Fri 25 Feb 2022

HEARTWARMING WRITING

คุยกับเจ้าของนามปากกา afterday ว่าด้วยเรื่องเส้นทางการเป็นนักเขียน อนาคตที่มองไว้ รวมถึงทัศนะต่อวงการนิยายวายที่เธออยู่มาหลายปี

     ไม่รู้ว่าเป็นเหมือนกันไหม แต่ตอนอ่านหนังสือจบสักเล่มแล้วตัดสินใจว่าจะเก็บเข้าชั้นเล่มโปรดในใจ เราต้องมั่นใจว่าหนังสือเล่มนั้นคือเล่มที่น่าจดจำ

     ไม่ใช่ในแง่ว่ามันมีภาษาที่ลุ่มลึก มีบทสนทนาที่แยบคาย หรือมีการวางพล็อตไร้ที่ติ เพราะบอกตรงๆ ว่าหนังสือเล่มโปรดบางเล่มที่ยกขึ้นหิ้ง เราก็จำไม่ได้หรอกว่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบเป็นยังไง เผลอๆ ตัวละครเอกชื่ออะไรยังลืม!

     แต่สิ่งที่เราจำได้-คือตอนอ่านรู้สึกยังไง จำได้ว่าพอพระเอกบอกรักนายเอกปุ๊บ เราฟินจนจิกหมอนขนาดไหน หรือฉากเฉลยปมตัวละครที่ดราม่ามากกกก จำได้ว่าต้องแอบไปนั่งหลบมุมอ่าน เพราะกลัวแม่เห็นว่าร้องไห้น้ำตาหยดแหมะๆ

     สำหรับเรา หนังสือเล่มโปรดคือเล่มที่ทิ้งความรู้สึกบางอย่างไว้ในใจ และนั่นอาจเป็นคำนิยามที่เรามีให้กับหนังสือของ afterday

     กับนักอ่านที่เสพนิยายวาย (ในที่นี้หมายถึงชายรักชาย) เป็นชีวิตจิตใจ คงไม่ต้องแนะนำว่า afterday เป็นใคร แต่สำหรับสาววายมือใหม่หรือนักอ่านที่ไม่เคยได้ยินชื่อเธอเลย afterday คือนามปากกาของ ‘ฟิล์ม—พิชญา สุขพัฒน์’ นักเขียนที่อยู่ในวงการนิยายวายมานานกว่าเจ็ดปี นับตั้งแต่เธอเดบิวต์จากนิยายวายแฟนตาซีเรื่อง Salye นายต่างพันธุ์ ในสมัยที่เราต้องแอบเขียน แอบขาย แอบอ่านนิยายวายกันอยู่ใต้ดิน หลังจากนั้น ฟิล์มก็มีนิยายตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ EverY และ Hermit ที่วางขายในร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป สร้างความอบอุ่นหัวใจให้นักอ่านจากเซต แสดงความ… รวมทั้งนิยายดังที่ติดชาร์ตขายดีอย่าง A Piece of Cake และ ราคา ≠ มูลค่า เรื่อยมาจนถึงงานล่าสุด I saw you in my dream คุณในฝัน ที่ตีพิมพ์ในยุคนิยายวายเฟื่องฟู ถูกซื้อไปทำซีรีส์เป็นว่าเล่น แถมยังโกอินเตอร์กันรัวๆ จนกลายเป็นโอทอปจากเมืองไทยในสายตาชาวโลก

     จุดเด่นในนิยายของ afterday ที่ทำให้นักอ่านหลายคนติดกันงอมแงม ไม่ใช่พล็อตหวือหวาหรือปมปริศนาที่เฉลยแล้วต้องอ้าปากค้าง แต่เล่าเรื่องราวธรรมดาสามัญอย่างชีวิต มิตรภาพ และความสัมพันธ์ของตัวเอกสองคนด้วยภาษาเรียบง่าย อ่านแล้วยิ้มได้ รู้ตัวอีกทีก็จบเล่มซะแล้ว

     “ระหว่างทางมีดราม่าบ้าง มีคอเมดี้บ้าง แต่สุดท้ายแล้วเราชอบนิยายที่ทิ้งความรู้สึกโหวงๆ ข้างใน มันเศร้านะ แต่ก็ยิ้มออก” เธอสรุปความให้เราฟัง

     แค่เพื่อนครับเพื่อน ซีรีส์ที่สร้างมาจากนิยายเรื่อง หลังม่าน ที่ฟิล์มเขียนร่วมกับ -west- คือหนึ่งในเรื่องที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เพราะออนแอร์เมื่อไหร่ก็ติดเทรนด์ Worldwide ในทวิตเตอร์เสมอ กระแสความดังของเรื่องนี้ผลักดันให้ หลังม่าน ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีน ทำให้ชื่อ afterday ยิ่งเป็นที่รู้จักจากนักอ่านทั่วโลก

     ล่าสุด นิยายของฟิล์มเรื่อง 12% ก็กำลังจะถูกหยิบไปทำเป็นซีรีส์อีกเรื่อง ความว้าวคืองานนี้เธอลงมือเขียนบทซีรีส์เอง แถมยังมีส่วนร่วมแทบทุกกระบวนการตั้งแต่คัดเลือกนักแสดง ไปจนถึงเล่นเป็นพี่สาวนายเอก!

