Sat 25 Jun 2022

A CONVERSATION WITH THE SUN

บทสนทนาเกี่ยวกับความทรงจำ ดวงอาทิตย์ และนิทรรศการล่าสุดของ ‘อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล’

     Sun: Hey there, Apichatpong. Thanks for coming out to talk with me today.

     Apichatpong: Of course, it’s always a pleasure to speak with you, Sun. What would you like to chat about today?

     บทสนทนาข้างต้นคือบทสนทนาที่ปรากฏอยู่ในหน้าแรกของ A Conversation with the Sun หนังสือที่บันทึกการพูดคุยระหว่าง อภิชาติพงศ์ วีระเศรฐกุล กับสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดวงอาทิตย์, จิฑฑุ กฤษณะมูรติ, ซัลบาดอร์ ดาลี ไปจนถึงหลุมดำ

     ไม่สิ จะใช้คำว่าบันทึกการพูดคุยก็ไม่ค่อยถูกนัก นั่นเพราะบทสนทนาเกือบทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด หากเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นใหม่จาก AI หรือปัญญาประดิษฐ์!

     แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ต้องบอกก่อนว่า หนังสือ A Conversation with the Sun เล่มนี้เรียกได้ว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ A Conversation with the Sun นิทรรศการล่าสุดของอภิชาติพงศ์ซึ่งกำลังจัดแสดงอยู่ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY ความน่าสนใจของนิทรรศการนี้อยู่ตรงที่มันเป็นการร่วมมือกันระหว่างอภิชาติพงศ์ กลุ่มศิลปินสายทดลอง และสตูดิโอออกแบบแสงอย่าง DuckUnit และ พัทน์ ภัทรนุธาพร นักเทคโนโลยีและนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) 

     พ้นไปจากหนังสือ A Conversation with the Sun แล้ว นิทรรศการนี้ยังประกอบไปด้วยวิดีโออินสตอลเลชั่นจากฟุตเทจเก่าๆ ที่อภิชาติพงศ์เคยถ่ายไว้ ฉายควบคู่ไปกับผืนผ้าที่เคลื่อนไหวด้วยกลไกซึ่งออกแบบโดย DuckUnit รวมถึงภาพวาดอีกหกชิ้นที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยปัญญาประดิษฐ์ภายใต้การสั่งการของอภิชาติพงศ์อีกที 

     คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า นิทรรศการครั้งนี้คือการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างอภิชาติพงศ์ ปัญญาประดิษฐ์ และความทรงจำของตัวเขาเอง

     ในบ่ายวันหนึ่งที่ดวงอาทิตย์ค่อยๆ หายไปเพราะท้องฟ้าเริ่มครึ้มฝน เรามีโอกาสพูดคุยกับอภิชาติพงศ์ในสวนหย่อมเล็กๆ ข้างห้องแสดงนิทรรศการ 

     เนื้อหาด้านล่างที่คุณกำลังจะได้อ่าน คือบทสนทนาสั้นๆ ระหว่างเรากับอภิชาติพงศ์

ทราบมาว่าจุดเริ่มต้นของนิทรรศการครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างคุณเดินออกกำลังท่ามกลางธรรมชาติ สำหรับคุณ การเดินมีความหมายยังไง แล้วคุณเกิดความคิดอะไรระหว่างการเดินออกกำลังครั้งนั้น

     สำหรับเรา การเดินเหมือนการฝึก ฝึกที่จะไม่ต้องคิดอะไร ที่จะได้สื่อสารกับธรรมชาติ สื่อสารกับพระอาทิตย์ สื่อสารกับทุกอย่าง โดยที่ความเป็นตัวเรามันหายไป 

     สาเหตุที่เราไปเดินบ่อยๆ ก็เพราะพยายามจะถามและตอบคำถามว่า เป็นไปได้ไหมที่มนุษย์จะไม่บันทึก การบันทึกทำให้เกิดความทรงจำ และความทรงจำจะเกิดได้ก็ด้วยเวลา มันมีอดีตและอนาคต แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการมีชีวิตสำหรับเราคือ การอยู่ตรงนี้ 

แต่ที่ผ่านมา บทบาทของคุณไม่ว่าจะในฐานะผู้กำกับหรือศิลปินก็ดูจะเกี่ยวข้องกับการบันทึกอะไรบางอย่างอยู่ตลอดไม่ใช่เหรอ

