YURI—YOU READ? LET'S DRIVE INTO THE POWER OF GIRLS
คุยกับ ‘บุ๊ค—สุวดี วงศ์ไชย’ นักเขียนนิยายยูริในวันที่สังคมไทยไม่อยากอ่านเรื่องของผู้หญิง
เรื่อง: ณัฐกานต์ ศรีสมบูรณ์
ภาพ: ภาพถ่ายจากทางบ้าน
“เมื่อเหล่านารีเลือกเป็นอื่น ไม่ขอเป็นไปตามวิถีที่สังคมกำหนดกฎกรอบไว้เช่นนั้นแล้วในทุกๆ วันจึงต้องพบเจอกับอุปสรรคนานัปสารพัดปัญหาหลากหลาย ‘เอฟคลับ’ คือสถานที่พักใจและกายของพวกเธอ”
ข้างต้นคือคำโปรยจาก เอฟคลับ (2021) นิยายหญิงรักหญิง (Yuri) ที่มีตัวเอกเป็นสาวเจ้าของบาร์เหล้าเพื่อคนหลากหลายทางเพศในเชียงใหม่ รับปรึกษาปัญหาหัวใจ รวมถึงปัญหาที่สังคมกระทำย่ำยีพวกเขา อีกทั้งยังปลุกเร้าให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความอยุติธรรมเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งหลังจากได้ลองอ่าน เรานับประเด็นที่นักเขียนใส่ไว้คร่าวๆ ได้ถึง 22 เรื่อง นอกจากที่ได้พูดไปแล้ว ยังมีเรื่องของเฟมินิสม์ อคติต่อคนชายขอบ เซฟเซ็กซ์ นอน-ไบนารี สมรสเท่าเทียม ทุนนิยม ชนชั้น การขูดรีดแรงงาน
นิยายเรื่องดังกล่าวเขียนโดย ‘บุ๊ค—สุวดี วงศ์ไชย’ เจ้าของนามปากกา Booky70, ลำเพา และ ซาสะ
เส้นทางของบุ๊คเริ่มต้นจากลงเนื้อหาใน soshifanclub.com เว็บบอร์ดที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2008 สำหรับโซวอน (SONE)—แฟนคลับชาวไทยของวงเกิร์ลกรุ๊ปสัญชาติเกาหลี Girls’ Generation ปัจจุบันมีสมาชิกลงทะเบียนกว่า 105,000 แอ็กเคานต์ ภายในเว็บบอร์ดดังกล่าวมีห้องหลักสำหรับตั้งกระทู้พูดคุย แลกเปลี่ยนความเห็น ร่วมกันหวีดผลงานใหม่ๆ ทว่าห้องย่อยที่คึกคักมากที่สุดไม่พ้น ‘Gang Fiction’ หรือเรียกชื่อเล่นว่า ‘ห้องฟิก’ ห้องสำหรับเผยแพร่นิยายแฟนฟิกชั่นที่สร้างตัวละครจากศิลปิน ซึ่งล่าสุดมีมากกว่า 17,509 กระทู้ หมายความว่าตลอดเวลา 15 ปีที่ผ่านมา เว็บบอร์ดแห่งนี้มีแฟนฟิกชั่นเกิดขึ้นเป็นหมื่นเรื่อง
ก่อนยุคโซเชียลมีเดียผงาด เป็นช่วงที่เว็บบอร์ดยังรุ่งเรือง สมาชิกหลายพันแอ็กเคานต์ออนไลน์พร้อมกันเพื่อจะอ่านงานเขียนที่พวกเขาติดตาม จนเกิดธรรมเนียม ‘ถ่ายรูปหมู่นักอ่าน’ เนื่องจากถ้าเลื่อนลงไปท้ายหน้าเว็บไซต์จะแสดงจำนวนและชื่อแอ็กเคานต์ที่เข้าไปอ่านกระทู้แฟนฟิกชั่นเรื่องนั้นแบบเรียลไทม์ นักเขียนจึงจะแคปเจอร์ภาพรายชื่อเหล่านั้นเก็บเอาไว้
SSFC บ่มเพาะนักเขียนมากฝีมือและนักอ่านตัวฉกาจมากมาย กระทั่งจากแค่ห้องอ่านนิยาย กลายเป็นพื้นที่รวมตัวสังคมหญิงรักหญิงขนาดใหญ่มหึมา ทว่าซ่อนตัวอยู่ใต้ความรักต่างเพศระหว่างชายหญิงที่ครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในสังคม วางตนในฐานะกระแสหลักเสมอมา
บุ๊คอยู่ท่ามกลางนักเขียนนับร้อยหรืออาจแตะหลักพันในเว็บบอร์ด เขียนนิยายจากศิลปินที่ชื่นชอบนับ 10 ปี มีผลงานมากกว่า 30 เรื่อง ค้นหาสไตล์การเขียนไปเรื่อยๆ กระทั่งเริ่มเขียนนิยายที่คิดตัวละครขึ้นเองที่เรียกกันว่า ‘นิยายออริจินัล’ เริ่มจาก กันตัน (2019-2021) ซีรีส์ 5 เล่มจบแนวแฟนตาซีอ้างอิงจากตำนานเทพเจ้าญี่ปุ่น ตามด้วย เอฟคลับ (2021) ที่วิพากษ์สังคมไทยจนต้องสูดปาก และล่าสุด เมอัน (2021) สำรวจแนวคิดเฟมินิสม์และความเท่าเทียมทางเพศ
แม้ว่าทุกวันนี้ นักเขียนในรุ่นราวคราวเดียวกันบางคนจะเลิกล้มไปกลางทางด้วยเหตุผลต่างๆ อย่างน่าเสียดาย แต่บุ๊คกับนักเขียนบางคนที่ยังต่อสู้บนเส้นทางนักสร้างสรรค์เช่นเดียวกันยังเดินต่อมา