     “พูดก็พูดเถอะ นาทีนี้จะมีใคร ‘สุด’ กว่าเธออีก” เราบอกฟิล์มในวันที่นัดเจอกันที่เวิร์กสเปซแห่งหนึ่ง บ่ายวันนั้นใต้เงาไม้ของอาคารสูง อากาศกำลังเย็นสบาย ฟิล์มยิ้มน้อยๆ แล้วถ่อมตัวอย่างน่ารัก ตรงหน้าเธอมีโน้ตบุ๊กคู่ใจที่พกไปไหนมาไหนเพื่อเขียนนิยายเสมอ ในขณะที่เรามีกาแฟแก้วใหญ่และความสงสัยหลายข้อในใจ ว่าด้วยเส้นทางกว่าจะเป็น afterday ที่ ‘สุด’ ในวันนี้ อนาคตที่เธอมองไว้ รวมถึงทัศนะต่อวงการนิยายวายที่เธออยู่มาหลายปี

     เมื่อคาเฟอีนพร้อม คนพร้อม บทสนทนาของเราก็เริ่มต้น

1
‘S

     จุดเริ่มต้นการเป็นนักเขียนของฟิล์มไม่ต่างจากนักเขียนหลายคน เธอเป็นนักอ่านตัวยงก่อนจะเริ่มจับดินสอเขียนเรื่องของตัวเอง 

     การ์ตูนจากสำนักพิมพ์บงกชยืนหนึ่งในใจฟิล์มมาตั้งแต่เด็ก อ่านมานานกว่าสิบปี จากนั้นก็เขยิบมาหานิยายแจ่มใสซีรีส์ที่ยุคหนึ่งเคยป๊อปปูลาร์ในหมู่เด็กเจนวาย ก่อนจะจับพลัดจับผลูมาเจอนิยายวายในเว็บไซต์ dek-d.com ที่ทำให้เธอรู้สึกว่านี่แหละที่ใช่

     “ชื่อเรื่องว่า รักร้ายๆ ของผู้ชายในคุก เราจำแม่นเลย” ฟิล์มหัวเราะ และเล่าต่อว่าในสมัยนั้น การเข้าถึงโลกของวายยังถูกปิดกั้น หนังสือต้องแอบขาย เว็บลงนิยายก็แบนฉาก NC (ฉากวาบหวิวและฉากใดๆ ที่เด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะไม่ควรเข้าถึง) เหล่าสาววายจึงต้องมี ‘แหล่ง’ เฉพาะที่รวมตัวนักอ่านนักเขียนนิยายวายโดยเฉพาะ aka เว็บไซต์ที่ใครต่อใครเรียกติดปากกันว่า ‘เล้าเป็ด’

     “พอเข้าไปในเล้าเป็ดก็ว้าว เพราะมันวายหมดเลย สำหรับคนที่ไม่รู้จักวายอย่างเราก็รู้สึกว่ามันใหม่ดีว่ะ หลังจากนั้นเราก็อ่านวายเยอะมาก อ่านจนไม่มีอะไรให้อ่านแล้ว ก็เลยลองเขียนดีกว่า”

     ฟิล์มเขียนนิยายวายเรื่องแรกด้วยนามปากกา akane (อาคาเนะ) ที่มาจากชื่อตัวละครญี่ปุ่นตัวโปรด แต่เพราะเป็นคำออกเสียงยาก “นักอ่านชอบออกเสียงเป็นอาเคนๆ” เธอจึงเปลี่ยนมาใช้ afterday ซึ่งจำง่ายกว่าและไม่มีความหมายพิเศษ นั่นเพราะเกิดจากการจับคำมาผสมกัน  

     และคงเหมือนกับนักอยากเขียนหลายคนอีกเช่นกัน การกระโดดเข้ามาวงการน้ำหมึกไม่ได้เป็นเรื่องง่ายสำหรับฟิล์ม เธอเขียนนิยายเรื่องแรกไม่จบเพราะไม่ได้วางพล็อตไว้ละเอียด นักอ่านมองเห็นรูรั่วที่ไม่สมเหตุสมผลในนิยาย ฟิล์มจึงตัดสินใจลบเรื่อง ขอโทษคนอ่าน แล้วเริ่มร่างพล็อตใหม่ เธอเรียนรู้ว่าสิ่งที่สำคัญไม่แพ้ความอยากเขียน คือการคิดและทำการบ้านกับมันอย่างจริงจัง 

