนาขึ้นไปเป็นอีกเลเวลหนึ่ง มันช่วยให้เรามีคลังคำศัพท์ในสมองเยอะ การอธิบาย การพูด การวิเคราะห์ จะถูกพัฒนาไปเป็นอีกระดับหนึ่ง ไม่รู้จะอธิบายยังไง แต่นอกจากมันจะเติมอะไรเข้าไปในตัวเราแล้ว มันก็ช่วยคัดกรองบางอย่างในสมองออกไปด้วย

     ส่วนในเรื่องการแสดง เคยเทียบเอาเองระหว่างเพื่อนสองคน คนหนึ่งอ่านหนังสือ อีกคนไม่อ่าน การพรีเซนต์ความจริงผ่านการเคลื่อนไหวร่างกายตอนแสดงจะต่างกันมาก อาจจะบอกไม่ได้ว่าเป็นเพราะการอ่านหนังสือร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ร่างกายแสดงความรู้สึกออกมาได้มากกว่าคนที่ไม่อ่านหนังสือ ความรู้สึกอาจจะละเอียดอ่อนมากขึ้น เพราะถึงจุดหนึ่ง การอ่านหนังสือจะทำให้เรารู้สึกได้ถึงรูป รส กลิ่น เสียงในตัวหนังสือ 

การอ่านนิยายกับการอ่านบทต่างกันแค่ไหน

     บทละครหรือบทภาพยนตร์จะไม่ได้ทำให้เราเห็นภาพชัดมากเท่ากับนิยาย บทถูกเขียนขึ้นเพื่อนำไปทำงานในเชิงภาพกันต่อ แต่หนังสือถูกเขียนเพื่อให้ทุกวินาทีที่เรากระพริบตา เลื่อนตาไปแต่ละบรรทัด เราต้องได้ภาพในหัว มันเลยต่างกันสำหรับเรา

     การอ่านหนังสือช่วยให้อ่านบทได้สนุกขึ้น เราจะจินตนาการถึงตัวละครนั้นๆ เพิ่มจากที่บทเขียนไว้ คิดแทนว่าตัวละครนี้จะพูด จะทำอะไร บางทีก็อาจจะรู้สึกต่อต้านกับสิ่งที่บทเขียนมา ก็จะเอาไปคุยแลกเปลี่ยนกับพี่ๆ ผู้กำกับ ทำไมตัวนั้นเป็นอย่างนี้ ตัวนี้คิดแบบนั้น ซึ่งเท่าที่ทำงานมาพี่ๆ เขาก็ยินดีรับฟัง สนุกไปกับเราด้วย

คนอ่านหนังสือมักจะมีนิสัยการอ่านเฉพาะตัว คุณมีนิสัยการอ่านแบบไหน

     เป็นคนอ่านหนังสือได้ทุกเวลา ตอนอยู่ในกองถ่าย พี่ๆ กำลังแต่งหน้าให้เราก็อ่านหนังสือไปด้วย เป็นช่วงหนึ่งที่อ่านหนังสือได้เยอะ เพราะแต่งหน้าก็เป็นชั่วโมงนะ ช่วงยังไม่ถึงคิวถ่ายของเราก็อ่านได้ อ่านอีกทีก็ก่อนนอน เป็นช่วงที่อ่านหนังสือได้นานที่สุด 

อ่านทีละเล่ม หรือสลับไปมาตามอารมณ์?

     อ่านให้จบทีละเล่ม แต่ก็ไม่ใช่คนที่จะอ่านหนังสือให้จบทุกเล่ม ถ้ารู้สึกว่าอ่านต่อไม่ได้แล้วก็เลิกอ่าน ไม่ค่อยรู้สึกเสียดาย อาจจะแค่รู้สึกเซ็ง ทำไมวะ ทำไมถึงเลือกเล่มนี้มา มันเสียเวลานะถ้าอ่านไปสักพักแล้วมันไม่ใช่ ก็ทนเซ็งสักแป๊บหนึ่ง แล้วก็ ok, next. (หัวเราะ) 

     มันก็เหมือนเราเลือกคบเพื่อนแหละ ถ้าไปต่อไม่ได้ ก็คือไม่ได้… เอ้ย! อยู่ดีๆ ก็คมเฉยเลย

คุณเรียนจบด้านการออกแบบมา จำเป็นไหมว่าหนังสือที่ซื้อต้องปกสวย

     ก็ไม่ขนาดนั้น แต่ก็มีหลายครั้งที่เราตัดสินใจซื้อหนังสือจากปก เนื้อหาข้างในเป็นยังไงไม่รู้ แต่เห็นปกแล้วรู้สึกว่าต้องมีเล่มนี้ในตู้หนังสือของฉัน พอเป็นคนแบบนี้แล้วมันเปลืองตังค์มากเลยนะ (หัวเราะ) อย่างบางวันไปกินข้าวที่เอ็มบาสซี แล้วขึ้นไปดูหนังสือที่ร้านชั้นบน โดยที่ไม่ได้คิดอยากซื้อเล่มไหน แต่พอเห็นปกสะดุดตาก็หยิบเลย มันคงเป็นเพราะเรา appreciate กับงานศิลปะอยู่แล้วด้วย เวลาไปเที่ยว ถ้าเจอร้านหนังสือก็จะแวะ ถ้าเจอหนังสือประเภทที่ต้องโดนให้ได้ก็จะหอบกลับบ้าน ซึ่งไม่รู้จะหอบกลับมาทำไม ที่กรุงเทพฯ ก็น่าจะมีขายหรือเปล่า แต่ไม่รู้แหละ ขอเอากลับมาไว้ก่อน อุ่นใจ 

