Fri 11 Dec 2020

WE MET AT THE BOOKSHOP

เราพบกันที่ร้านหนังสือ: บันทึกรักการอ่านของพลอยเรียนจบแล้วทำไรต่อ?

     สำหรับคนที่ปล่อยให้ฝุ่นเกาะโทรทัศน์มาเป็นเวลานานเช่นผม การได้รู้จัก พลอยไพลิน ตั้งประภาพร จึงไม่ใช่ผ่านละครหลายเรื่องที่เธอแสดง หากเป็นผ่านหน้าฟีดเฟซบุ๊ก เพราะมิตรสหายหลายท่านพากันกระหน่ำแชร์วิดีโอจากเพจที่มีชื่อสะดุดสายตาว่า พลอยเรียนจบแล้วทำไรต่อ? จนทำให้ผมสงสัยว่าการเรียนจบของใครคนหนึ่งน่าสนใจถึงขนาดทำให้หน้าฟีดเต็มไปด้วยเรื่องราวของเธอได้อย่างไร 

     ผมกดคลิกเข้าไปดูแล้วก็พบว่า อ๋อ หญิงสาวที่อยู่ในวิดีโอชื่อพลอย เธอเรียนจบแล้ว และเดินทางไปฝรั่งเศส โดยใช้เส้นทางรถไฟทรานส์ไซบีเรีย เส้นทางที่จะทำให้เธอต้องตะลุยผ่าน 7 ประเทศกว่าจะได้กล่าวบองชูร์กับโมนา ลิซ่า

     แต่หลังจากนั้นเธอไปทำอะไรต่อ ผมก็ไม่รู้ จนกระทั่ง…

เราพบกันที่งานหนังสือ

     จะใช้คำว่าเราก็คงไม่ถูก เพราะจริงๆ เป็นแค่ผมมากกว่าที่พบพลอย

     ย้อนกลับไปช่วงมีนาคม 2562 ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ระหว่างระงับใจไม่ให้หอบหิ้วหนังสือกลับบ้านมากเกินไป สายตาผมก็เหลือบไปเห็นผู้คนหนาแน่นกำลังเรียงคิวต่อแถวกันอยู่ ด้วยความอยากรู้อยากเห็น สองขาจึงก้าวนำสายตาไปปะทะกับนักเขียนคนหนึ่งที่นั่งอยู่ต้นแถวนั้น 

     ใช่ครับ หลังจากพลอยเรียนจบแล้วไปทรานส์ไซบีเรีย เธอก็มาศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เพื่อแจกลายเซ็นในฐานะผู้เขียนหนังสือ วิชาเดินทางหลังเลิกเรียน 

     การเดินทาง 37 วันใน 8 ประเทศ ถูกบรรจุอยู่ในหนังสือที่มีความหนา 288 หน้า เป็นที่ถูกอกถูกใจของนักอ่านอย่างมาก ถึงขั้นได้รับการตีพิมพ์ซ้ำภายในเวลา 5 เดือน

     หลังจากวันนั้น ผมพบพลอยอีกครั้งเมื่อช่วงต้นปี เพียงแต่คราวนี้เธอไปปรากฏตัวในโรงภาพยนตร์ รับบทบาทเป็น หลิน หญิงสาวผู้เป็นโสดเพราะเห็นผีใน Low Season สุขสันต์วันโสด

     ให้ตายเถอะครับ จากที่เห็นคนชื่นชอบเธออยู่แล้ว ผมกลับรู้สึกว่ามีคนชื่นชอบเธอมากขึ้น และยิ่งมากขึ้นเข้าไปอีก เมื่อพลอยพาตัวเองเข้าไปอยู่ในยูทูบ ทำแชนแนล Pigkaploy เป็นเรื่องเป็นราว

     ผมเห็นพลอยทำคลิปแนะนำสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เกม ดวง ไปจนถึงหนังสือของตัวเอง แล้วผมก็นึกสนุกอยากชวนพลอยเรียนจบแล้วมาแนะนำหนังสือที่ร้านหนังสือ เพียงแต่ไม่ใช่หนังสือที่เธออ่านแล้ว ผมอยากให้พลอยแนะนำหนังสือโดยการเลือกซื้อหนังสือที่เธอยังไม่เคยอ่าน

