Tue 20 Oct 2020

SEE (AND) WRITE

เฝ้าดูคาแรกเตอร์ที่หลงใหล แล้วหยิบจับมาเป็นตัวละคร สำรวจที่มาและแรงบันดาลใจในการเขียน ‘ฟิค’ ของผู้เขียนนิยายแชต ‘กุเชอร์รี่’

     ลองนึกภาพว่าตัวคุณกำลังอ่านนิยายสักเรื่องในวันหยุด 

     หากเป็นสมัยก่อน นิยายที่เราอ่านก็คงเป็นหนังสือเล่มหนา ค่อยๆ พลิกกระดาษไปทีละหน้า ไล่สายตาไปทีละบรรทัดอย่างละเมียดละไม แต่กับยุคนี้—ยุคที่ทุกคนมีสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตราวกับเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 ของร่างกาย การอ่านอาจไม่ใช่รูปแบบนั้นเสมอไป

     นักอ่านยังคงก้มหน้า เพียงแต่มือทั้งสองข้างถูกแทนที่ด้วยเครื่องมือใหม่ จากหนังสือเล่ม สู่หน้าจอทัชสกรีนรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า 

     แม้กระทั่งนิยายวาย นิยายประเภทหนึ่งที่เคยเป็น sub-culture ว่าด้วยความสัมพันธ์ของตัวละครที่มีเพศสภาพเดียวกัน ก่อนจะขยับขยายกลายเป็นนิยายประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยม ก็ยังต้องปรับตัวตามเทคโนโลยี เกิดเป็นแพลตฟอร์มนิยายแชต เช่น จอยลดา หรือ ReadAWrite แอพพลิเคชั่นอ่านนิยายที่ดำเนินเรื่องผ่านบทสนทนา เป็นข้อความสั้นๆ โต้ตอบกันคล้ายกับการคุยแชต เพียงแค่กดที่หน้าจอ ข้อความตามเนื้อเรื่องก็จะปรากฏขึ้นมาเรื่อยๆ ราวกับผู้อ่านกำลังหลุดเข้าไปนั่งอ่านบทสนทนาระหว่างตัวละครอยู่

     แน่นอนว่าเมื่อเครื่องมือเปลี่ยน นักเขียนก็ต้องขยับตัวตาม เช่นเดียวกับ dollarosaka หรือ ใบเตย—ธนพร เพชรจรัส นักเขียนนิยายวาย นิยายแชต และนักเขียนบทภาพยนตร์วัย 27 ปี เจ้าของผลงานนิยายแชตเรื่อง #กุเชอร์รี่ ที่เคยได้รับความนิยมถึงขั้นติดอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ในทุกๆ สัปดาห์ที่เธออัพนิยายตอนใหม่

     เราจึงอยากชวนคุณไปทำความรู้จักกับโลกแห่งจินตนาการแบบใหม่ ผ่านผลงาน การเล่าเรื่อง การเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ของตัวละคร และชีวิตของเธอที่ใช้เวลานั่งคุยกับตัวละครไม่เว้นวัน

งานเขียนชิ้นแรกของคุณเริ่มต้นจากอะไร

     เราชอบดูภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็กๆ จำได้ว่าช่วงประถม เราดู แฮร์รี่ พอตเตอร์ ตอนนั้นเรารับไม่ได้ที่ ซีเรียส แบล็ก ตาย เขาเป็นตัวละครที่เราชอบมาก เรารับไม่ไหว ร้องไห้เป็นวัน ก็เลยตัดสินใจเปิดคอมฯ แล้วแต่งเรื่องใหม่ทันที เรียงลำดับเหตุการณ์ใหม่ในสไตล์ของเรา จับนู่นมาโยงนี่ จนสุดท้ายก็เขียนให้ซีเรียส แบล็ก ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง (หัวเราะ)

     พอนึกๆ แล้วก็ตลกนะ ย้อนไปตอนนั้นก็ไม่รู้จะเรียกสิ่งนี้ว่าการเขียนนิยายได้หรือเปล่า ทุกอย่างมันเริ่มต้นจากการเป็นเด็กไม่รู้ความ บวกกับความอยากเล่าและความสนใจของตัวเอง เราแค่สร้างเรื่องให้เป็นไปตามสิ่งที่เราคิด เพราะสิ่งที่อยู่ในจินตนาการของเรามันสนุกมาก และเราก็อยากให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกับเรา พอเขียนเรื่องซีเรียส แบล็ก จบ เราก็ลองปล่อยงานในเว็บบอร์ดทั่วไปบ้าง จำได้ว่าเขียนไปหลายตอนเหมือนกัน มีคนหลงเข้ามาอ่านห้าคนก็ดีใจมากแล้ว คิดว่านี่คงเป็นสิ่งที่จุดประกายให้เราเริ่มสนใจอะไรแบบนี้