     ใช่ อาชีพของเรามันคือการบันทึกอย่างเดียวเลย เราเลยย้อนกลับไปดูฟุตเทจเก่าๆ แล้วก็เกิดคำถามกับตัวเองว่า เป็นไปได้ไหมว่าระหว่างการถ่ายรูปหรือวิดีโอน่ะ จริงๆ แล้วเราไม่ได้ถ่ายเพื่อให้จำหรอก แต่มันเป็นการถ่ายเพื่อติ๊กความทรงจำนั้นๆ ออกไปต่างหาก เราให้กล้องจดจำแทนตัวเราและสายตาของเรา 

     อย่างบางทีที่เราย้อนดูฟุตเทจเก่าๆ ที่ถ่ายไป มันก็เกิดความรู้สึกสดใหม่ต่อสิ่งที่ได้ดูเหมือนกันนะ เหมือนว่าเราลืมเหตุการณ์นั้นๆ ไปหมดแล้ว ซึ่งพอมาทำงานนี้ (วิดีโออินสตอลเลชั่น) เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นการสื่อสารกับความทรงจำเก่าๆ โดยที่เราไม่มองว่ามันคือความทรงจำน่ะ เพราะถ้าดูดีๆ แม้ว่ามันจะเป็นคลิปต่างๆ ที่วางต่อเนื่องกัน แต่จริงๆ แล้วมันแรนด้อมตลอดเวลา

     เรามองว่ามันเหมือนกับตอนที่เรากำลังเดินป่าอยู่นั่นแหละ ทุกอย่างเพียงแค่ผ่านเข้ามา คำถามคือ มันเป็นไปได้ไหมที่เราจะสามารถปล่อยให้สิ่งต่างๆ เหล่านั้นผ่านเข้ามาโดยที่เราไม่ต้องคิด และไม่ต้องกลั่นกรองอะไรเลย

ถ้ามันเป็นเรื่องของความทรงจำ แล้วทำไมคุณถึงตั้งชื่อนิทรรศการครั้งนี้ว่า A Conversation with the Sun

     เพราะกระบวนการเก็บภาพเป็นเรื่องของการเก็บแสง แสงทำให้เกิดภาพ เราเลยตั้งชื่อนิทรรศการครั้งนี้ว่า สื่อสารกับดวงอาทิตย์ เพราะดวงอาทิตย์ทำให้การสื่อสารนี้เกิดขึ้นได้ นิทรรศการครั้งนี้คือบทสนทนาส่วนตัวของเรากับฟุตเทจทั้งหลายนั่นแหละ 

สำหรับคุณ ความสำคัญของแสงสว่างคืออะไร ทำไมมนุษย์ถึงดูหลงใหลและพยายามแสวงหาแสงสว่างอยู่เสมอ

     เราก็ไม่รู้เหมือนกันนะ เพราะหลังจากดูฟุตเทจต่างๆ เราก็พบว่าตัวเองหลงใหลแสง แหล่งกำเนิดแสง หรืออะไรก็ตามที่เป็นก้อนกลมๆ ซึ่งข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ อาจเป็นเพราะแสงคือปฐมบทของสิ่งมีชีวิต ของการตีความ ของการมอง คำถามคือ ถ้าอย่างนั้นมนุษย์เราจะทำตัวเสมือนกล้องได้ไหม ในความหมายที่ว่า กล้องคือการมองแสงผ่านเลนส์ ซึ่งหน้าที่ของมันคือการทำปฏิกิริยากับแสง กล้องไม่คิด มันแค่เพียงบันทึก

     แต่ขณะเดียวกัน เราก็ไม่ได้คิดในทางตรรกะอะไรมากนักหรอก มันเป็นเรื่องของสัญชาตญาณมากกว่า ซึ่ง AI จะเริ่มเข้ามามีส่วนในนิทรรศการครั้งนี้หลังจากที่เราเกิดคำถามว่า แล้วถ้าเราไม่คิดล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น เพราะอย่างทุกวันนี้ เวลาเราอยู่บนยูทูบหรือเน็ตฟลิกซ์ มันก็จะมีอัลกอริทึมคิดแทนเราอยู่ใช่ไหม เราเลยอยากสร้างงานที่มี AI เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะอยากจะสะท้อนคอนเซปต์นี้