     เพราะผมคิดเอาเองว่า ถ้าอยากรู้ว่าใครสนใจอะไรในช่วงนั้น หนังสือที่คนคนนั้นเลือกอ่านน่าจะช่วยบอกเราได้ว่าคนเหล่านั้นอยากรู้เรื่องไหน กำลังทุ่มเทเวลาให้กับสิ่งใด

     และอาจบอกได้ว่ามีเรื่องอะไรหลุดรอดความสนใจเราไปบ้างหรือเปล่า

     ผมจึงทำการนัดหมายให้…

เราพบกันที่ร้านหนังสือ

     แม้จะมีแมสก์ปกปิดครึ่งใบหน้า และสวมใส่แว่นตา แต่ทันทีที่เจอพลอย ผมก็รู้สึกได้ถึงรอยยิ้มที่วางอยู่บนนัยน์ตา พลอยกล่าวทักทายอย่างร่าเริง จนผมสามารถข้ามคำถามที่เตรียมเอาไว้ละลายพฤติกรรมอย่างช่วงนี้ทำอะไรอยู่ไปสู่การอธิบายคอนเซปต์ของการพูดคุยกันในครั้งนี้เพิ่มเติมได้ว่า อยากให้พลอยช่วยแนะนำหนังสือให้เรา แล้วเราจะให้พลอยหอบหิ้วหนังสือที่เธอเลือกกลับบ้านไปเป็นการแลกเปลี่ยน

     พลอยทำท่าครุ่นคิดแล้วบอกว่าคุยเรื่องอื่นกันก่อนได้มั้ย เราเลยเดินออกจากร้านหนังสือ แล้วบทความนี้ก็จบลงโดยไม่มีใครได้รู้ว่าพลอยเลือกซื้อหนังสืออะไรสักเล่ม…

     ไม่ใช่สิ เราไปแวะคุยกันที่ร้านกาแฟก่อน 

     “ปกติพลอยอ่านหนังสือมากน้อยแค่ไหน”

     “ตอนเด็กๆ เราอ่านการ์ตูนเยอะมาก แต่ว่าไม่ใช่การ์ตูนแมสอย่าง Naruto หรือ Bleach นะ จะเป็นพวก Liar Game หรือ Deadman Wonderland แล้วส่วนใหญ่ก็จะอ่านการ์ตูนตาหวาน พวกการ์ตูนจากค่ายบงกช”

     “จำการ์ตูนตาหวานที่ชอบได้บ้างมั้ย”

     “จำไม่ได้เลย คือเราอ่านเยอะมาก แล้วมันเป็นชื่อภาษาไทยอารมณ์แบบ รักนี้ฉันให้เธอ ซึ่งมันมีชื่อเรื่องประมาณนี้เยอะมาก เราเลยจำไม่ค่อยได้”

     “ทุกวันนี้ยังอ่านแนวนี้อยู่หรือเปล่า”

     “ไม่ได้อ่านแล้ว มันอาจเลยช่วงที่เราจะเพ้อฝันไปแล้วด้วยมั้ง คือเมื่อก่อนเราจะอยากเจอผู้ชายอย่างในการ์ตูน แต่โตมาแล้วก็รู้สึกว่ามันไม่มีอย่างนั้นหรอก (หัวเราะ) ก็จะขาดความอินไป”

     “ทำไมถึงไม่อ่านการ์ตูนแมสๆ” 

     “พยายามอ่านแล้ว แต่เราไม่ค่อยอินกับพวกปล่อยพลัง อย่าง Naruto ก็จะมีแยกร่าง หรือ One Piece ก็จะมีโจรสลัดที่ปล่อยหมัดปืนยางยืดได้ เราไม่เก็ตกับสิ่งเหล่านี้ จะชอบอารมณ์แบบ Liar Game ที่จะเป็นเกมแบบทฤษฎี สืบสวนสอบสวนหน่อยๆ”