หลังจากงานชิ้นนั้นคุณได้ลองสร้างตัวละครขึ้นมาเองบ้างมั้ย

     มี คืองานส่วนใหญ่ที่เขียนเราจะตั้งต้นจากสิ่งที่ชอบ ย้อนไปวัยเด็กเราชอบดู แฮร์รี่ พอตเตอร์ มาก เราก็เลยหยิบยืมตัวละครในนั้นมาใช้ในงานเขียนของเรา 

     แต่พอวัยมัธยมต้น เราเริ่มชอบนักร้องเกาหลี เข้าสู่วงการติ่งอย่างสมบูรณ์แบบ และเริ่มรู้สึกว่าตัวเองโตพอที่จะลองเขียนงานโดยไม่ต้องหยิบยืมตัวละครจากภาพยนตร์อีกแล้ว เราจึงเริ่มต้นเขียนนิยายอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการเขียนนิยายวายครั้งแรกโดยใช้ความชื่นชอบที่เรามีต่อศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นคาแรกเตอร์ สไตล์ กระทั่งตัวตนที่เขาแสดงให้เราเห็นผ่านสื่อมาเป็นสารตั้งต้นในการเขียนงาน เช่น ศิลปินที่เราชอบดูเป็นคนสุภาพ เพียบพร้อม หรือบางคนดูกวนๆ เฮฮา เราก็หยิบยืมสิ่งเหล่านั้นมาเป็นไอเดีย แล้วก็เอาไปลงตามเว็บไซต์ทั่วไปเหมือนกับนักเขียนคนอื่นๆ อย่างเว็บไซต์ dek-d ซึ่งก็เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมมากกกก ถือเป็นศูนย์รวมของวัยรุ่นในยุคหนึ่ง คือถ้าใครจะอ่านนิยายก็ต้องนึกถึงเว็บไซต์นี้

ก่อนจะลงมือเขียนนิยายวาย รู้จักหรือเคยอ่านนิยายวายมาก่อนหรือเปล่า

     ไม่เลย ไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่พอมาติ่งเกาหลีก็ได้รู้จักคำว่า fanfiction หรือที่ติ่งเกาหลีและทุกคนเรียกสั้นๆ ว่าฟิก ซึ่งก็คือนิยายวายรูปแบบหนึ่งที่แฟนคลับแต่งขึ้นมาโดยใช้ศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบเป็นตัวละคร 

     พอเราเข้าสู่โลกของติ่งก็ได้ลองอ่านฟิกครั้งแรกตามเว็บบอร์ดต่างๆ ความรู้สึกครั้งแรกที่ได้อ่านก็เหมือนอ่านนิยายทั่วไปนะ มีหลายอารมณ์ มีเรื่องราวหลายแนว ทั้งฟิกสายตลก ฟิกชีวิตรักวัยเรียน ฟิกดราม่า มีครบทุกรสไม่ต่างจากละคร

แล้วเป็นมายังไงถึงมาเขียนนิยายแชตในจอยลดา

     ช่วงปี 2017 มีแอพพลิเคชั่นเปิดใหม่ เกิดมาเพื่อคนอ่านนิยายโดยเฉพาะชื่อ ‘จอยลดา’ (joylada) หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘จอย’ จริงๆ นิยายในจอยช่วงแรกจะเป็นรูปแบบนิยายแชตเท่านั้น ไม่มีการพรรณาหรือบรรยาย เนื้อเรื่องจะถูกเล่าผ่านบทสนทนาสั้นๆ ของตัวละคร เราก็เลยลองเขียนดู 

     นิยายในจอยเรื่องแรกของเราชื่อว่า มองอะไร กุเชอร์รี่ไง เป็นนิยายแชตที่หยิบยืมตัวละครมาจากนักร้องวง NCT ซึ่งเป็นวงที่เราชื่นชอบในตอนนั้น

     นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของแก๊งเด็ก ม.3 เชอร์รี่ แนตตี้ แยม เราเรียกแก๊งนี้ว่าแก๊งไม่เคยเสียน้ำตาให้ผู้ชาย เราเล่าผ่านตัวละครเชอร์รี่ที่แอบชอบพี่เป้ รุ่นพี่ ม.6 ด้วยความเป็นคนดี นิสัยดี เรียนเก่ง หน้าตาดี พี่เป้จึงกลายเป็นชายผู้เป็นดั่งข้อยกเว้นของเชอร์รี่ พยายามทำทุกอย่างก็เพื่อพี่เป้ ซึ่งคาแรกเตอร์ของเชอร์รี่จะเป็นสายดราม่า เป็นคนที่เล่นใหญ่มาก ชอบทำอะไรเวอร์ๆ เพ้อเจ้อ ขี้โวยวาย แต่ที่ทำให้เชอร์รี่เป็นขนาดนั้นได้ก็เพราะแยม แยมเป็นเพื่อนสายยุ สายเสี้ยม เป็นตัวตลก คอยชงให้เชอร์รี่เสมอ ส่วนแนตตี้ก็ดูเหมือนจะเป็นเพื่อนทั่วไป แต่จริงๆ แล้วแฝงตัวมาอยู่ในกลุ่มนี้ก็เพราะแอบชอบเชอร์รี่ ความสนุกของเรื่องนี้คือเราต้องมาลุ้นกันว่า สุดท้ายแล้วเชอร์รี่จะได้เป็นแฟนกับพี่เป้มั้ย เชอร์รี่จะรู้หรือเปล่าว่าแนตตี้แอบชอบ แล้วพี่เป้จะใช่พระเอกตัวจริงของเรื่องนี้หรือเปล่า

ฟีดแบ็กตอนนั้นเป็นอย่างไร

     ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แต่ทุกครั้งที่อัพนิยายตอนใหม่ก็ค่อนข้างจะเป็นกระแสทุกครั้ง พอแต่งจบทางจอยลดาก็ติดต่อมาว่าอยากรวมเล่ม ทำเป็นบ็อกซ์เซต ตอนนั้นเรายังสงสัยว่าจะมีคนอยากได้จริงๆ เหรอ เขาอาจจะสนุกแค่คืนนี้ พรุ่งนี้ตื่นเช้ามาเขาก็ไปสนุกเรื่องอื่นแล้วหรือเปล่า แต่สุดท้ายก็ตกลงตีพิมพ์

นอกจากความชื่นชอบแล้ว มีเหตุผลอื่นมั้ยที่ทำให้คุณเลือกใช้สมาชิกวง NCT มาเป็นตัวละคร

     จริงๆ การดึงอิมเมจของไอดอลมาเขียนงานก็เหมือนเราแคสต์นักแสดงนะ เราก็แค่เลือกคนที่คิดว่าเหมาะกับบทของเรา สำหรับวง NCT จริงๆ เหตุผลไม่มีอะไรเลย ก่อนหน้านี้ก็มีหยิบคาแรกเตอร์จากวงอื่นมาใช้เหมือนกัน แต่เพราะวงนี้เดบิวต์มาในจังหวะเดียวกับตอนที่เราเริ่มทำงานเขียนบทและเขียนนิยายไปด้วย เป็นนักร้องเกาหลีที่ใกล้ตัวที่สุดและชื่นชอบอยู่ในเวลานั้น

     เวลาเราเลือกคาแรกเตอร์ของศิลปิน เราก็เลือกจากมุมมองไกลๆ น่ะ จากแฟนคลับคนหนึ่งที่ดูเขาบนเวทีหรือจากรายการวาไรตี้ เห็นคนนั้นคนนี้แล้วรู้สึกยังไง มองว่าคนนี้มีบุคลิกเหมาะกับบทไหน  

ต่อจากเรื่อง #กุเชอร์รี่ งานเขียนของคุณเป็นไปในทิศทางไหน หาสไตล์ของตัวเองเจอหรือยัง

     อย่างที่บอกว่าเราเริ่มเขียนนิยายตั้งแต่เด็ก เราไม่รู้หรอกว่าสไตล์งานของเราคืออะไร แต่เท่าที่ได้รับฟีดแบ็กมา คนอ่านมักบอกว่างานที่เราเขียนจะเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะแบบเพื่อน พี่น้อง ครอบครัว พ่อแม่ โดยเน้นไปที่การเล่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงอายุของคน อย่าง #กุเชอร์รี่ ก็จะเป็นเรื่องของแก๊งเพื่อนและเรื่องราวในโรงเรียนมัธยม 