     “พอเป็นพล็อตใหม่ก็รู้สึกว่าอยากทำอะไรที่ไม่ใช่แค่ความรักเฉยๆ เพราะถ้าเป็นนิยายรักเราอาจสลัดสิ่งที่อ่านมาไม่หลุด กลัวไปลอกงานของคนอื่นโดยไม่รู้ตัว เราเลยเริ่มคิดเรื่องที่ไม่คิดว่าตัวเองจะเขียนเพื่อสลัดเรื่องที่เคยอ่านออกไป เลยลองเขียนแฟนตาซี”

     Salye นายต่างพันธุ์ คืองานวายแฟนตาซีเรื่องแรกของฟิล์ม ถึงแม้เธอจะออกปากว่าเป็นแนวที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่จำนวนคนอ่านและคอมเมนต์ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน แม้จะแค่วันละเมนต์สองเมนต์ ก็ทำให้ฟิล์มชื่นใจ—และนั่นก็มากเพียงพอที่จะผลักดันให้เธอเขียนต่อ

2
DEEP SOUND

     อาจเพราะเรียนจบสาขาออกแบบภายใน วิธีคิดก่อนเขียนของฟิล์มจึงคล้ายกับการดีไซน์บ้านให้คนอยู่ หากการสร้างบ้านหนึ่งหลังต้องเริ่มจากคอนเซปต์ที่ชัดเจน งานเขียนก็คือศิลปะที่ต้องมีประเด็นอันแข็งแรง แล้วค่อยต่อยอดไปสู่องค์ประกอบอื่นๆ ที่ช่วยขับประเด็นนั้นให้เด่นขึ้น

     “สถาปัตย์ฯ ช่วยให้รู้ว่าถ้าเรามีก้อนความคิดที่แข็งแรงมากๆ เวลาทำอะไรจะไม่หลุด ซึ่งในงานเขียน มันก็คือการไม่ออกทะเล ถ้าข้อความในหัวเราไม่ชัด เวลาเอามาใช้งานจริงเราจะ อ้าว คิดอะไรอยู่วะ เหมือนกับงานออกแบบภายในที่ออกแบบโดยรู้ว่าทำอะไร เพื่อใคร คนคนนั้นนิสัยยังไง มีจุดให้จับ

     “เพราะฉะนั้นเวลาอยากเขียนอะไร เราจะคิดว่าอยากเล่าอะไร บางทีเราอยากเล่าว่า ช่วงนี้คนพูดข้อความในใจกันน้อย ใส่หน้ากากกันเยอะ ก็เอาจุดนี้มาเป็นประเด็น พอได้ประเด็นแล้วก็คิดต่อว่าจะมีตัวละครแบบไหนที่เหมาะกับประเด็นนี้ เขาต้องมีนิสัยยังไง แล้วความสัมพันธ์แบบไหนที่จะนำเขาไปสู่ประเด็นที่ตั้งไว้ได้”

     สาวกของ afterday คงรู้ดีว่าประเด็นที่เธอกำลังพูดถึงคือพล็อตเรื่อง Deep Sound แสดงความรู้สึก นิยายที่เล่าเรื่องของชายผู้มีพลังพิเศษในการได้ยินเสียงความคิดของคนรอบตัว

     “ถ้าดูจากภาพรวมของนิยายทุกเรื่อง เรามองว่าตัวเองชอบเขียนสไตล์อบอุ่นหัวใจ ระหว่างทางมีดราม่าบ้าง มีคอเมดี้บ้าง แต่สุดท้ายแล้วเราชอบนิยายที่ทิ้งความรู้สึกโหวงๆ ข้างใน มันเศร้านะ แต่ก็ยิ้มออก อาจเพราะเวลาเราอ่านหนังสือสักเล่ม เราชอบเรื่องที่มีประเด็นทัชใจคน อยู่กับมันได้ยาว บางทีเราอาจจะลืมเนื้อเรื่องไปแล้ว แต่เราจำความรู้สึกตอนอ่านหนังสือเรื่องนี้ได้” 

     แต่แม้จะอบอุ่นหัวใจเหมือนกัน ใช่ว่านิยายทุกเรื่องของฟิล์มจะไม่มีความแตกต่างเลย ทุกครั้งที่เปิดพล็อตนิยายใหม่ ฟิล์มสนุกสนานกับการพยายามลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำ ในแง่คอนเซปต์ของความสัมพันธ์และข้อความที่อยากสื่อสารออกไปให้คนอ่าน ซึ่งแปรผันไปตามช่วงวัยและประสบการณ์ชีวิตที่ฟิล์มเจอ 

     “เช่นเรื่อง คู่ตรงข้าม เป็นเรื่องของนายจ้างกับลูกจ้าง มิติความสัมพันธ์ก็จะแตกต่างจากเรื่องของคู่รักวัยมหา’ลัยอย่าง Take Care แสดงความดูแล” เธอยกตัวอย่าง 