     “พลอยยังอ่านการ์ตูนอยู่มั้ย”

     “แทบไม่ได้อ่านเลย แต่ตอนเรียนมัธยมอ่านเยอะมากนะ ถึงขั้นเอาหนังสือเรียนมาบังหน้าเพื่ออ่านการ์ตูนในห้อง เมื่อก่อนเราจะมีแก๊งเพื่อนสี่คน เราเป็นสายการ์ตูนตาหวาน แต่เพื่อนคนอื่นจะเป็นสายการ์ตูนบู๊ การ์ตูนแมส แล้วในห้องเรียนจะมีล็อกเกอร์ไว้ให้เก็บของ ซึ่งล็อกเกอร์ชั้นล่างของเราเป็นหนังสือการ์ตูนหมดเลย เพื่อนทั้งห้องก็จะมาผลัดกันยืม ที่ตลกคือตอนแรกนอกจากพลอยกับเพื่อนแล้วไม่มีใครอ่านเลยนะ จนคนอื่นคงสงสัยว่าไอ้สี่คนนี้อ่านอะไรกัน ก็จะเริ่มขอยืมแล้วก็บอกต่อกันว่าสนุก กลายเป็นว่าอ่านการ์ตูนกันทั้งห้อง โดยเรากับเพื่อนสี่คนจะเป็นคนคอยอัพเดตว่าสัปดาห์นี้เรื่องไหนมีตอนใหม่ก็จะเอามาวางให้เพื่อนยืมกัน”

     “จำเรื่องล่าสุดที่เพิ่งอ่านหรือดูไปได้บ้างหรือเปล่า”

     พลอยนิ่งคิดด้วยการจิบกาแฟหนึ่งอึก

     “ล่าสุดดูอนิเมะ Demon Slayer: Kimetsu no Yaiba (ดาบพิฆาตอสูร) เป็นเรื่องที่ทำให้กลับไปอ่านการ์ตูนอีกรอบเลย”

     “เรื่องเกี่ยวกับอะไร”

     “พล็อตจะค่อนข้างคลิเช่นิดหนึ่ง เรื่องประมาณว่าครอบครัวของพระเอกถูกปีศาจฆ่า พระเอกก็เลยต้องไปแก้แค้น อาจจะคล้ายๆ กับ One Piece หรือ Naruto ที่ผจญภัยเพื่อกอบกู้โลก”

     “แต่เมื่อกี้บอกว่าไม่ชอบดูแนวนี้ไม่ใช่เหรอ”

     “อันนี้ไม่มีปล่อยพลังนะ”

     ทันใดนั้น น้องในทีมคนหนึ่งที่รับฟังการสนทนามายาวนาน ก็ปรากฏตัวท่ามกลางบทสนทนา ด้วยการบอกว่า “มันปล่อยพลังเต็มๆ เลยนะพี่” เพราะเธอเองก็เป็นแฟนอนิเมะเรื่องนี้เหมือนกัน

     พลอยนิ่งไปครู่หนึ่ง… “เออ แล้วทำไมถึงดูนะ” แล้วก็ระเบิดเสียงหัวเราะ 

     “จำได้ว่าเราดูช่วงโควิด-19 ตอนนั้นคือไม่มีอะไรดู แล้วเรื่อง Kimetsu no Yaiba ดังมากกกก ถึงขั้นติดท็อปในเน็ตฟลิกซ์ เราเลยลองกดดู เหตุผลส่วนหนึ่งที่ชอบอาจเพราะเรื่องที่ทำให้เราเข้าวงการการ์ตูนคือ Inuyasha (อินุยาฉะ เทพอสูรจิ้งจอกเงิน) ซึ่งก็จะคล้ายๆ เรื่องนี้เลย เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นสมัยก่อนที่ตัวละครแต่งตัวด้วยชุดกิโมโน ใช้ดาบฟัน ปล่อยพลัง มีอสุรกายของญี่ปุ่นมาให้ฆ่า ซึ่ง Kimetsu no Yaiba ให้กลิ่นอายคล้ายๆ กัน ก็เลยอาจจะอินเพราะเหตุนี้”

     “ดูจบในรวดเดียวเลยมั้ย”

     “ไม่ เพราะเราหยุดดูเพื่อไปซื้อทีวีใหม่”

     “!!!” 