     ส่วนนิยายเรื่องต่อๆ มา อย่าง #เจย์ไหน ซึ่งเป็นนิยายวายที่เขียนลงเว็บไซต์ dek-d ก็ว่าด้วยเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวัยเรียน เล่าผ่านตัวละครเด็ก ม.ปลายชื่อ ‘เจย์’ ซึ่งหยิบยืมอิมเมจของแจฮยอนวง NCT มา

     เรามองว่าเวลา 6-12 ปีในช่วงวัยเรียน เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดในชีวิต เด็กต้องเจอทั้งแรงกดดัน บางคนโชคดี บางคนโชคร้าย เด็กบางคนไม่มีโอกาสได้ทำตามความฝัน หรือเรื่องง่ายๆ อย่างการเป็นตัวเองก็ทำไม่ได้ นิยายเรื่องนี้เราเขียนหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยใหม่ๆ เป็นช่วงที่รู้สึกว่าอุดมการณ์หลายๆ อย่างที่เคยมีตอนเด็กมันเริ่มพังทลาย เราใช้สายตาตัวเองหลังเรียนจบมองกลับไปและเล่ามันออกมา เราอยากรู้ว่าตัวละครในช่วงวัยนั้นเจ็บปวดไปกับเรื่องอะไรบ้าง

     อีกเรื่องคือ #ป๊ารักแก นิยายวายที่เรายืมคาแรกเตอร์ศิลปินเกาหลีวง NCT มาเขียน แต่เรื่องนี้จะความพิเศษนิดหนึ่ง เพราะเป็นนิยายที่เขียนตอนเราอายุ 27 ปี ด้วยอายุที่มากขึ้น เป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน เราลืมเรื่องชีวิตวัยเรียนไปหมด นิยายเรื่องนี้จึงเป็นการกลับมาพูดถึงอนาคตของตัวเอง พูดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างวัย พูดเรื่องครอบครัว เรารู้สึกว่าโลกตอนนั้นมีคนเจ็บปวดกับคำว่าครอบครัวในอุดมคติเยอะมาก ครอบครัวที่ดีจะต้องมีพ่อ-แม่-ลูกหรือเปล่า? เพราะสังคมปรุงแต่งให้คำว่าครอบครัวสมบูรณ์ต้องมีหน้าตาเป็นแบบนั้นใช่มั้ย คนที่มีครอบครัวแตกต่างออกไปถึงต้องรู้สึกเหมือนตัวเองพิการทางจิตใจ

     เนื้อเรื่องคร่าวๆ ของเรื่องนี้จึงว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง พี่ชายอายุ 28 ปี กับน้องชายฝาแฝดสองคนที่อายุ 18 ปี วันหนึ่งพ่อแม่ตาย พี่ชายกับน้องชายฝาแฝดต้องอยู่กันเองสามคน ภาระหน้าที่การดูแลเด็กแฝดจึงตกไปอยู่กับพี่ชาย ซึ่งต้องลุกขึ้นมาทำหน้าที่พ่อ ระหว่างทางเราจะเจอการตั้งคำถามของเด็กแฝดว่าพี่ชายคนนี้ใช่พ่อเราหรือไม่ ทำไมพ่อเราต่างจากคนอื่น ทำไมพ่อไม่มีเงิน ทำไมพ่อคนนี้ดูแลเราไม่ได้ กลับกันพี่ชายวัย 28 ปีก็ตั้งคำถามเหมือนกันว่า ทำไมกูต้องมาเลี้ยงเด็กสองคนนี้ ทำไมพ่อตายแล้วต้องทิ้งภาระไว้ และเมื่อไหร่กันที่เด็กสองคนนั้นจะไม่ถูกมองเป็นภาระอีกต่อไป เรื่องนี้ค่อนข้างพูดถึงประเด็กและครอบครัวเยอะมากกว่านิยายเรื่องอื่นๆ ที่เราเคยเขียนมา

การจะผลิตงานขึ้นมาสักชิ้น ไอเดียส่วนใหญ่มาจากไหน 

     ประสบการณ์ของตัวเองล้วนๆ เราเป็นคนจดโมเมนต์เก่ง คือถ้าเจอโมเมนต์อะไรในชีวิต หรือเกิดไอเดียตลกๆ เราก็จดสะสมมันมาเรื่อยๆ ถ้ามีโอกาสได้เขียนนิยายหรือเขียนบทแล้วไอเดียนั้นเข้ากับสถานการณ์ตรงหน้า เราก็จะหยิบมันมาใช้