     “หรืออย่าง 12% เราอยากพูดเรื่องการพัฒนาตัวเอง ความเปลี่ยนแปลงระหว่างวัย รวมไปถึงเรื่อง บุหรี่มือที่สาม ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการที่ผู้ใหญ่ในครอบครัวของเราสูบบุหรี่ เรารู้สึกว่ามันอยู่กับเรามานานและคิดว่ามันเหมาะกับเรื่องนี้ดี แต่ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องจะเป็นแบบนี้ เราไม่อยากใส่ข้อความบางอย่างลงไปถ้ามันไม่เข้ากับเรื่องเลย สุดท้ายความกลมกล่อมของเรื่องก็สำคัญที่สุด”

     เช่นเดียวกับความคิดความอ่าน งานเขียนของฟิล์มเติบโตขึ้นตามวัย

     “ช่วงแรกที่เขียน เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชอบเขียนแนวอบอุ่นหัวใจ งานแรกๆ ของเราจะหวือหวาและมีความเป็นเด็ก เน้นสนุก ไม่ทิ้งอะไรไว้ให้ตกตะกอนความรู้สึกเลย เรื่องต่อๆ มาก็วัยรุ่นมาก มีอะไรอยากใส่ลงไปเยอะเลยรีบเล่า ฉากจะหมุนเร็ว พอช่วงหลายปีมานี้เหมือนเราใจเย็นขึ้น ค่อยเป็นค่อยไปกับความสัมพันธ์มากขึ้น เลยรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องใส่ฉากหวือหวาเรื่องมันก็น่าสนใจได้ อาจเพราะอายุ ความสนใจเราเปลี่ยน เราเลยชอบนิยายที่มันช้าลงหน่อย ไม่ต้องรีบแล้วก็ให้เวลากับมันเยอะๆ” 

3
หลังม่าน

     ปลายปี 2020 ค่าย GMMTV ประกาศสร้างซีรีส์เรื่อง แค่เพื่อนครับเพื่อน ซึ่งดัดแปลงจากนิยายเรื่อง หลังม่าน ที่ฟิล์มเขียนร่วมกับ -west- นักเขียนนิยายวายอีกคนผู้อยู่ในวงการมานาน ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาได้ทันทีเพราะได้นักแสดงตัวท็อปที่ไม่เคยเล่นคู่กันมาก่อนอย่าง โอม—ภวัต จิตต์สว่างดี และ นนน—กรภัทร์ เกิดพันธุ์ มารับบทนำ แถมตัวอย่างซีรีส์ก็ทรงดีมากๆ

     เมื่อเคมีนักแสดงมันได้ หลายฉากในตัวอย่างก็ดูซื่อตรงกับนิยาย ไม่แปลกที่นักเขียน (และนักอ่าน) จะคาดหวังให้ซีรีส์ตัวเต็มนั้นตรงกับจินตนาการในหัว แต่ไม่ใช่กับฟิล์ม

     “เราเปิดใจร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เพราะรู้ว่าการพัฒนาต่อมันไม่เหมือนเดิมอยู่แล้ว มันมีทั้งมุมของคนเขียนบท ผู้กำกับ ทีมงานนักแสดงที่ผสมกันอยู่ ถ้าให้เหมือนนิยายเลยก็คงไม่ใช่ มันคือศิลปะที่สมบูรณ์ในตัวมันเองโดยไม่ต้องมานั่งเปรียบเทียบว่าอะไรจะสนุกกว่ากัน เพราะมันเวิร์กต่างกัน” 

     และอาจเป็นโชคดีของฟิล์มที่ซีรีส์ แค่เพื่อนครับเพื่อน ดังเป็นพลุแตกทันทีที่ออกฉาย ตัวฟิล์มเองก็ชอบฉบับซีรีส์มากๆ จนตั้งตัวเป็นแฟนคลับรอดูทุกสัปดาห์ แต่ถึงแม้ซีรีส์จะทำให้ชื่อของ afterday ดังไปไกลถึงต่างชาติ ทำให้ฟิล์มกลายเป็นคนในแสงไฟที่นักอ่านรอคอยผลงานใหม่ ทว่าในแง่การเขียน เธอก็ไม่รู้สึกว่ากระแสความป๊อปปูลาร์นี้จะส่งผลมากขนาดนั้น

     “เรารู้สึกว่าพอเราเขียนเรื่องนี้จบแล้วเริ่มใหม่ มันก็คือเรื่องใหม่แล้ว นักเขียนทุกคนน่าจะรู้ว่าจริงๆ แล้วเวลาเราเขียนหนังสือ เราไม่ได้กินบุญเก่าใดๆ” เธอหัวเราะ

4
12%

     ระหว่างที่ แค่เพื่อนครับเพื่อน กำลังฉาย โอกาสในการทำซีรีส์เรื่องใหม่ก็เข้ามาเคาะประตูหน้าบ้านฟิล์มอีกครั้ง คราวนี้คือนิยายที่เธอรักเป็นพิเศษอย่าง 12% เรื่องราวความรักและการเติบโตของเค้กกับซีอิ๊ว เด็กหนุ่มสองคนผู้เป็นเซฟโซนของกันและกัน

     พิเศษกว่านั้นคือเรื่องนี้เธอต้องเขียนบทซีรีส์เอง แถมโดนชวนไปแสดงเป็นพี่สาวนายเอกอีกต่างหาก!