     “ภาพมันสวยมากกกก คือเราติดมาก ตอนแรกเราดูในคอมพิวเตอร์ เพราะที่คอนโดไม่มีทีวี ซึ่งดูไปถึงตอนที่ 3 เราก็ทนไม่ได้แล้ว มันต้องมีทีวี กดสั่งซื้อเลย แล้วก็ไม่ดูต่อด้วยนะ รอให้ทีวีมาส่งก่อน ค่อยดูใหม่ตั้งแต่ต้น คืออินมาก” พลอยหัวเราะร่วนให้กับความจริงจังของตัวเอง

     “ดูจบก็เลยไปหาการ์ตูนมาอ่านต่อ?” ผมถาม เพราะทราบมาว่าอนิเมะเรื่องนี้ยังเล่าเรื่องราวไม่จบสิ้นดี และในขณะที่คุณอ่านบทความอยู่นี้ Demon Slayer: Kimetsu no Yaiba the Movie: Mugen Train เรื่องราวที่ต่อเนื่องจากอนิเมะก็กำลังเข้าฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์

     “ใช่ๆ ยืมเพื่อนมาอ่านเลย แต่อ่านไปหนึ่งตอนก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ฟีล คืออนิเมะมันดีจนเราไม่อยากไปอ่านมังงะก่อน รู้สึกว่าต้องรู้เรื่องจากอนิเมะ ตอนนี้เลยหยุดอ่านไว้ก่อน แล้วรอดูเวอร์ชั่นภาพยนตร์”

     “นอกจากเรื่องนี้แล้ว ปีนี้พลอยได้ดูหรืออ่านอะไรอีกบ้าง”

     “ปีนี้เราอ่าน 2-3 เล่ม อ่านตอนช่วงโควิด-19 เป็นหนังสือจัดบ้านของ มาริเอะ คนโด (ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านเพียงครั้งเดียว) แล้วก็หนังสือเล่นหุ้น ตอนนั้นรู้สึกว่าต้องหาอะไรทำแล้วก็เลยสั่งออนไลน์มา เราอ่านคนโดจบภายในวันเดียวเลยมั้ง แล้วก็นั่งจัดบ้านจริงจังจนนึกว่าอยู่ในหนังของพี่เต๋อ นวพล แบบว่านั่งจัดของ แล้วก็คิดว่าสปาร์กจอยมั้ยวะ

     “เราชอบที่เขาไม่ได้เล่าแค่เรื่องการจัดบ้าน แต่เขาพูดถึงความสุขในสิ่งของที่เรามีอยู่ว่ามันสำคัญแค่ไหน แล้วมันส่งผลอะไรกับเราบ้าง เหมือนว่าถ้าเราฝึกตัดใจหรือตัดขาดสิ่งหนึ่งไปได้ เราก็จะสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราเลยมานั่งคิดว่าคุณภาพของชีวิตเราจะเป็นยังไงกับของชิ้นนี้”

     “แล้วหนังสือเล่นหุ้นล่ะ”

     “อ่าน แต่เอามาปรับใช้ไม่ค่อยได้ เพราะมันต้องอ่านข่าวประกอบด้วย แล้วเราเป็นคนงงๆ หน่อย เล่นแล้วก็ขาดทุน (หัวเราะ) หนังสือหุ้นไม่ได้ช่วยอะไรเลย”

     “ตอนนี้พลอยอยากอ่านหนังสืออะไร”

     เธอนิ่งคิด ผมจึงเอ่ยปากอีกครั้ง ถึงเวลาที่…

เราพบกันที่ร้านหนังสือ (จริงๆ สักที)

