SUNDAE READ
หนังสือ ความสัมพันธ์ และเมืองการอ่านในฝันของ ‘Sundae Kids’
เรื่อง: สุชานาถ กิตติสุรินทร์
ภาพ: ธนพล แก้วแดง
ย้อนกลับไปราว 8 ปีก่อน ช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปี 2014 ‘โป๊ยเซียน—ปราชญา มหาเปารยะ’ และ ‘กวิน เทียนวุฒิชัย’ กำลังอยู่ในช่วงทำธีสิส และเข้าใกล้โค้งสุดท้ายของชีวิตวัยเรียน โป๊ยเซียนในตอนนั้นรู้ตัวแล้วว่าไม่อยากทำงานประจำ เธอจึงตัดสินใจเปิดเพจ ‘Sundae Kids’ เพื่อลงผลงานเป็นพอร์ตโฟลิโอ โดยมีกวินเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและผู้สนับสนุนหลัก
จากเพจเล็กๆ ที่ไม่มีรายได้สักบาทในปีแรก ค่อยๆ เติบโตไปพร้อมกับการ์ตูนที่หยิบเอาวัตถุดิบเล็กๆ ในความสัมพันธ์มาสานต่อเรื่องราว ด้วยลายเส้นน่ารักๆ และความโรแมนติกแบบจิกหมอน ก็ทำให้ Sundae Kids เข้าครอบครองพื้นที่หัวใจนักอ่านได้กว่าสองล้านคน ได้คอลแลบกับแบรนด์ดังทั้งในและนอกประเทศ และล่าสุดคือได้ทำงานร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ในฐานะศิลปินผู้ทำคีย์วิชวลของงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติครั้งที่ 27
วันนี้เราจึงชวนโป๊ยเซียนและกวินมาพูดคุยกันเรื่องหนังสือ ความสัมพันธ์ เมืองการอ่านในฝัน และการออกแบบโปสเตอร์งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติในครั้งนี้
โป๊ยเซียนและกวินชอบอ่านหนังสือมั้ย
โป๊ยเซียน: เรามีพี่น้องที่มีหนังสือภาพ นิทาน และมังงะเยอะ เลยซึมซับมาตั้งแต่เด็กๆ เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราชอบเสพเนื้อเรื่องไปพร้อมกับรูปภาพ
กวิน: ตอนยุคเราเด็กๆ สื่อที่มีให้เลือกเสพมันน้อยกว่ายุคนี้ หนังสือก็เป็นหนึ่งในตัวเลือก แล้วหลายๆ เล่มก็ไม่ได้ถูกนำมาสร้างเป็นหนังหรือพอดแคสต์สรุปเรื่อง ถ้าคุณอยากรู้เรื่องนี้ ก็จำเป็นที่จะต้องเสพผ่านสื่อที่เป็นหนังสือเท่านั้น เวลาเราอ่านนิยายบางเล่มมันเลยเปิดโอกาสให้จินตนาการภาพตามได้ สำหรับเราก็ชอบหนังสือที่มีภาพประกอบเหมือนกัน ถึงเลือกเรียนกราฟิกฯ (หัวเราะ) เราชอบตรงที่ภาพมันมีความดึงดูดมากกว่า
แล้วมีหนังสือเล่มโปรดหรือนักเขียนคนโปรดกันมั้ย
กวิน: ไม่ขนาดนั้นนะ เราไม่มี
โป๊ยเซียน: เราชอบหนังสือของ ‘แจ๊กเกอลีน วิลสัน’ (Jacqueline Wilson) เป็นเซ็ตหนังสือที่เด็กผู้หญิงในยุคนั้นอ่านกันหมดเลย มันเป็นหนังสือสำหรับเด็กวัยเปลี่ยนผ่าน ช่วงที่เรากำลังจะโตเป็นวัยรุ่น แล้วมีภาพประกอบที่ทุกคนจะรู้ว่านี่คือหนังสือของแจ๊กเกอลีน วิลสัน
พอโตขึ้นมาแนวการอ่านเปลี่ยนไปจากตอนเด็กๆ บ้างหรือเปล่า
โป๊ยเซียน: มีเปลี่ยนไปอ่านหนังสือที่เป็นตัวหนังสืออย่างเดียวบ้าง แต่พอยิ่งโตก็ยิ่งไม่ค่อยมีเวลา แค่จะดูหนังบางทียังไม่มีเวลาเลย ส่วนใหญ่ที่จะเสพจริงๆ เลยจะเป็นกราฟิกโนเวลของศิลปินต่างชาติ เพื่อดูวิธีการเล่าเรื่อง วิธีการใช้ภาพค่ะ