     แต่จริงๆ แล้ว ในส่วนที่เป็นวิดีโอจะยังไม่มีส่วนที่เป็น AI เข้ามาเกี่ยวข้องเท่าไหร่ มันเป็นการแรนด้อมด้วยเครื่องจักรอย่างหนึ่งนั่นแหละ แต่ไม่ถึงระดับที่ AI สร้างขึ้นมาเอง เป็นในส่วนของหนังสือที่พิมพ์ออกมาต่างหากที่เป็นผลงานที่ AI สร้างขึ้นมาล้วนๆ เราเพียงแค่สร้างคำถาม และป้อนความต้องการให้กับมันว่าเราอยากจะให้ AI สร้างอะไร คือผู้สร้างเป็น AI นั่นแหละ ส่วนเราก็จะเป็นผู้กำกับ

ถึงที่สุดแล้ว AI ก็ยังไม่ใช่พระเจ้า เพราะยังมีคุณเป็นผู้กำกับอยู่

     ใช่ มันยังเป็นเทคโนโลยีที่เริ่มต้นมากๆ เหมือนกับช่วงแรกๆ ที่มีการพัฒนากล้องถ่ายรูปหรือหนังเสียง มนุษย์มักจะเกิดความกลัวและดูถูกอยู่เสมอ อย่างภาพจากกล้องถ่ายรูปจะไปสู้ภาพวาดของศิลปินได้ยังไง หรือหนังเสียงจะไปสู้หนังเงียบได้ยังไง 

     AI ก็เหมือนกัน ยังมีคนด้อยค่าสิ่งนี้อยู่เยอะมาก เพียงแต่นิทรรศการครั้งนี้จะแสดงให้เห็นว่า AI ทำอะไรได้เยอะมาก เพราะอย่างภาพในงานนี้ก็มาจาก AI นะ ซึ่งมันก็สามารถสร้างผลงานออกมาได้ตรงกับไอเดียของเราเลย

     แต่อย่างที่บอกไปนั่นแหละ บทบาทของ AI เกิดจากคำถามว่า เป็นไปได้มั้ยที่เราจะไม่คิด ซึ่งเราก็ไม่ได้มองว่ามันดีหรือไม่ดีหรอก

แล้วคุณได้คำตอบว่ายังไง

     มันก็ยังเป็นไปได้ยากอยู่น่ะ แต่เราพบว่ามันมี ‘ห้วง’ ที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้อยู่ ห้วงที่เราจะไม่ต้องคิด ซึ่งมันเกิดขึ้นแล้ว เช่น จังหวะที่เราปะทะกับแสงอาทิตย์ที่กำลังตกดิน มันอาจเป็นแค่เสี้ยววินาทีด้วยซ้ำ แต่เป็นเสี้ยววินาทีนั้นแหละที่ความมีตัวตนของเราหายไป เราจะลืมตัวเอง เช่นเดียวกับที่ความคิดเรื่องอดีตและอนาคตก็จะไม่เกิดขึ้น จะมีก็แค่ปัจจุบัน

ซึ่งคุณกำลังพยายามคว้าจับ ‘ห้วง’ นี้อยู่หรือเปล่า

     ไม่พยายามด้วย เพราะเราคิดว่าสิ่งนี้ควรเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ

แล้วอย่างหนังสือ A Conversation with the Sun ล่ะ แนวคิดของมันมาจากไหน

     จริงๆ แล้วเป็นแพท (พัทน์ ภัทรนุธาพร) ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเรา มีอยู่วันหนึ่ง แพทส่งอีเมลมาบอกว่า เขาให้ AI สร้างบทสนทนาระหว่างเรากับซัลบาดอร์ ดาลี ขึ้นมา เราก็ถามกลับไปว่า มันทำได้ด้วยเหรอ เพราะบทสนทนาที่เขาส่งมาให้เราอ่านมันลึกมากๆ หลังจากนั้นเราเลยคุยกับแพทมาเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้