     พลอยบอกว่า เวลาเข้าร้านหนังสือ เธอจะชอบตรงไปดูอันดับหนังสือขายดี หรือไม่ก็หนังสือแนะนำก่อน กับคราวนี้ก็เหมือนกัน เธอชะเง้อดูหนังสือเหล่านั้นสักพัก ก่อนจะเอ่ยขึ้นว่า “มีเล่มหนึ่งที่อยากได้มานานแล้ว”

     เล่มที่พลอยตามหาคือ What If? (จะเกิดอะไรขึ้นถ้า…) หนังสือรวบรวมคำถามแปลกประหลาด เช่น ต้องปล่อยสเต็กจากความสูงเท่าไหร่ถึงจะทำให้มันสุกเมื่อถึงพื้น, ถ้าทุกคนบนโลกกระโดดพร้อมกัน โลกจะยุบไหม หรือถ้าทุกคนบนโลกอยู่ห่างกันสักพักราว 2-3 สัปดาห์ ไข้หวัดจะหายไปจากโลกหรือเปล่า คำถามเหล่านี้ถูกนำมาตอบโดย เรนดัลล์ มุนโร (Randall Munroe) อดีตวิศวกรจากนาซ่า ซึ่งด้วยความรู้ที่เขามีมันทำให้เรื่องวิทยาศาสตร์ที่ดูยากๆ กลายเป็นเรื่องที่อ่านสนุกขึ้นมาทันที

     “ทำไมพลอยอยากอ่านเล่มนี้”

     “เพื่อนบอกว่าเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ที่อ่านง่าย แต่เราเคยเห็นฉบับภาษาอังกฤษแล้ว มันหนามากเลยไม่กล้าอ่าน พอเห็นมีฉบับแปลไทยก็เลยอยากลอง มันเป็นหนังสืออารมณ์แบบเจ้าหนูจำไมนิดหน่อย”

     “ปกติชอบอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์?”

     “ไม่เลย อยากอ่านเพราะเพื่อนแนะนำล้วนๆ (หัวเราะ)”

     ระหว่างเดินหาหนังสือเล่มดังกล่าว พลอยก็หยุดอยู่ที่เชลฟ์หนึ่ง ตรงหัวมุมเชลฟ์นั้น ถูกจัดวางเป็นหมวดหนังสือท่องเที่ยว 

     “เดี๋ยวขอถ่ายรูปกับเชลฟ์นี้ด้วยนะคะ มาตั้งตรงนี้ด้วย ดีใจจัง” พลอยฉีกยิ้มแล้วหัวเราะสนุกสนาน

     เหตุที่เธอพูดอย่างนั้น ก็เพราะว่ามีหนังสือเล่มหนึ่งถูกตั้งเอาไว้อย่างโดดเด่น หน้าปกเขียนว่า วิชาเดินทางหลังเลิกเรียน ที่มุมของปกหน้ามีตัวหนังสือกำกับไว้เล็กๆ ว่า พิมพ์ครั้งที่ 3

     “รู้สึกยังไงบ้างที่หนังสือได้พิมพ์ซ้ำ” 

     “ตอนพิมพ์ครั้งที่ 2 ดีใจมาก แบบว่าอุ๊ย ขายหมดแล้ว”

     “พอพิมพ์ครั้งที่ 3 ล่ะ”

     “ก็รู้สึกว่ามันเวิร์กเว้ย (หัวเราะ)”

     และราวกับถูกเซตเอาไว้ ยังไม่ทันที่พลอยจะได้เดินไปไหน ก็มีแฟนคลับสองคนเดินตรงเข้ามาหาเธอ ในมือของแฟนคลับคนหนึ่งถือหนังสือ วิชาเดินทางหลังเลิกเรียน เอาไว้ แน่นอนว่าพลอยพร้อมที่จะเซ็นหนังสือให้กับผู้อ่านด้วยความยินดี

     “เห็นแบบนี้แล้วพลอยไม่อยากเขียนหนังสืออีกเหรอ” ผมถามหลังจากเธอแยกย้ายกับแฟนคลับ

     “อยากเขียนนะ แต่เราอยากให้เล่ม 1 กับเล่ม 2 เป็นพลอยคนละเวอร์ชั่น อยากให้เป็นพลอยก่อนทำงานกับพลอยหลังทำงานมาระยะหนึ่งแล้ว เราอยากรู้ว่าตัวเองจะมีความคิดยังไง ก็เลยอาจจะทิ้งช่วงนานหน่อย”