หลังจากอ่าน เอฟคลับ จบทั้ง 2 ภาค โอกาสก็พาเรามาพบกับนักเขียนที่สรรค์สร้างเรื่องราวของเหล่าคนนอกขนบสังคมไทยอย่างถึงใจที่ The Kloset Yuri Book Club ย่านสะพานควาย แม้ว่าคาเฟ่โทนอบอุ่นใจกลางกรุงแห่งนี้จะตรงข้ามกับบาร์เหล้าสไตล์ล้านนาอิซากายะในนิยายโดยสิ้นเชิง แต่บรรยากาศของ The Kloset Yuri Book Club ที่อบอวลไปด้วยความเป็นมิตร มีธงไพรด์วางต้อนรับ โอบกอดให้เหล่า ‘คนผู้แตกต่างหลากหลาย’ ได้ปลดปล่อยตัวเอง ก็ทำให้เรารู้สึกราวกับว่าเอฟคลับในนิยายได้กลายเป็นจริง ชวนให้เราได้นั่งจิบเครื่องดื่มและสนทนากันอย่างผ่อนคลาย
คุณเริ่มต้นเขียนนิยายได้อย่างไร
อกหักตอนอายุ 18-19 ค่ะ ซึ่งที่ผ่านมาเรารู้ว่าเราชอบผู้หญิง แต่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นอะไร ไม่รู้ว่าเลสเบี้ยนคืออะไร ตอนนั้นมันมีให้เลือกแค่ว่าจะเป็นทอมหรือเป็นดี้ ซึ่งบุ๊คไม่ใช่ทั้งสองก็เลยสับสนและดิ้นรนหาคำตอบมาตลอดเพราะสังคมไม่เคยให้ข้อมูล ไม่เคยมีพื้นที่ให้แก่หญิงรักหญิง บุ๊คโตมากับสื่ออย่างละครและนิยายชาย-หญิง กระทั่งไปเห็นเว็บไซต์หนึ่ง เขาเขียนแคปชั่นของรูปผู้หญิงสองคนว่า “มาดูโมเมนต์ยูลสิก” (ยูริกับเจสสิก้า วง Girls’ Generation) บุ๊คลองไปเสิร์ชดูว่ามันคืออะไรวะ แล้วปรากฏว่าเจอแฟนฟิกชั่นเต็มเลย ก็อ่านฟรีในเว็บไซต์ Dek-D จนหมดเลย อ่านด้วยความอัศจรรย์ใจ ตื้นตัน ประหลาดใจ โอ๊ยหลายความรู้สึกประเดประดังมาก
ตอนนั้นตกใจว่ามันมีโลกแบบนี้ด้วยเหรอ โลกที่ตัวละครหลักเป็นผู้หญิงสองคนรักกันแล้วไม่ต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ สามารถทำอะไรต่อมิอะไรได้หมดเลยอย่างที่ชาย-หญิงที่ชอบเพศตรงข้ามเขาทำกัน จนขยับไปสมัครเว็บบอร์ด SSFC ตอนปี 2009 เพื่อที่จะอ่านอีก อยากอ่านอีกเยอะๆ เลย แล้วที่นี่ก็มีอีกหลายร้อยเรื่องสนองนี้ดเราเต็มที่ ขอสารภาพว่าอ่านแบบหิวกระหายมาก เพราะตั้งแต่เกิดมาไม่เคยพบเจอกับสื่อที่พูดถึงเรื่องของเราแบบดีๆ แบบนี้มาก่อนเลย แล้วพอเราอ่านงานของคนอื่นจนหมด บางเรื่องเขาก็ไม่เขียนต่อแล้ว ไรท์เตอร์ไม่อัพ เลยอยากลองเขียนเองดูค่ะ (หัวเราะ)
บุ๊คทั้งตื่นเต้นและตื้นตันมากที่ค้นพบคอมมิวนิตี้นี้ หลังจากตัวคนเดียวมา 19 ปี ในที่สุดก็มีที่ที่เป็นของเราจริงๆ เสียที ตั้งแต่นั้นก็สิงอยู่ในนั้นไม่ไปไหนเลย
แฟนฟิกชั่นเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเรา?
แฟนฟิกชั่นทำให้บุ๊ครู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เกิดมาผิดแผกอย่างที่สังคมอยากให้เราเชื่ออย่างนั้นมาตลอด 19 ปี และ SSFC ก็เป็นเหมือนสถานที่ให้ทดลองทั้งการอ่านและการเขียนงานหญิงรักหญิง มันทั้งปลอดภัยและเป็นส่วนตัวประมาณหนึ่ง หมายถึงการที่คุณต้องสมัครเป็นสมาชิกก่อนถึงจะเข้าไปอ่านหรือเขียนได้ ทำให้หลายคนที่ยังไม่ come out รวมถึงตัวเราสมัยนั้นรู้สึกว่าต่อให้เขียนเรื่องหญิงรักหญิงไป แม่ก็จับไม่ได้หรอก
มันเป็นคอมมิวนิตี้ที่ทุกคนเอื้ออารีต่อกัน เป็นโชคดีของโซวอนที่อยากเป็นนักเขียนเลย บุ๊คเองก็ค้นพบความสามารถในการเขียนจากที่นี่ ถึงจะเป็นคนชอบอ่านตั้งแต่เด็ก แต่ไม่เคยคิดไกลขนาดจะเขียนอะไรให้ใครอ่าน คำว่านักเขียนฟังดูไกลตัวและเป็นเรื่องเพ้อฝันมาก แต่ SFFC เป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้เราลองดูได้ มาลองสิ ไม่มีใครว่าอะไรหรอก ต่อให้เขียนไม่เอาอ่าวขนาดไหนก็ยังอุตส่าห์มีคนมาให้กำลังใจ จนทุกวันนี้นักอ่านเหล่านั้นที่ติดตามบุ๊คตั้งแต่เรื่องแรกๆ เขายังอยู่ตรงนี้ไม่ไปไหนเลยตลอด 13 ปี ถ้าไม่มีเขาที่คอยรอตอนใหม่ ไม่มีเขามาคุยด้วย ให้กำลังใจ สนับสนุน บุ๊คอาจจะทิ้งมันไปแล้วก็ได้ ทิ้งมันไว้ในฐานะที่เป็นเรื่องเล่นๆ แค่เขียนแก้เบื่อแก้เหงา เป็นความทรงจำหนึ่งของช่วงวัยรุ่นเท่านั้นเอง