กวิน: ตอนเด็กๆ เราไม่อ่านการ์ตูนเลย พอโตขึ้นโป๊ยเซียนก็แนะนำให้อ่าน ก็กลายเป็นว่าได้อ่านการ์ตูนมากขึ้น
มีเล่มไหนที่คุณโป๊ยเซียนแนะนำแล้วไปอ่านตามบ้าง
กวิน: Slam Dunk (โป๊ยเซียนหัวเราะ)
โป๊ยเซียน: มันคือ The Best of All Time
มีหนังสือเล่มไหนที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานบ้าง
โป๊ยเซียน: ถ้าช่วงหลังๆ เราชอบกราฟิกโนเวลเรื่อง Killing and Dying (Adrian Tomine เขียน) จะเป็นเหมือนรวมเรื่องสั้นหลายๆ เรื่อง ซึ่งเขาใช้วิธีการเล่าแต่ละเรื่องแตกต่างกัน การวางหน้า การใช้สี หรือการวาดต่างๆ มันเลยสื่อสารอารมณ์และเนื้อเรื่องได้น่าสนใจมาก
กวิน: เราไม่มี เพราะเราอ่านหนังสือเพื่อผ่อนคลายมากกว่า
เวลาอ่านหนังสือของคนอื่นแล้วชอบ อยากเล่าเรื่องแบบนั้นบ้าง เราเอามาปรับใช้ยังไงเพื่อไม่ให้งานของเราเหมือนของเขามากจนเกินไป
กวิน: ถ้าเราเสพงานคนอื่น แล้วงานของคนอื่นจะอยู่ในงานเรามั้ย เราว่ามันมีส่วน แต่ว่าแต่ละคนก็เติบโตมาไม่เหมือนกัน ศิลปะที่เราเสพ สภาพแวดล้อมที่เราอยู่ มันจะหลอมรวมออกมาเป็นงานของเราเองมากกว่า ถ้าไม่ได้จงใจว่าอ่านแล้วไปทำตามเลย เราว่าแต่ละคนคงไม่เหมือนกันอยู่แล้ว
มีความทรงจำอะไรเกี่ยวกับงานหนังสือบ้าง
โป๊ยเซียน: ตอนเด็กๆ ที่บ้านชอบพาไป จำได้ว่าคนเยอะ และห้องน้ำชอบไม่ว่าง (หัวเราะ) เราก็จะซื้อนิทาน ซื้อหนังสือภาพ ซื้อ เจ้าชายน้อย แต่ความทรงจำเลือนรางมาก พอโตขึ้นมามัธยมหรือมหาวิทยาลัยก็ไปซื้อนิตยสารเก่าๆ กับหนังสือดีไซน์
กวิน: ปกติเราไม่ไปงานหนังสือเลย แต่ตอนนั้นเคยไป Big Bad Wolf เพราะโป๊ยเซียนกับเพื่อนชวนไป เราได้หนังสือมาเยอะมาก ก็ตกใจที่ทุกอย่างมันถูกขนาดนี้
ด้วยความที่ Sundae Kids โดดเด่นเรื่องการเล่าความสัมพันธ์ อยากรู้ว่าเรื่องเล่าและความสัมพันธ์นั้นสัมพันธ์ยังไงกับความเป็นเมือง
กวิน: เราคิดว่าถ้าเมืองดีจะทำให้คนมีความสัมพันธ์กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านความรักหรือมิตรภาพ เพราะว่าผู้คนได้มี interact กับเมืองนั้นๆ จริงๆ เช่น เมื่อคนไปใช้สวนสาธารณะก็จะเจอกันมากขึ้น มีการนัดวาดรูปในสวน คนก็จะได้พบปะกันมากขึ้น แต่ถ้าเมืองไม่มีพื้นที่หรือคอมมิวนิตี้อย่างนั้น การพบปะก็จะน้อยลง และอยู่กันแค่ในออนไลน์
โป๊ยเซียน: จริงๆ ก็เห็นด้วยนะ เมืองที่ดีก็จะเปิดโอกาสให้คนมาเจอกันได้ เราคิดว่าเมืองมีผลต่อความสัมพันธ์ ต่อทุกอย่างในการใช้ชีวิตเลย
กวิน: ใช่ๆ ถ้าเมืองไม่ดี อากาศไม่ดี การเริ่มต้นวันของเรามันก็ไม่ดี พอไปเจอคนอื่นมันก็ไม่ดีไปด้วย ถ้าเป็นเมืองที่ดี ก็เหมือนการส่งต่อเอเนอร์จี้ดีๆ ได้มากกว่า
แล้วพอได้โจทย์จากสมาคมฯ ว่าธีมหลักของงานคือ ‘Booktopia’ ทาง Sundae Kids ทำการบ้านยังไงบ้าง
กวิน: ตอนแรกเราได้บรีฟมาแค่ Booktopia แต่ยังไม่มีรายละเอียด ก็เลยกลับไปร่างมาหลายๆ แบบว่าจะไปในทิศทางไหนได้บ้าง