     “ตอนเริ่มเขียนหนังสือ พลอยมีนักเขียนที่เป็นต้นแบบบ้างมั้ย”

     “มีๆ คือพี่ชี้ดาบ”

     ชี้ดาบ คือนามปากกาของ เจมส์—ธีรนัย โสตถิปิณฑะ นักเขียนผู้สร้างชื่อจากผลงานบันทึกประสบการณ์อย่าง 1 ปีกับชีวิตที่ผมอยู่ในอเมริกา และ ไปญี่ปุ่นด้วยเงิน 7,000!!

     สำหรับผู้ที่ไม่เคยอ่านงานของชี้ดาบ ต้องบอกก่อนว่าลีลาการเล่าเรื่องของเขานั้น ทั้งบ้าทั้งซ่า รุ่มรวยไปด้วยอารมณ์ขันและประสบการณ์มันๆ จนเราแอบแปลกใจที่พลอยบอกว่าชี้ดาบคือต้นแบบของ วิชาเดินทางหลังเลิกเรียน 

     “เราชอบมากเลยนะ เป็นแฟนคลับเลย (หัวเราะ) คือตอนจะเริ่มเขียน วิชาเดินทางหลังเลิกเรียน เราอยากให้การเขียนของเราเป็นเหมือนการคุยกับเพื่อน ไม่ได้เป็นหนังสือที่บรรยายว่าท้องฟ้ายามค่ำคืนอะไรแบบนั้น เราอยากบอกว่าวันนี้ไปเจออะไรมา อยากถ่ายทอดประสบการณ์ตัวเองให้ได้เหมือนพี่ชี้ดาบ ซึ่งเราเอาก็สิ่งนี้มาผสมกับ Hector and the Search for Happiness ของ ฟรองซัวส์ เลอลอร์ด (Francois Lelord)”

     หนังสือเล่มหลังเป็นนวนิยายว่าด้วยเรื่องราวของ เฮกเตอร์ นักจิตวิทยาที่หลังจากเป็นคนให้คำปรึกษามายาวนาน เขาก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าความสุขคืออะไร จากนั้นก็ออกเดินทางเพื่อไปค้นหาความสุขที่แท้จริงด้วยการบินไปจีน ซึ่งเฮกเตอร์มักจะเขียนสรุปแต่ละเหตุการณ์ที่เขาเจอเป็นบทเรียนไปเรื่อยๆ และนี่ก็เป็นที่มาให้ในหนังสือของพลอยมีการสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์ต่างๆ อยู่ท้ายบท

     “พลอยชอบอ่านหนังสือท่องเที่ยวมั้ย” ผมสงสัย เพราะนอกจากเธอจะชอบเที่ยว เธอยังเขียนเรื่องเล่าจากประสบการณ์การเดินทางอีก

     “ไม่เลย เราไม่ชอบอ่านพวกหนังสือท่องเที่ยวเท่าไหร่ คือจะรู้สึกเหมือนว่าโดนสปอยล์ เราอยากไปเจอมันด้วยตัวเอง”

     “แล้วเวลาไปเที่ยว พลอยเตรียมตัวยังไง”

     “อ่านเอาจาก Lonely Planet แต่จริงๆ พวกหนังสืออย่างของพี่สิงห์ (วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล) พลอยก็ซื้อนะ แต่ยังไม่ได้อ่านเลยค่ะ ช่วงนี้ดองไว้เยอะมาก (หัวเราะ)”

     “พลอยดองหนังสือไว้เยอะแค่ไหน”