     เช่น สมัยมัธยมเราเคยไปเล่นบานาน่าโบ้ตกับเพื่อน เรานั่งคนสุดท้ายแล้วบานาน่าโบ้ตขับแรงมาก เหวี่ยงจนเราตกลงทะเล แต่ที่พีคคือเราไม่ปล่อยมือออกจากเชือก ระหว่างที่เราโดนคลื่นซัดจนกางเกงจะหลุด เราพยายามตะโกนบอกเพื่อนคนข้างหน้าจนเสียงแหบ เพื่อนหันมาทำหน้าเป็นห่วงเราแล้วก็ขำใส่ ก่อนที่จะพยายามตะโกนบอกเพื่อนคนต่อๆ ไป จนถึงคนขับ เขาจึงหยุดเรือ คือมันอาจจะดูเป็นเรื่องธรรมดานะ แต่ซีนนั้นสำหรับเรามันตลกมาก กว่าสารจะส่งไปถึงพี่คนขับเรือมันเกิดโมเมนต์ตลกๆ ที่เอาไปขยายได้ต่อมากมาย

     เวลาเราสร้างตัวละครขึ้นมาในงานเขียน เราพยายามนึกว่าเขาคือคนที่มีตัวตนจริงในโลกใบนั้น เราอาจจะไม่ได้ใส่ดีเทลเข้าไปทุกอย่างแล้วเขียนออกมาทั้งหมด แต่เราจะพยายามนึกถึงแบ็กกราวนด์ของเขาให้มากที่สุด เพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมตัวละครถึงพูดแบบนี้ คิดแบบนี้ วันหยุดเขาทำอะไร สไตล์การแต่งตัวที่เขาชอบ ทั้งหมดทั้งมวลมันเป็นเหตุผลเบื้องหลังที่อธิบายได้ว่าเหตุใดตัวละครถึงกระทำหรือพูดออกไปแบบนั้น ในฐานะคนเขียนการพยายามทวนแบ็กกราวนด์ของตัวละครอยู่เสมอ ถือเป็นหัวเชื้อดีๆ และเป็นเรื่องที่เราพยายามให้ความสำคัญมากที่สุดในการสร้างนิยายของเรา

เมื่อเทียบกับเขียนบทภาพยนตร์ที่คุณทำเป็นอาชีพ มันมีความแตกต่างกับการเขียนนิยายมากน้อยแค่ไหน

     เรามองว่าแกนหลักของการเขียนบทและการเขียนนิยายแทบไม่ต่าง เพราะมันคือ storytelling เหมือนกัน

     หัวใจของการสร้างเรื่องราวขึ้นมานั้น ประกอบไปด้วยการทำให้เห็นว่าอะไรคือปัญหาที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นั้น แล้วจะคลี่คลายมันอย่างไร ส่วนประกอบอื่นๆ ก็คือดีเทลและเรื่องราวระหว่างทางที่เราจะแต่งเติมเข้าไป 

     การเขียนบทอาจจะต้องคำนึงถึงการเขียนสื่อสารและอาศัยจินตนาการภาพเพิ่มขึ้นมา เพราะเราจะเขียนเพียงไดอะล็อกและภาพในซีนนั้นๆ จะไม่เขียนความรู้สึกลงไป เพื่อให้ง่ายต่อการทำงานร่วมกับฝ่ายอื่นในกองถ่าย ส่วนการเขียนนิยายมันหลากหลายและไปได้ไกลกว่ามาก เราสามารถเล่าผ่านมุมมองของบุคคลที่สามได้ ทำให้คนอ่านเห็นว่าตัวละครรู้สึกอย่างไรก็ได้ จะอธิบายเชิงพรรณา บรรยายสีหน้า แววตา ความเจ็บปวด นิยายสามารถถ่ายทอดความรู้สึกอะไรแบบนี้ออกมาได้หมด 

เขียนนิยายวาย เขียนนิยายแชต เขียนบท อะไรยากที่สุด

     เขียนบทยากกว่าอยู่แล้ว เพราะมันคือการทำงาน (หัวเราะ)

     สำหรับเราการเขียนนิยายวายหรือนิยายแชตคือสิ่งที่เราทำคนเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ เราจะเขียนให้ตัวละครกระโดดไปถึงดวงดาวก็ได้ ไม่มีใครห้าม แต่การเขียนบทละครหรือบทภาพยนตร์ เราต้องทำงานร่วมกับคนอื่นอีกเยอะมาก ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ นักแสดง ลูกค้า ดังนั้นการเขียนบทเพื่อการทำงานจึงมีข้อจำกัดเยอะกว่า ทั้งในเชิงเทคนิคและอื่นๆ 