เคยหาหนังสือมือสองในร้านหนังสือเก่าหรือตามกระบะลดราคาไหม

     เคย แต่จะมีปัญหาหน่อยตรงที่หนังสือพวกนี้ขอบปกไม่สวยบ้างล่ะ สภาพไม่ได้บ้างล่ะ มองๆ แล้วก็ อืมมมม…มันดูไม่ใช่ของของฉันเลยนะ

สำหรับคุณแล้ว หนังสือคืออะไร

     มองเป็นแพสชั่นเรื่องหนึ่ง (นิ่งคิด) พี่เข้าใจคำว่าแพสชั่นไหม สำหรับเราคือเวลาหลับตาแล้วมันจะมีเส้นตรงพุ่งออกจากตัวเรา พุ่งออกไปเรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด บนเส้นนั้นก็คืองานศิลปะ หนังสือ โดยเฉพาะการแสดง เราลำดับความสำคัญสิ่งนี้เป็นที่หนึ่งในชีวิต เพราะเราเชื่อว่ามันจะพาเราไปสู่แก่นของชีวิต เราเชื่อว่ามันอยู่บนเส้นตรงเส้นนี้แหละ เราเลยหลงใหลและมีความสุขในโมเมนต์ที่เราเชื่อมต่อกับหนังสือ 

     พอเรารู้ลำดับความสำคัญของชีวิต เราแฮปปี้มากเลยนะ เราสามารถตอบได้เต็มปากเต็มคำว่าเรารักตัวเองจริงๆ เราทำสิ่งนี้เพราะเรารักจริงๆ ไม่ได้ทำหรือพูดเพื่อสร้าง persona ของเราขึ้นมา แต่มันเป็นกระดูกสันหลังของเรา และเราก็ภูมิใจตัวเองมาก เพราะกว่าจะมาถึงจุดนี้ คิดได้แบบนี้ มันยากมาก ต้องต่อสู้กับตัวเอง ต้องเรียนนั่นนี่ และการอ่านหนังสือก็เป็นส่วนหนึ่ง ไม่มากก็น้อย ที่ทำให้เราเป็นแบบนี้ 

     จะมองว่าหนังสือเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตก็ได้ ถ้าไม่ได้อ่านนานๆ ก็รู้สึกขาด เหมือนถ้าเราไม่ได้ฟังเพลงเลยตลอดวัน ถึงบ้านก็คงวิ่งเข้าไปใส่หูฟังแล้วเปิดเพลง หนังสือก็เป็นแบบนั้นสำหรับเรา 

เพราะหนังสือเรียกร้องเวลาและสมาธิจากเรามากกว่าสิ่งอื่นหรือเปล่า คนส่วนใหญ่ก็เลยเลือกอยู่กับสื่ออื่นๆ 

     ก็ใช่ เพราะแบบนี้หนังสือเลยเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้อยู่กับตัวเองมากๆ แต่คนเราทุกวันนี้เลือกที่จะอยู่บนออนไลน์เยอะมาก และทุกอย่างก็ผ่านไปเร็วมากด้วย คน 80 เปอร์เซ็นต์เลยมั้งที่ไม่ค่อยอยากอยู่กับตัวเอง หรือแก่นของตัวเอง ใช้เวลากับตัวเองน้อยเกินไป บางคนก็เลยหนีห่างจากการอ่านหนังสือ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เรียกร้องให้เรากลับมาอยู่กับตัวเอง ทั้งๆ ที่เวลาเราอ่านหนังสือจบสักเล่มมัน meaningful มากเลยนะ

     สำหรับเรา การอ่านหนังสือถือเป็นกิจกรรมที่ปกติมากๆ เหมือนการฟังเพลง เหมือนดูหนัง แต่ก็เข้าใจว่าเวลาคนทำหน้าสงสัยแล้วเข้ามาถามเราว่าอ่านหนังสือนานๆ ได้ยังไง ทำไมถึงชอบอ่านหนังสือ เราคิดว่าเขาแค่ยังไม่เจอเล่มที่ใช่ ไม่เจอนักเขียนที่ใช่ ถ้าคุณยังไม่เจอสิ่งที่ใช่ ก็ไปต่อได้ยาก เหมือนงานศิลปะ เหมือนเพลง มันยากที่จะแนะนำหนังสือให้ใคร เขาต้องไปหาสิ่งนั้นด้วยตัวเอง เพราะถ้าไม่ออกไปค้นหาด้วยตัวเองก็ไม่มีใครหรอกที่จะหาสิ่งนั้นให้คุณได้ 

     สุดท้ายแล้ว เราว่ามันจะดีมากเลยถ้าคนบนโลกนี้อ่านหนังสือทุกคน มันน่าจะยกระดับโลกนี้ไปเลย คงศิวิไลซ์มากๆ เราเชื่อว่าหนังสือมีพลังมากพอที่จะทำสิ่งนี้ได้  

ขอขอบคุณ ร้าน untitled coffee project สามย่านมิตรทาวน์ สำหรับการเอื้อเฟื้อสถานที่