Mon 27 Mar 2023

CHIANG MAI ZINES

‘DEN’ ร้านขายหนังสือทำมือในเชียงใหม่ที่อยากให้ทุกคนซื้อซีนไปเป็นของที่ระลึก

     Den (เด็น) เป็นคำนาม มีความหมายได้ทั้งห้องนั่งเล่น ที่หลบซ่อน ถ้ำ กรงสัตว์ ไปจนถึงซ่องโจร

     ‘จง—กิติวัฒน์ มัทนพันธ์’ เจ้าของร้าน บอกว่าที่ใกล้เคียงกับความตั้งใจมากที่สุด น่าจะเป็นโถงถ้ำ หรือที่ซ่องสุมของเด็กผู้ชาย

     ผมไม่ได้ถามว่าทำไม แต่เมื่อเดินเข้าไปในร้าน แม้ไฟจะสว่าง แต่หลากวัตถุนับไม่ถ้วน ตั้งแต่งานดิจิทัลพรินต์ จิตรกรรม ประติมากรรมชิ้นเล็กๆ เสื้อผ้า หนังสือทำมือ ไปจนถึงของสะสมที่ดูเหมือนจะโอบล้อมตัวเราและถมเต็มผนังภายใน ก็ให้ความรู้สึกก้ำกึ่งระหว่างการเดินเข้าไปในห้องนั่งเล่นของคนหนุ่มผู้รักงานศิลปะและบ้าสมบัติ กับการสำรวจถ้ำที่ละลานตาไปด้วยจิตรกรรมฝาผนังในยุคก่อนประวัติศาสตร์ดีเหมือนกัน

     ภายในสี่เหลี่ยมคูเมืองเชียงใหม่ ไม่ไกลจากข่วงประตูท่าแพ ถนนราชวิถี ย่านกินดื่มกลางคืนที่คลาคล่ำไปด้วยบาร์ ร้านเหล้า และร้านอาหาร DEN ตั้งอยู่อย่างแปลกแยกในรูปแบบของธุรกิจ หากก็กลมกลืนกับ vibe อันแสนคึกคัก และดูเหมือนไม่มีเวลาหลับนอนของย่าน

     ดังที่เล่าคร่าวๆ ร้านในห้องแถวคูหาเดียวแห่งนี้ ขายของที่ระลึก งานศิลปะ เสื้อผ้า และสินค้าแฟชั่น โดยด้านหลังร้านยังเป็นแกลเลอรี่ศิลปะที่ชื่อ Television Gallery แต่เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมนัดหมายกับเจ้าของร้าน คือสินค้าอีกชนิดที่เขาตั้งใจคัดสรรมาวางขาย และใช่ DEN น่าจะเป็นร้านเดียวในเชียงใหม่ หรืออาจจะในประเทศไทยที่จริงจังกับการขายซีน (Zine)

     ซีนคือคำศัพท์เรียกหนังสือทำมือ สิ่งพิมพ์ที่นักเขียน คนที่ชอบการเล่าเรื่อง นักออกแบบ และศิลปินมองมันในแง่มุมของงานอดิเรก ทำเพื่อความสนุก บางคนทำแจกฟรี บางคนก็ทำขาย แต่นั่นล่ะ ถ้ามองในมุมของเราที่อยู่ในวงการสิ่งพิมพ์มานาน ซีนเป็นสิ่งพิมพ์เฉพาะกลุ่ม ขายยาก และมักจะขายดีเฉพาะที่มีเทศกาลเฉพาะของมันเอง

     แม้ซีนจะไม่ฮิตเท่ากับยุคสมัยที่เรายังไม่มีโซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มสำหรับโชว์ผลงานเหมือนเมื่อสิบกว่าปีก่อน แต่ DEN ก็ยืนหยัดที่จะขายมัน

     “ผมแค่ชอบ เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ ไม่ว่าจะเมืองไหนก็ตาม ก็จะไปหาร้านที่ขายซีนเหล่านี้ เพื่อซื้อกลับบ้าน และก็เพราะชอบเท่านั้นเลย จึงอยากให้บ้านเรามีบ้าง” จงเล่า 

