POP CULTURE MAN
บทสนทนากับ ‘แสตมป์—อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข’ เรื่องหนังสือ เพลง และไอดอลญี่ปุ่น
เรื่อง: สุชานาถ กิตติสุรินทร์
ภาพ: ชวิชญ์ มายอด
หากคุณรู้ (แน่นอนว่าคุณรู้) ‘แสตมป์—อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข’ คือศิลปินมากฝีมือที่ใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิตอยู่ในวงการเพลง ทั้งในฐานะนักร้องเจ้าของเพลงฮิต นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ศิลปิน โค้ชรายการ The Voice Thailand และเจ้าของค่ายเพลง 123Records (อ่านว่า นึง-ส่อง-ซั่ม เรคคอร์ดส์)
นอกจากสารพัดความสำเร็จในประเทศแล้ว เมื่อปี 2019 เขาก็ได้เซ็นสัญญากับ Toy’s Factory ค่ายเพลงในญี่ปุ่นที่มีศิลปินดังๆ อย่าง Mr. Children, YUZU, FIVE NEW OLD ฯลฯ ก่อนจะออกอัลบั้มแรกของตัวเองที่แดนอาทิตย์อุทัยในชื่อ EKAMAI DREAM 1 ซึ่งมีทั้งเพลงภาษาไทย อังกฤษ และญี่ปุ่นรวมอยู่ในอัลบั้มเดียว อีกทั้งเขายังได้ขึ้นแสดงคอนเสิร์ต Summer Sonic 2019 เทศกาลดนตรีสุดยิ่งใหญ่ที่คับคั่งไปด้วยศิลปินดังจากทั่วทุกมุมโลกด้วย
แต่ทั้งหมดที่เล่ามานี้เป็นเพียงด้านหนึ่งของแสตมป์เท่านั้น
อีกมุมหนึ่งที่คุณอาจจะยังไม่รู้ (หรือรู้แล้วก็ได้) เขาคือนักอ่านผู้เติบโตมากับการ์ตูนญี่ปุ่น และสารพัดหนังสือของทั้งนักเขียนไทยตั้งแต่ ปราบดา หยุ่น, อุทิศ เหมะมูล, นิ้วกลม, อนุสรณ์ ติปยานนท์ ไปจนถึงนักเขียนต่างชาติอย่าง ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami), ฮิงาชิโนะ เคโงะ (Higashino Keigo), แมตต์ เฮก (Matt Haig) ฯลฯ
และอีกมุมหนึ่งที่เขาอยากให้ทุกคนรู้สุดๆ คือการเป็นติ่งมือโปรฯ ของไอดอลวง Nogizaka46 และพยายามจะขายสาวๆ วงนี้ให้คนรอบตัวตลอดเวลา
ดังนั้นบทสนทนาในวันนี้จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวของแสตมป์ผ่านหนังสือที่ชอบ การทำเพลงที่ใช่ และไอดอลญี่ปุ่นที่เป็นแรงชุบชูใจ
หนังสือ
แสตมป์เล่าว่าในยุค 90s ที่เขาเติบโตมา เป็นยุคที่การ์ตูนญี่ปุ่นรุ่งเรืองและเป็นเมนสตรีมในสังคมไทย ดังนั้นเขาจึงเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน คือมีการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นเพื่อน
ไม่ว่าจะเป็น Dragon Ball, Slam Dunk, JoJo’s Bizarre Adventure, Lucky Man และอีกสารพัดเรื่องดังในยุค 90s ล้วนผ่านตาเขามาหมด