     “เยอะมากกกก อย่างเล่มใหม่ของ สตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawking)” พลอยบอกและชี้ชวนให้ดู คำตอบย่อของคำถามใหญ่ (Brief Answers to the Big Question) หนังสือเล่มสุดท้ายของนักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่กับมุมมองที่เขามีต่อเรื่องราวของพระเจ้า หลุมดำ หรือการท่องเวลา ซึ่งวางจำหน่ายในไทยช่วงปี 2562 “ก็ยังไม่ได้อ่าน หลังๆ เลยหยุดซื้อ กะว่าจะอ่านของเก่าให้หมดก่อน”

     “ถ้างั้นวันนี้พลอยจะซื้อเหรอ”

     “ซื้อๆ”

     ว่าแล้วเธอก็หยิบ What If? ติดมือไปทันที

     “ถ้าเอางบที่ให้ไปซื้อการ์ตูนได้มั้ย” พลอยถามหลังจากสอดส่ายหาหนังสืออยู่พักหนึ่งแล้วยังไม่พบเล่มที่ถูกใจ เราพยักหน้ารับ พร้อมให้เหตุผลว่าถ้านั่นเป็นหนังสือที่พลอยอยากอ่านและแนะนำจริงๆ เราก็ไม่ปฏิเสธ

     พลอยรีบตรงดิ่งไปยังโซนการ์ตูน จนพวกเราเอ่ยแซวว่าพลอยคงซื้อ Kimetsu no Yaiba แน่ๆ

     “เป็นเล่นไป เผลอๆ ซื้อได้ครบเซตเลยนะ” พลอยขำ ก่อนเอียงคอมองหาสันหนังสือเล่มที่เธอหมายตา 

     “ไม่กลัวว่าอ่านแล้วจะสปอยล์เหรอ” ผมถาม

     “เก็บไว้อ่านหลังหนังเข้า” พลอยขำอีกหนึ่งชุดใหญ่ (แต่ไฟไม่กะพริบ) ก่อนที่จะหงอยเมื่อพบว่าที่ร้านมีแค่เล่มล่าสุดเพียงเล่มเดียว พลอยจึงตัดสินใจไม่เลือกการ์ตูนเรื่องนี้

     “ถ้าเข้าร้านหนังสือ โซนไหนที่พลอยชอบไปเดินดูอีก” เรารีบเปลี่ยนเรื่อง

     “เรื่องสั้น” 

     ด้วยเหตุนี้ เราจึงพาพลอยไปดูหนังสือหมวดดังกล่าว เธอหายไปในดงเรื่องแต่งอยู่พักใหญ่ ก่อนจะมาคุยกับเราเป็นระยะ

     พลอยบอกว่าเพิ่งอ่านนิยายอย่าง ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ จบไป เธอชอบไม่ใช่น้อย เราจึงพาเธอไปยังเชลฟ์นิยายแปล ที่มองไปทางไหนก็เจอแต่งานของ ฮิงาชิโนะ เคโงะ (Higashino Keigo) เป็นส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งก็เพราะเขาคนนี้มีผลงานออกมาเยอะมาก และอีกส่วนหนึ่งก็เพราะผลงานของเขาเป็นที่ถูกอกถูกใจคนชอบนิยายแนวสืบสวนสอบสวนหรือแนวอบอุ่นหัวใจในบ้านเราไม่ใช่น้อย (เล่ม ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ คือหนึ่งในเล่มที่ผู้คนนิยมเล่มหนึ่งเลยล่ะ) ในรอบหลายปีมานี้ เคโงะเลยกลายเป็นนักเขียนสุดโปรดของใครหลายคน

     พลอยหยิบขึ้นมาดูหลายเล่ม ก่อนตกลงใจกับ ความลับ เรื่องราวของชายหนุ่มที่ภรรยาและลูกสาวเสียชีวิตในอุบัติเหตุ แต่แล้วลูกสาวกลับฟื้นขึ้นมาแล้วบอกว่าเธอคือภรรยาของเขา กับ รักในโลกพิศวง ที่เล่าเรื่องวุ่นๆ ในความสัมพันธ์ เมื่อทากาชิหลงรักผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งในเวลาต่อมาทากาชิได้รู้ว่าเธอเป็นคนรักของเพื่อนสนิทเขา แต่แล้วเรื่องราวกลับพิศวงยิ่งขึ้น เมื่อวันหนึ่งเขาตื่นขึ้นมาพบว่าหญิงคนดังกล่าวกลายเป็นคนรักของเขา ส่วนเพื่อนสนิทได้หายตัวไปต่างประเทศ พลอยบอกว่าที่เลือกสองเรื่องนี้ เพราะอยากอ่านงานของเคโงะอีก กับชอบความเป็นญี่ปุ่นโดยทุนเดิม เธอจึงคิดว่าน่าจะอินกับสองเรื่องนี้ได้ง่ายๆ