แต่ในที่สุดจากความชอบ ความหลงใหล มันทำให้บุ๊คมองเห็นเส้นทาง ความหวัง อยากเขียนจริงจัง อยากทุ่มเทพัฒนาตนเป็นนักเขียนที่เก่งขึ้นเพื่อจะไม่ทำให้นักอ่านของเราต้องผิดหวัง และสุดท้ายก็กลายมาเป็นอาชีพหาเลี้ยงตัวเองจนได้
จำความสนุกตอนยังเขียนงานใน SSFC ได้ไหม
จำได้ว่าครึกครื้นมาก เราจะเห็นคนออนไลน์อยู่ในห้องฟิกฯ เป็นพันๆ ทุกคืน แล้วพอบุ๊คอัพโหลดตอนใหม่ปุ๊บ คนก็จะเข้ามาอ่านทันที 300-400 คน เป็นความรู้สึกที่ เฮ้ย คนเกือบครึ่งห้องรอเราอยู่นะ จุดนั้นแหละที่หล่อเลี้ยงใจเราให้อยากเขียน รู้ตัวอีกทีก็เสพติดการเขียนและการเข้าเว็บบอร์ดไปแล้ว
SSFC เป็นสถานที่แรกที่ทำให้เราเริ่มมองเห็นคุณค่าในตัวเอง เพราะเรากับนักอ่านเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ ทุกคนมาชุมนุมกันที่นี่ รู้จักกันผ่านเรื่องเล่าของเรา รวมถึงนักอ่านหลายคนก็เขียนคอมเมนต์หรือส่งไดเรกต์เมสเซจมาแชร์ประสบการณ์ของตัวเองเหมือนกัน บางทีก็มาขอคำปรึกษา หรือเขาอาจจะเห็นความกังวล ปัญหาชีวิตที่ยังแก้ไม่ตกที่เราเขียนไปในตอนนั้นๆ ก็กลายเป็นว่านักอ่านช่วยให้คำปรึกษาและเป็นกำลังใจให้บุ๊คด้วย แล้วยังเป็นที่ที่ทำให้ได้เจอเพื่อนดีๆ จนถึงตอนนี้ก็ยังคบหากันอยู่ มันอบอุ่นและเป็นมิตรมาก อย่างคำสมัยนี้เขาเรียกว่าชุบชูใจเนอะ SSFC เป็นสถานที่ชุบชูใจจริงๆ ค่ะ
คุณบุ๊คเริ่มต้นเส้นทางนักเขียนด้วยวิธีไหน
เรื่องแรกที่เขียนคือ Workaholic เกี่ยวกับผู้หญิงบ้างาน มีคนอ่านแค่สี่คนแต่ก็ดีใจมาก (หัวเราะ) แต่แน่นอนว่าเราก็อยากจะเป็นที่สนใจ อยากมีคนอ่านเยอะๆ บุ๊คก็มองหาวิธีแน่นอน เราจะไปเริ่มต้นเรียนรู้จากที่ไหนได้อีกล่ะก็ต้องมาจากพล็อตนิยายหรือละครของนักเขียนเก่าๆ ดังๆ สมัยก่อน ซึ่งมันก็ไม่หนีไปจากหึงหวง ข่มขืน ตบจูบ แย่งผัวแย่งเมียกัน โอเค คนชอบแบบนี้ใช่ไหม เราก็เริ่มเกาะทางนั้นเลยเพราะอยากดัง เขียนแบบนั้นมาตลอด ขึ้นโครงคล้ายๆ เขาเลย ต้องมีผู้หญิงสองคนเกลียดกัน อิจฉากันเพื่อแย่งตัวเอก มันถึงจะแซ่บๆ ปังๆ ฉาวๆ เพราะเป้าหมายการเป็นนักเขียนของเราตอนอายุ 19 มันทำให้เป็นเรื่องจริงจังไม่ได้ ทำเป็นอาชีพหรือสานต่อความฝันไม่ได้ คิดแค่ว่าเขียนให้คนอ่านสนุกตื่นเต้นหวือหวาก็พอแล้ว
จุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้เปลี่ยนจากแฟนฟิกชั่นมาเขียนงานออริจินัล
ส่วนตัวคิดว่าแฟนฟิกชั่นช่วยเราเอาไว้มากเลย อย่างแรกเลยคือมันทำให้รู้ว่าเราไม่ได้เกิดมาเป็นบาปกรรมของพ่อแม่ เราฝันได้ รักได้ หวังได้ มีชีวิตได้
แฟนฟิกชั่นกลายเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยของชุมชนหญิงรักหญิง มันกำลังแย่งชิงพื้นที่ของเรื่องเล่ากระแสหลัก หรือก็คือเรื่องเล่าของรักต่างเพศที่เป็นใหญ่ในสังคมนี้ และมันยังเป็นแรงใจและไฟฝันแก่เราผู้สิ้นหวังในแบบที่สังคมและประเทศนี้ให้ไม่ได้
บอกตามตรงว่าแม้กระทั่งตอนนี้ยังสงสัยอยู่ว่างาน ‘ออริจินัล’ คืออะไรกันแน่ แต่บุ๊คถือว่าเรื่องเล่าจากประสบการณ์ส่วนตัว หรือจากปากเสียงผู้ถูกกดขี่เป็นงานออริจินัลนะ
พูดถึงเนื้อหา ทำไมถึงหันมาเขียนนิยายออริจินัลที่พูดเรื่องเฟมินิสม์ ความหลากหลายทางเพศ ความเท่าเทียม แทนที่พล็อตเดิมอย่างผู้หญิงตีกันนัวๆ ฉาวๆ ที่มันอาจจะอ่านแล้วเมามันทำให้เกิดอารมณ์ร่วมง่าย