แต่ถ้าให้เลือกเรื่องที่ชอบตลอดกาล แสตมป์ขอยกให้ จอมเกบลูส์ (Rokudenashi Blues) การ์ตูนแนวนักเรียนตีกันที่เขายืนยันว่ามันโรแมนติกสุดๆ
“เรื่องราวของมิตรภาพ ความฝัน สายสัมพันธ์เพื่อนพ้อง และความรัก ตัวละครเท่มาก พระเอกที่ดูแข็งแกร่งแต่โคตรอ่อนโยน ผมรับประกันว่าอ่านแล้วร้องไห้ทุกคน
“แล้วผมก็ชอบ คุโรมาตี้ โรงเรียนคนบวม (Cromartie High School) มาก มันส่งผลต่อชีวิตกับวิธีการพูดของผมถึงตอนนี้เลย”
เมื่อเข้าช่วงวัยมหาวิทยาลัย แสตมป์ก็ได้เข้าสู่โลกแห่งการอ่านหนังสือนิยายเป็นเล่มครั้งแรกผ่าน ชิทแตก! ของปราบดา หยุ่น ซึ่งเป็นนิยายที่มีอัลบั้มเพลงประกอบเป็นของตัวเอง จัดทำโดยบัวหิมะ วงดนตรีที่เกิดจากการร่วมกันทำเพลงของปราบดา หยุ่น กับ เจตมนต์ มละโยธา (Penguin Villa) โดยมีเพลง โลกไม่ใช่ของเรา ที่ดังระเบิดจนได้ไปเล่นงาน Fat Festival ในสมัยนั้น
“ผมเสพหนัง เพลง ละคร และการ์ตูนมาตลอด แต่นี่คือสัมผัสแรกที่เราได้อ่านนิยายที่เป็นเล่มจริงๆ เราอ่านในห้องนอน ได้อยู่กับตัวเอง ได้จมไปกับตัวละคร ได้จินตนาการตาม รู้สึกว่าเป็นอีกรสชาติที่ไม่เคยเจอในชีวิตมาก่อน มันมีความใกล้ชิดกว่ายังไงไม่รู้ พอจบเล่มนี้เลยเริ่มอ่านเล่มอื่น ซึ่งตอนนั้นพวกเด็กแนวต้องอ่าน รักตกร่อง (High Fidelity) ของ นิก ฮอร์นบี (Nick Hornby) ที่ถูกดัดแปลงเป็นหนังด้วย จากนั้นก็ไปตามอ่านหนังสือที่เขาว่าคูลๆ จนมาถึงยุคของฮารูกิ มูราคามิที่ทุกคนอ่าน เราก็ตามอ่านไปด้วย”
“อ่านแล้วอินมั้ย” เราถาม
“ณ ตอนนั้นก็รู้สึกมันเหงาดีนะ สมัยก่อนแค่ถืออ่านก็รู้สึกเท่แล้ว” แสตมป์ตอบแล้วหัวเราะ ก่อนจะเล่าต่อว่าเขาเข้าสู่จุดที่อ่านเรื่อยๆ อ่านเท่าที่อ่านได้ โดยเสพผลงานทั้งนักเขียนไทยและต่างชาติ ยกตัวอย่างเช่น อนุสรณ์ ติปยานนท์, อุทิศ เหมะมูล, นิ้วกลม, บานาน่า โยชิโมโต (Banana Yoshimoto) และฮิงาชิโนะ เคโงะ นักเขียนที่เขาเพิ่งรู้จักราวสามปีก่อน แต่สามารถทำคะแนนขึ้นเป็นนักเขียนที่ชื่นชอบได้จนถึงทุกวันนี้
“ตอนอ่านงานฮิงาชิโนะ เคโงะ ครั้งแรก ผมรู้สึกตกใจมาก ทำไมเขาฉลาดล้ำเลิศขนาดนี้วะ ผมอ่าน ความลับ แล้วร้องไห้เป็นเด็กเลย ผมไม่เคยร้องไห้กับหนังสือหนักขนาดนี้มาก่อน สุดยอดจริงๆ แล้วเคโงะจะมีเซตที่เป็นสืบสวนสอบสวนซึ่งจะเป็นอีกฟีลนึง แต่มันมาจากคนคนเดียวกันอะ น่าทึ่งมาก คือถ้าคุณจะโรแมนติก คุณก็โรแมนติกดิวะ คุณจะมาทำสืบสวนได้เข้มข้นขนาดนั้นได้อีกยังไง แล้วผลงานของเขาอ่านง่าย แมสเลย ซึ่งงานแบบนี้ทำยากนะ การทำให้ทุกคนเข้าใจ สนุก และเท่ด้วย ผมรู้สึกว่าเขาเป็นอัจฉริยะจริงๆ