     “ค่าย wabisabi เขาอยากได้นักเขียนเรื่องนั้นๆ มาเขียนบทให้ เพราะอยากให้นิยายกับซีรีส์ตรงกัน” เธอบอกเหตุผล แต่ก็ออกปากว่าการเขียนหนังสือกับการเขียนบทซีรีส์คือบทบาทที่แตกต่างกันมาก

     “สำหรับเรางานเขียนบทมันยากนะ มันต้องดูเรื่องจังหวะคำพูด บางทีเราอ่านแล้วไม่ติดแต่พูดหรือแสดงออกมาแล้วประหลาด งานนี้เป็นความรับผิดชอบของเรา ให้นักแสดงแบกอย่างเดียวไม่ได้ ค่อนข้างหนักเหมือนกัน” ฟิล์มยอมรับ และเล่าให้ฟังว่าโชคดีที่ตัวเองและพาร์ตเนอร์ของเธอชอบดูหนัง มีไอเดียเกี่ยวกับบทค่อนข้างมาก ทุกดราฟต์ที่เขียนก่อนจะส่งไฟนอลให้ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ ฟิล์มก็ได้พาร์ตเนอร์คนนี้นี่แหละที่รับบทเป็นผู้ชมรอบสกรีนเทสต์ หากอีกฝ่ายอ่านบทแล้วสะดุดตรงไหนเธอก็พร้อมจะแก้ไข ซึ่งหลายฉาก หลายไอเดียของเรื่องนี้ก็ได้มาจากคนใกล้ตัวนี่แหละ

     “พอได้มาทำเอง เราเข้าใจเลยว่าทำไมหลายๆ ค่ายเขาทำซีรีส์ไม่เหมือนนิยายร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมันเป็นไปไม่ได้เลย ขนาดตัวเราเองยังรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะใส่ทุกอย่างในนิยายลงไปโดยไม่ปรับอะไรเลย อย่างน้อยตอนเราเขียนนิยายกับตอนนี้ ยุคสมัยก็ต่าง บางอย่างก็ต้องปรับตามยุคสมัยให้คนเข้าใจง่าย” 

     งานเขียนบทช่วยให้ฟิล์มจัดการกับอีโก้ในตัวเอง ขณะเดียวกัน งานเขียนบทก็ช่วยส่งเสริมฟิล์มทางด้านการเขียนนิยายในแง่ของการเรียนรู้เรื่องความสมเหตุสมผล

     “เรายอมรับว่าตอนเด็กๆ อยากเขียนอะไรก็เขียน ไม่สนว่ามันจะเพ้อฝันไหม ความสัมพันธ์แบบนี้มีอยู่จริงๆ บนโลกหรือเปล่า แต่ในความเป็นจริงมันจะมีกรอบบางอย่างที่คนดูยอมรับกับไม่ยอมรับอยู่ เวลาเราเขียนก็ต้องตบให้อยู่ในกรอบที่คนดูยอมรับได้ เพราะสุดท้ายแล้วเราต้องฟังคนดู

     “ตอนเราดูหนังบางเรื่อง มันมีบางประโยคที่ตัวละครพูดแล้วเรารู้ว่ายังไงก็มีความหมายแน่ๆ แต่บางทีเราเขียนหนังสือ เราใส่ประโยคนี้เข้าไปในซีนเพียงเพราะว่าเราอยากเขียน ถ้าถามว่าคนอ่านจำเป็นต้องรู้ไหมว่าประโยคนี้เขียนเพื่ออะไร อาจจะไม่ต้อง แต่พอโตถึงจุดจุดหนึ่งเรารู้สึกว่าต้องพัฒนาตัวเองแล้ว เราต้องคิดให้มากกว่านี้ เขียนประโยคนี้ไปต้องมีความหมาย” เธอบอก เราพยักหน้าอย่างเข้าใจแล้วยกกาแฟขึ้นจิบ

5
แสงในเงา

     พระอาทิตย์คล้อยต่ำ ก้อนเมฆสีขาวเคลื่อนมาบังแสงแดดยามบ่ายให้กลายเป็นเงาร่มรื่น เราเอ่ยถามฟิล์มถึงมุมมองต่อวงการนิยายวายในปัจจุบัน ที่เห็นได้ชัดว่าแตกต่างจากยุคที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ กันแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