     จงเกิดที่เชียงใหม่ เรียนจบด้านการออกแบบเครื่องประดับที่สิงคโปร์ เริ่มทำซีนให้เพื่อนอ่านและดูตั้งแต่สมัยเรียน หลังเรียนจบ เขากลับมาเปิดร้านเสื้อผ้าที่สยาม เปิดได้สักพักก็เจอคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ทำม็อบไล่รัฐบาลในละแวกนั้น ทำให้ร้านเขาขายไม่ได้ เลยย้ายมาเปิดอีกแห่งที่เอกมัย อยู่ที่นั่นอีกสักพัก ก่อนตัดสินใจกลับมาบ้านเกิด เปิดร้านที่เชียงใหม่

     “ตอนแรกขายเสื้อผ้าอย่างเดียวและไม่ได้ใช้ชื่อนี้ มาช่วงหลังๆ รู้จักเพื่อนที่เป็นศิลปินมากขึ้น เลยชวนให้เขาทำซีนมาวางขาย จนย้ายกลับมาเชียงใหม่ ด้วยความอยากสนับสนุนคนที่มีความชอบแบบเดียวกัน เลยมีพื้นที่สำหรับขายซีนจริงจัง และเปลี่ยนชื่อร้านเป็น DEN 

     “ตอนแรกไปเปิดแถวนิมมานเหมินท์ก่อน และย้ายมาถนนช้างม่อย จนมาเจอตึกให้เช่าย่านนี้ (ถนนราชวิถี) ซึ่งมีพื้นที่มากกว่า เลยย้ายมาอยู่ตรงนี้ได้ครึ่งปีแล้ว รวมๆ ผมขายอยู่เชียงใหม่มาสี่ปีแล้ว” จงเล่า

     ผมพยายามจะให้จงเล่านิยามเชิงลึกของหนังสือทำมือ แบบที่ว่ามันสะท้อนยุคสมัย, Subculture,  Decentralization, การต่อต้านทุนนิยม หรือนัยทางการเมือง เพื่อให้บทความนี้ดูมีอะไร หรือจะได้มีโควตเท่ๆ ให้ CONT. เอาไปแปะเรียกยอดแชร์บ้าง แต่จงก็ยืนยันกับผมอีกครั้งว่าเขาแค่ชอบ—ชอบที่ได้เห็นงานศิลปะถูกพิมพ์ลงบนหนังสือหรือกระดาษ ชอบสะสม และชอบที่จะแบ่งปันให้คนที่ชอบเหมือนกันได้เก็บมัน เท่านั้นเลย

     “งานส่วนใหญ่ที่ผมเลือกมาขาย มันไม่ได้มีคอนเทนต์หรือคอนเทกซ์อะไรมากมาย ไร้สาระเสียเยอะ แต่มันตรงจริตเราน่ะ หนังสือสาระมีขายในร้านหนังสือเยอะแล้วครับ เราจึงอยากขายสิ่งพิมพ์ที่ไม่มีเนื้อหาอะไรเลยบ้างก็ได้” จงบอก

     ซีนที่ DEN ขาย แบ่งออกเป็นสองรูปแบบ คือแบบที่จงเลือกมาขายเอง ทั้งของผู้ผลิตในไทยและต่างประเทศ กับอีกแบบคือเขาชวนศิลปินที่ชื่นชอบมาร่วมผลิตด้วยกันเลย โดยมีโรงพิมพ์ของเพื่อน (สมพรการพิมพ์, อำเภอสันกำแพง ซึ่งปรินต์งานเนี้ยบมาก) ช่วยพิมพ์หนังสือให้ ซีนเล่มแรกที่ DEN ทำขาย คือหนังสือรวมผลงานของ หมิง—กันต์รพี โชคไพบูลย์ ช่างภาพสตรีทอาร์ทรุ่นใหม่ที่กำลังมาแรง ซึ่งยังเป็นหนังสือรวมผลงานเล่มแรกของเจ้าตัวด้วย