ตอนอายุ 24-25 บุ๊คไปสมัครเรียนการเขียนกับอาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติปี 2557 เพราะอยากรู้แหละว่านักเขียนอาชีพเป็นยังไง เกิดมาไม่เคยเห็น (หัวเราะ) ตอนนั้นเป็นช่วงที่กำลังโลเล ไม่มีหลักมีฐานยึดสักอย่าง อยากเขียนอะไรก็เขียน อะไรเป็นกระแสก็เขียนตามๆ เขา แต่พอไปเรียนแล้วอาจารย์พูดมาคำหนึ่งซึ่งสะกิดใจมากว่า “บุ๊คอยากจะบอกอะไรกับสังคมล่ะ บอกไปในงานของเราสิ” แล้วมันเหมือนมีหมุดหมายขึ้นมาในใจเลยจากการที่ได้เห็นนักเขียนอาชีพตัวเป็นๆ ทำให้เรากล้าตัดสินใจเลือกเดินเส้นทางนี้ในที่สุด
ช่วงปีหลังๆ มานี้ เราเห็นการเคลื่อนไหวของกระแสเฟมินิสม์ในทวิตเตอร์มากเข้า นักเขียนหลายคนเริ่มถูกวิจารณ์ผลงานที่ติดกรอบปิตาธิปไตย และแม้จะเป็นผลงานที่เล่าเรื่องของผู้มีความหลากหลายทางเพศแต่กลับมีเนื้อหาเหยียดเพศได้ยังไงก็ไม่รู้ เราก็ตกใจมาก และคิดว่าตัวเองก็เข้าข่ายแน่ๆ ตอนนั้นคือจังงังไปเลย เหมือนถูกน็อกกลางเวที กังวลและกลัวมาก พูดไม่ออก ช็อกที่ตัวฉันเป็นหญิงรักหญิงแท้ๆ เขียนหญิงรักหญิง ถูกกดทับโดยระบอบนี้เรื่อยมา แต่กลับใช้โครงเรื่องของชาย-หญิงซึ่งครอบด้วยปิตาฯ ในการเล่าเรื่องมาตลอดนับสิบปี แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรเนี่ย ก็เลยไปลงเรียนคอร์ส Summer School 2020 in Feminism, Equality, and Southeast Asian Studies โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อศึกษามันอย่างจริงจัง
พอเรียนแล้วตกตะกอนอะไรได้บ้าง
เยอะมาก ขอเรียกว่าตาสว่างเลยได้ไหม เหมือนได้พบเจอกับโลกใหม่ของจริง มีหลาย ๆ เรื่องจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เราเองไม่รู้ด้วยซ้ำว่านั่นเป็นผลพวงจากปิตาฯ เราถูกล่วงละเมิด ถูกกดขี่ ต้องปิดบังตัวตนมาตลอด
มันไม่ใช่แค่การกดแต่ยังกระทืบซ้ำ ๆ หวังให้ตายคาตีนอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเหตุจำเป็นใดเลยที่จะต้องเอาโครงเรื่องปิตาฯ มาเล่าเรื่องของเรา แต่อีกปัญหาใหญ่ที่ไม่กังวลก็ไม่ได้อีกคือเรื่องรายได้ สิ่งแรกที่เราคิดหลังจากได้พล็อตหญิงรักหญิงไร้ปิตาฯ มาแล้วเนี่ยก็คือขายไม่ออกแน่เลย (หัวเราะ) ตีกับตัวเองอยู่นานพอสมควรเลยค่ะว่าจะเอายังไงดี จะทู่ซี้เขียนแบบเดิม ๆ ต่อไปทั้งที่รู้แก่ใจว่ามันผิดงั้นเหรอ? บุ๊คไม่อยากมีส่วนในการผลิตซ้ำเรื่องราวที่มันกดขี่ตัวเราเองและหญิงรักหญิงทุกคนในคอมมิวนิตี้ ไม่อยากให้หญิงรักหญิงรุ่นใหม่ต้องมาพบมาเจออะไรอย่างที่เราเคยเจออีกต่อไปแล้ว อยากจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่หญิงรักหญิงขึ้นมา ขณะเดียวกันก็อยากบอกสังคมด้วยว่าช่วยเห็นหัวเราทีเถอะ คุณต้องรู้สิ ต้องฟังแม้ไม่อยากฟังก็ตามว่าคุณได้สร้างปัญหาอะไรแก่ชีวิตพวกเราบ้าง ก็เลย เออ! ยังไงก็ต้องเขียนนิยายหญิง-หญิงแนวเฟมินิสม์แล้วล่ะ แม้ว่ามันจะทำให้เราต้องกลับไปเป็นนักเขียนไส้แห้งก็ตาม เอาไงก็เอากัน มาม่าทุกมื้อก็ได้วะ แล้วก็เขียนเลย! (หัวเราะ)
[อนึ่ง—อ่านบทความชี้แจงระงับการขายผลงานที่เป็นพิษของคุณบุ๊คได้ที่นี่]
แล้วนักอ่านของเราคิดอย่างไรหลังจากเบนตัวเองออกจากพล็อตแบบเดิมที่เคยเขียน
หายไปเกือบหมดเลย (หัวเราะ) เหลือแค่คนอ่านที่ตาม ๆ กันมาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยเก่าก่อน บุ๊คถือโอกาสขอบคุณเขาตรงนี้ด้วยเลยแล้วกัน เพราะถ้าไม่มีนักอ่านกลุ่มนี้ที่กล้าลองอะไรใหม่ๆ ไปพร้อมกับบุ๊ค บุ๊คก็คงไม่มีทุนรอนในการไปเรียนไปหาข้อมูล เอฟคลับ ภาคแรกยังผลตอบรับดีจากกระแสของ กันตัน แต่ปรากฏว่าคนอ่านเหมือนจะอึ้งและงุนงงพอสมควร ยิ่งมาภาคสองนี่เห็นชัดเลย ยอดตกจาก กันตัน มาก แต่บุ๊คก็เตรียมใจไว้อยู่แล้วแหละ เพราะเฟมินิสม์เป็นแนวความคิดที่มันสวนทางกับขนบกับความเชื่อเดิมๆ ที่ฝังหัวเราตลอดมา การที่เนื้อหาไม่ใช่แค่เปลี่ยนแนว แต่ยังทุบทำลายพร้อมตำหนิติเตียนว่าที่ผ่านมาเราอ่านและเขียนอะไรที่มันมีส่วนในการผลิตซ้ำความเชื่อซึ่งทำร้ายตัวตนและอัตลักษณ์ของเราเรื่อยมา มันไม่ใช่สิ่งที่จะทำใจยอมรับกันได้ง่ายๆ ก็เข้าใจคนอ่านนะ เลยว่าเต็มที่ค่ะ เทคไทม์นะคะ บุ๊ครอได้ จะเขียนเรื่องใหม่ๆ รอคุณตรงนี้อยู่เสมอ