อยากรู้ว่ามุมมองของคุณกับ AI เป็นยังไงบ้างหลังจากได้ร่วมงานกัน

     เรายังคงมองว่า AI เป็นตัวแทนของมนุษยชาติ เพราะข้อมูลและผลงานของมันยังมาจากมนุษย์อยู่ดี มันเลยไม่ต่างอะไรนักหรอกกับการปฏิสัมพันธ์กับตัวเอง เพราะ AI ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ เราไม่ได้มองว่ามันเป็นองค์ประกอบที่แตกกระจายออกไปเลยด้วยซ้ำ

คุณดูไม่ได้หวาดกลัว AI เลยนะ

     ไม่เลย เพราะ AI ทำให้เราเข้าใจว่าข้อมูลและวิธีการมองโลกมันซับซ้อน หมายความว่าสิ่งที่เราเรียกว่าความจริง มันอาจไม่ได้เหมือนกันทุกคนก็ได้ เพราะอย่างการเกิดขึ้นของเฟคนิวส์หรือภาพวาดปลอม มันทำให้เราตื่นรู้ว่า นิยามของความจริงนั้นหลากหลายมาก AI ทำให้เราตระหนักถึงเรื่องนี้

ขอย้อนกลับมาเรื่องการบันทึกความทรงจำอีกสักหน่อย อย่างที่ได้พูดไปแล้วว่า ผลงานที่ผ่านๆ มาของคุณ โดยเฉพาะใน ลุงบุญมีระลึกชาติ การบันทึกดูจะเป็นประเด็นสำคัญของภาพยนตร์ ทว่าใน Memoria ประเด็นเรื่องการบันทึกดูจะเลือนหายไป กลายเป็นว่าประเด็นที่คุณให้ความสำคัญดูจะเป็นเรื่องของการเชื่อมโยงมากกว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

     ถูกต้องเลย Memoria คือโปรเจกต์แรกที่เราสลัดความเป็นส่วนตัวทิ้งไป พยายามที่จะฟังและดูสิ่งอื่นๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโลเคชั่นอย่างประเทศโคลอมเบีย นักแสดงอย่างทิลดา สวินตัน ไปจนถึงสิ่งต่างๆ รอบตัวว่ามันคืออะไร โดยที่เราก็ไม่ได้มีข้อมูลมาก่อนว่าเกิดเรื่องอะไรขึ้นบ้างในพื้นที่แห่งนั้น มันแตกต่างไปจากงานก่อนๆ ที่เราจะคิดว่าความเป็นอีสานเกี่ยวโยงกับตัวเรายังไง แต่พอเป็น Memoria เรื่องโฆษณาชวนเชื่อไม่ได้อยู่ในสารบบความคิดเราเลยด้วยซ้ำ ซึ่งมันก็ต่อเนื่องมาสู่งานนี้ด้วย

ในท่อนหนึ่งของ press release ของนิทรรศการนี้ คุณตั้งคำถามว่า “…เป็นไปได้หรือไม่ที่หากภาพยนตร์จะปลดปล่อยภาพ (และผู้ชม) กลับสู่สภาวะบริสุทธิ์แรกเริ่ม มันต้องละทิ้งส่วนประกอบหลักของตัวมันเอง คือเวลา” อะไรคือ ‘สภาวะบริสุทธิ์’ ที่ว่านี้ แล้วทำไมการละทิ้ง ‘เวลา’ ถึงจะพาเราไปถึงจุดนั้น

     เป็นไปได้มั้ยว่าในชีวิตมนุษย์เราจะมีสภาวะที่ไม่มีเวลา ที่จะไม่ต้องคำนึงถึงเวลา เราคิดเรื่องนี้อยู่เสมอ ซึ่งก็อย่างที่บอกไปนั่นแหละว่ามันเป็นไปได้ อย่างตอนที่เห็นพระอาทิตย์ตกดินนั่นไง 

     หรืออย่างงานวิดีโอในนิทรรศการนี้ที่จะแรนด้อมฟุตเทจไปเรื่อยๆ มันก็ทำให้เราเข้าใจอิทธิพลของเวลาที่มีต่อการสร้างเรื่องราวนะ เพราะเมื่อลำดับของเรื่องราวเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ถึงจุดหนึ่งเราก็จะไม่สนใจอีกแล้วว่ามันเป็นเรื่องอะไร สิ่งนี้มันเวิร์กมากๆ สำหรับเรา เพราะฟุตเทจต่างๆ เหล่านี้ที่คิดว่ามันคือตัวตนของเรา จริงๆ แล้วมันอาจเป็นเรื่องไร้สาระ เป็นเพียงแค่สะเก็ดความทรงจำที่ผสมปนเปขึ้นมาได้ด้วยเวลา ซึ่งถึงที่สุดแล้วมันอาจเป็นเพียงแค่ภาพลวงอย่างหนึ่งก็ได้