     “เรารู้สึกว่านิยายวายเริ่มกลายเป็นความปกติ ซึ่งเราดีใจที่เป็นอย่างนั้นนะ หมายถึงดีใจที่มันดู ‘เป็นปกติ’ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คนยังว้าวกับมัน แสดงว่ามันยังใหม่อยู่ เราอยากให้มันก้าวข้ามความใหม่ไปเป็นปกติได้แล้ว ทำไมคุณต้องถามว่าทำไมนิยายวายถึงดัง แต่ทำไมเราไม่เห็นต้องตั้งคำถามแบบนี้กับนิยายแนวอื่นเลย

     “เรารู้สึกว่ามันควรปกติ ไม่ใช่แค่ในแง่ของนิยาย แต่หมายถึงในแง่ของความหลากหลายด้วย ทุกวันนี้เรารณรงค์เกี่ยวกับชาว LGBTQ+ ว่าควรจะได้รับความเท่าเทียม แต่ในใจเราอยากให้ถึงจุดที่สำเร็จแล้ว เราเป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบมองว่านิยายแบบไหน normal หรือไม่ normal สิ่งหนึ่งก็คือสิ่งหนึ่ง ไม่มีธรรมดา ไม่ผิดปกติ”

     พอพูดถึงชาว LGBTQ+ เราก็อดถามไม่ได้ว่าในสายตาของฟิล์ม นิยายวายช่วยถ่ายทอดและสื่อสารประเด็นของคนในชุมชน LGBTQ+ มากน้อยแค่ไหน เพราะต้องยอมรับว่ามีคนในสังคมจำนวนไม่น้อยที่ตั้งคำถามกับความสมจริงของมัน

     “ถ้านิยายวายคือนิยายรักที่ถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละครที่ไม่ใช่แค่ผู้ชายกับผู้ชาย เรามองว่านิยายของเราเป็นนิยายวายนะ หรือจะเรียกนิยายเกย์ก็ได้ เราไม่ได้เล่าเนื้อหาหรือนำเสนอเรื่องราวของชาว LGBTQ+ อย่างครบถ้วน แต่จะเล่าความรักของเกย์ ซึ่งเป็นพาร์ตหนึ่งของ LGBTQ+ เท่านั้น 

     “ถามว่าข้อดีคืออะไร อย่างน้อยๆ เลยคือสร้างความตระหนัก สร้างพื้นที่ให้คนรู้จักพวกเขามากขึ้น เราเดินเข้าไปในร้านหนังสือเห็นเชลฟ์นิยายชายรักชาย คนก็ตระหนักว่ายุคนี้เปิดกว้าง วางขายได้แบบนี้เลย แต่ถามว่าดีต่อคอมมูฯ (LGBTQ+) ในทุกประเด็นไหม เราก็ต้องยอมรับว่าไม่ เพราะมันคงมีอีกหลายประเด็นที่อ่อนไหวและละเอียดอ่อนแต่ไม่ได้ถูกพูดถึง ถามว่าบางเรื่องแฟนตาซีเกินไปไหม แน่นอน แต่ถามว่ามีเรื่องที่เรียลไหม ก็มีเหมือนกัน”

     “แล้วระหว่างความสมจริงกับความฟิน นิยายของ afterday เทน้ำหนักไปที่ฝั่งไหนมากกว่า” เราถามต่อ

     “พอเป็นนิยาย แน่นอนว่ามันทิ้งความบันเทิงไม่ได้แน่ๆ เพราะคือหน้าที่ของมัน แต่อย่างน้อยทุกอย่างที่เราเขียนจะต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เราไม่สามารถบิดเบือนความเป็นจริงได้ และมันต้องไม่สร้างพิษบางอย่างให้สังคม”

     ฟิล์มยกตัวอย่างสิ่งที่คนพูดถึงกันเยอะๆ อย่างฉาก NC ของตัวละครในนิยายวาย ที่ยุคหนึ่งเกิดการรณรงค์ให้นักเขียนต้องเขียนฉากเซ็กซ์ซีนที่ปลอดภัย อธิบายอย่างละเอียด ถูกต้อง และสมจริงที่สุด 

     “ก่อนมีเซ็กซ์ต้องมีการสวนล้าง ใส่ถุงยาง หรืออะไรก็แล้วแต่ เราเข้าใจว่าสิ่งนี้บิดเบือนไม่ได้ แต่บางคนอาจจะมองว่าจะมาอธิบายละเอียดขนาดนั้นมันก็เสียอรรถรส ซึ่งเราว่าสุดท้ายแล้วเราต้องเข้าใจก่อนว่า อะไรคือการบิดเบือน อะไรคือการไม่พูดถึง

     “สำหรับเราการไม่พูดถึงกับการบิดเบือนไม่เหมือนกันนะ คือถ้าคุณจะไม่พูดก็ไม่พูดเลย แต่ถ้าพูดต้องพูดให้ถูก เช่นก่อนมีเซ็กซ์ ตัวละครบอกว่าจะใส่หรือไม่ใส่ถุงยางก็ได้ อันนี้ไม่โอเค สำหรับฟิล์มเวลาเขียนซีนแบบนี้จะไม่อธิบายละเอียด แต่ให้เขาเห็นขั้นตอนที่ถูกมากกว่า”