อย่างนี้พอนักอ่านของเราไม่ชิน เส้นทางนักเขียนยูริของเราท้าทายขึ้นไหม
ท้าทายค่ะ หลังจากนี้ไปคงต้องต่อสู้กันระยะยาว ต้องใช้ทั้งเวลาและความอดทนอีกมากแน่นอน อย่างที่บอกว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนเราจะทุบทำลายความเชื่อเดิมแล้วเปิดใจรับสิ่งใหม่ บุ๊คก็คงจะทำงานของบุ๊คต่อไปเรื่อยๆ จนกว่านักอ่านเขาจะเปลี่ยนใจมาชอบงานเราบ้าง คิดว่าอาจต้องมีเหนื่อยและท้อบ้าง แต่ไม่ว่ายังไงก็อยากจะยืนหยัดและยืนยันว่าการอ่านและเขียนงานหญิงรักหญิงที่มีเนื้อหาปิตาธิปไตยเคลือบแฝงอยู่นั้นย่อมส่งผลเสียต่อคอมมิวนิตี้หญิงรักหญิงของเราแน่นอน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ก็อยากเว้าวอนและขอความร่วมมือให้มาช่วยกันค่ะ
คุณคิดว่าถนนสายยูริดูมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อยู่บ้างไหม
ก็ยังมีอีกหลายด่านให้ฝ่าฟัน เช่นว่าแพลตฟอร์มลงนิยายที่แบ่งหมวดทำให้หญิงรักหญิงหรือชายรักชายกลายเป็นเหมือนเรื่อง exotic ปฏิบัติกับเราเหมือนเป็นหมวดหมู่ความรักที่ไม่มีจริง ชีวิตที่แฟนตาซีไปซะเฉยๆ ในขณะที่นิยายชาย-หญิงนั้นแบ่งเป็นสิบๆ หมวดก็ทำให้ได้
ตอนเขียนงานใน SSFC บุ๊คยังรู้สึกได้รับการปฏิบัติที่เอื้ออารีกว่าด้วยซ้ำ เพราะเขาไม่ได้ปฏิบัติกับงานหญิงรักหญิงว่าเป็น ‘ของแปลก’ คือนายทุนที่เข้ามาหากินกับกระแสนี้น่ะอย่างน้อยช่วยทำเหมือนจริงจังจริงใจนิดหนึ่งได้ไหม แค่แสดงก็ยังดี แต่นี่เหมือนมาทำเพราะอยากได้เครดิตที่บอกว่าแบรนด์คุณน่ะ ‘หัวก้าวหน้า’ ทั้งที่จริงๆ แค่ queerbaiting (หาผลประโยชน์จากความหลากหลายทางเพศ)
ตอนนี้บุ๊คพยายามจะหาที่ทางให้กับงานเขียนหญิงรักหญิง คือกำลังตั้งคำถามและหาคำตอบอยู่ค่ะว่าจะทำอย่างไรให้นักอ่านทั่วฟ้าเมืองไทยเนี่ยคิดว่างานเขียนหญิงรักหญิงก็คืองานวรรณกรรมชิ้นหนึ่ง มันเล่าเรื่องชีวิตของผู้คนเช่นเดียวกับวรรณกรรมที่พวกคุณอ่านนั่นล่ะ แต่มันจะพาคุณไปพบกับการถูกกดทับ ความรุนแรงไม่ว่าจะในเชิงรูปธรรม อย่างการถูกทำร้ายร่างกาย ถูกกลั่นแกล้ง หรือนามธรรมอย่างการถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อยากเป็นตัวเองแต่เป็นไม่ได้ ประสบการณ์ชีวิตที่คุณอาจคาดไม่ถึง ไม่คิดว่าจะได้พบเจอในฐานะคนรักต่างเพศที่อาศัยอยู่ในสังคมรักต่างเพศตลอดมาก็เป็นได้
และอยากฝากถามไปถึงท่านผู้รู้ ผู้มีอำนาจด้วยว่าถึงเวลาหรือยังที่เราควรจะมี ‘วรรณกรรม’ ว่าด้วยการบอกเล่าชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศให้สังคมได้รับรู้ เป็นแหล่งพักพิงใจแก่นักอ่านที่กำลังสับสนหรือแสวงหาคำตอบแก่ตัวเองอยู่ เพราะตัวบุ๊ครู้ว่ามันลำบากมากแค่ไหนกับการหลงทาง ปกปิดตัวตน ต้องเผชิญหน้ากับความหวาดกลัวที่สังคมมอบให้ ถ้ามีหนังสือสักเล่มที่ช่วยบอกว่าเราไม่ได้เกิดมาผิดปกติ เราเป็นอีกความงดงามหนึ่งของโลกใบนี้แต่โชคร้ายที่ต้องมาอยู่ในสังคมนิยมการเหยียดเพศแห่งนี้เท่านั้นเอง ตอนนั้นบุ๊คคงจะเป็นผู้เป็นคน มีแรงใจไฟฝันและตั้งตัวได้เร็วกว่านี้อีก