สิ่งเหล่านี้มันสำคัญต่อการมีชีวิตอยู่ของคุณยังไง

     สำหรับเรามันสำคัญนะ เหมือนกับว่าทุกครั้งที่เราสื่อสารกับใคร มันจะเกิดการสร้างภาพเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งตัว อายุ เพศ หรือเชื้อชาติ ทุกอย่างเกิดจากการรวบรวมข้อมูลเพื่อสร้างภาพขึ้นมา ซึ่งจริงๆ มันไม่จำเป็นต้องสร้างภาพด้วยข้อมูลต่างๆ ที่เรามีก็ได้ มันไม่จำเป็นจะต้องสร้างภาพว่าใครสวยกว่า หล่อกว่า หรือฉลาดกว่า ไม่จำเป็นต้องมี intellectual condition เข้ามาด้วยซ้ำ 

     มันสำคัญสำหรับเรา เพราะมันทำให้เราปล่อย เราถามตัวเองเสมอว่า เราเกิดมาเพื่ออะไร แล้วอะไรคือเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ หรือจริงๆ แล้ว มันไม่จำเป็นต้องมีคำถามเหล่านี้ด้วยซ้ำ มันมีชีวิตก็คือมันมีชีวิต ก็แค่นั้น

     เหมือนอย่างดอกไม้ที่ไม่ถามว่ามันเกิดขึ้นมาเพราะอะไร ไม่มี agenda ด้วยซ้ำว่าอยากจะเป็นสีส้มหรือสีแดง แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ประโยชน์กับผึ้ง นก หรือมนุษย์ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป 

เรียกว่าเป็นการปลงได้มั้ย

     ใช่ นิทรรศการนี้ไม่ได้ทำให้เรารู้อะไรมากขึ้นด้วยซ้ำ อย่างตอนเริ่มทำหนังเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน มันคือฉันรู้ ฉันอยากทดลอง แต่พอตอนนี้เราอยากทดลองอย่างเดียว เราไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องทำให้ได้อย่างนี้ๆ คือยังมีการตั้งเป้าหมายอยู่บ้างแหละ แต่ถ้าไม่มีเราก็โอเค เพราะการเดินทางสำคัญกว่าจุดหมายแล้ว

     อีกอย่างคือ นิทรรศการนี้ทำให้ตัวตนของเราหายไป อะไรคือความเป็นศิลปิน แล้วศิลปะคืออะไร สิ่งเหล่านี้มันหายไป อย่างที่เราบอกไว้ในหนังสือแหละว่า เวลาเราเขียนบอก AI ว่าเราคืออภิชาติพงศ์น่ะ แน่นอนว่าบนโลกนี้มันมีคนชื่ออภิชาติพงศ์ไม่กี่คนหรอก เพราะฉะนั้น AI ก็จะเขียนถึงเราตามข้อมูลที่พอจะมีอยู่ในอินเทอร์เน็ต ว่าเป็นผู้กำกับนะ เคยทำหนังเรื่อง ลุงบุญมีฯ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็จะสร้างข้อมูลอะไรอีกก็ไม่รู้ที่มั่วขึ้นมา เพียงแต่มันก็จะพยายามสร้างให้เหมือนมนุษย์ที่สุด 

     จุดนี้เลยทำให้เรารู้สึกว่า จริงๆ แล้วความเป็นอภิชาติพงศ์ก็ถือเป็นภาพลวงอย่างหนึ่ง เพราะการเป็นมนุษย์มันย่อมจะมีอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างแชร์ร่วมกัน อะไรเหล่านี้มันไม่ได้มีแค่อภิชาติพงศ์เพียงคนเดียว ความสำคัญของอภิชาติพงศ์เลยมีน้อยมากๆ พอทุกอย่างมันเชื่อมถึงกันหมด มันก็เหมือนว่าเราไม่มีตัวเราอีกแล้ว