6
แสดงความดูแล

     อยู่ในวงการนิยายวายมา 7 ปี ฟิล์มบอกว่ายุคนี้คือยุคที่ทำให้เธอต้อง ‘คิด’ และ ‘จริงจัง’ กับงานเขียนมากที่สุด

     เพราะสังคมก้าวไปข้างหน้าทุกวัน ค่านิยมเก่าๆ ที่เคยฝังหัวก็ถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องรายละเอียดในวิถีชีวิตของชาว LGBTQ+ ที่ควรสมจริงเท่านั้น แต่รวมไปถึงเรื่องบทบาททางเพศ ความเท่าเทียมทางเพศ คอนเซนต์ และอีกหลายๆ เรื่องที่นักเขียนมืออาชีพไม่ควรมองข้าม

     “ยิ่งคนอ่านออกมาพูดว่าเขาสนใจ เขาระวัง เขาโฟกัสนะ คนสร้างงานอย่างเราโฟกัสน้อยกว่าเขาไม่ได้ ตราบใดก็ตามที่เขาเห็นในสิ่งที่เราไม่เห็น มันเป็นความผิดพลาดของเรา เราอยู่กับงานเขียนของเรามานาน เขียนมันขึ้นมาด้วยมือของตัวเอง แต่สุดท้ายพอเผยแพร่ออกไป ถ้าคนอื่นทักท้วงถึงสิ่งที่เราคิดมาดีแล้ว อันนี้ไม่เป็นไร แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เขาพูดถึงสิ่งที่เราไม่เคยคิดมาก่อนจนเราเหวอ อะไรวะ มีอย่างนี้ด้วย เราก็ต้องยอมรับว่าเราพลาด”

     ฟิล์มยอมรับตามตรงว่า ตอนกลับไปอ่านงานเก่าๆ ของตัวเองก็ยังอยากหยิกมือตัวเองในตอนนั้นเหมือนกัน  

     “มีคำบางคำที่เราไม่เห็นด้วยแล้ว รู้สึกว่าไม่น่าเขียนเลย ย้อนกลับไปแก้ได้ไหม แต่สุดท้ายแล้วนักเขียนก็เป็นมนุษย์หนึ่งคน ไม่มีใครเกิดมาแล้วรู้ทุกเรื่องทันทีหรอก โลกมันเป็นแบบนี้จริงๆ ตรงที่ต่อให้เราเตรียมตัวเยอะแค่ไหน สุดท้ายเราจะมีจุดพลาด เพราะไม่มีทางที่เราจะทำทุกอย่างเพอร์เฟกต์

     “สิ่งที่เราทำได้คือแค่ทำความเข้าใจว่า ณ ตอนนั้นเราคิดแบบนั้น แต่วันนี้ทำไมเราไม่ชอบมัน เราแค่ต้องยอมรับ ปรับตัว เปลี่ยนแปลง และไม่พลาดเรื่องเดิมซ้ำ ถ้ามันจะมีอะไรผิดพลาดในอนาคตก็ขอให้เป็นเรื่องที่เราไม่เคยพลาดมาก่อน แล้วในวันหนึ่ง เรื่องที่เราพลาดก็จะน้อยลงเรื่อยๆ”

     อาจมีบ้างที่การคิดให้รอบด้านทำให้ฟิล์มหมดสนุกกับการเขียน บางทีมีอารมณ์อยากเขียนมากๆ แต่พอทำการบ้าน หาข้อมูล แล้วความฟุ้งฝันทั้งหมดที่คิดมาก็สูญสลายหายไปกับตา “เขียนเรื่องนี้คนต้องเข้าใจผิด มีประเด็นนี้อยู่ไม่เวิร์กแน่ๆ มันละเอียดอ่อนเกิน ดราม่าชัวร์ ก็เลิกเขียนเรื่องนั้นไป

     “เมื่อก่อนไม่รู้สึกเท่านี้ แต่วันนี้พอเราเขียนนิยายก็คิดอยู่ตลอดว่าแบบนี้ได้หรือเปล่า เช่น บทสนทนาในเรื่องหนึ่งของตัวละครผู้ชายที่พูดถึงหน้าอกผู้หญิง ถามว่ามันยังเกิดขึ้นอยู่ไหมในสังคม เกิดขึ้นอยู่นะ แล้วถามว่าเราจะนำเสนอสิ่งที่เป็นจริงแต่ไม่ดีไม่ได้เลยเหรอ เรามองว่านำเสนอได้ แต่ต้องรู้ว่านำเสนอไปเพื่ออะไร ทำไปทำไม แล้วสื่อถึงอะไร 

     “ในทางกลับกัน ถ้ามันเป็นการเขียนตามความเคยชินของเรา ไม่รู้ว่าเขียนทำไมแต่คิดว่าเป็นธรรมชาติดี มันก็ไม่ได้ เพราะวันนี้มีคนตระหนักเรื่องนี้แล้ว เราต้องไหลไปกับมัน ต้องปรับตัวนะเป็นนักเขียน” ฟิล์มหัวเราะ