เพราะอย่างเมื่อ 10 ปีก่อน บุ๊คบอกใครไม่ได้เลยว่าเขียนนิยายหญิงรักหญิง แม้ถึงขั้นกล้าบอกกับเพื่อนแล้วก็ยังต้องเติมคำว่า ‘จิ้น’ ต่อท้าย เพราะอยากให้เพื่อนเข้าใจว่าไม่ได้จริงจัง เขียนเพราะจิ้นเล่นๆ แค่นั้นเอง อย่ารังเกียจเรานะ อย่าล้อเราเลย คนรู้จักอยากอ่านก็ไม่กล้าแนะนำ กลัวเขาจะมองแปลกๆ แม้ตอนนี้จะกล้าแล้วแต่ก็ใช้เวลาตั้ง 10 ปีอยู่ดี
สังคมดูเหมือนพร้อมจะมองข้าม หรือไม่ก็ไม่เคยเห็นเราอยู่ในสายตาเลยแม้แต่น้อย ถ้าบอกใครว่าเขียนนิยายหญิงรักหญิงเพราะเป็นหญิงรักหญิง นอกจากสีหน้าท่าทางเก็บความรังเกียจไว้ไม่มิดแล้วก็มักจะถูกถามในทำนองว่า ทำไมไม่เขียนชายรักชายแทนล่ะ มันขายได้มากกว่านะ คือรู้สึกเหมือนตัวเองต้องมีคำอธิบาย ต้องเจียมเนื้อเจียมตัว พึงสังวรณ์ตลอดเวลา อย่างเมื่อไม่นานมานี้ก็มีนายทุนมาพูดกับเราว่างานหญิงรักหญิงมันเอาไปเผยแพร่ ดัดแปลงได้ยากเพราะมันขายไม่ได้ เขาไม่รู้ตลาด ไม่รู้เลยจะขายมันให้ใคร รู้สึกทึ่งมาก อยากจะสวนไปว่าคุณพี่ก็จ้างคนศึกษาแล้วทำสถิติไหมคะ เราก็ยืนหัวโด่อยู่ตรงนี้ทั้งคนและเฝ้าฝันอยู่ตลอดเวลาว่าเมื่อไหร่จะมีสื่อที่พูดถึงเรื่องของพวกเราอย่างใส่ใจจริง ๆ เสียที แต่ว่าสุดท้ายมันก็เป็นเรื่องของเงินเท่านั้นแหละใช่ไหมคะที่สำคัญที่สุด
ถ้าไม่นับเรื่องมูลค่าเป็นเม็ดเงิน การเขียนงานยังมีคุณค่าทางใจต่อคุณบุ๊คอยู่ไหม
เมื่อวันก่อนนี้เพิ่งเขียนความทรงจำช่วงวัยรุ่นของตัวเองแทรกลงไปในงานนี่ล่ะ แล้วอยู่ๆ บุ๊คก็ร้องไห้ออกมา ทั้งที่ตอนนั้นไม่เห็นจะคิดหรือรู้สึกอะไรเลย แต่พอเริ่มเขียนมันก็เหมือนได้ทบทวนรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ของชีวิตและความรู้สึกของตัวเอง มีเวลาหยุดคิดเกี่ยวกับเรื่องเรื่องหนึ่งนานๆ แล้วมาลำดับมาไล่เรียงหาต้นสายปลายเหตุ มองเห็นปัญหา แล้วบางทีก็ค้นเจอคำตอบขึ้นมาเฉยเลย ทั้งที่บางเรื่องมันค้างคาใจอยู่เป็นสิบๆ ปีแล้วแท้ๆ มันไม่ได้แค่เป็นที่พึ่งพิงหรือสร้างความบันเทิง ความอบอุ่นใจแก่ผู้อ่าน แต่ทุกครั้งที่เขียน มันเยียวยาบุ๊คด้วย รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ซะแล้ว
พอจะสัมผัสได้ว่าคุณบุ๊ครักการเขียนมากๆ แล้วงานเขียนชิ้นไหนของตัวเองที่ชอบที่สุดคะ
ภูมิใจนำเสนอ นารีเป็นอื่น หรือ เอฟคลับ กับเรื่องล่าสุดที่เพิ่งเขียนจบไปคือ อาทิตย์กลางคืน หรือ เมอัน ค่ะ
นารีเป็นอื่น คือเรื่องเล่าของเหล่าผู้หญิงที่ ‘เป็นอื่น’ เป็นหญิงนอกขนบที่สังคมกำหนดกฎกรอบไว้ให้ ทั้งตัวละครหญิงรักหญิงที่เป็นทั้งหญิงตรงเพศกำเนิด หญิงข้ามเพศ ทอม น็อน-ไบนารี และผู้หญิงอีกหลากหลายอัตลักษณ์ หลายการแสดงออก ต่างรสนิยม พวกเธอจะมารวมตัวกันที่ร้านเหล้า ‘เอฟคลับ’ เราคิดว่ามันน่าจะดีถ้ามีนิยายที่พูดเกี่ยวกับเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศและเฟมินิสม์แบบพื้นฐาน 101 ตอนนี้มีสองภาค แพลนจะเขียนต่อเรื่อยๆ ไม่ได้วางภาคจบไว้เพราะถ้าพบเจอประเด็นเรื่องเล่าที่น่าสนใจเกี่ยวกับหญิงรักหญิงก็จะมาต่ออีก
อาทิตย์กลางคืน พูดถึงเส้นแบ่งที่ทำให้ผู้หญิงห่างออกจากกัน เกลียดชังกัน ปัจจัยอะไรที่ถ่างจนเรายากจะคืนกลับ (ปิตาธิปไตยค่ะ *คุณบุ๊คกระซิบ*) ในเรื่องก็จะเต็มไปด้วยสถานการณ์มากมายที่ให้ทั้งตัวละครและนักอ่านทดสอบใจตัวเองว่าคุณสามารถก้าวข้ามอคติแห่งความเกลียดชังทางเพศ (internalized misogyny) ที่สังคมเสี้ยมสอนเรามาตั้งแต่เด็กได้ไหม เช่นคำว่า ‘หน้าตัวเมีย’ หรือการที่ ‘ผู้ชายไม่แมน’ ถูกไล่ให้ไปใส่ผ้าถุงหรือกระโปรงซึ่งสื่อถึงของใช้ของผู้หญิง เคยสงสัยไหมว่าทำไมเราถึงด่าผู้ชายด้วยความเป็นผู้หญิงของเราเอง เป็นต้น