     อีกเล่มเป็น 1984 นวนิยายจากอังกฤษ ผลงานของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) พลอยบอกว่าอยากอ่านเล่มนี้เพราะได้ยินกิตติศัพท์ที่ว่าหนังสือเคยถูกแบนในบางประเทศ เธอจึงอยากรู้ว่านวนิยายดิสโทเปียเรื่องนี้พูดเรื่องอะไร แล้วเพื่อนเธอก็บอกว่าถ้าสนใจสังคมและการเมืองก็ไม่ควรพลาดหนังสือเล่มนี้

     “อีกเล่มเป็นอันนี้” พลอยโชว์หนังสือหน้าปกพื้นหลังดำ พาดด้วยเส้นสีขาวและสีเหลือง มองไปแล้วคลับคล้ายกับเส้นบนถนน เข้ากับชื่อเรื่องที่ว่า End of the Road ซึ่งเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายที่พลอยจะพากลับบ้านไปด้วย

     เราสงสัยว่าทำไมพลอยถึงหยิบหนังสือที่พูดถึงเรื่องก่อนความตายของบุคคลในประวัติศาสตร์โลก

     “เราชอบดูสารคดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะสารคดีเกี่ยวกับบุคคลต่างๆ จะชอบเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือแนวนี้เท่าไหร่นะ เพียงแต่เห็นรายชื่อคนบนหน้าปกของเล่มนี้แล้วน่าสนใจดี มีทั้ง สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs), นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong), นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla) เลยอยากรู้ว่าชีวิตและความตายของพวกเขาจะเป็นยังไง”

     เราจดรายชื่อหนังสือที่พลอยเลือกเก็บไว้ ถามพลอยให้แน่ใจอีกครั้งว่าเดินทั่วร้านแล้ว และไม่มีหนังสือเล่มไหนที่อยากอ่านอีกแล้วจริงๆ

     พลอยพยักหน้า แต่แล้วก็เงียบไปสักพักหนึ่ง ก่อนฉีกยิ้ม แล้วพูดว่า

     “หรือเปลี่ยนใจไปหาซื้อ Kimetsu no Yaiba ยกเซตกันมั้ยคะ”

PLOYPAILIN’S WISHREAD

1. What If? (จะเกิดอะไรขึ้นถ้า…)
Randall Munroe เขียน
ศล แปล
สำนักพิมพ์ We Learn

2. ความลับ
Higashino Keigo เขียน
บุญชู ตันติรัตนสุนทร แปล
สำนักพิมพ์ Maxx Publishing

3. รักในโลกพิศวง
Higashino Keigo เขียน
บัณฑิต ประดิษฐานุวงศ์ แปล
สำนักพิมพ์ Maxx Publishing

4. 1984 (มหานครแห่งความคับแค้น)
George Orwell เขียน
สรวงอัปสร กสิกรานันท์ แปล
สำนักพิมพ์ Arrow

5. End of the Road ฉากสุดท้ายของชีวิต
โตมร ศุขปรีชา เขียน
สำนักพิมพ์แซลมอน

ขอขอบคุณ ร้าน B2S สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ สำหรับการเอื้อเฟื้อสถานที่

หมายเหตุ: ชื่อบทความ ‘เราพบกันที่ร้านหนังสือ’ ได้แรงบันดาลใจมาจากชื่อหนังสือ ‘เราพบกันเพราะหนังสือ’ ของ ‘บินหลา สันกาลาคีรี’