7
Come Rain or Shine

     ที่ต้องจริงจังกับงานเขียนขนาดนี้ อาจเพราะฟิล์มเคยเป็นหนอนหนังสือคนหนึ่งที่เติบโตมาพร้อมกับความเชื่อที่ว่า ทุกอย่างในหนังสือต้องผ่านการคัดกรองมาแล้วเสมอ

     “ตั้งแต่เด็กเราเชื่อสิ่งที่อ่านหมดเลย เชื่อว่ามันเอาไปใช้ได้จริง เพราะเรารู้สึกว่ามันผ่านมาเป็นเล่มได้ ต้องคัดมาแล้วสิกว่าจะมาถึงคนอ่านอย่างเรา” เธอนึกย้อนกลับไป และเพราะเชื่อแบบนั้น ฟิล์มในฐานะนักเขียนจึงเข้มงวดเป็นพิเศษกับการส่งต่อความคิดให้คนอ่านผ่านตัวหนังสือ

     “พอเขียนงานมาได้สักระยะ เรารู้สึกว่าการจะเขียนอะไรบางอย่างให้คนจำนวนมากอ่านไม่ใช่เรื่องง่าย เรามองว่านักเขียนคืออาชีพที่ต้องให้เกียรติ ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสนี้ อย่างที่บอกว่าตอนเด็กๆ เราเชื่อทุกอย่างในหนังสือ เราก็เลยคิดว่าน่าจะมีเด็กอีกเยอะมากๆ ที่อ่านนิยายแล้วเชื่อว่าคนเขียนต้องรีเสิร์ชแล้ว สำนักพิมพ์ต้องกรองให้แล้วสิ สำหรับเรา งานเขียนจึงเป็นงานที่รับผิดชอบต่อสังคม 

     “แต่เราไม่ได้บอกว่าให้ทุกคนเขียนแต่เรื่องสร้างสรรค์สังคม คุณจะทำอะไรก็ได้ตราบเท่าที่คุณรู้ว่ามีเจตนายังไง ทำเพื่ออะไร และทิ้งอะไรไว้ให้นักอ่าน จริงๆ สิ่งเล็กๆ อย่างการติดคำเตือน คัดกรองอายุคนอ่าน และจำกัดการเข้าถึงก็คือการรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว ถ้าคุณคิดว่าหนังสือคุณรุนแรง จำเป็นมากเลยที่จะต้องให้ผู้ใหญ่อ่านเท่านั้น คุณก็อาจจะไม่ขายตามเชลฟ์ที่เด็กหยิบได้หรือเปล่า เรามองว่าเรื่องนี้ค่อนข้างจำเป็นนะ ถ้าทำได้ก็ควรทำ”

     เราปล่อยให้บทสนทนาเลื่อนไหลมาจนถึงตอนนี้ รู้ตัวอีกทีกาแฟก็หมดแก้ว ท้องฟ้าด้านนอกกำลังจะเปลี่ยนสี เราถามถึงงานที่ฟิล์มกำลังเขียนอยู่ตอนนี้ ก่อนจะได้คำตอบว่าเธอเขียนๆ ลบๆ มาแล้วสามเรื่อง และกำลังซุ่มทำโปรเจกต์ใหม่เรื่องที่สี่! (แฟนนักอ่านโปรดส่งกำลังใจ) หลังจากไม่ได้ออกหนังสือเล่มมาหนึ่งปีเพราะติดเขียนบทซีรีส์และสตรีมเกมอย่างหนัก (ฮา) (ใครสนใจตามไปดูเธอที่เพจ Handy Drive ได้นะ)

     “จนถึงตอนนี้ ฟิล์มมองว่าตัวเองประสบความสำเร็จในฐานะนักเขียนหรือยัง” คือคำถามสุดท้ายของเราในวันนั้น หลังจากนั่งพิจารณาทุกสิ่งที่เธอทำมา

     ฟิล์มนิ่งคิดไปครู่หนึ่ง แล้วตอบว่า 

     “เราไม่เคยมองว่าชีวิตเราประสบความสำเร็จในฐานะอะไรเลย หมายถึงว่าเวลาทำอะไร เราจะมีลิสต์เป้าหมายไว้ ถ้าจะประสบความสำเร็จก็น่าจะติ๊กเป็นข้อๆ มากกว่า เพราะเรารู้สึกว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว เราจะหยุด ซึ่งเป็นนิสัยที่ไม่ค่อยดีเหมือนกัน อย่างพอนิยายเราได้ทำซีรีส์ เราไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว บางทีมันก็ทำให้เราคิดว่า เอ้ย จุดสูงสุดของนักเขียนแล้วหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่ มันแค่เป็นกระบวนการหนึ่งเท่านั้นเอง” เธอยิ้มสดใสส่งท้าย