     “แล้วขายดีไหม” ผมถามถึงภาพรวมของธุรกิจหนังสือทำมือ

     “เรื่อยๆ ครับ แต่ถามว่าเป็นธุรกิจด้วยตัวมันเองได้ไหม ก็ไม่น่านะ” จงตอบ “ปีนึงน่าจะขายดีเฉพาะตอนออกงานมากกว่า” จงหมายถึง Bangkok Art Book Fair ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีที่ Bangkok Citycity Gallery ซึ่งเขาจะไปเปิดบูธประจำ รวมถึงอีเวนต์เกี่ยวกับซีนที่เขาจัดเองบ้างในบางวาระ

     “ที่ร้านอยู่ได้คือการขายเสื้อผ้า เครื่องประดับ หรือของที่ระลึกที่ผมและเพื่อนออกแบบมากกว่า ก็ได้นักท่องเที่ยวเข้ามาซื้อเรื่อยๆ กับการขาย wholesale สินค้าที่เราออกแบบให้กับ Stockist ซึ่งเป็นตัวแทนกระจายสินค้าในต่างประเทศ ผมจะทำแคตตาล็อกส่งไป เขาก็เลือกสินค้าที่อยากได้กลับมาให้เราผลิตและส่งไปจัดจำหน่ายต่อไป” จงบอก

     ผ่าน Stockist ปัจจุบัน สินค้าที่จงออกแบบ รวมถึงซีนที่ถูกผลิตขึ้นเป็น special edition ร่วมกับสินค้าของร้าน DEN มีวางจำหน่ายใน retailed store คอนเซปต์เท่ๆ ทั้งในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง ไปจนถึงออสเตรเลีย แคนาดา และยุโรป (ดูรายชื่อร้านได้ทาง densouvenir.com/stockist)  

     “แล้วกับ Television Gallery ล่ะ คุณเป็นคิวเรเตอร์ด้วยไหม” ผมถามต่อถึงแกลเลอรี่ศิลปะด้านหลังและบนชั้น 2 ของร้าน

     “ใช่ครับ ใช้วิธีการเลือกแบบเดียวกับที่เอาซีนมาขาย คือชอบศิลปินคนไหน ก็ชวนเขามาเซ็นสัญญา แสดงงานด้วยกัน ซึ่งอันนี้เป็นธุรกิจหาเงินจริงจังเลย”

     “เป็น Illustration เสียส่วนใหญ่?” 

     “ประติมากรรมกับวิดีโอก็มีบ้าง แต่งานจะไม่ได้เป็นไฟน์อาร์ตจ๋าแบบแกลเลอรี่ส่วนใหญ่ เน้นที่ดูสนุก และขายไม่ได้แพงมาก งานหลักพันก็มีเยอะ คุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักสะสมแบบจริงจัง แค่ชอบงานศิลปะหรือเห็นว่ามันสวยดี ก็มาซื้อกลับไปได้” 

     (ปัจจุบัน Television Gallery กำลังแสดงงาน Woofer Magic Turbo งาน Illustration ลายเส้นกวนๆ ของ Noncheleee ศิลปินชาวญี่ปุ่น แสดงจนถึงวันที่ 4 เมษายน 2566) 

     “งานที่แสดงก็เป็นแนวคล้ายๆ กับซีนที่คุณขายเหมือนกันไหม”

     “ใช่ครับ ผมเป็นคนเลือก จะบอกว่าเป็นการเอางานที่แสดงมาทำซีน หรือขยายสิ่งที่อยู่ในหนังสือมาเป็นนิทรรศการ ก็ได้เหมือนกัน”

     “แล้วในเชียงใหม่ มีคนทำซีนเยอะไหมครับ”

     “ประมาณหนึ่ง แต่ไม่เท่ากรุงเทพฯ”

     “แล้วลูกค้าล่ะ ที่เชียงใหม่เป็นไงบ้าง”

     “ที่เชียงใหม่ไม่ค่อยมี จะเป็นนักท่องเที่ยวและคนต่างชาติที่มาอยู่ที่นี่เสียเยอะ ที่เราเลือกมาอยู่เชียงใหม่ นอกจากเป็นบ้านกับค่าเช่าร้านที่ไม่แพงเท่ากรุงเทพฯ คือเมืองก็ดึงดูดคนที่สนใจศิลปะและงานออกแบบให้เข้ามาเที่ยวเรื่อยๆ ก็เลยได้ลูกค้ากลุ่มนี้เยอะหน่อย” 

     “อยู่ได้สบายเลย?”