     แต่ถ้าถามถึงวิธีการตั้งต้นคิดก่อนเขียน นิยายแชตคือโจทย์ที่ยากกว่าแบบอื่น เพราะมันต้องดำเนินเรื่องด้วยประโยคสั้นๆ แล้วยิ่งนิยายแชตมันมีความเสพง่าย อ่านเร็ว การทำให้คนอ่านกระโดดเข้ามาในโลกของเรา และอินกับการเล่าของเราจึงเป็นเรื่องยากที่สุด คือเราจะทำยังไงให้คำพูดสั้นๆ ของตัวละครสื่อสารออกมาได้อย่างมีมิติ จะทำยังไงให้ผู้อ่านเห็นภาพเป็นฉากๆ เหมือนการเขียนพรรณา เราจะพาผู้อ่านไปสู่ความรู้สึกแบบไหน พาไปแตะกราฟสูงสุดในตอนนั้นได้อย่างไร นั่นคือโจทย์ของนิยายแชต ซึ่งนักเขียนแต่ละคนก็มีวิธีการแก้โจทย์ต่างกัน ความสนุกจึงอยู่ตรงนี้

เมื่อมีนิยายแชตเข้ามา พฤติกรรมของคนอ่านเปลี่ยนไปมั้ย

     ไม่ต้องไปถึงคนอ่านหรอก คนแต่งอย่างเราก็สมาธิสั้นลง ไม่แน่ใจว่าคนอื่นเป็นเหมือนกันมั้ย นิยายแชตสำหรับเรามันเป็นสิ่งที่มาเร็วไปเร็ว เพียงแค่คนอ่านใช้นิ้วแตะหน้าจอ บทสนทนาของตัวละครก็เด้งขึ้นมา เนื้อเรื่องก็ดำเนินไปเรื่อยๆ ไม่ต้องมีการบรรยายยืดยาวเหมือนการอ่านหนังสือเล่ม หรืออ่านบทความที่มีตัวหนังสือเยอะๆ 

     ในฐานะคนผลิตงาน การเขียนนิยายแชตทำให้เราโฟกัสและละเมียดละไมกับการปั้นอารมณ์ของตัวละครน้อยลงเหมือนกัน ด้วยไม่แน่ใจว่าคนอ่านจะรู้สึกไปในทิศทางที่เราอยากจะสื่อสารหรือเปล่า เพราะมันมีแค่ข้อความตอบโต้ไปมา ไม่เห็นสีหน้าแววตาเหมือนกับการเล่าด้วยวิธีอื่นๆ

นิยายแชต นิยายวาย ถือเป็นมิติตรงข้ามกับวรรณกรรมมั้ย

     สำหรับเราไม่ว่าจะนิยายแชต นิยายวาย หรือวรรณกรรมทรงคุณค่า มันก็คือการอ่านโดยที่ซึมซับเรื่องราวไปจนถึงบรรทัดสุดท้ายเหมือนกัน เราอ่านเรื่องราวเพื่อพาตัวละครไปให้ถึงบทสรุปหรือตอนจบในหน้าสุดท้ายเหมือนกัน ต่างแค่รูปแบบที่บรรจุเรื่องราวเอาไว้ ส่วนความรู้สึกที่รอลุ้นว่าตัวหนังสือจะทำงานอย่างไร เราว่าไม่ต่างกัน

     เราเป็นคนหนึ่งที่เคยอาย ไม่กล้าออกตัวว่าเป็นคนเขียนนิยายวาย แต่เมื่อผลงานออกไปและได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดี มันก็ยิ่งทำให้เรามั่นใจและคิดว่า ‘เฮ้ย กูจะอายทำไมวะ’ มันก็คืองานที่มีคุณค่าเหมือนกันนะ ถ้ามัวแต่มองว่า ยี้ นิยายแชต นิยายวาย ก็คงไม่ได้ทำอะไรต่อ อย่าจำกัดอินพุตของตัวเองด้วยการมองว่ามันเป็นสื่อประเภทไหน ทุกงานมีศักดิ์ศรีของมันเหมือนกัน

     ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าการอ่านนิยายแชต นิยายวายเป็นมิติตรงข้ามกับการอ่านหนังสือเล่มหรือวรรณกรรมมั้ย เราว่าไม่ แต่เป็นงานที่ขนานกันไปมากกว่า เพราะหัวใจของมันก็คือการเดินทางจากบทแรกไปจนถึงบทสุดท้ายเหมือนกัน

คุณย้ำหลายครั้งว่าตัวเองชอบการเล่าเรื่อง เสน่ห์ของมันคืออะไร

     ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องประเภทไหน ภาพยนตร์ นิยายวาย นิยายแชต หนังสือเล่ม วรรณกรรมต่างๆ ล้วนมีเสน่ห์ในตัวเอง เราชอบการเล่าเรื่องที่ทำให้ตัวละครมีความเป็นมนุษย์จริงๆ เพราะความเป็นมนุษย์คือสิ่งที่ทำให้เราเดาทางไม่ถูกว่าตัวละครตัวนั้นคิดอะไรอยู่ เคยมั้ยที่เราขัดใจเวลาเห็นพระเอกโง่ ทำไมมันโง่แบบนี้วะ ทำไมไม่คิดหน้าคิดหลังให้ดีก่อน ทำไมมึงเดินหนีไปแล้วสุดท้ายถึงค่อยไปนั่งเสียใจ หรือบางครั้งทำไมเรารู้สึกนอยด์ รู้สึกเสียใจแทนตัวละครที่โดนแกล้งให้ทำเค้กเป็นพันชิ้นแต่ไม่มีใครซื้อ ถึงแม้ชีวิตนี้เราจะไม่เคยทำเค้กก็ตาม ทำไมเราเข้าใจความเหน็ดเหนื่อยของมันวะ ก็เพราะผู้สร้างเขาทำให้เรา get into กับสิ่งนั้น เขาสร้างเรื่องราวให้เรารู้สึกเจ็บปวดเหมือนว่าตัวเองทำเค้กขายเป็นอาชีพ เราเหนื่อยและเสียใจกับห้วงอารมณ์นั้น 

     นี่คือความดีงามของการเล่าเรื่อง มันทำให้ (ผู้ชม) รู้สึกว่า เฮ้ย นี่แหละคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นในชีวิตของมนุษย์จริงๆ

การคลุกคลีอยู่กับตัวหนังสือ เขียนนิยายมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เด็ก ทั้งเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตและตีพิมพ์เป็นเล่ม เอาเข้าจริงแล้วคุณเป็นคนชอบอ่านหนังสือมั้ย

     ไม่ชอบอ่านเลย (หัวเราะ) แต่เป็นคนชอบเขียนมากนะ อย่างที่บอกคือเราเป็นคนชอบดูภาพยนตร์มากๆ มันอาจจะทดแทนกันไม่ได้ แต่มันมีเซนส์บางอย่างที่แอบคล้ายกันอยู่ เพราะภาพยนตร์มีส่วนที่เปิดโอกาสให้คนดูได้ตีความและสร้างความรู้สึก ซึ่งไม่ต่างจากการอ่านหรอก บทนี้ บรรทัดนี้ เราตีความแล้วเห็นด้วยกับผู้เขียนมั้ย การเชื่อมโยงระหว่างบรรทัดมันสวยงามมั้ย ก็เหมือนเราดูแต่ละซีนในภาพยนตร์ว่าเป็นอย่างไร เราจึงอยากเล่าเรื่องในงานเขียนให้ได้เหมือนที่เราเกิดความรู้สึกเวลาดูภาพยนตร์ที่ชอบ

     สำหรับเราแล้ว การเขียนบทภาพยนตร์ นิยายแชต นิยายวายที่มีนักร้องเกาหลีเป็นตัวละคร หรือการวาดภาพทางศิลปะ หัวใจของมันคือการสื่อสารเหมือนกัน แค่มันมีวิธีการสร้างและบรรจุอยู่ในรูปแบบที่ต่างกันเท่านั้น

คุณเขียนนิยายในโลกออนไลน์มาหลายปี มีสิ่งใดบ้างที่นักเขียนออนไลน์ควรระวัง

     ด้วยความที่เป็นแพลตฟอร์มที่ใครก็เข้าถึงได้ง่าย เราไม่รู้เลยว่าคนที่อ่านงานของเราเป็นใคร อายุเท่าไหร่ ดังนั้นผู้แต่งต้องคำนึงถึงประเด็นของเนื้อหาในการเขียนให้มากๆ โลกสมัยนี้มันไปไกลแล้วนะ สิ่งที่หลายๆ คนเคยมองและเขียนมันออกมาเป็นปกติ ตอนนี้มันไม่ปกติแล้ว ไม่ใช่แค่นิยายวาย แต่ในวงการภาพยนตร์ ละคร เพลงเองก็ด้วย เราอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ผลิตงานขึ้นมาสนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมที่สร้างความรุนแรงโดยไม่รู้ตัวก็ได้ 