“นอกจากเคโงะ ผมก็อ่านพวกเซตที่มันอยู่ในร้านคิโนะฯ ที่พลาดไม่ได้คือ พรุ่งนี้ผมจะเดตกับเธอคนเมื่อวาน (Tomorrow I Will Date with Yesterday’s You) อันนี้คือยอมว่ะ ร้องไห้ฉิบหายเลย แล้วก็ ตับอ่อนเธอนั้น ขอฉันเถอะนะ ที่ผมชอบเหมือนกัน”
หลังจากคุยฝั่งเอเชียมาเยอะ ทางด้านฝั่งตะวันตกนอกจากฮอร์นบีแล้ว นักเขียนอีกคนที่มีอิทธิพลกับแสตมป์มากคือ แมตต์ เฮก
“ช่วงปี 2016 ผมไปเล่นคอนเสิร์ตที่ลอนดอน ตอนนั้นผมกำลังมีปัญหาทางจิตใจ พอเห็นหนังสือชื่อ Reason to Stay Alive แล้วมันอิมแพกต์มากเลยซื้อกลับมาอ่านบนเครื่อง โห มันเปลี่ยนชีวิตเลยนะ วิธีเล่าของเขาอ่อนโยนมาก รู้สึกเลยว่ามีคนกำลังช่วยเราอยู่ ด้วยความที่เขาเขียนจากเรื่องจริง มันเลยเป็นฮาวทูที่สอนด้วยชีวิตของเขาเอง เวลาผมเจอใครเป็นโรคซึมเศร้า ผมบอกเลยว่าคุณต้องอ่านเล่มนี้ มันให้ความหวังจริงๆ”
“หนังสือที่อ่านมามีอิทธิพลต่อการทำเพลงบ้างไหม”
“มีมากเลย” แสตมป์ตอบทันที “ผมว่ามันก็ทำให้เราอยู่กับตัวเอง มีหลายๆ ครั้งที่อ่านหนังสือแล้วเกิดไอเดีย ไอเดียอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งที่เราอ่าน แต่พอเรามีสมาธิ แล้วเราจะคิดออก” ก่อนเขาจะแอบเล่าเรื่องที่เจ้าตัวบอกว่าไม่รู้จะเกิดผลดีหรือเปล่า คือถ้าใครไปดูบนปกซีดีของอัลบั้มชุดแรก หนี่งหัวใจ ร้อยประสบการณ์ ล้านวิธีบอกเล่า: Million Ways to Write Part I ชื่อภาษาอังกฤษของทุกเพลงจะเป็นชื่อหนังสือของมูราคามิทั้งหมดเลย ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปตอนนี้แสตมป์ก็ไม่รู้ว่าเขาทำไปทำไม
“พอโตขึ้นเราไม่ได้รู้สึกเหงาขนาดนั้น ไม่ได้อยู่ในช่วงที่ไขว่คว้าอะไรแบบนั้นแล้ว ตอนนี้เลยอยากอ่านอะไรสนุกๆ ย่อยง่ายๆ”
เพลง
ถัดจากเรื่องหนังสือก็มาที่อาชีพหลักของแสตมป์กันบ้าง
ล่าสุด (กุมภาพันธ์ ปี 2022) แสตมป์เพิ่งออกผลงานเพลง Nobody Knows เพลงประกอบภาพยนตร์ One for the Road วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ โดยแสตมป์เล่าว่าเขารู้จักกับบาส (นัฐวุฒิ พูนพิริยะ) ตอนที่ไปดูภาพยนตร์ ฉลาดเกมส์โกง รอบพิเศษที่ GDH แต่ตอนนั้นยังไม่ค่อยสนิทกัน จนกระทั่งได้ไปเจอกันที่นิวยอร์ก และได้นัดกินข้าว จึงเกิดเป็นความสนิทกันแบบงงๆ