     “พอมีกำไร แต่ไม่ได้หรูหราอะไร ที่ทำเพราะเราชอบมากกว่า และมันก็ช่วยให้เราทำซีนขายต่อไปได้ด้วย” 

     “ในเมื่อทุกวันนี้เรามีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทำให้แสดงงานได้ทุกรูปแบบแล้ว อะไรที่ทำให้เราอยากทำและขายซีนอยู่อีก” ผมถามต่อ, ยังตื๊อไม่เลิก

     “ผมชอบน่ะครับ” จงยังคงยืนยันเช่นเคย “ชอบที่เห็นผลงานถูกพิมพ์ลงกระดาษ เหมือนของที่ระลึกนั่นแหละ มันไม่ได้มีคุณค่าทางจิตใจสำหรับทุกคน แต่มันมีสำหรับผมและใครอีกหลายคน” 

     ผมให้จงเลือกซีนที่ร้านเขาขาย เขาชอบ และอยากแนะนำให้คนอ่านได้รู้จักมา 5 เล่ม ตามนี้เลย

Mookata Archive Vol.1 โดย Paulspective

     “ผมชอบซีนเพราะมันมีความไม่จริงจัง ไม่ต้องมีสาระก็ได้ แต่มันสะท้อนความสนใจหรือมุมมองเฉพาะของคนทำไว้ เล่มนี้เป็นหนังสือรวมโฆษณาร้านหมูกระทะในกรุงเทพฯ Volume 1 เผื่อใครอยากกินหมูกระทะก็มาเปิดเล่มนี้ดูได้ว่ามีที่ไหนบ้าง พร้อมเบอร์ติดต่อของแต่ละร้าน”

สินเชื่อเชียงใหม่ Chiang Mai Loans Vol.1 โดย Korean Magpie Tapes

     “เล่มนี้เหมือนหมูกระทะ เป็นหนังสือรวมนามบัตรโฆษณาสินเชื่อในเชียงใหม่ ทำโดยศิลปินชาวเกาหลีที่ดันมาเชียงใหม่ช่วงก่อนโควิด เลยติดแหง็กอยู่ที่นี่ยาว”

Tye Zine โดย กลุ่ม Tye Youth Embryo

     “เล่มนี้มีความเป็นนิตยสารจริงจัง มีบทความและบทสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษและไทย เล่าถึงแวดวงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยนอกกระแส ออกมาเป็น Volume 2 แล้ว คนทำอยู่กรุงเทพฯ เขาจะทำออกมาปีละฉบับ ฉบับนี้เพิ่งวางขายเมื่อปลายปีที่แล้ว”

Bali Party Flyers 1985-2002 โดย Home Grown

     “ซีนจากประเทศอินโดนีเซีย รวบรวมใบปลิว โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ และนามบัตร เกี่ยวกับงานปาร์ตี้ที่จัดขึ้นที่บาหลี ระหว่างปี 1985-2002 ผมชอบดีไซน์โปสเตอร์แต่ละอันที่เขาเลือกมา โดยเฉพาะพวกปาร์ตี้ Rave Music ช่วงยุค 80s ถึงต้น 90s” 

Chaos City Chiang Mai โดย DEN

     “เล่มนี้พิมพ์โดยร้านเราเอง เหนือ—ธนานนท์ ศรีหมอก นักออกแบบที่ทำงานกับผมเป็นคนรวบรวม เป็นหนังสือรวมใบปลิวประชาสัมพันธ์งานปาร์ตี้พังก์ที่จัดขึ้นในเชียงใหม่ช่วงปี 1999-2009 เมื่อก่อนกระแสพังก์มาแรงในเชียงใหม่มากนะ คนแต่งเป็นพังก์เต็มไปหมด ปาร์ตี้ก็จัดกันบ่อยด้วย แต่เดี๋ยวนี้แทบไม่มีให้เห็นแล้ว”