     อย่าไปมองว่า ‘เฮ้ย นี่นิยายนะ ทุกคนแยกแยะออก’ มันไม่ใช่ เราไม่รู้หรอกว่างานของเรามีอิทธิพลต่อความคิดของน้องๆ เด็กๆ หรือใครก็ตามที่มาอ่านนิยายของเราแค่ไหน มันเป็นการรับผิดชอบต่องานเขียนตัวเองด้วยน่ะ

     นอกจากนั้น การเขียนนิยายที่หยิบยืมอิมเมจจากศิลปินเกาหลี เราก็ต้องไม่ลืมเส้นบาลานซ์ เรา (คนแต่ง-คนอ่าน) ต้องตระหนักว่าตัวละครในนิยายไม่ใช่ศิลปินจริงๆ เราใช้แค่หน้าตา ชื่อ คาแรกเตอร์ของเขามาดำเนินเรื่องตามจินตนาการ วันใดวันหนึ่งที่เราไปคอนเสิร์ตเกาหลี เจอนักร้องเกาหลีคนนั้นอยู่บนเวที เขาคนนั้นไม่ใช่มนุษย์หมีเหมือนในนิยายที่เราเพิ่งอ่านหรือเขียนนะ เขาเป็นคน เป็นศิลปิน เป็นนักร้อง 

ถ้าอย่างนั้นจะง่ายกว่าหรือเปล่า ถ้าคุณเลือกเขียนนิยายโดยไม่ใช้อิมเมจศิลปินเกาหลีเลย

     ไม่ง่าย อย่างที่บอกไปว่าเรามาเขียนงานตรงนี้โดยมีจุดเริ่มต้นจากสิ่งที่เราชอบรอบๆ ตัว ตั้งแต่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ หรือ ซีวอน Super Junior เราเริ่มเขียนงานจากการนึกถึงใครสักคนหรือนึกถึงอะไรบางอย่างก่อนที่จะใส่ความแฟนตาซีลงไป แต่ในอนาคตเราก็อยากชาเลนจ์ตัวเองด้วยการเขียนงานจากสิ่งไกลตัวบ้างนะ

การเขียนนิยายให้อะไรกับชีวิตคุณบ้าง

     การเขียนนิยาย คือการแปรรูปชุดความคิดของตัวเองและบันทึกสิ่งเหล่านั้นให้ออกมาเป็นเรื่องราว ให้คนได้เข้าใจผ่านตัวอักษร บันทึกความคิดของตัวเองไว้ว่าตลอดสิบปีที่ผ่านมาเราคิดอะไรอยู่ 

     ที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตอยู่กับคำถามว่าตัวเองมีอะไรดี เราเป็นเด็กที่ไม่รู้ว่าชอบวิชาอะไร โตมาก็ไม่รู้จะเรียนคณะอะไรดี แม้แต่ตอนเรียนจบแล้วก็ยังหลงทาง ไม่รู้จะไปทางไหนต่อ การได้เขียนนิยายให้ผู้คนอ่านทำให้เราเริ่มพิจารณาตัวเองว่าสิ่งนี้เรียกว่าความสามารถได้มั้ย ทุกครั้งที่มีคนชม มีคนสุขใจกับงานของเรา มันทำให้เรารู้สึกว่ากราฟคุณค่าในตัวเองพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราอยากสร้างความสุขให้คนอ่านต่อไป อยากเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในหนึ่งวันที่ร้ายๆ ของพวกเขา ให้นิยายของเราเป็นความสุขของพวกเขาได้บ้าง และทั้งหมดนี้มันก็ยิ่งชาเลนจ์ให้เราพัฒนางานเขียนของตัวเองต่อไปเรื่อยๆ ให้สมกับวัยและทัศนคติที่เติบโตขึ้น ถ้าในอนาคตมีโอกาส เราก็อยากลองเขียนงานที่โตมากขึ้น อาจจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบของนิยายหรือบทภาพยนตร์ คงน่าตื่นเต้นน่าดู ถ้าวันหนึ่งจะมีเรื่องราวของตัวเราเองถูกถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือวางบนชั้น