ถ้าได้อ่าน คุณจะเห็นเลยว่าตลอดปีที่ผ่านมา บุ๊คมีความพยายามจะเขียนวรรณกรรมแนวทดลองแนวนี้อย่างดิ้นรนและทุลักทุเลพอสมควร เพราะมันต่างจากตอนเริ่มเขียนแฟนฟิกชั่นอย่างสิ้นเชิงตรงที่ตอนนั้นเราศึกษาจากงานเขียนของคนรักต่างเพศที่มีข้อมูลมากมายก่ายกอง แต่ตอนนี้ไม่มีตัวอย่างให้ศึกษาเลยว่างานวรรณกรรมของหญิงรักหญิงควรจะเป็นไปในทิศทางไหน ต้องเล่าเรื่องอย่างไร ถ้าอยากเล่าเรื่องชีวิตในมุมต่างๆ ที่มีความรักเป็นรองจะใช้กลวิธีไหนดี เลยกำลังอยู่ในช่วงงมและค้นหาทางเอาเองอยู่ค่ะ
ในเรื่อง เอฟคลับ คุณบุ๊ควิพากษ์สังคมหลายประเด็นมาก ถ้ามีนักอ่านบอกว่าเขาไม่เห็นด้วยกับคุณในบางเรื่อง คุณรับได้ไหม
ได้ เพราะเฟมินิสม์กับความหลากหลายทางเพศไม่มีตำราตายตัว ความรู้อัพเดตใหม่ได้ทุกวัน ตำราของเฟมินิสม์และผู้มีความหลากหลายทางเพศคือเรื่องเล่าจากปากเขาเอง จากปากคนที่ถูกกดขี่ เราไม่มีวันรู้เลยว่าใครโดนอะไรมาบ้าง ไม่รู้ว่ามีอีกกี่คนบนโลกนี้ที่ยังไม่ได้ส่งเสียงของตัวเองออกมา ตัว + จาก LGBTQIAN+ ถึงเป็นตัวบอกว่าเราไม่มีทางรู้เลยว่าในอนาคตจะมีเพศหรืออัตลักษณ์อะไรใหม่ๆ ที่ยังไม่กล้าพูดกล้าแสดงตนออกมาอีก ขนาด เอฟคลับ ภาคสองเรายังเขียนย้อนเกล็ดกลับไปด่าภาคหนึ่งได้เลย (หัวเราะ)
พอเบนตัวเองออกมาจากการเล่าเรื่องกระแสหลัก มองกลับไปที่ตลาดนิยายยูริไทยตอนนี้แล้วเห็นอะไรบ้าง
สำหรับเรานะ ตอนนี้ขอสารภาพตามตรงเลยว่าค่อนข้างสิ้นหวัง แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ได้รับกำลังใจอย่างล้นหลามจากบรรดาคนอ่านและเพื่อนผู้สมาทานเฟมินิสม์หลังจากที่ระงับการขายงานที่มีเนื้อหาปิตาฯ เป็นพิษไป ก็รู้สึกมีพลัง มีกำลังใจขึ้นมาสุด ๆ เลยค่ะ ไม่เป็นไร อย่างที่บอกว่าเรื่องแบบนี้มันต้องใช้เวลา เราจะค่อยๆ หาแนวร่วมไปเรื่อยๆ
เอาแค่ตัวเนื้อหาก่อนก็ได้ นิยายยูริไทยตอนนี้มีจุดแข็งที่เรื่องอะไร
บุ๊คอาจจะพูดแทนนักเขียนคนอื่นไม่ได้นะ แต่ยืนยันว่าการที่นักเขียนหญิงรักหญิงเขียนเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของตัวเองในฐานะหญิงรักหญิง นั่นแหละคือจุดแข็ง อย่างที่บอกว่าประสบการณ์ของผู้ที่ถูกกดขี่ตัวตน กดขี่อัตลักษณ์เนี่ย ยังไงบุ๊คก็คิดว่ามันมีคุณค่าในทางใดทางหนึ่ง และมันอาจช่วยใครสักคนไว้เหมือนที่บุ๊คถูกช่วยเอาไว้เมื่อตอนวัยรุ่น จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนออกมาเล่าเรื่องของตัวเองเยอะๆ ค่ะ
แล้วถ้ามีนักเขียนที่ไม่ได้เล่าประสบการณ์ของตัวเอง หรือไม่ได้เขียนเรื่องความลำบากลำบนอะไร
เราเขียนอย่างอื่นก็ได้ เขียนได้หลายแบบ จะตลกก็ได้ อย่าง เอฟคลับ เป็นนิยายแนวทดลอง เพราะบุ๊คเพิ่งจะได้ความรู้เรื่องเฟมินิสม์กับความหลากหลายมาไม่นาน แล้วเหมือนกับเราประยุกต์ไม่เป็น แตะนิดแตะหน่อยก็กลัวผิด กลัวดราม่า ทำให้เราเขียนด้วยความกังวลอยู่เหมือนกัน แต่งานต่อๆ ไปจะเริ่มประยุกต์หรือเขียนซ่อนนัยแล้ว เริ่มเบาสมองแต่ใส่เรื่องเฟมินิสม์เข้าไป มันต้องฝึกต้องเรียนรู้กันไปแหละ ไม่จำเป็นต้องเขียนเรื่องดราม่าอะไรมากมายก็ได้ หรือ เมอัน ก็มีพัฒนาการหลายอย่างที่เปลี่ยนไปจาก เอฟคลับ บรรยากาศเรื่องเล่าสบายๆ ขึ้น หมายถึงบุ๊คไม่เคร่งกับการต้องคงไว้ซึ่งข้อมูลดิบ แต่ก็ยังมีเกร็งๆ อยู่บ้าง คือขอแค่ไม่โรแมนติไซส์เรื่องราวชีวิตของพวกเราจนเกินไป บุ๊คก็ว่าโอเคนะ
ส่วนตัวบุ๊คอยากทำเว็บไซต์ไว้สำหรับให้คนเข้ามารีเช็กเนื้อหางานเขียนที่เป็นพิษเลย เพื่อทำความเข้าใจเรื่องหญิง-หญิงกับปิตาฯ คุณจะสามารถเข้ามาเช็กได้ว่าเนื้อหาหรือฉากเหตุการณ์แบบนี้ๆ มันมีพิษเคลือบแฝงอยู่รึไม่ เพื่อที่จะไม่ผลิตซ้ำหรือส่งต่อความเชื่อหรือขนบใดๆ ที่มันทำร้ายพวกเรากันเองให้มันขจรขจายไปได้อีก มันควรจะมีแหล่งข้อมูลอย่างนั้นเพื่อช่วยเหลือกัน เพราะตอนบุ๊คไปค้นไปหาไปศึกษาด้วยตัวเองน่ะมันลำบากมากจริงๆ และข้อมูลพวกนี้มันแพงด้วยค่ะ