โป๊ยเซียน: แล้วเราก็ตีความออกมาว่าหนังสือแต่ละเล่มก็เหมือนมีเรื่องราวมากมายให้เราไปค้นหา เหมือนเป็นเมืองเมืองหนึ่งที่รอให้เราไปผจญภัย
อยากให้เล่าถึงไอเดียในการออกแบบโปสเตอร์
กวิน: เรานึกถึงหนังเรื่อง The Secret World of Arrietty ที่เป็นคนแคระ
โป๊ยเซียน: ตอนแรกที่คิดมันจะออกแนวเซอร์เรียลหน่อยๆ พวกเราเลยดีไซน์ออกมาให้เป็นคนตัวเล็กๆ ที่แอบไปอยู่ในชั้นหนังสือที่บ้านของคนตัวใหญ่
สำหรับทั้งคู่ Booktopia หรือดินแดนการอ่านในฝันหน้าตาเป็นยังไง
กวิน: พอดีเราเพิ่งดูหนังเรื่อง Blade Runner มา แล้วเหมือนมันเป็นโลกแห่งอนาคต พอเจอต้นไม้สักต้นทุกคนก็ฮือฮามาก เราว่าในโลกอนาคตจริงๆ หนังสือก็คงเหมือนสิ่งที่หายากมากๆ เพราะคนคงไปเสพสื่ออื่นกันหมดแล้ว แล้วมันคงจะมีโมเมนต์เหมือนในหนังที่คนเปิดเข้าไปในห้องที่ถูกลืม แล้วมันเต็มไปด้วยหนังสือ อันนี้คือ Booktopia ของเรา
โป๊ยเซียน: เราอยากให้การอ่านไม่ว่าจะเป็นหนังสือในรูปแบบเล่มหรือดิจิทัลมันเข้าถึงทุกคน ทุกวันนี้การอ่านแพร่หลายก็จริง แต่ไม่ใช่คนทุกกลุ่มจะสามารถมีสุนทรีกับการอ่านได้ บางคนเขาไม่มีเวลามานั่งดื่มกาแฟ อ่านหนังสือด้วยซ้ำ เราคิดว่า Booktopia ในความคิดเราคือทุกคนมีสุนทรีกับอ่านได้จริงๆ
เห็น Sundae Kids เปิดเว็บไซต์เล่ากราฟิกโนเวลลงออนไลน์ และตีพิมพ์เป็นเล่มในปี 2019 (เรื่อง CLOSE TO YOU) อันนั้นถือเป็นครั้งแรกที่ทำเป็นเล่มหรือเปล่า
โป๊ยเซียน: ใช่ๆ ตอนนั้นพิมพ์ให้อ่านฟรีในนิทรรศการ เราคิดว่าความรู้สึกในการอ่านออนไลน์ก็เป็นแบบหนึ่ง แต่พอได้มาอ่านเป็นเล่ม ได้จับกระดาษ ได้เห็นดีเทล มันเหมือนให้ความรู้สึกคนละแบบ ก็อยากให้คนอ่านได้รับความรู้สึกแบบนี้
แต่จนถึงตอนนี้เราก็ไม่เคยพิมพ์กราฟิกโนเวลขายแบบจริงจังเลย
จากตอนนี้ในมุมมองคนนอกก็เห็นว่า Sundae Kids ประสบความสำเร็จมากๆ ทั้งคู่อยากเห็น Sundae Kids เติบโตไปในทิศทางไหนต่อ
โป๊ยเซียน: หลายๆ อย่างที่เราเคยอยากทำ ตอนนี้ก็มีโอกาสได้ทำแล้ว เช่น ไปคอลแลบกับแบรนด์เมืองนอก หรือมีป๊อปอัพที่ต่างประเทศ เหมือนเราค่อยๆ ขยายเป้าหมายขึ้นไปทีละนิดๆ แล้วค่อยๆ พยายามทำให้ได้ทีละขั้น เป็นขั้นบันไดไปเรื่อยๆ มากกว่า
กวิน: เราค่อนข้างให้ความสำคัญกับโป๊ยเซียนมากกว่า อย่างตอนแรกโป๊ยเซียนทำเพจคนเดียว ส่วนเราทำงานประจำ ต้องบอกก่อนว่าช่วงที่ทำ Sundae Kids ปีแรกคือไม่มีรายได้เลยสักบาท เราตัดสินใจออกจากงานมาช่วยเขาทำ เพื่อที่จะได้ลงทุนลงแรงแบบเต็มที่ จะได้ไม่ต้องเสียใจทีหลัง จนถึงวันนี้เราก็ยังคิดเหมือนเดิมว่าเราต้องช่วยเขาให้เต็มที่ที่สุด
ส่วนเรื่องอนาคตของ Sundae Kids อย่างที่เราบอกว่าโลกมันเปิดแล้ว การที่เราอยู่ไทยแต่ได้ทำงานต่างประเทศมากมาย มันเป็นเรื่องปกติ และจะปกติขึ้นเรื่อยๆ สำหรับคนยุคต่อๆ ไป โอกาสในตอนนี้เหมือนอยู่ในอากาศ ต้องไขว่คว้าให้ได้มากที่สุด แต่ก็ไม่ได้แพลนว่าต้องไปให้ไกลแบบสุดๆ ก็ทำให้ดีที่สุดครับ