“พอกลับมาเมืองไทย บาสก็ติดต่อกลับมาว่าจะเอาเพลงของเราไปให้ หว่อง การ์-ไว (Wong Kar-wai) ฟัง ซึ่งผมเหมือนเคยได้ยินโปรเจกต์นี้มาว่า เฮ้ย บาสทำงานกับหว่อง การ์-ไว ว่ะ ก็ดีใจกับโอกาสของเขา แล้วก็ดีใจที่บาสนึกถึงเรา” ส่วนเพลงที่บาสส่งไปให้ผู้กำกับชื่อดังคนนี้ฟังคือ The Devil ที่แสตมป์ทำกับ คริสโตเฟอร์ ชู (Christopher Chu) นักร้องนำแห่งวง POP ETC
“ตอนแรกมันจะเป็นหนังเพลง (Musical) เลยทำให้ผมกดดันมาก จะทำเพลงออกมาทั้งเรื่องยังไง แต่ไปๆ มาๆ บทก็ถูกเปลี่ยนเป็น road movie แทน ซึ่งจะต้องมีเพลงนึงเป็นธีม เราก็เลยเรียกชูมาทำด้วยกัน จนออกมาเป็นเพลงที่ตั้งคำถามกับตัวเองว่าถ้าวันนั้นเลือกอีกเส้นทางนึงชีวิตวันนี้จะเป็นยังไง”
นอกจากออกอัลบั้มกับเล่นคอนเสิร์ต อีกสิ่งที่แสตมป์ได้ทำคือการร่วมงานกับศิลปินมากหน้าหลายตา ไม่ว่าจะเป็น ฮิโรชิ (HIROSHI) จากวง FIVE NEW OLD ในเพลง Die Twice และวง SKY-HIGH ในเพลง Don’t Worry Baby Be Happy ซึ่งมีส่วนในการทำให้แสตมป์ได้เซ็นสัญญากับค่าย AVEX ค่ายเพลงใหม่ที่จะมาดูแลกิจกรรมในญี่ปุ่นของเขา รวมถึงได้ร่วมงานกับ ยองเค (Young K) จากวง Day6 ที่มาฟีเจอริ่งในเพลง ใจอ้วน (Sugar High) ด้วย (กรี๊ดดดด บ้าจริง นี่เราแสดงออกมากไปเหรอ)
“สาเหตุที่ได้ร่วมงานกันคือตอนนั้นช่วงโควิด-19 ผมเบื่อมาก เลยติดต่อไปทาง JYP Thailand ว่ามีใครที่เราร่วมงานกันได้บ้างมั้ย เขาก็ส่งชื่อกลับมาหลายคน มีคนที่คุณอยากเจอแน่ๆ (มองแบบรู้ทัน) แต่ผมเลือกยองเคเพราะเขาน่ารัก เราเคยเจอกันแล้วเขาทักผมก่อน เลยรู้สึกว่าเขาให้เกียรติเรา เขาจำเราได้
“ผมก็คุยกับ JYP อยากได้ท่อนนี้ พูดเรื่องนี้ เขาก็ส่งกลับมา แค่นั้นเอง อาจจะเพราะมันไม่ใช่การขึ้นเพลงด้วยกันเลยไม่ยากเท่าไหร่ เขาค่อนข้างตามใจผมเลยแหละ (ยิ้ม)”
เรารู้เพิ่มมาอีกว่าหน้าปกอัลบั้ม EKAMAI DREAM 2 ที่เพิ่งปล่อยออกมาเมื่อปี 2021 ก็ได้นักวาดลายเส้นสะดุดตาที่คนไทยคุ้นเคยกันอย่าง นิมุระ ไดสุเกะ (Nimura Daisuke) มาร่วมงานจนเกิดเป็นปกสนุกๆ กวนๆ แบบนี้
“เวลาไปเที่ยวผมจะชอบมองป้าย มองงานวาดที่อยู่ตามขบวนรถไฟฟ้า แล้ววันนึงไปเจอลายเส้นของคุณนิมุระ น่าจะโฆษณาโค้กมั้งนะ รู้สึกว่าโดนมาก เราก็ตามหาว่าเขาคือใคร แล้วก็ส่งเมลไปบอกว่าเราเป็นศิลปินจากเมืองไทยนะ ส่งเพลงให้ฟัง พร้อมบอกว่าเราอยากได้อาร์ตเวิร์กจากคุณ เขาก็ตอบกลับมาว่ายินดี
“พอเขาทำงานให้เสร็จก็ได้มาคุยกันที่ร้านอาหาร เลยได้รู้ว่าเขาฟังเพลงคล้ายๆ กับเราเลย ที่ลายเส้นมันโดนก็อาจจะเพราะเราเสพสิ่งใกล้ๆ กัน”
ยิ่งได้ฟังแบบนี้ก็ยิ่งช็อก ทำไมการดีลงานของแสตมป์ถึงง่ายแบบนี้ ได้โปรดเถอะศิษย์พี่ บอกเคล็ดลับนี้กับข้าน้อยที!