ถึงจะยังไม่เห็นทางสว่าง แต่ก็มีความหวังกับคนในวงการยูริไทยใช่ไหม
ยังคงคาดหวังกับคนอ่านอยู่นะคะ คืออยากให้ลองเปิดใจอ่านงานที่แตกต่างออกไปจากพล็อตกระแสหลักที่สร้างตามกรอบปิตาฯ ดูหน่อย เพราะบุ๊คและนักเขียนอีกมากมายพร้อมเสิร์ฟเรื่องเล่าเหล่านี้ให้คุณอยู่แล้ว มันอยู่ที่ว่าคุณพร้อมหรือยัง
แต่ก็เข้าใจอีกว่าการที่เราอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการจำแลงแบบนี้ทำให้ไม่มีตัวเลือกในการอ่านนิยายมากนัก ไม่กล้าอ่านงานแปลกแหวกแนว ไม่กล้าลองด้วยซ้ำเพราะกลัวซื้อมาแล้วเสียดายเงิน ระหว่างอาหาร ผ้าอนามัย หนังสือ คนทั่วไปจะเลือกอะไร แน่นอนว่าหนังสือคือตัวเลือกสุดท้าย เล่มละ 200-300 งี้ ไปอ่านนิยายแนวเดิมที่คุ้นชินไม่ดีกว่าเหรอ ถ้าทุกคนอยู่ดีกินดีมีเงินเหลือใช้ซื้อความสุขฟุ่มเฟือยได้ คงมีคนกล้าเขียน กล้าอ่านงานแตกต่างหลากหลายแนวมากขึ้น
งั้นคุณบุ๊คคิดว่าใครควรจะขยับก้าวแรกก่อนเพื่อผลักดันวงการยูริไทย
นายทุนเลย ช่วยมาเป็นสปอนเซอร์หน่อยสิ กล้าก้าวออกมาเป็นคนแรกหน่อยได้ไหม ไม่ใช่ว่าพอเห็นกระแสอะไรก็ค่อยวิ่งไปกระโดดเกาะ คอยตามหลังทุกคน อยากให้กล้าก้าวออกมาทำอะไรแหวกแนว มันอาจจะสร้างเครดิตที่ดีในระยะยาวให้คุณด้วยก็ได้ คืออย่างที่บอกแหละ เราอยู่ในโลกทุนนิยม แล้วมันจะไปพึ่งใครได้นอกจากคนมีเงิน จริงไหม สำนักพิมพ์ถ้าไม่มีเงินก็ทำไม่ได้ นักเขียนเองก็ต้องกินข้าวเหมือนกัน พอปัญหามันวนไปอย่างนี้แล้วเมื่อไหร่มันจะมีเรื่องเล่าใหม่ๆ ในคอมมิวนิตี้ของเรา จะมีวันไหมที่เราจะได้สื่อสารเรื่องเล่าที่เป็นของเราจริงๆ ออกไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินทุนสำคัญจริงๆ สำหรับวงการวรรณกรรมหญิงรักหญิงไทย
บุ๊คอาจจะโชคดีตรงที่ครอบครัวไม่ได้เคร่งเรื่องอนาคตเรื่องการงานมากนัก เขาค่อนข้างจะปล่อย ด้วยโชคดีที่พ่อแม่เป็นข้าราชการทั้งคู่ มีสวัสดิการบำเหน็จบำนาญต่างๆ รองรับ บุ๊คไม่ได้ถูกคาดหวังให้ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่าเหมือนเด็กไทยอีกจำนวนมาก แล้วเพราะเงื่อนไขทางโครงสร้างเหล่านี้มันทำให้เขาต้องทิ้งความฝันนี้ไปอย่างจำใจ ซึ่งมันน่าเศร้ามาก เราไม่มีทางรู้เลยว่าประเทศไทยสูญเสียนักเขียนดีๆ ไปเท่าไหร่แล้ว
ประเทศที่ไม่มีใครมาช่วยส่งเสียงของผู้คนในหลากหลายแง่มุม มันจะเป็นประเทศที่น่าอยู่และเท่าเทียมได้ยังไง เพราะที่นี่ยังมีเสียงของใครต่อใครอีกมากมายที่ไม่มีใครได้ยิน นักเขียนคือผู้ถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้น อาชีพนักเขียนมักถูกลดทอนให้เป็นแค่งานอดิเรกหรืองานลำดับที่สองที่จำต้องมีงานประจำควบคู่เสมอ ไม่อย่างนั้นจะเลี้ยงชีพไม่ได้
บุ๊คเลยอยากเป็นกำลังใจให้นักเขียนที่ทำงานประจำไปด้วย ขนาดเราเป็นนักเขียนอาชีพเขียนเต็มเวลายังรู้สึกว่ามันยากมากเลยกว่าจะเขียนจบหนึ่งงาน นับถือและขอบคุณมากๆ ที่คุณยังเขียนอยู่แม้จะต้องพบเจอกับความยากลำบากแค่ไหนก็ตาม
ถ้าเมื่อก่อนคุณบุ๊คไม่กล้าฝันถึงการเป็นนักเขียนอาชีพ แต่ตอนนี้เดินทางมา 13 ปีแล้ว career path ในภายภาคหน้าเป็นอย่างไร มีจุดสูงสุดที่อยากไปให้ถึงไหม
อยากโกอินเตอร์ค่ะ (หัวเราะ) ไม่เคยบอกใครเลยนอกจากเพื่อนและคนอ่านที่สนิท แต่ก็ขอตั้งมันไว้เป็นเหมือน ultimate goal แล้วกัน ไม่ได้เร่งเร้าจะไปให้ถึงในเร็ววัน กำลังเสาะหาหนทางไปเรื่อยๆ