“มันเป็นจังหวะด้วย ถ้ายากมันจะยาก แต่ถ้าง่ายมันจะง่ายเลย บางคนอยากได้ก็ไม่ได้ บางคนไม่คิดว่าจะได้ก็ได้” แสตมป์ตอบยิ้มๆ หลังเราโอดครวญถึงความโชคดีของเขา
แล้วก็มาถึงคำถามยอดฮิตของช่วงสองปีมานี้ กับประเด็นที่ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแสตมป์ในฐานะเจ้าของค่ายและศิลปินอย่างไรบ้าง
“ไม่ได้เล่นสด ซึ่งเป็นรายได้หลักของเรา แล้วเวลาไปเจอผู้คนมันคือการอัพฟีลชีวิตของนักดนตรี มันทำให้ผมยังไม่อยากหยุดทำ แต่มันก็มีความท้อไปตามเฟสของชีวิต ใช้คำว่าอิ่มตัวประมาณนึงก็ได้ ตอนนี้ก็พยายามที่จะหาอะไรใหม่ๆ ทำ แล้วก็ยังต้องทำงานอยู่เสมอ เหมือนปลาที่หยุดว่ายแล้วต้องตาย
“ถ้าพูดในแง่อาชีพคือเราผ่านอะไรมาเยอะมากจริงๆ คนที่แม่งทำเพลงมา 15 ปี เหมือนเราต้องทำงานเพื่ออย่างอื่นแล้ว ความเฟรชมันหายไปหมดแล้ว มันก็จะมีคนประเภทว่าต้องอยู่ในยุคนี้ให้ได้ ซึ่งมันไม่ผิด มันดี แต่อันนั้นไม่ใช่เป้าหมายหลักของเรา
“การที่เราจะทำให้ตัวเองทันสมัยตลอดเวลา ต้องอาศัยหลายอย่างเยอะมาก พอโควิด-19 มาก็รู้สึกว่าเรายืนได้สองเท้าพอดี คือเท้าที่ได้พักด้วย กับเท้าที่ได้ทำอะไรใหม่ๆ ด้วย”
ไอดอล
แน่นอนว่าการจะไปเป็นศิลปินที่ญี่ปุ่น แสตมป์จำเป็นต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วย และเขาก็ต้องร่ำเรียนอยู่หลายปี เมื่อเราถามว่าอะไรคือแรงบันดาลใจในการเรียนภาษาของเขา
“ไอดอลสิฮะ” คือคำตอบ
แสตมป์เล่าว่าจริงๆ เขารู้จักวง Nogizaka46 มาตั้งแต่ปี 2015 แล้ว แต่ไม่ได้รู้สึกสปาร์กจอย จนกระทั่งปี 2017 เพลง คุกกี้เสี่ยงทาย ของวง BNK48 ดังขึ้นมา ซึ่งเขาชอบมาก เลยทำให้มีความสนใจวงการไอดอลขึ้นมา
“แล้วทำไมไม่สนใจ AKB48” เราสงสัยขึ้นมาทันที
“AKB48 คือออริจินัลใช่ไหม แต่แก๊งพวกนี้มันเหมือนเป็นวงที่ถูกสร้างมาเพื่อสู้กัน มันจะค่อนข้างเน้นความพรีเมียม เป็นสาวเมือง ลูกคุณ สวยตั้งแต่หัวจรดเท้า เลยถูกใจเรา (หัวเราะ)” จากนั้นเขาก็ปวารณาตนเป็นแฟนคลับสาวๆ วง Nogizaka46 ด้วยการซื้ออัลบั้ม ไปคอนเสิร์ต ไปงานจับมือ และป้ายยาคนรอบตัวให้มาติ่งด้วยกัน
“พอรู้ภาษาญี่ปุ่นเยอะขึ้น ตามน้องๆ สนุกขึ้นมั้ย”
“ไม่เกี่ยวหรอก สนุกแต่แรกแล้ว เคยไปดูสารคดีของไอดอลนี่แหละ ร้องไห้ตั้งแต่หนึ่งนาทีแรกเลยนะ แต่ฟังไม่ออกเลยว่ะ (หัวเราะ)”
ก่อนจะจากกันไป ในฐานะคนที่คิดถึงกลิ่นอายความเจริญเป็นที่สุด เราเลยอยากรู้ว่าถ้าญี่ปุ่นเปิดประเทศให้เข้าแล้ว ที่แรกที่เขาจะไปคือที่ไหน
“Tower Record ชั้น 4 (ชั้นสินค้าไอดอล) ครับ ล้อเล่นๆ ผมอยากไป Nakano Broadway มันเหมือนย่านอากิฮาบาระ (หนึ่งในแหล่งช้อปปิ้งสุดฮิตในญี่ปุ่น นอกจากจะมีขายข้าวของเครื่องใช้มากมาย ยังขึ้นชื่อเรื่องการเป็นแหล่งรวมสินค้าจากมังงะและวิดีโอเกม) แต่เป็นตึก แล้วก็อยู่เขตนากาโน่ มันจะมีร้านนึง สมมติว่าคุณชอบฮิเดะ (มือกีตาร์วง X Japan) เขาจะเก็บของที่ระลึกทั้งหมดที่ฮิเดะเคยออก ตั้งแต่ต้นอาชีพจนถึงเขาตายมาขายเป็นมือสอง ราคาไม่แพงด้วย”
“แล้วพี่จะไปซื้อของใคร”
“Nogizaka46” เขาตอบทันที
ไม่ผิดหวังในคำตอบ
ถือเป็นการปิดท้ายบทสัมภาษณ์ด้วยเรื่องที่แสตมป์มีความสุขที่สุด